ReadyPlanet.com


ติด------->ดับ


 


ในบทความเรื่อง ยศอะไร ผู้เขียนได้ เขียนถึงคำฉันท์เรื่อง ความเปลี่ยนแปลง ประพันธ์โดย อัศนี พลจันทร (นายผี) ฉากที่กล่าวถึง พระยาพล ผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี (เจ้าเมืองกาญจนบุรี) นายผี บรรยายถึงเหตุการณ์ พม่ารอบปล้นสะดมราษฎรฝ่ายไทยในแนวชายแดนเมืองกาญจนบุรี พระยาพลจึง สั่งระดมกำลังพลไปลอบปล้นค่ายพม่าที่เมือง ปิล๊อก เพื่อแก้แค้น(เมือง ปิล๊อกติดจังหวัดกาญจนบุรี) พระยาพล รอบเข้าเมืองปิล๊อกและกุดหัว เจ้าเมืองปิล๊อก ขาดกระเด็น พร้อมทั้งยึดเอา หอกเพชร ของเจ้าเมืองปิล๊อกไว้ด้วย ฉันท์ ๑๑ (แต่งโดยยึดเสียงเป็นเกณฑ์) นั้นมีใจความว่า




ขุนม่านบ่เข็ดขาม               มาลอบปล้นที่ปลายเมือง
ยินความให้แค้นเคือง         ก็เคี้ยวกรามดั่งเพลิงกัลป์
แม้มึงแมลงเม่า                 จะมาม้วยเมื่อสำคัญ
เพลิงแรงว่าแสงจันทร์        แลมาตอมก็ตายเปลือง

โดดลงที่กลางเรือน           แลเร่งร้องทนายเมือง
มึงอยู่แลหูเหือง                 มึงแหกแล้วแลฤาไฉน
ทนายมาฆาตฆ้อง             ก็กึกก้องทั้งกรุงไกร
พอสิบสมุดไทย                 ก็สะพรึบอยู่พร้อมกัน

เลิกยังปิล๊อกแล้ว               แลเข้าล้อมระเหิดระหัน
เวียนปล้นอยู่สามวัน          แลเลิกล่ามาโดยกล
ให้ซุ่มทหารหาญ               แลรหัสอย่าสับสน
ครั้นแล้วพระยาพล            ก็ปลอมเข้า ณ กลางคืน

ไปซุ่มประตูจวน                เจ้าเมืองม่านมียามยืน
มึงฤาที่โหดหืน                 จะประหารให้หายหัว
เอาฆ้องกระแตตี              แลม่านตื่นยังเงียงัว
ร้องถามทั้งมึนมัว             ว่านั่นมันอะไรหวา

สวนไปว่าไทยเข้า             มากลางเมืองอยู่แล้วรา
ขุนม่านทะลึ่งหา               ได้หอกแล้วก็เร่งไป
พอโผล่ประตูจวน              พระยาพลก็เพิดไพ
มึงฤาที่ปล้นไทย               แลมาพบ
พญายม

เจ้าเมืองปิล๊อกร้อง            แลถลาเข้าแทงลม
ดาบร้ายที่เหลือคม            ก็กุดหัวกระเด็นหาย


หลังจากที่ พระยาพล ทำการปล้นค่ายพม่าที่เมืองปิล๊อก และจุดไฟเผาเมือง (ลูกเด็กเล็กแดงคนเฒ่า คนแก่ ถูกไฟคลอกตายเป็นจำนวนมาก นี่คือผลแห่งสงคราม  ต่อมาบาปกรรมนี้ ทำให้ก่อนตาย พระยาพลรุ่มร้อนเหมือนถูกไฟเผา ถึงกับคว้าดาบวิ่งลงเรือน เพื่อจะฟาดฟันดวงตะวันบนท้องฟ้า เพราะสำคัญผิดว่าดวงตะวันทำให้เกิดความรุ่มร้อนในร่างกาย ลูกหลานต่างตระหนักว่า นี่คือเวรกรรมเมื่อครั้งที่ พระยาพล ลอบเผาเมืองปิล๊อก นั่นเอง) 


เมื่อพระยาพลเผาเมืองปิล๊อกเรียบร้อย แล้วก็กลับคืนยังเมืองกาญจนบุรี ความทราบถึงท้าวสามนตราช/พระยามหานคร (Vassals) แห่งกรุงสยาม


ท้าวสามนตราชแห่งกรุงสยามทรงกริ้วที่พระยาพลเคลื่อนกำลังพลเข้าตีเมืองปิล๊อกโดยมิได้กราบขอพระราชานุญาต จึงทรงสั่งถอดยศ พระยาพล ให้เป็นพลเรือน พระยาพล ได้ฟังรู้สึกคับแค้นใจยิ่งนัก มือกำดาบแน่น แต่นึกถึง เมื่อครั้ง ถวายสัตย์ปฏิญาณในพิธี ถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา จึงละดาบลง แล้วเดินออกจากลานท้องพระโรง โดยมิได้ ถวายบังคมลา

ทหารรักษาพระองค์เกรงกลัวใน ฝีมือดาบ และกริ่งเกรงในบารมีของพระยาพลจึงมิกล้า จับกุมตัวพระยาพลไว้ นายผีบรรยายฉากนี้ไว้ด้วย ฉันท์ 11 ความว่า


บัดนั้นพระยาพล            อุระเพียงจะพังพอง
สองตาเขม้นมอง            และมือนั้นก็เลื่อนมา--
ถึงดาบแล้วดับได้           กลัวทวยไทยจะนินทา

เสียสัจจวาจา                ก็จะเสียซึ่งชายชาญ

เป็นชายมาหมิ่นชาย      จะไว้ลายให้ลือลาน
สองเราแลใครหาญ        ก็แลหัวบเหี้ยนหาย
เลือดตัวแต่ปลายลำ--      แม่กลองไหลแลเป็นนาย
เลือดตูที่ต้นสาย             บสำหรับจะดูแคลน
ลุกถอยบ่ ลาไท            ก็กระเทือนทั้งดินแดน
ทหารที่เฝ้าแหน            ก็ บ่ อาจจะอวดหาญฯ



ในคำฉันท์นี้ มีการใช้สำนวนเปรียบเทียบ เกี่ยวกับลำน้ำแม่กลอง ไว้อย่างคมคาย คือ

เลือดตัวแต่ปลายลำ--       แม่กลองไหลแลเป็นนาย
เลือดตูที่ต้นสาย              บสำหรับจะดูแคลน


ตีความได้ว่า พระยาพล เป็นคนต้นแม่น้ำแม่กลอง
ท้าวสามนตราชแห่งกรุงสยาม เป็นคนปลายแม่น้ำแม่กลอง
ฉะนั้น คนปลายแม่น้ำ จึงควรจะให้ความเคารพ คนต้นแม่น้ำนั่นเอง


คำฉันท์ของนายผี ท่อนที่ว่า

สองตาเขม้นมอง            และมือนั้นก็เลื่อนมา--
ถึงดาบแล้วดับได้           กลัวทวยไทยจะนินทา



นี้ สันนิษฐานว่า คงได้รับอิทธิพลมาจาก บทละครเรื่องรามเกียรติ์  ตอน ทศกัณฐ์ใช้ให้นางเบญจกายซึ่งเป็นธิดาของพิเภกทำกลอุบายแปลงกายเป็นนางสีดา ตายลอยน้ำมา เมื่อพระรามเห็นว่านางสีดาตายแล้วก็ หมดความคิดที่จะทำสงคราม ยานี 11 ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ บรรยายความเอาไว้ว่า

พระน้องเอยฤาน้อยจิต         เจ้าหวนคิดกระหวัด วน--
ผูกศอให้เสียชนม์                สิ้นชีพแล้วจึ่งลอยมาฯ
ฤาทศกัณฐ์มันโกรธ             พิโรธเรากระมังหนา
ว่าฆ่าโคตรวงศา                 จึ่งฆ่าพระน้องให้ตายแทนฯ
เถิดฤาจะรื้อรบ                    ตระหลบวิ่งเข้าชิงแดน
ฟันเสียให้นับแสน                ให้เศียรขาดลงดาษดินฯ
พระดาลเดือดและดับได้       กลัวเทพไทจะติฉิน
ไฉนหนอพระยุพิน               ยุพาพี่จะคืนเป็นฯ



พระรามนั้นเมื่อรู้ว่านางสีดาตาย ก็คิดไปต่างๆ นานา ซ้ำยิ่งบังเกิดความเคียดแค้นในตัวทศกัณฐ์ เพราะคิดว่าทศกัณฐ์ เป็นผู้ที่สังหารนางสีดา พระรามจึงคิดที่จะออกไปเข่นฆ่าเหล่าทหารฝ่ายทศกัณฐ์เพื่อแก้แค้นให้นางสีดา  แต่พระรามก็ตระหนักรู้ว่า การกระทำดังกล่าว มิสามารถช่วยให้นางสีดาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้

พระราม และพระยาพล ตัวเอกในวรรณคดี มีความโกรธบังเกิดขึ้นในดวงจิต แต่ต่างก็สามารถรำงับความโกรธ ความเดือดดาลนั้นลงได้ อย่างมีสติ


ความโกรธของพระรามก็คือ การสูญเสียนางอันเป็นที่รัก
ความโกรธของพระยาพล ก็คือ การถูกปลดออกจากตำแหน่ง อย่างไม่เป็นธรรม/ตกกระป๋อง

ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากทีเดียว หากใครก็ตามต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวมานี้ การรำงับความโกรธ ความเดือดดาลในจิตใจ ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทว่าการรำงับความโกรธนี้ก็มิใช่เป็นเรื่องที่จะเหลือบ่ากว่าแรง หากเราหมั่นพิจารณาอารมณ์ หมั่นรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่จำเพาะอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก อารมณ์โลภ และอารมณ์หลง ก็เช่นเดียวกัน  

ถ้าอารมณ์ รักโลภโกรธหลง เสมือนดังเปลวไฟที่แผดเผาในจิตใจ เราก็เพียงแต่ตระหนักรู้ และเพ่งมอง มองเพื่อให้เห็นเชื้อไฟหรือดุ้นฟืนแห่งอารมณ์รักโลภโกรธหลง จากนั้นเราก็ดึงดุ้นฟืน ซึ่งเป็นเชื้อไฟ นั้นออกจากเตา  จะให้ดีควรนำน้ำเย็นแห่งธรรมะราดลดลงบน ดุ้นฟืน นั้นเสียด้วย ไม่นานนัก ไฟ ในอก ก็คงจะดับสนิท ไม่มีวันคุโชนขึ้นมาได้อีกเลย

องค์ประกอบแห่งไฟ คือ เชื้อไฟ อากาศ การสันดาป เมื่อขาดองค์ประกอบแห่งไฟ ไฟจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เอ...ไม่มีอากาศเราก็ตายน่ะสิ... ฮา

วันนี้ฉันได้ดับบางสิ่งบางอย่างในจิตใจอันร้อนระอุของฉันลงแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นการดับโดยสิ้นเชิงก็ตามทีเถอะ  รู้สึกว่าจิตใจของฉันนั้นช่างฉ่ำเย็น จริงเจียวหนอ รับรู้ไว้..คุณได้ดับหายไปจากจิตใจของฉันแล้ว ไม่มีคุณอีกแล้วในหัวใจของฉัน ถ้าจะเหลือก็คงจะเหลือไว้ก็แต่เพียงรอยหม่นไหม้  เท่านั้น ...




ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-13 18:16:13


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1703616)

ขอบคุณสำหรับงานเขียนดี ๆ ที่ เริ่มต้นด้วยความตื่นเต้น  แต่จบลงด้วยความสงบเย็น

คนอ่านก็พลอย  ติด------->ดับ

ไปด้วยค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น วราภรณ์ วันที่ตอบ 2008-05-17 21:11:41


ความคิดเห็นที่ 2 (1707811)

ขอบคุณ "กวิน" นำเสนอสาระประโยชน์อยู่เสมอ

ผู้แสดงความคิดเห็น นักกลอนเก่า วันที่ตอบ 2008-05-18 07:45:46


ความคิดเห็นที่ 3 (1751176)

ขอบคุณคุณ วราภรณ์ และนักกลอนเก่าที่ติดตามอ่านครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-05-21 17:11:20


ความคิดเห็นที่ 4 (1842097)
~*-*~
ผู้แสดงความคิดเห็น 2533 วันที่ตอบ 2008-09-26 09:36:03



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.