ReadyPlanet.com


ศรีศักร วัลลิโภดม "รางวัลฟูกูโอกะ" ล่าสุด


ศรีศักร วัลลิโภดม "รางวัลฟูกูโอกะ" ล่าสุด



แม้จะย่างเข้าสู่วัย 70 ปี แต่ยังคงมีความสุขกับการได้ออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางทุรกันดารขนาดไหน ต้องเดินเท้าไกลเพียงไร ยังคงได้เห็นอาจารย์ศรีศักรค่อยๆ ย่างก้าวไปอย่างไม่เร่งร้อน

เพราะถือว่าการเดินทางแต่ละครั้งคือประสบการณ์ใหม่ที่เก็บเกี่ยวเป็นองค์ความรู้ที่จะย่อยออกมาเผยแพร่เป็นเรื่องราวต่างๆ อย่างเข้าใจง่าย

เป็นที่มาของสมญา "นักวิชาการไร้เชิงอรรถ"

"ผมโตที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ่อผมเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 จนกระทั่งถึงเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็วิ่งเล่นอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ...

"ผมเรียนอังกฤษ ฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เรียนประวัติศาสตร์เพราะเบื่อ มันต้องท่อง ที่จริงผมชอบประวัติศาสตร์เพราะผมโตมากับครอบครัว คือคุณพ่อ (มานิต วัลลิโภดม) ทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาโดยตลอด แต่พอไปเรียนแล้วมันไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ เลยคิดว่าไปเอาดีทางภาษาดีกว่า เรียนเรื่องทางวรรณคดีหลายๆ สมัย วรรณคดีนี่มันสะท้อนสังคมมากเลยนะ ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ แล้วยังช่วยเกื้อหนุนการมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีได้ชัดขึ้นด้วย"

จบจากจุฬาฯ ก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดี ศิลปากร สอนภาษาอังกฤษกับประวัติศาสตร์

มีโอกาสได้พบอาจารย์ศรีศักรล่าสุดในงานเสวนาที่วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นคู่กับ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

อาจารย์ศรีศักร เล่าให้ฟังถึงรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ว่า "เป็นการประเมินจากข้างนอก อาจจะมาจากผลงาน ความเข้าใจจากสิ่งที่เราได้ทำงานมา ซึ่งงานของผมที่ศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมในอดีต ดูว่ามันมีผลเชื่อมโยงมาในปัจจุบันอย่างไรในแง่ที่ทำให้สังคมเข้าใจรากเหง้าของตัวเอง

"วันที่ 24 กรกฎาคม จะมีการแถลงข่าวที่ห้องประชุมใหญ่ เจแปนฟาวน์เดชั่น พอวันที่ 13-14 กันยายน ผมต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อไปร่วมในการประกาศการให้รางวัล และต้องไปกล่าวคำตอบ และเล็คเชอร์ให้กับกลุ่มด้วย

"ขณะนี้เรากำลังวุ่นกับการสร้างกระบวนการท้องถิ่นพัฒนาเพื่อจะต้านกับโลกาภิวัตน์ เรากำลังพัง เพราะเราเป็นโลกานุวัตรมาโดยตลอด คือคล้อยตามโลกโดยที่ไม่มีสติปัญญาเลย แต่การฟื้นคงไม่ฟื้นจากทางรัฐ ต้องฟื้นจากทางท้องถิ่น คือท้องถิ่นต้องรู้สำนึกจากตัวเองก่อน

"ที่จริงเราทำในเรื่องการกระตุ้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาโดยตลอด ทั้งผมและสุจิตต์ (วงษ์เทศ) และอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) เน้นในเรื่องของการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อจะให้คนรู้จักศักยภาพของตนเองจากข้างในอย่างมีพลัง เพื่อจะต่อรองกับอำนาจรัฐ แต่ไม่ใช่แบบเผชิญหน้า แล้วตรงนี้เราจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติเราได้

"ซึ่งในกระแสของกระบวนการท้องถิ่นพัฒนา เป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว เพียงแต่ท้องถิ่นเราไม่เข้มแข็ง เพราะเราพัฒนามาจากข้างบนมาตลอด เราไม่มีการสร้างมาจากข้างล่างเพื่อมาต่อรอง

"โดยยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ควรปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายจัดการเอง ถ้ากำหนดให้มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการซื้อเสียงกันขึ้น

"ขณะนี้ที่เราไปสัมผัส เกิดความเข้าใจขึ้นในท้องถิ่นแทบทุกภูมิภาค แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สื่อไปให้สังคมส่วนใหญ่รับรู้ เพราะเราไม่สามารถจะต้านสื่อของรัฐที่เป็นเรื่องพาณิชย์นิยมได้ แต่อย่างน้อยก็สร้างให้คนในท้องถิ่นมีสติปัญญาเกิดความเข้าใจ

"ผมคิดว่าญี่ปุ่นมีกระบวนการที่ทำให้ท้องถิ่นได้เรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบที่สำคัญ แต่ในเวลานี้การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของไทยเราก็ยังไม่ถูกต้อง

"อย่างที่ผมพูด ประวัติศาสตร์ต้องมาจากตัวเรา แล้วย้อนกลับไปในอดีต นี่คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือหัวใจประวัติศาสตร์ของสังคม...

"สภาพสังคมปัจจุบันที่ไปไม่รอด เพราะข้างล่างถูกทำลาย เทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งสังคมถูกฉีกขาดด้วยสงคราม ทำไมจึงฟื้นได้เร็ว เราไม่ได้ถูกฉีกขาดเลย แต่เราโง่ เพราะอยู่ใต้อิทธิพลตะวันตก และสิ่งที่สำคัญคือ คนในสังคมกลายเป็นปัจเจก ไม่เห็นความสำคัญของส่วนรวม นี่คือปัญหา"

อาจารย์ศรีศักรบอกว่า แม้เราไม่สามารถจะต้านกระแสของความพินาศได้ แต่คนที่เข้าใจก็สามารถจะหลบหลีกจากความพินาศนั้นได้

"เราไม่สามารถจะไปแก้สังคมทั้งหมดได้ ก็ต้องหวนไปหาชาดก ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นลิง แล้วน้ำมันมาแรง มีมดลอยน้ำมา ลิงก็เกิดเมตตาจิต จะไปช่วย ไอ้มดบอกเรื่องอะไรของมึง งั้นคุณก็ช่วยเฉพาะตัวคุณก่อน เท่าที่ความสัมพันธ์ที่จะสื่อกันได้อย่างลุ่มลึก ไม่ใช่สื่อกันเชิงสถิติ แล้วประกาศอย่างโน้นอย่างนี้ เราต้องมีส่วนร่วมด้วย แต่มีส่วนร่วมในลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกันแล้วหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

"ที่จริงแล้วงานทุกอย่างที่เราทำ เพื่อจะบอกว่าความไม่เป็นธรรมในสังคม คือการครอบงำจากส่วนกลางที่ทำลายสภาพแวดล้อม ทรัพยากรหมดเลย และนี่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องถูกแก้ให้ถูกต้องในรัฐธรรมนูญ"

สำหรับรางวัลนักวิชาการดีเด่น รางวัลฟูกูโอกะ อาจารย์ศรีศักรบอกว่า รู้สึกยินดีที่เขาให้ความชื่นชม เราก็ทำของเราอยู่อย่างนี้

"...เพราะผมอายุ 70 ปีแล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องลาภยศ ได้ทำงานมันสนุก และการได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์มันก็ทำให้อายุเรายืน

"ถ้าเราทำงานอย่างสบายๆ สุขภาพก็เป็นอีกเรื่อง เพราะจิตใจมันสบาย โรคภัยไข้เจ็บก็น้อยลง ก็ระวังแต่โรคจากร่างกาย ผมผ่ามะเร็งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตัดลำไส้ไปส่วนหนึ่ง แต่เป็นมะเร็งในช่วงต้นๆ ไม่แพร่กระจาย ก็เป็นมรณานุสติ

"...ก็ยังออกกำลังกายด้วยการเล่นเทนนิสอยู่เรื่อยๆ"

หน้า 33

มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10726


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-07-23 11:27:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107783)

lv men replica louis vuitton online is that you will be able to louis vuitton Taurillon Clemence which is made replica gucci handbags chanel wallet.

ผู้แสดงความคิดเห็น adelina (ary-at-msn-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:29:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.