ReadyPlanet.com


ซะการีย์ยา อมตยา คว้ากวีซีไรต์ 53 คุ้ยย้อนหลัง กรณีข้อกล่าวหา 'ลอก' คำพูดมาเขียน!?


 

 
คงทราบกันแล้วว่า ซะการีย์ยา อมตยา คว้ารางวัลซีไรต์ปีนี้ไปได้ ขอแสดงความยินดีด้วย ซึ่งหาก "อยากรู้จัก" เขาในอีกหลายแง่มุม..

น่าสนใจ บทสัมภาษณ์ของ พรชัย จันทโสก4 กันยายน พ.ศ. 2548 ได้คุยกับกวีซีไรต์ พ.ศ.นี้ ดังนี้..

.......
แห่งจุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันอาทิตย์ที่
"เช ปุถุชน" หรือ "ซะการีย์ยา อมตยา" หนุ่มนักเขียน-นักแปลบทกวีจากจังหวัดนราธิวาส เขาจบการศึกษาปริญญาตรี อิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ วิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทด้านศาสนาเปรียบเทียบ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทกวีของเขาเคยได้รับรางวัลชมเชย MBK Indy Book Awards 2004 และ "บอกพระเจ้าด้วยหิวข้าว" เป็นหนึ่งในบทกวีที่ชนะการประกวดบทกวีความหวังในเทศกาลฤดูใบไม้ผลิแห่งบทกวี 2004
และล่าสุดเขาตกเป็นข่าวร้อนในเวบบอร์ดชุมชนวรรณกรรม กรณีบทกวี "ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง" ได้รับรางวัลบทกวีเพื่อสันติภาพจากงานฉลอง 60 ปี สันติภาพไทย และบทกวีของเขาได้มีการท้วงติงจาก "วาดวลี" ว่ามีการลอกคำพูดมาเขียน สร้างความคลางแคลงใจให้กับสังคมและคนในแวดวงวรรณกรรม การที่เขาออกมายอมรับและปฏิเสธการรับรางวัล เรื่องน่าจะจบแค่นั้น แต่เมื่อเขาโดนโจมตีผ่านเวบบอร์ดจนทำให้ไม่สามารถจะนิ่งต่อไปได้ "เช ปุถุชน" จึงต้องออกมาเพื่อชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น...
0อยากให้เล่าตั้งแต่ต้นว่าเรื่องราวเป็นมายังไง?
เริ่มตั้งแต่ผมได้ข่าวจากเพื่อนทางอินเทอร์เน็ตว่ามีการประกวดบทกวีเพื่อสันติภาพ ผมเห็นว่าน่าสนใจ เพราะบทกวีของผมจะเป็นแนวสันติภาพ จริงๆ ผมเองไม่ได้กำหนดว่าจะเขียนเรื่องแนวนี้ แต่พอผมเขียนไปนานๆ เข้ากลายเป็นเรื่องแนวสันติภาพและสงครามเสียเยอะ พอเห็นข่าวก็กลับไปดูงานเก่าๆ ของผมที่เขียนไว้เยอะเหมือนกัน อาจจะเกือบร้อยชิ้น และเขาไม่ได้บอกข้อจำกัดว่า เขียนเมื่อไหร่ จะเป็นฉันทลักษณ์ หรือไม่ฉันทลักษณ์ก็ได้ แต่ผมเลือกมา 3 บท ได้แก่ ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง, ก้าวไปข้างหน้า และจนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจากแนวรบจะกลับมา
0กวีทั้งสามบทเขียนขึ้นในวาระที่ต่างกัน?
เขียนต่างกรรมต่างวาระกัน ผมส่งไปทั้ง 3 ชิ้น กะว่าจะได้รางวัลชมเชยด้วยซ้ำไป เพราะว่าวงวรรณกรรม โดยเฉพาะกวี ที่ผ่านมาเวลาจัดงานต่างๆ แนวโน้มยังคงจะให้เครดิตกับกวีฉันทลักษณ์มากกว่า ขนบแบบเดิม จึงไม่คิดว่าจะได้รางวัล คงได้รางวัลชมเชยสักรางวัลหนึ่ง ตอนที่เขาเมลมาบอกว่าได้รางวัลชนะเลิศ (เพราะผมไม่ได้ใช้โทรศัพท์) พออ่านแล้ว เอ้ย...จริงหรือเปล่า ผมโทรกลับไปผมยังย้ำถามเจ้าหน้าที่ว่า ตกลงผมได้รางวัลอะไรนะ คาดไม่ถึงว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ พอทราบข่าวเลยมาคุยกับพี่ใน www.bookcyber.com ตอนแรกกะว่าจะไม่โค้ด กลัวเพื่อนๆ จะมองว่าโอ้อวดหรือเปล่า เพื่อนบอกว่าให้ลงสิ เพื่อน้องๆ ที่เขียนงานอยู่จะได้เอาเป็นเยี่ยงอย่างว่า "เช ปุถุชน" ที่เขียนงานก๊อกแก๊กๆ ในเวบ ตอนนี้ได้รางวัลแล้วนะ เพื่อที่ว่าคนสร้างเวบจะได้ภูมิใจ จะได้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาหว่านไปมันงอกงาม ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงลงไป พอประกาศแล้วมีคนแสดงความยินดีเยอะแยะไปหมดเลย
0จนกระทั่งมีการท้วงติงเกิดขึ้น?
เริ่มจากมีคนตั้งกระทู้อีกกระทู้หนึ่ง ผมยอมรับว่าเป็นการเอาคำพูดของเขามาทำเป็นกวี พอผมมานั่งปรึกษากับพี่คนหนึ่ง รุ่นพี่บอกว่าดีที่สุดคือขอโทษเขา โอเคขอโทษก็ขอโทษ เพราะเราเอาคำพูดของเขามาจริง แต่ไม่ได้เอาบทกวีมานะ แต่ตอนที่ผมขอโทษผมเขียนสั้นๆ ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก พยายามติดต่อไปหาเขา แต่เขายืนยันเจตนารมณ์ว่า อยากให้เป็น "การประพันธ์ร่วม" คุยกันไปคุยกันมา ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาผมเลยบอกว่า โอเคเป็นงานเขียนร่วมก็ได้ มารับรางวัลร่วมด้วยก็ได้ ผมกล้าตัดสินใจอย่างนั้นเลย พอสักพักผมเริ่มคิดใหม่ เริ่มทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ถึงรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะตอนเขียนเราเขียนคนเดียว แต่ว่าเราเอาคำพูดของเขามาทำเป็นบทกวี มาจัดวาง เรียงบรรทัด มาเกลาเป็นบทกวีในสไตล์ของเรา
0ความจริงแล้วมีความผิดไหมที่เอาคำพูดคนอื่นมาเขียน?
ความคิดของผมรู้สึกว่าไม่ผิด เพราะตัวที่ปรากฏตามท่อนของบทกวีก็คือเป็นงานของผม เพียงแต่ส่วนท้ายสุดเป็นคำพูดของเขา เป็นความคิดของเขา ตรงนี้ผมยอมรับ แต่ผมปฏิเสธว่าไม่ใช่บทกวีของเขา สุดท้ายผมตัดสินใจขั้นเด็ดขาดขอ "ถอน" รางวัลเพื่อตัดปัญหา สถาบันปรีดีฯ แรกๆ บอกว่าถ้าออกประกาศนียบัตรสองใบได้ไหม คือเขาก็ตกใจ เพราะเป็นรางวัลชนะเลิศ ผมตัดสินใจวันเสาร์ จะรับรางวัลวันอังคารที่ 16 สิงหาคมแล้ว ผมบอกว่าขอถอน แต่เขาพยายามที่จะให้ผมรับร่วมกัน หมายถึงออกประกาศนียบัตรร่วมกัน แต่ผมปฏิเสธขอไม่รับเลย เพื่อให้หมดปัญหาและจะได้ไม่มีคำครหาด้วย หลังจากนั้นสถาบันปรีดีฯ บอกว่าให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมาวันจันทร์ ผมบอกว่าจะเขียนส่งไปให้วันจันทร์ หลังจากนั้นได้นั่งคุยกับพี่ในแวดวงวรรณกรรมเหมือนกัน พี่ๆ บอกว่าไม่ใช่ ก็เหมือนกับว่าการคุยกันในวงใครเกิดปิ๊งไอเดีย แล้วเอาคำพูดนั้นไปเขียนเรื่องสั้นหรือไปเขียนกวีได้ เพราะเป็นเพียงคำพูด เป็นเพียงไอเดียเฉยๆ
0เริ่มคิดทบทวนใหม่?
ตอนนั้นผมยังแย้งอยู่ว่าจะไม่รับรางวัลอย่างเดียว แต่มีสองสามคนพยายามพูดอย่างนี้ ผมยังยืนยันขอถอนเหมือนเดิม แต่สุดท้ายพอเริ่มจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ไง เรื่องนี้ผิดที่ผมแหละที่ไปขอแจ้งถอน พอถึงวันจันทร์ตอนเช้า ผมตัดสินใจจะไม่ถอนแล้ว ผมแจ้งถอนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่สถาบันแจ้งผมว่ามีคนอีเมลไปเอาคำขอโทษของผมแนบไปด้วย กรรมการบอกว่างดรางวัลชนะเลิศ ผมรู้แล้วล่ะ แต่ผมรู้สึกว่าผมต้องทำหนังสือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงจะถูกต้อง ถ้าจะถอนก็ต้องถอนเป็นทางการ ทางโน้นเขาบอกว่าให้เขียนและแนบสำเนาบัตรประชาชนด้วย ผมรับไว้ แต่ไม่ได้เขียน วันจันทร์ผมได้เขียนจดหมายและได้แฟกซ์ไปตอนเย็น แต่คงไม่มีใครแล้วในสถาบันตอนนั้น ส่งตอนนั้นเพื่อให้กระจ่างไง แต่เรื่องในเวบบอร์ดโจมตีกันหมดว่าเป็นยังไงกันแน่ ผมเก็บตัวเงียบไม่ตอบอะไรทั้งสิ้นหลายวันทีเดียว
0รางวัลนี้ถูกระงับไปในที่สุด?
รางวัลงด แต่ผมไม่ได้ไปในงาน เลยไม่รู้ว่าสถาบันใช้เหตุผลอะไรในการงดในตอนประกาศให้รางวัล แต่ผมรอจดหมายว่าทางสถาบันจะส่งกลับมาหรือเปล่า แต่หลังจากวันนั้นก็มีอีเมลจากผู้รับผิดชอบ แต่ว่าเป็นอีเมลส่วนตัว ผมยังไม่ถือว่านี่เป็นเสียงของสถาบัน ไม่ใช่จดหมายอย่างเป็นทางการ เขาบอกว่าเขาเป็นเพียงแค่ผู้ประสานงาน จริงๆ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะได้รางวัลหรอก แต่ว่าสถาบันน่าจะแจ้งผมมาอย่างเป็นทางการเหมือนกัน ถึงจะได้ถูกต้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย เหมือนไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หลังจากนั้นสัปดาห์กว่าผมไม่ได้เผยแพร่จดหมาย หลังจากนั้นมีข่าวออกมาจากทางจุดประกายวรรณกรรมและคมชัดลึก ผมรู้สึกว่าผมเสียหาย ผมเลยส่งรายละเอียดจดหมายให้กับ บก.ว่ารายละเอียดเป็นอย่างนี้
0รู้สึกว่าต้องออกมาชี้แจงบ้างแล้ว?
หลังจากมีออกข่าวออกไป ผมรู้สึกว่าผมเสียหายแล้ว ผมเลยเอาจดหมายนี้โพสต์ในเวบบอร์ดด้วย ตอนนั้นมีคนสงสัยมากมาย แต่ว่าผมไม่เคยตอบไง คนตั้งกระทู้ต่างว่ากันไปตามที่ตนเองรู้ แต่ไม่มีเสียงจากผม ผมลงจดหมายในบุ๊คไซเบอร์สองหน้า มีคนมาด่าแบบใช้คำหยาบ ด่าแบบเสียๆ หายๆ ลงไทยไรเตอร์ และประพันธ์สาส์น พอลงไปมีกระทู้ด่ากันมาไม่รู้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน แต่โดยส่วนตัวผมจะไม่ตอบ ผมจะลงอะไรผมจะลงยาวๆ ทีเดียว จบก็คือจบ จนกระทั่งว่าพอลบกระทู้ออกไป ผมขอลงใหม่ ยังมีด่าอีกจนวุ่นวาย ผมเอาบทกวีของผมลงบ้าง พอลงไปมีคนด่าอีก ต้องลบอีก แต่ยอมรับว่าเนื้อหาของบทกวีมีเสียดสีนิดหน่อย ตอนนี้ผมเขียนอะไรเหมือนจะเสียหมดเลย รู้สึกว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดเลย สุดท้ายพี่ๆ ในเวบไซต์พยายามจะเคลียร์ ผมพยายามจะเคลียร์เหมือนกัน และ www.bookcyber.com มีบรรยากาศที่ไม่ดีแล้ว เขาเลยตัดสินใจปิดชั่วคราว
0สมมติว่าทางสถาบันจะมอบรางวัลยังจะรับอยู่อีกไหม?
จะรับไม่รับตอนนี้ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นแล้ว ที่จำเป็นคือผมต้องเคลียร์ตัวเองว่า อยากให้สังคมรับรู้ว่าเรื่องเป็นอย่างนี้นะ ผมได้พยายามอธิบายแล้ว ถ้าคุณเข้าใจได้ก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ตอนนี้สังคมในวงวรรณกรรมกลุ่มหนึ่งซึ่งมีไม่มากเท่าไหร่ พิพากษาผมไว้แล้ว ตั้งแต่งานในอดีตของผม จนกระทั่งว่างานที่ผมกำลังจะเขียนในอนาคตด้วยซ้ำไปว่า "ไอ้นี่ต้องลอกแน่" ผมจำเป็นต้องพูดตรงนี้ ถ้าผมไม่ออกมาพูดเลย ก็มีการพูดคุยกันไป ผมไม่สนหรอกว่าสิ่งที่ผมชี้แจงไป จะมีคนเข้าใจมากน้อยเพียงไหน ขอให้มีคนเข้าใจบ้างก็โอเค และโดยส่วนตัวของผมไม่อยากเป็นศัตรูกับใครด้วย
0กับ"วาดวลี"ได้มีการพูดคุยกันอีกไหม?
หลังจากที่ผมตัดสินใจตามที่เขียนในจดหมายของผม แล้วก็ไม่ติดต่อกับใครเลย ถือว่าสิ้นสุดแล้ว บทสรุปของผมคือผมยืนอยู่ตรงนี้ ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นสิทธิส่วนบุคคล เขาพยายามติดต่อมา มีทั้งรุ่นพี่อีเมลมาให้อ่าน เมลแปลกๆ มา ผมไม่อยากรับรู้อะไรอีกแล้ว นี่คือคำอธิบายของผมแล้ว ความจริงของผม จริงๆ ผมกับ "วาดวลี" ก็ถือว่าเป็นเพื่อนสนิทกัน
0แล้วการที่เพื่อนมาท้วงติงแบบนี้รู้สึกอย่างไร?
รู้สึกประหลาดใจครับ พอหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ผมขอถอน ผมกลับมานั่งเปิดพจนานุกรม คำว่า "เพื่อน" แปลว่าอะไร ผมต้องมานั่งนับเพื่อนใหม่ ทั้งหมด คนตั้งกระทู้ด่าผม โจมตีผม ก็เป็นเพื่อนกันหมด เจอกันในกรุงเทพฯ นี่แหละ เป็นรุ่นพี่ที่เราให้เกียรติเหมือนกัน แต่เราไม่รู้ว่าเรื่องจะบานปลายขนาดนี้ ทั้งหมดพอผมลงคำขอโทษก็คิดต่างๆ นานา งงไปหมด คิดว่าผมลอกเป็นบทกวีมาทั้งดุ้น จริงๆ คือคำพูดนี้ ไม่มีการบันทึกที่ไหนนอกจากผมคนเดียว พอหลังจากคุยทางเอ็มเอสเอ็นก็ไม่ได้เก็บไว้ ผมเองก็ไม่ได้เก็บไว้ ถ้าผมจะไม่ยอมรับว่าเป็นคำพูดของเขาก็ได้ แต่ไม่ใช่ผม เพราะผมรู้ว่าผมเอาคำพูดของเขามา มันเป็นไอเดียของเขา ถ้าจะเป็นเรื่องทางกฎหมายหลักฐานอยู่ที่ผมหมดแล้ว แต่เขาไม่มีหลักฐานอะไรเลย เขายังมองว่าผมไม่ซื่อสัตย์ การที่ผมกล้าขอโทษถือว่าซื่อสัตย์ที่สุดแล้ว ถ้าผมไม่ขอโทษ ไม่ยอมรับ ก็ไม่มีใครมาคาดคั้นเอากับผมได้ ผมกล้ายอมรับเพราะมันคือความจริง เราจะหลีกเลี่ยงความจริงไม่ได้ ความจริงคือผมไม่ได้ลอกบทกวีของเขา จริงๆ บทกวีชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อนหน้านี้ และได้รับราวัลชมเชย MBK Indy Book Awards 2004 ทำไมเขาไม่ท้วงติงตั้งแต่แรก
0แล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจน?
ผมตั้งใจตอนแรกๆ หลังจากเขียนจดหมายฉบับนี้ ผมจะรอคำตอบจากสถาบันปรีดีฯ แต่ว่าไม่มีคำตอบ พอมีข่าวทางจุดประกายวรรณกรรมลง ผมรู้สึกเสียหาย และโดนโจมตีจากอินเทอร์เน็ตเยอะมาก เรื่องนี้ชัดเจนในจดหมายแล้ว สุดท้ายรางวัลไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา เพราะสิ่งที่ผมเขียนผมเขียนอยู่ตลอดเวลา ตามแรงบันดาลใจที่มี และสร้างแรงบันดาลใจของตนเอง ผมยังเขียนงานกวีต่อไป ต้องการให้ทุกคนได้เข้าใจผมเท่านั้นเอง คล้ายๆ ว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องพูดบ้างว่าโดนกล่าวหายังไง ผมมีหน้าที่เขียน มีหน้าที่เผยแพร่ ช่วงหลังพี่ๆ หลายคนบอกว่าชื่อของผมถูกรู้จักในนามของนักแปลไปแล้ว เขาแนะนำว่าสมควรที่จะลงงานของตัวเองบ้าง ส่งๆ งานของตัวเองไปตีพิมพ์บ้าง จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงนักแปลอย่างเดียว จริงๆ ผมเขียนงานกวีก่อนที่ผมจะแปลเสียอีก
0เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
ผมเขียนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่อินเดีย ผมจบปริญญาตรี ด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ วิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ มีเรียนวรรณคดีอาหรับคลาสสิก เรียนบทกวีอาหรับด้วย พอจบปริญญาตรี ผมลงเรียนวรรณคดีอาหรับได้สองเทอม รู้สึกเบื่อเลยกลับเมืองไทยมาเรียนศาสนาเปรียบเทียบ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
0ชีวิตที่อินเดียเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมได้รู้จักชีวิตมากขึ้น รู้สึกว่าความยากจนอย่างที่เราเห็นในเมืองไทยยังไม่เท่าที่อินเดีย ได้เห็นชีวิตเยอะแยะ ได้เห็นคนตามสถานีรถไฟ จริงๆ ประสบการณ์ผมกับบทกวีมีเยอะพอสมควร แต่ว่าตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าผมอยากจะทำทางด้านบทกวีจริงหรือเปล่า อย่างเวลาเรียนบทกวีอาหรับคลาสสิก อาจารย์จะให้อ่านบทกวีของผมก่อน ทุกคาบวิชาที่เรียนวิชาบทกวี เป็นประสบการณ์ทางด้านกวี วิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ อายุกว่า 100 ปี เป็นวิทยาลัยที่ก่อตั้งเพราะว่าเกิดความขัดแย้งในอินเดีย สมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง อินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมของอิสลามเก่าแก่ แต่ว่าช่วงหลังเกิดกระแสใหม่คือความก้าวหน้าจากอังกฤษที่เข้ามาการสร้างมหาวิทยาลัย และมุสลิมเองเคยมีมหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ แบบขนบ คือไม่ยอมรับอันใหม่ อันใหม่ก็จะไม่ยอมรับอันเก่า นักปราชญ์ทั้งสองกลุ่มเลยประชุมกันจัดตั้งวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมาเป็นการรวมระหว่างสองสิ่ง ระหว่างปรัชญาเก่ากับปรัชญาใหม่ ตอนนี้มีนักศึกษาไทยไปศึกษาเยอะพอสมควร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมในกรุงเทพฯ
0สนใจแปลบทกวีได้อย่างไร?
แต่ก่อนผมยังไม่รู้หรอกว่าผมจะเลือกเส้นทางการเขียนกวีแบบจริงจัง จนกระทั่งมาแปลบทกวี ผมจะเขียนเก็บไว้ตามสมุดไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดจะรวมเล่ม ก่อนหน้านี้ผมได้แปลวรรณกรรมของนักเขียนอียิปต์ ชื่อว่า "ด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมสุข" หลังจากนั้นมาเมืองไทยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล ผมมีงานเก่าๆ พอเริ่มรู้จักการใช้อินเทอร์เน็ต ได้เข้าชุมชนวรรณกรรม เลยลองเอาบทกวีของเราไปลงบ้าง มันเป็นความแปลก บทกวีของผมจะมีน้ำเสียงของผมเอง ซึ่งจะแตกต่างจากคนอื่นอยู่พอสมควร ด้วยว่าเรามีพื้นฐานทางการศึกษาบางอย่างที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่น ได้ลงหลายๆ ที่ ผมสนใจบทกวีมาก จะติดตามอ่าน โดยเฉพาะบทกวีต่างประเทศ
0ชอบสะสมหนังสือกวีต่างประเทศ?
ถ้าผมเจอหนังสือบทกวีภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นที่ผมอ่านได้ ผมจะซื้อมาเก็บไว้ ตอนนั้นยังไม่ได้แปลเป็นกิจจะลักษณะ แปลบ้างเพื่อให้เพื่อนๆ ในบอร์ดอ่านเฉยๆ พอหลังจากผมเห็นคอลัมน์ "บทกวีต่างแดน" ใน "จุดประกายวรรณกรรม" ช่วงตอนปลายปีที่แล้ว ผมเห็นว่าน่าสนใจ ผมมีหนังสือจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับบทกวีหลายๆ ชาติ ตัดสินใจแปลและส่งมา ปรากฏว่าบรรณาธิการลงให้ ยิ่งทำให้ผมรู้จักบทกวีมากขึ้น พอเราแปลคนหนึ่ง กวีบางคนเขาจะแปลงานของคนอื่นด้วย และกวีบางคนยังถือว่างานที่เขาแปลเป็นการสร้างสรรค์งาน ไม่ใช่แค่เป็นสะพานธรรมดา ยังรู้สึกเป็นเกียรติว่าเขาได้สร้างสรรค์ชิ้นงานอีกชิ้นหนึ่งในการแปล อย่างเช่น เวลาผมได้แปลบทกวีบทหนึ่ง เราจะได้ศึกษาประวัติการทำงานของเขา เขาอาจจะแปลงานของคนนี้ๆ เราสามารถจะเจาะไปได้อีก ขยายความรู้จัก คือกวีหนึ่งคนจะทำให้เรารู้จักกวีอีกหลายๆ คน ประกอบกับยุคนี้เป็นยุคอินเทอร์เน็ต บางทีเราอาจจะไม่ต้องตามหาหนังสือก็ได้ เพราะว่ามีข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว โดยเฉพาะกวีที่มีชื่อเสียงแล้ว เราสามารถจะไปค้นหาได้เยอะแยะไปหมดเลย แต่ผมยังสะสมหนังสือบทกวีอยู่ และรู้สึกมีความสุขที่ได้แปล
0ตอนเรียนวรรณคดีอาหรับมองเป้าหมายของตัวเองไว้หรือยัง?
ตอนเรียนมีอาจารย์ถามว่าพวกคุณเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไรบ้าง ตอนนั้นผมตอบกวนๆ ดีเหมือนกัน ผมบอกว่าผมอยากเป็น "สะพาน" แกงงว่า ผมอธิบายว่าเป็นสะพานให้ประชาชนของฉันได้เดินข้ามไป ผมตอบอย่างนั้นแหละ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำสะพานคืออะไร ความคิดของผมตอนนั้นสะพานคือการถ่ายเทสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง การถ่ายเทในสิ่งที่ผมรู้ไปสู่ประชาชนคนที่ไม่รู้ในประเทศของผมได้รู้ในสิ่งที่ผมรู้ หมายถึงว่าเป็นสะพานทอดให้เขาได้เดินไป รู้สึกว่าอยากจะให้คนอื่นได้รู้ในสิ่งที่ผมรู้บ้าง ผมไม่รู้ว่าคำพูดของผมตรงนี้ ส่งผลต่องานของผมในช่วงหลัง ผมมีความสุขที่ได้แปลงานบทกวี ศึกษาประวัติ และเป็นการเพิ่มความรู้ให้กับผมด้วย เมืองไทยนั้นการแปลบทกวีต่างชาติยังมีน้อยอยู่ โดยงานตีพิมพ์ก็เคยมีอยู่บ้างในอดีต แต่ยุคหลังๆ ไม่ค่อยมี พองานแปลของผมได้ลง "จุดประกายวรรณกรรม" ประมาณ 3-4 เดือน ได้มีบรรณาธิการท่านหนึ่งได้ติดต่อผมขอรวมเล่ม เขาเห็นว่ามันน่าสนใจ ผมรู้สึกดีใจว่ามีคนเห็นสิ่งที่เราทำ
0ชื่นชอบบทกวีของนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษบ้าง?
งานที่ผมชอบมากเป็นบทกวีแปลคืองานวิจัยของ สกว.ชื่อว่า "รายงานการวิจัยเรื่องกวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัยประสบการณ์จากวรรณคดีไทย" ของ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ มีงานวิจัย 5 เล่ม แต่ว่าตีพิมพ์จริงๆ มีแค่ 3 เล่ม คือ บทกวีที่คัดสรรของกวีไทยทั้งในอดีตและร่วมสมัย โดยมีบทวิจารณ์และประวัติกวี นอกจากนี้จะมีบทกวีของอเมริกัน บทกวีของฝรั่งเศส อีกสองเล่มของเยอรมันกับอังกฤษ ยังไม่มีการตีพิมพ์ ผมเห็นว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ด้วยความที่ผมชอบ ผมได้ไปที่ห้องสมุด สกว.ไปขอยืมเขาเพื่อถ่ายเอกสารเป็นเล่ม อ่านแล้วผมได้ความรู้มากเลย ผมอยากแนะนำเพื่อนๆ คนที่อยากเป็นกวี หรือว่าคนที่เป็นกวีอยู่แล้ว หรือคนที่ชื่นชอบบทกวี แนะนำให้อ่านงานนี้ น่าอ่านมากๆ
0แสดงว่าได้ศึกษาบทกวีนานาชาติมาเยอะ?
ก่อนหน้านั้นผมศึกษาของผมไปเรื่อยๆ แต่พอได้มาเขียนลง "จุดประกายวรรณกรรม" ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่ามีอีกเยอะที่ผมยังไม่รู้จักเกี่ยวกับกวี ผมอยากให้เมืองไทยมีหลักสูตรการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไม่เฉพาะแต่นวนิยาย เรื่องสั้น แต่บทกวีด้วย หรืออาจจะเชิญกวีต่างชาติ อย่างข่าววันที่ 12 ตุลาคมนี้ จะมีกวีอเมริกันชื่อ ริตา เดิฟ (Rita Dove) กวีอัฟริกันมาเมืองไทย ผมว่าน่าสนใจมาก น่าจะติดต่อนักเขียนคนนี้มาพูดถึงบทกวี เปิดโลกทัศน์ในเรื่องบทกวีให้กับกวีไทย ซึ่งหลังจากที่ผมได้แปลบทกวี ผมรู้สึกว่ากวีต่างชาติเขาก้าวหน้าไปมาก ถ้าเทียบกับกวีไทย แต่ผมไม่ได้ต่อต้านเรื่องของขนบ เพราะตรงนั้นเป็นมรดกของชาติอยู่แล้ว เป็นงานเชิงวรรณศิลป์ ทุกประเทศมีงานวรรณศิลป์ มีขนบ แม้กระทั่งวรรณกรรมอาหรับที่ผมศึกษามา เขาก็มีกวีของเขามาเป็นพันๆ ปีมาแล้ว มีฉันทลักษณ์ของเขา แต่ช่วงหลังเขาจะมีการแหกขนบของกวีกลุ่มหนึ่ง และสร้างงานที่แปลกแยกออกมา หนึ่งในนั้นมี "คาริล ยิบราน"
0การแปลบทกวีหลายคนยอมรับว่าเป็นเรื่องหินยากต่อการถ่ายทอดออกมาให้ดีได้?
เท่าที่ผมได้อ่านได้แปลมาในหลายประเทศ คนแปลบทกวีส่วนใหญ่จะเป็นนักกวีด้วยกัน อย่างกวีอเมริกัน เขาก็จะแปลบทกวีของยุโรป ฝรั่งเศส ส่วนใหญ่คนที่แปลจะเป็นกวีด้วยกัน อย่างเวลาผมแปลทุกครั้งต้องทำความเข้าใจก่อน ผมชอบอยู่อย่างหนึ่งคือบทกวีจะไม่ปิดปลาย อ่านแล้วสามารถจะคิดต่อ ซึ่งการคิดต่อไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกวีก็ได้ บทกวีหนึ่งบทอาจจะคิดร้อยคนร้อยอย่างก็แล้วแต่ ถือเป็นจินตนาการ
---------------------------------------
ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
ประวัติศาสตร์จารึกไว้
ความน่ากลัวเกิดขึ้นได้เสมอ
การฆ่าห้ำหั่นกันด้วยนามของเหตุผล
สงครามเล็กและใหญ่จึงเกิดขึ้นได้เสมอ
เพียงแค่สะดุดต้นหญ้าแห่งเขตแดน
ธงรบก็ถูกชักขึ้น
ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
ฉันอยากเขียนบทกวีไว้สักบท
แต่มันล้วนเป็นความรู้สึก
อาจเป็นเพียงบันทึกทางประวัติศาสตร์
ยุคที่มนุษยชาติมีอารยธรรมรุ่งเรือง
และพากันออกจากถ้ำมาสู่เมือง
แล้วอวดอ้างว่ามีวัฒนธรรม
มนุษย์เราอาจฆ่ากัน
ด้วยเหตุผลหลายหลายอย่าง
ซึ่งก็น่ากลัวมากพอแล้ว
แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า
คือการถูกทำให้เชื่อ
ว่าการฆ่านั้น
เป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรม
และก็ปล่อยให้ใครสักคนตัดสินใจ
ว่าใครที่ควรจะฆ่าและถูกฆ่า
ซะการีย์ยา อมตยา

...........................
 
 
คัดจากเว็บบล็อก http://www.oknation.net/blog/nity/2010/09/06/entry-1


ผู้ตั้งกระทู้ นายย้อนยุค :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-13 18:51:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2118961)

บทกวี ไม่มีหญิงสาวในบทกวี     ส่วนมากเป็นผลงานดัดแปลงมาจากบทกวีต่างประเทศ  แต่เป็นการดัดแปลงที่ผ่านการขัดเกลา  จึงมีกลิ่นอายของฉากในหลายประเทศ    ซึ่งผมอ่านแล้วไม่มีอะไรลึกซึ้งหรือมิติใหม่ๆๆ   อย่างที่พวกพ้องเขาพาเหรดกันออกมายกย่องสรรเสริญ

ผู้แสดงความคิดเห็น อ่าวไทย วันที่ตอบ 2010-10-14 08:11:16


ความคิดเห็นที่ 2 (2119192)

 

 

ลองเข้าไปดูอีกบทบาทหนึ่งของกวีซรต์คนใใหม่

ซะการ์รียา อมตยา กับการเป็นผีใน " ที่มีคนตาย"

http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=2784.msg16942#new

ผู้แสดงความคิดเห็น โอมาน วันที่ตอบ 2010-10-14 23:18:32


ความคิดเห็นที่ 3 (2119248)

อีกประเด็นที่น่าสนใจนำมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือ "ไม่มีกวีนิพนธ์ซีไรต์ในปีเสือ" บทวิจารณ์ของ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ในนิตยสาร สีสัน เล่มใหม่

ผู้แสดงความคิดเห็น See Light วันที่ตอบ 2010-10-15 08:59:50


ความคิดเห็นที่ 4 (2121873)

เราว่างานชิ้นนี้อารมณ์ไม่ถึง เพราะอ่านแล้วไม่อิ่ม แม้ความคิดจะดี แต่กลอนเปล่าถ้าหากปราศจากความงามของถ้อยคำ หรือสั่นไหวอารมณ์ผู้อ่านไม่ได้แล้ว มันเหมือนกองขยะความคิด อย่าไปเรียกว่ากวีไร้ฉันทลักษณ์เลย ยกย่องกันเกินไป กรรมการพิจาณาให้ซีไรท์ไปได้อย่างไร

น่าทบทวนนะ อันนี้ยังไม่นับรวมเรื่องการดัดแปลงบทกวีต่างด้าวมา เหมือนที่ท่านอื่นกล่าวหา ดังนั้นที่ว่าความคิดดี จะใช่ความคิดของผู้เขียนหรือไม่ ควรหยุดพิจารณาอย่างยิ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น อัสดง วันที่ตอบ 2010-10-23 13:02:17


ความคิดเห็นที่ 5 (2185649)

 อ่า ไม่รู้ว่าใครจะยังไงนะ แต่ในความคิด ถ้าการที่ได้ยินได้ฟังมา แล้วเราจำ คิดตามได้ คล้อยตาม มันก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดความคิด เกิดเเรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์งานได้ มันไม่ใช่เรื่องผิด เมื่อมันเกิดจากการเเลกเปลี่ยนความคิด ในขณะที่อีกฝ่ายคิดพูด เเต่ก็เขี่ยทิ้งไว้ตรงนั้น เเค่เขาจำได้ลางๆว่ามันเคยเป็นบทพูดปากเปล่าของเขา เเต่คนที่เห็นคุณค่าน่ะ มันคือเรา

 

ส่วนงานจะดีไม่ดีมันขึ้นกับมุมมอง บางคนอาจคิดได้ เเต่ทำไม่ได้ (ไม่เคยลงมือทำ) อันนี้ขอไม่ยกย่องเเล้วกัน มันอยู่ที่ไอเดีย คิดตามได้มองเห็นภาพ และซาบซึ้งกับงานที่ได้อ่านได้ฟัง แค่นั้นก็ถือว่าเป็นงานที่ดีเเล้ว แต่จะได้รางวัลอะไรด้วยนั้นไม่รู้นะ สรุปคือ มันอยู่ที่ต่อมรับความรู้สึกของเเต่ละคน ระบบความคิด และเเนวปฏิบัติที่เขายึดน่ะ(คิดเป็นขั้นตอนเกินไปรึป่าว) การยอมรับเเละเปิดใจกับงานใหม่ๆ อะไรเเนวใหม่ๆแบบไร้อคติ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนที่ไม่รู้อะไร วันที่ตอบ 2011-06-11 11:33:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.