ReadyPlanet.com


บันทึกที่ยังเขียนไม่จบ : ศุขปรีดา พนมยงค์ - ทายาทผู้อภิวัฒน์


บันทึกที่ยังเขียนไม่จบ : ศุขปรีดา พนมยงค์ - ทายาทผู้อภิวัฒน์

--

โดย ธารา ศรีอนุรักษ์

--

 

“สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ เป็นไงบ้าง สบายดีไหม...”  

            พวกเราพนักงานบริษัทชนนิยมทุกคนจะคุ้นเคยกับคำทักทายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาแบบนี้ทุกครั้งที่ คุณลุงศุขปรีดา พนมยงค์ เดินทางมาติดต่องานหรือด้วยภารธุระอะไรก็แล้วแต่ที่บริษัทฯ

            คุณลุงเป็นผู้อาวุโส เป็นนักปราชญ์ เป็นทายาทผู้อภิวัฒน์ฯ เหมือนขุนเขาที่ยิ่งใหญ่ทว่ากลับวางตนสามัญธรรมดาอย่างน่าเคารพยิ่ง

มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณลุงเอ่ยปากถามถึง ยุวสหายที่ไม่มาให้เห็นเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ยุวสหายของคุณลุงในที่นี้ก็คือ บรรดาเด็กน้อยตัวจ้อยลูกของคนงานเย็บผ้าโหลทำงานอยู่ห้องแถวข้างๆ เนื้อตัวมอมแมม นิสัยแก่นๆ หก-เจ็ดคน เที่ยววิ่งเล่นซุกซนกันแถวหน้าบริษัท และพอเห็นคุณลุงมักวิ่งมาออกันห้อมล้อมสอบถามพูดคุยเสียงแจ้วๆ เหมือนเพื่อนเล่น

ผมในฐานะพนักงานบริษัทคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยติดตามอ่านผลงานเขียนเรื่อง “โฮนิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” ที่ตีพิมพ์ติดต่อกันในนิตยสารแนววิเคราะห์การเมืองฉบับหนึ่ง เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับสงครามหฤโหดนี้มานาน แถมคุณพ่อยังเป็นหนึ่งในบรรดาทหารไทยที่ถูกผู้มีอำนาจของบ้านเมืองส่งไปร่วมรบในสงครามรุกรานเพื่อนบ้านนี้ด้วย   และยังได้มาอ่านซ้ำอีกครั้งในรูปแบบพ็อคเก็ตบุ๊คเมื่อมาทำงานอยู่บริษัทแห่งนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มกับสำนักพิมพ์มิ่งมิตรในเครือหนังสือบริษัทชนนิยมที่ผมทำงานอยู่

ช่วงต้นปี 2552 ผมมีโอกาสได้พิมพ์ต้นฉบับลายมือของคุณลุงเรื่อง “หงอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์” เพื่อส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอนๆ ในนิตยสารแนววิเคราะห์การเมืองอีกฉบับ จนเรียกได้ว่าคุ้นเคยและอ่านแกะลายมือของคุณลุงได้อย่างคล่องแคล่ว และพอเรื่องนายพลหงอเหงียนย้าปฯ ทยอยตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มนั้นจบ ทางสำนักพิมพ์มิ่งมิตรก็เป็นผู้จัดพิมพ์รวมเล่มอีก

ปลายปี 2552 – ต้นปี 2553 คุณลุงมีต้นฉบับลายมือเรื่อง “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติลาว ผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง” และผมได้มีโอกาสพิมพ์ต้นฉบับเพื่อส่งไปทยอยลงตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มเดิมอีก เรื่องนี้ก็เหมือนกันได้รวมพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์มิ่งมิตร

ผลงานของคุณลุงทั้งสามเล่ม - โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติลาว ผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง นอกจากเป็นผลงานเปี่ยมด้วยคุณค่าทั้งเนื้อหาและวรรณศิลป์แล้ว ยังมุ่งสานไมตรีประชาชนระหว่างมิตรประเทศ ไทย-เวียดนาม, ไทย-ลาว เจริญรอยตามบิดาของคุณลุง ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ได้เคยก่อร่างสร้างทางไว้ ทว่าถูกปล่อยให้รกร้างเพราะผู้บริหารประเทศชั้นหลังไม่เห็นความสำคัญ มัวแต่มุ่งไปประจบสอพลอเพื่อหวังฝากผีฝากไข้ทางเศรษฐกิจกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกมากกว่า

ก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 คุณลุงและคณะมิตรภาพชาวไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมนายพลหวอเหงียนย้าปและครอบครัวที่บ้านพักประเทศเวียดนาม ซึ่งการไปครั้งนั้นมิได้เป็นตัวแทนของสถาบันหรือองค์กรทางราชการใดทั้งสิ้น แต่ไปด้วยใจมุ่งมั่นในการสานมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน ดั่งที่ ทวีป วรดิลก ผู้ร่วมคณะเดินทางในคราวนั้นได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “...คณะของเราโดยการนำของศุขปรีดา พนมยงค์ ไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กรหรือสถาบันของทางราชการใดๆ หากแต่ประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ กัน ส่วนมากเป็นคนรุ่น 14 ตุลาคม หรือใกล้ๆ กัน...” (จากบทความพิเศษ โดย ทวีป วรดิลก เรื่อง หวอเหงียนย้าป-แม่ทัพผู้พิชิต ในหนังสือ หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ โดย ศุขปรีดา พนมยงค์-ปรีดา ข้าวบ่อ หน้า 179)

และเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ผมได้หิ้วโน้ตบุ๊คเพื่อไปพิมพ์ต้นฉบับโดยการบอกเล่าจากปากของคุณลุงแทนการพิมพ์จากต้นฉบับลายมือเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากตอนนั้นคุณลุงเพิ่งฟื้นตัวจากอาการป่วย นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต  โดยคุณลุงมีเรื่องใหม่ที่ต้องการจะนำเสนอ สัจจะจากประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นบิดา สู่สายตาชนรุ่นหลังที่อาจถูกคนบางกลุ่มพยายามยัดเยียดข้อมูลบิดเบือนให้   และเรื่องนี้ ในประเทศนี้ ณ เวลานี้ มีแต่คุณลุงเท่านั้นที่จะสามารถทำได้

“ผมต้องการให้เรื่องนี้จบและพิมพ์เป็นเล่มให้ทันวันที่  24 มิถุนายน ปีหน้า”

นี่คือเจตนารมณ์ของคุณลุงที่บอกผมกับเจ้านายก่อนลงมือทำงานใหญ่ชิ้นนี้ เพราะว่าวันที่ 24 มิถุนายน นั้นตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งบิดาของท่านได้เป็นมันสมองในการอภิวัฒน์ครั้งนั้น ทว่าปฏิทินไทยกลับไม่ปักหมุดหมายเป็นวันสำคัญอะไรทั้งสิ้น

 

 “ปฐมบท เมื่อสยามเข้าสู่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 - เริ่มบันทึกครั้งที่ 1”

ผมพิมพ์หัวข้อเรื่องแล้วเซฟเอาไว้ใน Documents  เครื่องโน้ตบุ๊ค  จากนั้นก็คีย์บันทึกจากปากคำบอกเล่าของคุณลุงต่อไปตามลำดับ

 

“ชาติมหาอำนาจยุโรปได้ใช้แสนยานุภาพกวาดต้อนประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายให้ตกเป็นเมืองขึ้นของตน ทั้งในเอเซีย อาฟริกา และได้เริ่มคุกคามสยามให้ตกเป็นเมืองขึ้นของตน

          “ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ร.ศ.๑๐๓) มหันตภัยอันใหญ่หลวงได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาสยามมาเป็นเมืองขึ้น มีการแย่งชิงแก่งแย่งกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

          “ด้วยเหตุนี้เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน  ร.ศ.๑๐๓....”  

(สามย่อหน้าแรกจากปฐมบท-บทความเรื่อง เมื่อสยามเข้าสู่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 โดย ศุขปรีดา พนมยงค์)

         

          กว่าสามชั่วโมงที่ผมนั่งข้างเตียงคนไข้ห้องพิเศษโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต คอยพิมพ์เรื่องราวต่างๆ ที่คุณลุงบอกให้คีย์ลงในโปรแกรมไมโครซอฟเวิร์ด จนกระทั่งได้จบเนื้อเรื่องลงในหน้ากระดาษขนาดมาตรฐาน A 4 สี่หน้าพอดี

            และถัดจากนั้นอีกสี่วัน ผมได้หิ้วโน้ตบุ๊คเครื่องเดิมเดินทางไปเพื่อพิมพ์ข้อเขียนบทต่อไปจากคุณลุงอีก ครั้งนี้ขาไปมีน้องที่บริษัทขับรถส่ง แต่ขากลับผมต้องกลับเอง เพราะรถที่บริษัทติดภารกิจกันหมด

 

“บทที่ 1 เมื่อสยามเข้าสู่อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 - “ชิงสุกก่อนห่าม”

เป็นหัวข้อในการบันทึกครั้งที่สองที่ผมพิมพ์เซฟเก็บไว้ในกล่องเดียวกันกับเรื่องที่บันทึกครั้งแรก

            “....ในระยะไม่นานมานี้ มักจะได้ยินคำว่า พวกชิงสุกก่อนห่าม อันเป็นคำพูดที่กล่าวเพื่อให้ร้ายทำลายความน่าเชื่อถือต่อขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

          “บุคคลเหล่านี้ได้อวดอ้างว่าคณะผู้ก่อการฯได้ทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังมีดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินอยู่แล้วจึงช่วงชิงกระทำการตัดหน้าเสียก่อน...”

(สองย่อหน้าแรกจาก บทความเรื่อง เมื่อสยามเข้าสู่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 บทที่หนึ่ง “ชิงสุกก่อนห่าม” โดย ศุขปรีดา พนมยงค์)

          ครั้งนี้ใช้เวลาในการบันทึกนานกว่าครั้งแรก เพราะคุณลุงต้องทิ้งช่วงกินยาและพักผ่อนตามหมอสั่ง แต่ก็สามารถบันทึกต่อจนจบสำเร็จ

            ก่อนเดินทางกลับคุณลุงควักแบงก์ร้อยสองใบให้ผมเป็นค่ารถ ซึ่งตอนแรกผมปฏิเสธ แต่สุดท้ายไม่อาจไม่น้อมรับความเมตตาของคุณลุงได้ จึงประนมมือไหว้ก่อนยื่นมือรับด้วยความรู้สึกตื้นตันเป็นล้นพ้น

            หลังจากได้รับการฉีดยาอะไรสักอย่างที่ผมไม่รู้จัก แต่รู้ว่าคนป่วยเป็นมะเร็งต้องฉีดยาชนิดนี้ อาการโดยทั่วไปของคุณลุงดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้านแถวรังสิตได้ตามปกติ

            ผมหิ้วโน้ตบุ๊คไปบ้านของคุณลุงเพื่อบันทึกบทความต่อไปโดยคุณลุงได้โทรมานัดด้วยตัวเอง แต่ครั้งนี้คุณลุงมีบทความเฉพาะกิจให้พิมพ์ส่งไปเผยแพร่ในนิตยสารแนววิเคราะห์การเมืองฉบับหนึ่ง เพื่อมุ่งชี้แจง สัจจะ และปกป้องเกียรติบิดาของท่าน

หลังจากบทความชิ้นนั้นได้ถูกส่งไปที่ บก.นิตยสารนั้นแล้ว ผมก็รอคอยอีกว่า เมื่อไหร่คุณลุงจะโทรมานัดให้ไปพิมพ์บันทึกเรื่อง เมื่อสยามเข้าสู่การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 อีก กระทั่งคุณลุงได้เข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง และครั้งนี้หมอบอกว่า คุณลุงจะอยู่ได้ชั่วแค่ยังเสียบสายช่วยหายใจเท่านั้น....

           

            ทั้งหมดนี้คือห้วงรู้สึกนึกคิดและความทรงจำต่อคุณลุงศุขปรีดา พนมยงค์ ตอนที่ผมได้รับข่าวสะเทือนใจ คุณลุงได้ทำหน้าที่ชี้ สัจจะปกป้องเกียรติของบิดาผู้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยและต่อประชาชนไทย

            สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกกับคุณลุงว่า ชีวิตของผมถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงสุดแล้ว ที่ครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวจากปากคำของคุณลุง.   

---

(เผยแพร่ครั้งแรก เนชั่นสุดสัปดาห์ ศุกร์ที่ 5 พ.ย.53)


 



ผู้ตั้งกระทู้ ธารา ศรีอนุรักษ์ (thara_num-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-11-05 09:14:19


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.