ReadyPlanet.com


26 กค.บรรยายกาสงานที่วังท่าพระ


ปาฐกถาเกียรติยศ ปราชญ์"ล้อม เพ็งแก้ว"

ณัฐพงษ์ บุณยพรหม




อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากชาวเพชรบุรี รอบรู้อย่างลึกซึ้งทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม และใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ

ปัจจุบันอาจารย์ล้อม อายุ 71 ปี เกิดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2479 ที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.เพชรบุรี จบการศึกษาปริญญาตรีจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ในปัจจุบัน

เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในขณะนี้ เมื่อปี พ.ศ.2504 เรื่อยมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2535

อาจารย์ล้อม มีผลงานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ เช่น โครงการตามรอยสุนทรภู่ใน จ.เพชรบุรี ตลอดจนเป็นผู้ค้นพบว่า โคตรญาติของสุนทรภู่เป็นคนเมืองเพชรบุรี โครงการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรม จ.เพชรบุรี วิทยาลัยครูเพชรบุรี และอีกมากมาย

ทั้งยังมีงานเขียนที่สะท้อนความคิดตามนิตยสารต่างๆ เช่น เมืองโบราณ สารคดี เป็นต้น

เป็น "ยามภาษา" เป็นนักวิชาการฝีปากกล้าผู้แตกฉานภาษา และศิลปวัฒนธรรม ทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นเสมือนแหล่งความรู้แก่คนต่างถิ่นที่ย่างเท้าเข้ามาเยือนเมืองเพชรบุรี

ในปีนี้ อาจารย์ล้อม คือ 1 ใน 4 ผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยศิลปากร มีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยวิทยา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนง

ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัดปาฐกถาเกียรติยศของอาจารย์ล้อม เพื่อเชิดชูเกียรติทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาของอาจารย์ล้อม และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อสาธารณะ

"ผมตั้งใจจะบอกเล่าการเรียนรู้โดยธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ระบบของทางราชการ เพราะรู้สึกว่าใครหลายคนบอกว่าผมเป็นคนโบราณ และก็คงไม่มีใครมีชื่อโบราณเหมือนผม ผมเกิดในวัฒนธรรมที่ไม่ใช้เงินตราแลกเปลี่ยน แต่อาศัยทรัพยากร ธรรมชาติ และผมเกิดในวัฒนธรรมแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น

สังคมเงินตรามาเกี่ยวข้องกับผมเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่เริ่มเข้าเรียนชั้นมัธยม สมัยก่อนผมมีชีวิตอยู่ในป่า กว่าจะหาเงินได้แต่ละครั้งมันยากลำบากมาก ถ้าใครหลายคนไม่เชื่อก็อยากให้ลองไปใช้ชีวิตในป่าดู" อาจารย์ล้อมเริ่มในช่วงต้นของการปาฐกถา

ก่อนจะทยอยมาเป็นลำดับว่า บรรพชนฝ่ายพ่อมีท้องถิ่นที่อยู่ตรงตะเข็บชายแดน ระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองสงขลา ส่วนฝ่ายแม่อยู่ระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองนครศรีธรรมราช คนแต่ก่อนชอบตั้งหลักแหล่งตรงรอยตะเข็บเมือง เพราะหัวเมืองแต่ก่อนต่างปกครองกินเมืองกันอย่างอิสระ

ชาวบ้านจึงเกิดการเรียนรู้แหล่งที่อยู่อาศัยว่า ตรงรอยต่อเขตแดนเมืองนั้นดีที่สุด พอเมืองใดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตรา มาเร่งส่วยภาษี ทั้งภาษีจริงและภาษีเถื่อน ชาวบ้านก็จะอพยพหนีไปอยู่ในเขตอีกเมืองหนึ่ง พอไม่มีใครมารบกวน ก็จะอพยพกลับ หรือไม่ก็หนีเข้าป่าลึกๆ ให้ยากแก่การติดตาม

ที่อ.ควนขนุน สถานที่เกิดอยู่ห่างจากเขตแดน จ.สงขลา ค่อนข้างมาก เป็นเพราะพ่อกับแม่ต้องการจะหนีให้ไกล ไม่ให้เจ้านายตามไปถึง สมัยนั้นเรียกว่าไพร่หนีนาย แต่ท้ายที่สุดราชการก็ตามไปถึงอีกจนได้

"แม่เคยพูดว่า ลูกเอ๋ย หนีฟ้าหนีฝนพอหนีได้ แต่หนีเจ้าหนีนายไม่รู้จะหนีไปไหน นอกจากแม่จะบอกอย่างนี้แล้ว แม่ยังบอกถึงคำสอนของปู่ย่าตายาย ว่าคนไพร่อย่างเรานั้นจำไว้อย่างหนึ่งว่า นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา ผมจำใส่ใจไม่เคยลืม"

อาจารย์ล้อมบอกว่า ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากท้องถิ่นที่เกิด การที่คนได้เรียนหนังสือ อาจจะเป็นการเรียนรู้แบบราชการ แต่การเรียนรู้อื่นๆ ก็สำคัญเหมือนกัน มีคนถามว่าทำไมจึงมาอยู่เมืองเพชรบุรี ตอนที่เป็นนักเรียนทุนมาเรียนที่กรุงเทพฯ 7 ปี ไม่คิดว่าจะไปไหน พอเรียนจบก็ต้องบรรจุปรากฏว่าได้เป็นอาจารย์ระดับกรม อยู่ประจำกรมการฝึกครู

พอทำครบ 1 เดือน ก็ถูกสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่เพชรบุรี ต้องไปสอนหนังสือที่นั่น มีความรู้ทางด้านคณิต ศาสตร์ แต่ครูใหญ่กลับให้ไปสอนภาษาไทยแทนอาจารย์อีกท่านหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องสอนภาษาไทยจนเกษียณอายุราชการ และไม่เคยได้สอนวิชาคณิตศาสตร์เลย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อยู่เพชรบุรี ตอบได้อย่างเดียวคือ คนเราจะเจริญหรือไม่เจริญ ให้ยึดหลักพุทธศาสนา เขาบอกว่าจักร 4 อันดับแรก คือ อยู่ในภูมิประเทศที่สมควร เมล็ดพืชก็ควรต้องอยู่ในที่ ที่ควรงอก ถ้าไปตกอยู่ที่อื่นจะไม่งอก

ต่อมาคือการคบคนดี มีเพื่อนหลายคนที่เป็นคนดี อีกข้อว่าควรทำตนไว้ชอบ ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับใคร ส่วนข้อสุดท้ายอาจเป็นเพราะทำบุญมาแต่ชาติก่อน ถึงได้มาอยู่ที่เมืองเพชร จนไม่รู้จักจบจักสิ้น ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าถ้าอายุครบ 60 ปี จะกลับไปอยู่บ้านปลูกต้นไม้หาความสงบใส่ตัวแต่ก็ทำไม่ได้

"ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่สำคัญอะไร เพียงแต่อยากจะเล่าถึงชีวิตคน คนหนึ่ง ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในอดีตไกลเหลือกำลังจากสังคม ที่ใช้ผลผลิตแลกเปลี่ยนจนเป็นสังคมเงินตรา จนมาสู่เมืองเพชร ในลักษณะที่ทำอะไรให้คนเมืองเพชรพอสมควร ผมดีใจที่คนเมืองเพชรยังรักผมอยู่" อาจารย์ล้อมตบท้าย

นอกจากนี้ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวถึงอาจารย์ล้อมว่า สิ่งที่อาจารย์ล้อมพูดในวันนี้ คือตัวอย่างที่ดีสำหรับนักวิชาการ ทำให้มองเห็นคน เห็นสภาพแวดล้อม เห็นการปรุงแต่งวัฒนธรรมท้องถิ่น

เพราะสิ่งที่อาจารย์ล้อมพูดมาจากความทรงจำ ทำให้อาจารย์ล้อมมีความรู้รอบตัว นักวิชาการสมัยใหม่ไม่อาจเทียบได้ เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยทุกวันนี้เรียนกันในห้อง บางครั้งพึ่งหนังสือจนเกินไป แต่สิ่งที่อาจารย์ล้อมพูดเป็นประสบการณ์โดยแท้จริง และนั่นคือคุณสมบัติของการเป็นนักมานุษยวิทยา

ขณะที่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมเสริมว่า การที่อาจารย์ล้อมได้รับปริญญาบัตรในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่มีความหมายพิเศษสำหรับระบบการศึกษา อาจารย์ล้อมเห็นความสำคัญของความรู้พื้นบ้าน สิ่งที่ท่านเล่าให้ฟังทั้งหมดล้วนแต่มาจากชาวบ้าน หรือความรู้พื้นบ้าน

อาจารย์ล้อมเคยบอกว่า ถ้าอยากได้ปริญญาก็ให้ไปมหาวิทยาลัย ถ้าอยากได้ความรู้ก็ให้ไปหาชาวบ้าน นอกจากนี้ สิ่งที่อาจารย์ล้อมเผยแพร่ คือความรู้ทางเลือกที่มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของสุนทรภู่ หรือความรู้ด้านอื่นๆ ก็ตาม

ปิดท้ายที่การบรรเลงขับกล่อม ประโคมด้วยดนตรีไทยแห่งวงปี่พาทย์ กทม. และรำศรีวิชัย บายศรีสู่ขวัญให้อาจารย์ล้อม ด้วยวงปี่พาทย์ทำเพลงนางนาค ถือเป็นเพลงประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วบรรเลงฉลองอธิบายเพลง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทั้งหมดนี้เพื่ออาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์แห่งเมืองเพชร

ข่าวสด หน้า 5<


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-29 23:22:01


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.