ReadyPlanet.com


สื่ออักษรกลอน " กลบท "


    ( ตัวอย่าง กลอนกลบท )

นาคเกี่ยวกระหวัด

      ลายนาคเกี่ยวกระหวัดร่างช่างสวยสม       สมสวยด้วยช่วยนิยมชมชื่นหมาย

หมายชื่นชวนเชิงช่างเสริมสร้างลาย                ลายสร้างสรรค์นั้นละม้ายคล้ายเป็นจริง

จริงเป็นตัวตามตำนานท่านขานไข                  ไขขานคำจำไว้ให้ยอดยิ่ง

ยิ่งยอดศิลป์สืบสานการแอบอิง                       อิงแอบครูรู้ทุกสิ่งผลเพิ่มพูน

 

   ข้อสังเกต                 ชื่อสำนวนกลอน “ลายพญานาค”

  - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  ใช้การสลับกลับคำติดต่อไป  เริ่มจากสองพยางค์ (เสียงที่เปล่งออกไปครั้งหนึ่ง) สุดท้ายในวรรคที่ ๑ ไปสลับกับ

      สองพยางค์แรกของวรรคที่ ๒   สองพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ ๒ ไปสลับกับสองพยางค์แรกในวรรคที่ ๓ และ 

      สองพยางค์สุดท้ายในวรรคที่ ๓ ไปสลับกับสองพยางค์แรกในวรรคที่ ๔ เช่น  สวยสม-สมสวย,  ชื่นหมาย-หมาย

      ชื่น,   สร้างลาย-ลายสร้าง,   เป็นจริง-จริงเป็น,    ขานไข-ไขขาน,    ยอดยิ่ง-ยิ่งยอด,    แอบอิง-อิงแอบ   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น  สวยสม –นิยม, ขานไข-จำไว้   เป็นต้น 

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔ เช่น  สร้างลาย-ละม้าย,  แอบอิง-ทุกสิ่ง  เป็นต้น

 

นาคราชแผลงฤทธิ์

      นาคราชแผลงฤทธิ์ซ่อนพิษร้าย                 หมายมาเปรียบเทียบคล้ายคนสุขุม

มุมมองท่านฉลาดรอบคิดครอบคลุม               หนุ่มสาวควรเข้ากลุ่มวิชาการ

พาลชูหางอวดแสดงแมลงป่อง                                    จ้องลดเลี้ยวเที่ยวท่องทั่วถิ่นฐาน

รานรุกล้ำทำชั่วตัวเป็นมาร                              ด้านดื้อไปไม่สงสารคนสิ้นคิด

 

   ข้อสังเกต                 ชื่อสำนวนกลอน “สงบงามด้วยความรู้”

  - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

- พยางค์สุดท้ายของแต่ละวรรค ต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์แรกของวรรคต่อไป ติดต่อกันตลอดทั้งสำนวน  

   เช่น  พิษร้าย-หมาย,   สุขุม-มุม,    ครอบคลุม-หนุ่ม,    วิชาการ-พาล.   แมลงป่อง-จ้อง,   ถิ่นฐาน-ราน, 

   มาร-ด้าน   เป็นต้น

  -  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น  พิษร้าย-คล้าย,  แมลงป่อง-จ้อง  เป็นต้น     

- พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔  เช่น  ครอบคลุม-กลุ่ม,   มาร-สงสาร  เป็นต้น

 

      

 

     ( ตัวอย่าง กลอนกลบท )

บัวบานกลีบขยาย

      อย่าทำผิดรู้จักคิดใคร่ครวญก่อน               อย่าทำร้อนเที่ยวรุกล้ำคำหยาบหยาม

อย่าทำเลอะป้ายเปรอะไปประณาม                  อย่าทำตามคนคดต้องอดทน

อย่าทำชั่วต้องรักตัวตั้งจิตมั่น                          อย่าทำฝันดื้อดึงอยู่ดูสับสน

อย่าทำหยิ่งรู้ไม่จริงจะอับจน                           อย่าทำตนต่ำช้าน่าอับอาย

  

   ข้อสังเกต                 ชื่อสำนวนกลอน “อย่าต่ำตน”

  - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

  -  ใช้กลุ่มคำที่นำต้นวรรคทุกวรรคเหมือนกัน  เช่นใช้คำว่า  อย่าทำ  เป็นกลุ่มคำแรกของวรรคทั้งหมด  เป็นต้น

  -  ใช้พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่ห้าในวรรคที่ ๑ และวรรคที่ ๓  เป็นคำซ้ำ(คำเดิม) หรือใช้สัมผัสสระก็ได้   เช่น   

      ทำผิด-คิด,    ทำเลอะ-เปรอะ,    ทำชั่ว-ตัว,    ทำหยิ่ง-จริง  (อาจใช้ซ้ำ เช่น อย่าทำผิด-เผลอผิด ก็ใช้ได้)   เป็นต้น

  -  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๒  เช่น  ก่อน-ร้อน,  มั่น-ฝัน  เป็นต้น

  -  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๔ เช่น  ประณาม-ตาม,  อับจน-ทน  เป็นต้น

   

อักษรสลับล้วน

      กลการกลอน  ซ่อนซึ้งซ่าน  อ่านเอมอิ่ม    ยั่วยวนยิ้ม  พริ้มเพราะพริ้ง  สิ่งสร้างสรรค์

คุณค่าคง  จงจ้องจิต  พิศเพ่งพลัน                   ยังยืนยัน  มั่นมีหมาย  ได้ดวงดาว

บอกเบื้องบน  มนต์เมืองแมน  แสนสุขสม       เริงรื่นรมย์  ชมชื่นเช่น  เห็นห้วงหาว

ฝากฝั่งฝัน  วันวิวาห์  พาพริ้งพราว                  วับแวววาว  ดาวเด่นดู  คู่เคียงครอง

 

   ข้อสังเกต                  ชื่อสำนวนกลอน “เคียงคู่ดาว”

-  เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด  ทุกวรรค  วรรคหนึ่งมี ๓ ช่วง  จัดเป็นกลุ่มคำ กลุ่มคำช่วงหนึ่งมี ๓ พยางค์

-  แต่ละกลุ่มคำจะต้องใช้สัมผัสอักษรตัวเดียวกันทั้งหมด เช่น  กลการกลอน,    อ่านเอมอิ่ม,    ยั่วยวนยิ้ม,

   พริ้มเพราะพริ้ง,    สิ่งสร้างสรรค์,    คุณค่าคง,    จงจ้องจิต,    พิศเพ่งพลัน,    ยังยืนยัน,    มั่นมีหมาย,    เป็นต้น

-  พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแต่ละช่วงภายในวรรค จะต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์แรกของกลุ่มคำในวรรคต่อไป

   เช่น  กลอน-ซ่อน,   ซ่าน-อ่าน,   ยิ้ม-พริ้ม,   พริ้ง-สิ่ง,   คง-จง,   จิต-พิศ,    ยืนยัน-มั่น,  หมาย-ได้    เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๒ เช่น  เอมอิ่ม-ยิ้ม,   สุขสม-รื่นรมย์  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๔ เช่น  เพ่งพลัน-ยืนยัน,   พริ้งพราว-วาว  เป็นต้น

-  เป็นกลอน ๙ ที่มีความงาม ง่ายในเรื่องสื่อความ  การสัมผัสและระดับเสียงได้ดี น่าชมอย่างยิ่ง

  

 

    ( ตัวอย่างกลอนกลบท )

มยุราฟ้อนหาง

      ดูดูอยู่ได้รู้เห็นเป็นชิ้นชิ้น                           จ้องจ้องหมายพอได้กินลิ้นเร่าเร่า

ร้อนร้อนซ่อนอยู่ภายในให้เบาเบา                    ค่อยค่อยคนคลุกเคล้าเข้าไวไว

เย็นเย็นก่อนอย่าตะกละจะยิ้มยิ้ม                     สบายสบายได้อิ่มชิมใกล้ใกล้

แบ่งแบ่งกันกล้วยแขกแจกใครใคร                 มองมองดูรู้ใจเป็นคนคน

 

   ข้อสังเกต                  ชื่อสำนวนกลอน “ส่งกล้วยแขกแจกน้ำใจ”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  สองพยางค์แรกของทุกวรรคต้องใช้คำซ้ำ  เช่น   ดูดู,    จ้องจ้อง,   ร้อนร้อน,   ค่อยค่อย   เป็นต้น   

-  สองพยางค์สุดท้ายของทุกวรรค  ต้องใช้คำซ้ำ  เช่น  ชิ้นชิ้น,   เร่าเร่า,   เบาเบา,   ไวไว,  เป็นต้น    

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น  ชิ้นชิ้น-กิน,  ยิ้มยิ้ม-อิ่ม   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔ เช่น  เบาเบา-เคล้า, ใครใคร-ใจ  เป็นต้น

 

ยัติภังค์

      พระท่านสอนสอนอะไรไม่รู้เรื่อง               เรื่องความดีดีต่อเนื่องมองไม่เห็น

เห็นความชั่วชั่วว่าดีมีให้เป็น                           เป็นคนเมาเมาไม่เว้นเป็นประจำ

จำใส่ใจใจจะงามตามคำพระ                            พระให้ฝึกฝึกธรรมะละถลำ

ถลำตกตกอบายได้บาปกรรม                           กรรมที่ดีดีที่ทำนำสุขใจ

 

   ข้อสังเกต                  ชื่อสำนวนกลอน “บาปบังตา”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่สี่ ในแต่ละวรรคทุกวรรค ต้องใช้คำซ้ำ เช่น  สอนสอน,    ดีดี,    ชั่วชั่ว,   เมาเมา,  

   ใจใจ,    ฝึกฝึก,    ตกตก    เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ต้องใช้คำซ้ำคำกับพยางค์แรกในวรรคที่ ๒  เช่น  เรื่อง-เรื่อง,   พระ-พระ  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๒ ต้องใช้คำซ้ำกับพยางค์แรกในวรรคที่ ๓ เช่น  เห็น-เห็น,   ถลำ-ถลำ   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ต้องใช้คำซ้ำกับพยางค์แรกในวรรคที่ ๔ เช่น   เป็น-เป็น,  กรรม-กรรม   เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๔ ต้องใช้คำซ้ำกับพยางค์แรกในวรรคที่ ๑ ของบทต่อไป  เช่น   ประจำ-จำ   เป็นต้น     

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒  เช่น   รู้เรื่อง-เนื่อง,   พระ-ธรรมะ เป็นต้น  

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๔  เช่น   ให้เป็น-ไม่เว้น,   กรรม-ทำ  เป็นต้น

 

    (ตัวอย่างกลอนกลบท)

ละเวงวางกรวด

      คิดคำครู รู้กลอน สอนเสริมสร้าง               ท่านทำทาง ย่างก้าว เหล่าลูกหลาน

ดีเด่นเดิน ตามครู ชูเชิงชาญ                            ข้อไขขาน ท่านแสดง แจ่มแจ้งจริง

รักเรียนรู้ เรื่องใด ไม่เมินหมอง                        ควรครอบครอง คุณธรรม ย้ำยอดยิ่ง

ให้หาเห็น เป็นหลัก พึ่งพักพิง                 ส่งเสริมสิ่ง ศรัทธา คุณค่าคน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “คิดตามครู”

-  เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้

-  ช่วงหน้าของวรรคทุกวรรค ต้องใช้กลุ่มคำสัมผัสอักษรทั้งหมดสามพยางค์  เช่น    คิดคำครู,   ท่านทำทาง,   

   ดีเด่นเดิน,   ข้อไขขาน,   รักเรียนรู้,   ควรครอบครอง   เป็นต้น

-  ช่วงหลังของวรรคทุกวรรค ต้องใช้กลุ่มคำสัมผัสอักษรทั้งหมดสามพยางค์  เช่น  สอนเสริมสร้าง,  

    เหล่าลูกหลาน,   ชูเชิงชาญ,   แจ่มแจ้งจริง,    ไม่เมินหมอง,   ย้ำยอดยิ่ง  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรคที่ ๒  เช่น  สร้าง-ทาง,    หมอง-ครอง  เป็นต้น

-  พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรคที่ ๔  เช่น  ชาญ-ขาน,    พักพิง-สิ่ง  เป็นต้น    

กินนรรำ

      จะเที่ยวท่อง จะจ้องจิต จะคิดใคร่             จะแจ้งใจ จะใฝ่ฝัน จะสรรค์สร้าง

จะเรียนรู้ จะชูเชิด จะเทิดทาง                         จะเยี่ยมย่าง ไปกลางกลอน สุนทรทาน

จะฝึกฝน จะค้นคิด ไม่ปิดป้อง                                    เปิดแสงส่อง ให้จ้องใจ คำไขขาน

เรื่องกลกลอน สุดซ่อนซึ้ง คะนึงนาน               ช่วยสืบสาน ให้ผ่านผัน ทุกวันเวียน

 

ข้อสังเกต                     ชื่อสำนวนกลอน “สืบสานการกลอน”

-  เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค

-  แต่ละวรรคแบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงละ ๓ พยางค์ เป็นกลุ่มคำ  ทุกกลุ่มคำต้องใช้สัมผัสอักษรสองพยางค์กำหนด

   ให้อยู่ด้านท้ายของกลุ่มคำนั้น  เช่น  เที่ยวท่อง,   จ้องจิต,   คิดใคร่,   แจ้งใจ,   ใฝ่ฝัน,   สรรค์สร้าง,  เป็นต้น

-  พยางค์สุดท้ายของช่วงต้นในวรรค ต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สองของช่วงกลางในวรรคนั้น  เช่น  ท่อง-จ้อง, 

   ใจ-ใฝ่,   รู้-ชู,   ย่าง-กลาง,   ฝน-ค้น,   ส่อง-จ้อง,   กลอน-ซ่อน,   สืบสาน-ผ่าน  เป็นต้น blockquote{ border:1px solid #d3d3d3; padding: 5px; }
[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1912401)
๕ (ตัวอย่างกลอนกลบท ) เจ้าเซ็นเต้นต้ำบุด หรีดหริ่ง กริ่งร้อง ครองคืนค่ำ ฟ้าฉ่ำ เดือนฉาย สายน้ำสอง รวมกัน พลันกว้าง ทางสีทอง โสมส่อง ผ่องสม ชมชื่นชวน เดือนหงาย หมายงาม ตามใจต่อ เฝ้ารอ ขอรัก หักใจหวน ไม่มา พาหม่น ทนคร่ำครวญ รัญจวน ชวนใจ ไปหมายปอง ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “สายน้ำสีทอง” - เป็นกลอน ๗ ทั้งหมด ทุกวรรค - การแบ่งพยางค์ในวรรค ช่วงแรกมีสองพยางค์ ช่วงกลางมีสองพยางค์ ช่วงหลังมีสามพยางค์ - พยางค์ที่สองในวรรคต้องไปสัมผัสอักษรกับพยางค์ที่สี่ในวรรคนั้น เช่น หริ่ง-ร้อง, ฉ่ำ-ฉาย เป็นต้น - พยางค์ที่สี่ในวรรคต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าของวรรคนั้น เช่น ร้อง-ครอง, ฉาย-สาย เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สองในวรรค ๒ เช่น ค่ำ-ฉ่ำ, ต่อ-รอ เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สองในวรรค ๔ เช่น ทอง-ส่อง, ครวญ-รัญจวน เป็นต้น นารายณ์ประลองศิลป์ อย่าเบ่งเก่ง อย่าบ้ากล้า อย่าเบือนกล่าว มีข่าวคราว มาขานค้าน ไม่ขัดข้อง คิดเห็นเป็น ค้นหาป่า คืนให้ปอง เหมือนมองทอง เมื่อมีที่ มากมีทาง ตั้งจิตคิด ต้องจำคำ ตามใจเคร่ง เมื่อเพ่งเล็ง มีพร้อมล้อม ไม่พลาดล่าง ป่าเราเก่า ป้องรู้กู้ เป็นแหล่งกลาง โครงสร้างวาง คอยใส่ไว้ คงสืบวัน ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “คืนป่าให้ชุมชน” - เป็นกลอน ๙ ทั้งหมด ทุกวรรค แบ่งเป็นสามช่วง ช่วงละสามพยางค์ - พยางค์แรกในวรรคช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงท้ายในวรรค ใช้คำเดิม หรือสัมผัสสระ เช่น อย่า-อย่า-อย่า, มี-มา-ไม่, คิด-ค้น-คืน, เหมือน-เมื่อ-มาก, ตั้ง-ต้อง-ตาม, เมื่อ-มี-ไม่, ป่า-ป้อง-เป็น, โครง-คอย-คง เป็นต้น - พยางค์ที่สองในวรรค ช่วงแรก ใช้สัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค เช่น เบ่ง-เก่ง, ข่าว-คราว, เป็นต้น - พยางค์ที่ห้าในวรรคช่วงกลาง ใช้สัมผัสสระกับพยางค์ที่หกในวรรค เช่น บ้า-กล้า, ขาน-ค้าน, เป็นต้น - พยางค์ที่สอง ที่ห้า และที่แปด ใช้สัมผัสอักษร เช่น เบ่ง-บ้า-เบือน, ข่าว-ขาน-ขัด, เห็น-หา-ให้ เป็นต้น - พยางค์ที่สาม ที่หก และที่เก้า ใช้สัมผัสอักษร เช่น เก่ง-กล้า-กล่าว, คราว-ค้าน-ข้อง, เป็น-ป่า-ปอง, เป็นต้น - พยางค์ท้ายในวรรค ๑-๒ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามในวรรค ๓-๔ เช่น กล่าว-คราว, ปอง-ทอง เป็นต้น ข้อคิดเห็น – ควรปรับการใช้สัมผัสสระในช่วงแรกและช่วงกลางของวรรค เช่น เบ่ง-เก่ง, บ้า-กล้า เป็นสัมผัสอักษรได้ เพื่อลดความยากในการแต่ง พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อปรับเป็นสัมผัสอักษรแล้ว จะไม่ทำให้ระดับเสียงขาดความไพเราะไปกว่าเดิมเท่าใดนัก ๖ ( ตัวอย่างกลอนกลบท ) พระจันทร์ทรงกรด ไหว้พระดี ดีย่อมได้ เมื่อไหว้พระ มั่นหมายบุญ บุญไม่ละ จะมั่นหมาย ผ่อนคลายเครียด เครียดร้อน ให้ผ่อนคลาย ดับทุกข์ลับ ลับหาย ได้ดับทุกข์ กุศลสร้าง สร้างเถิด เกิดกุศล เป็นสุขมาก มากล้น ผลเป็นสุข เคล้าคลุกกรรม กรรมชั่วดี มีเคล้าคลุก พากเพียรชอบ ชอบปลุก สุขพากเพียร ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “สร้างกุศลผลเป็นสุข” - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้ - สองพยางค์แรก ต้องเหมือนสองพยางค์สุดท้ายของวรรคนั้น เช่น ไหว้พระ-ไหว้พระ, มั่นหมาย-มั่นหมาย, ผ่อนคลาย-ผ่อนคลาย, ดับทุกข์-ดับทุกข์ เป็นต้น - พยางค์ที่สามกับพยางค์ที่สี่ ต้องใช้คำซ้ำ เช่น ดีดี, บุญ-บุญ, เครียดเครียด, ลับ-ลับ, สร้างสร้าง เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๒ เช่น พระ-ละ, กุศล,-มากล้น เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่ห้าหรือหกของวรรค ๔ เช่น คลาย-หาย, คลุก-ปลุก เป็นต้น อักษรสังวาส ร่ำคำนึงถึงกามความใฝ่ใคร่ ยังฝังใจให้เพ้อพะวงหลง ดูรู้จักเพียงพอก็จงปลง ไม่ใหลหลงถ้าสงสัยให้ลองตรอง กามความใคร่มีให้ควรชวนชื่นมื่น พอต่อตื่นชื่นใจไม่ต้องหมอง ร่านพล่านไปไฟจะลนคนจ้องมอง มั่นครรลองจะครองสุขทุกข์หายคลาย ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “เพลงกาม” - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้ - สองพยางค์หน้าของทุกวรรค ใช้สัมผัสสระ เช่น ร่ำคำ, ยังฝัง, ดูรู้, ไม่ไหล, กามความ, พอต่อ เป็นต้น - สองพยางค์ท้ายของวรรคทุกวรรค ใช้สัมผัสสระ เช่น ใฝ่ใคร่, วงหลง, จงปลง, ลองตรอง, ชื่นมื่น, ต้อง-หมอง, จ้อง-มอง, หาย-คลาย, เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒ เช่น ใคร่-ใจ, ชื่นมื่น-ชื่น เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔ เช่น ปลง-หลง, มอง-ครรลอง เป็นต้น ๗ (ตัวอย่างกลอนกลบท ) ธงนำริ้ว เรื่อยเรื่อย ล่องลำน้ำยามเย็นย่ำ รินริน ฉ่ำสายชลล้นหลากไหล แว่วแว่ว เสียงนกกาพาเพลินใจ ร่ำร่ำ ไรรอนแรงแสงสุรีย์ พรูพรู ลมพัดชื่นแพรคลื่นพลิ้ว พรายพราย ริ้วแลระยับจับแสงสี ฝันฝัน ฝากจากใจให้คนดี วันวัน นี้มีเวลามองฟ้างาม ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “สายชล-สนธยา” - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้ - สองพยางค์แรกของทุกวรรค ต้องใช้คำซ้ำตลอดทุกวรรค เช่น เรื่อยเรื่อย, รินริน, แว่วแว่ว, ร่ำร่ำ, พรูพรู, พรายพราย, ฝันฝัน, วันวัน, เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒ เช่น เย็นย่ำ-ฉ่ำ, พลิ้ว-ริ้ว เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔ เช่น เพลินใจ-ร่ำไร, คนดี-วันนี้ เป็นต้น วิสูตรสองไข เฉลิมฉลอง ครองสุข สนุกสนาน สมัครสมาน มวลมิตร สนิทสนม อย่าบ่นอย่าว่า ด่าใคร ไม่ชื่นไม่ชม พอเหมาะพอสม สิ่งหมาย ได้หน้าได้ตา อะลุ่มอล่วย ช่วยกัน ให้มั่นให้เหมาะ พินิจพิเคราะห์ ความดี มีคุณมีค่า จะติดจะตรึง ซึ้งใจ ไม่สร่างไม่ซา จะเพลินจะพา พ้องเพื่อน มาเยือนมายล ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “สมานฉันท์” - เป็นกลอนกลบทที่มีจำนวนพยางค์มากที่สุดถึง ๑๐ พยางค์ (อนุโลมให้เป็นกลอนแปดมาตรฐานได้) - สี่พยางค์แรกและสี่พยางค์หลังในวรรค จัดเป็นกลุ่มคำ ใช้คำควบกล้ำ หรือคำสี่พยางค์ที่มีคำซ้ำเป็นแกนหลัก เช่น เฉลิมฉลอง, สนุกสนาน, สมัครสมาน, สนิทสนม, อย่าบ่นอย่าว่า, ไม่ชื่นไม่ชม, พอเหมาะพอสม, ได้หน้าได้ตา, อะลุ่มอล่วย, ให้มั่นให้เหมาะ, พินิจพิเคราะห์ มีคุณมีค่า เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ของวรรค ๒ เช่น สนาน-สมาน, ให้เหมาะ-พิเคราะห์ เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ของวรรค ๔ เช่น ไม่ชม-พอสม, ไม่ซา-จะพา เป็นต้น ๘ ( ตัวอย่างกลอนกลบท) เสือซ่อนเล็บ ดอกไม้บาน หวานจิต พิสมัย เย้ายวนใจ ให้หา มาสุขสม ดอกไม้อยู่ คู่ภมร ร่อนเริงรมย์ ได้ดอมดม ชมไป ไม่เคลื่อนคลาย คราวหมดดอก ออกเห็น เป็นลูกผล แต่งเต็มต้น ล้นหลาม ตามมุ่งหมาย พันธุ์ไพรพง คงไว้ ไม่กลับกลาย เมื่อดอกไม้ ร่ายมนต์ ดลใจปอง ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “มนตร์ดอกไม้” - เป็นกลอน ๘ หรือกลอน ๙ ได้ - การแบ่งช่วงในวรรค ช่วงแรกสามพยางค์ ช่วงกลางนิยมสองพยางค์ ช่วงท้ายสามพยางค์ - พยางค์ท้ายช่วงแรกไปสัมผัสสระกับพยางค์แรกของช่วงต่อไป เช่น บาน-หวาน, จิต-พิศ, ใจ-ให้, เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๒ เช่น พิสมัย-ใจ, ผล-ต้น เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สามของวรรค ๔ เช่น รมย์-ดม, กลาย-ดอกไม้ เป็นต้น ข้อคิดเห็น - กลอนกลบทนี้ เป็นกลอนแปดที่สมบูรณ์งามพร้อม สัมผัสตรงตัว ไม่อนุโลมให้มีการใช้ตำแหน่งสัมผัสสระแทน นาคบริพันธ์ เรื่องเล่าบอกออกพรรษาน่าฉงน ถึงวันดีมีคนค้นคำไข พญานาคมากหลายได้บั้งไฟ จุดพลุส่งตรงขึ้นไปจากบาดาล บูชาองค์ทรงพิสุทธิ์พระพุทธเจ้า จากแม่โขงโยงยาวกล่าวสืบสาน ในหนึ่งปีมีหนึ่งวันท่านยืนกราน เรื่องที่เห็นเป็นตำนานผ่านเวลา ข้อสังเกต ชื่อสำนวนกลอน “บั้งไฟพญานาค” - เป็นกลอน ๘ หรือ กลอน ๙ ได้ - พยางค์ที่สามในวรรคต้องไปสัมผัสสระกับพยางค์ที่สี่ในวรรคนั้น เช่น บอกออก, ดี-มี, นาค-มาก, ส่ง-ตรง, องค์-ทรง, โยง-โขง, ปี-มี, เห็น-เป็น เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๑ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒ เช่น ฉงน-คน, พระพุทธเจ้า-ยาว เป็นต้น - พยางค์ท้ายวรรค ๓ ไปสัมผัสสระพยางค์ที่ห้าหรือหกในวรรค ๒ เช่น บั้งไฟ-ไป, ยืนกราน-ตำนาน เป็นต้น
ผู้แสดงความคิดเห็น สุดาวดีศรีสุนทรอักษรศิลป์ วันที่ตอบ 2009-03-11 05:36:47


ความคิดเห็นที่ 2 (4421009)

 กลบทยัติภังค์คำสุดท้ายของวรรคไม่ได้ซ้ำกับคำขึ้นต้นของวรรคต่อไปนะครับแต่มันแบ่งคำออกจากกันต่างหากเช่น...

 
คน ดีไหนไหนเลยจะเอ่ย สุน-  
ทร นินทาทารุณขุ่นจิต หมอง-
หม่น ก่นกล่าวกล่าวหวนทบทวน ตรอง-
ตรึก สอดส่องส่องตัวชั่วหรือ เลอ-
เลิศ กว่าใครใครเขาเอาแต่ อิจ-
ฉา อย่าบิดบิดเบือนเหมือนคน เย่อ-
หยิ่ง ลำพองพองขนพล่ามพ่น เปรอ-
ปรน หลงเพ้อเพ้อปองสนอง กาม-
คุณ ควรมองมองตัวตนจน ชัด-
เจน รู้จัดจัดการความอยาก ถาม-
ไถ่ ฝักใฝ่ใฝ่เฝ้าเรื่องเขา ตาม-
ติด ด่าหยามหยามว่านินทา คน.....
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น ปราป วันที่ตอบ 2021-04-04 05:18:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.