ReadyPlanet.com
dot dot
เขาพระวิหาร: "มรดกโลก" ของกัมพูชา

เขาพระวิหาร: "มรดกโลก" ของกัมพูชา
 
 
เอกสารเสวนา: เขาพระวิหาร: มรดกโลกของเขมร พฤหัส 19 กรกฎาคม 15.00-18.00 ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร กทม. 15.00 บรรเลงปี่พาทย์ ระบำลพบุรี ระบำอัปสร เพลงตับเขมร ขอมดำดิน อำนวยการโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ 16.30 "เสวนา: เขาพระวิหาร มรดกโลกของเขมร" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธีรภาพ โลหิตกุล, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 
เขาพระวิหารเป็นของ "ใคร"
หากท่านจะลองถามตัวเองหรือคนไทยทั่วๆ ไปว่า เขาพระวิหารเป็นของใคร มักจะได้รับคำตอบว่า เขาพระวิหาร
"น่าจะเป็นของไทย" เพราะโดยหลักของเส้นพรมแดนธรรมชาติแล้ว เขาพระวิหารตั้งอยู่บนเทือกเขา "พนมดงเร็ก" (ไทย) ในขณะที่ทางด้านทิศใต้ (เขมร) เป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 600 เมตร หรือสูงจากผืนแผ่นดินเขมร "เขมรต่ำ" ถึง 500 เมตร
แต่ศาลโลกที่กรุงเฮก ตัดสินคดีเขาพระวิหารเมื่อ พ.ศ.2505 ด้วย คะแนนเสียงถึง 9 ต่อ 3 ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร ทั้งนี้ โดยใช้หลักการจากสนธิสัญญาปี ค.ศ.1904 และ 1907 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ฝรั่งเศสได้ขีดพรมแดนให้เขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีน การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้น ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติง ดังนั้น การนิ่งเฉยก็เท่ากับเป็นการยอมรับหรือ "กฎหมายปิดปาก" นั่นเอง ถ้าจะถามว่า รัฐบาลสยามในสมัยราชาธิปไตย ยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของอินโดจีนฝรั่งเศสใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ "ใช่"

เมื่อเกือบ100 ปีที่แล้ว เขาพระวิหาร อาจหาได้มีความสำคัญในจิตใจของชาวสยาม อาจเป็นไปได้ว่า คนสยามส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อเขาพระวิหารด้วยซ้ำไป

อาจมีเพียงชนชั้นเจ้านาย ที่มีการศึกษาหรือมีความสนใจในด้านโบราณคดีเท่านั้น ที่รู้จักเขาพระวิหาร ดังเช่น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2472 ที่เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถานมณฑลนครราชสีมา (ลาวกลาง) ได้เสด็จไปยังเขาพระวิหารด้วย และก็ได้ทรงแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ข้าราชการอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งก็ได้มาถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการ มีการประดับธงทิวฝรั่งเศสเหนือปราสาทนั้น และก็ได้กลายเป็นหลักฐานอย่างดี ที่เขมรจะนำมาใช้ในการต่อสู้คดีกับไทยในปี 2505 ว่าสยามยอมรับว่า เขาพระวิหารขึ้นอยู่กับอธิปไตยของอีกฟากหนึ่งของพรมแดน

อีก 3 ปีต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผู้นำใหม่ของ "สยาม" ที่กำลังเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม ให้เป็นประเทศไทย (2482) และสร้างบรรยากาศของ "ลัทธิชาตินิยมแบบทหาร" (หรืออำมาตยา-เสนาธิปไตย) ได้เริ่มต้นเรียกร้อง ให้มีการปรับปรุงพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส จนกระทั่งเกิดสงครามขึ้นในช่วง 2483-2484 เป็นผลให้ไทยได้ดินแดนเพิ่มขึ้น 4 จังหวัด คือ ไชยะบูลี (ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทยว่า "จังหวัดลานช้าง") นครจำปาศักดิ์ เสียมราฐ (เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) และพระตะบอง
ในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ"
สรุปได้ว่า ทั้งในสมัยราชาธิปไตย และสมัยประชาธิปไตยตอนต้น
(สมัยแรกของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 2481-2487) นั้น เรายังไม่เกิดความคิดว่าเขาพระวิหารเป็น "ของไทย" แต่อย่างใด
แล้วเรามาคิดว่า เขาพระวิหารเป็น "ของเรา" เมื่อไร คำตอบก็คือเมื่อ "ลัทธิชาตินิยมแบบทหาร" (หรืออำมาตยา-เสนาธิปไตย) เริ่มลงหลักปักฐาน เปลี่ยนการมองแนวพรมแดนของประเทศใหม่ใน "สกุลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ" (แทนการมองแบบ "ราชาชาตินิยม" หรือ "สกุลดำรงราชานุภาพ")

ภายหลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยต้องการปรับสถานะของตนมิให้เป้นประเทศ "แพ้สงคราม" ตามญี่ปุ่นไปด้วยนั้น ไทยได้ยอมคืนดินแดนทั้งหมดที่ได้มาให้แก่อังกฤษ คือ ไทรบุรี (เคคาห์) ปะลิส กลันตัน ตรังกานู (ไทยสมัยพิบูลสงครามขนานนามใหม่ว่า "สี่รัฐมาลัย") และสหรัฐไทยเดิม (เมืองเชียงตุงและเมืองพานใน "รัฐฉาน") และคืนให้แก่ฝรั่งเศสคือ 4 จังหวัดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ไซยะบูลี จัมปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบอง)

แต่อินโดจีนของฝรั่งเศสลุกเป็นไฟด้วยสงครามกู้ชาติใน ลาว เขมร และเวียดนาม และเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับออกไปในปี
2479 (ค.ศ.1954 สงครามเดียนเบียนฟู) ก็ดูเหมือนจะเกิดช่องว่างแห่งอำนาจและทางการเมืองขึ้นทั่วอินโดจีน น่าเชื่อว่าตอนนี้นั่นแหละ ที่กองทหารไทย (ในสมัยยุคหลังของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2491-2500) ที่ได้ขึ้นไปครอบครองเขาพระวิหารเอาไว้ และเริ่มกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาพระวิหารเป็น "ของไทย" หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น

มีการเสนอความคิดว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" ดังนั้น เมื่อ "ขอม" มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมร เขมรปัจจุบัน ก็ไม่มีสิทธิจะครอบครองเขาพระวิหาร หรือการเสนอแนวคิดเรื่อง "คนไทยอยู่ที่นี่" มาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว ดังนั้น คนไทยก็น่าจะเป็นแรงงานกรรมกรในการสร้างพระวิหาร ตลอดจนบรรดาปราสาทขอมทั้งหลายในอีสาน เหตุนี้ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของไทย ที่จะได้เขาพระวิหารไว้

วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น "ของไทย" แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงประชาสัมพันธ์ "ชาตินิยมไทย" เช่น "นายหนหวย" เป็นต้น และยังถ่ายทอดต่อมาในการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร

แน่นอน กรณีสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การที่เขมรในสมัยประมุขของรัฐ "นโรดมสีหนุ" ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อปี 2502 และอีก 3 ปีต่อมา ไทยก็แพ้คดีนี้ไปในปี 2505 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ต่อสู้เพื่อยืนยัน "สิทธิ" ของไทยอย่างเต็มที่ในรูปของ "การเมืองมวลชน" มีการเรี่ยไรเงินคนไทยคนละ 1 บาท เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของทนายฝ่ายไทย (ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช) ซึ่งคิดว่าไทยจะชนะแน่นอน แม้แต่เมื่อฝ่ายทนายไทยขึ้นเครื่องบินเดินทางไปกรุงเฮก ก็เห็นเมฆแปรรูปเป็น "ช้างเผือก" ถือว่าเป็นลางดีของไทยที่จะชนะคดี เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อกลับกลายเป็นไทยแพ้ รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปกครองประเทศโดยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมือง ห้ามการชุมนุมทางการเมือง ก็สนับสนุนและยินยอมให้นิสิตนักศึกษาเดินขบวน ประท้วงมติของศาลโลกได้อย่างเต็มที่ เพียงครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย
 
ความสัมพันธ์ไทย-เขมร "ทั้งรักทั้งชัง"
ไทยกับเขมร มีพรมแดนติดกันยาวถึง
800 กิโลเมตร จากจุดที่เรียกว่า "ช่องบก" อุบลราชธานี (ที่พรมแดนไทย-ลาว-เขมร มาบรรจบกันจนบางคนอยากตั้งชื่อว่า "สามเหลี่ยมมรกต") เรื่อยมาในเขตอีสานใต้ แล้วเลาะลงตามชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี (สระแก้ว) ไปสิ้นสุดที่ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
พรมแดนอันยาวเหยียดนี้ ยังหมายถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยกับขอม
-เขมรก่อนสมัยสุโขทัยอีกด้วย ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้ เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ "ทั้งรักทั้งชัง" หรือ love-hate relationship เหมือนๆ กับความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเกาหลี กล่าวคือสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมประเพณีญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลและมรดกตกทอด มาจากเกาหลีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา ผ้าแพรไหม เครื่องเคลือบ สถาปัตยกรรมและประติมากรรม สิ่งที่ญี่ปุ่นกล่าวว่าเป็นอิทธิพลจีน อันสูงส่งที่ผ่านเข้ามากลายเป็นญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่มีเกาหลีเป็นสื่อกลางสืบทอดเกือบทั้งสิ้น แต่ความสำเร็จในการปฏิรูปและการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ทำให้ญี่ปุ่นมองข้ามเกาหลี ซ้ำยังมองด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยามอีกด้วย
วัฒนธรรมประเพณีไทยปัจจุบัน ที่เราถือว่ามีต้นกำเนิดจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา สถาปัตยกรรม ลวดลายทางศิลปะ หรือแม้คำศัพท์ในภาษาไทย หาได้รับโดยตรงจากมือหนึ่งในอินเดียไม่ เรารับถ่ายทอดผ่านมือสองเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา
(รวมทั้งทมิฬ) มอญ เขมร และแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ในส่วนที่เป็น "สมมุติเทวราช" ตลอดจนประเพณีราชสำนัก ราชาศัพท์ต่างๆนานา จน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เคยกล่าวได้ว่า "derived from Cambodia"
ผู้นำไทยในอดีต ตื่นเต้นและชื่นชมกับอะไรๆ ที่เป็นขอม

-เขมร อยู่มาก ขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ผู้มีส่วนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ก็ได้พระนาม "ศรีอิทรบดินทราทิตย์" (ก่อนที่จะถูกแปลงเป็นศรีอินทราทิตย์) มาจาก "ผีฟ้า" เมือง "ศรียโสธร" พร้อมๆ กับการได้ "พระขรรค์ไชยศรี" มาเป็นเครื่องราชูปโภค และนาง "สุขรมหาเทวี" มาเป็นมเหสี
นี่คือข้อความจากศิลาจารึกหลักที่
2 หรือจารึกวัดศรีชุม (ที่ยังไม่เคยถูกตั้งข้อกังขาว่าทำปลอมขึ้น) คำภาษาไทยว่า "ผีฟ้า" อันเป็นศัพท์ที่สูงส่งสำหรับตำแหน่ง "กษัตริย์" กับคำว่า "ศรียโสธรปุระ" หมายถึงกษัตริย์ขอม (เขมร) แห่งเมืองนครวัดนครธม นั่นเอง
ดังนั้น ของสูงของไทยแต่แรกไม่ว่าจะเป็น
"ศรีอิทรบดินทราทิตย์" "พระขรรค์ไชยศรี" และ "สุขรมหาเทวี" ก็มีต้นกำเนิดจากกัมพูชา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแหล่งศิลปวิทยาการ และความบันดาลใจของชนเผ่าไทย/ลาว
เรื่องดังกล่าวนี้ มีกรณีแบบเดียวกัน และซ้ำกันในกรณีของ ฟ้างุ้ม ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ฟ้างุ้มเสด็จไปลี้ภัยการเมืองที่นครวัด

-นครธมของเขมร และก็ได้ทั้ง "พระบาง" อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ได้ทั้งมเหสีคือธิดาขอม สถาปนาตั้งตนเป็นใหญ่เหนือชนลาวทั้งมวลได้ (พ.ศ.1896 หลังสุโขทัยเกือบหนึ่งร้อยปี และหลังพระเจ้าอู่ทองสถาปนาอยุธยาเพียง 3 ปี)
ความประทับใจและชื่นชมในอะไรที่เป็นเขมรๆ นั้นสืบทอดมาในสมัยอยุธยา และที่น่าสนใจก็คือ ศิลปวัฒนธรรมเขมร ที่มาปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในราชสำนักไทยนั้น เป็นผลของการสงคราม เป็นสงครามที่ผู้แพ้ มีอารยธรรมสูงกว่า ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมให้แก่ผู้ชนะ
อาณาจักรขอม

-เขมร อันรุ่งเรือง ต้องสูญสลายลงก็ด้วยสงครามเสียกรุงศรียโสธรปุระ (นครวัด-นครธม) 3 ครั้ง ถูกพระเจ้าอู่ทองตีครั้งที่ 1 พระราเมศวรครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 พ.ศ.1974 พระเจ้าสามพระยาตีแตกย่อยยับ นับแต่นั้นนครวัด-นครธมก็ล่มสลาย เขมรต้องย้ายเมืองหลวงหนีไปให้ไกลจาก ไทยอยุธยา ไปยังเมืองละแวก เมืองอุดงมีชัย และเมืองพนมเปญในที่สุด การเสียกรุงศรียโสธรปุระ พ.ศ. 1974 เปรียบได้รับการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่อยากกล่าวถึง ไม่มีในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะทำให้คนไทยดูกลายเป็นคน "เลวร้าย" เฉกเช่นพม่า

แต่การที่เขมรเสียกรุงและไทยได้กรุง (ศรียโสธรปุระ) นั้น ทำให้ศิลปวัฒนธรรมเขมรเฟื่องฟูในอยุธยา เข้าทำนองมองโกลที่ชนะจีน แต่ก็รับอารยธรรมจีน เป็นวัฒนธรรมของตน (ตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองปักกิ่ง) ศาสตราจารย์เดวิด วัยอาจ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคยกล่าวว่าโดยแท้จริงแล้ว "Ayudhya is the successor of Angkor" นั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งในสมัยอยุธยา ก็คือสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่ทรงใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร สร้างพระปรางค์ประธานของวัดไชยวัฒนาราม ตลอดจนสร้างที่ประทับที่ริมแม่น้ำป่าสักและพระราชทานนามว่า
"นครหลวง" (อยู่ในอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน) เป็นการถ่ายทั้งรูปแบบ และชื่อมาจากนครวัด-นครธมนั่นทีเดียว คนไทยสมัยอยุธยา เรียกเมืองหลวงของเขมรที่นครวัด-นครธมว่า "พระนครหลวง"
เจ้านายไทยหรือชนชั้นสูง ที่โปรดอะไรเป็นเขมร

-ขอม นั้น ก็มีต่อมารจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงขนาดว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ให้ไปรื้อปราสาทหินของเขมรมาไว้ในเมืองไทย แต่ "พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวง พระนครธมพระนครวัด กลับมากราบทูลว่า...มีแต่ปราสาทใหญ่ๆทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเป็นจะไม่ได้ "ตกลงก็เลยทรงรับสั่งให้รื้อ "ปราสาทตาพรหม" ซึ่งมีขนาดย่อมกว่า โดยส่งคนออกไป" 4 ผลัดๆ ละ 500 คน ให้แบ่ง
เป็นกองชักลากบ้าง กองส่งบ้าง
...ตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาทเมื่อ ณ วันเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ"
เหตุการณ์โยกย้ายปราสาทเขมรดังกล่าวปรากฏใน "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4" ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเป็นเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2403 ก่อนหน้าที่สยามจะเสีย "ประเทศราช" กัมพูชาไปเป็นของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2410 เราไม่ทราบเหตุผลเบื้องหลังที่แน่ชัดว่า ทำไมรัชกาลที่ 4 ถึงโปรดจะให้รื้อปราสาทหินมหึมาจากเขมร ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังคืบคลานเข้ามาเขมือบดินแดนอินโดจีน แต่ที่น่าสนใจก็คือ การรื้อถอนครั้งนั้น ล้มเหลว เพราะ "มีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 พระวังตายคน 1 บุตรพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตร ป่วยเจ็บหลายคน แต่ไพร่นั้น ไม่ทำอันตราย แล้วหนีเข้าป่าไป"

เป็นอันว่าชาวเขมรโกรธแค้นการลักลอบเอาสมบัติของเขาเหมือนกัน และดูจะรุนแรงกว่าไทยตอนทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ คืนจากอเมริกาด้วยซ้ำไป ทำให้รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการ "รื้อ" ปราสาทเปลี่ยนเป็นให้จำลองปราสาทนครวัดเล็กๆ "ให้ช่างกระทำจำลองตามที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนทุกวันนี้" (คือที่วัดพระแก้ว ที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นก็ยังมาดู เมื่อเดินทางมาเจรจาความเมือง กับนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน) ไทย "รัก" และชื่นชมกับอะไรที่เป็นเขมรๆ แต่ก็ "ชัง" เขมรไม่น้อย ดังในการบันทึก "พิธีปฐมกรรม" ตัดเศียรนักสัตถากษัตริย์เขมร มาล้างพระบาทของพระนเรศวร แต่เป็นเหตุการณ์ที่ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ค้นคว้าพิสูจน์ว่า มิได้เกิดขึ้นจริงตามพงศาวดารไทย เพราะนักสัตถาเสด็จหนีไปได้และไปลี้ภัยที่เมืองลาว

ไทยมองผู้นำและกษัตริย์เขมรในฐานะผู้ทรยศและเนรคุณ เจ้านโรดมสีหนุ ผู้นำเขมร ไทยก็ไม่ชอบหน้านัก ถึงขนาดมีการตั้งคำถามทีเล่นทีจริงว่า
"สีอะไรเอ่ย คนไทยเกลียด" ไม่ใช่สีแดงสีดำ "แต่เป็นสีหนุ" นั่นเป็นการมองด้วยสายตาของเรา แต่เขมรมองนักสัตถา หรือสีหนุอย่างไร เขาก็คงมองว่าวีรบุรุษเหล่นนั้น เป็นนักกู้ชาติ ต้องการกอบกู้เอกราชให้ชาติเขมร ที่ต้องสูญเสียอธิปไตยให้แก่ไทย ทำนองเดียวกับที่ประวัติศาสตร์ลาว จะถือว่า เจ้าอนุวงศ์คือวีรบุรุษ ผู้พยายามกู้ชาติลาว แต่ไทยถือว่านี่คือ "ขบถ" ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปราสาทเขาพระวิหารเพชรยอดมงกุฎสถาปัตยกรรมเขมร
เชื่อหรือไม่ว่า ขอม

-เขมรแห่งอาณาจักรนครวัด-นครธม จะต้องมีวิชาสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมอย่างแน่นอน แผนผังของปราสาทเขาพระวิหาร จากบันไดขั้นแรกไปจนถึงหน้าผา "เป้ยตาดี" เกือบ 1 กิโลเมตร (848 เมตร) นั้น ถูกกำหนดให้ผู้จากริกแสวงบุญ "ต้องไต่ขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ประหนึ่งขึ้นไปยังยอดของขุนเขา อันมีนามเป็นทางการว่า "ศิขเรศวร" (ศิขร+อิศวร) หรือ "เจ้าแห่งขุนเขา" ระยะทางที่ผ่านไปต้องผ่าน "โคปุระ" หรือซุ้มปราสาทสองแห่ง ก่อนเข้าสู่ปราสาท 3 หลัง หลังสุดท้ายหรือปราสาทหลังที่ 1 นั้น ตั้งอยู่สูงสุดเหนือชง่อนผา ที่ดิ่งลงเป็นเหวทำมุม 90 องศา 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลหรือ 500 เมตรเหนือ "เขมรต่ำ" ปราสาทหลังสุดท้าย เป็นที่สิงสถิตของ "ศิวลึงค์" องค์แทนพระศิวะเทพเจ้าสูงสุด เขาพระวิหารเป็นประหนึ่ง "เพชรยอดมงกุฎ" ของสถาปัตยกรรมเขมรประดับเหนือพนมดงเร็ก การวางแผนผังของปราสาทสมบูรณ์ที่สุด ไม่ว่าจะเทียบกับปราสาทพนมรุ้ง พิมาย หรือแม้แต่นครวัด-นครธมเอง เริ่มจากบันไดด้านหน้า ทิศเหนือ จำนวน 163 ขั้น บันไดเหล่านั้น สร้างจากพื้นหินธรรมชาติ ตรงนั้นและหินตัด ที่มาเสริมให้กว้างประมาณ 12 เมตร ไต่สูงขึ้นไป 140 เมตร และได้รับการต้อนรับจากสิงห์ศิลาจำหลักตั้ง ที่เป็นประหนึ่งผู้รักษาทางขึ้น
เมื่อสุดขั้นบันไดชุดที่ 1 ก็ถึงบันไดชุดที่ 2 จำนวน 60 ขั้น ตอนนี้สถาปนิกเขมร บีบบันไดให้แคบและสูงขึ้นมาก เพื่อให้เราโผล่ขึ้นไปพบนาค 7 เศียร 2 องค์ ตระหง่านอยู่รับผู้จาริกแสวงบุญ

นาคเขาพระวิหารหน้าตาเหมือนนาคที่สระน้ำปราสาทเมืองต่ำ (บุรีรัมย์) เป็นศิลปะเขมรสมัยบาปวน (ค.ศ. 1010-1080) ซึ่งมีลักษณะเรียบง่าย เศียรกลม จนมีชื่อเล่นๆ ว่า "นาคหัวลิง" ลำตัวยาวติดพื้น ไม่มีกระบังหน้าหรูหราอย่างนาคพนมรุ้ง ซึ่งจะพัฒนาไปอีกขั้นแล้วในสมัยศิลปะนครวัด
ลานเดินอันยาวระหว่างนาค 2 องค์ หากเราหันหลังกลับทางทิศเหนือ ก็จะมองเข้าสู่ประเทศไทย เห็นมออีแดง ป่า และขุนเขาสลับซับซ้อน งดงามเกินคำบรรยาย

สุดลานนาคราช เราขึ้นบันไดไปอีกอึดใจ แล้วก็ถึงโคปุระแรก ที่ปรักหักพัง โย้เย้อย่างมีมนตร์ขลัง โคปุระหลังแรกนี้ เป็นจัตุรมุข (กากบาท) ยาว 5 ห้อง กว้าง 3 ห้อง หน้าจั่วหินที่ยังเหลืออยู่งามชดช้อยดังหางหงส์ (แทนที่จะเป็นรูปนาคแผ่รัศมี) ลวดลายเป็นพันธุ์พฤกษา แบบของบาปวน โดยที่มีเรื่องราวตามทับหลัง เป็นเทพบุรุษประทับเหนือหน้ากาล (ราหู) เราเดินอ้อมโคปุระ เห็นจรวดของทหารเฮงสัมรินพิงไว้กับฐานปราสาทหลายท่อน กลิ่นอายของสงครามยังมีให้เป็นทั่วไป บางครั้งก็ได้ยินเสียงปืนดังจากผาและหุบเขาไกลๆ จากเบื้องล่าง ทหารไทยแถบชายแดนมีเรื่องตลกว่า "ที่นี่มีข้าวก็พอ หา "กับ" เอาแถวๆ นี้แหละ" คือ "กับระเบิด"

จากโคปุระแรก ถึงหลังที่ 2 ขึ้นบันไดอีก 3-4 ช่วง แล้วก็เป็นทางเดินเรียบยาวกว่า 200 เมตร สถาปนิกเขมร ดูจะกำหนดจิตใจให้ผู้จาริกแสวงบุญค่อยๆ ก้าวเข้าไปสู่ศูนย์กลางของจักรวาล สองข้างทางมีเสาแบบ "เสานางเรียง" ของพนมรุ้ง ที่ส่วนบนดูคล้ายในเสมา ปักเป็นระยะๆ ไม่ทราบว่าเสานี้ใช้ทำอะไร บางคนสันนิษฐานว่าใช้ปักเทียนบูชา ด้านซ้ายของช่วงปลายทางเดินเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ (37x16 เมตร) เขมรเรียกว่า "สระกราว" (กราวแปลว่า นอก) สระนั้นขุดลงไปในเขา มีบันไดหินเรียงเป็นขั้นๆ ทั้ง 4 ด้านของสระ แน่นอน นี่น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับ
พิธีกรรมของศาสนาฮินดู-พราหมณ์
เราต้องขึ้นบันไดอีกหลายชุดสั้นๆ เพื่อไปสู่ โคปุระที่ 2 ที่เป็นจัตุรมุข (กากบาท) เช่นกัน แต่ขนาดกว้างขวางใหญ่โตกว่าซุ้มแรก ยาวถึง 11 ห้อง กว้าง 7 ห้อง เสาหินทรายแต่ละต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมมหึมา ถัดจากโคปุระนี้ด้านซ้ายก็มีสระขนาดเล็กอีกหนึ่งแห่ง
ด้านทิศใต้ของโคปุระที่ 2 หน้าบัน เป็นรูปวนเกษียรสมุทรงามเหลือเกิน เทวดา 3 องค์ชักอยู่ปลายหางนาค อสูร 3 ตนอยู่ด้านเศียร ตรงกลางเป็น "ภูเขามันทร" ตั้งอยู่ในหม้อน้ำ ซึ่งตั้งอยู่เหนือหลังเต่าอีกที เกือบสุดยอดของเขามันทร พระวิษณุ (นารายณ์) ทรงปีนป่ายกำกับการกวนเกษียรสมุทรอยู่ การกวนเกษียรสมุทร มาจากคัมภีร์ปุราณะของอินเดีย เป็นภาพที่เทวดาและอสูรต้องการน้ำ "อมฤต" เพื่อความเป็น "อมตะ" ในการกวนครั้งนี้ เขามันทรเกือบทะลุจักรวาลลงไป ทำให้พระวิษณุต้อง "อวตาร" เป็นเต่ามารองรับไว้ และในการกวนครั้งนี้ นาคราชที่ถูกชักไปชักมาโดยเทวดาและอสูร ก็เกิดจั๊กจี้ สำรอกพิษออกมา อสูรที่อยู่ด้านเศียรของนาค โดนพิษร้ายหน้าตาจึงบูดเบี้ยว และในการกวนครั้งนี้ ก็เกิดนางอัปสรขึ้นมาหลายหมื่นหลายพันองค์ กลายเป็นพนักงานฟ้อนบำเรอบนสวรรค์ พระลักษมีก็เกิดขึ้นมาจากฟองคลื่นของการกวนเกษียรสมุทร
(ทำนองเดียวกับกำเนิดของอโฟรดิติ หรือวีนัสของกรีกโรมัน) และกลายเป็นมเหสีของพระวิษณุไป

น่าเชื่อว่า ห้องกลางของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาที่ได้เงินญี่ปุ่น 999 ล้านเยนมาสร้าง และมีประตูแบบเขมร เพื่อแสดงลัทธิการปกครองและสถาบันกษัตริย์ ว่ามีต้นตอมาจากอินทราภิเษก หรือชักนาค "ดึกดำบรรพ์" นั้น จำลองแบบมาจากหน้าบันนี้ของปราสาทเขาพระวิหาร

(น่าสงสัยว่า "ดึกดำบรรพ์" คำนี้จะเพี้ยนมาจากภาษาเขมร คือ "ตึ๊ก" แปลว่า "น้ำ" ส่วน "ตะบัน" หรือ "ดำบรรพ์" นั้นแปลว่า "ตี" ก็คือพิธีของการ "ตีน้ำ" หรือ "ชักนาค" นั่นเอง และยังอาจเป็นต้นกำเนิดของ "โขน" ซึ่งก็เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก "ละคอน" อีกด้วย)

ใต้หน้าบันกวนเกษียรสมุทร มีทับหลังที่เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน คือนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ว่า ด้วยการสิ้นยุคและกำเนิดยุคใหม่ ตรงนี้ พระพรหมจะเกิดจากดอกบัวที่โผล่ออกมาจากสะดือของพระวิษณุ/นารายณ์ แล้วก็จะทรงสร้างโลกและยุคใหม่ขึ้น ทั้งหน้าบันและทับหลังของโคปุระองค์ที่ 2 นี้ มีเรื่องราวจากคัมภีร์มหาภารตะยุทธมากมาย และที่เด่นชัด และซ้ำกันเป็นพิเศษคือ เทพบุรุษประทับเหนือหน้ากาล (ราหู)

จากโคปุระที่ 2 เราต้องเดินไปตามทางลาดปูด้วยหินอีก 100 กว่าเมตร จึงจะถึงปราสาทหลังที่ 3 ซึ่งก็เป็นจัตุรมุข แต่มีปีกสองด้าน ทางทิศตะวันออกและตก รวมกันแล้วยาวถึงประมาณ 100 เมตร คล้ายๆ เป็นกำแพงมหึมากั้นก่อนาจะเข้าสู่ปราสาทหลังที่ 2 น่าเชื่อว่า ความกว้างใหญ่ของปราสาทหลังนี้ คงจะใช้สำหรับพิธีกรรม และเป็นที่พักของเจ้าขุนนาง ตลอดจนผู้แสวงบุญ

จากนั้น เราก็ผ่านทางที่ขนาบด้วยราวนาคราช และเสาขนาดใหญ่ เข้าสู่ ปราสาทหลังที่ 2 ที่อยู่ติดประชิดกับปราสาทหลังที่ 1 ปราสาทหลังที่ 2 มีระเบียงด้านตะวันออก-ตก เช่นกัน ตรงกลางก่อนทางเข้าปราสาทหลังที่ 1 เป็นห้องโถงใหญ่ ติดกับระเบียงคด ที่ล้อมปราสาทหลังที่ 1 ที่อยู่ตรงกลางนี่คือปรางค์และมณฑป อันเป็นที่สิงสถิตของ "ศิวลึงค์" เป็น "สะดือโลก" เป็นศูนย์กลางจักรวาล และเป็น "ศิขเรศวร" ที่เปรียบเสมือนบนยอดเขาพระสุเมรุ ปรางค์องค์กลางได้พังลงมาเกือบจะหมด สันนิษฐานกันว่าอาจเกิดจากภัยธรรมชาติหรือแผ่นดินไหว แต่ก็น่าแปลกที่ปราสาทองค์อื่นๆ มิได้พังลงไปด้วย (ดังนั้น จึงเป็นผลงานทำลายของมนุษย์ด้วยกันเองหรือ)

ทั้งทางด้านซ้ายและขวาของปราสาทองค์ที่ 1 มีอาคารขนาดย่อมขนาบอยู่
การวางผังของปราสาทเขาพระวิหารเป็นเลิศ นายช่างของเขมร คงจะนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิสถาปัตยกรรม" ไปด้วย เพราะดูจะคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ที่เป็นป่าเขา ทำให้ปราสาทพระวิหารเด่นเหนือปราสาทอื่นๆ แต่ก็น่าแปลกใจว่า ระเบียงคดด้านหลังทางทิศใต้ของปราสาทองค์ที่ 1 ไม่มีประตูหรือหน้าต่าง เปิดให้เห็นภูมิประเทศอันงดงาม ที่มองไปยังเขมรต่ำแต่อย่างใด ดูเหมือนว่าสถาปนิกเขมร จะกำหนดให้ทุกอย่างมาสิ้นสุดลงตรงที่สิงสถิตขององค์พระศิวะ กระนั้น

เราออกทางประตูด้านข้าง ตรงไปยัง "เป้ยตาดี" ที่นั่น มองไปยังเขมรต่ำแล้วใจหาย ความสูงชันดิ่งเป็นแนว 90 องศาของหน้าผา ทำให้เกิดความรู้สึกที่สุดแสนจะบรรยาย เบื้องหน้าของเรา ต่ำลงไปเป็นป่าไม้เขียวสุดลูกหูลูกตา จรดขอบฟ้า ไกลออกไปเห็นฝนตกเป็นแนวทาง ขอบฟ้าสุดแดนเขมร ว่ากันว่า ถ้าอากาศดีๆ ก็อาจใช้กล้องส่องไปเห็นเมืองเสียมราฐ-พระตะบองได้ จาก "เป้ยตาดี" เราห่างจากอำเภอจอมกระสานของเขมรเพียง 40 กิโลเมตร และห่างจากปราสาทสำคัญๆ เช่น บันทายชมาร์หรือเกาะแกร์เพียง 50 กิโลเมตร

ขอม
-เขมรสร้างปราสาททำไม
ขอม
-เขมร ดูจะสร้างปราสาทอิฐและหินไว้มากมาย เฉพาะในภาคอีสานของไทย ก็มีเป็นร้อยองค์ เรียกได้ว่าทิ้งหลักฐานไว้ให้นักประวัติศาสตร์โบราณคดีทำงานกันต่อไปอีกนานแสนนาน
ขอม
-เขมรสร้างปราสาททำไม
ในคติทางพุทธศาสนาของไทย การสร้างวัดมากมาย ก็เพื่อจรรโลง พระศาสนา และเกิดบุญกุศลแก่ผู้สร้าง ที่จะทำให้ใกล้ความเป็นนิพพานเข้าไปทุกที
ในคติของศาสนาฮินดู
-พราหมณ์ของเขมรสมัยนั้น ก็เพื่อจรรโลงศาสนาเช่นกัน และผู้สร้างก็ใกล้องค์พระผู้เป็นเจ้าเข้าไปทุกที ฉะนั้น เกือบจะทุกรัชกาลของกษัตริย์เขมร เป็นระยะเวลากว่า 600 ปี ก็มีการก่อสร้างมากมาย เขมรเป็นนักก่อสร้าง การก่อสร้างนี้ทำให้อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองอย่างยิ่งยวด แต่การก่อสร้างก็ทำให้อาณาจักรเสื่อมสลายในที่สุด
ในคติของฮินดู
-พราหมณ์ ศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่เขาพระสุเมรุ พระศิวะเทพสูงสุดก็ประทับอยู่ยอดเขาพระสุเมรุ ท่ามกลาง "มหาจักรวาล" (Macrocosmos) กษัตริย์เขมรจำลองจักรวาลนี้ลงมายังพื้นโลก ดังนั้น ปราสาทองค์กลางหรือปรางค์ ก็เหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ ชะลอลงมาอยู่บนพื้นโลก เป็นที่ประดิษฐาน "ศิวลึงค์" เป็นองค์แทนของพระศิวะบนพื้นพิภพ เป็นประหนึ่ง "อนุจักรวาล" (microcosmos) เมื่อกษัตริย์สวรรคต ก็จะได้ไปรวมเป็นภาคเดียวกันกับองค์เทพเจ้านั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ (อิศวร) ในไศวะนิกาย หรือพระวิษณุ (นารายณ์) ในไวษณพนิกาย สถาปัตยกรรมเขมร สะท้อนซึ่งความเชื่อทางศาสนา ที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณ
ใครสร้างปราสาทเขาพระวิหาร
ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ห่างจากศูนย์กลางของเขมรที่นครวัด
-นครธมประมาณเกือบ 200 กิโลเมตร เป็นศาสนาสถานหัวเมือง และน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์ของการจาริกแสวงบุญของเขมรโบราณ ซึ่งมีประเพณีของการที่เจ้าขุนนาง หรือสามัญชน จะต้องจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิในพระราชอาณาจักร จารึกหลักหนึ่งของเขาพระวิหาร ก็กล่าวกวีนามว่า "วิทยาบุษบา" ผู้เดินทางไปเยือนสถานที่ และขุนเขาแห่งการแสวงบุญ
ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่
1 (ค.ศ. 1002-1050 หรือ พ.ศ. 1545-1593) หรือกว่า 900 ปีมาแล้ว หรือก่อนสุโขทัย 200 ปี สุริยวรมันที่ 1 เป็นกษัตริย์เขมรที่เกรียงไกร ต้องทำสงครามสืบราชสมบัติอยู่เกือบ 10 ปี ทำให้ต้องประทับอยู่นอกพระนครหลวง และก็อาจทำให้ทรงสนพระทัยในการก่อสร้างที่เขาพระวิหารเป็นพิเศษ

สุริยวรมันที่1 เป็นกษัตริย์เขมร ผู้พิชิตตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งศูนย์การปกครองที่ละโว้ (ลพบุรี) เป็นผู้ทำให้ยุคสมัยของ (มอญ) ทวารวดีสิ้นสุดลง เริ่มต้นสมัยของอิทธิพลขอม-เขมร (ที่เราเรียกว่าสมัยลพบุรี) ขึ้นเป็นเวลาเกือบ 200 ปี
ในแง่ของสถาปัตยกรรม ปราสาทเขาพระวิหาร
"จำลอง" แบบมาจาก ปราสาทวัดภู (จำปาสัก ประเทศลาว) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเจนละ (บก) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกัมพูชา กษัตริย์เขมร ถือว่าวัดภูเก่าแก่โบราณที่สุด เป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนอกพระนคร ฉะนั้น สุริยวรมันก็จำลองวัดภูมาไว้ที่พนมดงเร็ก และก็ย้ายเทพประจำวัดภูคือ




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ