ReadyPlanet.com


เมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ในชีวิตจริงของ สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก


เมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ในชีวิตจริงของ สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม ภาพจิตรกรรมศึกถลาง พ.ศ.2328 ตอนรับพระราชโองการ โดย แนบ ทิชินพงศ์ วังหน้า เมืองถลาง สาวสวยชื่อจันทร์กับนิทานเรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ พงศาวดารกระซิบหรือประวัติศาสตร์นินทา เล่าว่าอดีตเจ้าเมืองถลางคนหนึ่ง เคยเป็นที่พระยาภักดีภูธรขุนนางผู้ใหญ่วังหน้าครั้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกทัศได้เป็นเจ้าคุณกลาโหม เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ.2310 ลูกหลานญาติวงศ์หลบหนีไปตั้งตนอยู่ ณ เมืองถลาง (เมืองถลางกับเมืองเล็กๆ แปดเมืองฝั่งทะเลอันดามันขึ้นกับวังหน้ามาตั้งแต่ปลายอยุธยา) กุลญาติคนหนึ่งคือเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ต้นสกุลหรือบรรพบุรุษสกุล จันทโรจน์วงศ์ เจ้าพระยาท่านนี้เป็นขรัวตาของกรมหลวงรักษรณเรศหรือหม่อมไกรสร ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องเจ้าขรัวเงินเจ้าขรัวตาในรัชกาลที่ 4 เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักประวัติศาสตร์ไทยว่าทั้ง 2 พระองค์ทรงอยู่ตรงกันข้ามทางการเมืองมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 2 และจนถึงรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่เป็นข้าราชบริพารวังหน้าที่ตั้งอยู่ ณ พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรีตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 ยังทรงพระยศสมเด็จกรมพระราชวังบวรประทับอยู่ สุนทรภู่จึงรู้จักเมืองถลางและข้าราชการในเมืองนั้นดี จันทร์ภรรยาคนแรกของสุนทรภู่ พงศาวดารกระซิบประวัติศาสตร์นินทาเล่าว่าเป็นธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ซึ่งเกิดกับภรรยาเป็นกุลวงศ์เมืองถลาง แต่เดิมเมืองนครศรีธรรมราชตั้งใจถวายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขหรือวังหลัง เหตุด้วยเสื่อมพระบารมีไปตั้งแต่ พ.ศ.2346 เจ้าครอกใหญ่พระชายาจึงประทานให้กับสุนทรภู่ ญาติของท่าน เสร็จงานปลงพระศพสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขหรือวังหลังซึ่งเป็นบุตรอดีตพระอินทรักษาตำรวจวังหน้ากับพระพี่นางองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ซึ่งอาจมีชาติวงศ์กีดขวางแผ่นดิน ก็กลัวจะถูกกวาดล้างจึงหลบหนีไปอยู่เมืองเพชรบุรีกับถลางที่มีญาติวงศ์หรือคนที่ยังจงรักภักดีราชวงศ์เดิม อีกทั้งมีเครือญาติของจันทร์ภรรยา เมืองถลางและฝั่งทะเลอันดามันเป็นประตูสู่ตะวันตก ในรำพันพิลาปสุนทรภู่บอกเป็นนัยว่าท่านเคยไปไกลกว่าใครจะคิด มีความเป็นจริงสูง ปัจจุบันฝรั่งใช้เรือยอชต์ขนาดเล็กติดใบแล่นไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ.2352 รัชกาลที่ 1 สวรรคต รัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พม่ายกกองทัพตีเมืองถลาง กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าและอนุชาในรัชกาลที่ 2 ยกกองทัพชาววังหน้าที่ยังอยู่ ณ พระราชวังเดิมออกไปปราบและจัดการเพราะเป็นหัวเมืองของวังหน้า แม่ทัพนายกองจึงเป็นญาติเป็นคนรู้จักของสุนทรภู่ คงเกลี้ยกล่อมกวีหนุ่มกลับเข้ารับราชการ กองทัพครั้งนั้นมีเสมียนทัพคนหนึ่งชื่อมี ได้สมัครเป็นลูกศิษย์เรียนกันในยามสงคราม เสมียนมีจึงได้แต่นิราศถลาง ด้วยเหตุมีความชอบการศึกกับการเป็นคนโปรดของรัชกาลมาแต่ก่อน สุนทรภู่จึงรอดข้อหาร้ายแรง ไม่พบหลักฐานว่าร้าวฉานกับจันทร์ภรรยาคนแรกด้วยเรื่องใด รู้แต่เพียงว่ารัชกาลที่ 2 พระราชทานสาวชื่อนิ่ม อดีตสาวละครในตัวอิเหนาเป็นภรรยา ปลายรัชกาลที่ 2 เครือญาติของจันทร์ทั้งฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชและถลาง ก็ยืนอยู่ฝั่งการเมืองตรงข้ามกับสุนทรภู่ซึ่งสนับสนุนรัชกาลที่ 4 เชื่อว่าจันทร์ที่เคยสวยสุกสกาวในหัวใจก็กลายเป็นผีเสื้อยักษ์ในบัดดล เหตุปัจจัยข้อขัดแย้งมาจากผลประโยชน์การค้าดีบุกเป็นเบื้องฐาน พ.ศ.2367 รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ กลุ่มผู้สนับสนุนรัชกาลที่ 4 รวมถึงสุนทรภู่ก็พบวิบากกันตามอัตภาพ ผู้สนับสนุนทั้ง 2 ข้างดูจะผูกใจเจ็บอยู่นาน จนแม้รัชกาลที่ 4 จะได้ราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2394 สมาชิกกุลวงศ์เมืองถลางซึ่งสนับสนุนกรมหลวงรักษรณเรศหรือหม่อมไกรสร คนหนึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองพังงาแสดงอาการกระด้างกระเดื่องจนถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าเมืองไชยา ส่วนจันทร์นั้นประวัติศาสตร์นินทาว่าได้เป็นชายาของโอรสองค์รองในกรมพระราชวังหลังตามขนบเดิม แต่ก็ไม่มีข้อมูลไม่มากนัก น้องสาวท้องเดียวกันคนหนึ่งเป็นภรรยาเอกของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) หนังสือพิมพ์ของปลัดเลรายงานว่าท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาปัญญาชนสยามท่านนี้ถูกฆาตกรรม ตัวท่านเจ้าพระยา ผู้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มก็ไม่ปรากฏถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใด อย่างไร ที่ไหน น่าฉงนมาจนทุกวันนี้ ปัญญา ศรีนวล ภูเก็ต ตัดทอนจาก คำนำบรรณาธิการ ของ วราวุธ วิสิฐพาณิชกรรม ในหนังสือ จดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับตัวเขียนพร้อมคำอ่านและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป โดย ประสิทธิ ชินการณ์ ประวัติศาสตร์เมืองถลางนั้น ณ วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนพอ อาจจะเป็นเพราะเมืองถลางไม่เคยมี "เจ้าผู้ครองนคร" จึงไม่มีอาลักษณ์คอยจดปูมเมืองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังเช่นเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระราชพงศาวดารหลายๆ เล่มกล่าวถึงเมืองถลางไว้แต่เพียงสั้นๆ จนทำให้นักประวัติศาสตร์ต้องเหนื่อยยากกับการค้นคว้าสอบทานหาความถูกต้อง บางครั้งก็จำเป็นต้องใช้คำว่า "สันนิษฐานว่า" ควบคู่ไปกับการเขียน เป็นความโชคดีของเมืองถลาง เมืองภูเก็ต ที่จดหมายเหตุเมืองถลางฉบับตัวเขียนนี้ มิได้สูญหายไปตามกาลเวลา ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ อี.เอ็ช. สจ๊วต ซิมมอนด์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เก็บรักษาต้นฉบับไว้ และขอขอบคุณ คุณอ้วน สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้นำสำเนาจดหมายเหตุดังกล่าว จำนวน 6 ฉบับ มาจุดประกายเบื้องแรกให้กับประวัติศาสตร์เมืองถลาง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่า เราค้นคว้าจดหมายเหตุเหล่านี้มาครบถ้วนหรือยัง บางทีอาจจะได้เรื่องราวที่ยังไม่รู้มาต่อเติมประวัติศาสตร์ในส่วนที่ยังขาดหายไป จดหมายเหตุเมืองถลางฉบับตัวเขียน จำนวน 48 ฉบับนี้ นับได้ว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์เมืองถลางผ่านทางจดหมาย จากขุนนางเมืองถลางถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ หรือพระยาราชกปิตัน เขียนขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2319 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2335 รวมระยะเวลา 16 ปี 6 เดือน ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับว่าเป็นความโชคดีอีกครั้งที่คุณประสิทธิ ชิณการณ์ ได้หยิบเอาจดหมายเหตุเมืองถลางฉบับตัวเขียนมาปริวรรตเป็นอักขระภาษาไทยสมัยใหม่ ให้อ่านได้ง่ายขึ้น พร้อมด้วยทำคำวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในส่วนที่ยังขาดหายไป มติชนรายวัน หน้า 21 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11066


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-27 10:33:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1860680)

เมืองสยาม    

ผู้แสดงความคิดเห็น top วันที่ตอบ 2008-11-06 19:36:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.