ReadyPlanet.com


ลอยกระทง-นางนพมาศ


ลอยกระทง-นางนพมาศ มีครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยมีครั้งกรุงสุโขทัย

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม




(ซ้าย) ราชสำนักรัชกาลที่ 3 มักเล่นประกวดกระทงกลางเดือน 12 ราชธิดาองค์โปรดคือกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ก็แต่งกระทงประกวดชนะทุกปี แล้วมีลอยกระทงเป็นงานเอิกเกริก พรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 มีจิตรกรรมภาพกระทงใหญ่ วาดบนฝาผนังภายในพระวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ (ขวาบน) ลอยกระทง จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา (ขวาล่าง) ลอยกระทง จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
ตัดทอนมาปรับปรุงใหม่ จาก

ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒธรรม เพื่อความอยู่รอดของคน

โดย ศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

มีฉบับสมบูรณ์พร้อมหลักฐานอยู่ใน www.sujitwongthes.com




ลอยกระทง ไม่ได้เริ่มมีที่รัฐสุโขทัย ชื่อ "ลอยกระทง" กับกระทงทำจากใบตองเพิ่งมีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็น "นิยาย" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3



สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ว่า นางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3


"หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์"

นี่เป็นข้อความยืนยันที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ จาก Cinnamon Hall ที่ Penang เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2479 ถึงพระยาอนุมานราชธน (ในหนังสือ ให้พระยาอนุมาน : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป พิมพ์เมื่อ 14 ธันวาคม 2521 : 56)

สมเด็จฯ ยังทรงมีพระนิพนธ์คำนำหนังสือเรื่องนางนพมาศ ทรงยืนยันว่า "เป็นหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ 2 กับที่ 3 ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเป็นแน่"

นอกจากนั้น สมเด็จฯทรงจับผิดได้ว่าเป็นหนังสือแต่งใหม่ (คำนำเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2457) เช่น

"ตรงว่าด้วยชนชาติต่างๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานี"

"ที่ว่าครั้งสุโขทัยมีปืนใหญ่ขนาดหนักนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก"

"ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง 200 ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้"

"แม้แต่คำว่าอเมริกันเอง ก็พึ่งเกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี"



ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ว่า นางนพมาศ วรรณคดีต้นกรุงรัตนโกสินทร์


หนังสือนางนพมาศ เขียนขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2360 ถึงสิ้นรัชกาลที่ 3 โดยประมาณ (คัดจากบทความ โลกของนางนพมาศ ของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์อยู่ในหนังสือรวมบทความเรื่อง ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2545 หน้า 114-115)

(ซ้าย) ปกหนังสือประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอดของคน (ขวา) สมุดไทยดำเรื่องนางนพมาศ ฉบับเจ้าพระยารัตนบดินทร์ มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ รับสั่งว่าเป็นลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงชี้ให้เห็นไว้แล้วว่า นางนพมาศ มีข้อความอยู่หลายตอนที่แสดงว่าจะแต่งในสมัยสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้สำนวนโวหารก็เห็นได้ชัดว่าเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ซ้ำยังเชื่อกันอีกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกอยู่ประมาณครึ่งเรื่อง

บังเอิญในหอสมุดแห่งชาติมีต้นฉบับเรื่องนางนพมาศอยู่ฉบับหนึ่งในหมู่จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 (เลขที่ 57 จ.ศ.1197 เหลืออยู่แต่เพียงเล่ม 3-4)

ใบปะหน้าของเอกสารนี้เขียนว่า "พระราชนิพนธ์ตำหรับพระศรีจุฬาลักษณ์" เรื่องนางนพมาศ

หนังสือนี้ต้องแต่งอยู่ระหว่าง พ.ศ.2360-2378 เป็นช้าที่สุด หนังสือนางนพมาศจึงเป็นวรรณกรรมของต้นรัตนโกสินทร์ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมของยุคเดียวกันหลายประการ



ลอยกระทง "ขอขมา" ดิน-น้ำ

มีต้นเค้าจากพิธีกรรม 3,000 ปีมาแล้ว


ลอยกระทง มีต้นเค้าจากพิธีกรรมร่วมกันของมนุษย์อุษาคเนย์มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อขอขมาธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีเมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผี" ซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีอยู่กับมนุษย์อุษาคเนย์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย ผีสำคัญยุคแรกๆ คือ ผีน้ำและผีดิน ที่ต่อมาเรียกชื่อด้วยคำยกย่องว่าแม่พระคงคากับแม่พระธรณี มีคำพื้นเมืองนำหน้าว่า "แม่" หมายถึงผู้เป็นใหญ่

มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยมีน้ำสำคัญที่สุดเพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เหยียบย่ำ ขี้รดเยี่ยวรด และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสมอีก แล้วทำพิธีบูชาพระคุณไปพร้อมกัน โดยใช้วัสดุลอยน้ำได้ ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ

(บน) ภาพสลักลอยประทีป ผนังระเบียงด้านนอกสุดของปราสาทบายน บริเวณมุมผนังด้านทิศใต้มุมตะวันออก (ถ่ายภาพโดย วรรณิภา สุเนต์ตา) (ล่าง) ลายเส้นลอยประทีป ที่ปราสาทบายน (ฝีมือ ธัชชัย ยอดพิชัย)


ช่วงเวลาเหมาะสมที่คนเรารู้จากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นปีเก่า ขึ้นปีใหม่ ตามจันทรคติที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นสิ่งมีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง วันสิ้นปีเก่า คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือนสิบสอง เพราะน้ำขึ้นสูงสุดในช่วงนี้ เมื่อพ้นไปจากนี้ก็เริ่มขึ้นปีใหม่ เรียกเดือนอ้าย แปลว่าเดือนที่หนึ่ง ตามคำโบราณนับ หนึ่ง สอง สาม ฯลฯ ว่าอ้าย ยี่ สาม เป็นต้น เมื่อเทียบช่วงเวลากับปฏิทินตามสุริยคติที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี

ช่วงเวลาต่อเนื่องกันนี้เองทำให้ชุมชนโบราณมีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำหลายอย่าง เพื่อวิงวอนร้องขอ "แม่" ของน้ำ อย่าให้นองหลากมากล้นจนท่วมข้าวกำลังออกรวงเต็มที่ มิฉะนั้นข้าวจะจมน้ำตายหมดอดกินไปทั้งปี ดังมีกลอนเพลงเก่าๆ ว่า "เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง" เลยมีประเพณีแข่งเรือเสี่ยงทายและขอร้องขับไล่ให้น้ำลงเร็วๆ อย่าท่วมข้าว

หลังรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณได้ปรับพิธีกรรม "ผี" เพื่อขอขมาน้ำและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไปกลายเป็นลอยกระทงบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา แต่ระดับชุมชนชาวบ้านทั่วไปยังเข้าใจเหมือนเก่าคือขอขมาแม่พระคงคาและแม่พระธรณี (ดังมีพยานอยู่ในเอกสารของลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกพิธีของชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์เอาไว้)

ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมนานหลายเดือน จึงเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น "ประเพณีหลวง" ของราชอาณาจักร มีตราเป็นหลักฐานไว้ในกฎมณเฑียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จออกไปประกอบพิธีกรรมทางน้ำ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งทางการกสิกรรมของราษฎร แล้วมีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีเอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการอยู่ในตำราพระราชพิธีกับวรรณคดีโบราณ เช่น โคลงทวาทศมาส ฯลฯ



รำวง ลอยกระทง มีกำเนิดในกรุงเทพฯ

แล้วถูกสร้างให้เป็น "แห่งชาติ" ไปทั่วประเทศ


ประเทศไทยมีพื้นที่เป็นรูปยาวตั้งแต่เหนือลงใต้ ทำให้แต่ละพื้นที่รับมรสุมจากอิทธิพลของธรรมชาติไม่พร้อมกัน

ทางภาคเหนือรับมรสุมก่อนภาคกลางและภาคใต้ ฝนจึงตกทางภาคเหนือแล้วเริ่มฤดูทำนาก่อนภาคกลางและภาคใต้ ทำให้ข้าวทางภาคเหนือออกรวงสุกเต็มที่ ต้องเก็บเกี่ยวก่อนภาคกลางและภาคใต้ โดยเฉลี่ยราว 60 วัน หรือ 2 เดือน ฉะนั้นเดือนอ้ายของล้านนาที่อยู่ทางเหนือจึงเริ่มก่อน ตอนนั้นภาคกลางยังเป็นเดือน 11

เมื่อภาคกลางถึงเดือน 12 กลางเดือนเป็นวันเพ็ญมีลอยกระทง แต่ทางภาคเหนือนับเป็นเดือนยี่ (เดือน 2) แล้ว จึงเรียกคืนวันเพ็ญลอยกระทงว่ายี่เป็ง (เป็ง คือ เพ็ญ) พอภาคกลางเริ่มปีใหม่เดือนอ้าย ทางภาคเหนือก็เข้าเดือนสามแล้ว

เหตุที่ภาคเหนือเรียกประเพณีลอยกระทงว่ายี่เป็ง ก็เพราะรับพิธีลอยกระทงขึ้นไปจากกรุงเทพฯที่มีในกลางเดือน 12 เลยต้องปรับกำหนดให้ตรงกับกรุงเทพฯด้วย แต่ขณะนั้นภาคเหนือเป็นเดือนยี่แล้ว จึงเรียกลอยกระทงว่ายี่เป็ง หมายถึง เพ็ญเดือนสอง (ไม่ใช่เพ็ญเดือนสิบสอง)

ต้นเหตุที่ภาคเหนือรับพิธีลอยกระทงขึ้นไปจากกรุงเทพฯ เพราะอำนาจการปกครองขณะนั้นอยู่ภาคกลาง มีกรุงเทพฯเป็นราชธานี อำนาจทางวัฒนธรรมแผ่จากกรุงเทพฯขึ้นไปมีอิทธิพลเหนือประเพณีท้องถิ่น รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงสร้างใหม่ให้ลอยกระทงเป็นประเพณี "แห่งชาติ" พร้อมกับรำวง (มาตรฐาน) แผ่ปกไปทั่วประเทศ รวมทั้งกำหนดให้ภาคเหนือ-ล้านนา มีรำวง (มาตรฐาน) ลอยกระทงกลางเดือน 12 เหมือนกรุงเทพฯด้วย

แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนได้หมด จึงยังเหลือเค้าการนับเดือนไว้ดังคำยี่เป็ง ส่วนภาคอื่นๆ เช่น อีสานและใต้เปลี่ยนไปตามภาคกลางหมด



ลอยประทีป ไหว้พระแขในเขมร

ภาพสลักที่ปราสาทบายน พ.ศ.1750


ในกัมพูชามีประเพณีลอยประทีปไหว้พระแข (คือพระจันทร์) กลางเดือน 12 มีภาพสลักที่ปราสาทบายน ราว พ.ศ.1750 แสดงว่ามีมาก่อนนั้นนานมากจนนับไม่ได้

หลักฐานนี้เป็นพยานสำคัญว่าลอยกระทงยุคกรุงรัตนโกสินทร์สืบเนื่องจากลอยประทีปยุคเมืองพระนครหลวง (นครธม) ที่ทะเลสาบในกัมพูชา กับลอยประทีปลอยโคม ยุคทวารวดีศรีอยุธยาบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ไม่พบหลักฐานยุคกรุงสุโขทัย

หน้า 20 วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11555 มติชนรายวัน


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-01 10:23:13


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2002362)

๐๐เดือนเพ็ญลอยเด่นโอ้          เดียวดาย

แสงส่องผ่องแพรวพราย        เพียบพร้อม

กลบแสงแห่งดาวลาย        ริบหรี่  ลงเอย

ทั่วฟากฟ้าพาย้อม       แต่งแต้มแสงจันทร์

 

๐๐สองฝั่งคลองเจิ่งน้ำ               ใสเย็น

ละลอกคลื่นกระเซ็น                 เล่นล้อ

ลมสะบัดพัดเห็น       ดูยิ่ง  งามเอย

จันทร์เล่นร่ายเต้นป้อ     คลุกเคล้าคลื่นลม

 

๐๐กระทงน้อยล่องริ้ว     เรื่อยไหล

กระทบคลื่นแกว่งไกว        ไล่เร้น

ธูปเทียนส่องนวลใย     ไหววูบ  วาบเอย

ระยิบระยับเต้น        แต่งแต้มคงคา

 

๐๐ราตรีที่เคลื่อนคล้อย        ลอยลับ

เหม่อนั่งมองจันทร์จับ        ขอบฟ้า

อีกปีกว่าจะกลับ         มาสู่  เพ็ญเอย

เดือนสิบสองส่องหล้า     เจิดจ้าแจ่มจัง

ผู้แสดงความคิดเห็น --คันจน-- วันที่ตอบ 2009-11-03 01:02:50


ความคิดเห็นที่ 2 (2107803)

lv wallets replica gucci handbags genuine Louis Vuitton bag but just louis vuitton expert craftsmen Balenciaga mens travel bags imitation lv handbags.

ผู้แสดงความคิดเห็น monza (graham-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:31:42



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.