ReadyPlanet.com


ที่อยู่อาศัยไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนตามคณะกรรมการปฏิรูปอ้าง


ที่อยู่อาศัยไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนตามคณะกรรมการปฏิรูปอ้าง
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย
http://www.facebook.com/pornchokchai
 
            ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีข้อสรุปประเด็นปัญหาหลักของประเทศ 14 ประเด็น โดยประเด็นแรกก็คือ “เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องเร่งด่วน” และตามด้วยปัญหาค่าจ้าง คุณภาพชีวิต แรงงาน สวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม การศึกษา หนี้สิน สาธารณสุข อิทธิพลเถื่อน ฯลฯ <1> นั้น ผู้เขียนในฐานะที่เคยสำรวจชุมชนแออัดทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และทุกจังหวัดทั่วประเทศมาแล้ว รวมทั้งสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เห็นว่า ข้อสรุปนี้อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงขอเสนอข้อมูลเพื่อความกระจ่าง
[img]http://www.area.co.th/images/img_clips/2010-08-09_clip_image002_0006.gif[/img]
            1.   ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ที่อยู่อาศัยค่อนข้างดี สัดส่วนของประชากรเมืองซึ่งมักจะอยู่กันอย่างแออัดกว่า มีอยู่ค่อนข้างต่ำ คือมีเพียง 31% หรือหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น  จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่า แม้จำนวนประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2543-2547 แต่เป็นเพราะการยกฐานะเทศบาลขึ้นใหม่หลายแห่ง แต่ในช่วงปี 2547-2552 การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองน้อยมาก  นอกจากนี้อัตราการขยายตัวของประชากรของไทยก็ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งความหนาแน่นของประชากรที่ค่อนข้างต่ำเช่นกัน  ที่สำคัญจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่เกิดความขาดแคลนที่อยู่อาศัย และทำให้จำนวนประชากรต่อบ้านลดลงตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น
 
[img]http://www.area.co.th/images/img_clips/20100809_clip_image004_0002.gif[/img]
 
            2. ในประเทศไทย ครัวเรือนส่วนใหญ่ถึงสามในสี่โดยประมาณ มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งนับว่าสูงมาก  หากนับรวมผู้ที่มีบ้านบนที่ดินเช่าด้วยแล้ว ครัวเรือนที่มีบ้านจะสูงถึงสี่ในห้าของครัวเรือนทั้งหมด  นี่เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยแทบจะไม่มีเลย  ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-2550) สัดส่วนของบ้านเช่าเพิ่มขึ้นจาก 11.1 เป็นเพียง 12.2% เท่านั้น  ซึ่งก็คงเป็นไปตามภาวะของเมืองยุคใหม่ที่มีการเช่าบ้านมากขึ้น แต่ก็แทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนักในกรณีของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
 
[img]http://www.area.co.th/images/img_clips/20100809_clip_image006_0002.gif[/img] 

            3. เมื่อตรวจสอบดูจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือน พบว่า รายจ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนประมาณ 18% - 25% ของรายจ่ายทั้งหมด หรือเพียงหนึ่งในห้า – หนึ่งในสี่ของรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก สัดส่วนรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมกลับลดลงเล็กน้อย จาก 22% ในปี 2543 เป็น 20% ในปี 2550  การนี้แสดงให้เห็นว่าภาระของที่อยู่อาศัยคงมีไม่มากนักสำหรับครัวเรือนในประเทศไทย
 
            4. จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นปี พ.ศ. 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า สัดส่วนของหนี้สินของครัวเรือนไทยลดลงจาก 63.3% ในปี 2550 เหลือ 60.9% ในปี 2552 แสดงว่าสถานการณ์หนี้ดีขึ้น และหนี้ในด้านที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น <2> แสดงว่าภาระหนี้สินด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนมีไม่มากนัก
 
            5. สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น มีอยู่ 4,325,791 หน่วย ณ ปี 2552 <3> ในขณะที่ปีที่กรุงเทพมหานครฉลองครบรอบ 200 ปีนั้น มีบ้านอยู่เพียง 1 ล้านหน่วยเท่านั้น  แสดงว่ามีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะบ้านจัดสรรและอาคารชุดภาคเอกชน ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก  จนทดแทนชุมชนแออัดและชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่น  ณ ปี 2500 มีบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 46% ของทั้งหมด <4>  ในขณะที่ปัจจุบันเหลือชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่เกิน 5% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดเท่านั้น  สถานการณ์ที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยของครัวเรือนไทยดีขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
 


ผู้ตั้งกระทู้ ดร.โสภณ พรโชคชัย :: วันที่ลงประกาศ 2010-08-11 14:26:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2094870)

 จากข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่อยู่ไม่สมควรถูกจัดเป็นปัญหาหลักหนึ่งใน 14 ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด  หากรัฐบาลนำข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนี้ไปใช้ ก็อาจเกิดโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น บ้านมั่นคง และบ้านเอื้ออาทร ที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพียงบางส่วน โดยสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากเกินความจำเป็นนับพันนับหมื่นล้าน ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรของประเทศชาติ
 
อ้างอิง
<1>    มติชนออนไลน์ 2 สิงหาคม 2553 เวลา 20:51:39 น.: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280757171&grpid&catid=01
<2>    บทสรุปสำหรับผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2552 http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/survey/socioExec52.pdf
<3>    ข้อมูลกรมการปกครอง http://203.113.86.149/xstat/pop52_1.html
<4>    Litchfield Whiting Browne and Associates et.al. (1960). Greater Bangkok Plan B.E. 2533 (1990). Bangkok, Department of Town and Country Planning. หน้า 84

ผู้แสดงความคิดเห็น ดร.โสภณ พรโชคชัย วันที่ตอบ 2010-08-11 14:28:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.