ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2550
หน้า 34 คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ระหว่างนั่งรถผ่านจังหวัดยโสธร เข้าเขตจังหวัดอุบลฯที่อำเภอเขื่องใน ได้ยินเพลงหมอลำกลอนด้นเรื่องราวร่วมสมัยจากวิทยุ วิจารณ์ปัญหาสังคมด้านต่างๆ ฟังแล้วไม่เหมือนหมอลำจัดตั้งของทางการที่เคยได้ยินมา แต่ไม่รู้จะถามใคร เลยจดเลขหมายคลื่นบนหน้าปัดว่า 103.75 ระหว่าง 17.30-18.00 น. วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา
เพลงดนตรีถูกจำแนกเป็นไทยเป็นลาวตามอำนาจ"รัฐชาติ"(ควรเรียกรัฐประชาชาติพันธุ์) แต่แท้จริงมีรากเหง้าเดียวกันคือกลอนด้น หมอลำก็เป็นกลอนด้นอย่างหนึ่ง(ที่ต่อมาจัดระเบียบเป็นโคลง) เมื่อครูบาอาจารย์ด้านวรรณคดี, ดนตรี, โคลงฉันท์กาพย์กลอน, ฯลฯ ไม่ประสีประสาพื้นถิ่นพื้นฐานพื้นบ้านพื้นเมืองก็เลยจับแยกเป็นส่วนๆเสี่ยงๆ ไม่อยู่เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกำเนิดของมัน คนรุ่นใหม่เลยขาดความเข้าใจแล้วไร้จิตวิญญาณ เลยร้องด้นไม่ได้ แล้วเอามรดกทางวัฒนธรรมเพลงดนตรีมาสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่เพื่อรับใช้สังคมใหม่ไม่ได้
 ภูมิประเทศอีสาน เป็นแอ่งอารยธรรมเก่าแก่ของดินแดนสุวรรณภูมิทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ (ระบายสีดำ) มีรากเหง้าความเป็นคนไทยทุกวันนี้
|
เลยได้แต่พากันอนุรักษ์, ฟื้นฟู, สงวนรักษาอย่างน่ารำคาญและหนวกหูมาก ถ้าของดีจริงจะมาตะโกนโหวกเหวกเรียกร้องความสนใจทำไม? หากเป็นอย่างนี้แสดงว่าไม่ดีจริง ฉะนั้นควรเก็บไว้ในตู้ อย่าให้ออกมาเพ่นพ่าน
แหล่งน้ำธรรมชาติในอีสาน นอกจากบนเทือกเขาที่มีน้อยแล้ว เช่น เทือกเขาเพชรบูรณ์, เทือกเขาภูพาน, ฯลฯ ยังมีมากในหนอง, บึง(หรือบุ่ง),ฯลฯ แต่หนองบึงส่วนมากก็ถูกยึดครองแล้วถมทำลายหมด "น้ำต้นทุน"เลยลดลง แล้วแห้งหายหลายแห่ง
ประวัติศาสตร์ไทยไร้ภูมิศาสตร์ ส่งผลให้สังคมไทยไม่ใส่ใจภูมิประเทศ, ไม่รู้แหล่งต้นน้ำลำธาร ไม่รู้ที่มาของแม่น้ำลำคลอง และไม่รู้จักสันปันน้ำกับเทือกเขาที่มีป่าดงเป็นแหล่งทรัพยากร
นี่เองทำให้ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่ราชธานี เช่น เมืองสุโขทัย, เมืองอยุธยา, เมืองเชียงใหม่, เมืองนครราชสีมา, ฯลฯ แต่ไม่มีท้องถิ่นและหัวเมืองที่เป็นฐานทรัพยากรให้ราชธานีเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้
แม่น้ำมูล(ที่ถูกต้องเขียนมูน) เป็นที่รู้จักทั่วไปในอีสาน แต่ถามว่าต้นน้ำมูลอยู่ไหน? แล้วไหลจากไหนไปไหน? ผ่านจังหวัดอะไร? ผ่านอำเภออะไร? ฯลฯ คงไม่มีใครตอบได้สบายๆ ทั้งๆที่ชาวอีสานควรรู้ทั่วไป เพระาเป็นเส้นเลือดสำคัญๆคู่กับแม่น้ำชี(มาจากซี, ซี่)
ผมนั่งรถหลงทางไปถึงอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา(จะหาทางลัดไปอำเภอปักธงชัย เข้าเส้นทางลงไปปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เข้ากรุงเทพฯ) สุ่มสี่สุ่มห้าไปจนถึงบ้านหนองโสมง ต. อรพิมพ์ อ. ครบุรี จ. นครราชสีมา มีสะพานข้ามแม่น้ำมูล ถึงรู้ว่าต้นน้ำมูลได้น้ำสะสมจากเทือกเขาใหญ่ด้านที่ราบสูงทางครบุรี นี่เอง แล้วไหลเข้าด่านเกวียนที่โคราช ส่วนอีกด้านหนึ่งของสันปันน้ำเทือกเขาใหญ่กลายเป็นลุ่มน้ำบางปะกง
มหาวิทยาลัยในอีสาน ควรร่วมมือกันทำสถาบันแกนกลาง หาช่องทางแบ่งปันและเผยแผร่วิชาความรู้เกี่ยวกับดินแดนและผู้คนลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคสุวรรณภูมิ ที่เป็นแอ่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว และเป็นรากเหง้าของปัจจุบันอย่างแท้จริง ความรู้อย่างนี้จะเป็นพื้นฐานผลักดันให้มีปัญญาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในอนาคตที่มั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยในอีสานควรมีขึ้นเพื่อกิจการนี้โดยตรง อย่ารอสื่อมวลชน แต่เมื่อมหาวิทยาลัยในอีสานลงมือทำ สื่อมวลชนคงลงมือช่วยสนับสนุนได้