ReadyPlanet.com


ครูแจ้ง ไฉน ว่าไม่แจ้ง


ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2545

คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม นสพ.มติชน 3 ส.ค. 50

 

 

"สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ "ตำนานเสภา" แล้วทรงมีรับสั่งเรื่องครูแจ้งเอาไว้มากที่สุดว่า "เป็นครูเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5 บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพวันทองว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่าครูแจ้งกับยายมานี้ เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ 3 อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่ง ยายมาด่าถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลงหันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน...ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวด ที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอีกคนหนึ่ง”ประวัติส่วนตัวครูแจ้งมีเท่านี้เอง ไม่มีหลักฐานว่าบิดามารดาคือใคร? เกิดเมื่อไร? เกิดที่ไหน? ตายเมื่อไร? รู้แต่ว่า "มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5" ซึ่งอาจ "เดา" ว่าเป็นคนเกิดทีหลังสุนทรภู่ (เพราะสุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่อต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4)การที่สุนทรภู่ไม่ออกชื่อครูแจ้งไว้เป็น 1 ใน 6 ในบทเสภาตอนกำเนิดพลายงาม แสดงว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ครูแจ้งยังเยาว์ หรือยังไม่มีชื่อเสียง หรือยังไม่ขับเสภาก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ครูแจ้งมีชื่อเสียงแล้ว แต่มีทางเล่นเพลงปรบไก่กับยายมา ซึ่งเป็นตอนที่สุนทรภู่ออกบวชหนีราชภัย แล้วมักจาริกแสวงบุญไปที่ต่างๆ นอกพระนคร"

โปรดดู http://www.thaipoet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=564986&Ntype=2

 

เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์

ผู้แต่ง คุณสุวรรณ

ฯลฯ.......................

หม่อมกระไรใจคอนี้น้อยนัก ฉันประจักษ์แจ้งความตามนิยาย

กระทบเรื่องของซื้อเขาหรือจ๊ะ จึ่งเกะกะโกรธร่ำระส่ำระสาย

ไม่มีใครบอกนุสนธิ์ต้นปลาย ลายไปผุดขึ้นตำบลถนนอาจารย์

ฉันพบเห็นตำราจึ่งว่าไป ขออภัยเถิดอย่าโกรธดิฉาน

ถ้าแม้นหม่อมรักตัวกลัวอัประมาณ ก็บนบานคนขับจะรับไว้

ถ้าหม่อยอายเสียดายชื่อจะลือชา ก็เอาเงินเอาผ้านั้นมาให้

ฉันจะลบตำรับไม่ขับไป จงถึงใจตาแจ้งเสียเถิดรา

คืนนี้กระหม่อมฉันนอนฝันไป ว่าคุณข้างในกล่าวขวัญฉันหนักหนา

เพลาดึกสองยามย่ำนาฬิกา คุณโม่งลงมาจากพระตำหนักใน

กับหม่อมเป็ดสองคนมาสนทนา ที่ตรงหน้าเตียงทองที่ห้องใหญ่

หม่อมเป็ดว่าคุณจ๋าฉันเจ็บใจ คนพิไรค่อนว่าสารพัน

เก็บเอาความไม่ดีไปชี้แจง ว่าตาแจ้งตะแกจะรู้อะไรนั่น

ลุงทองจีนนั่นแหละต้นคนสำคัญ คุณชีเหมก็ขยันข้างแคะได้

หลวงนายศักดิ์นายผึ้งก็ปากบอน ค่อนบอกความจริงจนสิ้นไส้

ให้อับอายขายหน้าระอาใจ ค่อนพิไรกล่าวขวัญพรรณนา

ข้างคุณโม่งจะแกล้งพ้อหรือยอฉัน ว่าตาแจ้งแกขยันแม่ขำจ๋า

แกช่างประดิษฐ์ติดกรับขับเสภา จะหาเหมือนตะแกแท้ยากครัน

ข้างหม่อมขำฟังคำซ้ำขัดใจ ดีอะไรกับตาแกแกล้งกลั่น

สาระวอนค่อนว่าสารพัน กล่าวขวัญเราสองคนเป็นพ้นนัก

พวกเราแหละไปเล่าให้ความอึง คุณชีเหมนายผึ้งหลวงนายศักดิ์

ลุงทองจีนก็ครันขยันนัก เพราะคนในพระตำหนักจึ่งความอึง

ครั้นเช้าคุณเหมมาพระตำหนัก พอพบพักตร์หม่อมขำทำปั้นปึ่ง

แล้วเสกแสร้งแกล้งว่าชักหน้าตึง ว่าพวกนายศักดิ์นายผึ้งแล้วเป็นไร

คุณชีเหมเคืองขัดสะบัดหน้า มาโทษเอาข้าสองคนกระนี้ได้

วันนี้จะให้เสภาว่าหนักไป พอสิ้นฝันฉันตกใจตื่นขึ้นมา

คืนนี้กระหม่อมฉันฝันอีกครั้ง ว่าความในวังชุลมุนวุ่นนักหนา

พอเกล้ากระหม่อมรัวกรับขับเสภา หม่อมเป็ดมาแฝงบานทวารบัง

คิดว่าจะขับเรื่องตัวกลัวอาย แกล้งอุบายพูดหลอกบอกคุณรับสั่ง

ว่าทรงกริ้วพระสุรเสียงสำเนียงดัง อย่าให้ตาแจ้งวัดระฆังขับต่อไป

คุณรับสั่งรู้เท่าว่าเขาหลอก อุบายบอกหาให้ขับเรื่องตัวใหม่

จึงไม่เข้าทูลฉลองตรองอยู่ในใจ เอาความไปกราบทูลเจ้าวางจาง

ประเดี๋ยวนี้หม่อมเป็ดขำสำออยนัก ขึ้นนั่งตักคุณโม่งไม่คิดหมาง

หลวงนายศักดิ์แลไปในม่านกลาง ใครสร้างพระสี่ขาเข้ามาไว้

หม่อมเป็ดน้อยเป็ดสวรรค์ครั้นได้ฟัง ละอายใจไม่นั่งอยู่ตักได้

หลบหน้าเขาในม่านรำคาญใจ มิใคร่จะพูดกับหลวงนายอายเต็มที

แล้วก็พากันมานั่งข้างเก๋งเสวย หม่อมเป็ดเอ่ยออเซาะปะเหลาะพี่

เบื่อเดือนสิบสองตาแจ้งขับรับกับนายมี กลับทองของดีก็หายไป

ถึงเวลารับประทานอาหารค่ำ คุณลุงซ้ำให้อีเปียมาเกลี่ยไกล่

จึ่งเอ่ยออกบอกพลันไปทันใด เชิญคุณทั้งสองไปรับประทาน

หม่อมเป็ดบอกกับอีเปียพี่เสียใจ เราไม่ไปกินแล้วของคาวหวาน

จะฟังเสภาตาแจ้งถนนอาจารย์ ให้หายรำคาญขุ่นคิ่นในวิญญาณ์

ลุงทองจีนซ้ำเดินมาเชิญใหม่ พูดกันถึงอะไรหม่อมจำ

ฉันเห็นพูดกันเพลินเกินเวลา ไปรับประทานข้าวปลาให้สุขใจ

หม่อมเป็ดรำคาญง่านหงุดหงิด เกรงจิตลุงทองจีนไม่ขัดได้

ให้ป่วนหวดในอุทรร้อนธาตุใน ประเดี๋ยวหนึ่งจึงจะไปดอกเจ้าคะ

ว่าแล้วลุกจากที่ตะลีตะลาน ออกทวารลุกวิ่งมาเกะกะ

ถึงที่ก็หายคลายทุกข์ที่ท้องปะทะ อุจจาระเสร็จแล้วก็รีบมา

ครั้นมาถึงพี่นางทางบอกพลัน กินข้าวมันเถิดหรือจ๊ะคุณโม่งจ๋า

คุณเสียยอไม่ได้ก็ไคลคลา รับประทานแล้วก็เข้ามานั่งด้วยกัน

ยายปานบุตรผุดปากขึ้นทันที ตาแจ้งดีตีกรับขับขยัน

จะไว้วางเป็นจังหวะฉะฟัน ทั้งขันทั้งเพราะเสนาะดี

หม่อมเป็ดฟังคำแล้วซ้ำเคือง กระทืบเท้าเปรื่องเปรื่องขึ้นในที่

ออปานลูกมึงจะถูกไม้เรียวรี คนอะไรไม่มีอัธยา

อย่ามานั่งอยู่ที่กูดูไม่ได้ ก็ลุกเข้าไปทั้งสองห้องเคหา

ลงเรียบเรียงเคียงชิดกันนิทรา เอานวมมาห่มหุ้มคลุมเข้าด้วยกัน

หม่อมเป็ดขำซ้ำเรียกหนูลิ้นจี่ ไปหยิบผ้ามาทีในหีบนั่น

ห่มนอนดำร่ำไว้เมื่อกลางวัน กระแจะจันทน์เจือปรุงจรุงใจ

ให้เมื่อยขบไปทั้งตนบ่นออดแอด ให้เรียกแพทย์วาโยมานวดให้

คุณโม่งตัดสกัดกั้นไปทันใด ฉันจะนวดหม่อมให้ใจสบาย

หม่อมว่าฉันไม่ใช้ให้คุณทำ บาปกรรมนั้นจะมีไปมากหลาย

พูดพลอดกอดกริ่มยิ้มพราย แล้วคิดระคายคำคนบ่นร่ำไร

สำออยว่าหม่อมขาฉันแค้นนัก เสียเงินสักสิบตำลึงหาคิดไม่

ไม่เท่าเสียรู้มนุษย์เจ็บสุดใจ เฝ้าแคะได้ค่อนว่าสารพัน

เก็บเอาความไม่ดีไปชี้แจง คุณชีเหมเชียวไปแสร้งแกล้งกลั่น

คนในพระตำหนักพรรคพวกกัน สารพันค่อนว่าเป็นน่าอาย

คนนั่งอยู่ริมห้องรองเข้าไป ฉันเข้าใจอยู่ดอกหม่อมอย่าแปกป่าย

มิได้พลอยกล่าข้อบรรยาย เนื้อไหนร้ายก็ตัดแต่เนื้อนั้น

หม่อมเป็ดพูดเก้อละเมอเปล่า ได้ยินเขาท้วงติงก็นิ่งอั้น

มิได้พูดจาสารพัน ก็หลับเลยไปด้วยกันทั้งสองรา

ครั้งหนึ่งเป็ดสวรรค์กระสันจิต บอกกับคนชอบชิดสนิทหน้า

ว่าคุณโม่งคู่ชีวิตมานิทรา อยู่ในห้องของข้ามาหลายวัน

พูดแล้วก็ปรามห้ามปาก อย่าพูดมากไปให้ฉาวคนจะกล่าวขวัญ

เจ้าจงช่วยกันปกปิดให้มิดควัน เสร็จสั่งดั่งนั้นก็นิ่งไป

หม่อมเป็ดชนอกช้ำคำเสภา อดสูดูหน้าใครไม่ได้

เห็นคุณชีเหมมาว่าร่ำไร พบใครเข้าก็ค้อนออกงอนชด

เห็นหน้าคุณรับสั่งคั่งแค้นนัก ลุกทองจีนหลวงนายศักดิ์ก็โกรธหมด

ท่านโกรธไปทั้งนั้นประชันประชด ปากบดบดบ่นไปคนใกล้เคียง

เมื่อวันถวายเสภาเวลาหลัง หม่อมเป็ดนั่งกับคุณโม่งที่ในเฉลียง

กระซุบกระซิบกันสองคนบนระเบียง ได้ยินออกชื่อเสียงก็ขัดใจ

แกล้งพูดเสียดเอาว่าเกลียดตาแจ้งบ้า เฝ้าขับว่าเรื่องเราร่ำไปได้

ไม่รู้แล้วรู้รอดสอดพิไร เฝ้าค่อนขอดแคะได้เจ็บใจจริง

ครั้นเห็นคนเดินมาหน้าเฉลียง สงบเสียงผิดลุกจะผลุนวิ่ง

คุณโม่งยุดฉุดน้องประคองอิง เรานั่งนิ่งอย่างนี้มิเป็นไร

ถึงลุงทองคนจะขึ้นมาเห็นหน้าเรา จะหยิบเอาข้อผิดที่ไหนได้

หม่อมจะว่าตาแจ้งแกทำไม ฉันชอบใจแกอยู่ดอกอย่าเดือดแค้น

ฝ่ายหม่อมเป็ดสวรรค์ครั้นได้ฟัง ให้แค้นคั่งส่งเสียงขึ้นเปรี้ยงแป้น

คุณกลับเข้าข้าตาแจ้งแกล้งแก้แทน ให้สุดแสนเจ็บใจใช่พอดี

กระทืบเท้าตึงตังกำลังทะเลาะ พอลุงทองจีนเดินเดาะมาถึงที่

จึ่งร้องถามสองท่านไปทันที มาอึงมี่วิวาทอะไรกัน

หม่อมเป็ดฟังคุณลุงสะดุ้งใจ ลุกไถลหลีเลี่ยงไปจากนั่น

ทั้งสองคนวนวิ่งพัลวัน มิให้ทันเห็นกายด้วยอายนัก

ลุกหลีกลัดแลงไปแฝงตน ซ่อนตัวกลัวคนจะรู้จัก

วิ่งมาบนเฉลียงเสียงคิกคัก จนรอดหักหกล้มลงด้วยกัน

คุณโม่งล้มปับทับหม่อมเป็ด น้ำตาเล็ดผุดลุกขมีขมัน

แล้วคิดกลัวคนผู้รู้สำคัญ แกล้งถลันกล่าวเกลื่อนให้กลบคำ

เพราะตาแจ้งขับเสภามาฟังนัก เฉลียงหักยับไปไม่เป็นส่ำ

นึกเกลียดน้ำหน้าตาเจ้ากรรม ใช้ตาแจ้งแกมาทำให้หนำใจ

ทำเป็นพูดเชือนแชพอแก้ตน คุณสองคนก็ขึ้นนอนบนเตียงใหญ่

พลิกพลอดกอดก่ายสบายใจ เทียบประทับหลับไหลไปด้วยกัน

ครั้นอรุณรุ่งรางสว่างฟ้าพระเดชพระคุณให้หาหม่อมเป็ดสวรรค์

เมื่อเพลาพลบค่ำทำไมกัน จนชั้นเฉลียงเตียงหักกระจัดกระจาย

หม่อมเป็ดทูลเบี่ยงเลี่ยงเจรจา คนมานั่งฟังเสภามากหลาย

ตาแจ้งขับเสภาว่าแยบคาย คนทั้งหลายไม่เคยฟังประดังมา

ประทุกมากหลายคนบนระเบียง จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา

เป็นต้นเหตุผลเพราะเสภา คนเข้ามาฟังนักจึ่งหักไป

พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข

เขาว่าเจ้านั่งอยู่สองคนบ่นร่ำไร แคะไค้คมค้อนทำงอนรถ

กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด

จะแกล้งมาพูดบิดเบี้ยวเลี้ยวลด เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน

หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น

ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์ อภิวันท์สารภาพกราบกราน

ได้พลั้งพลาดขอพระราชทานโทษ ขอพระองค์ทรงโปรดกระหม่อมฉาน

ไปเบื้องหน้าตาแจ้งถนนอาจารย์ จะขับเสภาว่าขานไม่เคืองใจ

พระสดับรับผิดหม่อมสารภาพ เห็บเรียบราบแล้วก็โปรดยกโทษให้

จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน ทำเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี

ที่มา http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/momped.htm#1


ถ้าจะสืบประวัติ ตาแจ้ง ก็ใช่จะไม่มีหนทาง ควรจากประวัติ บุคคลที่รู้จักกับตาแจ้ง เช่น

1. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
2.นายมี หรือ เสมียนมี หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร อดีตนายอากรเมืองสุพรรณบุรี
กวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยเดียวกับสุนทรภู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ
.. ๒๓๕๘ จนถึงในราว พ..๒๔๑๓-๑๔ ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง และนิราศเดือน

3.ลุงทองจีน
4.ชีเหม
5.หลวงนายศักดิ์
6.นายผึ้ง

7. เจ้าจางวางหมอ คือ กรมหมื่นวงศาสนิท แล้วเลื่อนเป็น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ใน รัชกาลที่ 4
ทรงเป็นหมอถวายพระโอสถเจ้านาย ปรากฎพระนาม ที่กลอนต้นบท (ไม่ได้ลงไว้ ) ความว่า

จะขึ้นวอจรลีไม่มีใคร ก็สั่งให้ยืมผ้าละว้าลาว

ให้บ่าวถือสี่มุมแล้วคลุมเพลาะ ก็ย่างเหยาะมาในระวางกลางผ้าขาว
ออกถนนคนผู้ดูเกรียวกราว มาพบเจ้าจางวางหมอก็รอรั้ง
นางสี่คนถือม่านพานตาขาว ด้วยกลัวเจ้าก็หยุดทรุดลงนั่ง
หม่อมก็ยืนแข็งเก้อกะเบอกะบัง ครั้นจะทรุดลงนั่งก็อายใจ
8.คุณสุวรรณ

9.สุนทรภู่

คุณจิตต์ควร อ่านวรรณคดีไทยและงานวิชาการ เพิ่มเติมให้มากๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ กว่านี้ ผมอ่านหนังสือคุณสุจิต เรื่อง กำสรวลสมุทร อ่านไปก็ผิดหวังไปกับข้อสันนิษฐานบางประการเช่น สันนิษฐานว่า ผู้แต่ง ยวนพ่ายเป็น กวีกลุ่มเดียวกะ กลุ่มกวีผู้แต่ง ทวาทศมาศทั้งๆ ที่ ตามความเป็นจริง ใน ยวนพ่าย ได้เอ่ย นามผู้แต่งไว้ ว่าชื่อ เบญญาพิศาล/ปัญญาพิศาล ภิกขุ ตามทรรศนะของ
ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.
สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งสนับสุนแนวคิดโดย ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร

ยวนพ่ายบทนั้นความว่า

ใช่แรงข้ารู้กล่าว...........กลบท บอกพ่อ

อัลปเบญโญเยาว์.........ยิ่งผู้
จักแสดงพระยศรื้อ....... ถึงถ่วย ไส้แฮ
นักปราชญ์ใดเรืองรู้ .....ช่ยวชาญฯ

( ใช่ว่าข้าพเจ้านั้นมีแรงความรู้อันแกร่งกล้า เพราะกล่าว กลบท ได้ดอกนาท่าน ตัวข้าพเจ้านั้นปัญญา(อ่อน) เยาว์ ยิ่งกว่าผู้ใด การกล่าวแสดงพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินนี้ แม้นักปราชญ์ท่านใดรู้เรื่องเชี่ยวชาญ
)

ใดผิดเชอญช่วยรื้อ ...........รอนเสีย

ใดชอบเกลาเชอญเกลา.... กล่าวเข้า
พยงพระระพีเพงีย .............สบสาธุ
จุ่งพระยศพระเจ้าเรื้อง ......ร่อยกัลป์

(เห็นว่าที่ใดผิดเชิญช่วยรื้อเอาออกเสีย ส่วนที่ใดเห็นแล้วชอบก็เชิญขัดเกลาให้ดียิ่งขึ้นเข้าเถิด ขอให้คำประพันธ์นี้ทอแสงรัศมีเสมอเพียงดวงอาทิตย์ เป็นที่ประสบแต่ความยินดี(สาธุ!) และขอความรุ่งเรืองแห่งพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินจุ่งคงอยู่ตราบสิ้นกัลป์

สารสยามภาคพร้อง ............กลกานท นี้ฤๅ
คือคู่มาลาสวรรค ................ช่อช้อย
เบญญาพิศาลแสดง ............เดอมกรยติ พระฤๅ
คือคู่ไหมแส้งร้อย ...............กึ่งกลางฯ

( สารสยามพากย์ นี้แต่งเพื่อไว้ใช้ขับร้องพร้องเป็นเพลงอุปมาได้ดั่ง ช่อดอกไม้แห่งสวรรค์อันมี ช่องามงดชดช้อย ข้าผู้มีนามว่า "เบญญาพิศาล" เป็นสื่อกลาง ผู้แสดงบท ยอยศพระเกียรติ ก็เป็นเหมือนดั่งเส้นไหม อุปกรณ์แห่งการเรียงร้อย ภาษาดอกไม้นี้


อัลปเบญโญเยาว ยิ่งผู้ แปลว่า เป็นผู้มีปัญญาน้อย/ไร้ปัญญา ฉะนั้นจึงดูเป็นการขัดกันด้านบริบท เพราะโคลงข้างบนถ่อมตนว่าผู้แต่งมีปัญญาน้อย (อัลปเบญโญเยาว) โคลงข้างล่างกลับบอกว่าผู้แต่งมี "เบญญาพิศาล" (ปัญญากว้างใหญ่ไพศาล) ได้อย่างไรนอกเสียจากว่า ปัญญาพิศาล นี้ต้องเป็น วิสามัญนาม หรือนามเรียกขาน นั่นเอง

โคลงบทหลังนี้แสดงอย่างชัดเจนว่าผู้แต่งยวนพ่ายคือผู้มีนามว่า "เบญญาพิศาล" หรือ "ปัญญาไพศาล" ( ในภาษาไทโบราณสระอะและสระเอ สลับที่กันได้เสมอ เช่น สัชนาไลย เป็นเสชนาไลย หรือมังรายเป็นเม็งราย ) แต่ เบญญาพิศาล ผู้นี้มีภูมิหลังอย่างไร ร่องรอยของ เบญญาพิศาล เท่าที่ผู้เขียนทราบปรากฎอยู่ในเอกสารชั้นหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชนิพนธ์ เรื่อง วัดสมอราย อันมีนามว่า วัดราชาธิวาส ทรงเล่าโดยทรงหยิบยกทั้งหลักฐานข้อเขียนและพยานบุคคลว่าในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการสถาปนาพระนาคซึ่งเดิมบวชอยู่ที่วัดโคกแสงหรือโคกมะลิ และเคยหนีไปเขมรหลังเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ขึ้นเป็นพระปัญญาพิศาลเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสมอราย ต่อมาเป็นวัดราชาธิวาส นาม “ปัญญาพิศาล” นี้คงมิได้คิดขึ้นใหม่แต่คงจะเป็นสมณศักดิ์ในทำเนียบฝ่ายสงฆ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึงแม้รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะห่างจากสมัยต้นรัตนโกสินทร์มากก็ตาม แต่นี่มิได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ในทำนองเช่นเดียวกับมรดกนาม “ศรีทวารวดี” ในชื่อกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา สำหรับเราแล้วความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลนี้ทำให้เราสันนิษฐานได้อย่างมั่นใจว่า เบญญาพิศาล ผู้แต่ง ยวนพ่าย เป็นพระภิกษุนักปราชญ์ผู้ทรงภูมิอย่างยิ่งในการใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตความรอบรู้ในกิจการบ้านเมือง ความใกล้ชิดกับราชสำนักของท่าน เดาว่าท่านอาจเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็หมายความว่า ท่านมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย ในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


 

 



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-09-07 20:54:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937857)

......เบญญาพิศาล ผู้แต่ง ยวนพ่าย เป็นพระภิกษุนักปราชญ์ผู้ทรงภูมิอย่างยิ่งในการใช้ภาษาบาลีและสันสกฤต.......ท่านมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย ในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

แล้วอะไรต่อ....อีก....

คนเดียวกันหรือเปล่า...คะ

 

(อยากรู้ต่อ) 


 

 


ผู้แสดงความคิดเห็น สุภธรา วันที่ตอบ 2007-09-16 15:21:18


ความคิดเห็นที่ 2 (2107144)

wig accessories hair extension Of course to really capture the Elvis wigs be prepared to take care Clearance Wigs rene of paris.

ผู้แสดงความคิดเห็น johnny (luminor-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 07:33:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.