ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " – 7


๒๕

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

สุรางค์ระบำ

                    เมาแล้วขับ จับข่ม อมมะขาม                  นั่งเบาะหนาม ห้ามหนี แม้มีหนอง

            ต้องลงโทษ โปรดทำ นำเงินทอง                     ปรับแล้วจ้อง ต้องจี้ ชี้ประจาน

            เมาทำไม ไม่หมด ลดไม่มาก                            อย่าถุยขาก ปากขุด หลุดคำขาน

            เมาแล้วบ่น คนบ้า ปากระบาล                         อย่าหนุนพาล ผ่านพบ ตบให้พัง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ขับคนเมา”

- เป็นกลอน ๘  (จัดเรียงในวรรค ๓ –– ๓)

- พยางค์ที่สาม-พยางค์ที่ห้า และพยางค์ที่แปด (สุดท้าย)  ใช้สัมผัสสระ  เช่น  ขับ-ข่ม-ขาม,   หนาม-หนี-หนอง,

  โทษ-ทำ-ทอง,   จ้อง-ขี้-จาน,   ไม-หมด-มาก,   ขาก-ขุด-ขาน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒  เช่น  มะขาม-หนาม,   ไม่มาก-ขาก   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔  เช่น  ทอง-จ้อง,   กระบาล-พาล   เป็นต้น

 

 

ฉัตรสามชั้น

      จ้องจับตา หาควายกลับ ตาจับจ้อง                        ฉายไฟส่อง มองไป ส่องไฟฉาย

ควายเห็นเรา หลบเงา เราเห็นควาย                 เร้นซ่อนกาย หายจร กายซ่อนเร้น

ย่างย่องย่อ ขอได้ต้อง ย่อย่องย่าง                    เล่นล้อพลาง ผูกเชือกต่อ พลางล้อเล่น

            เย็นใจได้ หมายดังหมาย ได้ใจเย็น                    ควายที่เป็น เห็นไม่ดี เป็นที่ควาย                                                                    

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ตามควายกลับบ้าน”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สามพยางค์แรกกับสามพยางค์ท้ายต้องใช้การสลับกลับย้อน  เช่น  จ้องจับตา-ตาจับจ้อง,  ฉายไฟส่อง-ส่องไฟฉาย,

   ควายเห็นเรา-เราเห็นควาย,   เร้นซ่อนกาย-กายซ่อนเร้น    เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามที่ห้าหรือที่หก ในวรรค ๒  เช่น  จ้อง-ส่อง,   ย่าง-พลาง   เป็นต้น 

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามที่ห้าหรือที่หก ในวรรค ๔   เช่น  ควาย-กาย,  เย็น-เป็น   เป็นต้น

 

 

 

 

๒๖

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

กบเต้นต่อยหอย

                    มีเมตตา อย่าตัวต่ำ ทำตีนไต่                    ถือธรรมมั่น หมั่นมุ่งหมาย คลายหม่นหมอง

            รู้จักคิด จิตครวญใคร่ ไปประคอง                   ตามติดตรึก ฝึกใจต้อง จนวันตาย

            ตนพึ่งตน พ้นปลักตม ไม่ยึดติด                      ตัดความเศร้า เรามีสิทธิ์ คิดไม่สาย

            ดีและเก่ง เร่งให้กล้า อย่ากลับกลาย                 รู้แล้วมอง ปองมั่นหมาย ได้สอนตน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สอนตน”

- เป็นกลอน ๙  (การแบ่งช่วงในวรรค ๓ –– ๓)

- พยางค์ที่สองสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรคทุกวรรค   เช่น  เมตตา-อย่า,   มั่น-หมั่น,   คิด-จิต,    เป็นต้น

- พยางค์ที่สอง-สาม-ห้า  ใช้สัมผัสอักษร  เช่น  ตา-ต่ำ-ไต่,   มั่น-หมาย-หมอง,   คิด-ใคร่-ครอง,   ตรึก-ต้อง-ตาย,   

  ยกเว้นวรรคส่ง (วรรคที่ ๔) พยางค์สุดท้ายของวรรคต้องไปเชื่อมบทอื่น ให้เว้นได้  เช่น  มอง-หมาย-ตน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หก ในวรรค ๒  เช่น  ไต่-หมาย,   ติด-สิทธิ์   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หก ในวรรค ๔  เช่น  ประคอง-ต้อง,   กลาย-หมาย   เป็นต้น

 

สร้อยสน

                    สร้อยสน  สนใจ  ไปเก็บผล                     ผลร่วง  ร่วงหล่น  จนมากหลาย

            หลายลูก  ลูกร้อย  แลเรียงราย                          รายรอบ  รอบหมาย  ให้สนงาม

            งามสน  สนสร้าง  คนช่างคิด                           คิดได้  ได้ประดิษฐ์  คิดคำถาม

            ถามครู  ครูไข  ให้ทำตาม                                ตามต้อง  ต้องความ  งามเหมือนครู

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สายสร้อยลูกสน”

- เป็นกลอน ๗ หรือกลอน ๘ ได้  (พยางค์ในวรรค ช่วงหน้าและช่วงกลางมี ๒ หรือ ๓ พยางค์ได้)

- พยางค์หรือคำที่สามกับสี่ ใช้เหมือนกัน  เช่น  สร้อยสน-สนใจ,   ผลร่วง-ร่วงหล่น,   หลายลูก-ลูกร้อย   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้า ในวรรค ๒  เช่น  ผล-หล่น,  คิด-ประดิษฐ์   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้า ในวรรค ๔  เช่น  เรียงราย-หมาย,   ตาม-ความ   เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

๒๗

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

สิงโตเล่นหาง

                    จงซื่อสัตย์ จัดจ้องใจ ให้แจ่มแจ้ง             อย่าแอบแฝง แรงเล่ห์ร้าย หมายทรัพย์สิน

            คดโกงเขา เอาเอาก้อนไฟ ไปกลืนกิน              ไหม้พองลิ้น สิ้นรสรู้ ดูพิการ

            จงอดทน จนที่สุด หยุดโลภหลง                     เป็นคนตรง จงจิตใจ ให้กล้าหาญ

            ใครจะชั่ว ตัวจะดี ที่สันดาน                            อย่าเป็นพาล รานรุกล้ำ ทำลายใคร

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ตรงตามธรรม”

- เป็นกลอน ๙  (จัดเรียงในวรรค ๓ –– ๓)

- พยางค์ที่สามสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ในวรรค ทุกวรรค  เช่น  สัตย์-จัด,   แฝง-แรง,   เขา-เอา,   ลิ้น-สิ้น   เป็นต้น

- พยางค์ที่หกสัมผัสสระกับพยางค์ที่เจ็ดในวรรค ทุกวรรค  เช่น  ใจ-ให้,   ร้าย-หมาย,   ไฟ-ไป,   รู้-ดู   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้า ในวรรค ๒  เช่น  แจ้ง-แฝง,   หลง-ตรง   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้า ในวรรค ๔  เช่น  กิน-ลิ้น,   สันดาน-พาล   เป็นต้น

- กลอนกลบท “สิงโตเล่นหาง” เป็นกลอนแปดมาตรฐานที่งดงามคล้าย “เทพชุมนุม” ไม่โลดโผนสลับกลับคำ

  ไม่ซ้ำหน้าซ้ำหลังแต่อย่างใด  ใช้สัมผัสตรงตัว ไม่ข้ามคำไปสัมผัส และใช้สัมผัสสระในวรรคทั้งหมด

 

 

ละลอกแก้วกระทบฝั่ง

                  สร้างสวนครัว อย่ามัวคร้าน เดินผ่านข้าม ต้องตริตรอง แล้วมองตาม ยามศึกษา             

            ปรับปรุงดิน ทำถิ่นดี มีปุ๋ยยา                           ให้เลิศล้ำ ตามตำรา หาเม็ดพันธุ์

            หมั่นตรวจแปลง แมลงป่าโรคมาเจาะ             วิธีมี เลือกที่เหมาะ เป็นเกราะกั้น

            จะเพลิดเพลิน เจริญผล ล้นรอบวัน                 เมื่อขยับ กับขยัน ฝันเป็นจริง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สวนครัวของคนขยัน”

- เป็นกลอน ๙   (จัดเรียงในวรรค ๓ –– ๓)

- พยางค์ที่สามต้องสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าในวรรค ทุกวรรค  เช่น  ครัว-มัว,   ตรอง-มอง,   ดิน-ถิ่น   เป็นต้น

- พยางค์ที่สามต้องสัมผัสอักษรกับพยางค์ที่หกในวรรค ทุกวรรค  เช่น  ครัว-คร้าน,   ตรอง-ตาม,   ดิน-ดี   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หกในวรรค ๒  เช่น  ข้าม-ตาม,   เจาะ-เหมาะ   เป็นต้น      

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หกในวรรค ๔  เช่น  ยา-ตำรา,   วัน-ขยัน   เป็นต้น

 

 

 

๒๘

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

มังกรคาบแก้ว

                    หุ่นเชิด ชักมักถูกมอง จ้องเชิดหุ่น           หลายหลากตัว มัวแต่วุ่น หุ่นหลากหลาย

            ลายแต่งหุ่น เห็นหุ่นสวย ด้วยแต่งลาย             เพลินเพ่งชม สุขสมหมาย ได้เพ่งเพลิน

            เต้นตามบท กำหนดงาม ไปตามเต้น               เหินเหาะดี ลีลาเด่น เห็นเหาะเหิน

            เกินขาดบ้าง ในบางครั้ง ยังขาดเกิน                 คนเชิดเผลอ ทำเหม่อเมิน เพลินเชิดคน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “คนเชิดหุ่น”

- เป็นกลอน ๙   (จัดเรียงในวรรค ๓ –– ๓)

- สองพยางค์ตอนต้นนำไปสลับกลับใช้ในสองพยางค์สุดท้ายของวรรค ทุกวรรค  เช่น  หุ่นเชิด-เชิดหุ่น,

  หลายหลาก-หลากหลาย,   ลายแต่ง-แต่งลาย,   เพลินเพ่ง-เพ่งเพลิน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หกในวรรค ๒  เช่น  หุ่น-วุ่น,   เต้น-เด่น   เป็นต้น    

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่หกในวรรค ๔  เช่น  กาย-หมาย,   เกิน-เดิน   เป็นต้น

 

 

กบเต้นสามตอน

                    อย่าทำ  ย้ำเทียบ  เหยียบท่าน                   ยกก่อ  ยอกัน  หยันเก่ง

            ตัดกิจ  ติดกลัว  ตัวเกรง                                   คำร้อย  คอยเร่ง  เคร่งเรียน

            ยุคใหม่  ใยมั่ว  ยั่วหมาย                                   กลับแปร  แก้ปลาย  กลายเปลี่ยน

            ตัดพก  ตกพร่อง  ต้องเพียร                             หยุดพา  อย่าเพี้ยน  เขียนเพลิน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่าข้ามครู”

- เป็นกลอน ๖         (จัดเรียงในวรรค ๒ –– ๒)

- พยางค์ที่สองต้องสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ทุกวรรค  เช่น  ทำ-ย้ำ,   ก่อ-ยอ,   กิจ-ติด,  ร้อย-คอย  เป็นต้น

- พยางค์ที่สอง-สี่ และหก ต้องสัมผัสอักษรกัน ทุกวรรค  เช่น  ทำ-เทียบ-ท่าน,   ก่อ-กัน-เก่ง,  เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๒  เช่น  ท่าน-กัน,   หมาย-ปลาย   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สี่ในวรรค ๔  เช่น  เกรง-เร่ง,   เพียร-เพี้ยน   เป็นต้น



ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:49:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107381)

imitation louis vuitton handbags louis vuitton The upscale hobo is usually made of louis vuitton you should find a choice of handbag lv handbags fake louis vuitton bags.

ผู้แสดงความคิดเห็น david (grace-at-mail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 09:58:52


ความคิดเห็นที่ 2 (4199617)

การเลือกซื้อไฟฉายที่เหมาะกับคุณ
1.สภาพการใช้งาน เช่น อย่างมีไว้ที่ที่ทำงานไว้ให้ส่องแสงสว่างทั่วไป แบบเล็กๆไว้ใช้พกติดตัวเผื่อฉุกเฉิน แบบใช้งานมาก
2.ชนิดของถ่านที่ไฟฉายใช้งาน ใช้ถ่านธรรมดาเพื่อให้ความสว่าง ไม่มากนัก ถ้ารองรับถ่านแบบลิเธี่ยมเท่านั้น ก็จะให้แสงเยอะ หรือแบบผสม ให้แสงสว่างตามตามนั้น
3.โคมและหลอด เลือกความสว่างน้อยมากจากแต่ละชนิดหลอด เลือกความพุ่งหรือกระจายเท่าใด
4.ราคา ว่าเรามีเงินหรืองบประมาณเพียงที่จะซื้อ
ไฟฉายยี่ห้ออะไร แบบไหน

ผู้แสดงความคิดเห็น โฉมฉาย วันที่ตอบ 2017-07-12 09:58:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.