ReadyPlanet.com


ความเปลี่ยนแปลง


การเมืองและสังคมไทยร่วมสมัย
ความเสี่ยงของตุลาการภิวัตน์ และย้อนรอยปฏิญญาฟินแลนด์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 950
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙

 

 

เรื่องที่ 3. "ย้อนรอยปฏิญญาฟินแลนด์"
ผมไม่ทราบหรอกครับว่า "ปฏิญญาฟินแลนด์" ที่ร่ำลืออื้อฉาวกันอยู่ตอนนี้มีจริงหรือไม่? แต่ถ้าข้อ 4 ของมันที่ว่ากันว่า "ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ให้มากที่สุด.." เป็นตัวการทำให้ผู้คนวิตกวิจารณ์ที่สุดเกี่ยวกับ "อุดมการณ์การเมืองใหม่" จนถึงแก่ต้องลุกขึ้นประกาศ "ปฏิญญาธรรมศาสตร์" ออกมาทัดทานทวนกระแสกลางหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว

ในฐานะครูสอนวิชาการเมืองการปกครองของไทยที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาหลายปี ผมก็ใคร่ขอเรียนว่าความมุ่งหมายทำนองนี้ไม่ใช่อะไรที่ "คิดใหม่ ทำใหม่" ในการเมืองไทย หากเคยมีผู้พยายามทำมานานแล้ว ย้อนรอยกลับไปได้ถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยซ้ำไป! และผู้รู้การเมืองไทยสำคัญ 2 ท่านซึ่งบันทึกเรื่องนี้ไว้ตรงกันโดยไม่ได้รู้จักนัดหมายกันมาก่อนก็ได้แก่:-

1) รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
2) ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ครูสอนรัฐศาสตร์ของผมที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลสหรัฐอเมริกา

ในบทความเรื่อง "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" (ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อมธ. ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2516) ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่นาน ตามคำขอของคณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำปี 2516 นั้น มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงสถาบันประมุขรัฐกับระบอบเผด็จการของประเทศต่างๆ ในอดีตว่า:-

"5.9 ประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ปัจจุบันของหลายประเทศ ที่สถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือนเป็นรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ให้ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้านั้น ก็เพื่อบุคคลอื่นมีอำนาจเผด็จการ

ก. เมื่อศตวรรษที่ 11 ในประเทศญี่ปุ่นได้มีผู้แสดงว่าเคารพพระจักรพรรดิเป็นที่ยิ่งแล้ว จึงเทิดทูนพระองค์ท่านเสมือนเทพารักษ์สืบสายจากเทพเจ้าดวงอาทิตย์ ให้พระองค์หมดพระราชอำนาจและภารกิจแผ่นดิน โดยทรงบำเพ็ญกรณีในพิธีศาสนา และประทับพระราชลัญจกรตามที่ผู้เผด็จการระบบ "โชกุน" ต้องการเท่านั้น"
(อ้างจาก ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, น. 444)

สี่ปีให้หลังในบทความวิชาการภาษาอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อว่าวิเคราะห์การเมืองไทยจาก 14 ถึง 6 ตุลาฯ ได้ดีที่สุดเรื่อง "บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" ("Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup," Bulletin of Concerned Asian Scholars, 9: 3 (July-September 1977), 13-30.) ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ได้ใช้คำว่า palladium และ shogunal ("รูปเทพารักษ์" กับ "โชกุน") มาบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันประมุขรัฐ กับระบอบเผด็จการทหารของไทยเช่นกัน

อนึ่ง คำว่า palladium นี้ควรแปลว่า "รูปเทพารักษ์" -อันเป็นคำเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีใช้ข้างต้น-จะถูกต้องแม่นยำกว่า "เทวาลัย" ดังที่เคยแปลกัน เพราะมีความหมายภาษาอังกฤษ "a safeguard or source of protection" จากรากศัพท์กรีกแต่เดิมที่มีความหมายว่า "a protecting deity" (The Concise Oxford Dictionary, 9the edition, 1995, p. 984)

ข้อความที่ครูเบ็นเขียนไว้มีดังนี้:-
"ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปลายพุทธทศวรรษ 2470 กับต้นพุทธทศวรรษ 2480 จอมพลผู้เผด็จการต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตัว ด้วยการโฆษณาปลุกระดมลัทธิชาตินิยม เขาสามารถทำให้ระบบราชการ ที่สำคัญคือกองทัพซึ่งเป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของเขา ปรากฏออกมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติให้กับส่วนรวม ตอนนี้จะเห็นภาพที่กระจ่างชัดกว่าที่ผ่านมา นั่นคือชาติกับพระมหากษัตริย์กลายเป็นสองความคิด ที่แยกออกจากกันได้ในทางภูมิปัญญา โดยที่รัฐ (ที่สำคัญก็คือกองทัพ) เป็นตัวแทนของชาติ และในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้พิทักษ์พระมหากษัตริย์ พัฒนาการนี้ที่สำคัญคือช่วยทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นรูปเทพารักษ์อันมีค่ายิ่งของชาติไป"

"คนที่ช่วยนำเอาศักยภาพแบบ "โชกุน" ของลัทธิทหารยุคแรกของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกมา และจากนั้นก็เปลี่ยนบรรยากาศทั้งหมดของการเมืองไทยไปอย่างมีนัยสำคัญได้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์"
(ดัดแปลงจากคำแปลใน จาก 14 ถึง 6 ตุลา, น. 126 - 27)

อุปมาอุปไมย "รูปเทพารักษ์" กับ "โชกุน" ดังกล่าวมานี้ทำให้ระลึกถึงความเปรียบที่ฟังดูคล้องคล้ายกันในกาพย์กลอนชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ของนายผี (อัศนี พลจันทร) เรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" (2495) ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง พลังการเมืองฝ่ายต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไว้อย่างคลุมเครือมีเงื่อนงำชวนพิศวงว่า:-

"เสียงไพร่กระฎุมพี คือจิงหรีดที่ในรู
ใช่เสียงที่เหล่าสู จะสนใจให้ป่วยการ
บัดพวกกระฎุมพี ก็บ่อาจจะทนทาน
จึงผลุนขึ้นเผาผลาญ ทุรภาพเป็นผุยผง
คือสี่ทหารเสือ ที่อุกอาจทะนงองค์
ผลุนปรี่เข้าไปปลง เอาทรากศพที่แสนโทรม
พวกทาสกสิกร ก็เป็นกลางบ่รุกโรม
จึงศักดินาโทม มะนัสท้อฤทัยไท
ขอเอาอังคารมา แลบูชาด้วยอาลัย
สร้างศาลขึ้นสมใจ แลจะปองเป็นปรนผี
แล้วสี่ทหารเสือ เอาเจว็ดมาทันที
ไว้ศาลให้สมศรี ก็สำหรับจะเป็นกล
สมยอมแลขัดแย้ง อุตส่าห์แสร้งด้วยจำจน
จงล่วงจะลวงคน ให้กลัวเกรงอยู่ชั่วกาล
ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ
ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง"

ฝ่ายที่ปลุกผีฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายที่ขนาบศาลอีกฝ่ายหนึ่ง ของนายผีหมายถึงใครเมื่อปี 2475?
และสองฝ่ายนั้นน่าจะอุปมาอุปไมยถึงใครได้ในวาระกำลังจะบรรจบครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในปีปัจจุบัน?

ที่มา http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999980.html



ผู้ตั้งกระทู้ กวินทรากร :: วันที่ลงประกาศ 2007-10-29 14:06:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (938065)

ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ
ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง"

นายผีใช้ชอบสัญลักษณ์ อ่านแล้วก็งง ข้าพเจ้าเพิ่งอ่านเจอ บทความของ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ  จึง ถอดสัญลักษณ์ ได้บางส่วน  ความว่า

ผี คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่โดนระบบประชาธิปไตย ฆ่า จนกลายเป็นผี

ฝ่ายที่จะปลุกผี ให้มีชีวิต ก็คือ พวกอนุรักษณ์นิยม ที่ยังคงเห็นว่าระบอบประชาธิปไตย ยังไม่เหมาะสมกับสังคมไทย และพยามจะก่อการชิงอำนาจคืนจากคณะราษฎร์ ยกตัวอย่างเช่น  
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช แต่กระทำการ ไม่สำเร็จ จึงกลายเป็นกบถ เรียกสั้นๆ ว่า กบถบวรเดช

ส่วนฝ่ายคณะราษฎร์ นั้นไม่นิยมปลุกผี (ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ตายแล้ว) แต่นิยมสร้างศาลเพียงตา ให้ประชาชนกราบไหว้  ดังที่ นายผี แต่งกาพย์ใส่สัญลักษณ์ ไว้ความว่า

 

ขอเอาอังคารมา แลบูชาด้วยอาลัย
สร้างศาลขึ้นสมใจ แลจะปองเป็นปรนผี
แล้วสี่ทหารเสือ เอาเจว็ดมาทันที
ไว้ศาลให้สมศรี ก็สำหรับจะเป็นกล

เจว็ด [จะเหฺว็ด] น. แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา เขียนหรือแกะเป็นรูปเทพารักษ์
ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือ
พระขรรค์, โดยปริยายหมายความว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นประธาน
หรือเป็นใหญ่ แต่ไม่มีอำนาจ เช่น ตั้งเป็นเจว็ดขึ้นไว้, ใช้ว่า ตระเว็ด หรือ
เตว็ด ก็มี.

ผู้แสดงความคิดเห็น กวินทรากร วันที่ตอบ 2007-10-29 15:15:56


ความคิดเห็นที่ 2 (938066)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tao
ผู้แสดงความคิดเห็น กวิน วันที่ตอบ 2007-10-29 16:00:07


ความคิดเห็นที่ 3 (2107503)

replica louis vuitton men replica louis vuitton Hermes Birkin ordinary working louis vuitton The roomy main pocket cell phone replica louis vuitton louis vuitton men.

ผู้แสดงความคิดเห็น deville (mary-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-11 10:56:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.