ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " – 6


๒๑

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

 

กระแตไต่ไม้

                    ชี้นิ้วไป ให้เห็น เป็นนิ้วชี้                         หมายใจได้ของดีมีใจหมาย

            ลายสลัก รูปพยัคฆ์ สลักลาย                             งามสวยคล้าย ของจริง สิ่งสวยงาม

            ช่างเชิงครู รู้งาน ชาญเชิงช่าง                          ถามคำท่าน หมั่นสร้าง ทางคำถาม

            ความหมายสื่อ สืบสาย ท่านหมายความ          รอบรู้ลึก ตรึกตาม ความรอบรู้

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “เชิงช่างครู”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์ต้นวรรคต้องนำไปกลับกันแล้วใช้เป็นสองพยางค์ท้ายวรรคทุกวรรค เช่น   ชี้นิ้ว-นิ้วชี้,  

  หมายใจ-ใจหมาย,   ลายสลัก-สลักลาย,   งามสวย-สวยงาม   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรคที่ ๒  เช่น หมาย-นิ้วชี้-ดี,   เชิงช่าง-สร้าง  เป็นต้น   

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรคที่ ๒  เช่น  สลักลาย-คล้าย,  หมายความ-ตาม

  เป็นต้น

 

กบเต้นสลักเพชร

 

                    เมฆมืดมัว ทั่วฟ้าหม่น ฝนมามาก             แม้อยากบ่น ทนลำบาก ปากเป็นใบ้

            จูงควายวิ่ง ทิ้งทุ่งว่าง อย่างว่องไว                   ยากจะยล คนห่วงใย ไปย่างเยือน

            ฟ้าผ่าเปรี้ยง เสียงปึงปัง นั่งซุกป่า                    ได้ไอ้พับ กับอีพา มาเป็นเพื่อน

            มันมองตา มาแอบต้อง แล้วร้องเตือน              รอเมฆคล้อย ค่อยคลาเคลื่อน จูงเพื่อนควาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “เพื่อนควาย”

- เป็นกลอน ๙ ทุกวรรค  (แบ่งวรรคเป็นสามช่วง ๓ –– ๓)

- ท้ายช่วงพยางค์ในวรรค ใช้สัมผัสสระทั้งสามช่วง  เช่น   มัว-หม่น-มาก,   บ่น-บาก-ใบ้,   วิ่ง-ว่าง-ไว,   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หกวรรค ๒  เช่น   มาก-ลำบาก,   ป่า-อีพา   เป็นต้น 

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรคที่ ๔  เช่น   ไว-ห่วงใย,   เตือน-เคลื่อน   เป็นต้น

 

 

 

 

๒๒

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

อักษรล้วน

      กฎกรรมเก่าเกาะเกี่ยวกางกิ่งกั้น                 สู้สร้างสรรค์สิ่งสมเสริมศักดิ์ศรี

ดั้นด้นเดินเดียวดายได้ด้วยดี                           ชักชวนชี้ชูชัยเชิงเชี่ยวชาญ

คำคมคร่ำครวญใคร่คู่ควรคิด                          สืบสายสิทธิ์สดใสส่งสื่อสาร

            ยิ้มแย้มอย่างเยือกเย็นยิ่งยืนยาน                      กิจกลอนกานต์แกล้วกล้าเก่งก้าวไกล

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ประกายดาวแปดทิศ”

-  เป็นกลอน ๗  กลอน ๘  หรือกลอน ๙ ได้

-  ทุกพยางค์ในวรรค ต้องใช้สัมผัสอักษรทั้งหมด ทุกวรรค

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ไปสัมผัสสระพยางค์สาม ห้า หรือหก ในวรรค ๒  เช่น  กั้น-สรรค์,   คิด-สิทธิ์  เป็นต้น

   (ตามตัวอย่างใช้สัมผัสตรงตัว คือไปสัมผัสพยางค์ที่สามในวรรค ๒)

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สาม ห้า หรือพยางค์ที่หก ในวรรค ๔  เช่น  ดี-ชี้,   ยาน-กานต์   เป็นต้น 

  (ตามตัวอย่างใช้สัมผัสตรงตัว คือไปสัมผัสพยางค์ที่สามในวรรค ๔)

ข้อคิดเห็น  เมื่อผู้ประพันธ์ยังไม่มีตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องกลอนกลบท ได้เคยกล่าวชื่อกลบทบางกลบทผิด เพราะจดจำมาไม่แจ้ง  ครั้ง

แต่งเป็นตัวอย่างสอนยุวกวี ยังอ้างว่ากลอนกลบทสามารถคิดค้นกำหนดรูปแบบเองได้  ยกตัวอย่างการแต่งกลบท “อักษรล้วน” ไว้

(โดยไม่รู้ว่าครูกลอนท่านบัญญัติไว้แล้ว)  ตั้งชื่อไว้อย่างไพเราะว่า “ประกายดาวแปดทิศ” ปัจจุบันได้พบผลงานของคุณปู่ถึก จึงได้ศึกษาหาวิธีการจากผลงานของท่าน บางกลบทก็เข้าใจ บางกลบทก็ไม่เข้าใจ หากมีสิ่งใดไม่ถูกต้อง ขอให้ท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณาอนุเคราะห์ชี้แนะให้เป็นประโยชน์โดยรวมด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

 

รักร้อย

                    เรียงรักร้อย ร้อยคำ เพลินพร่ำเพ้อ            คิดถึงเธอ เธอมีจิต คิดบ้างไหม

            รักสรรค์สร้าง สร้างทุกสิ่ง รักจริงใจ                รักคือให้ ให้ความดี มีแก่กัน

            ร้อยเรียงรัก รักเธอ เสมอจิต                              ชื่นชมชิด ชิดชม ภิรมย์ฝัน

            รักเรียงร้อย ร้อยร่ำ คำประพันธ์                       รักคงมั่น มั่นอยู่ มิรู้คลาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ร้อยเรียงรัก”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙

- พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่สี่ ต้องใช้เหมือนกันทุกวรรค  เช่น   ร้อย-ร้อย,    เธอ-เธอ,   สร้าง-สร้าง,   ให้-ให้   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒  เช่น   เพ้อ-เธอ,   จิต-ชิด   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔ เช่น   ใจ-ให้,   ประพันธ์-มั่น   เป็นต้น

 

๒๓

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

กบเต้นกลางสระบัว

                    ป่ารก  ปกล้อม  พร้อมเป็นป่า                   หายเย็น  เห็นหญ้า  ป่าใหญ่หาย

            ตกแล้ง  แต่งร้าง  ต่างล้มตาย                           ทุกข์ล้ำ  ทำลาย  ได้แต่ทุกข์

            ต้นน้ำ  ตามนั้น  มันขาดต้น                             สุขเบา  เศร้าบ่น  จนสิ้นสุข

            ยุคร้อน  ย้อนรับ  ยับย่อยยุค                             เตือนปอง  ต้องปลุก  รุกร้องเตือน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ปลุกป้องป่า”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- พยางค์แรกกับพยางค์ที่สาม และพยางค์ที่สองกับพยางค์ที่สี่ในวรรค  ใช้สัมผัสสระ เช่น ป่า-ปก,  รก-ล้อม  เป็นต้น

- พยางค์ที่สองต้องสัมผัสระกับพยางค์ที่สาม  เช่น  รก-ปก,   เย็น-หญ้า,   แล้ง-แต่ง,   ล้ำ-ทำ   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๒  เช่น   ป่า-หญ้า,   ต้น-บ่น   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๔  เช่น   ตาย-ทำลาย,   ยุค-ปลุก   เป็นต้น

 

 

สะบัดสะบิ้ง

                    แต่งกลกลอน แก้ขัด สะบัดสะบิ้ง                        ให้เพราะพริ้ง เพลินชม ผสมผสาน

            ไม่โลดร่ำ คำเพ้อ ทะเยอทะยาน                       เมื่อยามอ่าน อบอุ่น ละมุนละไม                      

            ขอให้มี ความคิด ไม่ติดไม่ข้อง                                    เป็นแสงส่อง สู่ทาง สว่างไสว

            ทุกถ้วนถ้อย ร้อยคำ พิร่ำพิไร                           คงมนตร์ขลัง   ฝังใจ ไม่เสื่อมไม่คลาย

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “มนตร์กลกลอน”

- เป็นกลอน    (จัดในวรรค ๓ –– ๔)

- สี่พยางค์ท้ายของวรรค ใช้กลุ่มคำ หรือคำที่มีความหมาย ทุกวรรค  เช่น   สะบัดสะบิ้ง,  ผสมผสาน,  ไม่ติดไม่ข้อง, 

  สว่างไสว,   พิร่ำพิไร,   ไม่เสื่อมไม่คลาย   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามหรือห้าในวรรค ๒  เช่น  สะบัดสะบิ้ง-พริ้ง,  ข้อง-ส่อง  เป็นต้น     

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามหรือห้าในวรรค ๔  เช่น  ทะยาน-อ่าน,   พิไร-ใจ   เป็นต้น

 

 

 

 

 

๒๔

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

วัวพันหลัก

                    วัวพันหลัก มักอับจน ทนลำบาก             บากหน้าบ่น ทนทุกข์ยาก เอ่ยปากขอ

            ขอให้ช่วย ด้วยติดขัด ตัดไม่พอ                       พอต้องเพิ่ม ช่วยเติมต่อ ก่อกิจการ

            การสิ่งใด ไม่วางแผน จะแค้นขัด                     ขัดเหมือนเชือก เลือกล้อมรัด มัดประสาน

            สานเสียดเนื้อ เบื่อวกวน ทนทุกข์นาน             นานเกินไป ใจรำคาญ พาลเตะวัว

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “พาลโทษวัว”

- เป็นกลอน ๙  (จัดในวรรค ๓ –– ๓)

- พยางค์หรือคำสุดท้ายของวรรค ทุกวรรค ต้องนำไปใช้ในต้นวรรคต่อไป  เช่น  ลำบาก-บากหน้า,  ปากขอ-ขอให้,

  ไม่พอ-พอต้อง,   กิจการ-การสิ่งใด,   แค้นขัด-ขัดเหมือน   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าในวรรค ๒  เช่น  ลำบาก-ยาก,   แค้นขัด-รัด   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าในวรรค ๔  เช่น  ไม่พอ-เติมต่อ,   ทุกข์นาน-รำคาญ   เป็นต้น

 

 

สารถีชักรถ

                    สิ่งของนี้มีอยู่ คู่เจ้าของ                            อย่าหมายปองจองซ้ำทำเครื่องหมาย

            ควรอายเขาเฝ้ามองต้องอับอาย                                    มั่นใจไม่คิดร้ายทำลายใจ

            เป็นสุขด้วยของเราเข้าครองสุข                       เมื่อไม่โลภเร้ารุกทุกข์มีไม่

            ของใครเขาเราอย่าต้องจ้องของใคร                 ทำดีมีเรื่อยไปให้ได้ดี

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “รู้พอเพียง”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- พยางค์ที่สองในวรรคต้องนำไปใช้ในพยางค์สุดท้ายของวรรค ทุกวรรค  เช่น  สิ่งของ-เจ้าของ,   อย่าหมาย-

  เครื่องหมาย,   ควรอาย-อับอาย,   มั่นใจ-ทำลายใจ,  เป็นสุข-ครองสุข   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามหรือห้าในวรรค ๒  เช่น  ของ-ปอง,   สุข-ทุกข์   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าในวรรค ๔  เช่น  อาย-ร้าย,   ใคร-ไป   เป็นต้น


ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:48:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107353)

lv handbag mens travel bags which means that you may never louis vuitton to its original condition once gucci wallet fake chanel bags.

ผู้แสดงความคิดเห็น tankis (destin-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 09:36:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.