ReadyPlanet.com


ซักส้าวเอ๋ย มะนาวโตงเตง


สำนวน วัวเคยขาม้าเคยขี่ ผู้เขียนเคยได้ยิน หม่ำจ๊กมก พูดในรายการชิงร้อยชิงล้านเพี้ยน ไปว่า วัวเคยฆ่าม้าเคยขี่ และเคยได้ยินบางคนก็พูดเพี้ยนไปว่า  วัวเคยค้าม้าเคยขี่   ตามทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า สำนวนที่ถูกควรจะเป็น วัวเคยขาม้าเคยขี่ ด้วยเพราะ เวลาที่เราขี่ม้า หรือ วัว เราจะต้องใช้ขา กระแทกลงไปที่ตัวม้าเพื่อให้มันวิ่ง เพราะฉะนั้น ม้าหรือวัวที่เคยถูกขี่  ก็จะคุ้นเคยกับการ โดนขาของผู้ขี่กระแทกลงไปที่ลำตัว   เมื่อ ม้า/วัว เจ็บ ม้าก็จะวิ่งเร็วขึ้น (ไม่เคยเกิดเป็น ม้า/วัว แต่ รู้ด้วย อัชฌัตติกญาณ (intuition) สาเหตุที่ทำให้เสียง ขา เพี้ยนเป็น ค้า หรือ ฆ่า/ข้า นั้นก็เพราะเป็นไปตามหลัก นิรุกติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องของการเหนี่ยวนำเสียง ระหว่างคำว่า ขา และคำว่า ม้า  เสียงของคำว่า ขา ถูกเหนี่ยวนำจาก เสียงของคำว่าม้า ส่งผลให้ เสียงของคำว่า ขา เพี้ยน ไปเป็น ค้า หรือ ฆ่า/ข้า   ซึ่งคล้ายกับ กรณีของคำว่า กุ้งก้ามคราม เพี้ยนเสียงเป็น กุ้งก้ามกราม นั่นเอง

สำนวน สูงยาวขาวดี หรือ สูงยาวเข่าดี สำนวนที่ถูกตามทรรศนะของผู้เขียน น่าจะเป็น สูงยาวขาวดี ซึ่งตรงข้ามกับสำนวน เตี้ยล่ำดำสิว (ตั้วเตี้ยๆ ล่ำ ๆ แถมมีรูปชั่วตัวดำ บนใบหน้ามีสิวขึ้นตะปุ่มตะป่ำ) ฉะนั้นสำนวนนี้ในบริบทของคนในสมัยโบราณจวบจนถึงในสมัยนี้ คนส่วนใหญ่มักตัดสินคนโดยดูจาก รูปลักษณ์ภายนอก เช่นเห็นว่ารูปร่าง สูงยาวขาว คือ ดี นั่นคือมองว่าคนที่มีผิวขาว ตัวสูง มีมือ มีขา ที่ยาว  ย่อมถือว่า ดี กว่าคนที่ มีรูปร่าง เตี้ยล่ำดำสิว ค่านิยม ว่าด้วยเรื่องการ มองคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกนี้ คงมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล ด้วยเหตุนี้ คนโบราณท่านจึงแสดงทรรศนะที่ขัดแย้งไว้ว่า ไม่ควรด่วนตัดสินคน ว่าดี หรือไม่ดี เพียงเพราะเห็นจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งทรรศนะนี้ปรากฎอยู่ใน โคลงโลกนิติ บท "ยางขาวขนเรียบร้อยดูดี" และบท "รูปแร้งดูรูปร้ายรุงรัง"  นกกระยางขาว เป็นตัวแทน ของคนที่มีหน้าตา+รูปร่าง สูงยาวขาว มีอากัปกิริยาที่แช่มช้า แต่จิตใจภายในนั้น ไม่ดี เพราะนกกระยางขาว นั้น กิน  ปลา/สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในแม่น้ำเป็นอาหาร ส่วนนกอีแร้ง เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตา น่าเกลียด มีอากัปกิริยาที่กระโดกกระเดก แต่มีจิตใจที่ดี เพราะเลือกกินแต่ซากศพของสัตว์ที่ตายแล้ว โคลงโลกนิติสองบทนี้มีใจความที่ต้องการจะสอนชนรุ่นหลัง ว่า มิให้มองคนแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก เพราะคนที่ สูงยาวขาว ก็อาจจะเป็นได้ทั้ง คนที่ดี และคนที่ไม่ดี นั่นเอง  

ส่วนเพลงกล่อมเด็ก ที่ร้องว่า "ซักส้าวเอ๋ยมะนาวโตงเตง ขุนนางมาเองจะมาเล่นซักซ้าว มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า"

ซัก=ชัก เป็นภาษาอีสาน ที่ออกเสียง  ชอช้าง เป็น ซอโซ่ คล้ายคำว่าช้าง คนภาคอีสานออกเสียงเป็น  ซ้าง

สาว=ชักหรือดึงสิ่งที่เป็นเส้นยาว ๆ ออกจากที่เข้าหาตัว เช่น  สาวไหม สาวเชือก; โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้าย  คลึงเช่นนั้น เช่น สาวความ. (
ราชบัณฑิตย์ฯ ออนไลน์)

ส้าว=คำนี้เปิดไม่พบในพจนานุกรม แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คำว่า ส้าว นี้มีความหมายคล้ายคำว่า สาว (กริยา) และอาจถูกใช้เป็นคำนาม โดยมีความหมาย หมายถึง  ไม้ขนาดยาว(ที่มีไว้สำหรับใช้สอยผลไม้)  (อ้างจาก พจนานุกู) 

อนึ่ง คำว่า ส้าว นี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจ เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า  เส้า ที่แปลว่า ไม้หลักหรือวัตถุที่ตั้งหรือปักเป็น ๓ มุมสําหรับรองรับ เช่น  เอาก้อนอิฐมาวางให้เป็น ๓ เส้า  (ราชบัณฑิตย์ฯ ออนไลน์)

 อนึ่ง การเทียบ คำว่า ส้าว และ เส้า นี้ ใช้หลัก คำว่า ข้าว เทียบกับคำว่า เข้า ยกตัวอย่างเช่น คำว่า เข้า ซึ่งปรากฎอยู่ใน หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1 ความว่า "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง  ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง  พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า"

(สิบเก้าเข้า คือ สิบเก้าข้าว แปลว่า 19 ฝน 19 หนาว ทำนาข้าวมา 19 ครั้ง/19 ขวบ กรณีการยืดหดของกระสวนเสียงกรณีนี้ คล้ายกับกรณีคนภาคกลาง ออกเสียงเรียกควายว่าควาย แต่คนอีสานจะออกเสียงเรียก ควายว่า ข้วย นั่นเอง )
ฉะนั้น ผู้เขียนขอสันนิษฐานว่า ส้าว=เส้า ซึ่งแปลว่า ไม้/หลัก

ซักส้าว= (นาม) ชื่อการเล่นชนิดหนึ่งของเด็กโดยจับแขนดึงกันไปมา (พจนานุกรม ฉ.ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542.-- กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับิเคชั้นส์,2546. หน้า 377)


เพลงกล่อมเด็กนี้บอกว่า "(หาก)มือใครยาว(ก็จะ)สาวได้สาวเอา" ซึ่งสนับสนุน สำนวนที่ว่า "สูงยาวขาวดี" ด้วยเพราะ อะไรที่ สูง อะไรที่ ยาว อะไรที่ขาว นั้นถือว่า ดี

ทว่าเพลงกล่อมเด็กเพลงนี้ หากพิจารณาให้ดีๆ จะพบได้ว่า ซ่อนนัยทางการเมือง เอาไว้ความว่า ขุนนาง นั้นเป็นชนชั้น ที่มี อภิสิทธิ์ (อภิสิทธิชน) เปรียบเสมือนผู้ที่มีมือไม้ยาวย่อมไขว่คว้าหาผลไม้ (ผลประโยชน์) ใส่ตนได้ง่ายกว่าชาวบ้านธรรมดา ผู้มีมือสั้น ขาสั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ค่านิยมของคนทุกยุคทุกสมัย ล้วนอยากให้ลูกๆ หลานๆ ได้ เป็นขุนนาง (รับราชการ) เพราะเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่สูง มีมือไม้ยาว (ทำขาวให้เป็นดำ ทำดำให้เป็น) สวมชุดขาว และ (ดู)ดี

ว่าด้วยเรื่อง มือไม้ยาว ยกตัวอย่างเช่นหากเราจะสอยมะนาวแต่ตัวเราเตี้ย และแขนเราสั้น คนโบราณ (ในเพลงกล่อมเด็กเสนอว่า) ก็ให้หา ไม้มาต่อๆ กัน โดยใช้เถาวัลย์ (เชือก) ผูก เราก็จะได้ไม้ด้ามยาวเอาไว้สอยมะนาวที่อยู่สูง ได้สมดังใจ ส่วนผู้ที่มีรูปร่าง สูงโปร่ง มือยาวขายาว ไม่จำเป็นต้อง ใช้ไม้สอยมะนาว เพราะสามารถเอื้อมมือไปเด็ดลูกมะนาวนั้นได้เลย

หวนมามองย้อนดูชีวิตมนุษย์ปุถุชน มนุษย์ทุกคน ต้องการปัจจัยพื้นฐานว่าด้วยเรื่อง  กิน  กาม  และเกียรติ มนุษย์จึงพยายามแสวงหา ไม้ไผ่ (มรรควิธีต่างๆ) มาผูกต่อกัน ด้วยเถาวัย์ (กิเลสตัณหาและอุปาทาน) เพื่อ สอยมะนาว (กิน กาม และเกียรติ) นั้น แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว กินกามและเกียรติ ถือเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ยกตัวอย่างเช่น

เวลาหิว เรามีความทุกข์ เมื่อเราไขว่คว้าหาของ(กิน)ใส่ปาก เราอิ่ม เรามีความสุข (แต่แล้วเราก็หิวใหม่) ทว่า การหามาซึ่งของกินนั้น หากเราไปโขมย ไปโกง ไปแย่งชิง ไปหลอกลวง เขามา แม้นว่าเราจะอิ่ม ด้วยอาหารเหล่านั้น ต่อมาภายหลังย่อมเกิดทุกข์ ความสุขตั้งมั่นอยู่ ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ความทุกข์ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ และยาวนานกว่าความสุข

เวลาเรามีความกำหนัด และขาดความรัก (กาม) เรามีความทุกข์ เราไขว่คว้าหาบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อแต่งงาน เพื่อกระทำสมัครสังวาส เรามีความสุข (รู้ด้วย อัชฌัตติกญาณ (intuition) แต่ก็เป็นความสุขสุดยอด (crimax) เพียงชั่วครูชั่วยาม และยิ่งหากการกระทำสมัครสังวาส นั้น เกิดขึ้นจากการหลอกลวงเอาด้วยเล่ห์ แย่งชิง หรือข่มขู่ ผู้ที่มิใช่สามีภรรยาตน แล้วล่ะก็ ก็ยิ่งทำให้เกิดทุกข์ทวีคูณขึ้นได้ในภายหลัง

เช่นเดียวกันกับเวลาที่เรา ขาด การยอมรับนับถือ (ขาดเกียรติ ขาดยศ) จากสังคม และคนรอบข้าง เรามีความทุกข์ เราจึงกระ ทำหรือไม่กระทำ บางอย่าง เพื่อให้สังคมยอมรับ เมื่อเราได้รับการยอมรับ คือมีเกียรติยศ ในทางสังคมแล้ว เรามีสุขอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ โลกธรรมแปดว่าด้วยเรื่อง การมียศ เป็นของคู่กับ การเสื่อมยศ การถูกสรรเสริญ คู่กับการถูกนินทา อันว่าเกียรติยศที่เรามีอยู่ หากว่าเราได้มา ด้วย การโกหก ได้มาด้วยการโกง ได้มาด้วยการข่มขู่ นั้นเป็นความสุขที่แท้จริงกระนั้นหรือ


สำนวน สูงยาวขาวดี นี้ ตามทรรศนะของผู้เขียนนั้นควรหมายถึง การมีคุณธรรมที่สูงส่งภายในจิตใจ การมีพฤติกรรมที่ดีงาม บริสุทธิขาวสะอาด ต่อเนื่องอย่างยาวนาน จึงจะถือเป็นความ ดี ความ งาม และความจริงที่แท้ของชีวิต

เมื่อยังขาดสิ่งนี้ เราก็ควรรีบเร่งแสวงหาไม้ (มรรควิธี ) มาผูกต่อกันเข้าด้วยเชือกหรือเถาวัลย์ (สัมมาอาชีวะ/กิเลสฝ่ายดี) เพื่อใช้สอยผลไม้ที่อยู่สูง (มรรคผลนิพพาน) การตีความเช่นนี้ จึงจะตรงกับเนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กที่ว่า "ซักส้าวเอ๋ยมะนาวโตงเตง ขุนนางมาเองจะมาเล่นซักซ้าว มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า" ด้วยประการะฉะนี้



ผู้ตั้งกระทู้ กวิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-05 20:59:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1832262)
http://gotoknow.org/blog/kelvin/205589
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-05 21:00:05


ความคิดเห็นที่ 2 (1835882)
หรือตามอ่านได้ที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2008-09-12 09:19:35


ความคิดเห็นที่ 3 (2107851)

replica chanel bags gucci bags style bag ot only do these louis vuitton popular today The good thing about replica louis vuitton bags lv travel fake.

ผู้แสดงความคิดเห็น helen (antin-at-live-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 11:38:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.