ReadyPlanet.com


ประกาศผลรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ ๕


มูลนิธิอมตะ ได้เชิญสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติร่วมแถลงข่าวประกาศผลรางวัลนักเขียนอมตะ คนที่ ๕ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ อาคารกรมดิษฐ์ ชั้น ๖ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ และชมนิทรรศการ "เส้นทางแห่งรางวัลเกียรติยศ รางวัลนักเขียนอมตะ" นิทรรศการผลงานผู้ได้รับรางวัลการประกวดร้อยกรอง "ผมจะเป็นคนดี" โดยประธานมูลนิธิอมตะนายวิกรม กรมดิษฐ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและมอบของที่ระลึกแก่คณะกรรมการและผู้ได้รับรางวัลการประกวดร้อยกรอง "ผมจะเป็นคนดี" ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๔ มีคณะกรรมการและผู้ได้รับรางวัลร่วมงานหลายท่าน เช่นประภัสสร เสวิกุล โชคชัย บัณฑิต ทองแถม นาถจำนง เจน สงสมพันธุ์ พินิจ นิลรัตน์ จิตติ หนูสุข สุธีร์ พุ่มกุมาร พูนพัฒน์ ปฐมพาณิชย์พงศ์ ฯลฯสำหรับคณะกรรมการคัดเลือกนักเขียนอมตะได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษคุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต (ประธาน) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันต์ ดร.ประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ผศ.สกุล บุณยทัต รศ.ดร.สุปราณี พัดทอง  และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ปรากฏผลผู้ได้รับนักเขียนอมตะ คนที่ ๕ ได้แก่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่า   สุคะโต จังหวัดชัยภูมิผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” จะได้รับเงินสนับสนุน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) พร้อมเหรียญทองคำแกะสลักรูป “นางอินทร์” ต้นตระกูลกรมดิษฐ์ และใบประกาศเกียรติคุณ โดยมูลนิธิอมตะจะดำเนินการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณในโอกาสต่อไป



ผู้ตั้งกระทู้ ประชาสัมพันธ์ :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-05 10:10:48


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2150955)

พระไพศาล วิศาโล เป็นชาวกรุงเทพ เกิดเมื่อ พ. ศ.๒๕๐๐ จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนอัสสัมชัญ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวต่อสู้แบบอหิงสามีบทบาทในเหตุการณ์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกคุมขัง ๓ วัน ต่อมาได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดทองนพคุณ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ศึกษากรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ วัดสนามใน แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ปัจจุบันพระไพศาลดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต มีผลงานการเขียนและงานบรรยายประมาณ ๑๐๐ เล่ม งานเขียนร่วม ๑๙ เล่ม งานแปล ๙ เล่ม งานบทความ งานบรรณาธิกรณ์อีกหลายเล่ม มีชื่อเสียงในฐานะพระนักเผยแผ่ชื่อดังรูปหนึ่งในปัจจุบัน

 

 

             ขอถวายมุทิตาที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักเขียนอมตะ คนที่ ๕ ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูง

 

 

 

 

 

              

ผู้แสดงความคิดเห็น พร พระร่วง วันที่ตอบ 2011-02-05 10:53:05


ความคิดเห็นที่ 2 (2150978)

ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นันทิตา วันที่ตอบ 2011-02-05 13:00:55


ความคิดเห็นที่ 3 (2151350)

คอลัมน์: "พระไพศาล วิสาโล"นักเขียนอมตะคนที่ 5

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 00:00:39 น.

"นักเขียนอมตะ" ในปีนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาคัดเลือกให้ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต หรือวัดเอราวัณ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้ที่ควรค่าแก่การเป็นนักเขียนอมตะคนที่ห้า

ในงานแถลงข่าวประกาศรางวัล "นักเขียนอมตะ" ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้น ณ อาคารกรมดิษฐ์ นายวิกรม กรมดิษฐ์ประธานมูลนิธิอมตะ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักเขียนดีๆ มากมาย แต่โลกกลับมองไม่ค่อยเห็น มูลนิธิอมตะได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานเขียนต่างๆ จึงคิดว่าส่วนนี้น่าจะสามารถตอบแทนสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมนักคิด นักเขียน ที่จะถ่ายทอดผลงานดีๆ ออกสู่สังคม ส่วนหนึ่งการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมกับรางวัลนักเขียนอมตะ ก็เพื่อต้องการยกย่องคนดีไม่ให้โลกลืม

ผู้แสดงความคิดเห็น ตอมลัน์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ตอบ 2011-02-07 05:11:00


ความคิดเห็นที่ 4 (2152170)

“พระไพศาล วิสาโล”...“นักเขียนอมตะ” คนที่ 5

  บ่ายวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ท่ามกลางข่าวการประท้วงภายในประเทศ และกระแสความขัดแย้งระหว่างประเทศที่คุกรุ่น มูลนิธิอมตะ โดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิ เปิดบ้านชั้น 6 ดาดฟ้าอาคารกรมดิษฐ์ จัดงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัล “นักเขียนอมตะ” คนที่ 5 ประจำปี พ.ศ.2553 และยังได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้ได้รับรางวัลการประกวดร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี” รวมถึงนิทรรศการนักเขียนอมตะคนที่ 1-4 ภายในงานด้วย โดยผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ในการประกาศผลครั้งนี้ คือ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แห่ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 

 รางวัลแห่งเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ” เป็นรางวัลที่มูลนิธิอมตะริเริ่มขึ้นจากแนวความคิดของ นายประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำเสนอต่อ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ ใน พ.ศ.2546 ซึ่งในขณะนั้นได้ทำงานร่วมกันในการจัดทำหนังสือชีวประวัติเชิงนวนิยาย “ผมจะเป็นคนดี” ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำเสนอเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล

 มูลนิธิอมตะได้เรียนเชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณามอบรางวัลให้แก่นักเขียนอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบรางวัลนักเขียนอมตะมาแล้ว 4 คน ได้แก่ นายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ หรือนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” นักเขียนอมตะ คนที่ 1, นายโรจน์ งามแม้น หรือนามปากกา “เปลว สีเงิน” นักเขียนอมตะ คนที่ 2, นายโกวิท เอนกชัย หรือนามปากกา “เขมานันทะ” นักเขียนอมตะ คนที่ 3, นายสมบัติ พลายน้อย หรือนามปากกา “ส.พลายน้อย” นักเขียนอมตะ คนที่ 4

 ทั้งนี้การพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ดำเนินมาจนถึงปีที่ 5 โดยครั้งนี้คณะกรรมการคัดสรรประกอบด้วย ศ.พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต (ประธานกรรมการ), ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (กรรมการ), ดร.ประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ (กรรมการ), ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว (กรรมการ), ผศ.สกุล บุณยทัต (กรรมการ) รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง (กรรมการ) และนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (กรรมการและเลขานุการ)

 รางวัล “นักเขียนอมตะ” ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูประวัติแห่ง ผู้อุทิศตนที่ทุ่มเทสร้างผลงาน มีหลักเกณฑ์ในการคัดสรร 3 ประการสำคัญ คือ เป็นนักเขียนสัญชาติไทย ยังมีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ, มีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่องเป็นภาษาไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี และผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ โดยผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” จะได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งล้านบาทถ้วน พร้อมด้วยเหรียญทองคำแกะสลักรูปนางอินทร์ ต้นตระกูลกรมดิษฐ์ และใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งมูลนิธิอมตะจะจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมนิทรรศการเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ “นักเขียนอมตะ” หลังจากประกาศผลให้แก่สาธารณชนทราบแล้ว โดยแต่ละปีที่ผ่านมาได้รับเกียรติจาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
 
 ศ.พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานกรรมการคัดสรรนักเขียนอมตะได้อ่านคำประกาศเกียรติคุณ พระไพศาล วิสาโล ผู้ได้การยกย่องเป็นนักเขียนอมตะคนที่ 5 ว่า

 พระไพศาล วิสาโล คือปราชญ์แห่งยุคสมัยของแผ่นดิน เป็นนักคิด นักเขียน ผู้นำวิถีแห่งพุทธธรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานอันล้ำค่า สะท้อนแง่มุมของปรากฏการณ์สังคมด้วยนัยแห่งจิตวิญญาณที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากข้อขัดแย้งต่างๆ บนวิถีแห่งสันติ และก่อเกิดศรัทธาแห่งธรรมะขึ้นในจิตใจ

  ผลงานเขียนของท่านคือรูปรอยของความคิดที่ก่อประโยชน์สุขอันงดงาม ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมแห่ง “สันติภาพ” ในมโนสำนึกที่กระจ่างชัด อันเป็นภาพแสดงของการก้าวพ้นอำนาจของความรุนแรงในสภาวะสังคมที่ขัดแย้งแตกแยก ภาษาสื่อสารของท่านคือความหมายที่ยิ่งใหญ่ในการชี้ทางของความสุขสว่างทางปัญญา เป็นการพินิจพิเคราะห์ถึงเจตจำนงแห่งการดำรงอยู่ด้วยมิตรไมตรี และเต็มไปด้วยดุลยภาพอันสอดคล้องต่อชีวิตซึ่งควรค่าแก่การศึกษา อีกทั้งสามารถน้อมนำมาสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ปราศจากอคติ

 ข้อประจักษ์จากผลงานมากกว่าร้อยเรื่อง อาทิ สันติวิธีวิถีแห่งอารยะ ไม่ผลักไสไม่ใฝ่หา พุทธศาสนาไทยในอนาคต และ ขอคืนพื้นที่ธรรม ฯลฯ ล้วนทรงคุณค่าสำคัญอันมีผลต่อการหยั่งรู้และเข้าใจภาวะซับซ้อนของสังคม  รวมทั้งการตอกย้ำถึงความคลี่คลายในการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของศาสนธรรมที่ผสานเข้ากับความหวัง ในการก่อเกิดสันติวิธีขึ้นในใจของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามตลอดไป

 “แท้จริงมนุษย์หาใช่ศัตรูของเราไม่ ความโกรธเกลียดต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง”
 คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2553 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”

 นอกจากนี้แล้ว คณะกรรมการคัดสรรในปีนี้ยังได้ให้ความเห็นต่อการประกาศยกย่อง พระไพศาล วิสาโล เป็นนักเขียนอมตะ คนที่ 5 ไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน นั่นคือ การตอบโจทย์สังคมปัจจุบันซึ่งทุกคนอยู่ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งและความเกลียดชัง ในขณะที่นักเขียนอมตะคนที่ 5 ได้พยายามเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติโดยการสร้างวัฒนธรรมของสันติภาพให้เกิดขึ้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ข่าวจากคม ชัด ลึก วันที่ตอบ 2011-02-09 16:47:32



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.