ReadyPlanet.com
dot dot
เส้นทางรัก ขุนแผนและนางพิม จากสุพรรณมาเมืองพิจิตร article

เส้นทางรัก ขุนแผนและนางพิม จากสุพรรณมาเมืองพิจิตร

                                                                   อัศศิริ ธรรมโชติ..ศิลปินแห่งชาติ                     

                พลายแก้วกับนางพิมกลับมาร่วมกันสร้างเส้นทางรักแสดงทัศนียภาพของป่าเมืองสุพรรณฯ อีกครั้งหนึ่ง เหมือนร่วมกันทำหนังสือเดินทางท่องเที่ยวขึ้นฉะนั้น และถือได้ว่าเป็น “ฮันนีมูนรอบสอง” ของคนทั้งคู่เลยทีเดียวพลายแก้วตอนนี้เป็นขุนแผนแล้ว และนางพิมก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วว่าวันทองไม่ใช่รักวัยรุ่นแต่ก็ยังเป็นหนุ่มสาวอยู่...

                                “ขุนแผนปลอบน้องอย่าร้องไห้                      ไปหน่อยหนึ่งแล้วจะมาส่ง

                                ไปเป็นเพื่อนพี่บ้างในกลางดง                          ชมหงส์เหมเล่นให้เย็นใจ”

                พ้นออกมาจากวัดป่าเลไลและไร่ฝ้ายกันแล้ว ก็ลองมาเดินตามเส้นทางรักของขุนแผนไป ดูสิว่าคนทั้งคู่นี้ไป “แคมปิ้ง” หรือว่า “เล่นแคมป์ไฟ” กันที่ตรงไหนบ้าง

เรื่องเริ่มตรงที่ว่า หลังจากที่ขุนแผนโกรธกับนางวันทอง และนางวันทองตกไปเป็นเมียขุนช้างอีกคนหนึ่งแล้ว ขุนแผนนอนว้าเหว่อยู่ในบ้านเมืองกาญจน์เกิดอารมณ์ “ลมหวน” ขึ้น คือ

“….สว่างเวิ้งวงบ้านสงสารใจ     ใบไทรต้องลมระงมเย็น

เย็นฉ่ำน้ำค้างค้างใบไทร                    จากเมียเสียใจไม่เล็งเห็น…”

ก็เลยหวนไปหานางวันทองอีกครั้ง

ขุนแผนนั้นถือเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวคนหนึ่ง เป็นจอมยุทธอยู่ในละแวกแคว้นสุพรรณภูมิก็ว่าได้ และระหว่างเมืองกาญจน์กับเมืองสุพรรณฯ นั้นขุนแผนก็เดินเข้าเดินออกเป็นว่าเล่นเป็นประจำ ยิ่งโดยเฉพาะเมืองกาญจน์ขุนแผนทำเป็น “บ้านไร้กังวล” เกิดปัญหาอะไรก็มาตั้งหลักอยู่ที่นี่ เช่นเวลาทะเลาะกับเมียกับลูก ขุนแผนก็ถอยมาเมืองกาญจน์ทุกที ดูเหมือนจะเดินทางแค่ ๓-๔ วันเท่านั้น

แต่คราวนี้ขุนแผนกลับพานางวันทองขึ้นเหนือเหมือนกับลองเส้นทางใหม่ในการบ่มรักครั้งที่สองกับเมีย เที่ยวชมนกชมไม้ขี่ม้าพาเมียเที่ยวแคมปิ้งกันสนุกไป และมีบทบู๊บ้างยามจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่าไปแล้วขุนแผนคงเตรียมการมานานสำหรับเที่ยวนี้ที่จะพานางวันทองหนีจากขุนช้าง คือขุนแผนตอนนี้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการพาเมียหนีศัตรูไปฮันนีมูนกันในป่าอย่างพร้อมเพียงทีเดียว อาทิ พาหนะสุดวิเศษ อย่างม้าสีหมอก เครื่องอาวุธสุดมหัศจรรย์อย่างดาบฟ้าฟื้น และที่สำคัญคือเครื่องมือสื่อสาร “วอล์คกี้ – ทอล์คกี้” อย่างกุมารทอง หรือพวกโหงพรายแสนรู้ เมื่อติดข้องอันใดก็ “ว.” เรียกได้ตามใจปรารถนา

ดูกันเมื่อเริ่มต้นจะออกเดินทางจากเมืองกาญจน์

“จบจับฟ้าฟื้นแล้วยืนกราย                             

บ่ายเลี่ยงผีหลวงกะลาทัย

ลงบันไดไปขึ้นสีหมอกม้า

เรียกโหงพรายมาทั้งน้อยใหญ่

เคล้นไคล้ทรวงนางแต่เบาเบา                          

ออกจากกาญจน์บุรีรี่เข้าไพร

โหงพรายตามไปเป็นโกลา”

ผู้บรรยายหรือว่ากวี ได้พาเราเข้าบ้านขุนช้างอยู่พักใหญ่ ก่อนจะออกเดินป่าอันเป็นการสะท้อนภาพถึงภาวะบ้านเรือนไทยของเศรษฐีไทยโบราณ ว่ามีรั้วรอยขอบคูแบ่งเป็นชั้นเป็นดอยอย่างไร มีไม้ประดับและเลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง และหรือว่าสถาปัตยกรรมอย่างเรือนไทยโบราณนั้นได้แบ่งห้องหอเรือนนอน หอกลาง ชานดอกไม้ และโรงเรือนข้าทาสเอาไว้เป็น***ส่วนอย่างไร

“โจนลงกลางชานร้านดอกไม้         ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น

รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน            ชื่นมื่นลมชายสบายใจ

                กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม           ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว”

                “มะสังดัด”มาอยู่บนเรือนดอกไม้แสดงว่าขุนช้างนั้นเล่น “บอนไซ” มาเก่าพอๆ กับคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็มีเรือนแขวนกรงนกชนิดต่างๆ รวมทั้งเลี้ยงปลาพันธุ์สวยๆ งามๆ เอาไว้มาก ดังที่นางวันทองอาลัย สมฐานานุรูปของเศรษฐีไทยทุกระเบียด

                ขุนแผนเฉพาะเดินเที่ยวอยู่ในบ้านขุนช้าง ก็คุ้มพอแล้ว โดยไม่ต้องพาเมียหนีอีกก็ได้ แต่พอเดินมาถึงห้องนอนได้เห็นมุ้งม่านที่นางวันทองนอกอยู่กับขุนช้างก็หมดสนุก ฟันม่านเสียกระจุยไป ก่อนพานางวันทองหนีไปถึงเมืองพิจิตรโน่น

                ขุนแผนพานางวันทองออกจากสุพรรณฯ ไปทาง “ประตูตาจอม” ให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้ว่าคือประตูอะไร และตั้งอยู่ฝั่งไหนของเมืองกันแน่ แต่ขุนแผนได้ผ่านวัดตะลุ่มโป่ง โคกกำยานและตัดทุ่งนาไปถึงลำน้ำบ้านพลับก่อนจะเอาสีหมอกลงข้ามแม่น้ำที่มีจระเข้ชุม และว่าจ้างมอญคนหนึ่งแจวเรือข้ามไป

                และที่บ้านกล้วยยุ้งทลายนั้น ขุนแผนได้ใช้ฟ้าฟื้นให้เป็นประโยชน์ด้วย

                “เอาดาบถากต้นไม้ถ่านไฟเขียน                    อ้ายหัวเลี่ยนตามมาจะฉิบหาย

                ให้มันซ้อนกันมาตาขี่ยาย                                 ***จะป่ายลงให้ใจริกริก”

                พ้นจากบ้านกล้วยยุ้งทลายนี้ ก็หมดแดนเมืองสุพรรณฯ ต่อจากนี้ขุนแผนก็ท่องเที่ยวข้ามจังหวัดน่ารื่นรมย์ยิ่งนักแล้วคือขี่ม้าไปตามป่าเขาลำเนาไพรและมีผู้หญิงสวยๆ อย่างนางวันทองติดไปด้วย บทรักโรแมนติกมาก

                “ถึงเขาพระพี่เคยเข้ามาไหว้                            พระสุกนี้กระไรดังหิ่งห้อย

                ชี้บอกนางวันทองน้องน้อย                              พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยลงฉับพลัน”

                ทัศนียภาพของป่าเมืองสุพรรณฯ และละแวกจังหวัดใกล้เคียงที่ขุนแผนขี่ม้าพานางวันทองท่องไปทั้งกลางวัน กลางคืนนั้น ช่างงดงามน่าดูอย่างเหลือเชื่อไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้ดอกไม้ป่า พันธุ์สัตว์สารพัด ทั้งบนฟ้าบนดิน บนกิ่งไม้ ทุ่งลำธาร ภูเขา เรือกสวนไร่นาและหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยอย่างพวกละว้าขุนแผนได้พานางวันทองย่ำป่าอยู่นานถึง ๗-๘ เดือนเห็นจะได้กว่าจะถึงเมืองพิจิตร

                ผมเข้าใจว่าขุนแผนคงสวนแม่น้ำเมืองสุพรรณฯ ขึ้นไป เข้าชัยนาทแม่น้ำน้อย ออกนครสวรรค์สายเจ้าพระยา และเข้าแม่น้ำยม เมืองพิจิตร ซึ่งการเดินทางแต่ก่อนน่าจะอาศัยเรือไปสะดวก แต่กวีกลับพาไปทางบก คงจะเบื่อแม่น้ำอะไรในทำนองนี้ นี่ผมเดาเอาเอง

                “รื้นรื่นชื่นรสเสาวคนธ์                    ปนกับกลิ่นแก้มเกษมสันต์

                หอมกลิ่นบุปผาสารพัน                     พระจันทร์ดั้นหมอกออกแดงดวง”

                ก็น่าจะไปทางบกอยู่หรอก เพราะขี่ม้ากันไป ดูธรรมชาติกันไปและจีบกันไปด้วยเพียงแต่ “เหลียวหลังระวังวันทองไว้ สีหมอกแล่นไล่จนลายตา”หนุ่มสาวใครจะใช้สายนี้ฮันนีมูนท่องเที่ยวบ้างก็เชิญเถิด

                เฉพาะตรงท่าต้นไทรนี้สำคัญ ดูเหมือนขุนแผนกับวันทองจะ “เล่นแคมป์ไฟ” กันกลางวันแสกๆ

                “มันขัดสนจนใจอยู่แล้วน้อง                          มุ้งม่านบ้านช่องที่ไหนเล่า

                ก็เหมือนกับเรื่องเดิมเริ่มของเรา                      นึกว่าเข้าไร่ฝ้ายเถิดน้องอา”

                เรียบร้อยแล้วทั้งคู่ก็ “ขอสมา”ต้นไทร เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมีความสุขสนุกกันดี

                ฉากตรงท่าต้นไทรนี้ นอกจากจะมีภูมิประเทศสวยงาม เป็นห้วยหนองคลองบึงที่ขุนแผนกับนางวันทองใช้เป็นเป็นที่เล่นน้ำเก็บบัวและ “แต่งงาน” กันครั้งที่สอง แล้วยังเป็นฉากรบอันดุเดือดอีกด้วยเมื่อทัพขุนช้างไล่ตามาถึง

                และตรงที่ท่าต้นไทรนี้ ขุนแผนได้ข้ามลำนำ “จระเข้สามพัน” ที่ตื้นขึ้นไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ตรงไน ผ่านไปอีกทีก็ถึงเข้าธรรมเธียรแล้วและจากวนเวียนอยู่ในป่าใหญ่หลายเดือนนางวันทองตั้งท้องด้วย ฮันนีมูนออกผลขุนแผนก็ใช้เวลาอีกสิบวันไปถึงเมืองพิจิตร หลบซ่อนอยู่ที่นั่น

                “ปลดอานม้าพลางทางเปลื้องเครื่อง                              แล้วชวนนางย่างเยื้องลงสู่ท่า

                ต่างกินอาบซาบเย็นเส้นโลมา                                          บุษบาบานช่ออรชร

                เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด                                                 เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน

                ขุนแผนปล้อนปองง่าวดูขาวงอน                                   ว่าวอนลองกินเถิดน้องรัก”

                เส้นทางรักของขุนแผน ตลอดเรื่องของวรรณคดีเล่มนี้ แม้ว่าจะทุกข์ยากโศกเศร้าผิดหวังแต่ก็โรแมนติก งดงามยิ่งนัก สำหรับคนนิยมรัก ยิ่งโดยเฉพาะขุนกับเส้นทางสายนี้แล้วเป้นความสุขครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาที่

               

“ไร้ฟูกถูกเนื้อวันทองอ่อน               เหมือนนอนเตียงทองอันผ่องใส

                เพลินฟังวังเวงเพลงเรไร                   พิณพาทย์ไพรกล่อมขับสำหรับดง”

ขึ้นปีท่องเที่ยว หนุ่มสาวคู่ไหนบ้าพอก็ลองฮันนีมูนแบบนี้บ้างเป็นไร เพียงเปลี่ยนจากม้าเป็นรถเครื่องก็คงพอได้กระมัง?

 

(คัดและตัดต่อจาก  ขุนช้าง ขุนแผน ฉบับย้อนตำนาน, โชติช่วง นาดอน – อัศศิริ ธรรมโชติ และครูเสภานิรนาม เขียน.สำนักพิมพ์พลอยตะวัน จัดพิมพ์ครั้งที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๑)


 

ชีวิตดีขึ้นเยอะ


แย่กว่าแย่   ชีวิตยัง  ไม่พังแย่
 แพ้กว่าแพ้  ชีวิตยัง  ไม่พังพ่าย
 ท้อกี่ท้อ  ชีวิตยัง  ไม่พังทลาย
 ใจกี่ใจ  ยังมาดหมาย  ชีวิตดี!

 ****
ชีวิตที่ดี  คือชีวิตเช่นใด?  เป็นคำถามที่ตอบยากเอาการ…
ชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่สูงศักดิ์อัครฐานหรือ? 
ชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่จำเริญชื่อเสียงจำเรียงยศหรือ? 
ชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่อยู่ในเมืองอันทันสมัยไฮเทคหรือ? 
ชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่อยู่ในทุ่งหญ้าป่าเขาลำเนาไม้ไร้มลภาวะหรือ?
ฯลฯ
 ผมไม่รู้ว่าชีวิตที่ดีสมบูรณ์แบบควรเป็นชีวิตเช่นใด?  รู้แต่ว่า  ผมชอบใจวลีติดปากตัวเองวลีหนึ่ง  และชอบใจทุกครั้งเมื่อได้ยินวลีนี้เปล่งออกจากปากของคนอื่น
 “ชีวิตดีขึ้นเยอะ!”
 ท่านผู้อ่านเองก็อาจจะเคยเปล่งคำนี้  หรือเคยได้ยินใครต่อใครเปล่งคำนี้
 ชีวิตดีขึ้นเยอะ!  น่าจะเป็นวลีภาวะ  ที่เปล่งออกมาจากส่วนลึกของจิตใจ    คนที่ไม่รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น  คงไม่เปล่งคำนี้ออกมา  ภาวะที่ “ชีวิตดีขึ้น”  อาจไม่ต้องกินเวลายาวนาน  ไม่ต้องปรากฏเป็นรูปธรรมใหญ่โต  เช่น  เคยจนแล้วรวย  เคยไร้บ้านแล้วมีบ้าน  อะไรทำนองนั้น  แต่อาจเกิดขึ้นในนามธรรมหรือรูปธรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน
 เพื่อนบางคนของผม  เป็นคนขี้ร้อน  ติดเจ้าสำอาง  ไปไหนมาไหนจะพกสบู่ประจำตัว  ต้องอาบน้ำล้างหน้าล้างตาบ่อยๆ  ถ้าไปที่ไหนแล้วเกิดน้ำไม่ไหล  ไฟไม่มี  เขาจะรู้สึกว่าชีวิตแย่สาหัส  ทำอะไรก็ดูเหมือนไม่ร่มเย็นเป็นสุข  แต่ถ้าได้อาบน้ำล้างหน้าล้างตาสักหน่อยละก็  เป็นต้องกระปรี้กระเปร่า  เปล่งวาจานี้ออกมา 
“ชีวิตดีขึ้นเยอะ!”
 เพื่อนบางคนของผมเป็นนักดื่ม  ตื่นเช้ามักจะต้องครวญเพลงของ “แฮงค์  วิลเลี่ยม” อยู่บ่อยๆ (ความจริงไม่เกี่ยวกับนักร้องคนนี้แต่อย่างใด)  แต่ถ้าเขาได้ถอนสักเป๊กสองเป๊ก  หรือเหยาะเหล้าใส่กาแฟสักหยดสักหยด  เขาจะต้องคราง 
“อา...ชีวิตดีขึ้น!”
 เหงาๆ ไม่รู้จะทำอะไร  เดินเข้าโรงหนังดูหนังสักเรื่องแล้วชอบ  เดินเข้าร้านหนังสือซื้อหนังสือมาอ่านสักเล่มแล้วชอบ  ซื้อเพลงมาฟังสักตลับแล้วชอบ   หรือหิวแสบไส้  ไม่มีสตางค์จะกินข้าว  พลันก็มีเพื่อนรักสักคนผ่านมาชวนไปเลี้ยงข้าว  อะไรเหล่านี้  ผมรู้สึกว่ามันมีความหมายต่อ
“ภาวะชีวิตดีขึ้น”
 
 **** 
ภาวะชีวิตดีขึ้น  คงมาจากภาวะชีวิตที่ไม่ค่อยดี  หรือชีวิตที่รู้สึกว่าออกจะแย่ 
 ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่า  หากไม่สุภาพ  หรือเป็นการไม่บังควร  กรุณาอภัยผมด้วย
 ใครเคยท้องเสียระหว่างการเดินทางบ้าง?  บนรถที่ไม่มีห้องน้ำ – การเดินทางที่ยากต่อการควบคุม – การจู่โจมอย่างหนักหน่วงของข้าศึกภายใน – ใครเคยต่อต้านข้าศึกด้วยวิธีใดบ้าง?
 คราวหนึ่ง  ผมไปเยือนจังหวัดมหาสารคาม  ด้วยภารกิจวรรณกรรม  หรืออะไรก็แล้วแต่  ไม่น่าสนใจนัก  น่าสนใจก็ตรงที่  ในคณะของผมนั้น  หลายคนเป็นผู้อาวุโสที่น่าเคารพนับถือ  เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงวรรณกรรม  ถ้าเอ่ยชื่อแล้วคนวรรณกรรมจะต้องรู้จัก  
 หลังเสร็จสรรพภารกิจในตัวเมือง  เรามีแผนเดินทางไปยังบ้านนอก   เป้าหมายหนึ่งคือ  ไปนมัสการพระธาตุนาดูน  พระธาตุเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานของอีสาน  
 ระหว่างทาง  ผ่านหมู่บ้านบ้าง  ทุ่งนาบ้าง  แทบไม่เห็นมีปั๊มน้ำมัน  คณะของเราชื่นมื่นกันดีในรถตู้  บางคนถอนพิษแอลกอฮอล์แต่เมื่อคืนด้วยเบียร์กระป๋อง  บางคนมองสองข้างทาง  สังเกตชื่อหมู่บ้านและทัศนียภาพ  และเราต่างพูดคุย  หยอกเย้า  วิเคราะห์โน่นวิเคราะห์นี่  หัวเราะหัวใคร่กันอย่างน่าอิจฉายิ่ง
 บังเอิญผมนั้น  เป็นหนึ่งในพวกที่ชอบ “เสาะหาของกิน” 
ก่อนหน้านั้นก็คงกินอะไรต่อมิอะไรมามาก  กรรมหนึ่งของนักกินก็คือ  ท้องไส้มักประสบภาวะวิกฤติโดยเฉียบพลัน
 ทุกคนบนรถไม่มีใครรู้หรอกว่า  เหตุใดอยู่ๆ ผมซึ่งกำลังหัวเราะร่าเริงก็กลับเงียบเสียงไป…มันจู่โจมผมแล้วครับ!  เริ่มจากเบาๆ แล้วก็หนักๆ  เบาแล้วก็หนัก  หนักแล้วก็เบา  จนผมคิดว่าคงไม่มีอะไรรุนแรง  อีกหน่อยก็จะถึงปลายทางแล้ว  
 การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น  มันหนักขึ้นมาอีก  ชนิดที่ทำให้ผมหน้าซีด  ใจคอไม่ดี  ต้องเรียกหาเบียร์กระป๋องมาปลอบ  พยายามดึงใบหูตัวเอง  หยิกเนื้อตัวเอง  ตามวิธีที่ วสันต์  สิทธิเขตต์  ผู้เคยใช้ได้ผลมาแล้วกรุณาแนะนำไว้   พลางรำพึงในใจว่า  เอาเข้าแล้วไหมล่ะ!  มันเล่นงานกูแล้ว  ได้อับอายขายหน้าผู้คนก็คราวนี้แหละ
 ผมภาวนาให้ถึงตัวอำเภอ  จะได้ขอแวะปั๊ม  แต่ก็ดูเหมือนตัวอำเภอที่เคยใกล้จะยิ่งไกล  ภาวนาให้เจอปั๊มระหว่างทาง  ภาวนาให้ใครสักคนในรถบ่นปวดท้องขึ้นมาบ้าง  จะได้มีเพื่อน 
ไม่มี...ไม่มีเลย  คนอื่นก็ยังสนุกของเขาอยู่อย่างน่าที่ผมจะต้องอิจฉายิ่ง
 ผมร่ำๆ จะเอ่ยปากขอให้คนขับช่วยจอด  บอกความจริงกับทุกคนแบบซื่อๆ  แล้วก็วิ่งตื๋อไปกลางทุ่งนา 
แต่...แต่มันไม่ง่ายเลยครับ  ชาวบ้านก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่แถวนั้น  อีกอย่าง  ผมไม่อยากถูกล้อ  ไม่อยากถูกหัวเราะ  และไม่อยากให้เสียบรรยากาศในรถตู้ปรับอากาศ   
ถ้าหากทุกคนรู้ว่าผมขี้แตก!
 เมื่อผ่านตัวอำเภอก่อนเลี้ยวไปยังพระธาตุนาดูน  อย่างไม่น่าเชื่อ  โอ! มันกลับล่าถอย  เบาๆ แล้วแผ่วลงจนเกือบหาย  แทนที่ผมจะขอแวะปั๊มจึงไม่ต้อง  อีกหน่อยก็ถึงปลายทางแล้ว  ที่นั่นคงพอมีห้องน้ำหรอกน่า  
 เป็นเพราะข้าศึกฉลาด  หรือผมประมาทก็ไม่รู้  พอรถพ้นตัวอำเภอเท่านั้นแหละ  มันกลับมาอีกครั้ง  คราวนี้หนักหน่วงรุนแรงอย่างไม่คาดคิด  ผมเกือบสิ้นหวังจะต่อสู้เสียแล้ว...อยากยอมแพ้  ยอมรับความจริงตามเวรตามกรรม  แต่...ไม่ได้  ไม่ได้เด็ดขาด  ผมจะต้องชนะ  ถ้าผมแพ้  ผมจะต้องอับอายขายหน้าชั่วชีวิต  ผมกำหมัดกัดฟัน 
เอาซิ...ถึงจะชนะได้แบบไม่ใสสะอาดนัก  แต่ศึกครั้งนี้  ผมจะยอมแพ้ไม่ได้โดยประการทั้งปวง!
 พลันผมนึกถึงปาฎิหาริย์  นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถ้ามีจริง 
จริงสิ!  ผมกำลังไปไหน?  ผมกำลังไปนมัสการพระธาตุนาดูน  โดยที่พอจะรู้ความเป็นมาและศรัทธาอยู่ในใจบ้างแล้ว
 และแล้วผมก็ภาวนา!
 ถ้าเสียงภาวนาของผมคนอื่นสามารถได้ยิน  จะต้องได้ยินเสียงที่สั่นสะทก   เป็นเสียงของคนสิ้นหวังแล้วต่อทุกสิ่งทุกอย่าง  เหลือเพียงศรัทธาสุดท้ายในคำภาวนาเท่านั้น 
 “หลวงพ่อ  ขอให้ลูกรอดพ้นจากความอับอายด้วยเถิด  ลูกจะขี้แตกที่ไหนก็ได้  แต่ไม่ใช่บนรถ  และต่อหน้าธารกำนัล”
 คำภาวนาเป็นผลหรือไม่ – ไม่รู้!...รู้แต่ว่า  ผมสามารถตรึงกำลังไว้ได้จนรถจอด
 ลงจากรถได้  ผมก็ทิ้งเพื่อนทิ้งฝูงทันที  ถามคนแถวนั้นว่ามีห้องน้ำไหม?  ผู้ถูกถามก็ทำท่างงๆ  อาจไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่  เขาชี้ไปทางป่าละเมาะ  ถ้าไม่มีจะเยี่ยวตรงไหนก็ได้
 หลวงพ่อ!  ถ้าไม่มีห้องส้วม  ผมจะต้องได้เข้าป่าแน่!  
 แต่...แต่ห้องส้วมมีครับ  ว่างด้วย  เงียบสงบด้วย  ปลอดผู้คน  การใส่กลอนประตูกลายเป็นเรื่องไร้สาระ  เพราะสาระของผมอยู่ที่การปลดเข็มขัดและรูดซิปกางเกงให้ทัน...สาระของผมคือการได้ปลดปล่อยสิ่งที่ดื้อรั้นอยู่ภายในให้เป็นอิสระ...
 ในที่สุดมันก็เป็นอิสระ  แหละผมก็ปลอดภัย  มันอาจไม่ตรงเป้าหมายนัก  เลอะเทอะนอกคอห่านบ้าง  นั่นก็ยังดี...ดีกว่าจะให้มันเลอะเทอะตั้งแต่อยู่บนรถตู้
 นอกจากพบห้องส้วมที่ว่างและสะอาดได้ทันเวลา  ผมยังพบว่า  ในอ่างของห้องส้วมนั้นมีน้ำใสสะอาดอยู่เต็ม  เหลือเฟือที่ใช้ลบรอยคราบความอัปยศอดสูของตัวเอง
 “ชีวิตดีขึ้นเยอะ!” 
ผมรำพึงในใจ  พลางใช้หลังมือปาดเหงื่อเม็ดโป้งออกจากใบหน้า  เดินไปนั่งบนม้าหินอ่อน  เหยียดแขนเหยียดขา  กึ่งนั่งกึ่งนอน  แหงนหน้ามองท้องฟ้า  ปล่อยลมหายใจโล่งอก  สัมผัสถึงความเบาสบาย  เหมือนตัวเองกลายเป็นก้อนเมฆ
 ครู่หนึ่งต่อมา  ผมนึกถึงคำภาวนา  เดินไปเข้าเพื่อนเข้าฝูง  จุดธูปนมัสการพระธาตุ
ด้วยใจเป็นสุข!
 
ไพวรินทร์  ขาวงาม
เนชั่นสุดสัปดาห์  ๒๕๔๑

ea.




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ