ReadyPlanet.com


คุยกับคุณสุทธิ อัชฌาศัย และคุณประสาร มฤคพิทักษ์


 

คุยกับคุณสุทธิ อัชฌาศัย และคุณประสาร มฤคพิทักษ์
ดร.โสภณ พรโชคชัย (thaiapraisal@gmail.com)

 

             ผมได้เขียนบทความ “10 ประเด็นที่ขาดเหตุผลในการชุมนุมปิดมาบตาพุดที่ไม่ชอบธรรม” <1> และติงให้ฟังมติมหาชนชาวมาบตาพุดแทนไปฟังผู้ชุมนุม” <2> และได้รับจดหมายเปิดผนึกจากคุณสุทธิ อัชฌาศัย <3> เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พร้อมกับบทความของคุณประสาร มฤคพิทักษ์ <4> ผมจึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนดังนี้:
 
ต่อความเห็นของคุณสุทธิ
             คุณสุทธิได้กรุณาคุยกับผมในหลายประเด็นดังนี้:
             1.
คุณสุทธิบอกถึงการช่วยเหลือชาวมาบตาพุดและชาวระยอง ข้อนี้คุณสุทธิมีเจตนาที่ดี แต่ชาวมาบตาพุดส่วนใหญ่ต้องการอุตสาหกรรม จึงอาจไม่ต้องการให้ช่วย  ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐต้องชดใช้ให้ตามความเหมาะสม การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็น โปรดอ่านรวมเรียงความชนะเลิศชิงโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ เรื่องประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติที่ผมจัดประกวดขึ้น <5>
             2.
คุณสุทธิบอกว่าผมไม่เคยเอ่ยคำพูดที่มีผลกระทบในทางลบกับตัวท่านเลยนะครับและบอกว่าผมชักสงสัยว่า ท่านทำแบบนี้ทำไมครับ?’”  ข้อนี้ผม (โสภณ) ขออภัยหากทำให้เข้าใจผิด  ที่ผมเห็นต่างเรื่องมาบตาพุดนั้น อาจมองคนละจุด แต่เราต่างเห็นแก่ชาวบ้านและประเทศชาติ  เราไม่เคยรู้จักกันเป็นส่วนตัว  และไม่มีอะไรกันเป็นส่วนตัว
             3.
ที่ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเงินนั้น  นับเป็นเรื่องดีที่คุณสุทธิยืนยันว่าไม่ได้รับเงินจากใคร  ผมจึงขอเสนอแนะเพื่อความสบายใจของคุณเองว่า คุณควรแจงที่มาของเงินต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว แจงบัญชีรายรับรายจ่ายของเครือข่ายของคุณรายเดือนและทุกการเคลื่อนไหว  สังคมจะได้ไม่เข้าใจผิด  และถ้าเป็นไปได้ ควรให้สังคมได้รับรู้ว่ากลุ่มของคุณมีสมาชิกกี่คน บ้านอยู่แถวไหน มีรายชื่ออ้างอิงหรือไม่
             4.
ที่ผมเขียนว่าถ้าจะช่วยชาวบ้านจริงต้องคอยติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่แบบจุดพลุอย่างเช่น มลพิษก็มีคนแอบปล่อยเป็นระยะๆ ถ้าเรารักชาวบ้านจริง ควรคอยสังเกตการณ์ใครปล่อยเมื่อไหร่ ซึ่งปกติชาวบ้านชาวช่องก็รู้ เราก็ควรพาเจ้าหน้าที่ นักข่าว หรือตัวแทนองค์การอิสระไปแฉหรือจับเลย ถ้าทำแบบนี้มาตลอดคงไม่มีปัญหาถึงวันนี้ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่กล้าปล่อยปละ การทำเป็นวูบๆ วาบๆ จะทำให้เห็นเป็นว่าทำตามคำสั่งเป็นครั้งคราว หรือเคลื่อนไหวแบบมีจุดประสงค์แอบแฝงได้”  ข้อนี้ผมขอขอบพระคุณที่เราเห็นด้วยกันครับ



ผู้ตั้งกระทู้ maliwal :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-15 13:58:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2119381)

5. ที่ผมเขียนว่าคุณอ้างงานวิจัยนับ 1,000 ชิ้น แต่ควรเปิดเผยให้ประชาชนตระหนัก ถ้าเป็นของจริง ไม่ใช่แค่การกล่าวหา สังคมคงเชื่อถือมากกว่าการอ้างจำนวนงานวิจัย”  คุณสุทธิตอบว่าพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด  ผม (โสภณ) ขอเรียนอีกครั้งว่า คุณควรเปิดเผยต่อเนื่องเพื่อให้สังคมได้วินิจฉัย  อย่างไรก็ตามผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ก็ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มเสี่ยงจำนวน 10,000 คน ไม่มีโรคประจำตัวร้อยละ 72.6 มีโรคประจำตัวร้อยละ 27.4 โรคประจำตัวที่พบส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 9 รองลงมาโรคภูมิแพ้ร้อยละ 5.5 โรคเบาหวานร้อยละ 3.8 โรคหอบหืดร้อยละ 2.1 ตามลำดับ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่พอใจ
             6.
เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 นั้น ข้อนี้เห็นชัดแจ้งอยู่แล้วว่ามาตราดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะในการแต่งตั้งองค์การอิสระนั้น ระบุให้แต่งตั้งเฉพาะผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ  ปัญหามลพิษนี้เป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องมีผู้รู้หลายด้าน  คุณสุทธิก็บอกเองว่าควรพิจารณาจากมุมมองของ ทั้งนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักสังคมสงเคราะห์ ภาคประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ นักสาธารณสุข นักลงทุน. . .
             7.
เรื่องคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คุณสุทธิบอกว่า ถึงแม้เขา (ผู้นำชุมชน) ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ 4 ฝ่าย แต่เขาก็มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็น . . . ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ”  กรณีนี้ผม (โสภณ) เห็นว่า ไม่ชอบธรรมครับ ปัญหาของชาวมาบตาพุดแท้ ๆ แต่พวกเขากลับไม่ได้เป็นกรรมการ แสดงว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้านจริง
            
คุณสุทธิยังว่าท่านอานันท์ ปันยารชุนให้โอกาสชาวบ้านทำงานร่วมกัน  แต่ความจริงก็คือ คณะกรรมการก็ไม่เคยตระหนักว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป ไม่เคยทำประชามติ ไม่เคยสำรวจความเห็นของชาวบ้านอย่างเป็นระบบ  คุณสุทธิว่าให้ผมไปถามนายกรัฐมนตรีว่าทำไมแต่งตั้งกรรมการ 4 ฝ่าย โดยที่ไม่มีชาวมาบตาพุด  ผมเคยทำหนังสือเรียนท่านแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2552 <6>  คุณสุทธิยังแนะนำให้ผมไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนตัวแทนภาคประชาชนในกรรมการ  4  ฝ่าย  ข้อนี้ผมคงไม่ถนัดค้าความครับ
             8.
เรื่องเอ็นจีโอนั้น  คุณสุทธิก็บอกเองว่าเคยเป็น ผมก็ได้อ้างอิงเว็บต่าง ๆ เช่นเว็บแนะนำเกี่ยวกับตัวท่านในเว็บของพรรคการเมืองใหม่ <7> หรือจากแหล่งอื่น  สังคมอาจเข้าใจไขว้เขวเพราะเร็ว ๆ นี้คุณยังไปร่วมประชุมกับกลุ่มเอ็นจีโอกรีนพีชจนถูกตำรวจอินโดนีเซียจับกุมและได้โทรศัพท์ติดต่อคนใกล้ชิดนายกฯ ประสานให้ปล่อยตัว <8>  คุณสุทธิควรบอกให้สังคมทราบว่าประกอบอาชีพอะไร มีรายได้ทางไหน เพื่อให้สังคมไม่เข้าใจเป็นอื่นครับ
            
เรื่องที่คุณเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ ผมก็ไม่เคยเขียนในลักษณะให้ร้าย  ผมก็รู้จักกรรมการ-สมาชิกพรรคนี้  แต่ความจริงที่คุณเขียนไว้เองก็คือคุณเคยเป็นกรรมาการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และลาออก เนื่องจากลาอุปสมบทเดือนเมษายน 2553  ข้อนี้แสดงว่าเมื่อคุณรับตำแหน่งตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คุณยังเป็นกรรมการบริหารพรรค
             9.
เรื่องปิดการจราจร ผมเขียนชัดครับว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดการจราจร 1 ช่องทางตามข่าว ซึ่งอาจหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย เพราะเคยมีการปิดการจราจรโดยพราหมณ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2553 จนศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญาไปแล้ว รวมทั้งเคยมีการจำคุกชาวนาที่ปิดการจราจรด้วย <9>  ส่วนกลุ่มเอ็นจีโอกรีนพีช ก็ปิดทางเข้าออกสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจริงตามภาพข่าวอยู่แล้วครับ
            
10. คุณบอกว่า ทุกวันนี้ขอทำงานในนาม ภาคประชาชนดีกว่า. . . ไม่ต้องการตำแหน่ง, ไม่ต้องการลาภยศ ชื่อเสียงหรือสิ่งอื่นใด. . .”  ผม (โสภณ) ก็ขออนุโมทนาด้วยครับ และคุณต้องใจเย็นให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวคุณเอง  คุณสุทธิยังว่าผมขอเดินบนดินจนสิ้นลมในนามประชาชน ต่อสู้เพื่อคนทุกข์ คนยาก (พร้อมบทกวีของคุณสุวิทย์ วัดหนู)  ผม (โสภณ) ขอสนับสนุนด้วยใจจริงครับ  ถ้าคุณสุวิทย์ ยังมีชีวิตอยู่ ผมเชื่อว่าเขาคงช่วยอธิบายเกี่ยวกับตัวผมให้คุณสบายใจได้เช่นกันครับ  และในแผ่นดินนี้ยังมีคนทุกข์ยากที่อื่นต้องการคุณมากกว่าชาวมาบตาพุดนะครับ  คุณสุทธิยังบอกว่า ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ใช่ศัตรูของท่าน. . . ผมคิดว่าท่านคือมิตร. . . ”  ผม (โสภณ) ขอขอบพระคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น sopon วันที่ตอบ 2010-10-15 13:59:10


ความคิดเห็นที่ 2 (2119382)

ต่อความเห็นของคุณประสาร
             คุณประสารเป็นผู้มีพระคุณของผมเองครับ ท่านเป็นที่ปรึกษาของบริษัทผมมาตั้งแต่แรกตั้ง  ศรีภรรยาท่านก็เป็นครูผมอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่เรื่องมาบตาพุด เราคงมองต่างมุมกันตามประสาญาติมิตรครับ
             1.
เรื่องมลพิษ  แม้ศาลมีคำสั่งประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่นี่มีอันตรายหนัก  ที่คุณประสารอ้างว่าระยองเป็นจังหวัดที่เป็นมะเร็งสูงสุดนั้น ท่านควรมีอ้างอิง  อย่างไรก็ตาม Link ที่คุณประสารอ้างนั้น ผมเปิดไปไม่พบข้อมูลครับ  ในทางตรงกันข้าม หลักฐานของทางราชการกลับระบุว่าการตายของชาวระยองเกิดจากสาเหตุภายนอก (อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย) เป็นสำคัญ  “การตายด้วยโรคมะเร็ง. . . มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ต่ำกว่าระดับประเทศ ยกเว้นปี 2548 สูงกว่าระดับประเทศ. . . ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็ง (ในระยอง) เป็นผลเนื่องมาจากมลภาวะ. . .” <10>
             2.
ในอีกแง่หนึ่งหากมีมลพิษมากจริง ก็ควรที่จะย้ายชุมชนออกเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ยิ่งหากรัฐบาลซื้อหรือเวนคืนที่ดินตามราคาตลาดรวมค่ารื้อถอน ประชาชนคงยินดี   อย่างไรก็ตามผลสำรวจพบว่า มีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่คิดย้ายออก ซึ่งการนี้อาจแสดงถึงความมั่นใจต่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัยในระดับหนึ่ง  โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทมหาชนย่อมมีความปลอดภัยในระดับสูงกว่าโรงงานในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ  ไม่เช่นนั้น กลุ่มคนงานก็คงไม่กล้าทำงาน และคงรับรู้และหนีไปก่อนชาวบ้านทั่วไปเสียอีก
             3.
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงได้รับค่าเวนคืนและได้ย้ายไปตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว  ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมมีความจำเป็นเพราะในประเทศไทยมีที่นี่เพียงแห่งเดียวที่กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างความ โชติช่วงชัชวาลให้กับประเทศไทย ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรมสีเขียวหรืออุตสาหกรรมเบา  การถมทะเล การสร้างท่าเรือ-โรงไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ล้วนมีความจำเป็นทั้งสิ้น และเกิดขึ้นในทุกประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินในประเทศไทย และนี่จึงเป็นข้อกังขาของสังคมว่ามีขบวนการรับจ้างมากีดขวางความเจริญของประเทศ เอาประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวมมาต่อรองเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่คุณสุทธิ

ผู้แสดงความคิดเห็น sopon วันที่ตอบ 2010-10-15 13:59:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.