ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท " – 4


๑๓

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ม้าลำพอง

                    หมายใจจ้อง มองแล้วมอง จ้องใจหมาย  หญิงหรือชาย คล้ายดูคล้าย ชายหรือหญิง

            จริงไม่กลัว ตัวลืมตัว กลัวไม่จริง                    ใจข้องยิ่ง นิ่งอยู่นิ่ง ยิ่งข้องใจ

            ผิดเพศเพี้ยน เปลี่ยนชอบเปลี่ยน เพี้ยนเพศผิด  ไขข้องจิต คิดแล้วคิด จิตข้องไข

            ใครว่าอย่า หาเรื่องหา อย่าว่าใคร                      เป็นที่ใจ ใฝ่ชอบใฝ่ ใจที่เป็น

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ผิดเพศเพี้ยน”

- เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค

- พยางค์(คำ)แรกของวรรคกับพยางค์สุดท้ายของวรรค ใช้เหมือนกัน  เช่น  หมาย-หมาย,   หญิง-หญิง   เป็นต้น

- สามพยางค์ช่วงแรกของวรรคต้องกลับสลับไปใช้ในสามพยางค์หลังท้ายวรรค  เช่น  หมายใจจ้อง-จ้อง

  ใจหมาย,   ชายหรือหญิง-หญิงหรือชาย,   จริงไม่กลัว-กลัวไม่จริง,   ใจข้องยิ่ง-ยิ่งข้องใจ   เป็นต้น

- ช่วงกลางของวรรค พยางค์ที่สี่ต้องใช้ซ้ำกับพยางค์ที่หก  เช่น  มอง-มอง,  คล้าย-คล้าย,  ตัว-ตัว,  นิ่ง-นิ่ง  เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒   เช่น ใจหมาย-ชาย,    ผิด-ข้องจิต   เป็นต้น  

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔   เช่น   ไม่จริง-ยิ่ง,   ว่าใคร-ที่ใจ   เป็นต้น

 

กลบกลืนกลอน

                    ไม่ทำตัว ตกต่ำ ใจต่ำช้า                           ไม่ทำบ้า ห้าร้อย ไปร้อยเรื่อง

            ไม่ทำซ่าน พาลขัด ไปขัดเคือง                                    ไม่ทำเซื่อง ซ่อนชั่ว ไปชั่วช้า

            ต้องมุ่งหมาย มองใจ ให้ใจมั่น                          ต้องมุ่งฝัน เป็นคุณ ให้คุณค่า

            ต้องมุ่งไป  ให้ดี  ได้ดีมา                                  ต้องมุ่งหน้า หาธรรม ได้ธรรม

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “มุ่งดีมีคุณธรรม”

-  กำหนดเป็นกลอน ๘ (อาจประยุกต์เป็นกลอน ๙ ได้)

- ช่วงหน้าในวรรคต้องใช้ ให้เหมือนกัน เช่น   ไม่ทำตัว,  ไม่ทำบ้า,   ไม่ทำซ่าน,   ไม่ทำเซื่อง  

   ต้องมุ่งหมาย,  ต้องมุ่งฝัน,  ต้องมุ่งไป,   ต้องมุ่งหน้า   (ใช้คำว่า ไม่ทำ และ ต้องมุ่ง ในช่วงหน้าวรรค)   เป็นต้น

- พยางค์ที่ห้าในวรรคต้องใช้ซ้ำกับพยางค์ที่เจ็ด  เช่น   ตกต่ำ-ใจต่ำ,   ห้าร้อย-ไปร้อย,   พาลขัด-ไปขัด   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒   เช่น  ต่ำช้า-ทำบ้า,  ใจมั่น-มุ่งฝัน   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔   เช่น  ขัดเคือง-ทำเซื่อง,   ดีมา-มุ่งหน้า  เป็นต้น

 

 

 

๑๔

                ( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ลิ้นตะกวด

                    อย่าหยิบยื่น ยกเมฆ มาเสกสรร                อย่าใฝ่ฝัน เกินตัว มัวเห่อเหิน

            อย่าโกงกิน ก้อนไฟ ไปเพลิดเพลิน                   อย่าด่วนเดิน สู่อบาย หมายมัวเมา

            อย่ารุ่มร้อน โลดร่า ทำบ้าบิ่น                           อย่าโดดดิ้น เป็นชู้ คู่ของเขา

            อยากได้ดี มีผล คนรักเรา                                 ต้องอิงเอา หลักธรรม มาย้ำยล

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ทำดีมีคนรัก”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙

- สองพยางค์ช่วงต้นวรรค ต้องใช้สัมผัสอักษร  เช่น  หยิบยื่น, ใฝ่ฝัน,   โกงกิน,   ด่วนเดิน,   รุ่มร้อน    เป็นต้น

- สองพยางค์ท้ายวรรค ต้องใช้สัมผัสอักษร  เช่น  เสกสรร,   เห่อเหิน,   เพลิดเพลิน,    บ้าบิ่น,   ของเขา,    เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๒   เช่น  เสกสรร-ใฝ่ฝัน,    บ้าบิ่น-โดดดิ้น   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค ๔   เช่น  เพลิดเพลิน-ด่วนเดิน,   รักเรา-อิงเอา  เป็นต้น

 

ดอกไม้พวง

                    อย่าเชื่อง่าย  เพราะฟัง  เรื่องทั้งหลาย       อย่าเชื่อง่าย  เพราะหมาย  ตามครูสอน

            อย่าเชื่อง่าย  เพราะอ้าง  สร้างขั้นตอน             อย่าเชื่อง่าย  เพราะสังหรณ์  คิดคาดเดา

            อย่างมงาย  หมายไป  ไร้เหตุผล                      อย่างมงาย  หมายตน  เป็นคนเขลา

            อย่างมงาย  หมายรู้  ทำหูเบา                           อย่างมงาย  หมายเมา  เอาแต่ใจ

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่าเชื่องมงาย”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สามพยางค์แรกของทุกวรรค ๔ วรรค (วรรคสดับ-รับ-รอง-ส่ง) ต้องใช้คำเหมือนกัน  เช่น  อย่าเชื่อง่าย 

  อย่าเชื่อง่าย  เป็นต้น  ถ้ามีวรรคสดับ (วรรค ๑ ) บทต่อไป เปลี่ยนคำใหม่ได้  เช่น  อย่างมงาย,  อย่างมงาย  เป็นต้น

- พยางค์ที่สี่ของทุกวรรค ๔ วรรค ต้องใช้เหมือนกัน  เช่น  เพราะ  เพราะ  เป็นต้น  ถ้ามีวรรคสดับ (วรรค ๑ คือ

  วรรคแรก) บทต่อไป  เปลี่ยนคำใหม่ได้  เช่น  หมาย,  หมาย   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรคที่ ๒  เช่น  หลาย-หมาย,   ผล-ตน   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรคที่ ๔  เช่น  ตอน-สังหรณ์,  เบา-เมา  เป็นต้น

 

 

 

 

๑๕

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

เมฆขลาโยนแก้ว

                    เริ่มแต่งกลอน  อ่อนวิชา  หาความรู้         ความรู้อยู่  ที่เรา  เฝ้าศึกษา

            ศึกษาแล้ว  ปฏิบัติ  พัฒนา                               พัฒนา  คุณค่า  กล้าก้าวไกล

            ก้าวไกลไป  ในทาง  ที่สร้างสรรค์                    สร้างสรรค์มั่น  หมายจริง  สิ่งสดใส

            สดใสสม  ภิรมย์รื่น  ชวนชื่นใจ                        ชื่นใจมาก  อยากให้  เก่งการกลอน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ขอให้เก่งการกลอน”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์ท้ายวรรคทุกวรรคนำไปใช้ต่อในสองพยางค์แรกของต้นวรรคต่อไป  เริ่มท้ายวรรค ๑ – ต้นวรรค ๒,  

  ท้ายวรรค ๒ – ต้นวรรค ๓,   ท้ายวรรค  – ต้นวรรค ๔, (วรรคส่ง ) –ไปต่อที่ ต้นวรรค ๑ ของบทต่อไป  เช่น

  ความรู้-ความรู้,   ศึกษา-ศึกษา,    พัฒนา-พัฒนา,   ก้าวไกล-ก้าวไกล,   สร้างสรรค์-สร้างสรรค์,   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  ความรู้-อยู่,   สร้างสรรค์-มั่น   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๔  เช่น  พัฒนา-คุณค่า,   ชื่นใจ-อยากให้  เป็นต้น

 

ดวงเดือนประดับดาว

                    ดวงเดือน  เยือนฟ้า  คราคืนค่ำ                 เรื่อยร่ำ  คำหวาน  ขานขับไข

            แสงส่อง  ผ่องเพ็ญ  เด่นดีใด                            เปรียบไป  ใจปอง  น้องนวลนาง

            หรีดหริ่ง  กริ่งฝัน  ปั่นป่วนป่า                         เพลินพา  อาลัย  ไม่หม่นหมาง

            กลกลอน  ซ่อนสุข  ทุกที่ทาง                           ฟ้าสาง  กลางไพร  ใจแจ่มจริง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “เดือนฟ้างาม”

- เป็นกลอน ๗  แบ่งวรรคเป็นสามช่วง ๒ –– ๓ พยางค์

- สองพยางค์หน้าของทุกวรรคใช้สัมผัสอักษรทั้งหมด  เช่น  ดวงเดือน,  เรื่อยร่ำ,  แสงส่อง,  เปรียบไป   เป็นต้น

- สามพยางค์หลังของทุกวรรคใช้สัมผัสอักษรทั้งหมด  เช่น  คราคืนค่ำ,   ขับขานไข,   เด่นดีใด   เป็นต้น

- พยางค์ที่สองต้องไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามในวรรค    เช่น  เดือน-เยือน,  ร่ำ-คำ,  ส่อง-ผ่อง,  ไป-ใจ   เป็นต้น

- พยางค์ที่สี่ต้องไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าในวรรค   เช่น  ฟ้า-ครา,   หวาน-ขาน,   เพ็ญ-เด่น,   ปอง-น้อง    เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สองของวรรค ๒  เช่น  ค่ำ-เรื่อยร่ำ,  ป่า-เพลินพา   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สองของวรรค ๔  เช่น  ดีใด-ไป,  ทาง-ฟ้าสาง   เป็นต้น

 

 

 

๑๖

( ตัวอย่างกลอนกลบท )

ช้างประสานงา

                    ช้างชนกันสนั่นเสียงสะท้านทุ่ง               ต่างฝ่ายต่างหมายมุ่งเหิมหักหาญ

            หมู่หญ้าแพรกต้องแหลกล้มราบราน               แรงพลังช้างสารสู้โรมรัน

            เปรียบคนใหญ่คนโตต้องทำศึก                       บริวารหาญฮึกเห็นตามท่าน

            ต่างล้มหายตายเป็นเบือเข่นฆ่าฟัน                   คำโบราณขานคั้นคงเห็นจริง

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “ช้างเหยียบหญ้า”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- พยายามสังเกตตัวอย่างผลงานแต่ยังไม่เห็นข้อกำหนดแน่ชัด เท่าที่ดูเห็นช่วงกลางกับช่วงท้ายของวรรคทุกวรรค

  ไม่มีการใช้สัมผัสสระ ใช้แต่สัมผัสอักษร และบางวรรคก็ไม่มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร  เช่น  สนั่นเสียง-

  สะท้านทุ่ง,   หมายมุ่ง-เหิมหักหาญ,   ต้องแหลก-ล้มราบราน,   ตายเป็นเบือ-เข่นฆ่าฟัน   เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรคที่ ๒  เช่น  ทุ่ง-มุ่ง,  ศึก-หาญฮึก  เป็นต้น

- พยางค์สุดท้ายของวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรคที่ ๒  เช่น  ราน-สาร,  ฟัน-คั้น  เป็นต้น

 

พวงแก้วกุดั่น

                    อย่าทำ ร้ายหมายฆ่าสัตว์ตัดชีวิต             อย่าทำ จิตลดเลี้ยวเที่ยวป้ายสี

            อย่าทำ เก่งเบ่งบ้ากล้าลองดี                             อย่าทำ ชี้ชวนใครให้เป็นพาล

            อย่าทำ โกงกลิ้งกลอกหลอกลวงเขา               อย่าทำ เมาเหล้ายาหาเรื่องผลาญ

            อย่าทำ เที่ยวฟุ้งเฟ้อเผลอดอกบาน                   อย่าทำ คร้านงานไม่ทำจะต่ำตน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “อย่าทำ”

- เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- สองพยางค์ในวรรคแรกต้องนำไปใช้เหมือนสองพยางค์ต่อไป ทุกวรรค  เช่น  อย่าทำร้าย,   อย่าทำจิต,   อย่าทำเก่ง,

  อย่าทำชี้,   อย่าทำโกง,   อย่าทำเมา,   อย่าทำเที่ยว   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๒  เช่น  ชีวิต-จิต,   เขา-เมา   เป็นต้น

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่สามของวรรค ๔  เช่น  ดี-ชี้,   บาน-คร้าน   เป็นต้น



ผู้ตั้งกระทู้ สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ (R-Cha-Nai-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-11 05:45:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2107312)

revlon hair pieces african american wigs more of a James Dean look than the Los wigs Which is best-synthetic or human hair wigs half wigs peg bundy costume.

ผู้แสดงความคิดเห็น jules (shelly-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 09:15:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.