ReadyPlanet.com


๏ ลาทีปีพยัคฆ์


๏ ลาทีปีพยัคฆ์ขยุ้ม                     ขยำสยาม
สยองแสยะใครมูมมาม                มากน้อย
ลดบ้างเถอะ ตะกละตะกลาม       การเถื่อน  เมืองเถื่อน
ลดพล่ามบริภาษถ้อย                   ถากขั้วขับสี ๚ะ

๏ ลาทีปีคลั่งแค้น                        ขอคืน  เอาคืน
เอาเถิด ใครอยากฝืน                   ขัดหล้า
จักพินาศ มิอาจยืน                       ยลสงบ
อารยะมาทายท้า                         ทุบรื้อทุรสมัย ๚ะ๛



ผู้ตั้งกระทู้ ศาลายา :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-30 06:41:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2140636)

         ขอโทษนะครับ  อย่าว่ามาอวดรู้อะไรนะท่านศาลา  คนมันชอบก็อดชมไม่ได้สะดุดนิดเดียว คำว่า ขัดหล้า ท่านคงหมายเอาคนขวางโลกขัดขวางความเจริญ แต่ผมว่าถ้าเป็น ขัดฟ้า ก็หมายเอาคนฝืนลิขิตได้  ซึี่งไม่เลวนะและคำว่าฟ้ายังมีอีกนัยหนึีี่งคือเบื้องสูง  หนำซ้ำ ได้สัมผัสอักษร ก็แค่ความเห็นของคนช่างติเท่านั้นนะครับท่านเขียนได้ดีฝิมือระดับนี้แล้ว ขอบคุณนะครับที่รับฟัง อย่างอื่นก็ มิกล้า มิกล้า

 

         

ผู้แสดงความคิดเห็น สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล นักกลอนครับ (somsak-poet-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-30 10:33:28


ความคิดเห็นที่ 2 (2140659)

ขอบคุณ อ.สมศักดิ์ฯ สำหรับการชี้แนะครับ

กระผมแต่งบทนี้แบบเอาเร็วเข้าว่า ระหว่างรอเข้าห้องน้ำ แล้วก็เที่ยวแปะๆ เลย จึงขาดการขัดเกลาอย่างลึกซึ้ง

ท่าน อ.สมศักดิ์ฯ แนะนำว่า "ฝืน ขัดหล้า" ควรเป็น  "ฝืน  ขัดฟ้า"  ซึ่งจะได้ความหมาย คนฝืนลิขิต (ฝืนเบื้องบน)  และได้สัมผัสอักษร ฝ-ฟ  นับว่าเป็นประโยชน์และเป็นความกรุณาอย่างยิ่งครับ

กระผมก็มานั่งจ้องอีกที หากใช้ "ขืน  ขัดหล้า" ก็ได้ความหมาย คนขัดขวางโลก ขัดขวางความเจริญ ขัดขวาง(ความต้องการของ)ประชาชน และได้สัมผัส ข-ข ก็ได้มุมมองไปอีกแบบ

ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจเลือกอันไหนครับ ฝากมิตรรักแฟนโคลง ช่วยดูก็แล้วกันครับว่าแบบไหนดี  ฟ้าหรือดิน? พานนึกถึงหนังเรื่อง Hero ที่มีการพูดถึง "ใต้หล้า" ไม่แน่ใจว่า "ฟ้า" หรือ "หล้า" จะทรงพลังยิ่งกว่ากัน

ขอทิ้งไว้สักสองสามวัน แล้วค่อยมาเกลาครับ ตอนนี้ความคิดหลายอย่างวิ่งชนกันในหัว ไปฉลองอำลาไปเก่าต้อนรับไปใหม่ก่อนก็แล้วกันครับ :) ... สวัสดีปีใหม่ครับ!

ผู้แสดงความคิดเห็น ศาลายา วันที่ตอบ 2010-12-30 11:43:00


ความคิดเห็นที่ 3 (2140660)

แก้คำ "อำลาไปเก่าต้อนรับไปใหม่" แก้เป็น "อำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่" ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ศาลายา วันที่ตอบ 2010-12-30 11:45:20


ความคิดเห็นที่ 4 (2140674)

ขัดหล้า น่ะแหละดีแล้ว  ตรงเสียงดี เสียงโท

ถ้าขัดฟ้า  กลายเป็นเสียง ตรี ไป ไม่เพราะ

ความหมายก็พอ ๆ กัน แต่หล้า ให้ความหมายที่กว้างกว่า อีกด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ประมุข วันที่ตอบ 2010-12-30 12:13:23


ความคิดเห็นที่ 5 (2140680)

ถ้ามองย้อนขึ้นไปข้างบน คำว่า ขืน น่าใช้กว่า เพราะมันได้ มาตั้งแต่ แค้น  คืน  คืน และ ใคร กระทบมาด้วย ส่วนใต้หล้าสำนวนจีน หมายถึง เบื้องล่างมากกว่า กลับไปที่คำว่า ฝืน ขัดฟ้า ฟ้าคำนี้ได้สองความหมาย และเสียงจะสวยกว่า เพราะเป็นเสียงที่ทิ้งจังหวะคำปลายพยางค์พอดี ต้องลองอ่านออกเสียงดู ไอ้เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่พ่อโจรจะตัดสินใจเองล่ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล นักกลอนครับ (somsak-poet-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-30 12:18:57


ความคิดเห็นที่ 6 (2140694)

 

ขอบคุณทุกท่าน เริ่มตั้งแต่ผู้ตั้งกระทู้ ตลอดไปถึงผู้แสดงความคิดเห็นทุกความคิดเห็น ทำให้ผมพลอยมีความรู้หลากหลายตามไปด้วย เผื่อบางทีผมจะได้เป็นนักแต่งกลอนกับเขาบ้าง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ส.พิณแก้ว วันที่ตอบ 2010-12-30 13:04:41


ความคิดเห็นที่ 7 (2140731)

http://drnui.com/poempix/peemai2554.jpg

สวัสดีปีใหม่ครับ ทุกท่าน

ผู้แสดงความคิดเห็น วฤก (admin-at-drnui-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-30 19:03:15


ความคิดเห็นที่ 8 (2140836)

กางกรงเล็บพยัคฆ์ขย้ำ............ครองสยาม

องอาจท่วงทีงาม...................สง่าแท้

ฟ้าสูงแผ่นดินทราม................คืนสงบ

อิ่มเลือดอิ่มเนื้อแปล้...............จึ่งลี้อำลา

ตามชะตาผ่านพ้น...................ข้ามคืน

เอาเถิดคงไม่ฝืน.......................ขัดฟ้า

เข้าปีกระต่ายกลืน.....................ปีพยัคฆ์

อย่างมากก็ยอดหญ้า.................กัดเคี้ยวพอคำ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เสือพลัส+ วันที่ตอบ 2010-12-31 14:39:33


ความคิดเห็นที่ 9 (2141441)

สวัสดีปีใหม่ครับ

 

พึ่งกลับจากไปพักผ่อนในวันหยุดยาว มาอ่านที่ตัวเองแต่งอีกรอบ เห็นว่าที่ยังไม่ขัดเกลา "ฝืน  ขัดหล้า" มีทางเลือกงามๆ สองทางคือ "ฝืน ขัดฟ้า" กับ "ขืน ขัดหล้า"

โคลงสองบทนี้ต้องการเน้นอะไรๆ ที่อยู่บนพื้นดิน ก็เลยชอบ "ขืน ขัดหล้า" มากกว่า ขอเลือกช้อยนี้ก็แล้วกันครับ

ขอบคุณ อ.สมศักดิ์ และคุณประมุข ที่กรุณามาให้คำชี้แนะครับ

ขอบคุณ หมอวฤก สำหรับโคลงอันสุดยอดครับ ผมชอบสำนวน "ก่ายฟ้า" จริงๆ มันให้ความรู้สึกอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ไม่เคยเห็นคำนี้ในวรรณคดี แต่คุณหมอนำมาเขียนตรงนี้ได้สุดยอดจริงๆ ครับ

ขอบคุณ คุณเสือพลัส+ โคลงสำนวนสบาย ๆ แต่จบได้จับใจครับ "...อย่างมากก็ยอดหญ้า  กัดเคี้ยวพอคำ" ได้อรรถรสดีแท้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ศาลายา วันที่ตอบ 2011-01-04 11:52:27


ความคิดเห็นที่ 10 (2143256)

 

ยังรอดูงานดี ๆ อยู่อีกนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล นักกลอนครับ (somsak-poet-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-01-07 10:07:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.