ReadyPlanet.com
dot dot
โลกดนตรี

โลกดนตรี

จากวารสารเพลงดนตรี ตุลาคม 2550


“Once long ago were earth, grass, sky and gods. Men and gods visited each other unceasingly…” for Trumpet, Percussion, Thai Ensemble and Orchestra

โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล : เมื่อดนตรีทำหน้าที่เป็นปกรณัมปรัมปรา
กองบรรณาธิการ
 

ต้นตระกูลไทย วงออร์เคสตร้า เพลงชาติ กลองสังกะสี ดิน หญ้า ฟ้า แถน ลัทธิชาตินิยม พงศาวดาร ครูมีแขก โพสต์โมเดิร์น บลูดานูป สัจจะ อาวองการ์ด ตำนานปรัมปรา บีโธเฟ่น ขนบของการฟัง อารมณ์ขัน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ การเสียดเย้ย ป๊อปคัลเจอร์ อัตลักษณ์ ทยอยนอก Für Elise ดีคอนสตรัคชั่น...

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทั้งหมดนี้มาปรากฏรวมกันในผลงานเพลงชื่อ “Once long ago were earth, grass, sky and gods. Men and gods visited each other unceasingly…” for Trumpet, Percussion, Thai Ensemble and Orchestra งานประพันธ์ชิ้นใหม่ของอติภพ ภัทรเดชไพศาล อาจารย์ประจำภาควิชา Composition วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 


“ศิลปะคือสื่อกลางที่สัจจะ (ธรรมชาติ)

ใช้ติดต่อกับผู้คน

คือภาวะที่ศิลปินยอมตนเป็นสะพาน

ทอดให้ความหมายของโลก

ปรากฏขึ้นมาเป็น

ชิ้นงาน”

 

“ผมมองว่า งานดนตรีไม่เป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม มันเกี่ยวพันทั้งเรื่องการเมือง ทั้งเศรษฐกิจ ทั้งสังคม เกี่ยวพันถึงเรื่องต่างๆ ทุกเรื่อง ศิลปินคือผู้ที่ยอมตนเป็นสะพานในการสื่อความหมายของสิ่งเหล่านั้น นักแต่งเพลง นักเขียน หรือกวีต้องค้นหาตัวตนผ่านการเรียนรู้โลกและสังคมที่เราอยู่ เพราะว่าดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ มันก็คือผลผลิตของสังคมนั่นเอง เหมือนกับที่ตัวตนของเราเองก็เป็นผลผลิตของสังคมและวัฒนธรรมที่บ่มผ่านช่วงระยะเวลายาวนาน หน้าที่ของพวกเราจึงเป็นการเรียนรู้โลก การขบคิดใคร่ครวญ การสร้างสรรค์ และดำรงชีวิตในแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติและศรัทธา มันมีคำถามที่เราควรจะถามตัวเองตลอดเวลาว่าเราทำงานศิลปะไปเพื่ออะไรกันแน่...


บางคนมองศิลปะว่าเป็น art for art sake ศิลปะเพื่อศิลปะ เป็น pure art บางคนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ อาจมองแบบลัทธิมาร์กซิสต์ว่า ศิลปะนั้นรับใช้ประชาชน รับใช้สังคม เพื่ออุดมการณ์แห่งความเท่าเทียม ส่วนตัวผมมองว่างานศิลปะนั้นต้องผูกโยงอยู่กับโลก ผลงานไม่ได้เป็นของตัวศิลปิน แต่เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขามาให้เป็นตัวเขาต่างหาก งานของผมจึงไม่ใช่แค่การขีดเขียนตัวโน้ตอีกต่อไป มันเป็นเรื่องการพยายามแปรความหมายของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกมาเป็นชิ้นงานในรูปของดนตรีอีกที แต่จริงๆ ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ฟังดนตรีของผมจะต้องเข้าใจการสื่อสารความคิดแบบนี้นะครับ จริงๆ แล้ว ผมต้องการให้ผู้ฟังดนตรีของผมมีอิสระที่จะตีความอย่างที่สุด ที่เล่าให้ฟังนี่มันเป็นแนวทางและวิธีที่ผมใช้สร้างงาน แต่คนที่ฟังจะรู้สึกยังไงนี่มันเป็นอีกเรื่องนึง มันเป็นหน้าที่ของผู้ฟังเองที่จะต้องขบคิด เพราะผมเชื่อในความรู้แบบหลังสมัยใหม่ที่เขาพูดๆ กันว่า ในปัจจุบันนี้มันไม่มีการตีความศิลปะที่ถูกอีกต่อไปแล้ว มันมีแต่ความเป็นไปได้ที่หลากหลายเท่านั้น


โดยเฉพาะเรื่องดนตรี ผมเคยคิดอยู่นานว่า สุดท้ายแล้วดนตรีมันคืออะไร มันสามารถที่จะอธิบายความคิดของผู้ประพันธ์ได้จริงหรือ? โดยเฉพาะเพลงบรรเลง ที่สมัยโมสาร์ทเขายกย่องกันว่าเป็น absolute music เป็นดนตรีบริสุทธิ์ เป็น abstract art คือเราสงสัยว่าแม้กระทั่ง absolute music จริงๆ นี่ มันบริสุทธิ์โดยปราศจากความหมายจริงๆ หรือ? มันเป็นไปได้หรือที่ดนตรีมันไม่มีความหมายอะไรเลย ปรากฏว่ามันไม่จริงหรอก เพราะความหมายมันมีอยู่ ความหมายของมันถูกสร้างขึ้นโดยผู้ฟัง


อย่างเช่นผมจะบอกว่า เพลงนั้นมันเพราะหรือไม่เพราะ มันจะมีความหมายยังไง มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเพลง มันไม่ได้อยู่ที่ผู้แต่งด้วยซ้ำ แต่มันอยู่ที่ผู้ฟังมากกว่า ที่จะให้ความหมายที่แตกต่างกันไป เพราะว่าคนฟังแต่ละคนมีพื้นความรู้ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการตีความของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเขา ว่าเขาสั่งสมมาระดับไหน


อย่างเช่น ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ในดนตรีตะวันตกที่มีการผสมหรือการอ้างอิงเอาทำนองเพลงแมสซึ่งเป็นเพลงคริสต์ศาสนามาใช้เป็นโมทีฟหลัก โดยที่เป็นแค่ทำนองเฉยๆ ไม่มีเนื้อร้อง เช่นใน Symphony หมายเลข 6 ของ Tchaikovsky ที่ยก Dies irae มา คนที่ไม่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมแบบคริสต์ แบบตะวันตก จะไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่ามันสื่อนัยยะไปทางไหน และมันผูกพันธ์ลึกซึ้งถึงรากฐานวัฒนธรรมของเขาอย่างไร แล้วที่เขาว่าฟังเพลงคลาสสิคต้องปีนกระไดฟังนี่มันก็ไม่ใช่คำพูดลอยๆ นะ มันเป็นจริงที่สุดเลย เพราะดนตรีคลาสสิคนั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันตก แล้ววัฒนธรรมตะวันตกนี่ก็เป็นที่รู้ๆ อยู่ว่ามันผูกติดอยู่กับภาพลักษณ์ของชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ที่ห้าแล้ว ถ้าไม่ปีนกระไดมันจะขึ้นไปหาวัฒนธรรมขั้นสูงอย่างนั้นได้ยังไง? หรือคุณจะขึ้นลิฟท์?


เหมือนกับกรณีของดนตรีไทยก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่เคยเรียนดนตรีไทย ไม่มีทางที่จะฟังรู้หรอกว่าเพลงนั้นเพราะหรือไม่เพราะ ไม่มีทางรู้เลยว่าเพลงนั้นมีบรรยากาศเศร้าโศกหรือสนุกสนาน เพราะว่ามันต้องการขนบของการทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเพลงคาแร็กเตอร์แบบนี้นะ จัดเป็นสนุก เพลงคาแร็กเตอร์แบบนี้นะ จัดเป็นเศร้า เพราะฉะนั้น เราเห็นได้ชัดเจนว่า ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจดนตรีไทยได้จากการฟังครั้งแรก เพราะมันเป็นบางสิ่งที่อยู่นอกเหนืออาณาจักรทางวัฒนธรรมของเขาที่เขาเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเข้าใจแบบที่คนในวัฒนธรรมจริงๆ เข้าใจ


นั่นแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วดนตรีไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเป็นสัญญะที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอย แล้วก็อยู่ที่ว่าใครจะจับความหมายอย่างไรใส่เข้าไปมากกว่า แน่นอนว่ามันมีความหมายในระดับแคบๆ ในสังคมหนึ่ง อย่างเช่นดนตรีไทยก็จะมีความหมายที่คนในกลุ่มคนในวัฒนธรรมแบบเราเท่านั้นที่จะเข้าใจ แต่มันไม่มีทางจะไปสื่อความหมายกับบุคคลที่อยู่ภายนอกวัฒนธรรมนั้นได้


ความคิดที่ว่าเพลงเป็นอมตะ เพลงมีความงามสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้มันจึงไม่ใช่เรื่องจริง ผมไม่เชื่ออันนั้น เพราะว่าคนเราจะเสพความงามความไพเราะได้ต้องมีภูมิความรู้ทางวัฒนธรรมก่อน เราถึงจะเข้าใจมันได้ การที่เราจะเข้าใจเพลงเพลงหนึ่งได้ เราต้องเข้าไปคลุกคลี ไปเรียนรู้การแปลความหมาย ขนบ และสัญญะต่างๆ ว่ามันเป็นยังไง เพราะฉะนั้น ความไพเราะหรือความไม่ไพเราะของเพลงมันเป็นเรื่องของการสั่งสมทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม


พอใช้แนวคิดนี้เป็นพื้นฐาน เวลาปฏิบัติ ผมเลยไม่กลัวที่จะทำให้งานมันเป็น local เป็นงานที่มีความเป็นท้องถิ่นอย่างที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความเป็นสากลอีกต่อไป ผมได้สร้างงานลักษณะที่เป็นงาน collage ขึ้นมา โดยการนำเพลงไทยทุกประเภทที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมไทยในรอบ ๖๐ - ๗๐ ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ ลงมา นำมา quote มาอ้างอิง นำมาปะติดเข้าด้วยกันในลักษณะของงาน collage


แน่นอน มันเอามาหมดไม่ได้อยู่แล้ว แต่การที่เราเลือกเอาเพลงอะไรมาใช้นั้นมันก็เป็นการแสดงนัยยะอย่างหนึ่ง ทำไมผมต้องเลือกเพลงนี้ ทำไมผมไม่เลือกเพลงนั้น แน่นอนว่ามันมีความหมายอยู่ แต่ถ้าถามว่ามันจะสื่อความเข้าใจกับฝรั่งไหม ตอบได้เลยว่าไม่หรอก สื่อก็สื่อน้อย ผมต้องการแค่สื่อความหมายเฉพาะในกลุ่ม เอาแค่ให้มันรับใช้สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ก่อน นั่นทำให้ผมคิดถึงประเด็นเรื่อง “ความเป็นชาติ”


เพราะความเป็นชาติไทย มันโดนสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะมาเป็นรูปธรรมมากๆ ก็ตอนหลวงวิจิตรวาทการ เป็นการสร้างชาติไทยขึ้นมาด้วยตำนานเก่าแก่ว่า คนไทยอพยพมาจากเมืองจีน แล้วก็มาสร้างเป็นละคร มาเล่าผ่านสื่อต่างๆ หลวงวิจิตรวาทการใช้สื่อหลากหลายมากเพื่อจะสร้างความเชื่อตรงนี้ขึ้นมา แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ ด้วย ความเชื่อนี้มันติดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แล้วถ้าใครพยายามล้มล้างความเชื่อนี้ก็จะโดนเพ่งเล็งจากสังคมทันที


ผมได้รับอิทธิพลจากคุณสุจิตต์ วงษ์เทศมาก โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ที่ค้นพบใหม่ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่พยายามรื้อและตั้งคำถามกับการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเก่า เรารู้ว่าในประเทศไทยมีนักประวัติศาสตร์สายนั้นอยู่ ที่เสนอความคิดที่แตกต่างจากสายความคิดแบบสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และหลวงวิจิตรวาทการ โดยเฉพาะกลุ่มนิตยสารศิลปวัฒนธรรมนี่ทำมาอย่างจริงจังและเข้มข้น


ในเมื่อผมเชื่อว่า เราไม่สามารถให้ความหมายที่แท้จริงแก่ดนตรีได้ แต่ความหมายของมันจะขึ้นอยู่กับการรับรู้ของผู้ฟังแต่ละคน งานดนตรีชิ้นนี้จึงไม่เป็นการตอบคำถาม แต่ตรงกันข้าม จะเป็นการตั้งคำถาม เป็นงานที่นำ quotation ต่างๆ เหล่านี้มาผสานเข้าด้วยกันเป็น collage เพื่อตั้งคำถามใหม่ มันเป็นคำถามว่าด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นไทย


การที่ผมนำเพลงแต่ละเพลง ตัดมันเป็นส่วนย่อยๆ ดึงมันออกมาจากเพลงใหญ่ เป็นแค่ fragment ย่อยๆ นั่นก็คือการดึงเพลงออกมาจากปริบทดั้งเดิมของมัน ดึงมันออกมาจากที่ของมัน จากยุคสมัยของมัน โดยใช้ส่วนไหนของเพลงก็ได้ อาจจะเป็นทำนองที่สำคัญๆ เพราะจะทำให้คนจำได้ง่ายกว่า หรือตรงที่เป็นเนื้อร้องท่อนสำคัญ ที่อาจทำให้ผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันได้รับรู้และตระหนัก


การที่ผมเลือกนำเพลงเหล่านั้นมาอ้างอิง และบิดพลิกการเรียบเรียงเสียงประสานในแบบใหม่ รวมถึงการเรียงเพลงที่ลักลั่น ทำให้เพลงเหล่านี้เหมือนถูกตัดแบ่งเป็นส่วนๆ ทั้งหมดนั้นก็คือการนำเสนอเพลงต่างๆ เหล่านี้ในปริบทใหม่ การที่เพลงเหล่านี้ถูกตัดแยกออกมาเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ หรือ fragment ย่อยๆ ก็คือการจับชิ้นงานแยกออกมาจากบริบทดั้งเดิม ทำให้มันสูญเสียความหมายแบบเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้ความหมายใหม่ๆ ได้เกิดขึ้น

แล้วพอเราเอามันมาต่อกันในลักษณะของงาน collage สิ่งแรกที่เกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ อารมณ์ขัน เรื่องของความตลก เพราะงานคอลลาจมันตลกอยู่แล้ว อย่างงานศิลปะ ที่เอาหัวคนนั้นมาต่อตัวคนนี้ มันตลกเพราะว่ามันผิดที่ผิดทาง มันขัดแย้งกับตรรกะที่เราคุ้นเคย เพราะฉะนั้นงานแบบนี้มันหลีกเลี่ยงอารมณ์ขันไม่ได้อยู่แล้ว มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วมันก็จะมีลักษณะของการเสียดสีอยู่ มันขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ยิ่งคนรู้จักเพลงเหล่านี้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งตีความไปได้ลึก เหมือนระเด่นลันไดนี่ ถ้าเรารู้จักอิเหนาลึกเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้สึกตลกกับระเด่นลันไดมากเท่านั้น


เพลงที่ผมเลือกมาใช้แทบทั้งหมดจะเป็นเพลงที่คุ้นหูคนไทย มีเพลงเกี่ยวกับชาติ เกี่ยวกับสังคม เพลงคอมมิวนิสต์ แล้วก็มีเพลงป๊อปด้วย โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ของชิ้นงาน จะนำเสนอความเป็น pop culture ด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เพลงที่มีอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์ชัดเจนในสมัยจอมพล ป. เพราะมันมีมายาคติเรื่องความเป็นชาติ ที่จอมพล ป. สร้างขึ้นมาจากเพลงเหล่านี้


ผมต้องการนำเสนอสภาวะทางสังคมและการเมืองไทย ว่ามันมีการเคลื่อนไหวยังไง มันเป็นสังคมที่เน้นการสร้างชาติ เน้นความชอบธรรมของสถาบันการปกครอง มายาคติเรื่อง “คนไทยเชื้อชาติบริสุทธิ์” จึงถูกนำมาล้อเลียน ด้วยการเอาเพลงเหล่านี้ตัดแยกมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่”


ที่เห็นยาวๆ นี่ เป็นชื่อเพลงทั้งหมดเลยเหรอคะ?

ครับ เป็นประโยคที่ผม quote มาจากพงศาวดารล้านช้าง “กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด...”


ทำไมถึงเลือกใช้ชื่อนี้ล่ะคะ?

“เดิมมันไม่ได้ชื่อนี้หรอกครับ แรกทีเดียวมันไม่มีชื่อ ชื่อเพลงบนสกอร์มันจะเป็นแค่เส้นสีดำพาดทับบนตัวหนังสือ เหมือนเวลาเราเซ็นเซอร์อะไรสักอย่าง การเซ็นเซอร์มันก็เป็นนัยยะทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่พอมันจะต้องมีชื่อที่เป็นคำ เป็นประโยคขึ้นมา ผมเลยนึกถึงพงศาวดารล้านช้าง ที่มันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ เลยของภูมิภาคแถบนี้


มันมีลักษณะเป็น myth คือมันมีลักษณะเป็นตำนาน มีความเป็นตำนานสูงมาก ซึ่งผมคิดว่าเพลงที่ผมสร้างมันไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากตำนาน สิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการสร้างทั้งหมดมันก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากตำนาน มันสร้างตำนานทั้งนั้น มันสร้าง mythology ขึ้นมาในสังคมไทยด้วยวิธีนี้ แต่ตำนานที่หลวงวิจิตรสร้าง มันแบ่งคนออกจากกัน มันทำให้คนนี้เป็นคนไทย มันทำให้คนโน้นไม่เป็นคนไทย มันทำให้เกิดการแบ่งเขตแบ่งแดนอย่างชัดเจน คนจีนรุกรานไทย มันเกิดการแบ่งแยก


ในขณะที่ myth ที่ผมนำมาอ้างเป็นชื่อเพลงนี้ ตำนานเรื่องนี้มันเขียนว่า “ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด” โห...มันตรงกันข้ามเลย มันเชื่อมกระทั่งคนกับผี มันมาจากพงศาวดารล้านช้าง หลังจากนั้นก็อธิบายว่า คนเกิดมาจากน้ำเต้า ทะลักออกมาจากหมากน้ำเต้าปุง คนละทาง คนละพวก แต่คนทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพี่น้องกัน


จะเห็นเลยว่าตำนานโบราณพยายาม connect คนเข้าด้วยกัน เชื่อมคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะที่ตำนานแบบหลวงวิจิตรวาทการนั้นพยายามแยกคนออกจากกัน ซึ่งอันนี้อันตราย ปัจจุบันเราก็มีปัญหานี้อยู่ ปัญหาภาคใต้นี่ มันเกิดจากการพยายามแยกคนออกจากกัน


เพราะฉะนั้น ชื่อเพลงมันเป็นการส่อนัยยะในทางตรงกันข้าม ว่ามันเป็นนิทานก็จริงนะ ชื่อเพลงน่ะ แต่ว่ามันเป็นนิทานในทางกลับกัน”


อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นงานที่ต้องการสื่อนัยยะทางการเมืองโดยตรงได้มั้ย?

“ก่อนจะออกมาเป็นงานชิ้นนี้ ตอนแรกผมคิดถึงเรื่องประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิมากกว่า แต่พอคิดไปคิดมาแล้วมันไกลมาก มันเกินความสามารถ เพราะมันต้องการการทำวิจัยที่หนักมาก ในเรื่อง style ของเพลง แล้วช่วงนั้นไปได้หนังสือของอาจารย์ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ คือ วัฒนธรรมความบันเทิงในชาติไทย ก็เลยได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มา แล้วก็ได้คิด ได้ผสมกับความรู้ทางภาษาศาสตร์ ความรู้แบบหลังโครงสร้างนิยม ที่ผมศึกษาด้วยตัวเอง การ deconstruction ต่างๆ และส่วนตัวก็เป็นคนชอบอ่านเรื่องการเมืองและสังคมอย่างมากอยู่แล้ว


มันมีแนวคิดของการ deconstruction ซึ่งเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่ มันเป็นเรื่องของการรื้อสร้างแนวคิดแบบเดิม ผมตั้งคำถามกับเรื่องความเป็นชาติ แม้กระทั่งความเป็น form ของดนตรีตะวันตก ที่ต้องมีตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบ ผมก็ตั้งคำถามกับมัน ว่าตอนจบคืออะไร ตอนต้นคืออะไร


แล้วเพลงนี้น่ะ ในแง่ภาษาทางการเมือง มันคลุมเครือนิดๆ นะและอาจเรียกว่า direct action ก็ได้ในบางมุม direct action หรือปฏิบัติการซึ่งหน้าคือศัพท์ทางการเมืองที่ใช้ในการ anti หรือ protest หรือต่อต้านบางสิ่งบางอย่าง เช่นด้วยการร้องเพลงชาติ แต่ร้องแบบเสียดสี เปลี่ยนเนื้อ มันเป็นการประท้วง แต่คือ direct action นี่ เวลาที่แสดงปุ๊บ คนจะต้องรู้ว่าประท้วงนะ ส่วนในกรณีของงานชิ้นนี้นี่ เรายังไม่แน่ใจหรอกว่าคนเขาจะเข้าใจว่าเราประท้วง คือมันค่อนข้างคลุมเครือแล้วก็เป็นไปในลักษณะของการตั้งคำถามมากกว่า


งานนี้จึงเป็นงาน collage ที่ทำในลักษณะเสียดสี ตรงนี้จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ที่หยิบยกเพลงเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ มาใช้นี่ มันจำเป็น ผมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นการตั้งคำถามกับความเป็นชาติ เพราะความเป็นชาติมันไม่มีตัวตน มันเลื่อนไหลได้ การที่เราเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าเราโดนสั่งมาจากอำนาจเบื้องบน วาทกรรมของความเป็นชาติมันโดน control โดยผู้มีผลประโยชน์ทั้งนั้น อันนั้นคือประเด็น


แต่ตอนนี้ผมยังสองจิตสองใจอยู่ ว่าในสูจิบัตรผมจะไม่เขียนอธิบายเพลงดีหรือไม่ จริงๆ ที่ผมวางแผนไว้ก็คือ มันจะเป็นแถบดำๆ หมด เพราะถ้าเขียนอธิบาย มันจะกลายเป็นการชี้นำผู้ฟัง แล้วพอชี้นำ มันก็จะหมดสนุกในการตีความ อาจจะต้องเขียน แล้วก็ขีดฆ่า เซ็นเซอร์ไปบางส่วน ซึ่งมันก็จะแสดงนัยยะอะไรได้หลายอย่าง


แล้วการเซ็นเซอร์ตัวเองที่ผมจะนำมาล้อเลียนนี่มันก็เป็นอะไรที่อันตรายที่สุด เพราะถ้าเกิดคนเราลงได้เซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว เมื่อนั้น คุณภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มันก็จะลดลง เพราะมันเกิดความกลัวที่จะพูดความจริง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น หน้าที่ของศิลปิน อย่างงานที่ผมทำชิ้นนี้ เป็นการตั้งคำถามกับระบบต่างๆ ที่ครอบงำสังคมไทยอยู่


ความคิดเรื่องนี้มันฝังตัวอยู่กับผมมาหลายปีแล้วล่ะ เพียงแต่มันถูกกระตุ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงนี้ ผมคิดตลอดเวลาว่า ประเด็นที่ศิลปินพูดถึง มันควรจะเป็นประเด็นที่ controversial มันควรเป็นประเด็นที่นำไปสู่การถกเถียง เพื่อตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เสพงานศิลปะจะได้แตกกอต่อยอดความคิดต่อไป งานศิลปะที่ให้คำตอบไว้เสร็จสรรพแล้ว ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ คือถ้าเกิดคนเราไม่สงสัย ความรู้มันก็ไม่เกิดใช่ไหม


แม้กระทั่งทุกวันนี้ เวลาที่ผมสอนหนังสือ ผมก็คิดว่าหน้าที่ของครูไม่ใช่การให้คำตอบ ตรงกันข้าม หน้าที่ของครูเป็นการตั้งคำถาม นั่นเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของครูเลย และก็เป็นสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ มันอยู่ที่การตั้งคำถามมากกว่า การศึกษาต้องทำให้นักเรียนสงสัยและสร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจของเขา การศึกษาต้องทำให้นักศึกษาสั่นไหวและสะเทือนไปถึงราก ทั้งครูและนักเรียนต้องเป็นผู้ที่กล้าเสี่ยงในการคิด มันต้องสร้างความสงสัยชนิดที่ผู้เรียนจะต้องหันไปมองสังคมรอบข้าง และตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น”


เพลงนี้มีส่วนที่อาจารย์แต่งเองเลยเยอะไหมคะ?

“ มีช่วง transition ย่อยๆ ที่ผมแต่งเอง จริงๆ การทำงานที่หนักที่สุดคือ การสืบค้นหางานเพลงเก่าๆ มาฟัง เพื่อจะคัดเลือกเพลงมาใช้ การศึกษาสไตล์ของงานเหล่านั้น”
 


เพลงนี้จะนำไปแสดงที่เยอรมันด้วย อาจารย์มีความคาดหวังอะไรกับผู้ฟังที่เยอรมันบ้างไหม?

“ผมบอกแล้วว่าผมไม่คาดหวังอะไร เพราะงานศิลปะมันไม่ใช่ภาษาสากลอยู่แล้ว แล้วงานชิ้นนี้ก็มีความเป็นเฉพาะตัวสูง การนำไปแสดงที่เยอรมัน จะมองว่าเป็นความพยายามสื่อวัฒนธรรมระหว่างกันก็ได้ มันมีบางช่วงที่คล้ายกับยกมาจากเพลงในหนังเยอรมันเรื่อง The Tin Drum ของ Volker Schlöndorff ที่ผม quote มา แต่จะเกิดความเข้าใจ ตีความกันได้ขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้แต่กับผู้ฟังที่เป็นคนไทย เพราะในสูจิบัตรผมยังไม่อยากเขียนอธิบายอะไรเลย ถือเป็นการเปิดกว้างให้ตีความแล้วแต่ภูมิหลังทางความคิดของผู้ฟังแต่ละคน”


เพลงนี้เป็นเพลงที่เขียนสำหรับ soloist ด้วย?

“เพลงนี้เขียนให้นักดนตรี ๒ คนที่เกือบจะเรียกได้ว่าเก่งมากที่สุดในโลก คือ Reinhold Friedrich นักทรัมเป็ต และ Robyn Schulkowsky นัก percussion แต่ผมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับ part ที่จะให้เขาแสดงฝีมือเท่าไหร่ เพราะสำหรับเพลงนี้ มันไม่มีความจำเป็นเลยที่จะพยายามควบคุมบังคับบทเพลงให้เป็นงานยากๆ โชว์อัตตาของผู้แต่ง


อย่างที่บอกว่า เราเลิกความคิดไปได้แล้วว่า composer เป็นเจ้าโลก เป็นคนสร้างงานขึ้นมา มันไม่ใช่ สังคมต่างหากเป็นคนสร้างงาน เพราะฉะนั้นนักดนตรีทุกคนมีส่วนในการสร้างงานหมด มันจะเห็นชัดโดยเฉพาะตอนท้ายเพลง ตรงนี้ improvise หมดเลย ผมไม่เขียนโน้ตเลย แล้วไม่ใช่แค่ improvise เฉยๆ นะ เขาต้องเล่นเพลงอะไรก็ได้ที่เขานึกขึ้นมาได้ตอนนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะเล่นเพลงไม่เหมือนกัน จะเล่นเพลงป๊อป เพลงพี่เบิร์ด เพลงอะไรก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รสนิยมของคนแต่ละคนเป็นยังไง แล้วมันก็มารวมกัน blend กัน ทุกคนเล่นเพลงแตกต่างกันหมด เป็น indeterminacy เป็นการสร้างภาพรวมว่านี่คือสังคมที่เราอยู่ แต่ละรอบเล่นไม่เหมือนกันก็ได้ หรือใครอยากจะเล่นเพลงคลาสสิคก็เล่นไป


ดนตรีของผมมันควรจะผ่านการจัดการ ผ่านการลองซ้อม ผ่านการปรับแก้ การปรับแก้เพลงในตอนจะออกแสดงเป็นเรื่องธรรมดามาก ในการแต่งเพลง ผมไม่เคยวางรูปแบบของเพลงไว้โดยตายตัวว่าเพลงจะต้องเป็นท่อนอะไรอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นกล่องๆ เป็นรูปเป็นร่าง ผมไม่เคยมีภาพที่สมบูรณ์ของชิ้นงานอยู่ในหัว แต่การแต่งเพลงของผมคือการลองผิดลองถูก การค้นหา มันเป็นการค้นหามากกว่าการสร้าง เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีรูปร่างที่ผมนึกไว้ในใจอย่างแน่นอน


ยิ่งหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกอึดอัดกับกรอบ ผมรู้สึกว่า form นั้นไม่ใช่เรื่องจริงและทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ งานชิ้นหลังๆ ของผมจึงค่อนข้างเป็นอิสระจากฟอร์มมาก เพราะทุกอย่างเป็นไปได้ในโลก ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผมพยายามทำลายฟอร์ม ทำลายความเป็นองค์รวมของเพลง ทำลายความคิดความเชื่อที่โดนสร้างมาเป็นมาตรฐาน


ก่อนจากกัน อาจารย์อติภพทิ้งหมัดเด็ดไว้ว่า
“ดนตรีไม่ใช่ความจริง!!! คุณไม่สามารถหาความจริงใดๆ จากดนตรีได้ ไม่มีอะไรที่เป็นสากลอยู่ในดนตรีเลย ทุกอย่างเป็นสิ่งสัมพัทธ์หมด”


เนื่องจากอาจารย์อติภพได้แสดงหลักการไว้ชัดเจนว่า การให้ความหมายหรือการตีความบทเพลงเป็นเรื่องของคนฟัง เราจึงขอไม่นำส่วนที่เป็นความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการตีความของผู้ประพันธ์มาลงในที่นี้ เพราะจะเป็นการชี้นำผู้ฟัง และอาจทำให้เสียอรรถรสในการฟังไป จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านไปสัมผัสงานเพลงชิ้นนี้ด้วยตัวเอง โดยขอให้เปิดหู เปิดใจให้กว้าง เข้าไปรับฟังผลงานใหม่ชิ้นนี้ รับรู้ เข้าใจ และตีความมันไปตามพื้นฐานที่แต่ละคนมีอย่างอิสระ

แล้วเราน่าจะได้มาคุยกันต่อว่า Once Long Ago… ในความคิดของแต่ละคน เป็นอย่างไร
 


ผลงานเพลง “Once long ago were earth, grass, sky and gods. Men and gods visited each other unceasingly…” for Trumpet, Percussion, Thai Ensemble and Orchestra จะเปิดแสดงรอบ World Premiere โดยวง Thailand Philharmonic Orchestra ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ที่ Shrewsbury International School เวลา ๑๙.๓๐ น. และวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ