
นักเขียนอมตะ โกวิท เอนกชัย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เปล่าเลย ผมไม่ใช่กวี
เพียงเป็นคนทำงานแห่งถ้อยคำ
ค่าจ้างนั้นแสนต่ำ
แต่งานนั้นหนักนัก
แต่ผมรักให้ดอกคำนี้
ผลิบานที่ดวงใจ
ผู้เขียนถ้อยคำนี้คือ รุ่งอรุณ ณ สนธยา เป็นนามปากกาของ โกวิท เอนก หรือท่าน เขมานันทะ ซึ่งเป็นอีกฉายาหนึ่งของท่านได้มาเมื่อครั้งครองเพศสมณะอยู่สวนโมกขพลาราม
ปีนี้ โกวิท อเนก ได้รับยกย่องจากมูลนิธิ อมตะ ให้เป็น นักเขียนอมตะ อันเป็นรางวัลทางวรรณกรรมใหญ่รางวัลหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทย
นักเขียนอมตะ เมื่อสองปีที่ผ่านมาคือ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ และเปลว สีเงิน
ผมเรียก พี่โกวิทจนติดปาก ก็จะขอเรียกต่อไปในข้อเขียนนี้
พี่โกวิทเป็น นักเดินทาง โดยตลอด แม้จนวินาทีนี้ที่พี่โกวิทไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย
วันงานรับเกียรติยกย่องให้เป็นนักเขียนอมตะจากมือท่านประธานคือ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมก็ยังได้เห็นความเป็น นักเดินทาง จากใบหน้าสงบนิ่งของพี่โกวิท
เย็นวันหนึ่ง ที่สวนโมกข์ พี่โกวิทเล่าเรื่องนิทานเซนจากภาพวาดในโรงมหรพทางวิญญาณที่พี่โกวิทวาดขยายจากภาพเก่า เรามาถึงข้อสรุปเรื่อง ศีลธรรม ผมเองได้ข้อสรุปเพียงว่า
ศีลเป็นข้อห้าม ธรรมเป็นข้อปฏิบัติ
พี่โกวิทขยายความให้ผมฟังต่อ
ศีลเป็นกำลังจากภายนอก ธรรมเป็นกำลังจากภายใน สองกำลังนี้จะบีบบดอัตตาที่อยู่ตรงกลางให้สลายไป
โอ้โฮ้...คิดได้ไง ผมอุทานอยู่ในใจ
นี่แหละคือความหมาย นักเดินทาง ที่ผมนิยามให้พี่โกวิท
คือ การเดินทางทาง ความคิด ครับ
ไม่ใช่การเดินทางทางกายที่พี่โกวิทไปมาแล้วเกือบทั่วโลก และที่ไปมาทั้งโลกนั้น ก็ล้วนได้รับเชิญให้พี่โกวิทไปเล่าเรื่องการเดินทางทาง ความคิด นี่เอง
หนังสือเล่มหนึ่งของพี่โกวิทเรื่อง เดินทางไกลกับไซอิ๋ว ซึ่งพี่โกวิทเล่าว่า ท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นผู้ให้ความเห็นแย้งกับผู้คงแก่เรียนที่ว่าเห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง นั้น คือตัวแทนของโทสะ ราคะ โมหะ ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับเห็นว่าตัวละครสามตัวนั้นเป็นตัวแทนของ ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่
พี่โกวิทบอกว่า นอกจากไซอิ๋วแล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสยังเล่าถึงผู้ใส่ใจหาความหมายทางธรรมในวรรณคดีโดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อีกด้วย
พี่โกวิทเรียกเค้าความนี้ว่า สายคำ ท่านเขียนถึงเรื่องนี้ว่า
ข้าพเจ้าได้สายคำอันนั้นแล้ว ก็ลงมืออ่านไซอิ๋ว อย่างตั้งใจ ทั้งได้ช่องทางข้อคิดเห็นของสวามีวิเวกนันทะ ต่อรามายณะว่า ราวณะ ที่แท้ก็เป็นสัญลักษณ์ของ อหังการ์ ในที่สุดก็เห็นเค้าโครงทางจิตวิญญาณในมหากาพย์ รามายณะทั้งของอินเดีย ไทย และไซอิ๋วกี่ (ดัดแปลงมาจากรามยณะ) เมื่ออ่านไซอิ๋วตลอดเรื่อง และเขียนแผนภูมิแม่น้ำ ภูเขา วัดวาอารามดู ทั้งพิจารณา นิรุกติ ของชื่อเหล่านั้น ก็ยิ่งเห็นเด่นชัดว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องราวการเดินทางภายในแต่งให้สนุกสนาน แต่แฝงความลึกซื้งไว้พร้อมมูล
หนังสือ เดินทางไกลกับไซอิ๋ว จึงเท่ากับได้ร่วมเดินทางไปกับ ความคิด ของพีโกวิทด้วยอย่างสนุกสนานและลุ่มลึก
เรื่องรามเกียรติ์นั้น พี่โกวิทว่า
ถ้าจะย่นย่อ รามายณะ ให้สั้นคงได้ใจความว่า ในฐานะเพียงเป็นมนุษย์แห่งความจริง (ราม) ได้อุทิศตนในทางพระเจ้าถึง 14 ปี ด้วยพลังของศรัทธาภักติ (หนุมาน) สามารถสร้าง มรรค (เสตุพันธ์) จนละอหังการ์ (ราวณะ) และสัจจะก็รวมเป็นเอกภาพกับ อาตมัน (สีดา) ก่อให้เกิดศาสนติสุขอันรุ่งเรืองต่อโลก
จากความไม่รู้สู่ความรู้
ตัวเราคือ พระราม ความไม่รู้หรือกิเลส คือ ทศกัณฐ์ ความรู้แจ้งคือ สีดา ความมุ่งมั่นเอาชนะกิเลส นั้นคือ หนุมาน
ทั้งเรื่องจึงล้วนเป็น การเดินทาง ของจิตภายในตัวเรานี้เอง นั่นคือการนิ่งพินิจถึงปรมัตถธรรมในทุกเรื่อง
พี่โกวิทเรียกลักษณะแห่งการนิ่งพินิจนี้ว่าคือการวิปัสสนา ดังนั้น เราจึงเรียกพี่โกวิทว่าเป็น วิปัสนิก คือผู้ปฎิบัติธรรมด้วยการกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา
พี่โกวิทไม่ปฎิเสธความจริงอย่างโลกย์ๆ ซึ่งล้วนเป็นไปตามอำนาจของกิเลสเสียเป็นส่วนใหญ่ หากพี่โกวิทมีฐานของปรมัตถธรรมได้ตลอดเวลา และในทุกเรื่อง
เช่น ขณะนี้ พี่โกวิทมีปัญหาเรื่องสุขภาพทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง พี่โกวิทบอกว่า
ทกให้กำหนดสติได้ละเอียดขึ้น
นี้แหละพี่โกวิท
หนังสือของพี่โกวิทที่มูลนิธิอมตะพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในงานมอบรางวัลเล่มหนึ่งชื่อ เค้าขวัญวรรณกรรม ซึ่งรวมข้อเขียนการตีความวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง นอกจากรามเกียรติ์และไซอิ๋วแล้ว เรื่องอื่นๆ มีเช่น สังข์ทอง พระรถ เมรี พระสุธน มโนราห์ ซึ่งล้วนทำให้เราได้ร่วมมองเห็น เค้าโครงทางจิตวิญญาณ ไปกับ การเดินทาง ของพี่โกวิท
เส้นทางความคิดสายนี้มีผู้เดินไม่มากนักแต่ก็มีผู้ปรารถนาจะร่วมทางอยู่ไม่น้อย หากเขามักหลงเวียนวงอยู่ในเขาวงกตเสมอด้วยขาดเข็มทิศและลายแทงบอกทางถูก
มนุษย์ใช้ปัญญาไปแก้ปัญหาในโลกในจักรวาลได้สารพัดสารพัน แต่มนุษย์ที่แท้ได้เลย
เส้นทางสายนี้มีผู้กำลังเดินอยู่เนิบช้าแน่วนิ่งนี่ไง
โกวิท เอนกชัย
บัวแสนกลีบกับมือนับหมื่นที่ยื่นให้
ขอตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์อวโลกิเตศวร
พระผู้มองโลกด้วยกรุณาเป็นอารมณ์
พระองค์ไม่ใช่เทพเจ้าผู้กุมอำนาจทิพย์
แต่พระองค์คือความรัก ความเข้าใจ คือชีวิตที่ไร้คำนึงถึงสิ่งอื่นใด
นอกจากการอยู่รวดปลอดภัยของสรรพสัตว์
แต่พระองค์ก็หาใช่มหาเทพผู้เป็นอมตะอันอาจลิขิต โองการสวรรค์เปลี่ยนแปลง
กรรมวิบากของใครก็ได้ไม่
พระองค์คือธาตุกรุณาผู้ประทับในใจของทุกคน คือความสว่าง อ่อนโยน แม้ไม่ใช่พลังอำนาจก็ยังประสบชัยชนะต่อโลกสาม
พระผู้ประเสริฐ ผู้มีใบหน้าระทมทุกข์ของสรรพสัตว์สะท้อนในแววตา
พระผู้สดับเสียงครวญคร่ำจากนรกโลกันตร์
พระผู้ลูบไล้ดวงอาทิตย์, เพ็ญจันทร์และดวงดาวด้วยฝามือ
แต่ก็ใช่อิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์อะไรไม่
แท้จริงพระองค์เป็นเพียงแสงกรุณาเปล่งประกายจากใจของสรรพสัตว์
พระผู้ดำรงอยู่ประจำใจทุกผู้คน
เป็นส่วนที่ดีที่สุดในท่ามกลางสิ่งล้ำค่าทั้งหลาย
ดีกว่าทองคำอร่ามเรือง เปล่งประกายกว่าเพชรจรัสแสง
งามกว่าประสาทราชมณเฑียร
สง่ากว่าช่อฟ้ามหาวิหาร
สูงส่งกว่าชะเวดากองอันพริ้งพราย
นุ่มนวลกว่าทัชมาฮัล
เร้าอารมณ์สุนทรรีย์ลี้ลับกว่าโบโรบุดัว
เป็นดวงตานับอเนกอนันต์
ในมือนับหมื่นที่ยื่นให้
เขมานันทะ