ReadyPlanet.com


วรรณคดีมีไว้ฟัง อ่านทีหลังได้รสแซ่บ ไม่"แอ๊บแบ๊ว"


วรรณคดีมีไว้ฟัง อ่านทีหลังได้รสแซ่บ ไม่"แอ๊บแบ๊ว"

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ปาฐกถาเกียรติยศของ อาจารย์ล้อม เพ้งแก้ว มีรสแซ่บ ไม่ "แอ๊บแบ๊ว" ทางภาษาและวรรณคดี เนื่องในโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ.2550 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2550 ที่ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาษา "อุบัติ" (อุบัติเป็นภาษาบาลี แปลว่าเกิดขึ้น) ได้ทุกเวลาเพื่อสนองความต้องการเพิ่มขึ้นของคนใช้ภาษาที่ต้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น แอ๊บแบ๊ว ฯลฯ จากนั้นภาษา "วิบัติ" (วิบัติ เป็นภาษาบาลี แปลว่า พินาศฉิบหาย หรือคลาดเคลื่อนเสียหาย) ก็ได้ตลอดเวลาเหมือนกัน เมื่อคนใช้ภาษาเบื่อหน่ายไม่ใช้แล้ว เพราะไม่สนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

ไม่มีใครต้านทานการอุบัติและวิบัติของภาษาได้ ไม่ว่าภาษาพูดหรือภาษาเขียนจะมีก็แต่ชอบหรือชังถ้อยคำเหล่านั้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมและสภาพ แวดล้อมทางวัฒนธรรมของคนนั้นๆ ด้วย

ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจะให้งามขึ้นได้ก็ด้วยการสั่งสมความรู้ (ไม่ใช่ สั่งสอนอย่างเดียว) ทางภาษาที่หาจากหนังสือและประสบการณ์ แต่หนังสือมีข้อจำกัดมาก คือต้องอ่านออกเป็นสิ่งแรกก่อน แล้วถึงทำความเข้าใจความหมายที่ซ่อนสัญลักษณ์อยู่ในภาษา

ภาษาไทยมี "วรรคตอน" แทนคอมม่า(,)และฟูลสตอป(.)ในภาษาอังกฤษ ถ้าหนังสือไม่มีวรรคตอนหรือวรรคตอนคลาดเคลื่อนก็เข้าใจไม่ได้ หรือเข้าใจผิดพลาด เช่น คอลัมน์สยามประเทศไทยนี้เอง มักบกพร่องเรื่องวรรคตอนทุกวัน เพราะคนเขียนควบคุมไม่ได้ เลยต้องยอมจำนนเหมือนเรื่องอื่นทุกเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม ฉะนั้นไม่ตำหนิใครเลย ขอความกรุณาผู้อ่านตำหนิคนเขียนเท่านั้น

วรรณคดีเป็นเครื่องมือขัดเกลาให้ใช้ภาษาสละสลวยงดงามตามต้องการของทุกชนชั้นและทุกสถานการณ์ แต่น่าสมเพชเวทนาที่ระบบการศึกษาแห่งชาติของไทยไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่วรรณคดีไทยและวรรณคดีเพื่อนบ้านจนถึงวรรณคดีโลก แม้สภาพแวดล้อมของสังคมก็ดูถูกเหยียบย่ำวรรณคดีว่าแปลงเป็นทุนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ เลยส่งผลให้สังคมไทยไร้วรรณศิลป์ ไร้รสนิยมสุภาพอ่อนน้อมต่อตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตและตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรง แล้วชอบตำหนิติเตียนด่าทอคนอื่น โดยเฉพาะวัยรุ่น เช่น แอ๊บแบ๊ว ฯลฯ สะท้อนลักษณะ "แอ๊บแบ๊ว" ของคนตำหนิ ติเตียนด่าทอคนอื่นเอง

คนแต่ก่อนอ่านวรรณคดีด้วยหู ไม่ได้อ่านด้วยตา (ข้อความนี้จำจากหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี หรือ พ.ณ ประมวญมารค) เพราะวรรณคดีแต่ก่อนแต่งเพื่อขับหรือร้องให้ฟังและดู ทำให้เชื่อมโยงถึงเพลงดนตรี เช่น เสภา, ทำนองเสนาะ, ฯลฯ เมื่อครูอาจารย์หัวนอกหัวหงอกหัวดำหัวล้าน "กึ่งดิบกึ่งดี" (คำของ ส. ศิวรักษ์) มากำหนดให้อ่านอย่างเดียวโดยไม่ฟังไม่ดู ผลคือคนเรียนเบื่อหน่ายวรรณคดีจนสุดจะพรรณนา เพราะแห้งแล้งไร้ชีวิต

ที่สุดก็เกิดอาการ "แอ๊บแบ๊ว" ทางภาษาไทยทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้ใช้งานในชีวิตประจำวัน

ทางเลือกเบื้องต้นเพื่อประนีประนอม ควรฟังและอ่านภาษาและวรรณคดีไปพร้อมๆ กัน หรือฟังก่อน อย่าเพิ่งอ่านก็ได้ เพราะวรรณคดีมีไว้ฟัง อ่านทีหลังอร่อยรสแซ่บ ไม่ "แอ๊บแบ๊ว" ถ้าครูและผู้บรรยายอ่านออกเสียงและขับลำไม่ได้ แต่โลกเทคโนโลยียุคนี้อัดเสียงและบันทึกภาพไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้

หากจนปัญญาหาแหล่งบันทึกเสียงและภาพไม่ได้ ขอป่าวประกาศให้หาเครื่องมือไปที่ท้องพระโรงและสวนแก้ว วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม มีสุดยอดเสภาสยามประเทศ โดยครูเสภาประเทศไทย ทำเสภาและปี่พาทย์ครั้งใหญ่สู่สาธารณะให้ "เสน่ห์กรุงเทพฯ" เชิญบันทึกเสียงและภาพตามสบาย ไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งนั้น ถ้าจะมีก็เป็นพิธีมีสุขสนุกสนานอย่างเดียว

มติชน หน้า 34 วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10736


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-02 14:46:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937560)

เมื่อตาไม่ได้บอดก็ควรจะดูไปด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-02 20:50:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.