ReadyPlanet.com
dot dot
กลอนบทละคร article

มรดกภาษา  /  โชติช่วง  นาดอน
กลอนบทละคร


 
กล่าวถึง “กลอนนิทาน”  “กลอนอ่าน”  ยุคกรุงศรีอยุธยาไปแล้ว  โดยยกกลอนจากเรื่อง “เวตาลปกรณัม”มาประกอบ   อาจจะสั้นไปหน่อย  เอาไว้เมื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มจะได้อ่านสำนวนกลอนดี ๆ  ให้จุใจ  
 
วันนี้เล่าถึงเรื่อง”กลอนบทละคร”สักเล็กน้อย

 กลอนบทละครมีมาแล้วตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา   แต่จะมีบทละครจบเรื่องครบถ้วนอย่างที่มาแต่งกันในยุครัตนโกสินทร์หรือไม่   ก็ตัดสินยาก  เพราะต้นฉบับสูญหายไปครั้งกรุงแตก
 
แต่หลักฐานมียืนยันได้ว่า  มีการแต่งเป็น “บทร้อง”  และก็น่าจะร้องเล่น(แสดงละคร)กันทั้งคืนเป็นเวลาหลายคืน   

 และถ้าเรื่องละครต่าง ๆ เหล่านั้นไม่มีครบจบเรื่องสมบูรณ์  ก็คงจะไม่มีแบบแผนมาให้ยุครัตนโกสินทร์สืบสานแต่งเพิ่มเติมขึ้นอีกมากมายหลายเรื่อง
 
กลอนร้องหรือกลอนบทละครที่มีหลักฐานยืนยันว่ามีแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาคือเรื่อง “อิเหนา”  หรือ “ดาหลัง” (อิเหนาใหญ่)

 “ปุณโณวาทคำฉันท์”  แต่งโดยมหานาค  วัดท่าทราย  สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   ตอนที่บรยายถึงมหรสพสมโภชงานนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี  มีความตอนหนึ่งว่า

ร้องเรื่องระเด่นโดย                           บุษบาตุนาหงัน
 
พักพาคูหาบรร -                                   พตร่วมฤดีโลม ๐

 นี่เป็นเรื่อง “อิเหนาเล็ก”  เพราะเรื่องดาหลังหรืออิเหนาใหญ่นั้นไม่มีฉากบุษบาถูกลักตัวไปไว้ในถ้ำ
 
ในเรื่องพระราชนิพนธ์อิเหนา (รัชกาลที่ ๑)  มีความตอนหนึ่งว่า

๐อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง           สำหรับงานการฉลองกองกุศล
 
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์              แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป

 “เจ้าสตรี”ที่แต่งเรื่องอิเหนาและดาหลังในสมัยอยุธยาคือ  เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ  พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ    ดูจากคำกลอนข้างต้น  ก็น่าจะคิดว่า   เรื่องอิเหนาและดาหลังที่ทรงแต่งไว้นั้นเป็นบทละคร  และต้องแพร่หลายเป็นที่นิยมมาก    จนเมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงฟื้นฟูด้านอักษรศาสตร์  จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลัง   และรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา
 
เรื่องนี้ยังไม่จบครับ  ติดตามสัปดาห์หน้า

มรดกภาษา / โชติช่วง นาดอน
กลอนบทละคร (๒)
 
สำหรับกลอนบทละคร  ได้ยกเรื่องบทละครเรื่อง  “ดาหลัง” และเรื่อง “อิเหนา”  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑  เป็นตัวอย่าง  ทั้งสองเรื่องเป็นสำนวนการประพันธ์ที่คล้ายคลึงกัน  เพราะมีร่องรอยชัดเจน  เช่น  ตอนที่ท้าวกุเรปันให้สี่โหรทำนายความฝันของมะเดหวี (กำเนิดระเด่นมนตรี)
 
ในบทละครเรื่องอิเหนา (ร.๑) ว่า

ร่าย
บัดนั้น                                         ทั้งสี่พระโหราได้ฟังสาร
ก้มเกล้าเคารพกราบกราน               ในยามอัฐกาลนี้ดีนัก
ปฤกษาเห็นพร้อมกันทั่งสี่               จึงทูลคดีพระทรงศักดิ
พระสุบินนี้ใหญ่หลวงนัก                เป็นหลักในแว่นแคว้นแดนไตร ๐

 ในบทละครเรื่องดาหลัง (ร.๑) ว่า
บัดนั้น                                          ทั้งสี่โหรามหาศาล
ได้ฟังบัญชาพระภูบาล                    กราบกรานแล้วพิเคราะห์ซึ่งนิมิต
เห็นพร้อมกันสิ้นทั้งสี่                      มีความชื่นชมภิรมย์จิต
จึงกราบทูลพระทรงฤทธิ์                 พระอย่าได้คิดสงกา


 
อ่านกลอนบทละคร ดาหลัง อิเหนา หรือ รามเกียรติ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑  ได้รสกลอนบทละครยุคอยุธยาแน่แท้เทียว เพราะรัชกาลที่ ๑ ท่านคือคนยุคอยุธยานั่นเอง 
 
ปัญหาที่จะคิดต่อหรือค้นต่อไปได้จุดหนึ่งคือ   ในเรื่องดาหลังและอิเหนา ของรัชกาลที่ ๑ นี้  มีสำนวนเก่าของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปนอยู่หรือเปล่า
 
กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระยศเมื่อ พ.ศ 2499)  ทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือบทละคร “ดาหลัง” พิมพ์พระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ  สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า  ตอนหนึ่งว่า
 “
ในเวลาที่ไทยเราตั้งหลักฐานขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ  ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งอิเหนาใหญ่อิเหนาเล็กขึ้น  ควรเชื่อได้ว่าทั้งสองเรื่องนั้น  สำนวนเดิมเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา   เพราะการฟื้นฟูวรรณคดีก็ดี  ราชการงานเมืองก็ดี  เป็นการฟื้นฟูตามแบบกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น  ท่านไม่น่าจะมีเวลาคิดแต่งดาหลังขึ้นใหม่แน่  ต่อมาถึงรัชกาลที่สอง  ได้ทรงพระราชนิพนธ์อิเหนา(เล็ก)ขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง  ซึ่งปรากฏว่าเป็นชิ้นวิเศษทางกวีนิพนธ์  มีชื่อเสียงโด่งดังแพร่หลายมาตลอดจนบัดนี้  และเป็นแบบฉบับสำหรับเรื่องอิเหนาสำนวนอื่นเลียนตามอีกมากด้วยกัน


มรดกภาษา / โชติช่วง นาดอน
กลอนบทละคร (๓)
 
ที่ผมคิดเขียนคอลัมน์นี้ขึ้นมา   เจตนาก็อยากจะค้นหา “กลอนยุคอยุธยา” และกลอนก่อนยุคสุนทรภู่   มาเผยแพร่  ให้ได้เห็นกันกว้างขวางขึ้น   เพราะสำนวนกลอนอยุธยานั้น  ปัจจุบันหาอ่านยากมาก   ไม่มีใครคิดพิมพ์ขายกันอีก ( ก็ผมนี่แหละ  จะพิมพ์อีก  แม้จะขาดทุนเหมือนเล่ม “กลอนนิทานเวตาล”ก็ตาม)
 
เรื่องกลอนบทละครอยุธยา  ยังมีเรื่องเล่าอีกยาวครับ   ตอนก่อน ๆ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงอ่านรสกลอนไม่เต็มที่  ฉบับนี้จะลงให้จุใจเลย   เป็นกลอนชมเมืองจากบทละครเรื่องอิเหนา สมัยอยุธยา  (คัดจากหนังสือ “ตำนานอิเหนา” โดย สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)   นอกจากอยากให้สนใจลีลากลอนแล้ว  บทนี้ยังแสดงภาพกรุงศรีอยุธยาในยุครุ่งเรืองด้วยนะครับ


ร่าย 
สนามชัยทรายทองในพารา                แลลิ่วสุดตาไม่สุดที่
 
ราบรื่นดังหน้าเภรี                                  เป็นที่ประลองศิลปะศัตรา
 
ประลองรถคชสารชาญชัย                     ประลองอาชาไนยแกล้วกล้า
  
ประลองทวยหาญโยธา                          ซ้องหัดอัตราให้ชำนาญ
 
อันฝูงทหารชาญชัย                                ไม่มีผู้ใดจะต่อต้าน
 
เข้าไหนไม่มีต้านทาน                             ลือสะเทื้อนสะท้านทุกพารา

ชมตลาด
 
๐อันถนนหนทางตะพานพาด                 ล้วนดาษด้วยเงินยวงเลขา
 
ตึกร้านรวดริมรัถยา                                 ศิลาทองเล็งแลงประดับปน
 
จักรวรรดิลิ่วลอยพระเวหา                      รจนาด้วยสุวรรณไม่หมองหม่น
 
ป้อมปืนยืนเยี่ยมอยู่กลางชล                     ล้วนถกลโคมเพชรอลงการ์
 
อันตึกดินรางแลงศิลาสลับ                       ระยาบยับสอดสีล้วนมีค่า
 
พรายเพริดเลิศทรงอลงการ์                      ด้วยมหาเนาวรัตนอัมพน
 
อันลูกค้าวาณิชทุกภาษา                           มาพึ่งขัณฑเสมาทุกแห่งหน
 
คับคั่งทั้งภูมิมณฑล                                  ประชาชนชื่นบานสำราญใจ
 
บ้างเล่นฆ้องกลองลองเพลงรบ                เจนจบครบการทหารใหญ่
 
ล้วนชำนิชำนาญการชิงชัย                       ตกแต่งเอาใจไม่เว้นคน
 
บ้างเล่นยอเง็ดและฟ้อนขับ                       แซ่ศัพท์พาทย์พิณทุกแห่งหน
 
บ้างเล่นสัปประและไก่ชน                        ครั้นเวลาเข้าสนธยา
 
ดาหลังวายังแล้วชูเชิด                               ฉลุฉลักลายเลิศเลขา
 
บ้างขับโต้ตอบกันไปมา                            บ้างเล่นเสภามโหรี
 
ฝูงหญิงบรรจงเกศเกล้า                             ผัดผ่องพักตร์เผ้าสดศรี
 
นุ่งจวนชวาตานี                                         ใส่เสื้อสอดสีจับตา
 
ห่มสไบบางสีต่างกัน                                น้ำหอมปลอมคันธบุหงา
 
อวลอบตระหลบอยู่อัตรา                          ทั้งรูปโฉมโสภาไม่เว้นคน
 
ออกเที่ยวดูงานสำราญใจ                           เนืองแน่นกันในแถวถนน
 
เป็นเหล่าเหล่าล้วนสุมทุมคน                     เบียดเสียดสับสนกันไปมา ๐
   (
สะกดการันต์ตามต้นเดิม)

 

 มรดกภาษา  /  โชติช่วง นาดอน
กลอนบทละคร (๔)
 
สัปดาห์นี้ขอเผยแพร่  “กลอนยุคอยุธยา”  อีกสักบท  เป็นบทชมเมืองในบทละครเรื่องอิเหนา   ถ้าสังเกตเทียบกับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒  จะเห็นว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เทียบความตามบทละครครั้งกรุงเก่าที่นำมาพิมพ์ไว้นี้

  พรหมพักตร์สิงหาสน์อาสน์โถง                ท้องพระโรงแปดด้านทิศา
 
พระฉายใหญ่ตั้งมั่นเป็นชั้นมา                       อัจกลับดมรารายเวียน
 
ม่านทองกรองดวงแมงทับพราย                    เป็นนารายณ์ทรงสุบรรณนาคสามเศียร
 
จงกลพู่กลิ่นดูแนบเนียน                                สุจหนี่ปูเลี่ยนละลานตา
 
อันวิสูตรรูดวงบนแท่นแก้ว                           ยี่ภู่แผ้วหอมตระหลบด้วยบุหงา
 
พฤกษาดัดล้วนสุวรรณอลงการ์                     ฤดูดอกจินดาวิลาวัณย์
 
ครั้นวายุพัดระบัดต้อง                                    เสนาะก้องบรรเลงเพลงสวรรค์
 
พระลานรื่นวิเชียรเรียบสลับกัน                     เกยแก้วเกยสุวรรณเรืองราม
 
พระคลังทองสิบสองหลั่นตั้งซ้ายขวา            ทิมดาบมุกดาแปดด้าน
 
ที่นั่งเย็นล้วนแก้วเก้าประการ                        เรือนสนมพนักงานดาษดา
 
อันวิมานปรเมศร์สุราฤทธิ์                            ก็สถิตทั้งแปดทิศา
 
ทั้งโรงม้าโรงรถคชา                                      อลงกตรจนาเป็นพ้นคิด
 
หางหงส์ช่อฟ้าปราลี                                     ช้างแก้วมณีไพจิตร
 
สินธพชาติอาจองทรงฤทธิ์                            สำหรับองค์จักรกฤษณ์อันเชี่ยวชาญ
...................................................  
อันที่นั่งทรงปืนทั้งซ้ายขวา                          เป็นสง่าเอกเอี่ยมเหี้ยมหาญ
เกยสรงมุรธาภิเษกชาญ                               โรงอาลักษณ์เรียงขนานเป็นหลั่นมา
อันที่พราหมณ์ชีอันวิเศษ                             ได้สวดพุทธเวทคาถา
เขนยทองเรียงรันเป็นชั้นมา                          สำหรับองค์พระมหามุนี
อันตึกโหราพฤฒามาตย์                               ราชครูเรียงรันกันตามที่
ที่นั่งลอยพรอยเลิศรูจี                                   สำหรับที่โปรยสุวรรณทำทาน
หอกลองแก้วเจ็ดสีมณีวรรณ                        เป็นหลั่นเรียงอยู่กลางราชฐาน
เรือรบรายรอบประจำงาน                            จะคอยราญไพรีให้วายชนม์
ทุกด้านเตรียมการรายเรียง                            ให้พร้อมเพรียงตรวจจัดไว้สับสน
บัวสุวรรณบังแก้วเป็นวังวน                          เครื่องต้นเกิดกับสำหรับเมือง
อันต้นกัลปพฤกษ์ทั้งแปดทิศ                         ก็เป็นสิทธิ์ระบือลือเลื่อง
อร่ามรายพรายพุ่งรุ่งเรือง                               ทั้งสี่เมืองวิไลละลานตา
อันโรงเล่นการมหรสพ                             ก็ถ้วนครบทุกสิ่งล้วนเลขา
สุราฤทธิ์บรรจงอลงการ์                            รจนาเลิศโลกวิไลวรรณ
อันกรุงกุเรปันนัคเรศ                                  ภายนอกพระนิเวศน์เขตขัณฑ์ ๐
 
กลอนบรรยายพระราชวังกรุงกุเรปัน  ในบทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่าข้างต้นนี้   ภาพที่บรรยายแท้จริงแล้วก็คือพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง     เนื้อความตอนนี้จึงมีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วยครับ
การอ่านวรรณคดีนั้น  เราจะได้ทั้งความไพเราะชื่นใจของภาษา  และความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาด้วย  เป็นต้นว่า  ภาพพระราชวังข้างต้น  และกิจกรคมของชาวอยุธยาที่เล่าไว้ในบทละครบางฉาก                                                     

มรดกภาษา  /โชติช่วง นาดอน 

มีปัญหามาก  สืบเนื่องจากคำว่า “ขอม”
 
ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูรานนท์  ให้สัมภาษณ์นายคอลัม เมอร์ฟีย์ (Colum Murphey) บรรณาธิการรักษาการนิตยสารฟาร์อีสเทอร์น อีคอนอมิค รีวิว (เวบไซด์) เมื่อวันที่ 19 กันยายน ศกนี้   มีข้อความตอนหนึ่งเมื่อท่านกล่าวถึงประเทศไทยว่า
 “My country is about 800 years old , and we run the country  as a kingdom.”
 
ปัญหาน่าคิดอยู่ที่วรรคแรกคือ  “ประเทศของข้าพเจ้ามีมาประมาณ 800 ปีแล้ว”
นั่นหมายถึงอาณาจักรแรกของไทยก็คือสุโขทัย คนไทยเก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะเข้าใจทำนองนี้ 
 
เพราะแบบเรียนของกระทรวงศึกษาสั่งสอนคนไทยมาแบบนี้
 
ดูรายการทางโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย  ก็จะเริ่มต้นด้วยอาณาจักรสุโขทัยเสมอไป  
 
เมื่อเอาเพียงเรื่องเมืองสุโขทัยเป็นจุดตั้งต้นของอาณาจักรสยามเสียแล้ว   ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงมีอายุเพียงประมาณ 800 ปีเท่านั้น
 
ก่อนหน้านั้น  คนไทยยังไม่มีบ้านเมืองหรืออาณาจักร
 
พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางท่าว  ปราบขอมสบาดลำโพงสำเร็จ  แล้วจึงมีอาณาจักรสุโขทัย (ว่าตามตำราประวัติศาสตร์ทางราชการ)
 
คำว่า “ขอม” ตรงนี้คำเดียว   ทำให้ดินแดนไทยภาคกลางตอนบน  และภาคกลาง  กลายเป็นเมืองขึ้นของขอมไปหมด
 
แล้วคนส่วนใหญ่ก็มองเห็นเพียงว่า  “ขอม”หมายถึง”เขมร” 
 
เรื่องที่คนไทยเป็นเมืองขึ้นของขอม  ก็เลยถูกโยงไปเป็น  คนไทยเป็นเมืองขึ้นของเขมรด้วย   นักเขียนประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสยุคอาณานิคม  เขาเขียนให้คนทั่วโลกเข้าใจแบบนั้น  แล้วคนไทยก็เชื่อฝรั่งเขา  จนประวัติศาสตร์ของชาติเรากลายเป็นว่า  คนไทยมาแย่งดินแดนจากคนมอญและเขมร
 
จะแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้กันได้อย่างไร
 
ผมเห็นว่า  หากทำความเข้าใจกับคำว่า “ขอม” ให้ถูกต้อง   ก็จะช่วยเปิดความคิดให้มองประวัติศาสตร์ได้กว้างขึ้น ลึกขึ้น
 
อย่าคิดเห็นคับแคบว่า “ขอม” หมายถึง “เขมร” เท่านั้น  คำ “ขอม” ยังมีความหมายมากกว่านั้น   ในคอลัมน์เล็ก ๆ นี้อธิบายกันไม่สำเร็จหรอกครับ  เพียงแต่ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง “ข้อเท็จจริงว่าด้วย ชนชาติขอม” เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ดูอย่างละเอียดเสียก่อนที่จะถกเถียงเรื่องนี้กับใคร      

 

มรดกภาษา  /   โชติช่วง  นาดอน
ต้นเค้าฉากลาวัดใน”รำพันพิลาป”
 ที่จริงแล้วผมมิได้ตั้งใจจะเขียนคอลัมน์นี้ติด ๆ กันอย่างนี้  เพียงแต่สัปดาห์นี้มีเหตุจำเป็น  เนื่องจากในวันพรุ่งนี้  พุธที่ 23 สิงหาคม  จะมีการเสวนาเรื่อง “ลีลากลอนสุนทรภู่มาจากไหน”  วิทยากรคือ คุณทิพวัลย์  บุญวีระ  คุณบุญเตือน ศรีวรพจน์  และผม  โดยมีคุณวัธนะ บุญจะ เป็นผู้ดำเนินรายการ   งานเริ่มตั้งแต่ 15.00 น.  มีดนตรี”ปี่พาทย์ศิษย์เรืองนนท์” บรรเลงก่อนและหลังเสวนา    ที่ระเบียงโบสถ์วัดเทพธิดาราม
 
เป็นงานที่หลายฝ่ายช่วยกันจัดขึ้นทุกวันพระใหญ่ในช่วงเข้าพรรษานี้ครับ
 
จุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นชีวิตความผูกพันระหว่างวัดกับชุมชน  และเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่  ซึ่งเคยบวชจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้
 
หลายท่านคงยังจำวรรณคดีเรื่อง”รำพันพิลาป”ได้   วรรณคดีเรื่องนี้ในสายตาของผมแล้วเป็นงานชิ้นเยี่ยมยอดของสุนทรภู่   กวีเอกของโลกทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมีวรรณคดีลักษณะแนวเดินเรื่องทำนองอย่าง”รำพันพิลาป” เช่น”ชวีหยวน”หรือ”คุง้วน”มหากวีจีนผู้เป็นต้นเค้าตำนานขนมจ้าง   “ดังเต”มหากวีของอิตาลี  
 
ในเรื่อง”รำพันพิลาป”มีฉากบรรยายอารมณ์ของกวียามเมื่อต้องลาจากวัดเทพธิดาราม   ผมขอคัดมาเป็นตัวอย่างนิดเดียว
 “
โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด                               เคยโสมนัสในอารามสามวสา
 
สิ้นกุศลผลบุญการุณา                                     จะอำลาเลยลับไปนับนาน
 
เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ                       ริมแขวงขอบเขตที่เจดียฐาน
 
พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร                                โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
 ..........................................
 
เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ                            สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
 
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย                      เคยแก้อายหลายครั้งประทังตน”
 
ฉากนี้กินใจมากนะครับ   แต่อย่างไรก็ตาม  มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งเขียนในรัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราช   ชื่อเรื่อง”ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน”  เนื้อเรื่องคือตำนานของเมืองพิมาย  ตัวเอกของเรื่องคือนางอรพิม   และพระปาจิตตกุมาร    มีฉากหนึ่งซึ่งอรพิมจะอำลาจากวัด  ฉากนี้บรยายคล้ายคลึงกับเรื่อง”รำพันพิลาป”มาก   
 
แต่เรื่อง”ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน”นี้เขียนตั้งแต่ก่อนสุนทรภู่เกิด  นั่นหมายถึงวรณคดีเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อลีลากวีของสุนทรภู่

พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก / โชติช่วง นาดอน
  
วัฒนธรรม
 
เคยอ่านพบคนหนุ่มจีนแผ่นดินใหญ่เขียนบทความลงใน Time  บ่นทำนองว่า  อะไรคือวัฒนธรรมจีน  วัฒนธรรมจีนมีอัตลักษณ์อย่างไร
 
น่าคิดว่า  จีนแผ่นดินใหญ่ก็เผชิญกับวิกฤติด้านวัฒนธรรมเหมือนกัน
 
สังคมไทยมิใช่มีแต่วิกฤติการเมืองเท่านั้น  แต่มีวิกฤติวัฒนธรรมด้วย  และหากมองให้ลึก ๆ แล้ว  ปัญหาวิกฤติการเมืองอาจจะเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติวัฒนธรรมก็เป็นได้
 
บ้านเมืองไทยกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับ “ค่านิยม”
 
มาตรฐานวัดความถูก-ผิด ดี-เลว  มันเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ  ตาม “ค่านิยม”ที่ถูกทำให้เปลี่ยนไป
 
ผมใช้คำว่า  “ถูกทำให้เปลี่ยนไป”   
 
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง  มีพลวัต  คือไม่หยุดนิ่ง   สังคมสุวรรรภูมิ(แหลมทองบ้านเรานี่แหละ)มีวัฒนธรรมแบบหนึ่งซึ่งน่าจะใกล้ชิดกับวัฒนธรรมในดินแดนภาคใต้ของจีน(ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่นหรือจีน)      ต่อมามีความสัมพันธ์ติดต่อกับจีน(ฮั่น)และชมพูทวีป   วัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก    คติพราหมณ์ พุทธมหายาน พุทธหินยาน มีอิทธิพลทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปมาก  
 
ถ้าเราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมของสยาม   หลังจากยุคล่าอาณานิคมมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์นี้  เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  ชนิดที่บลางคนบอกว่าเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงละก็     สถานการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว  เมื่อชาวสยามในสุวรรณภูมิรับวัฒนธรรมชมพูทวีปเข้ามา  ครั้งนั้นเราถูกทำให้เป็นอินเดีย Indianization    ส่วนคราวนี้จะเรียกว่าอะไรดี  น่าจะเรียกว่า  Americanization นะ
 
ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องใหญ่  มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงวิธีคิด แบบวิถีชีวิต  ฯลฯ   แต่สำหรับในประวัติศาสตร์ของคนไทยแล้ว    เราเป็นฝ่ายรับและเปลี่ยนตามอิทธิพลอื่น  เราแทบจะไม่มีอะไรเป็น “ต้นแบบ”ไปส่งอิทธิพลให้สังคมประเทศอื่นเขารับแบบอย่างวัฒนธรรมของเราไปเลย
 
จีนเขายังอวดตัวได้ว่า  เป็นแหล่งวัฒนธรรมใหญ่ของเอเชียตะวันออก   วัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่น  ได้รับอิทธิพลถ่ายทอดไปจากจีน    ปรัชญา ชีวทรรศน์ โลกทรรศน์  ก็ได้รับอิทธิพลถ่ายทอดไปจากจีน  เช่น ปรัชญาขงจื๊อ  ปรัชญาเต๋า  ศาสนาพุทธมหายาน  หรือแม้กระทั่งเรื่อง นิกาย“เซน”ในญี่ปุ่น    ก็รับต่อไปจากจีน
 
ประเทศไทยมี “กระทรวงวัฒนธรรม” เป็นกระทรวงใหญ่กระทรวงหนึ่ง   ผมไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศไหนในโลกบ้าง  ที่จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น
 
ตามความเห็นของผม  “วัฒนธรรม”  ก็คือ เรื่องวิถีชีวิตของคนนั่นเอง   ผู้คนในสังคมเขาทำอะไรกันบ้าง  ตั้งแต่เกิดจนตาย  ในวันหนึ่ง  ในรอบปีหนึ่ง   เรื่องที่ทำ ๆ กันนั้นก็คือวัฒนธรรมทั้งนั้น   ภาษาการพูดจา  ทั้งราชาศัพท์และคำหยาบ   ถ้ามันเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตจริง  มันก็เป็นวัฒนธรรม    จะตัดเอาคำหยาบออกไป  บอกว่าการพูดคำหยาบไม่ใช่วัฒนธรรม   ก็จะเป็นการ “ตัดตอน”คือมองเห็นวัฒนธรรมด้านเดียว
 
ข้อผิดพลาดนี้  เป็นจุดที่ทางราชการไทย และวงวิชาการไทย  หลงยึดติดกันมาก    คืออะไรที่เป็นด้านไม่ดี  จะมองว่ามันไม่ใช่วัฒนธรรม  เรื่องวัฒนธรรมต้องคือเรื่องดี  เป็นสิ่งที่เจริญงอกงามเท่านั้น   ลองดูคำอธิบายในกฎหมายไทยสิครับ
 
พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ 2485  เขียนว่า  วัฒนธรรมหมายถึงลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม  ความเป็นระเบียบ  ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
 
หนังสือแนวทางในการรักษาส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.ศ 2535  ให้ความหมายวัฒนธรรมว่า  หมายถึง “ความเจริญงอกงาม  ซึ่งเป็นผลจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  มนุษย์กับสังคม  และมนุษย์กับธรรมชาติ  จำแนกเป็น 3 ด้าน  คือ จิตใจ  สังคม  และวัตถุ   มีการสั่งสมและสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง  จนกลายเป็นแบบแผนที่สามารถเรียนรู้และก่อให้เกิดผลิตกรรมและผลิตผล  ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  อันควรค่าแก่การวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ถ่ายทอด  เสริมสร้างเอตทัคคะ  และแลกเปลี่ยน  เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ  ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุข สันติสุข และอิสรภาพ  อันเป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ  
 
ความเห็นต่าง ๆ ข้างต้นนั้นคือคำอธิบายสำหรับ  “วัฒนธรรมด้านดี”
 
แต่ค่านิยมหรือประเพณีที่ถูกมอง(ในกาละ เทศะ และอัตวิสัยที่ต่าง ๆ กัน)ว่าไม่ดี  ก็เป็นวัฒนธรรมเหมือนกัน   เราจะไม่คำนึงถึงมันได้อย่างไร 
 
คำว่า “วัฒนธรรม”นี้   สังคมไทยรับเอาศัพท์มาจากฝรั่งว่า Culture  อันมีรากศัพท์จากภาษาละตินว่า Cultura มีความหมายว่าการเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง   ขยายความว่ามนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม   ก็เลยมักจะติดยึดกับคำว่า เจริญงอกงาม
 
ผมชอบคำอธิบายเก่าแก่ของ E.B Tylor  ที่อธิบายไว้ในหนังสือวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ (ค.ศ 1871)มากกว่า  เขาไม่ได้กำหนดเรื่องดี-เลว มาเป็นกรอบของวัฒนธรรม   เขาบอกว่า
“
วัฒนธรรม เป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อน    ประกอบด้วย  ความรู้  ความเชื่อ   ศิลปะ  ศีลธรรม  กฎหมาย  ลัทธิธรรมเนียมประเพณีคติชน   ตลอดจนความสามารถและความเคยชินที่มนุษยชาติในสังคมได้รับมา”
 
ถึงตอนนี้ในโลกนี้   มีคำอธิบายความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” มากกว่าพันแบบ 
 
และก็อาจจะมีที่เมืองไทยนี้เท่านั้น  ที่กำหนดกรอบไว้ว่า  “วัฒนธรรม”คือสิ่งที่ดีเท่านั้น
 
ถ้าจะมองกันแคบ ๆ อย่างนั้นแล้ว  เราจะมองความเคยชินหรือค่านิยมซึ่งไม่ค่อยดีนักแบบ  “ตามสบายคือไทยแท้”      ว่าเป็น “วัฒนธรรมไทย” ที่ต้องอนุรักษ์กันหรือเปล่าเล่า

มรดกภาษา / โชติช่วง นาดอน
    
สำนวนกลอน “วังหน้า พระยาเสือ”
 มรดกภาษชุดแรกที่นำเสนอมานี้   จับเรื่องของ “กลอน”เป็นหลัก   ตั้งใจจะพยายามคัดสรรบทกลอนเก่า ๆ ที่หาอ่านยาก  ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยสุนทรภู่    หลังจากนั้นคงจะไม่ต้องฝากฝังอะไรกันมาก  เพราะหนึ่งกลอนนั้นค่อนข้างจะอยู่ตัว  นิยมตามแบบสุนทรพู่กันเป็นกระแสหลัก 
 
เคยนำพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มาเผยแพร่ไว้แล้ว  จึงคิดว่าน่าจะเผยแพร่สำนวนกลอนของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 1 ไว้ด้วย 
 
บทกลอนพระราชนิพนธ์  สมเด็จพระบวนราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  เท่าที่พบแล้วมีสามชิ้น  ได้แก่  เพลงยาวพยากรณ์เรื่องฟ้าผ่าในพระราชวังหลวง   เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า  และเพลงยาวรบพม่าที่เมืองนครศรีธรรมราช  ทั้งสามเรื่องมีรวมอยู่ในหนังสือเรื่อง “วังหน้า พระยาเสือ” ของ ส.พลายน้อย  จัดพิมพิ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม
 
เพื่อให้อ่านสนุก เข้ากับสถานการณ์วิกฤติการเมืองยุคนี้   จึงเลือกนำเสนอพระราชนิพนธ์ที่พระองค์วิจารณ์เหตุแห่งการเสียกรุง(อยุธยา)   มาพิมพ์ไว้เป็นบทแรกดังนี้
 “.....................................
 
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข                            แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา
 
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา                               อยุธยาจะสาบสูญไป
 
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว                  ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
 
นับแต่วันจะยับนับไป                             ที่ไหนจะคืนคงมา
 
ไม่ปรากฏเหตุเสียเหมือนดังนี้                 มีแต่บรมสุขา
 
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา                                 อนิจจาสังเวทนาใจ
 
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ                            จะอาเภทกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
 
มิได้พิจารณาข้าไท                                   เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
 
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ                     ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
 
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา                    จะตั้งแต่เสนาบดี
 
ไม่ควรอย่าให้อรรคฐาน                           จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
 
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี                     จะเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
 
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ                                 เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
 
เสียทั้งตระกูลนานา                                   เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร “                    




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ