ReadyPlanet.com


เพลงดนตรี ของเจ้าฟ้านริศฯ





เพลงดนตรี ของเจ้าฟ้านริศฯ


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



ลายพระหัตถ์พระนิพนธ์เกี่ยวกับเพลงดนตรีของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และที่ประทานพระยาอนุมานราชธน ล้วนมีคุณค่ามหาศาลหาที่เปรียบมิได้

แต่สถาบันระดับมหาวิทยาลัยใช้ตราพระพิฆเนศอย่างน้อย 2 แห่ง ไม่ใส่ใจจัดพิมพ์เป็นเล่มแบ่งปันเผยแพร่ให้เป็นที่ยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศ ผู้บริหารสถาบันแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วังเจ้าฟ้านริศเสียด้วย แต่เมินเฉยเรื่องนี้ตลอดหลายปีที่เคยมีผู้บอกให้รู้ว่าควรมีสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยทำเรื่องนี้

สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศ ทรงได้รับยกย่องจากสังคมสยามเป็น "สมเด็จครู" และ "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" ด้วยไม่ต้องการใช้คำว่าศิลปิน หรือ artist ซึ่งเท่ากับไม่สมพระเกียรติยศ

"นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" ต้องรวมถึงนายช่างผู้ประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนโวหารทางการแต่งหนังสืออย่างสร้างสรรค์ด้วย เพราะ "สมเด็จครู" ทรงมีเสรีศาสตร์ หรือ Liberal Arts สร้างสำนวนโวหาร สั้น ห้วน กะทัดรัด ได้ใจความตรงไปตรงมาอย่างนุ่มนวลแยบยล ไม่โผงผางหรือทุบโต๊ะ

(ซ้าย) ปกหนังสือเพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล บรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ขวา) ปกหนังสือเพลงดนตรี : จากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงพระยาอนุมานราชธน ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล บรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล


"สมเด็จครู" ทรงศึกษาสรรพเสรีศาสตร์ จากการสั่งสมด้วยประสบการณ์ตรงของพระองค์เอง จึงทรงแหวกจารีต แหวกขนบโบราณหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่มีพระนิพนธ์ยกธรรมชาติใส่เข้าไปในเพลงดนตรี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เช่น เพลงเขมรไทรโยค, เพลงแม่ศรีทรงเครื่อง, เพลงแม่งู ฯลฯ รวมถึงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์กับละครดึกดำบรรพ์

ด้วยเหตุดังกล่าว หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ (พระธิดา) ทรงเล่าว่า พวกยึดถือจารีตขนบธรรมเนียมแบบแผนเก่าอย่างเคร่งครัด ถึงพากันตำหนิติเตียน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่าทรง "นอกครู" แล้วเป็นผู้ "ทำลายแบบแผนศิลปะและดนตรี รวมทั้งวรรณคดีของไทย"

ประเด็นนี้ "สมเด็จครู" ได้ตรัสว่า "ถ้าทำสิ่งใดโดยยึดหลักที่ครูสอนไว้ถ่ายเดียว ไม่คิดผันแปรให้ดีขึ้น นับวันวิชานั้นก็จะเรียวลงตามลำดับ หากคิดผันแปรแก้ไขโดยถูกหลักวิธี ก็มีแต่จะทำให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ศึกษาให้รู้จริงเสียก่อนแล้วไปคิดอ่านดัดแปลงแก้ไขโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็มีแต่จะให้สิ่งนั้นฉิบหายไปเสีย"

"สมเด็จครู" มิได้ทรงกล่าวโทษคนสมัยใหม่ที่ไม่ชอบของเก่าๆ เช่น เพลงดนตรีและละครของไทยๆ แต่ทรงเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสากลโลก ความนิยมชมชอบของคนก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลสมัย จึงตรัส "เราจะดึงความนิยมของคนสมัยใหม่ไปหาของเก่าๆ นั้นยาก จำจะต้องดึงของเก่าที่ยังดีมีคุณค่าลงมาหาคนสมัยใหม่ในโอกาสอันควร"

วิธีดึงของเก่าที่ยังดีมีคุณค่าลงมาหาคนสมัยใหม่ "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" ทำไว้มาก เช่น ละครดึกดำบรรพ์ ฯลฯ แต่มิได้ทรงพอพระทัยให้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องเคลื่อนไหว ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ทันความก้าวหน้าทางความคิด และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึง "ทรงบ่นในเมื่อได้ทอดพระเนตรละครดึกดำบรรพ์ที่ผู้อื่นนำมาเล่นในยุคหลัง ว่าคิดได้ตั้งสามสิบสี่ปีที่แล้ว เยิ่นเย้อล้าสมัย ไม่น่าเอามาเล่น"

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่รู้ทั่วกันว่าเน้นการเรียนการสอนและยกย่องเทิดทูนดนตรีฝรั่ง แม้มีดนตรีไทยด้วยก็ให้ความสำคัญแค่ไม้ประดับ แต่ยังดีที่รู้จักเคารพยกย่องลายพระหัตถ์พระนิพนธ์เพลงดนตรีของ "สมเด็จครู" จึงพิมพ์ออกมาเผยแพร่ 2 เล่มพร้อมกัน เสมือน "ไหว้ครู" จึงขอขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งไว้ตรงนี้

ตรงข้ามผู้บริหารสถาบันระดับมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ชอบยกตนข่มท่านว่าเชี่ยวชาญดนตรีไทยโขนละคร แล้วอวดความเป็นไทยเหนือคนอื่นๆ ในสยามประเทศไทย แต่ไม่เอาใจใส่งานวิชาการสำคัญอย่างนี้เลย ทุเรศจริงๆ พับผ่าเถอะ

มีเรื่องดนตรีและนาฏศิลป์อยู่ใน www.sujitwongthes.com

หน้า 21 วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11436 มติชนรายวัน



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้สื่อข่าวบ้านไพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-04 14:07:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958833)

สนใจจะซื้อหนังสือทั้ง 2 เล่มได้ที่ไหนครับ ขอรายละเอียดด้วย ขอบพระคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สนใจใฝ่รู้ วันที่ตอบ 2009-07-05 13:53:58


ความคิดเห็นที่ 2 (2211052)

ดีมากครับผ

ผู้แสดงความคิดเห็น อัครวุฒิ วันที่ตอบ 2011-08-30 20:10:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.