ReadyPlanet.com


ปากกาลี(บทประพันธ์ของกระบี่ใบไม้กับการวิจารณ์ของคุณสมุทรในเวบไทยไรเตอร์/กรณีศึกษา)


ปากกาลี

 

อั๊วเป็งคงไทย      ลื้อเป็งคงไทย
เราต่างอยู่ใน      ใต้ร่มโพธิ์ทอง
ต้องพึ่งพากัง      ด้วยกังทั้งผอง
ม่ายขักม่ายข้อง      รักสามัคคี

ผมคงขายข่าว      คุงคงให้ข่าว
คุงคงกิงข้าว      ม่ายล่ายกิงขี้
เราแลกเปลี่ยงกัง      ด้วยความหวังดี
เพื่อความอิ่มหมี      ยิงดีปรีดา

ผมเป็งคงเสือก      คุงเป็งคงสอด
เราก็อยู่รอด      เป็งฝั่งเป็งฝา
ผมมีเงิงทอง      คุงมีปากกา
ใครมังจะกล้า      ผมพึ่งพาคุง

คุงเป็งนักข่าว      คุงต้องเขียงข่าว
แต่งเป็งเรื่องราว      เราก็จะรุ่ง
ตีไข่ใส่สี         อิ่มหมีพีพุง
กางบ้างกางมุ้ง      ข่าวคาวฉาวชง

คุงคงขายข่าว      ผมคงซื้อข่าว
แต่งเติมเรื่องราว      แตกดอกออกผง
ผมได้หน้าตา      คุงได้หน้าทง
เราต่างอยู่บง      ผงประโยชน์เดียว

ถ้าผมแมงวัง      คุงก็แมงวัง
ม่ายข้องเกี่ยวกัง      แมงวันหัวเขียว
ถ้าใครม่ายเอา      มังก็หัวเลียว
บูกบูกเบี้ยวเบี้ยว      ประเดี๋ยวก็ซี้

ผมคงให้ข่าว      คุงคงออกข่าว
คุงคงกิงข้าว      ม่ายล่ายกิงขี้
ผมนับถือคุง      เป็งปากกาลี
เป็งสากเป็งสี      เป็งหน้าเป็งตา

คุงเป็งคงรับ      ผมเป็งคงจ่าย
เราก็อยู่ล่าย      เป็งฝั่งเป็งฝา
ผมมีเงิงทอง      คุงมีปากกา
ถ้าใครมังกล้า      ผมฆ่ามังเอง

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ กระบี่ใบไม้ (rainny4111-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-03 12:07:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2270606)

 งานชิ้นนี้ เป็นงานเสียดสี แสบ ๆ คัน อ่านได้ง่าย สนุกและชวนให้อ่าน เรียกว่าอ่านได้รวดเดียวจบโดยไม่สะดุด และอยากกลับมาอ่านอีกรอบ เพื่อดูว่าตัวเอง "โดนกัด" ไปด้วยหรือเปล่า  555+  เรียกว่าก่อเกิดปฏิกริยาได้แตกต่างกัน ตามพื้นฐานของผู้อ่าน 

เนื้อหาหนัก แต่เอามาเขียนให้ง่าย และสนุก อ่านแล้วเห็นภาพพจน์ อาแปะเจ้าของโรงพิมพ์ กำลังอยู่ในอารมณ์สบาย ๆ (ไม่รู้จิบชาไปด้วยหรือเปล่า) พูดกับนักเขียนข่าว มีทั้งปลุกใจ ให้เหตุผล แซว หยิก จิก กัด ตะล่อม ขู่ ชม และด่า 

เปรียบเทียบอาแปะเจ้าของโรงพิมพ์เป็นคนขายข่าว คนเสือก คนซื้อข่าว คนให้ข่าว คนจ่ายเงิน และผู้มีอิทธิพล ส่วนนักข่าวเป็นคนให้ข่าว คนสอด คนเขียนข่าว คนขายข่าว คนออกข่าว คนรับเงิน เป็นปากกาดี /ปากกาลี ซึ่งทั้งสองคนต่างก็เปรียบเป็นแมลงวันที่ไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน  ต่างก็ต้องพึ่งพากันบนพื้นฐานของผลประโยชน์  เป็นการวิจารณ์วงการข่าวในเมืองไทยผ่านมุมมองอาแปะ (ผมไม่ค่อยมีความรู้ในวงการข่าวเท่าไหร่ เลยไม่รู้ว่า "แมงวันหัวเขียว" หมายถึงอะไร) 

นับเป็นงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี ด้วยการใช้ปากอาแปะเล่าเรื่อง ด้วยสำเนียงคนจีนพูดไทยไม่ชัด ทำให้เล่นกับถ้อยคำได้สนุก พลิก "ปากกาดี" เป็น "ปากกาลี" เรียกความสนใจได้ดี  งานชิ้นนี้มีเป็นเอกภาพด้วยการใช้ภาษาและมุมมองของอาแปะตลอดชิ้น

เป็นผลให้การใช้ถ้อยคำที่ผิดได้รับการอนุโลม และยอมรับจากผู้อ่าน ทำให้อ่านได้ไม่สะดุด  ด้วยเป็นที่ทราบกันดีว่าอาแปะพูดไม่ชัด ตัวสะกดแม่กน จะกลายเป็นแม่กงไปหมด (คุณ เป็น คุง, คน เป็น คง) เสียง ด เป็นเสียง ล (ดี เป็น ลี) 

แต่ก็ยังมีที่ไม่เนียน ได้แก่ การใช้ ด เป็น ล ซึ่งไม่ได้ใช้ทั้งหมด เลือกใช้เฉพาะบางจุด แต่อาจจะเป็นความจงใจให้อาแปะแกพูดชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็ได้  อย่างเสียง "ร" ก็พูดชัดเกินไป เพราะปกติอาแปะจะออกเสียงเป็น "ล" แต่ก็อนุโลมอีกนั่นแหละ คนเขียนคงอยากให้แยกชัดเจนระหว่าง "ร" กับ "ด" มิเช่นนั้น "ปากกาลี" อาจจะสื่อไม่ตรงกับที่ต้องการ  คำว่า "ประเดี๋ยว" ก็ชัดเกินไป เพราะปกติ อาแปะจะพูด "ปูเหลียว" มากกว่า หรือ คำว่า "กล้า" ก็ออกคำควบกล้ำซะชัดเลย  แต่ก็อนุโลมได้อีกหละ   ผลดีของการใช้อาแปะเล่าเรื่อง คือจับผิดไม่ได้ 555+

เนื้อหาโดยรวมอ่านได้แบบเอามัน มองเชิงลบอย่างเดียว ไม่มีเชิงบวกให้เปรียบเทียบ ขาดข้อเสนอะแนะให้สังคม และหากจะเพ่งลงไปจริง ๆ การเล่าเรื่องบางส่วนยังขาดความต่อเนื่อง เช่น วรรค "ผมมีเงิงทอง      คุงมีปากกา    ใครมังจะกล้า      ผมพึ่งพาคุง"  เนื้อความไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่ อยู่ ๆ ก็สรุปลงว่า ผมพึ่งพาคุณ  ... กลายเป็นว่าปล่อยให้คนอ่านคิดเองทำนองว่า ใครมันจะกล้าตอแยอาแปะได้ เพราะมีนักข่าวซึ่งมีปากกาเป็นอาวุธให้พึ่งพาได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนอ่านจะคิดอย่างนี้ทุกคน

แต่บางส่วนก็ทำให้เห็นภาพพจน์ชัดดี เช่น

"ผมคงขายข่าว      คุงคงให้ข่าว    คุงคงกิงข้าว      ม่ายล่ายกิงขี้"
"ผมคงให้ข่าว      คุงคงออกข่าว    คุงคงกิงข้าว      ม่ายล่ายกิงขี้"

เป็นการเขียนได้ให้เห็นภาพพจน์ในการใช้ภาษาของคนไทยที่มักเป็นแบบนี้หละ คือ พูดหนึ่งคำด่าสองคำ (เว็บบอร์ดการเมืองจึงมักจะร้อนระอุ ก็ด้วยเหตุนี้มั้ง?) ต้องการบอกแค่ว่า ผมขายข่าว คุณให้ข่าว หรือ ผมให้ข่าว คุณออกข่าว เท่านั้นเอง แต่เติมสร้อยคำด่ามาซะยาว อันนี้เป็นการสะท้อนวิธีการพูดของคนไทยสมัยนี้ได้ดี มิใช่ความผิดพลาดของผู้แต่ง แต่เป็นความจงใจอย่างแรง กลอนแบบนี้จึงไม่อาจนับเป็นกลอนสุภาพได้ 555+

ลักษณะคำประพันธ์ ถูกเนื้อหา และกลวิธีเล่าเรื่อง กลบไปหมด ดังนั้นมันจึงแทบจะไม่สำคัญเลยว่า เป็น กาพย์ กลอน หรือฉันท์ ทั้งๆ ที่ผู้แต่งอุตส่าห์ซ่อนกลเม็ดไว้เพรียบแปล้

แค่ชื่อ บทกลอน "ปากกาลี" ก็หลอกไปหนึ่งดอกหละ เรียกลูกค้าได้ง่าย เพราะคนทั่วไป ไม่รู้หรอกว่า ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ต่างกันอย่างไร เห็นอะไรที่เป็นลักษณะมีจัดวรรคตอนงาม ๆ มีสัมผัส เล็กน้อย ก็เรียกว่า "กลอน" ทั้งนั้น 

คนทั่วไปพอเห็นว่าเป็น "กลอน" ก็จะบอกว่า "เออ กลอนนี้เจ็บดี" แล้วก็ไม่สนใจอีก 555+

แต่สำหรับคนชอบวิจารณ์กลอน ก็ต้องรื้อผังกลอนมาดู เบื้องต้นอาจจะเห็นว่า เป็น กลอน ๔ แบบที่ บทหนึ่งมี ๘ วรรค (สังเกตจากสัมผัสระหว่างบท คี-ขี้, ดี-ฝา ฯลฯ)  

ตัวอย่างเป็นกลบทจตุรงคนายก 

    จักกรีดจักกราย       จักย้ายจักย่อง             ไม่เมินไม่มอง      ไม่หมองไม่หมาง 
งามเนื้องามนิ่ม          งามยิ้มงามย่าง             ดูคิ้วดูคาง          ดูปรางดูปรุง
    ดั่งดาวดั่งuเดือน    ดั่งจะเลื่อนดั่งจะลอย       พิศเช่นพิศช้อย    พิศสร้อยพิศสุง
ช่างปลอดช่างเปรื่อง    ช่างเรืองช่างรุ่ง            ทรงแดดทรงดุ่ง    ทรงวุ้งทรงแวง


แต่... ลักษณะแบบนี้จะนับเป็นฉันท์ก็ได้ เรียกว่าวิชชุมาลาฉันท์ ๘ ที่แบ่งวรรคละ ๔ คำ และใช้คำครุทั้งหมด 

ตัวอย่าง
    แรมทางกลางเถื่อน     ห่างเพื่อนหาผู้       หนึ่งใดนึกดู          เห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วง             เมืองหลวงธานี      นามเวสาลี           ดุ่มเดาเข้าไป
    ผูกไมตรีจิต             เชิงชิดชอบเชื่อง    กับหมู่ชาวเมือง      ฉันอัชฌาสัย
เล่าเรื่องเคืองขุ่น           ว้าวุ่นวายใจ         จำเป็นมาใน          ด้าวต่างแดนตน
(สามัคคีเภทคำฉันท์)


ช้าก่อน! เมื่อดูสัมผัสระหว่างวรรคแรกกับวรรคที่สอง ของแต่ละบท จะเป็นคำท้ายวรรคสัมผัสกับคำท้ายวรรค    ( อั๊วเป็งคงไทย      ลื้อเป็งคงไทย,   ผมคงขายข่าว      คุงคงให้ข่าว,    ผมเป็งคงเสือก      คุงเป็งคงสอด ) แบบนี้มันสัมผัสแบบกาพย์นี่นา และเมื่อเล็งไปทุกวรรคที่สี่ มักจะไม่เคร่งสัมผัส แบบนี้นับเป็นกาพย์ได้ครับ ไม่ใช่กาพย์โบราณ แต่เป็นกาพย์สมัยใหม่ ชื่อ กาพย์ธนัญชยางค์ ๓๒ ของ น.ม.ส. (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒) 

ตัวอย่าง
    ฝ่ายทัพเรือพม่า    เลียบฝั่งเข้ามา          ยึดเมืองตะกั่วป่า     ตะกั่วทุ่งตามทาง
แล้วข้ามสู่เกาะ         มุ่งเหมาะเมืองถลาง    เคราะห์ดีมีนาง       พี่น้องนารี
    เจ้าเมืองม้วยมรณ์  ลงไปเสียก่อน          ที่ทัพสาคร           ข้ามมาราวี
แต่คุณหญิงจัน         ไม่พรั่นไพรี             นางมุกภคินี          อยู่ด้วยช่วยกัน


งานชิ้นนี้จึงเป็นกาพย์ครับ!

แต่ถึงจะบอกว่าเป็นกาพย์ แต่คนแต่งก็จงใจเลื่อนตำแหน่งสัมผัส และละสัมผัสในบางจุดที่กาพย์บังคับ  เช่น "คุงเป็งคงรับ      ผมเป็งคงจ่าย" ซึ่งไม่สะดุดเลยในเวลาอ่าน คงเป็นเพราะคนอ่านชินในจังหวะและลีลา ในช่วงแรก ๆ แล้ว 

อย่างไรก็ตาม จะเรียกว่าอะไรก็ช่าง คนเขียนทำสำเร็จในระดับหนึ่ง นั่นคือเอารูปแบบมารับใช้เนื้อหา 

งานชุดนี้คงเป็นงานแนวทดลอง เพราะดูโดยรวม เดาได้ว่าผู้แต่งมีความรู้ในฉันทลักษณ์ที่หลากหลายจึงเลือกกาพย์ชนิดนี้มาเล่น และเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อหาคือ วรรคละ ๔ คำนี่ เหมาะใช้เป็นคำด่ามาก เพราะมันกระแทกได้ดี และใช้โทนเสียงของอาแปะมาเล่าเรื่อง จึงข้ามอคติเรื่องการใช้คำ แต่สำนวนยังอยู่ในระดับพื้น ๆ อยู่ ยังควบคุมการใช้คำได้ไม่ดีนัก ถามว่าคนอ่านได้อะไร คงตอบได้ว่า ได้ความสนุก

งานนี้ เป็นเหมือนกับดักนักวิจารณ์ เพราะถ้าอินกับเรื่องราว ก็วิจารณ์ได้เป็นวัน แต่ถ้าอ่านแค่สนุก ๆ ก็จะบอกว่าไม่ควรวิจารณ์ ไม่งั้นหมดสนุก 555+

สมุทร

 

 

ขอบคุณคุณสมุทรจากเวบไทยไรเตอร์ที่กรุณาวิจารณ์ครับ http://www.thaiwriter.net/forum01/index.php?topic=5883.0

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-05-03 12:12:40


ความคิดเห็นที่ 2 (2270607)

 ผมเอาผลงานและงานวิจารณ์จากเวบอื่นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อบอกว่า สำหรับงานของผมนั้น วิจารณ์ได้เต็มที่เลยครับ ไม่ต้องเกรงใจ ถือเป็นการเข้ามาศึกษาร่วมกันครับ ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-05-03 12:17:14


ความคิดเห็นที่ 3 (2270743)

 ขอบคุณที่นำสิ่งดี ๆ มาเผยแผ่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ราศีิพิจิก วันที่ตอบ 2012-05-03 16:46:44


ความคิดเห็นที่ 4 (2270776)

 

 

                    น่าสนใจครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วิวัฒน์ บัตรเจริญ วันที่ตอบ 2012-05-03 18:38:01


ความคิดเห็นที่ 5 (2270826)

ผมจำคำพูดของอาจารย์ผมได้ครับ ท่านบอกว่า
..."นักเขียนเมื่อสร้างงานเขียนเสร็จก็ถือว่าหมดหน้าที่ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคนอ่านที่จะวิจารณ์ว่าชอบหรือไม่ชอบ ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร"...

ผมจำขึ้นใจเลยครับ เวลาได้มีโอกาสอ่านบทวิจารณ์ของใครก็ตาม ผมจะชื่นใจมาก 

ผู้แสดงความคิดเห็น ธนบินทร์ ใจอัตร วันที่ตอบ 2012-05-03 22:57:58


ความคิดเห็นที่ 6 (2270840)

 คุณธนบินทร์ ครับ อาจารย์ของคุณพูดถูกแล้วครับ เมื่องานเขียนแล้วเสร็จ งานเขียนจะทำหน้าที่แทนตัวเรา ถ้าคนอ่านๆงานเราแล้วมีข้อสงสัย นั่นคือความผิดของผู้เขียน ที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนอ่านแทนตัวเองได้ เป็นหน้าที่ของคนเขียนที่ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปครับ ไม่ใช่หน้าที่ของคนอ่านที่ต้องมาพัฒนาการตัวเองเพื่องานเขียนของเราครับ

ขอบคุณครับ ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น กระบี่ใบไม้ วันที่ตอบ 2012-05-04 00:03:31


ความคิดเห็นที่ 7 (2270846)

สวัสดีทุกท่านครับ, สวัสดีท่านอ.กระบี่ใบไม้

ผมเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ชอบอ่านบทวิจารณ์ (ของคนอื่น) มันดูโอ้โห...ตื่นเต้นดี สนุก

แล้วก็เอามาดูว่า อ่อ..ถ้าอย่างนี้มันอย่างนี้นะ (ศึกษาทางอ้อมจากงานคนอื่นนั่นเอง แหะๆไม่ลงทุนเลยนะครับผมหนะ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น รัตนโกสินทร์ศก วันที่ตอบ 2012-05-04 01:04:10


ความคิดเห็นที่ 8 (2270857)

มาอ่าน รับทั้งความหฤหรรษ์และความรู้

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ภูสุภา วันที่ตอบ 2012-05-04 06:08:35


ความคิดเห็นที่ 9 (2271054)

 

 

                                              มาอ่านทบทวนอีกครั้ง  ยิ่งน่าสนใจ ติดตามและน่าศึกษา  คุณกระบี่ใบไม้ มีแนวคิด

                    เชิงสร้างสรรค์ดี  นำเสนอผลงานที่ดี แปลก ใหม่  เสมือนเติมเชื้อไฟในการเขียนให้เพื่อนๆ

                    ได้ประลองฝีมือในเชิงกระบี่ให้แคล่วคล่องยิ่งขึ้น  ชอบครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วิวัฒน์ บัตรเจริญ วันที่ตอบ 2012-05-04 19:24:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.