ReadyPlanet.com


ความดี – ความงาม – ความจริง Waldorf กับการพัฒนาให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรม


  




ศัลยกรรมเกาหลี ร้อยไหม ดึงหน้า ฉีดโบท็อกซ์ รอบเอว 360 องศา และอื่นๆ อีกมากมาย เข้าถึงง่าย ไม่ต้องบินไกลถึงเกาหลี ที่ K Beauty Hospital


การศึกษาแนว Waldorf เป็นปรัชญาการศึกษาของ Rudolf Steiner นักปรัชญาชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1861 โดยชื่อ Waldorf มาจากชื่อโรงงานยาสูบ Waldorf Astoria ซึ่งเป็นสถานที่ก่อตั้งโรงเรียนแนว Waldorf แห่งแรกของโลก

Waldorf School แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อชาวเยอรมันพยายามแสวงหาวิธีเปลี่ยนแปลงสังคมที่โหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติให้สิ้นไป Emil Molt เจ้าของโรงงานยาสูบ Waldorf Astoria แห่งเมือง Stuttgart เป็นนักอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางของสังคม

ในปี ค.ศ. 1919 เขาได้เชิญ Rudolf Steiner ไปบรรยายให้คนงานฟัง หลังจากปาฐกถาในวันนั้น Emil Molt ได้รับคำชื่นชมจากลูกจ้างโรงงานยาสูบ เขาจึงขอให้ Rudolf Steiner เปิดโรงเรียนตามปรัชญาของเขาให้แก่บุตรหลานของคนงาน รวมทั้งเปิดหลักสูตรสำหรับการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย

โรงงานยาสูบ Waldorf Astoria จึงได้ชื่อว่า เป็นสถานที่ก่อตั้งโรงเรียนแนว Waldorf แห่งแรกของโลก

Rudolf Steiner กำหนด “ความรู้สึก 11 ประการ” แยกตามช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ เอาไว้ดังนี้

สำหรับช่วงวัยแรกเกิดถึงเด็ก 7 ขวบ ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก 4 ด้าน จะช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกที่สัมผัสกับโลกที่เป็นจริงรอบตัวอย่างมั่นใจและเป็นสุข นำไปสู่การพัฒนาความมุ่งมั่นตั้งใจ (Wiling) ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของประถมวัย

ความรู้สึก 4 ด้าน ดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1. ความรู้สึกจากการสัมผัส (Sense of Touch) จะทำให้เด็กไม่ขลาดกลัว

2. ความรู้สึกแห่งชีวิต (Sense of Life) จะทำให้เด็กรู้จักกับความสุข และความแจ่มใส

3. ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหว (Sense of Movement) จะทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระ

4. ความรู้สึกสมดุลของร่างกาย (Sense of Balance) จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสงบภายใน

ความรู้สึกที่ 5-8 จะช่วยให้เด็กวัย 7-14 ปี ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก อันนำไปสู่พัฒนาการด้านความรู้สึก (Feeling) ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของเด็กก่อนวัยรุ่น อันประกอบไปด้วย

5. ความรู้สึกจากการได้กลิ่น (Sense of Smell)

6. ความรู้สึกจากการลิ้มรส (Sense of Taste)

7. ความรู้สึกจากการเห็น (Sense of Sight)

8. ความรู้สึกถึงอุณหภูมิ (Sense of Temperature)

ความรู้สึกที่ 9-11 จะช่วยให้หนุ่มสาวตอนต้น ช่วงอายุ 14-21 ปี รู้สึกถึงความรับผิดชอบ อันนำไปสู่การพัฒนาความคิด (Thinking) ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของวัย อันประกอบไปด้วย

9. ความรู้สึกจากการได้ยิน (Sense of Hearing)

10. การรู้สึกถึงความหมายของถ้อยคำ (Sense of Words)

11. การรู้สึกถึงความคิด (Sense of Thought)

ดังที่ได้กล่าวไปในข้อเขียนตอนที่แล้ว (Waldorf การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์) ว่า การศึกษานั้น “ต้องพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์” ด้วยการพัฒนาให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรม

โดยพัฒนาไปจาก “ความดี” “ความงาม” และ “ความจริง”

ดังนั้น แนวคิดของ Rudolf Steiner จึงกำหนดให้เด็กวัยแรกเกิดถึงเด็ก 7 ขวบ เรียนรู้ด้วยการกระทำ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กมุ่งมั่นตั้งใจกับการกระทำความดี

ส่วนเด็กวัย 7-14 ปี Rudolf Steiner ชี้ว่า จะต้องจัดการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กรู้สึกถึงความงาม

และเด็กก่อนวัยหนุ่มสาว 14-21 ปี Rudolf Steiner บอกว่า ควรให้เขาเรียนรู้จากการคิด ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กคิด จนเกิดปัญญา เห็นสัจธรรมและความจริงในโลก

แม้ว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ทว่า การจัดการศึกษาทุกระดับต้องพัฒนาร่างกายและจิตวิญญาณควบคู่กันไปเสมอ

โดยต้องเน้นให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ด้วย “กาย” หรือ “การกระทำ” “ใจ” หรือ “ความรู้สึก” และ “สมอง” หรือ “ความคิด”

เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง 7 ขวบ พร้อมที่จะเรียนรู้จากร่างกายโดยการเลียนแบบ ที่มิใช่เฉพาะท่าทางภายนอก ทว่า เป็นการเลียนแบบที่ลึกลงไปในจิตวิญญาณโดยที่เด็กเองก็ไม่รู้ตัว

ดังนั้น เด็กในวัยนี้ “ความดี” ของคนรอบข้างที่ใกล้ชิดกับเด็ก จะซึมเข้าไปในตัวเด็ก ช่วยให้เด็กพัฒนาความมุ่งมั่นใน “ความดี”

นำไปสู่ หลักการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ดังต่อไปนี้

1. การทำซ้ำ (Repetition) เด็กควรได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนการกระทำนั้นซึมลึกลงไปในกายและจิตจนเป็นนิสัย

2.จังหวะที่สม่ำเสมอ (Rhythm) กิจกรรมในโรงเรียนต้องเป็นไปตามจังหวะสม่ำเสมอเหมือนลมหายใจยามจิตใจสงบและผ่อนคลาย เพื่อที่เด็กๆ จะรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัย

3. ความเคารพและการน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง กิจกรรมและสื่อธรรมชาติที่จัดให้เด็ก ก็เพื่อให้เด็กเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เกื้อหนุนชีวิตมนุษย์ โดยความเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆ นี้ จะเป็นแก่นของจริยธรรมตลอดชีวิตของเด็กๆ ต่อไป

เราจึงสามารถสรุปได้ว่า การศึกษาแนว Waldorf มีจุดเด่นที่วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กสร้างตัวตนของแต่ละคนเพื่อเข้าใจในชีวิตของตัวเอง

เพราะเป้าหมายของการศึกษาแนว Waldorf คือ การให้การศึกษาแก่เด็กแบบองค์รวม ทั้ง Head Heart และ Hand

ดังนั้น แผนการเรียนการสอนจึงต้องเป็นการพัฒนาไปตามช่วงอายุ และสร้างสมดุลระหว่างวิชาการ ศิลปะ และการลงมือปฏิบัติ

หลักการทั่วไปของการศึกษาแนว Waldorf ก็คือ ความรู้ในภาควิชาการจะยังไม่ถูกสอนในชั้นอนุบาล และมีการจัดวิชาการไม่มากในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการอ่านก็จะเริ่มสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวจะผ่านการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป

ภาพรวมในระหว่างช่วงชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนจะมีครูประจำชั้นคนเดียวกันตลอด 8 ปี

สำหรับกิจกรรมและเนื้อหารายวิชาที่ต้องอาศัยกิจกรรมประกอบการเรียนการสอน รวมถึงวิชาเสริมต่างๆ ที่บรรดาโรงเรียนกระแสหลักใช้ อาทิ ศิลปะ ดนตรี การเกษตร ภาษาต่างประเทศนั้น Waldorf School จะถือเป็นวิชาแกนกลางในตลอดช่วงชั้นต้นๆ

ดังนั้น ทุกรายวิชาจะต้องถูกสอนผ่านสื่อทางศิลปะ เพราะเด็กๆ จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านศิลปะได้ดีที่สุด

อย่าลืมว่า การศึกษาแนว Waldorf นั้น “ไม่มีตำราเรียน” โดยเฉพาะใน 5 ชั้นปีแรกของนักเรียน โดยเด็กๆ แต่ละคนจะมี Main Lesson Book ซึ่งเป็นสมุดงานประจำตัวที่เด็กๆ จะเป็นผู้เติมแต่งในตลอดการเรียนของปีด้วยตนเอง

ที่สำคัญก็คือ เด็กๆ จะทำหน้าที่ “สร้างตำราเรียน” ประจำตัวของตนเอง ที่ให้เด็กๆ สามารถบันทึกประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กๆ ได้พบระหว่างเรียนไปโดยตลอดและต่อเนื่อง

ส่วนในชั้นเด็กโต อาจมีการใช้ตำราเรียน แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่เสริมเข้ามาจาก Main Lesson Work ดังที่ได้กล่าวไป

การศึกษาในโรงเรียน Waldorf จะไม่มีกิจกรรมที่เน้นการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่มีระบบการให้คะแนนกับเด็กในระดับประถมศึกษาตอนต้น เพราะครูจะใช้วิธีการเขียนบันทึกเพื่อประเมินตัวเด็กเมื่อจบการเรียนในแต่ละปีการศึกษาด้วยตัวเอง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ Waldorf School ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้เด็กๆ ใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด

โดยเฉพาะ “โทรทัศน์” ครับ!



ผู้ตั้งกระทู้ KBH :: วันที่ลงประกาศ 2024-03-22 10:53:29


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.