ReadyPlanet.com
dot dot
สิทธิชุมชน - สนั่น ชูสกุล article
แนวคิดสิทธิชุมชน

"สิทธิชุมชน" เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ แต่คุณค่านี้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในวิถีชุมชนมาช้านานแล้ว...เสียงคนอีสานวันนี้ ขอเสนอ "แนวคิดสิทธิชุมชน" เรียบเรียงโดย สนั่น ชูสกุล โครงการสิทธิชุมชนศึกษา ภาคอีสาน

๑. ความหมายและที่มาของสิทธิชุมชน

“สิทธิชุมชน” เป็นคำที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ ในฐานะความเป็นวาทกรรมที่ให้ความหมายและคุณค่ากับสิ่ง
หนึ่งที่เกิดและดำรงอยู่มาช้านานแล้ว

“สิทธิ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแปลว่า “อำนาจอันชอบธรรม” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๕)

ลำพังคำว่า “อำนาจ” นั้นในทางสังคมวิทยา หมายถึง ความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่ง
สามารถกำหนดให้อีกบุคคลหนึ่งกระทำตามความต้องการของตน โดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการกระทำหรือไม่ หรือรู้สึกอย่างไร (สุริยา สมุทรคุปต์, ๒๕๓๖) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๒๕) ให้ความหมาย “อำนาจ” คือความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดได้ (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๕)

“สิทธิ” นั้นจึงไม่ใช่อำนาจหรือความมีอำนาจเพียงเท่านั้นแต่ “สิทธิ” ต้องเป็นอำนาจที่ถูกกำกับด้วย
“ความชอบธรรม” อันหมายถึงอำนาจที่ถูกต้องตามหลักธรรม ตามหลักของคุณงามความดี ความถูกต้อง ความยุติธรรม เช่น หลักศาสนา หลักกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ประเพณีและเกณฑ์คุณค่าที่คนในสังคมหนึ่ง ๆ ยึดถือร่วมกัน ในภาษาอังกฤษ “สิทธิ” จึงตรงกับคำว่า “right” ซึ่งแปลว่าความถูกต้อง ในบางตำราอาจใช้คำว่า “สิทธิอำนาจ” ในความหมายเดียวกัน

การที่คนผู้หนึ่งมี “สิทธิ” ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น จึงหมายถึงว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนผู้นั้นพึงมีพึงได้อย่าง
ถูกต้อง คนอื่นต้องยอมรับ จะขัดขวางหรือลิดรอนไม่ได้ (วีระ สมบูรณ์, ๒๕๔๕)

คนเราจะมี “สิทธิ” ได้นั้นเพราะเขามีฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งที่แน่นอน เช่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก
เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ถูกปกครอง ฯลฯ

“สิทธิมนุษยชน” ก็คือสิทธิในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ “สิทธิพลเมือง” ก็คือสิทธิในฐานะที่เป็น
พลเมืองของประเทศ ดังนี้

“สิทธิชุมชน” จึงเป็นสิทธิของชุมชน เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ชุมชนพึงมีพึงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ผู้อื่นต้องยอมรับ จะละเมิดหรือลิดรอนมิได้

“ชุมชน” ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง “หมู่ชน กลุ่มคน ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ใน
อาณาบริเวณเดียวกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๕) แต่ในความหมายที่กว้างขวางออกไปในสังคมสมัยใหม่ ปรากฏเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ที่สมาชิกอาจมิได้อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน แต่มีความผูกพัน มีผลประโยชน์เดียวกัน มีชะตากรรมร่วมกัน สมาชิกแต่ละคนนิยามตนเองว่าเป็นหนึ่งในวงสัมพันธ์นั้นและสังคมก็รับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น เช่น ชุมชนทางอากาศ ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เดือดร้อนจากการพัฒนา คนพิการ ฯลฯ ดังนั้น “ชุมชน” จึงหมายถึง วงสัมพันธ์ในลักษณะที่กว้างขวางออกไปดังกล่าวด้วย

ดังกล่าวแล้วว่า “สิทธิชุมชน” เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว “สิทธิชุมชน”
เป็นอุดมการณ์ที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนมาอย่างยาวนาน (ชลธิรา สัตยาวัฒนา,๒๕๔๖) จากการใช้ชีวิตร่วมกันของชาวชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข เกิดความเอื้ออาทรและผูกพัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้มีการคิดค้นหาวิธีการจัดการภายในให้ลุล่วงไป ความเป็นไปของชุมชนในลักษณะดังกล่าว พัฒนาให้เกิด “กฎเกณฑ์” ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นข้อบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมชนยึดถือร่วมกัน แฝงอยู่ในวิถีชีวิตชุมชน เกิดการผลิตซ้ำ เกิดการพัฒนาเป็นแบบแผนที่แข็งแรง ข้อบัญญัติดังกล่าวของชุมชน เป็นข้อบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “ขอบเขตอำนาจ” ที่สมาชิกแต่ละคนแต่ละฐานะพึงมี พึงได้รับท่ามกลางการดำเนินชีวิตด้วยกัน อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่ทุกคนยอมรับภายใต้ “คุณค่า ที่ยึดถือร่วมกัน” เป็นอำนาจที่มีความชอบธรรม ก็คือ “ระบบสิทธิ” ของชุมชนนั่นเอง

“คุณค่าที่ชุมชนยึดถือร่วมกัน” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยชีวิตชุมชน เช่น ความเชื่อเรื่องผี
บรรพบุรุษ, ผีปู่ตา, คุณค่าแห่งความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติและบุพการี การเคารพและให้คุณค่าในผลประโยชน์และทรัพย์สินส่วนร่วม ฯลฯ หรืออาจเป็นคุณค่าที่ชุมชนรับจากภายนอกมาผสมผสานเป็นคุณค่าของชุมชน เช่น หลักธรรมทางศาสนา กล่าวได้ว่า คุณค่าเหล่านี้เป็น “หลักทางศีลธรรม” ซึ่งทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

ระบบสิทธิ์ของชุมชนหรือสิทธิชุมชนปรากฏอยู่ในทุกมิติของชีวิตชุมชน ตั้งแต่ระบบการ
จัดการทรัพยากร ระบบเกษตรกรรม ระบบการดูแลสุขภาพ ระบบการศึกษา ระบบการปกครอง ระบบยุติธรรมของชุมชน ฯลฯ

แต่ในวงวิชาการให้ความสนใจและศึกษาอย่างเป็นระบบมากที่สุด ก็คือ “สิทธิในทรัพย์สิน” หรือลักษณะ
กรรมสิทธิ์ ซึ่งการศึกษา “พัฒนาการของสิทธิการถือครองที่ดินในสังคมโบราณ” ของ แม๊ค เวเบอร์ (Max Weber) ตั้งแต่ปี ๑๙๐๙ (๒๔๕๒) พบว่า สังคมต่าง ๆ ได้จำแนกแยกแยะสิทธิ์ในทรัพย์สินออกเป็นประเภทต่างๆ มากมาย ตั้งแต่กรรมสิทธิ์เอกชน กรรมสิทธิ์ของรัฐ และกรรมสิทธิ์ของชุมชน บนพื้นฐานของ “สิทธิในความเป็นเจ้าของ” (right of ownership) โดยมักจะปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการในกฎหมาย แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปถึงการจัดสรรที่เป็นจริงในสังคมต่าง ๆ กลับพบว่า การจัดการเกี่ยวกับการถือครองในที่ดินมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก แต่ละสังคมไม่ได้ยึดใน “สิทธิความเป็นเจ้าของ” อย่างเดียว หากยังใช้หลักการอื่นผสมผสานอยู่ด้วย เช่น หลักของ “สิทธิการใช้” (usefruct right) ซึ่งหมายถึงให้ผู้ที่กำลังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นมีสิทธิครอบครอง แต่จะสูญเสียสิทธิ์นั้นไปเมื่อเลิกใช้ที่ดิน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์แทนที่ (อานันท์ กาญจนาพันธุ์ ,๒๕๔๔)

ระบบสิทธิที่หลากหลายซับซ้อนของสังคมชุมชน ที่กล่าวถึงเป็น “สิทธิตามจารีตประเพณี” (customary right) ซึ่งมักจะแตกต่าง ขัดแย้งกับสิทธิตามกฎหมาย (legal right) ทั้งนี้ เพราะสิทธิตามจารีตประเพณี มักจะตั้งอยู่บนหลักของ “สิทธิทางศีลธรรม” อย่างเคร่งครัด ขณะที่สิทธิตามกฎหมายนั้นจะผสมผสานหลักการทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย (อานันท์ กาญจนาพันธุ์,เล่มเดียวกัน)

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของการสร้างองค์ความรู้ แนวคิดทฤษฎี เรื่อง “สิทธิ” จน
คลี่คลายมาถึง “สิทธิชุมชน” ในปัจจุบันนั้นมีรากฐานสำคัญมาจากการพัฒนาปรัชญาการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกในศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ซึ่งให้ความสำคัญกับ “สิทธิของปัจเจกชน” ในฐานะ “สิทธิของพลเมือง” และ “สิทธิทางการเมือง” อันเป็นที่มาของระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตย และระบอบทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือกรรมสิทธิ์เอกชนอันเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเติบโตงอกงามต่อมา แต่ก็ถูกท้าทายและวิพากษ์จากนักคิดสายสังคมนิยมซึ่งเห็นว่าสิทธิปัจเจกชนและระบอบทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นที่มาของความเสื่อมทรามทางศีลธรรม เป็นที่มาของการขูดรีดทางชนชั้นและลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงควรให้ความสนใจแก่ “สิทธิกลุ่ม”, “สิทธิร่วม” และแทนที่จะมีเพียงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องมี “สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม” ด้วย จนต่อมาในปี ๒๔๙๑ เมื่อสหประชาชาติประกาศ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” จึงต้องประกาศ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” ควบคู่ไปกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และต่อมาได้เปิดพรมแดนสู่มิติของสิทธิที่มีความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้เกิดความสนใจเรื่อง “สิทธิชุมชน” อย่างจริงจังถึงปัจจุบัน

๒. อุดมการณ์และหลักการของสิทธิชุมชน

๒.๑ สำนักแนวคิดสิทธิชุมชนเชื่อว่า “สิทธิ” หาใช่สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่ แต่เป็นประดิษฐ-
กรรมทางสังคมที่ผ่านการต่อสู้ต่อรอง หรือมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิดังกล่าว (กฤษฎา บุญชัย,๒๕๔๓) และเรื่องสิทธิ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะการอุปถัมภ์รับรองทางกฎหมายของรัฐเท่านั้น หากโดยแท้จริงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดกลุ่มเกิดการรวมตัวของกลุ่มชนเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์หรือสำนึกความเป็นตัวตนร่วมกัน และในที่สุดก็มีพลังความสามารถเพียงพอที่จัดตั้งระบบสิทธินั้นให้เป็นจริง เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมวงกว้างได้ (เสน่ห์ จามริก, ๒๕๔๗)

๒.๒ ในสังคมทุนนิยมและระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน “ปัจเจกชน” ไม่มีพลังเพียงพอ ที่จะจัดการกับปัญหาของตนเองหรือคุ้มครองสิทธิของตนเอง ขณะที่รัฐและกฎหมายไม่สามารถเป็นหลักประกัน มิหนำซ้ำบางกรณีรัฐกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิ รัฐกลายเป็นผู้มีตัวตนและผลประโยชน์เสียเอง (ประภาส ปิ่นตบแต่งและคณะ,๒๕๔๕) พลังของกลุ่มหรือชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างอำนาจต่อรองถ่วงดุลอำนาจภายนอก นี่เป็นเหตุผลสำคัญของการผลักดันให้ “สิทธิชุมชน” มีฐานะบทบาทขึ้นในสังคม

๒.๓ อุดมการณ์สิทธิชุมชนวางอยู่บนหลักการพื้นฐาน ว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม คำนึงถึงการอยู่รอดร่วมกันของชุมชน – สังคมส่วนรวม ในการจัดการทรัพยากรหรือสิทธิด้านอื่น ๆ ล้วนต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วม สามารถเข้าถึงและมีการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและมีวิธีการใช้ที่เปิดโอกาสให้มีการทดแทนทางธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อไปได้ใช้ แตกต่างจากระบบ “สิทธิปัจเจก” ที่เน้นการครอบครอง การใช้ที่มุ่งประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่ “สิทธิของรัฐ” กลับจัดการทรัพยากรเพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างล้างผลาญ (กฤษฎา บุญชัย,เล่มเดียวกัน)

๒.๔ สิทธิชุมชนเป็นรูปแบบสิทธิเชิงซ้อนและมีเนื้อหาหลากหลาย สิทธิเชิงซ้อน หมายถึง การ
ดำรงอยู่ของสิทธิของหน่วยทางสังคมหลายหน่วยและสิทธิหลายแบบบนพื้นที่เดียวกัน เช่น ป่า - ที่ดินที่อยู่ใน “สิทธิครอบครอง” ของรัฐ แต่ชุมชนมี “สิทธิในการจัดการและควบคุม” ขณะที่ชาวบ้านมี “สิทธิการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์” การคำนึงถึงสิทธิเชิงซ้อน จะช่วยให้มีทางเลือกและความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ (อานันท์ กาญจนาพันธุ์ ,๒๕๔๔)

ส่วนความหลากหลายในเนื้อหานั้น มิติสิทธิชุมชน ดำรงอยู่ในทุกส่วนของชีวิตชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ
ด้านการปกครอง ระบบยุติธรรม ระบบสุขภาพ การศึกษา ด้านประเพณี พิธีกรรม อัตลักษณ์ของชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้ มีผู้ทดลองแบ่งสิทธิชุมชนเป็น ๓ ด้านใหญ่ ๆ คือ ๑) สิทธิการจัดการทรัพยากร ๒) สิทธิในอัตลักษณ์ และ๓) สิทธิในการ (แสวงหาทางเลือก) พัฒนาและการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง (ไพโรจน์ พลเพชร,๒๕๔๗) มิติเนื้อหาหลายด้านนี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่า ชุมชนเป็นระบบสังคมระบบหนึ่ง ที่มีการดูแลจัดการปกครองตัวเอง (โปรดดูแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในหัวข้อต่อไปประกอบ)

๒.๕ “สิทธิชุมชนมีลักษณะของการมีส่วนร่วม” หรือดึงภายนอกเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องจัดการ มิได้กีด
กันการมีส่วนร่วมจากภายนอกชุมชน แต่ต้องการให้ภายนอกมาร่วมสนับสนุน ถ่วงดุลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สาธารณะ และรัฐ

สิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนสิทธิปัจเจก และสิทธิรัฐที่เจ้าของใช้สิทธิ์
ตนเองกีดกันการเกี่ยวข้องจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ เศรษฐกิจชุมชน หรือการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องการการสนับสนุนจากเครือข่ายท้องถิ่น ประชาสังคม และรัฐ อย่างไรก็ดี ชุมชนก็ได้สร้างเงื่อนไข กติกา ที่มีการควบคุมการใช้จากภายนอก ป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งกล่าวได้ว่า สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่กินดูแลทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเป็นอันดับแรก คนภายนอกจะมาอ้างสิทธิเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนเมือง มาอยู่เหนือการมีชีวิตรอดของชุมชนไม่ได้ ระดับของการมีส่วนร่วมจึงลดหลั่นกันไปตามความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตและสังคม อย่างไรก็ตามลักษณะของการกีดกันคนภายนอกอาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือการแย่งชิงทรัพยากร หรือในโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม แต่โดยทั่วไปสิทธิชุมชน มักมีลักษณะการมีส่วนร่วมจากภายนอกมากกว่าการกีดกัน

หลักการสำคัญของ “การมีส่วนร่วม” ก็คือ เป้าหมายของสิทธิชุมชน มิใช่เพื่อประโยชน์
เฉพาะส่วนของชุมชนเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย การดูแลรักษาป่า การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม (กฤษฎา บุญชัย,๒๕๔๓)

๒.๖ “สิทธิ” เป็นสองด้านของเหรียญที่อยู่ตรงกันข้ามกัน ด้านหนึ่งของเหรียญ คือ “อำนาจ” อีกด้าน
หนึ่งคือ “หน้าที่” ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีทั้งอำนาจ - หน้าที่ภายในชุมชน และอำนาจ - หน้าที่ระหว่างชุมชนกับภายนอก (ชลธิรา สัตยาวัฒนา,๒๕๔๖) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้มีอำนาจย่อมต้องมี “หน้าที่” หรือความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน และหน้าที่นั้นก็มีฐานคิดที่มีศีลธรรม ความถูกต้องนั่นเอง ดังพบว่าในพิธีกรรมคำสอน วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน มักมุ่งสอน “หน้าที่” แก่สมาชิกชุมชน หน้าที่ของคนหนึ่งจะเป็นตัวบ่งบอก “สิทธิ” ของอีกฝ่ายหนึ่งในคู่ความสัมพันธ์ไปพร้อมกัน

๒.๗ ความเป็นพลวัตของสิทธิชุมชน ระบบสิทธิหรือแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งภายใน
ชุมชน และระหว่างชุมชนกับภายนอกนั้น มีลักษณะของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ขัดแย้งต่อสู้ ต่อรอง ช่วงชิง ประนีประนอม ประสมประสาน และการปรับดุลความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลาในรูปของการสร้างข้อตกลงใหม่ กติกาใหม่ ด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืนในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ชุมชนอยู่รอด มีความมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก

ดังนั้น ข้อตกลงร่วมของ “คนภายในชุมชน” จึงมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทของความเปลี่ยนแปลงของฐานทรัพยากร ระบบการผลิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และปัจจัยอื่น ๆ ภายในชุมชนซึ่งอาจมีความเปลี่ยนแปลงจากภายในหรือถูกกระตุ้นท้าทายจากปัจจัยภายนอก อีกด้านหนึ่งดุลอำนาจระหว่างชุมชนกับสังคมภายนอก รัฐและทุนก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อสู้ ต่อรอง ที่แต่ละฝ่ายกระทำต่อกัน

๒.๘ สิทธิชุมชนเป็นสิทธิในการต่อสู้เพื่อดำรงรักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของชนทุกกลุ่ม
สิทธิชุมชนเป็นระบบคิดที่มีเหตุผล ผ่านการตรวจสอบและพิสูจน์ในชีวิตจริงมาเป็นเวลาช้านานในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรม ระบบความเชื่อต่าง ๆ ของชุมชนนั้น ถือเป็น ”ระบบคุณค่า” และสะท้อนให้เห็นถึง “อุดมการณ์อำนาจ” ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม ความเชื่อนี้เป็นพื้นฐานของการวางระเบียบข้อบังคับและจารีตประเพณีต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อุดมการณ์อำนาจในรูปของความเชื่อดังกล่าวมีการ “ผลิตซ้ำ” ผ่านสมาชิกของชุมชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใหม่ตามสถานการณ์และเงื่อนไขใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่สำคัญมุมมองด้านวัฒนธรรมยังเป็นการให้ความเคารพต่ออัตลักษณ์ และความหลาก
หลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ยศ สันติสมบัติ, ๒๕๔๖)

๒.๙ สิทธิชุมชนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยรากหญ้า * ที่เกิดขึ้น ในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันรวมศูนย์อำนาจ ครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว (Monoculture) ที่ดูดกลืนชายขอบ สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชน ให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง มีการเคารพความหลากหลาย ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา กำหนดวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และแบบแผนการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์และวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งรัฐต้องมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายสนับสนุน

นัยของสิทธิชุมชนดังกล่าวมีความลึกซึ้ง กว้างขวางกว่าคำว่า “กระจายอำนาจ”, “การมีส่วนร่วม”, “ประชาสังคม”, ธรรมรัฐ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายล่องลอย (floating significance) ที่รัฐหรือทุนหยิบมาใช้โดยขาดวิญญาณเพื่อประชาชนคนชายขอบอย่างแท้จริง (กฤษฎา บุญชัย, ๒๕๔๓)

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขบวนการ “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” มิใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์
เฉพาะแต่ในสังคมการเมืองไทยเท่านั้น หากยังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก นับเป็นอีกมิติหนึ่งของสถานการณ์ “โลกาภิวัตน์จากส่วนล่าง” คู่ขนานไปกับโลกาภิวัตน์จากเบื้องบน (เสน่ห์ จามริก, ๒๕๔๗)

๒.๑๐ สิทธิชุมชนในกระบวนการด้านนิติศาสตร์ สิทธิชุมชนถือเป็นระเบียบกฎหมายระดับชุมชน
ซึ่งเป็นกฎหมายแบบจารีตประเพณี ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญต่อการยึดถือปฏิบัติในวิถีชุมชนทั่วไป ในหลาย ๆ เรื่องมีอิทธิพลมากกว่าระเบียบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเสียอีก

แต่การเกิดขึ้นของรัฐชาติยังผลให้รัฐและสังคมให้ความสำคัญและความชอบธรรมเฉพาะต่อกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทิศทางที่ควรจะเป็นในปัจจุบันคือ ต้องรื้อฟื้นและส่งเสริมระเบียบสังคมชุมชนตามจารีตประเพณีให้เข้มแข็งขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ระบบนิติศาสตร์ก็จะต้องตกเป็นจำเลยที่ละเมิดลิดรอนสิทธิของชุมชนเสียเอง (เสน่ห์ จามริก,เล่มเดียวกัน)

ในปัจจุบันแม้รัฐธรรมนูญ (๒๕๔๐) ได้บัญญัติเนื้อหาที่เปิดโอกาสให้แก่การสร้างสรรค์ ยกระดับสิทธิชุมชนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติถือว่ายังมีผลน้อยมาก ความหวังจึงต้องกลับไปทบทวนความที่อธิบายไปแล้วในข้อ (๒.๑.๒.๑) และควรคำนึงไว้เสมอว่า

“มีสิทธิ์ ไม่ใช้สิทธิ์ ไม่ได้สิทธิ์”

๓. ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวสิทธิชุมชน**

การเคลื่อนไหวผลักดันสิทธิชุมชน จะต้องเคลื่อนไหวทั้ง ๔ ระดับ คือ

๓.๑ ระดับวาทกรรม สร้างความหมาย ความรู้ ความชอบธรรมให้แก่แนวคิดสิทธิชุมชน โดยทั้งนี้จะต้อง
สร้างวาทกรรมสิทธิชุมชนในความหมายกว้างและหลากหลาย เพื่อให้รัฐและสังคมยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และเชื่อมโยงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะชุมชนชายขอบ หรือมีแต่เรื่องป่าชุมชน แต่เป็นการสร้างสถาบันทางสังคมของประชาชนทั้งเมืองและชนบทในการจัดการตนเอง และผลที่ได้ก็มิใช่แค่ชุมชนของตน แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมของสังคมด้วย

๓.๒ ระดับโครงสร้าง จะผลักดันให้เกิดกลไก สถาบัน ในการจัดการทรัพยากรเพื่อมาสนับสนุนการจัดการของชุมชนให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เช่น มาตรการภาษีที่ดิน การปฏิรูปการถือครองที่ดิน การจัดการน้ำที่ชุมชนมีส่วนร่วม หรืออื่น ๆ ให้มีทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อถ่ายโอนทรัพยากรและผลประโยชน์จากผู้ควบคุมทรัพยากรมาสู่คนที่เข้าถึงทรัพยากรได้น้อย พัฒนาระบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพโดยสังคมร่วมตรวจสอบ กระบวนการกำหนดนโยบายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้โดยอาศัยรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนหลักการสิทธิชุมชน และขับเคลื่อนเพื่อให้ได้นโยบายและกฎหมายของรัฐที่จะสนับสนุนสิทธิชุมชน โดยนโยบายหรือกฎหมายดังกล่าวหาใช่การกำหนดกฎระเบียบในการควบคุมชุมชน อันเป็นกลไกทางสังคมได้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและมีฐานะเป็นกฎหมาย การได้มาซึ่งโครงสร้างหลัก และมาตรการสนับสนุนกลไกของท้องถิ่น จะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชน และสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๓.๓ การเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านวัฒนธรรม ฟื้นฟูสำนึก/อัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยสนใจมิติของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) เชื่อมโยงกับอำนาจทางมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง การพัฒนาเครือข่ายตามภูมินิเวศ กลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มอาชีพ สนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการต่อสู้กับการละเมิดสิทธิ และสนับสนุนชุมชนพัฒนาองค์ความรู้ สถาบัน ระบบการจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคมของตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เป็นอิสระ โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการสนับสนุนทางวิชาการและการผลักดัน

๓.๔ ระดับความเชื่อมโยงกับกระแสภายนอก ภายใต้สถานการณ์ทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน ที่รัฐร่วมกับ
ทุนต่างชาติเข้าแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่น การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนจะต้องวิเคราะห์เชื่อมโยงให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และพัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหว การสร้างกลไก สถาบันในการต่อสู้ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

โดยยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ พุ่งเป้าไปที่สังคมมากกว่าโครงสร้างรัฐเพียงอย่างเดียว เมื่อแนวคิดสิทธิชุมชน
สามารถขยายพื้นที่ทางสังคมได้มากขึ้น และมีภาคปฏิบัติการ มีการจัดกลไก สถาบันทางสังคมหลายรูปแบบ เพื่อมาสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิชุมชนได้มากขึ้น โดยความร่วมมือของพันธมิตรที่หลากหลาย จากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ กลุ่มองค์กรสาธารณะในภาคประชาสังคมร่วมสร้างพลังทางความคิดและการปฏิบัติการ ก็จะมีพลังในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจให้รัฐและทุนอ่อนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ความเป็นรัฐชาติหรือความเป็นชาติกำลังถูกท้าทายจากทุนนิยมโลก การเคลื่อนตัวของประชาชนจะต้องมีความชัดเจนในทางทฤษฎี ยุทธศาสตร์ และมีรูปแบบ (Model) การจัดการตนเองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ชัดเจน เพื่อที่จะเป็นพลังในการต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ โดยสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของท้องถิ่น (Localization) ลอดรัฐ พ้นไปจากความเป็นชาติอันคับแคบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างนโยบาย กลไก จัดสัมพันธ์อำนาจใหม่ ไปสู่สังคมพหุลักษณ์ (Pluralistic Society) ที่ความหลากหลายและเท่าเทียมกันในที่สุด

0000

*ยศ สันติสมบัติ อธิบายว่า สิทธิชุมชนมีฐานะเป็นขบวนการทางสังคมเพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วม...หรือต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก ขบวนการสิทธิชุมชนยังมิได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงชุมชนใดชุมชนหนึ่งโดดๆ แต่มีการรวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายจากหลากหลายพื้นที่ เช่น การรวมตัวกันผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนในปัจจุบัน (ยศ สันติสมบัติ,๒๕๔๖)

**กฤษฎา บุญชัย สังเคราะห์จากวงเสวนา “ฐานคิดและยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนในสายธารโลกาภิวัตน์” จัดเมื่อ ๑๐-๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อานันท์ กาญจนาพันธุ์ ,วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ,ผาสุก พงษ์ไพจิต ,เดช พุ่มคชา, เหลาไท นิลนวล ,ศยามล ไกยูรวงษ์ ,กฤษฎา บุญชัย , ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ชยันต์ วรรธนภูติ , เนตรดาว แพทย์กุล ,บัญชร แก้วส่อง ฯลฯ จัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มีวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

ปล. ผู้นำมาลงเห็นบทความชิ้นนี้ให้แง่ และเรียบเรียงขึ้นมาเพื่ออธิบายเรื่องสิทธิชุมชน และเห็นว่าเป้นประโยชน์ แก่มวลสมาชิก จึงนำมาลง อนึ่ง สนั่น ชูสกุล เป็นนักพัฒนาชุมชน ขณะเดียวกันเป็นนักเขียน กวี เคยได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจากเรื่อง ช้างเหยียบนา พญาเยียบเมือง และมีนวนิยาย หลายเล่ม เช่น อีกโค้งหนึ่งก็ถึงแล้ว,ผู้คุ้มครอง เป็นอาทิ

ด้วยจิตคาราวะ

มหา สุรารินทร์




Post : มหา สุรารินทร์
Date : 23-02-2007 16:41:15
IP : 58.9.148.157



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ