ReadyPlanet.com


สังคมวัฒนธรรมบำบัด ที่วังหลัง บางกอกน้อย ศิริราช


 
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10734

สังคมวัฒนธรรมบำบัด ที่วังหลัง บางกอกน้อย ศิริราช


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



ดนตรีบำบัด เป็นวิธีบรรเทาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่การแพทย์สมัยใหม่วิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพแล้วนำมาใช้งานได้ แต่วิธีนี้มีมาแล้วตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว คนในตระกูลไทย-ลาวเรียกลำผีฟ้า หรือพิธีเลี้ยงผี มีแคนเป่าคลอคำขับลำเพื่อรักษาโรค บางทีเรียกลำผีฟ้ารักษาโรค ตรงกับดนตรีบำบัด

สังคมวัฒนธรรมบำบัด เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ยังไม่มีผู้ทำวิจัยอย่างเป็นระบบ แต่ดูได้จากชุมชนแต่ก่อนควบคุมโรคทางสังคมด้วย "ฮีตคอง" จารีตประเพณีมีคำบอกเล่าความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นและเผ่าพันธุ์ เป็นเครื่องมือควบคุมเรื่องเพศสัมพันธ์ เพศสภาพ จนถึงระบบคุณธรรมจริยธรรม ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีพลังแข็งแรงต้านทานสิ่งรุกรานจากภายนอกได้ มีตัวอย่างชัดเจนมากคือญี่ปุ่นใช้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเผยแพร่ความรู้จนเติบโตก้าวหน้าเป็นมหาอำนาจหลายด้านในทุกวันนี้

โรงพยาบาลศิริราช เป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์สมัยใหม่มานับร้อยปีแล้ว ควรพิจารณาวิธีการสังคมวัฒนธรรมบำบัดเพิ่มขึ้นเพื่อให้ควบคู่ไปกับดนตรีบำบัดที่ใช้ได้ผลมาแล้ว เพราะพื้นที่ของศิริราชตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย มีวังหลังต่อเนื่องถึงวัดระฆัง แล้วยังข้องเกี่ยวถึงของดีมีอยู่ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยาสืบถึงยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์

อาคารสถานีรถไฟธนบุรีและพื้นที่โดยรอบ ควรจัดให้เป็นบริเวณสังคมวัฒนธรรมบำบัด โดยปรับเป็นแหล่งเรียนรู้แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม มีเพลงดนตรีและประวัติศาสตร์วรรณคดีเป็นแกนเชื่อมโยงถึงสุขภาพกาย-ใจ จนเศรษฐกิจพอเพียงจากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสมบัติวัฒนธรรมของบ้านเมือง

กรุงธนบุรีและวังหลัง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขตบางกอกน้อยอย่างที่เข้าใจ เพราะบริเวณนี้เป็นรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ อันมีกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงหรือราชธานีของประเทศไทยทุกวันนี้ มีในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกสถาบันทั่วประเทศ ฉะนั้นบริเวณโรงพยาบาลศิริราชจึงมีประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมของประเทศไทยโดยรวม

สุนทรภู่ ไม่ใช่กวีกระฎุมพีของท้องถิ่นบางกอกน้อย แต่เป็นมหากวีของประเทศไทยและสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ ดูได้จากพระอภัยมณีใช้ฉากทะเลอันดามันและทั้งอุษาคเนย์ แถมยังเป็นที่รู้กันของประเทศข้างเคียงว่าสุนทรภู่เป็นที่ยกย่องชื่นชมจน "เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร"

บุคลิกสำคัญอีกอย่างหนึ่งของย่านนี้ที่คนไม่รู้จักแพร่หลายคือเสภา เพราะสุนทรภู่เป็นคนแต่งเสภาสำคัญในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ครั้นถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 มีกวีเสภาคนสำคัญคือครูแจ้ง วัดระฆัง มีบ้านอยู่ย่านวังหลังใกล้วัดระฆัง (บางทีจะอยู่บริเวณภัทราวดีเธียเตอร์ของภัทราวดี มีชูธน)

ครูแจ้ง วัดระฆัง เป็นชาวเสภา แล้วเป็นคนแต่งบทเสภาขุนช้างขุนแผนตอนสำคัญมากๆ คือ ตีดาบ(ฟ้าฟื้น) ซื้อม้า(สีหมอก) ผ่าท้อง(นางบัวคลี่) หากุมาร(ทอง)

ปี่พาทย์นายเส็งกับละครนายบุญยัง อยู่ต่อเนื่องกันตั้งแต่บ้านขมิ้นใกล้ศิริราช จนถึงวัดละครทำที่พรานนก ล้วนเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่และครูแจ้ง ทำเสภามาด้วยกันทั้งนั้นตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 2-3-4

นี่ไง สังคมวัฒนธรรมบำบัด ที่วังหลัง บางกอกน้อย ศิริราช

มติชน หน้า 34


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-31 09:59:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4056312)

 อยากลองฟังเหมือนกันค่ะ ฟังทั้งวงร็อคญี่ปุ่น ป๊อปญี่ปุ่น ลองเปลี่ยนแนวอื่นๆดูบ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น jko วันที่ตอบ 2016-08-08 10:35:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.