ReadyPlanet.com
dot dot
พล นิกร กิมหงวน

The Three Chums and Po Inthapalit B.E. 2550

พล นิกร กิมหงวน

กับป.อินทรปาลิต ในปี พ.ศ. 2550

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

(1)

คงไม่มีใครสรุป ป. อินทรปาลิต ได้สั้นและกินใจได้เท่าเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มหากวีรัตนโกสินทร์ (2531) ที่ว่า

“คนที่ทำคำว่า “เชย” ให้ “เชย” ได้

คนที่ให้เสียงหัวเราะบริสุทธิ์

คนที่มองโลกเป็นเห็นสมมุติ

คนที่สร้าง “ห้องสมุด” ในใจคน”

 

 (2)

ครับ ผมก็คงเหมือนกับใครๆหลายคน ที่กลายเป็นนักอ่าน เป็นคนรักหนังสือ ก็เพราะ “ได้อ่าน” และติด ป. อินทรปาลิตงอมแงมในวัย “ทีนเอจ” ผมเกิดและโตที่บ้านโป่ง (ราชบุรี) ระหว่าง พ.ศ. 2484 ถึง 2497 (1941-1954) เป็นเวลา 13 ปี ผมเกิดปีเดียวกับที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย (ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” มาได้ 2 ปี) บ้านผมอยู่ที่ถนนทรงพล ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ และก็ไม่ไกลจากแม่น้ำแม่กลองนัก ผมว่ายน้ำเป็นที่นั่น เกือบจมน้ำตายก็ที่นั่น (ตรงท่า “กิมจูหลี”) ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนนารีวุฒิและสารสิทธิ์ฯ จนอายุได้ 13 ปี ในปีสุดท้ายที่ผมอยู่ที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2497 (1954) เกิดไฟไหม้ใหญ่ ตลาดบ้านโป่งวอดวายหมด รวมทั้งบ้านของผม เชื่อหรือไม่ว่าหนังสือของ ป. อินทรปาลิต ที่ผมซื้อไว้หลายร้อยเล่มใส่ไว้ 2 ลังย่อมๆนั้น รอดไฟไหม้มาได้หมด

 

ที่ถนนสายกลาง บ้านโป่ง ไม่ไกลจากที่ว่าการเทศบาลเมืองบ้านโป่ง (เก่า) เท่าไรนัก มีร้านของอาเจ๊ ขายหนังสืออ่านเล่น นวนิยาย ประโลมโลก แต่พ่อกับแม่ผมอนุญาตและให้เงินไปซื้อหนังสือได้เกือบทุกวัน และที่นั่นแหละที่ผมมีหนังสือเล่มละ 1 บาทบ้าง 2 บาทบ้าง พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 (1949) บางเล่มเรื่อง “เสือใบ” นั้น หน้าปกเป็นฝีมือของเหม เวชกร ผมมีชุดของ “เสือดำ” (2492/2497-1949/1954) ของ “หน้ากากดำ” (2495/1952) “ลูกดาวโจร” (2495/1952) “ทาร์ซานน้อย” (2497/1954) “ปีเตอร์แพนเปี๊ยก” (2497/1954) และแน่นอนที่สุด คือ มี “พล นิกร กิมหงวน” (ซึ่งต้องบอกว่าส่วนใหญ่ มีไม่ครบชุด แต่รวมแล้วผมมีหนังสือของ ป. อินทรปาลิตเกือบ 500 เล่มได้ และผมก็ยังคิดไม่ตกว่าจะยกหนังสือนี้ให้กับห้องสมุดที่ไหนดี)

 

 (3)

ผมคิดว่าผมหยุดอ่าน ป. อินทรปาลิตไปเมื่อผมเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมา “ชุบตัว” อยู่สวนกุหลาบฯ และธรรมศาสตร์ ผมมี “อวสานต์เสือใบ” กับ “อวสานต์เสือดำ” ที่พิมพ์ พ.ศ. 2498 (1955) ปีแรกที่เข้ากรุงฯ แต่คงเป็นปีสุดท้ายที่ผมอ่าน ป. อินทรปาลิต ผมเปลี่ยนไปอ่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, รงค์ วงษ์สวรรค์ อ่าน “สยามรัฐ” อ่าน “ชาวกรุง” แทนจนกลายเป็น “นักเรียนนอก” เมื่อ พ.ศ. 2508 (1965 ผมเกือบไม่เคยอ่านงานของฝ่ายซ้าย หรือ “ฝ่ายก้าวหน้า” อย่าง “ศรีบูรพา” หรือ “เสนีย์ เสาว พงศ์” เลยจนกระทั่งไปอยู่ต่างประเทศ)

 

ผมเกือบจะลืม ป. อินทรปาลิตไป โชคดีที่แม่ผมเก็บลัง 2 ลังที่เต็มไปด้วย “อัญมณี ป. อินทรปาลิต” นั้นไว้ที่บ้านโป่ง ครั้นพ่อผมตายไปเมื่อปี 2510 แม่ก็อพยพจากบ้านโป่ง กลับบ้านเดิมของแม่ที่ปากน้ำ (สมุทรปราการ) แม่หอบลังทั้งสองนั้นไปรอผมกลับมารับคืนเมื่อปี 2516 (ก่อน 14 ตุลา 1973 ไม่กี่เดือน)

 

(4)

ผมอาจจะลืม ป. อินทรปาลิตไปได้สนิท หากไม่ได้ถูกสะกิดโดยหนังสือของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน 1-2 พิมพ์ พ.ศ. 2544-45) หรือนักประวัติศาสตร์อย่าง ดร. แถมสุข นุ่มนนท์ (ที่เธอว่าเธออ่านหนังสือชุดสามเกลอออก ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน) หรือ “แฟนพันธุ์แท้” อย่างจรัญ หอมเทียนทอง ที่เอาหนังสือ “ไปสู่อนาคต” อันเป็นเล่มท้ายๆของงานเขียนในบั้นปลายชีวิตของ ป. อินทรปาลิต มา “บังคับ” ให้ผมอ่าน และก็ทำให้ผมตระหนักว่า ป.อินทรปาลิต ไม่เพียงแต่สร้าง “ห้องสมุด” ไว้ในใจผมเท่านั้น แต่ ป. ได้กลายเป็นหน้าต่างอันกว้างใหญ่ที่ทำให้ผม (และอีกหลายๆคน) ได้เห็นโลกกว้าง ได้ทำให้เรา “ฝัน” ทำให้เรา “อยากบิน” และ “บิน” (แม้จะบินอย่าง “อนุรักษ์นิยมเก่าๆใหม่ๆ” ก็ตาม)

 

และที่สำคัญในแง่ของวิชาการ ในแง่ที่งานอาชีพของผมคือ “งานประวัติศาสตร์” นั้น งานของ ป. อินทรปาลิต ไม่ว่าจะเป็นชุด “เสือๆๆ” ไม่ว่าจะเป็นชุด “สาม/สี่เกลอ” และไม่ว่าจะเป็นชุด “ร่วมสมัย” ใดๆอย่าง “ทาร์ซาน หรือ ปีเตอร์แพน” ก็คือภาพสะท้อนของสังคมไทย ของทางเดินของประวัติศาสตร์สังคมไทย (ในระดับของคนเมือง คนกรุง) อย่างเยี่ยมยอด

 

(5)

ปรีชา อินทรปาลิต เกิดเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 (1910) คือปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 และสิ้นชีวิตไปเมื่อ 25 กันยายน พ.ศ. 2511 (1968) ในรัชกาลปัจจุบัน และตรงกับปีที่รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างกันยาวที่สุด 10 ปีของ “คณาธิปไตยสฤษดิ์/ถนอม/ประภาส” ออกมา พร้อมๆกับนักศึกษาหนุ่มวิทยากร เชียงกูล เขียนบทกวี “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย”

 

ผมไม่แน่ใจว่าระหว่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งรวมกันแล้ว 15 ปี ยาวนานที่สุด กับนักประพันธ์ใหญ่ ป.อินทรปาลิต ใครเริ่มต้นใช้อักษรย่อ ป. ก่อนกัน

 

ป. อินทรปาลิตมีบิดาเป็นนายพันโท เป็นคนกรุงเทพฯ ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นนักเรียนนายร้อย (ทหารบก) รุ่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร (แต่หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ถ้า ป.อินทรปาลิต “รักดี” แบบนักเรียนนายร้อยทั่วๆไป เขาคงจะจบเป็นนายร้อยพร้อมเพื่อนร่วมรุ่นในปี พ.ศ. 2473 (1930) ก่อนการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และคงถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติว่าได้ร่วมทำ “การปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป กบฏ ยึดอำนาจ ทำลายและสร้างรัฐธรรมนูญ” ร่วมกับ “คณะ” ต่างๆและนานา (อาทิ คณะราษฎร คณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ คณะๆๆๆ) ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา

 

แต่การที่เขาหนีเรียน เกเร ติดผู้หญิง ก็ทำให้เส้นทางเดินของชีวิตวัยหนุ่ม (แม้ว่าจะจบมัธยม 8 จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ก็ตาม) ได้เป็นคนขับแทกซี่ ขับเรือยนตร์ขึ้นล่องกรุงเทพฯและนครสวรรค์ (บ้านเดิมของ “ลุงเชย”) เป็นนักละคร เป็นนักพากษ์หนัง และท้ายที่สุดก็กลายเป็นนักประพันธ์ ด้วยงานเขียนเรื่องแรกคือ “นักเรียนนายร้อย”

 

กล่าวกันว่า “เมื่อปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  (1932) นั้น เขาอายุย่าง 23 ปี และได้เริ่มเขียนหนังสือ ที่เรียกกันว่า หนังสือสิบสตางค์ มาได้ 2 ปี ส่วน “พล นิกร กิม หงวน” นั้นมาเริ่มตอนแรกเมื่อ 2481/82  และเขียนเรื่อยมาจนถึงปี 2510 ก่อนที่จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในปี 2511 (1968) รวมอายุได้ 58 ปี” 

 

ในโลกของนักเขียน ป.อินทรปาลิตนับได้ว่าเขียนได้เกือบจะทุกรส ทั้งเรื่องรักโศก เรื่องบู๊ และเรื่องตลก แต่ก็น่าเชื่อว่าปัจจุบันเขาจะถูกจดจำในฐานะของบทประพันธ์ชุด “พล นิกร กิมหงวน” เสียมากกว่า
 (6)
ผมเชื่อว่าคุณสมบัติพิเศษของ ป.อินทรปาลิต ที่ทำให้ท่านได้รับความนิยมอย่างสูง ก็คือความ “ร่วมสมัย” หรือที่ภาษาอังกฤษว่า “contemporary” นั่นเอง ป.อินทรปาลิตใช้ประสบการณ์และเรื่องราวที่แวดล้อมท่าน ที่กำลังเกิดอยู่ต่อหน้าต่อตาของท่านและ “เรา” มาเป็นบริบทของเรื่อง และดังนั้นในชุดแรกๆช่วงทศวรรษ 2480 (1930-1940)ในขณะที่ “คณะราษฎร” กำลังเรืองอำนาจ ในขณะที่ลัทธิทหารและลัทธิ “ผู้นำ” หรือ “ระบอบพิบูลสงคราม” กำลังก่อตัวอยู่นั้น เราก็จะเห็นหัสนิยายอย่างเช่น “รัฐนิยม” “เที่ยวรัฐธรรมนูญ 83” ตลอดจนยุคสมัยของไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเช่น “พลร่ม ส.ค.ส. 2484”
ถ้าจะว่าไป ป.อินทรปาลิต ก็มากับและเติบโตกับ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ที่นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เป็นต้นมา ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ของโลกตะวันตก (ฝรั่ง) และลัทธิอาณานิคม ที่นักสังเกตการณ์สังคมบางคนกล่าวว่ามาพร้อมกันทั้ง อักษร S และ อักษร D คือสิ่งที่เรียกว่า Science หรือวิทยาศาสตร์ กับสิ่งที่เรียกว่า Democracy หรือประชาธิปไตย และก็ดูเหมือนไม่มีใครเลยที่จะปฏิเสธ Science หรือวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้าของเครื่องจักรกลอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่สำหรับ Democracy หรือประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่ต้อง “แบ่งรับแบ่งสู้” “อ้ำๆอึ้งๆ” จะ “รับ” ก็ไม่ได้ จะ “ไม่รับ” ก็ไม่ได้

(7)

ดังนั้น “คำกราบบังคมทูลให้ปฏิรูปการปกครอง ร.ศ. 103” ของบรรดาเจ้านายและขุนนาง จึงถูกรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิเสธ

 

ดังนั้น “การก่อการ ร.ศ. 130” ของนายทหารหนุ่มจึงกลายเป็น “กบฏ” แทนที่จะเป็น “ปฏิวัติ” ในสมัยรัชกาลที่ 6

 

และดังนั้น “24 มิถุนายน 2475” จึงกลายเป็นทั้ง “การปฏิวัติ” และ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

 

และดังนั้น “คณะราษฎร” จึงกลายพันธุ์ไปเป็น “คณะรัฐประหาร” (2490) ที่อยู่ยงคงกระพันในรูปแบบของ “อำมาตยาเสนาธิปไตย” มาจนถึงทุกวันนี้

 

ทั้งหลายทั้งปวงเป็น “ภูมิหลัง” ให้ ป.อินทรปาลิตเขียนเรื่องของ “เสือๆ” ทั้งหลาย ที่เป็น “ผู้ร้าย/ผู้ดี” จนกระทั่งถึงยุคสมัยของ “คณะปฏิวัติ” ของ 3 จอมพล (สฤษดิ์ ถนอม ประภาส) ผู้ร่วมรุ่นกับ ป.อินทรปาลิต ที่ทำให้ “สามเกลอ” ไปปราบคอมมิวนิสต์ช่วยอเมริกัน ไปต่อต้านนโยบายเป็นกลางของ “สีหนุ” ถึงขนาดที่ ป.อินทรปาลิตฝันไปว่า

“กำลังรบของไทยทั้ง 3 กองทัพเข้มแข็งที่สุด

เมื่อปี พ.ศ. 2547 เรากับเขมรเกิดปะทะกันตามพรมแดน

กองทัพไทยทั้ง 3 ทัพได้บุกเข้ายึดครองประเทศกัมพูชาทันที

 และยึดได้ภายใน 2 วันเท่านั้น

 แต่แล้วสหประชาชาติก็ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้เราถอนทหารกลับมา”

 

ครับ ป.อินทรปาลิต ฝันได้ปี พ.ศ. ที่ใกล้เคียงมาก คือ 2546 แทนที่จะเป็น 2547  แต่ก็คงฝันไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์ “จริง” ของการเผาสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเป็ญ เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 (2003) โดยที่ฝ่ายรัฐบาลไทย (ของคุณทักษิณ) ทำอะไรแทบไม่ได้ ยกเว้นส่งเครื่องบินกองทัพอากาศไปขนคนไทยออกจากกัมพูชาอย่างฉุกระหุก

 

น่าเชื่อว่าบรรยากาศอัน “เครียด” ของการหาทางออกไม่ได้ของตัวอักษร D หรือประชาธิปไตยของสังคมไทยนี่แหละ ที่ทำให้การขายและการซื้อ “หัวเราะ” กับ “สามเกลอ” กลายเป็นปัจจัยหลักในความสำเร็จของ ป.อินทรปาลิต คงไม่ไกลจากความเป็นจริงนักที่ยุคสมัยโน้น “เมื่อเครียด ก็อ่านพล นิกร กิมหงวน”

 

แล้วยุคนี้เล่า ยุคที่เราก็ยังหาทางออกให้กับ “ประชาธิปไตย” หรือ D ของไทย ในขณะที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับที่ 18 (ที่ถูกตั้งชื่อเล่นอย่างเสียดหายว่า “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูน) นั้นเราชาวสยามประเทศไทย อ่าน ฟัง ดูอะไรกันอยู่

 

(8)

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ผลงานของ ป.อินทรปาลิต เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับ S และ D และที่สำคัญคือเมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงของทศวรรษ 2490 จนถึง 2511 (1968) อันเป็นปีที่ ป.อินทรปาลิตถึงแก่กรรมนั้น สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชาวกรุง ตกอยู่ใต้อิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอเมริกัน (ที่เข้ามาแทนที่อังกฤษ) และที่แสนจะชัดเจนอย่างยิ่ง คือ บรรดาภาพยนตร์จากฮอลลีวู๊ดที่หลังไหลเข้ามานั่นเอง

 

และนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชุด “เสือๆ” รวมทั้งภาพหน้าปกหรือภาพประกอบ เกือบจะเรียกได้ว่าเดินทางโดยตรงจาก “ฮอลลีวู๊ด” มายังบรรดาโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อนำหน้าว่า “เฉลิมๆๆๆ” ทั้งหลายนั่นเอง Westerns หรือ “คาวบอย” สร้างความบันดาลใจให้ ป.อินทรปาลิตอย่างไม่รู้จบ

 

เมื่อทาร์ซานที่นำแสดงโดยจอห์นนี่ ไวยสมุนเลอร์มา “โห่ ฮี้ โห่โห่” ป.อินทรปาลิต ก็ได้วัตถุดิบใหม่แปลงเป็นชุด “ทาร์ซานน้อย” เมื่อ “ปีเตอร์แพน” ของวอลท์ ดีสนีย์มาถึงโรงหนังแถววังบูรพา ป.อินทรปาลิตก็สร้าง “ปีเตอร์แพนเปี๊ยก” ขึ้นมา และไม่น่าสงสัยเลยว่าเมื่อ The Time Machine ของวอร์เนอร์ (1960/2503) ที่นำดาราดังในยุคนั้นอย่าง Rod Taylor และ Yvette Mimieux ตกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ป.อินทรปาลิต ก็ดัดแปลงมันให้กลายเป็น “ไปสู่อนาคต” ในปี 2510 (1967)

 

(9) 

ในขณะที่ H.G. Wells นักเขียนอังกฤษ ผู้มีความคิดโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม สร้าง The Time Machine เมื่อปี ค.ศ. 1895 หรือ พ.ศ. 2438 ก่อน ป.อินทรปาลิตเกิดถึง 15 ปี Wells ให้พระเอกของเรื่องเดินทางไปคนเดียว สู่โลกอนาคตไกลไปถึง ค.ศ. 802,701 (หรือ พ.ศ. 803,244) ไปพบโลกคอมมิวนิสต์สังคมนิยมแบบ “ปฐมภูมิ” แต่ ป.อินทรปาลิต ในฐานะผลผลิตของยุคสมัยแห่ง “อำมาตยาเสนาธิปไตย” และบรรยากาศแห่ง “ยุคสมัยอเมริกัน” และ “สงครามเย็น” ก็ให้ “สามเกลอ/สี่สหาย” และผู้ร่วมเดินทางโดยสารไปกับ “เครื่องมือวิเศษ” รวม 8 นายไปไกลจากเวลาที่ท่านเขียน คือ พ.ศ. 2510 เพียง 40 ปีเท่านั้นเอง คือถึง พ.ศ. 2550

 

โปรดสังเกตว่า ป.อินทรปาลิต ใช้คำว่า “เครื่องมือวิเศษ” แทนคำว่า Time Machine ไม่ทราบว่านี่เป็นความแตกต่างระหว่างนักเขียนทั้งสองหรือไม่ ในขณะที่ H.G. Wells เขียนนวนิยายของท่านในฐานะของ “นวนิยายวิทยาศาสตร์” หรือ science fiction นวนิยายของ ป.อินทรปาลิต กลับมีส่วนผสมของไสยศาสตร์ หรือสิ่ง “วิเศษ” เข้าไปด้วย และนี่ก็แสนจะตรงกับ “ปรากฏการณ์” พ.ศ.2550 ที่เราเห็นทั้ง “จตุคามรามเทพ” และ “สนธิ/สนธิ”

 

(10)

ป.อินทรปาลิต พาเราข้ามกาลเวลา 40 ปีจาก พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2550  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ผู้เดินทางข้ามกาลเวลา” ของเราที่ประกอบด้วย พล นิกร กิมหงวน ดร.ดิเรก เจ้าคุณปัจจนึก เจ้าแห้ว นพกับสมนึก (เป็นชายทั้งสิ้น ไม่มีสตรีเลยแม้แต่นางเดียว) เขาเหล่านั้นได้ “เห็นอะไร” เล่า และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ “ไม่เห็นอะไร” เล่า

 

สิ่งที่ “คณะเดินทาง” ของเราได้พบเห็นคือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ตึกราม ถนนของกรุงเทพฯ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาและความเป็นไทย ชื่อ “กรุงเทพฯ” หายไป กลายเป็น “บางกอก” แต่ “ไทยแลนด์” ยังอยู่ ยังไม่ถูกเปลี่ยนกลับเป็น “ไซแอม” ไทยแลนด์ พ.ศ. 2550 ของ ป. อินทรปาลิต เศรษฐกิจดีเยี่ยม เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอเมริกา กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ส่งสินค้าหนักๆไปเมืองจีน มีสิทธิเสรีภาพ มีรัฐบาลพลเรือน และที่สำคัญคือมี “ความรักสามัคคี”

 

สิ่งที่ “คณะเดินทาง” ของเราไม่เห็น คือ ไม่เห็นการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2550 ไม่เห็นผู้คนใส่เสื้อสีเหลือง หรือสีเปลี่ยนแปลงไปตามสีของวันในสัปดาห์ ไม่เห็นปรากฏการณ์สนธิ/สนธิ ไม่เห็นการต่อสู้ ขัดแย้ง ช่วงชิงทางการเมืองกับความแตกแยกแตกต่างทางสังคม ไม่ได้รับรู้ถึงโรคภัยไข้เจ็บทางเศรษฐกิจนับแต่ “ต้มยำกุ้ง” 

 

“โลกในอนาคต” พ.ศ. 2550 ของ ป.อินทรปาลิต ช่างเป็นโลกแห่งความฝันเสียนี่กระไร

 

ศ.ดิเรก ผู้ประดิษฐ์ “เครื่องมือวิเศษ” กล่าวก่อนการออกเดินทางว่า

“ออไร๋ รับรองว่าพวกเราจะได้พบเห็นอนาคตแน่ๆ ครับ ...

 ผมจะพาพวกเราไปดูกรุงเทพฯ ...

เห็นความเจริญรุ่งเรืองของกรุงเทพฯ และสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น ...

 ศ.ดิเรกกับคณะของเขาได้เดินทางมาถึงอนาคตจริงๆ

ทุกคนพบตัวเองยืนอยู่กลางสามหน้าบ้าน “พัชราภรณ์”

 

“ที่ถนนสุขุมวิทหน้าบ้าน ...

 มีรถยนต์แล่นผ่านไปมาอย่างน่าเวียนหัว

รถทุกคันใช้ความเร็วสูงมาก ...

ในท้องฟ้ามีรถยนต์เหาะหลายคัน บินผ่านหน้าบ้าน ...

 แล้วทุกคนก็แลเห็นรถไฟขนาดใหญ่วิ่งอยู่บนถนนสุขุมวิท

คล้ายกับรถรางมี 2 คันพ่วงวิ่งไปตามรางสูงจากถนนประมาณ 10 เมตร

ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”

 

ครับ ต้องบอกว่า ป.อินทรปาลิต จินตนาการได้แสนจะสมจริง นี่คือ “รถไฟฟ้า” สุดรักของชาวกรุง ที่โหยหาและเรียกร้องให้เพิ่มสาย จนกลายเป็นประเด็นของการหาเสียงเลือกตั้งแล้วเลือกตั้งอีก ในช่วงทศวรรษ 2540 จนกระทั่งการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ในยุคการเมือง “ล้มทักษิณและจัดตั้ง “ครม. ขิงแก่”

 

(11)

“คณะเดินทาง” ของ ป.อินทรปาลิต ได้พบได้เห็นอะไรอีกเล่า

“มองออกไปนอกบ้าน ...

 เป็นอาคารสูงใหญ่อย่างน้อยที่สุดก็ 20 ชั้นจนถึง 80 ชั้น

ส่วนยอดของมันเสียดเข้าไปในกลุ่มเมฆอันหนาทึบ ...

ผู้คนริมถนนสุขุมวิทเดินสับสนไปมา

ผู้ชายแต่งชุดสากลและผู้หญิงสวมเสื้อกระโปรงวันพีซ

 มองดูชาวกรุงเทพฯ ไม่ผิดอะไรกับชาวยุโรปอเมริกา”

 

ครับ โลกอนาคตของ ป.อินทรปาลิต ดูจะมี “ฝรั่ง” เป็นแม่แบบอย่างแม่นมั่น ทั้งตึกราม ทั้งผู้คน และ

“สัญลักษณ์ของนครบางกอกแห่งไทยแลนด์

หอระฟ้าสร้างเสร็จมาสิบปีแล้ว สูงถึง 2,700 ฟิต

มีลิฟท์หลายห้อง รับส่งประชาชนขึ้นไปบนหอ

บนนั้นกว้างขวางมาก ...

มีภัตตาคาร ร้านอาหารและห้องโชว์สินค้า

หอไอเฟิลในปารีสหรือหอโทรทัศน์ในญี่ปุ่น

สู้หอระฟ้าของไทยไม่ได้หรอก..

นาฬิกาเรือนใหญ่ที่หอนั้นจะตีกังวานทุก 15 นาที”

 และยิ่งไปกว่านั้น คือ

 “พลเมืองในบางกอกมีตั้ง 15 ล้าน นอกสำมะโนครัวอีกไม่ต่ำวกว่าห้าหกล้าน”

 

(12)

ที่

“ตลาดพระโขนงซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นตลาดเล็กๆ

แต่ขณะนี้ คือ 2550 กลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต

คืออาคารใหญ่โตมโหฬาร มีป้ายขนาดยักษ์เป็นภาษาอังกฤษอยู่เหนืออาคารนั้น

สะพานข้ามคลองพระโขนงหายไปแล้ว

กลายเป็นถนนกว้างใหญ่

คลองถูกถมเป็นถนนคอนกรีต

พล นิกร กิมหงวน และ ศ. ดิเรกใจหายวาบเมื่อเห็นโรงแรม “สี่สหาย”

 กลายเป็น “มหาวิทยาลัยพระโขนง”

มีอาคาร 20 ชั้น”

 

ครับ นี่ก็ไม่น่าเชื่อว่า ป.อินทรปาลิต จินตนาการอนาคตว่าสมบัติของ “สี่สหาย” อย่างโรงแรมจะกลายเป็นหนึ่งใน “มหาวิทยาลัย” เอกชนที่ผลุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็นในยุค “โลกาภิวัตน์” 2550 ของเรา

 

ป.อินทรปาลิตขยายความต่อไปอีกว่า

“บางกอกมีมหาวิทยาลัยราว 200 แห่ง ...

โรงเรียนประถมและมัธยมไม่ต่ำกว่าห้าพันแห่ง

ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน ..

 เครื่องเขียนและแบบเรียนตลอดจนเสื้อผ้าทางโรงเรียนจ่ายให้ฟรี”

 

ครับ ก็ไม่น่าเชื่อว่า “ประชานิยม” ของทุกๆพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2550 นั้น ป.อินทรปาลิต มองเห็นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 น่าเสียดาย ที่ไม่มีใครคิดออกจนกระทั่งต้องมี นรม. หน้าเหลี่ยม (!)

 

(13)

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ ป.อินทรปาลิต ฝันไว้อย่างแม่นยำว่าเราจะได้พบได้เห็น ก็คือเรื่องของ “ภาษาไทย” และ “ความเป็นไทย”

 

ณ ที่เก่าแต่เวลาใหม่หน้าบ้าน “พัชราภรณ์” พ.ศ. 2550 สี่สหายกับเจ้าคุณปัจจนึกฯ นพ สมนึก และเจ้าแห้ว เห็นคนสวนชายหนุ่มผู้หนึ่ง ซึ่งหน้าตาเหมือนกับเจ้าแห้วราวถอดแบบออกมา

คนสวนหนุ่มถาม “คณะเดินทาง” ของเราเป็นภาษาอังกฤษ

(ครับ ขอเน้นคำว่าภาษาอังกฤษ) ว่า “ท่านมาหาใคร”

 

“เจ้าแห้วชักหมั่นไส้ก็พูดโพล่งขึ้น

ลำบากนักก็พูดไทยเถอวะ

“ประทานโทษ คุณพูดภาษาอะไรครับ” เขาถาม... เป็นภาษาอังกฤษ

เจ้าแห้วชักยัวะ..

“แกเป็นคนไทย ใช่ไหม

คนสวนขมวดคิ้วย่น ...

“ท่านพูดอังกฤษได้ไหม

... พลกันเจ้าแห้วออกห่าง .. ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง

“แกพูดภาษาไทยไม่ได้หรือนี่

 

“ภาษาไทยหรือครับ

ไทยแลนด์เลิกใช้ภาษาไทยตั้งแต่ผมเป็นเด็กสอนเดิน

ผมเป็นคนไทยก็จริง

 แต่ผมไม่รู้ภาษาไทย ...

ครับ เขาเลิกพูดเลิกใช้ภาษาไทยมา 23 ปีแล้ว

 เท่าที่ผมทราบ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกภาษาไทย

ทั้งภาษาพูดและอักขรวิธีเมื่อ พ.ศ. 2527

เป็นปีที่พ่อผมตายครับ ผมถึงจำได้”

 

ครับ ในโลกอนาคตของ ป.อินทรปาลิตนั้น รัฐบาลไทยได้ยกเลิกการใช้ภาษาไทยไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2527 (1984) ถ้าเราจะลองเทียบดู ก็คือเมื่อรัตนโกสินทร์ครบร้อย 202 ปีนั่นเอง ป.อินทรปาลิต คงนึกไม่ถึงว่า นับตั้งแต่ปี 2525 (1982) เมื่อเราฉลอง “200 ปีรัตนโกสินทร์” กันนั้น มีการเฉลิมฉลองกันใหญ่โต ทั้งการสดุดี การจุดดอกไม้ไฟ การเห่เรือพระราชพิธี ฯลฯ อันเป็นต้นแบบและรูปแบบของการเฉลิมฉลองที่ตามกันมาอย่าง “อย่างต่อเนื่อง” จนกระทั่งทุกวันนี้ (2550)

 

(14)

ภาษาไทยได้สูญหายไป อะไรหลายอย่างก็ไม่หลงเหลือ และเมื่อ “คณะเดินทาง” ของเรานั่ง “บางกอกแทกซี่” ชมเมือง ก็ต้องประหลาดใจว่าคนขับรถแทกซี่นั้นจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า แถมยังชื่อ “วีระ สมิท” และก็มีเพื่อนร่วมอาชีพชื่อ “สบสมัย มองต์โกเมอรี่” สารถีคนนี้จบโทสถาปัตย์

 

วีระ สมิท เล่าให้ “คณะเดินทาง” ของเราฟังว่า

“ชาวบางกอกทุกคน

 เขาต้องมีชื่อฝรั่งต่อท้ายของตนครับ

เป็นต้นว่า อุดม โรบินสัน

ชัชวาล ครอฟอร์ด

 พูดอย่างง่ายๆ เราได้ปรับปรุงตัวเราตลอดจนจารีตประเพณี

ให้เหมือนชาวอเมริกันมหามิตร”

 

ครับ ฟังแล้วอดนึกถึงดาราขวัญใจยุคนี้อย่างธงชัย แมคอินไตย์, ทาทา ยัง, ปาล์มี่, สแตฟาน, ลิเดีย อาร์แอนบี (ของอดีต นรม.) กับ มาริโอ้ เมาเร่อ ของ “รักแห่งสยาม” รวมทั้ง “น้องเมย์ น้องแอน ...”

 

(15)

บางกอกหรือกรุงเทพฯ ของ ป.อินทรปาลิต ในปี พ.ศ. 2550 เจริญรุดหน้าสุดขีด คนขับแทกซี่ระดับปริญญาเล่าให้ “คณะเดินทาง” ของเราฟังว่า

“ในระยะสิบปีมานี่ เศรษฐกิจของชาติไทยเราดีขึ้นมาก ...

บ่อน้ำมันในอ่าวไทย มีรายได้ปีหนึ่งตั้งห้าหมื่นล้าน

สูบขึ้นมาเท่าไรก็ไม่หมด

ส่งไปขายทั่วโลก

โรงงานอุตสาหกรรมหนักของเรา ที่ชานเมืองก็มีมากมาย

สร้างรถยนต์ รถถัง และเครื่องบิน ตลอดจนอาวุธต่างๆ เช่น ปืนใหญ่  ปืนเล็ก ปืนกล ....

นี่คือตลาดเงิน .. พวกเศรษฐีมาชุมนุมกันที่นี่ตลอดวัน

ขายหุ้นซื้อหุ้นวุ่นวายไปหมด ...”

 

และ “เงินบาทของเราหนึ่งบาท เท่ากับหนึ่งดอลลาร์อเมริกา”

หรือ “หนึ่งบาทยี่สิบห้าสตางค์ เท่ากับหนึ่งปอนด์”

 

10 ปีดังกล่าวข้างต้น ก็คือปี พ.ศ. 2540 ป.อินทรปาลิตคงนึกไม่ถึงว่า ปีนั้นไทยแลนด์ของท่านจะเกิด “โรคต้มยำกุ้ง” เศรษฐกิจพังพินาศ เงินบาทตกหัวทิ่ม จาก 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ กลายเป็นเกือบ 50 บาท เศรษฐีกลายเป็นยาจก ธนาคารล้มละลาย นรม. ชวลิตต้องลาออก แล้วเราก็เปลี่ยนรัฐบาลแล้วเปลี่ยนอีก ได้คุณชวนมาเป็นนายกฯ เมื่อไปไม่รอด เราก็ได้คุณทักษิณตามมาอยู่ 5 ปีจนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549

 

(16)

ป.อินทรปาลิตเติบโดและเขียนหนังสือหากินอยู่ในยุคอันยาวนานของ “ทหาร” ที่ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ถึง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 (1958) จนถึง พ.ศ. 2511 (1968) อันเป็นปีที่ท่านถึงแก่กรรม ดังนั้น ป.อินทรปาลิต ก็คงเหมือนๆคนไทยทั่วไปไม่น้อย ที่อยากเห็นบ้านเมืองเจริญเป็น “ประชาธิปไตย” ดังนั้นเมื่อ “คณะเดินทาง” ของเรา ไปถึงบางกอกในปี พ.ศ. 2550 จึงได้รับการบอกเล่าจากคนขับ

แทกซี่ว่า

 

“รัฐบาลชุดนี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน

ชื่อ นายอิสระ สจ็วต

 เรามีสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูง

รัฐมนตรีของเราเป็นพลเรือนทั้งนั้น

แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม”

 

ครับ ป.อินทรปาลิต ก็คงเหมือนเราๆท่านๆ ที่นึกไม่ออกว่าจะมี และทำไมต้องมี “รัฐประหาร 19 กันยา 2549” หรือทำไมต้องมี “คมช.” กับ “ครม.ขิงแก่”

 

คนขับแทกซี่ ยังเล่าต่อไปอีกว่า

“รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศชาติของเราอย่างเข้มแข็ง

ไม่มีการคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด

ข้าราชการทุกคนมีเงินเดือนพอเลี้ยงตัวและครอบครัวให้ได้รับความสุข

ต่างทำงานเพื่อประเทศชาติจริงๆ

 เศรษฐกิจของชาติไทยดีมาก ...

ไทยแลนด์ไม่ใช่ประเทศกสิกรรมเหมือนแต่ก่อน

นาข้าวของเรากลายเป็นข้าวสาลีไปหมดแล้ว

 เพราะคนไทยกินขนมปังแทนข้าว และกินอาหารแบบยุโรปอเมริกัน”

 

นี่เป็นสิ่งที่ “อนาคต” ในฝัน พ.ศ. 2550 ของ ป.อินทรปาลิตกลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง ป.อินทรปาลิต ก็คงเหมือนกับเราๆท่านๆนี่แหละ ที่ทั้งใฝ่และฝัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เรามาถึง พ.ศ. 2549-2550 พร้อมด้วยปรากฏการณ์ที่เราไม่ปรารถนานักอย่าง “สนธิ/สนธิ” หรือการใช้สีสันสัญลักษณ์ ทั้งเหลืองทั้งแดง และทั้งหลากสีอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

(17)

ป.อินทรปาลิต ให้ “คณะเดินทาง” 8 นายของเรา กลับคืนสู่ “ปัจจุบัน” ของ พ.ศ. 2510 โดย “มีกางเกงในติดตัวอยู่คนละตัวเท่านั้น” เพราะ “เสื้อกางเกงชุดสากลของเรา และของที่เราซื้อมา เราเอามาไม่ได้หรอกเพื่อน เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่เราได้ไปถึงมันก่อน”

 

แต่ก่อนการเดินทางย้อนกาลเวลากลับ “คณะเดินทาง” 8 นายของเรา ก็ไปท่อง “บางกอกยามราตรี” ตาม “วิสัยชาย” ชาวกรุงชั้นสูงและกลางจำนวนไม่น้อยในยุคนั้น และ

“สภาพของบางกอก... สถานที่เที่ยวที่อยู่ใต้ดินมีหลายแห่ง

 และอยู่ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็คือมีภัตตาคารใต้น้ำ ...

พนักงานเสิร์ฟเปลือยกาย

เสิร์ฟแบบเย้ยฟ้าท้าดิน ...

 แคชเชียร์ก็แก้ผ้าล่อนจ้อน

 แม่ครัวก็แก้ผ้าทำกับข้าว ...

 คนขายบุหรี่ก็แก้ผ้า

ร่างกายอวบอัด สะอาดหมดจด และมีกลิ่นสะอาด ...

ส่วนระบำเปลือยหรือหนังโป๊ ก็แสดงหรือฉายตามไนต์คลับใต้ดิน

คนไทยสมัยนี้ต่างมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่”

 

ณ โรงแรม “บางกอก ไทยแลนด์” “คณะเดินทาง” ของเราได้รับการบอกเล่าว่า

“โรงงานสร้างหุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ...

 ทางเหนือเขานิยมใช้หุ่นยนต์แทนคนครับ

โดยเฉพาะหุ่นสาวๆ ขายดีมาก

มันทำหน้าที่ของผู้หญิงได้ทุกอย่าง

 และมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีไว้วางใจได้ ...

หุ่นผู้หญิงในวัยกลางคน หรือสูงอายุก็มีขายครับ ...”

เสี่ยหงวนกลืนน้ำลายเอื๊อก

“แล้วหุ่นผู้ชายรูปหล่อล่ะครับ”

“อ๋อ ก็ต้องทำขายด้วยซีครับ

ขายดีเหมือนกันครับ

สาวๆ ที่อกหักและเกลียดผู้ชาย

มักจะซื้อหุ่นผู้ชายของผม เอาไปไว้เป็นเพื่อน”

 

ครับ คงไม่ยากสำหรับ ป.อินทรปาลิต ที่จะจินตนาการถึง “สิทธิเสรีภาพ” ทางเพศของ “บางกอก ไทยแลนด์” แต่ ป.อินทรปาลิต ก็คงนึกไม่ถึงว่า “หุ่นอิเล็กทรอนิกส์” ทั้งหญิงและชายนั้นอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น และก็จะเทียบเคียงชายจริงหญิงแท้ราคาถูก ที่มีให้ “ขายและซื้อ” ได้เกลื่อนกลาด ไม่ว่าจะเป็นบางกอก เชียงใหม่ พัทยา หรือภูเก็ต ซ้ำราคาก็แสนจะย่อมเยาว์กว่าหุ่นยนต์เป็นไหนๆใน พ.ศ. 2550 นี้

 

(18)

ในคืนสุดท้ายในโลกอนาคต พ.ศ. 2550 “คณะเดินทาง” ต้องเผชิญกับทั้งตำรวจและทหาร ที่เกือบจะเกิดเหตุร้ายปะทะกันระหว่างคนในเครื่องแบบที่

“ทหารทุกคนพร้อมรบ

จะโปรดให้ ... ใช้ปืนประจำรถหุ้มเกราะยิงโรงพัก

หรือจะให้ทหารยึดโรงพักนี้”

 

แต่ “คณะเดินทาง” ของเรา ก็ได้รับคำยืนยันว่า

“รบกับคนไทยด้วยกันยังงั้นหรือ

ทหารกับตำรวจคือพี่น้องกัน ...

คนไทยเราเลิกรบกันมา 50 กว่าปีแล้ว

 และไม่มีวันที่จะรบกันอีก

บ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้าอย่างรีบรุดเช่นนี้

ก็เพราะไทยเราร่วมรักสามัคคีกัน”

 

ครับ ในโลกแห่งความฝันของ ป.อินทรปาลิต ท่านนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ก็ฝันถึงสังคมที่ “ไทยเราร่วมรักสามัคคี” แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ณ พ.ศ. 2550 เราๆท่านๆ แม้จะเฝ้าฝันถึงสิ่งเดียวกันนี้ เราๆท่านๆ ส่วนใหญ่ที่อยู่เบื้องล่าง ก็ต้องทอดถอนใจว่า “จะเป็นไปได้อย่างไร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบื้องบนนั้นเขาและเธอจะ “เกี้ยเซี้ยะ” กันได้หรือไม่ เพียงใด

 

หรือว่าไปแล้ว เราอาจไม่ต้องการให้ “ไทย” ต้องรักหรือสามัคคี “ไทย” ขอแต่เพียง “ไทย” เคารพและนับถือกันในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” จะไม่ดีกว่าและง่ายกว่าหรือ



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ