ReadyPlanet.com


ทำไมต้องปิดหูปิดตานักเรียนด้วย


 

ทำไมต้องปิดหูปิดตานักเรียนด้วย?

 

 

แรงบันดาลใจในการตั้งกระทู้ เกิดขึ้นเมื่อผมลองนั่งตรึกนึกตรองดูถึงหลักสูตรวิชาภาษาไทย เฉพาะส่วนอันเกี่ยวข้องกับวรรณคดี แล้วก็สงสัยว่า เหตุใด ทางกระทรวงศึกษาธิการ

(จะกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม) พยายามปกปิด เรื่องราวของผู้เสียเปรียบ ผู้ถูกกดขี่ หรือการกระทำของภาครัฐ ที่ย่ำยีราษฎร ด้วยวิธีการบอกแต่น้อย คือ คัดเลือกวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาให้เรียนน้อยเรื่อง

สำหรับเด็กปฐมต้น ปฐมปลาย มัธยมต้นนั้น  ผมเห็นด้วยกับการให้เรียนวรรณคดีต้นแบบ (ที่มีเนื้อหาสนุกสนานและคติธรรมสอนใจ) เพราะเด็กวัยดังกล่าวไม่ควรรับรู้ความเป็นจริงด้านมืดมากนัก

แต่เด็กมัธยมปลาย ซึ่งอีกไม่นานจะเข้าสู่สถานภาพ “นักศึกษา” แล้วนี่สิ น่าเป็นห่วง เพราะพวกเขากำลังจะเป็นผู้พัฒนาชาติในอนาคต หากจะเกี่ยงเอาว่า เรื่องปัญหาสังคม

เรื่องชนชั้น ก็เอาบรรจุในวิชาสังคมศึกษา วิชาศีลธรรม แต่อย่างเดียว จะถูกต้องหรือ? ในเมื่อวิชาภาษาไทยก็สามารถยึดหลัก “บูรณาการ” ได้

“มีทุกข์ในเรือนกาย

มีความตายในดวงตา

น้ำนมแห่งมารดา

ในสายเลือดยังเหือดหาย

ทุกคำคือชีวิต

ทุกชีวิตที่เรียงราย

คือคนที่เกิดกาย

มาร่วมถิ่นแผ่นดินเดียว

ริ้วนี้ใช่แพรพรรณ

เป็นริ้วอันซี่โครงเรียว

ขานี้ใช่ขาเปรียว

ที่เดินอวดประกวดกัน

ดินเอ๋ยโอ้ดินนี้

ยังพอมีให้แบ่งปัน

เพียงเพื่อได้อิ่มพลัน

มิรู้อันตรายมา

แด่น้องผู้หิวโหย

เพียงท่านโปรยความเมตตา

น้อยหนึ่งนะกรุณา

ต่อชีวาตาดำดำ”

(จากบทกวี “แด่น้องผู้หิวโหย” ของ “ท่านวิสา คัญทัพ”)

กวีท่านสรรคำง่ายๆ แต่สะเทือนใจรุนแรงมาก เพียงแค่สองวรรคแรกของบทแรกก็บ่งบอกความได้มากกว่าคำพรรณนาเป็นบรรทัดเสียอีก น่าจะให้เด็ก ม.๔ ได้อ่านบ้างนะครับ อ่านจบก็สอนแทรกลงไปเลยว่า

ที่พวกเขามีข้าวกินอิ่ม ถือว่าโชคดีนักหนา ดูเด็กๆผู้อดอยากยากแค้นเปรียบเทียบซิ่ หากเราโน้มน้าวใจพวกเขาจนเกิดมโนภาพได้ บทกวีต่อๆมาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น

ก็จะช่วยหล่อหลอมพวกเขาให้เห็นใจผู้ทุกข์ยากได้ ขอสาทกมาอีกสักบทนะครับ

 

 

มีบทกวีเพื่อชีวิตอยู่บางบทที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาให้เรียน เช่น “เปิบข้าว” ของ “ท่านจิตร ภูมิศักดิ์”  เหตุผลเพราะบทนี้ไปสอดคล้องกับคุณธรรมในข้อ “กตัญญูต่อชาวนา”

ที่ผู้ใหญ่อบรมบ่มเพาะเด็กพอดี ผมเองเห็นด้วยครับ สำหรับการนำบทกวี “เปิบข้าว” มาให้นักเรียนศึกษา แต่จะประเสริฐยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากกล้านำบทกวีของท่านจิตรฯ

ขณะเมื่อท่านอยู่ในคุกลาดยาว แล้วส่งมาตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงจอมพลสฤษฎิ์ ธนรัตน์ เรืองแหละเริงอำนาจมาให้นักเรียนอ่าน เพราะนั่นคือภาภ “วงจรอุบาทว์” (วัฏจักรการโกง)

อันยึดโยงยืนยาวมาจนบัดนี้

ลองอ่านบางช่วงบางตอน ของ “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร” ของ “ท่านจิตร ภูมิศักดิ์” ดูครับ

ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตักตวงมือเติบ

ฉวยใช้เฉิบเฉิบ

ฉาวฉ่า

กองสลากกินแบ่ง

เพื่อนก็แกว่งตีนกวาด

คุมเสร็จเด็ดขาด

"ของข้า"

โอ้เงินรัฐไหงริบ

ไปงุบงิบง่ายง่าย

ไปกินแบ่งกันสบาย

จริงบา

ยังสลากสองชุด

เพื่อนกินรุดสองชั้น

ปากมอมจนเป็นมัน

เหมือนปากม้า

อ้างราชการลับ

เสวยฉับเซ็นเช็ค

ให้คุณหนูเล็กเล็ก

ของป๋า

ให้เธอนั่งเทานุส

มีบ้านชุดคนใช้

แหวนเพชรเม็ดใหญ่

วาวตา

เงินนับร้อยร้อยล้าน

ราชการของลับ

จ่ายเพลินจริงเจียวพับ

เอ๋ยผ่า

โควต้าทัพบก

เอาไปกกเสียสบัด

ไอ้เสือฟิตอมยัด

เอาวา

เงินสวัสดิการ

ของทหารชัดชัด

ไหงถึงยักเอาไปยัด

เอ๋ยห่…

สวัสดิการของรัฐ

มาเป็นสวัสดิกู

เป็นสร้อยเพชรสีชมพู

ของเมียข้า

โอ้ว่าแสนสงสาร

เพื่อนทหารของชาติ

ไม่ได้เห็นเลยสักบาท

อนิจจา

รักษาการณ์หาญฮึก

รักษาศึกทรหด

ต้องเหนื่อยอ่อนนอนอด

อกอา

ยังถูกเสือกถูกไส

เป็นคนใช้อีหนู

โอ้นี่กูหนอกู

ทหารกล้า

เกียรติทหารของชาติ

ถูกประมาทชอกช้ำ

ศักดิ์ศรีก็จะต้องต่ำ

เอ๋ยช้า

โอ้รักษาเอกราช

ยอมเป็นทาสนางบำเรอ

มารักษาอีเป๋อ

ของป๋า

โอ้แว่นแคว้นแดนไทย

ว่ากว้างใหญ่นั้นจริงหรือ

ไหงมีที่เท่าฝ่ามือ

ให้รักษา

โอ้เจ้าดอกขจร

ตอนรุ่ง

หอมหวลแต่ในมุ้ง

หุยฮา

โอ้ว่าเงินสวัสดิการ

ผลาญสิ้น

ทหารเอ๋ยจะต้องกิน

น้ำตา

ข้อมูลจาก

http://www.music.mahidol.ac.th/insanetheater/chit4.html

ครับ

วรรณคดีเรื่องสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า บรรจุในหลักสูตร ตำรับตำราเรียนของเด็กมัธยมปลาย (อาจเป็น ม.๕ หรือม.๖) ได้แล้วก็คือ “เราชนะแล้ว  แม่จ๋า” ของ “ท่านนายผี”ในด้านความงามทางวรรณศิลป์นั้นพรรณนาไม่หมดในเวลาอันสั้นจริงๆ

หนังสือเล่มดังกล่าว ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน นั่นย่อมเป็นข้อยืนยันได้อย่างดี (ถึงจะประกาศเช่นนั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังหายากตามท้องตลาด)

มีกวีสักกี่ท่านกันเชียว นิพนธ์ฉันท์เทิดเกียรติกรรมกร? แหละก็ประเทศนี้ รุ่งเรืองได้ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงกรรมกรมิใช่หรือ? ใครสร้างบ้านสร้างเมือง ใครทำถนนหนทาง

แล้วพวกเขาที่สร้างทุกอย่างให้เราสบายเล่า เขาอยู่กันเช่นไร ไยมิให้เด็กรู้ถึงสภาพยากแค้นถึงขนาด แม้ข้าวจะกรอกหม้อมื้อต่อไปก็แทบไม่มี หรือยารักษาโรคก็หาไม่ได้

เพราะไม่มีเงินซื้อ ภาพของหญิงสาวผู้เด็ดเดี่ยว หาเลี้ยงแม่และน้องโดยยึดอาชีพ “กรรมกรในโรงเลื่อย” รายได้อัตคัดเต็มที นี่คืออีกมุมของสังคมซึ่งคนมีเงินมีทองไม่เคยมองเห็น

หรือหากเห็นก็เมินไปเสีย

วีรกรรมของวีรชน ณ วันที่  ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นอีกเรื่องซึ่งภาครัฐรณรงค์ว่า ต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ ครับ ส่งเสริมจริงๆแหละ แต่แค่นิดเดียวเท่านั้น

คือนำไปใส่ในวิชาสังคมศึกษาไม่เท่าไหร่เลย ความกล้าหารของคนหนุ่มสาวยุคนั้น คือตัวอย่างอันล้ำเลิศ รัฐบาลเองก็ยอมรับ ถึงกับประกาศให้วันที่ ๑๔ ตุลาคม ของทุกปี

เป็นวันประชาธิปไตย แล้วเหตุใด “อาทิตย์ถึงจันทร์” ของ “ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” จึงไม่ถูกบรรจุในตำราเรียนวิชาภาษาไทยเล่า??? มิต้องให้เรียนทั้งหมดหรอกครับ

นำเฉพาะบทที่ชื่อว่า “อาทิตย์ ๑๔ ตุลาคม วันมหาวิปโยค” บทเดียว มาให้เรียนก็พอ ในแง่ฉันทลักษณ์ นี่คือ “โคลงดั้นบาทกุญชร” อันสมบูรณ์ยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง การให้เด็กมัธยมปลายรู้จักโคลงดั้น

ก็ควรแล้วมิใช่หรือ??? ขนาดบางส่วนของ  ญวนพ่ายโคลงดั้น ยังนำมาให้เด็กศึกษาได้เลย (ผมจำได้ดีเมื่อสมัยเป็นนักเรียนว่า  บทดังกล่าว อยู่ในหนังสือวรรณสารวิจักษ์

ชั้น ม.๕ ทางกระทรวงศึกษาฯ ตั้งชื่อโคลงดั้นวิวิธมาลี ๒ บทนั้นว่า “กวินทรปณิธาน”)

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างวรรณคดีเพื่อชีวิตบางส่วนเท่านั้น ในจำนวนวรรณคดีแนวดังกล่าวมากมายมหาศาลครับ ท่านผู้อ่านเห็นว่า มีเรื่องใดควรแก่การนำมาสั่งสอนเยาวชน

เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก ก็โปรดช่วยกันเสนอเข้ามาได้เลยครับ

สรุปความที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อจะวิงวอนว่า  เลิกปิดหูปิดตานักเรียนเสียที เลิกกลัวเก้าอี้ใครหลายๆคนจะกระเทือนได้ไหม ประเทศไทยเราจะได้เจริญก้าวหน้า เพราะมีคนรู้ความจริงมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

ปล. ถ้าผมเสนออีกนิดว่า น่าจะนำบทกวี ชุด “รุ้งกินเมือง” ของ “ท่านคมทวน คันธนู” (ไล่เรียงตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งหมด ๘ บท) ในหนังสือ “นาฏกรรมบนลานกว้าง” มาบรรจุในหนังสือภาษาไทย

ชั้น ม.๖ ทุกท่านว่าหนักไปไหมครับ?



ผู้ตั้งกระทู้ ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-09 09:09:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (937581)

โอ้แว่นแคว้นแดนไทย

ว่ากว้างใหญ่นั้นจริงหรือ

ไหงมีที่เท่าฝ่ามือ

ให้รักษา

บทนี้ติดเหรต
X ไปหน่อยครับ เพราะเปรียบเทียบการรักษาแผ่นดิน กะการรักษาจิ๋มของเมียเจ้านาย เอ้ย พูดใหม่ๆ คอยอารักขา และรับใช้เมียเจ้านาย

ดินเท่าฝ่ามือ นี้เป็นโวหารทีคมคายจริง ๆเพราะเปรียบเทียบดินเท่าฝ่ามือนี้ กะ "โยนีสัณฐาน"   โดยทางอ้อม ทำให้นึกถึง โคลงนิราศนรินทร์ ที่นายนรินทร์ มองเห็น โคกเต่า แล้วเลย นึกถึง โคกเมีย  ความว่า

มาคลองโคกเต่าตั้ง..........ใจฉงาย

ตัวเต่าฤามีหมาย..............โคกอ้าง

เจ็บอกพี่อวนอาย..............ออกปาก  ได้ฤา

คืนคิดโคกขวัญร้าง..........อยู่เร้นแรมเกษม
ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-08-10 09:50:45


ความคิดเห็นที่ 2 (2107569)

lv travelling louis vuitton handbags strangers so women wore gloves of louis vuitton feeling that is experienced a lot chanel wallet replica gucci.

ผู้แสดงความคิดเห็น christop (jayden-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:05:19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.