มิตาเกะ ข้างหลังภาพมีอะไรในภาษาวรรณศิลป์ของศรีบูรพา

วันนักกลอน 10 ธันวาคม ณ ห้องนพรัตน์ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ได้จัดให้มีการเสวนาสาธารณะในวาระความสัมพันธ์ทางการทูตสยามประเทศไทย ญีปุ่น ครบวาระ 120 ปี
ซึ่งงานนี้นอกจาก สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย จะเป็นแม่งานหลักแล้วยังมีองค์กรร่วมสนับสนุน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล คณะวิทยากรประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ,เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, ชมัยภร แสงกระจ่าง,ทองแถม นาถจำนง ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย ผศ.ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ก่อนพลิกกรอบรูป
ข้างหลังภาพ ๑ ใน ๕ หนังสือเล่มโปรดของ กวีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ข้างหลังภาพ บทประพันธ์คลาสสิกของ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เผยแพร่เป็นครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ถูกตีพิมพ์วันต่อวัน เริ่มตอนแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2479 ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2480 จบบทที่ 12 เป็นเหตุการณ์ตอน ม.ร.ว.กีรติกับนพพรลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ
ความจริง ศรีบูรพาตั้งใจจะจบ ข้างหลังภาพ เพียงเท่าที่เขียนในประชาชาติ คือจบแค่ 12 บท แต่โดยที่ผู้อ่านชอบเรื่องนี้มาก ประกอบกับ
สำนักงานนายเทพปรีชา ที่ครูกับเพื่อนร่วมกันตั้งขึ้น เห็นว่า น่าจะเอา ข้างหลังภาพ มาพิมพ์รวมเล่ม และเพื่อจะให้มีจุดขายดียิ่งขึ้น ครูจึงเขียนต่ออีก 7 บท โดยถือว่าที่เขียนจบในประชาชาติเป็นภาคแรก หรือภาคต่างประเทศ
ส่วนที่เขียนใหม่เป็นภาคจบสมบูรณ์ หรือภาคในประทศ ข้างหลังภาพ ฉบับสมบูรณ์ที่อ่านกันอยู่ทุกวันนี้จึงมี 19 บท อย่างไรก็ตาม ยังต้องถือว่า 12 บทแรก หรือภาคแรก เป็นความหมายหลักของ ข้างหลังภาพ ที่เป็นชื่อเรื่องด้วย
มีอะไรที่ มิตาเกะ
ใครหลายคน อาจจะรู้จัก มิตาเกะ ว่าเป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง อยู่ที่ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่จะรู้ว่า ภาพ "ริมลำธาร" มี "ข้างหลัง"... "ข้างหลัง" อันเป็นอดีต - เป็น "ข้างหลังภาพ" แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ งดงาม ในหัวใจของชายหญิงคู่หนึ่ง
หม่อมราชวงศ์กีรติล้มป่วยหนักภายหลังทราบข่าวการตัดสินใจแต่งงานของนพพร ก่อนที่นพพรจะทราบความในใจของคุณหญิงในวันที่เขาไปเยี่ยมคุณหญิงและรับของขวัญแต่งงานจากเธอ ซึ่งคือ ภาพวาดสีน้ำที่มิตาเกะซึ่งคุณหญิงบอกว่าเป็นที่ที่ ความรักของเราเกิดขึ้นที่นั่น ก่อนที่จะตอกย้ำนพพรว่า ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ (ศรีบูรพา, ข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งที่ 38, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547. หน้า 157)
ภาพนั้นเขียนด้วยสีน้ำ มีชื่อ "ริมลำธาร" ปรากฏอยู่ที่มุมล่างด้านซ้าย ฝีมือเขียนอยู่ในระดับธรรมดาๆ แต่พอจะมองเห็นเค้าโครงร่างของคน 2 คนนั่งเคียงคู่กันอยู่บนก้อนหินใต้ต้นไม้ริมลำธารที่บ่งบอกสถานที่ไว้ด้วยว่า มิตาเกะ
ข้างหลัง(ไม่ได้)จารึก (เพียง) อักษร
ก่อนสิ้นใจคุณหญิงเขียนลงกระดาษเพื่อพูดกับนพพรในสภาพที่เธอไม่มีแม้เรี่ยวแรงจะพูดว่า ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก (ศรีบูรพา, ข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งที่ 38, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547. หน้า 158)
ภาพริมธาร ของ ของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ในทัศนะ ของ ศรีบูรพา คงมิใช่กระดาษที่วาดรูปแผ่นหนึ่งในกรอบเรียบๆ เส้นสีเป็นเพียงภาพวิวธรรมดา แท้จริงแล้ว ข้างหลังภาพ ก็มิใช่จะเป็นม่านฝาผนังอย่างเดียว แต่ซ่อนเรื่องราวมากมาย ในโลกทัศน์ของสังคมสยามในยุคก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ สะท้อนภาพชัดเจนจากทัศนะของหม่อมราชวงศ์กีรติ ฉันไม่ใคร่จะได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบ ๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม
แม้จะเป็นภาพริมธารมีม่านไม้สยายใบแต่ซ่อนนัยยะเรื่องราวที่มีชีวิตอยู่ด้วย ซึ่งก่อรูปขึ้นจากเลือดและเนื้อประกอบสร้างขึ้นด้วยโวหารทางภาษาและอำนาจของวรรณกรรม สุดยอดของงานวรรณศิลป์ เพราะเป็นนวนิยายที่งดงามถึงพร้อมด้วยเนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์
ศรีบูรพา เขียนนวนิยาย และเรื่องสั้นเป็นเรื่องรัก-ร้างไว้หลายเรื่อง ทั้งที่จบดีและจบร้าย แต่ไม่มีเรื่องใดประทับใจเท่ากับเรื่องของความรักต้องห้าม ต่างวัย ต่างศักดิ์ ระหว่าง ม.ร.ว.กีรติ กับ นพพร ใน ข้างหลังภาพ
นายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต