ReadyPlanet.com
dot dot
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง

จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง

บางเสี้ยวของกระแสธารร้อยกรองเพื่อชีวิต

เขียน : จันทร์ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖

ผู้เขียน : นายทิวา

........................................

 

ร้อยกรองหลาย ๆ ชิ้น ของหลาย ๆ ท่าน บางส่วนก็ถูกนำมาลงท่วงทำนองและจังหวะ เป็นบทเพลงที่ติดตราตรึงในใจผู้คน

 

ซึ่งก็คงเป็นเพราะมี วรรคทอง ที่ โดนใจ นั่นเอง

 

บทกวีหลาย ๆ บท ของหลาย ๆ ท่าน เอาเฉพาะในสายธารเพื่อชีวิต ก็เห็นว่า มีมากมายที่คุ้นหู คุ้นตา และคุ้นใจ เพราะถูกถ่ายทอด ในท่วงทำนองของบทเพลง

 

ขอหยิบยกมาพูดถึง ในบางเสี้ยว พอเป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้ำจิ้มน้อย ๆ ในวงพูดคุยเสวนา แบบ ไปตามเพลง ซึ่งบางส่วนค้นเจอ และบางส่วนมาจากความทรงจำ ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยด้วย

 

เริ่มต้นที่ คิดถึงบ้าน ของ อัศนี พลจันทร์ หรือ นายผี ที่มาเป็น เพลง คิดถึงบ้าน ของ คาราวาน หรือ เดือนเพ็ญ ของ คาราบาว , คนด่านเกวียน และ ฯลฯ

 

เดือนเพ็ญ สวยเย็น เห็นอร่าม ……………..นภาแจ่มนวลดูงาม

เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา

แสงจันทร์นวลชวนใจข้า…………………….คิดถึงถิ่นที่จากมา

คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา

 

ร้อยกรองชิ้นนี้ ถ้าวางในรูปข้างต้น ก็อาจจะอยู่ในรูปของกาพย์ได้

 

หรืออิศาน ของ นายผี ที่ถูกนำบางส่วนมาอยู่ในท่อนหนึ่งของ บทเพลง คาราวาน โดย คาราวาน

 

ในฟ้าบ่มีน้ำ…………ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย……….คือเลือดหลั่งลงโลมดิน

 

หรือตลิ่งของ (ตลิ่งโขง) ของ นายผี ที่ สุรชัย จันทิมาธร นำมาใส่ทำนองเป็นบทเพลงชื่อเดียวกัน ในงานเดี่ยวชิ้นหนึ่ง

 

ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ……………..แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า

เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา……………..ถึงตีนท่าก็ลื่นลู่ดั่งถูเทียน

เหงื่อที่รินไหลโลมลงโทรมร่าง……………แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร

อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียนก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย

 

หรืออีกชิ้นหนึ่งที่เราเคยคุ้น ก็คือ เปิบข้าว ของ จิตร ภูมิศักดิ์เขียนในรูปของกาพย์ยานี และ คาราวาน นำมาใส่จังหวะและทำนอง ในชื่อเพลงเดียวกัน

 

เปิบข้าวทุกคราวคำ……….จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน………………จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้นะมีรส……………….ให้ชนชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสิทุกข์ทน…………และขมขื่นจนเขียวคาว

 

เช่นเดียวกับงานชื่อ ทะเลชีวิต ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ถูกใส่ทำนองเพลง จนติดตราตรึงใจแม้จนขณะนี้

 

ลมหวิว…………………………เจ้าแผ่วโชยพลิ้วมาปลอบใจข้า

สิ่งที่ใฝ่ฝันจงอย่าโรยรา………………บรรเจิดอยู่บนนภาที่แสนไกล

ดวงดาวเอ๋ยวอนดาวโปรดจงปราณี..........วานดาวชี้ทิศทางให้แก่เพื่อนใจ

จงส่งผองพลังยืนหยัดสู้ไป……………ฝ่าฟันจนเขามีชัยอยู่ทุกคืนวัน

 

หรืออย่าง บทกวีนิรนาม บทนี้

 

ทางข้างหน้าลางเลือนเหมือนว่างเปล่า
แดดจะเผาผิวผ่องเธอหมองไหม้
ที่ตรงโน้นมีหุบเหวมีเปลวไฟ
ถ้าอ่อนแอจะก้าวไปอย่างไรกัน

อนาคตนั้นช่างคดเคี้ยว
มันลดเลี้ยวเลี้ยวไปใช่สุขสันต์
ยากลำบากใช่เพียงแค่ชั่ววัน
แต่จะต้องฝ่าฟันจนวันตาย

บนหนทางแม้มีสิ่งใดขวาง
ไม่อาจกางกั้นฉันและเธอได้
หนทางนี้สัญญาอย่างมั่นใจ
ด้วยพลังยิ่งใหญ่ในศรัทธา

จะขอฝ่าฟันข้ามความทุกข์ยาก
จะลำบากเราสู้ดูเถิดหนา
จะร่วมแรงร่วมกันด้วยศรัทธา
ทางข้างหน้าสู่ชัยที่หมายปอง

บทกวีข้างต้นนี้ ไม่ทราบผู้แต่งแน่ชัด แต่ก็ปรากฎรูปเป็นบทเพลง ชื่อ สู่เส้นชัย โดยวง พลังเพลง

 

เช่นเดียวกับบทกวีอีกหลายชิ้น ที่เป็นบทเพลง โดยวง พลังเพลง อาทิ  ดอกไม้ ของ จิรนันท์ พิตรปรีชา ที่เป็นเพลงในชื่อเดียวกัน

 

ดอกไม้………………...ดอกไม้จะบาน

บริสุทธิ์กล้าหาญ……….จะบานในใจ

สีขาว……………………หนุ่มสาวจะใฝ่

แน่วแน่แก้ไข…………….จุดไฟศรัทธา

 

หรือ บทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ของ วิทยากร เชียงกูล ก็ถูกนำมา เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงชื่อ เป้าหมายการศึกษาโดยวง พลังเพลง

 

 (พูด)……ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง………ฉันจึงมาหาความหมาย

…………ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย..สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง………หรือจึงมุ่งมาศึกษา

เพียงเพื่อปริญญา…………เอาตัวรอดเท่านั้นฤๅ

แท้ควรสหายคิด…………..และตั้งจิตร่วมยึดถือ

รับใช้ประชาคือ…………….ปลายทางเราที่เล่าเรียน

 

อีกชื่อหนึ่ง ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสายธารของคนเดือนตุลา ชื่อของ ธีรศักดิ์ อัจจิมานนท์ กับร้อยกรองหลายชิ้น ที่ถูกนำมา ใส่ท่วงทำนองเพลง เช่นว่า รัตติกาล

 

รัตติกาลนี้มัวมน…………….ฟ้าหม่นมืดมิดทรมา

เดือนเลื่อนลับอำลา………….สีแดงทาบทาทั่วพื้นพนาแนวไพร

ฟ้าดับเดือนลับลาดิน………..หรือสิ้นความหวังวางวาย

ดาวบนฟ้าประกาย………….นั้นยังพร่างพรายตราบหัวใจคนมิเคยสูญสิ้นศรัทธา

 

หรือเพลง คำสัญญาแห่งเดือนตุลาคม(ผู้เขียนคือกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ

หรือ จิ้น กรรมาชน)

 

กลางป่าเขาเหน็บในหนาวลมผ่าน………….คืนที่แสงจันทร์มีความหมาย

ภาพแห่งความหลังยังฝังใจมิแหนงหน่าย..อุดมการณ์ที่ฝันใฝ่ยังติดตรึง

พอรุ่งสางลางลางแสงทองส่อง……………..วันที่สมปองคงมาถึง

ความรักที่ปรารถนาพาใจให้คิดคำนึง……….ทะเลแม้ขวางตรึงจะฝ่าไป

ส่งเพลงบทนี้ผ่านข้ามขอบฟ้า……………….คำสัญญาแห่งเดือนตุลามิลืมเลือน

ยังย้ำเตือนคิดถึงเพื่อนผู้จากไป……………..ยังย้ำเตือนคิดถึงเพื่อนผู้จากไป

 

บทเพลงบทนี้ หลังจากที่ กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติหรือ จิ้น กรรมาชน กลับจากป่าสู่เมือง ได้ปรับเนื้อหาใหม่ และให้ วงสตริงวัยรุ่นแห่งยุคสมัย นาม สาว สาว สาว ขับร้อง ในชื่อเพลง คำสัญญา

 

กลางหาดทรายเหน็บในหนาวลมผ่าน………คืนนี้แสงจันทร์มีความหมาย

ภาพแห่งความหลังครั้งเราเคยชิดใกล้..……..แรกรักฝังใจยังติดตรึง

พอรุ่งสางลางลางแสงทองส่อง………………วันที่สมปองคงมาถึง

รักที่ปรารถนาพาใจให้คิดคำนึง………………ทะเลแม้ขวางตรึงจะฝ่าไป

ส่งเพลงบทนี้ผ่านข้ามขอบฟ้า………………..คำสัญญาอยู่คู่ฟ้าและดาวเดือน

ยังย้ำเตือนไม่รู้เลือนไปจากใจ………………..ยังย้ำเตือนไม่รู้เลือนไปจากใจ

 

ความหมายที่ปรับเปลี่ยนในเนื้อหาเพลงบทหลัง หากอยู่ในกรอบความคิดเพื่ออุดมการณ์ ก็ยังอาจเห็นภาพของ ความรัก ในห้วงเวลาของการต่อสู้ได้

 

และหากมองผ่านกรอบคิด ของยุคสมัยของ สาว สาว สาว ในมุมมอง ความรัก ของหนุ่มสาว ก็ยังงดงามนัก นี่อาจเป็นอีกเสน่ห์ของนัยความหมายที่ซ่อนอยู่หลายนัย ของ วรรคทอง ที่ โดนใจ กระมัง

 

อีกคนหนึ่ง ในกระแสของคนเดือนตุลาคม ชื่อนี้ ก็คงต้องบันทึกไว้ด้วยเช่นกัน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คู่ชีวิตของ จิรนันท์ พิตรปรีชา ณ วันนี้ เป็นนักวิชาการ ที่ทรงพลังยิ่ง ทว่า สำหรับการต่อสู้ในอดีต ก็มีบทกวีชื่อ ความคับแค้น ที่ถูกนำมาใส่ทำนองเพลงในชื่อเดียวกันเช่นกัน

 

ความคับแค้นครั้งนี้……………..จงแปรเปลี่ยนเป็นพลัง

ให้กล้าแกร่งดุจดังพายุโหม

เราจะลุกขึ้นสู้……………………เราจะยอมสู้ตาย

แม้ชีวาจะวายเราก็ยอมพลี

 

ในสายธารเพื่อชีวิต อีกชื่อหนึ่ง ที่ยังคงอยู่ แม้ร่างกายจะลาลับไปแล้ว ก็คือ ประเสริฐ จันดำ ชื่อนี้ กับชิ้นงานร้อยกรอง และร้อยแก้วมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเนื้อหารับใช้สังคมทั้งสิ้น

 

ชิ้นงานชิ้นหนึ่งถูกเขียนขึ้น หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หลังจากที่เจ้าตัวกลับไปทำนา ที่หมู่บ้านซับแดง จ.ขอนแก่น กระทั่ง วีรศักดิ์ สุนทรศรี หนึ่งในสมาชิกคาราวานตามไปสมทบ ก็ทำให้ ประเสริฐ เกิดแรงบันดาลใจ เขียนงานชื่อ แปนเอิดเติด และกลายมาเป็นบทเพลง ของ คาราวาน ในเวลาต่อมา

 

แปนเอิดเติด……………………………..สายน้ำระเหิดระเหยหาย

ทุ่งโล่งโจงโปงไม้ยืนตาย………………….ลมแล้งแรงร้ายอยู่ตาปี

อิสานแดนดินที่ดาลเดือด…………………สายเลือดปู่สังกะสาย่าสังกะสี

ธรรมชาติไม่เคยปราณี……………………ทุรชาติมาย่ำยีกินแรง

ว่างเปล่าเหลือแสนแปนเอิดเติด………….เราเกิดในสังคมยื้อแย่ง

ไม่มีข้าวไม่มีปลาป่าแล้ง………………….ไม่มีแสงสว่างทางชีวิน

ว่างเปล่าเหลือแสนแปนเอิดเติด…………..รอระเบิดกาลเวลาถล่มสิ้น

ผู้คนกดขี่สูญสลายจากธรณิน…………….ว่างเปล่าเหมือนดินถิ่นอิสาน

 

หรืออีกชิ้นงานหนึ่ง ของ ประเสริฐ ที่เขียนขึ้น ณ บ้านลาดพร้าว ในคราวที่ วิสา คัญทัพ และ สุรชัย จันทิมาธร พักอยู่ร่วมกัน ในห้วงเวลา ปี ๒๕๑๘

 

เนื้อหาของบทร้อยกรอง เก็บเอาความรู้สึกจาก หมู่บ้านซับแดง จ.ขอนแก่น มาบรรยาย และกลายเป็นบทเพลงที่ชื่อ จดหมายชาวนา เมื่อ ประเสริฐ เลือกเดินทางเข้าป่า เพื่อร่วมต่อสู้กับ พคท.(ในยุคนั้น)

 

จดหมายชาวนาฉบับนี้………………เขียนที่บ้านป่าดงดอน

เขียนถึงผู้อยู่ในนคร………………….อันความเดือดร้อนชาวนายิ่งใหญ่

ทำนาก็บ่ได้ข้าว………………………ทำไร่ก็บ่พอกิน

ยากแค้นไปทั่วแดนดิน………………..ถูกขูดรีดกินเราแทบอดตาย

 

เพื่อนเอ๋ยจงเห็นใจเฮาบ้าง……………อย่าสร้างแอกกดคอกัน

ชีวิตมันไม่ใช่ความฝัน…………………ธรรมชาติลงทัณฑ์ก็ยังพอทน

เห็นใจคนจนบ้างเถิด………………….เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน

อย่าเย้ยอย่าเหยียดหยามหยัน………..เราคนเหมือนกันมันบ่มีชั้นชน

 

ยากจนอย่าตามเข่นฆ่า……………….ชาวนาจะหันต่อกร

โปรดจงช่วยไถ่ช่วยถอน……………….โอ้แสนออนซอนพวกเราชาวนา

ชนชั้นมันแยกกันไม่ได้…………………คนไทยร่วมแผ่นดินทอง

ยากแค้นอดอยากปากหมอง…………..อย่าให้เฮาต้องลุกฮือถือปืน

 

อันที่จริง บทร้อยกรองที่ถูกนำมาใส่ท่วงทำนองเพลงมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่หากจะกล่าวถึงเฉพาะในสายธารเพื่อชีวิต คาราวาน ก็นำมาใช้มิใช่น้อย ซึ่งสมาชิกของวง คาราวาน แต่ละคน ก็ล้วนแล้วแต่มีวิญญาณ คนกวี ทั้งสิ้น

 

และงานชิ้นหนึ่งของ คาราวาน ที่ฝังลึกเป็นแม่แบบ ก็คือ คนกับควาย

 

คนกับควาย เป็นงานเขียนของ สมคิด สิงสง มี สุรชัย จันทิมาธร ใส่ทำนองเพลง โดยนำท่วงทำนองเพลงสากลของ BOB DILAN ในชื่อเพลง MASTER OF WAR มาใช้เป็นแม่แบบ

 

ในยุคนั้น ปัญหาเรื่องลิขสิทธิยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก และการหยิบยืม-ถ่ายเท ท่วงทำนองระหว่างกัน ในสายธารวัฒนธรรม ก็ไม่สู้มีปัญหามากนัก โดยเฉพาะเมื่อผู้หยิบยืมบอกกล่าวถึงที่มา

 

จะเห็นได้ว่า เฉพาะเพลง คนกับควาย อันมีที่มาจากเพลงสากลของ BOB DILAN ก็มีเพลงลูกทุ่งอีกเพลงหนึ่ง ที่ใช้ทำนองเพลงเดียวกัน นั่นก็คือเพลง เราคนจน ที่เขียนเนื้อร้องและขับร้อง โดย สดใส ร่มโพธ์ทอง

 

คนกับควาย : คาราวาน

คนกับคนทำนาประสาคน……………คนกับควายทำนาประสาควาย

คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ……ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน

แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน……………สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ

ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป…………….เราแบกปืนแบกไถไปทำนา

ยากจนหม่นหมองมานานนัก………….นานนักน้ำตากุตกใน

ยากแค้นลำเค็ญในหัวใจ………………ร้อนรุ่มเพียงใดไม่หวั่นเกรง

เป็นบทเพลงเสียงเพลงแห่งความตาย.ความเป็นคนสลายลงไปพลัน

กฎุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น………………..ชนชั้นชาวนาจึงต่ำลง

เหยียดหยามชาวนาว่าป่าดง.…………..สำคัญมั่นคงคือมันตาย

 

เราคนจน : สดใส ร่มโพธ์ทอง

เรามันคนชาวนาอยู่กับควาย…………..เรามันคนจนจนคนเดียวดาย

หน้าหนาวหน้าร้อนเราก็นอนหนาว……ขาดสาวเคียงอยู่คู่หมาย

แน่แล้วตัวเราคงหนาวตาย…………….ไร้สาวคู่กายแนบอุรา

โอ้ชาวนาหน้าดำกำด้ามเคียว…………ใครจะมาแลเหลียวให้เกี่ยวพา

สู้ทนอาภัพจับคันไถ…………………….ผิวกายดำขำตามประสา

ตากฝนตากลมตรมอุรา…………………มีไอ้ทุยเล็มหญ้าอยู่ริมทาง

 

การถ่ายเททางวัฒนธรรม ซึ่งกินความถึงการหยิบยืมมาใช้ ในลักษณ์เช่นว่านี้ เป็นไปตามห้วงเวลาที่ล่วงผ่าน ทว่า ก็ทำให้เกิดชิ้นงานร้อยกรองดี ๆ หลายชิ้นกระทั่งนำมาสู่บทเพลงดี ๆ ที่อยู่ในความทรงจำอีกหลายชิ้น

 

เช่นว่า เพลงชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ของ คาราวาน ซึ่งเขียนขึ้น ณ ไร่ คำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาว คำหอม นักเขียนนามอุโฆษ ซึ่งมีที่มา มาจากเพลง JOHN BARLEY COM ของ วง TRAFIC  ซึ่งวง TRAFIC ก็ได้อิทธิพลความคิดและทำการดัดแปลง มาจากเพลง ของ BOB DILAN ในขณะที่ BOB DILAN เอง ก็เขียนเพลงขึ้นโดยการดัดแปลงมาจาก เพลงพื้นบ้าน ของ ไอริช

 

เขาตายในชายป่า……………..เลือดแดงทาดินเข็ญ

ยากเย็นข้นแค้นอับจน

…………………………..

………………………….

เขาตายเหมือนไร้ค่า…………..แต่ต่อมาก้องนาม

ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน

ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์”……………..เป็นนักคิดนักเขียน

ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน

 

เช่นเดียวกับเพลง สานแสงทอง ของ คาราวาน ที่ สุรชัย จันทิมาธร เขียนขึ้นเป็นบทกวี และหยิบยืมทำนองเพลงสากล ชื่อ FIND A COST OF FREEDOM ของ CROSBY STILL NASH (AND) YOUNG

 

สานแสงทอง

ขอผองเรา จงมาร่วมกัน……………ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่

สานแสงทองของความเป็นไทย…….ด้วยหัวใจบริสุทธิ์

 

และยังมี งานอย่าง ตายสิบเกิดแสน ของ คาราวาน ที่มีที่มาจากเพลง  IT’S HARD RAIN GONNA FALL ของ BOB DILAN

 

ตายสิบเกิดเป็นแสน………….เพื่อถมแทนผู้สูญดับ

 

หรือ สิ่งฝันในใจนี้ ที่มีที่มาจากเพลง BLOWING IN THE WIND ของ BOB DILAN

 

สิ่งฝันในใจนี้……………เราจะมีความทุกข์ร่วมกัน

เราฝันเราจะมีความสุขร่วมกัน

 

หรือ แดนเสรี ของ คาราวาน ที่มีที่มาจากเพลง LET FREEDOM RING ของ TERRY ALLEN จากหนังเรื่อง AMERISIA

 

แดนเสรี

เมืองเราคือเมืองไมตรี……………นี้คือดินแดนเสรี

ข้าได้อุ่นอิง

ขแมร์ ลาว มอญ จีน ไทย………..หลายแนวหลายพันธ์เรียงราย

ขาว ดำ เหลือง แดง ไสว…………..ทำมาหากิน

 

LET FREEDOM RING

MY COUNTRY IT’S OF THEE……………..SWEET LAND OF LIBERTY

OF TREE I SING

LAND OF THE PIGRIM’S PRIDE…………..LAND WHERE MY FATHER DIE

FROM EVERY MOUNTAIN SIDE………….. LET FREEDOM RING

 

นอกจากการถ่ายเททางวัฒนธรรม ทั้งในรูปของการรับอิทธิพล จนถึงการหยิบยืม และปรากฏชิ้นงานร้อยกรองชั้นดี จนนำสู่บทเพลงชั้นดีแล้ว

 

ยังมีงานอีกหลายชิ้น ที่เกิดจากแรงบันดาลใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ และก่อเกิดเป็นชิ้นงานร้อยกรอง กระทั่งนำสู่การใส่ท่วงทำนอง เป็นบทเพลงที่ทรงคุณค่า

 

และงานอย่าง ล่องป่าบุ่น ที่ มงคล อุทก หนึ่งในสมาชิกคาราวานเขียนขึ้นจากเหตุการณ์ บ้านล่องป่าบุ่น แล้วให้นักร้องหญิงแห่งวง คุรุชน ขับร้องเป็นคนแรก ก่อนที่จะนำงานชิ้นนี้ ไปร่วมวง กับ ซุยกิว ของ ญี่ปุ่น บันทึกบทกวีมีทำนองชิ้นนี้ ให้งดงามอยู่ในความทรงจำต่อมา

 

อุ่นจากใจแม่เอย……………………..ใครไหนเลยอยากจากจร

บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน………………..จำต้องจรจากลา

เหลือเพียงแต่เสาเผาดำเป็นตอ………โอ้นี่แหละหนอเขาทำกับข้า

บ้านล่องป่าบุ่นเป็นล่องน้ำตา…………สายธารธาราที่ข้าดื่มกิน

เหมือนนกต่างหมู่มาอยู่ร่วมรัง…………ช่วยกันปลูกฝังสร้างจนเป็นถิ่น

มาถูกเผาผลาญเพราะมารทมิฬ………..ต้องพลัดพรากถิ่นหมดสิ้นชาวบ้าน

 

ล่องป่าบุ่นแห่งความหลัง………………เราทุกคนยังหวังกลับมา

ภาพที่จำตรึงตรา……………………….ยังไม่เลือนจากใจ

 

เปลวไฟไหม้ลามท่ามกลางตะวัน……….เป็นจริงใช่ฝันเผากันต่อหน้า

อ.ส.ถือไฟ โยนใส่หลังคา……………….เจ้านายยิ้มร่า แม่ข้าร้องไห้

พี่น้องชาวไทยจงไตร่ตรองดู…………….จะให้ทนอยู่กันได้ไฉน

เจ็บปวดรวดร้าวยังจำติดใจ…………….ข้าขอลาไปหาไฟดับเพลิง

 

อุ่นจากใจแม่เอย…………………………ใครไหนเลยอยากจากจร

ถิ่นเคยอยู่อู่เคยนอน……………………..จำต้องจรจากลา

เสียงปืนเรียกขานก้องมาจากไพร……….ลำบากเพียงไหนขอร่วมฟันฝ่า

จนกว่าชีวิตของข้าดับสูญ……………….บ้านล่องป่าบุ่นต้องฟื้นคืนมา

 

และถ้าพูดถึงในสายธารเพื่อชีวิต และการก้าวข้ามทางวัฒนธรรมของร้อยกรอง สู่การใส่ทำนองเพลง ชื่อของ วิสา คัญทัพ ก็คงจะข้ามไปมิได้

 

เพราะชิ้นงานร้อยกรองหลายต่อหลายชิ้น ถูกส่งผ่านมือ สุรชัย จันทิมาธร กระทั่งปรากฏเป็นบทเพลงงดงาม

 

เช่นว่า น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว

 

คนดีถูกฆ่ากลางถนน……………คนชั่วขึ้นนั่งบังลังค์บน

ฟ้าฝนจึงไม่ตกมา

 

หรือ คนภูเขา ที่ วิสา คัญทัพ เขียนขึ้น ณ ไร่ คำสิงห์ ศรีนอก และ สุรชัย จันทิมาธร หยิบยืมทำนองเพลงสากลในภาพยนต์ NED KELLY อันมี MIC JACKER แสดงนำ และ ศรีบูรพา แปลไว้ ในชื่อเรื่อง ฉันไม่อยากเป็นขุนโจร มาใส่อย่างลงตัว

 

ร้อยดาวร้อยเดือนมา………………..ร้อยเคียวมาเรียงเป็นวง

ร้อยใจสายใยยาว……………………กูเกี่ยวดาวมาไว้ดิน

ชาวนาผู้ขมขื่น……………………….เขาหยัดยืนขึ้นถือธง

คือคนคงคู่คน………………………..เปล่งเสียงสู้เหนือภูพาน

คือกูที่อยู่ป่า………………………….เป็นแนวหน้ากลางป่าเขา

คือดาวที่วาวเงา……………………..อันทอดดวงเพื่อปวงชน

ร้อยดาวร้อยเดือนมา………………...ร้อยเคียวมาเรียงเป็นวง

ร้อยชนที่ชูธรรม……………………….ชนจะนำไปชูไท

 

นี่ย่อมเป็นไปตามสายธารและการถ่ายเททางวัฒนธรรม ดุจเดียวกับ ร้อยบุปผา ที่ร้อยสำนักประชันแข่งใจ

 

ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก……………….ร้อยสำนักประชันแข่งใจ

มวลดอกไม้พร่างำรายมาพร้อมพลัน

ร้อยดอกงามเด่นตระการ……………….แย้มบานในดวงใจ

ชูช่อธรรมสง่างามในนามศิลปิน

 

นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนเสี้ยว ของสายธารร้อยกรองเพื่อชีวิต ที่ถูกนำมาใส่ท่วงทำนอง เป็นบทกวีมีทำนอง กระทั่งติดตราตรึงในความทรงจำ และก็ยังมีอีกมากมาย ที่ยังคงอยู่ ณ วันนี้

 

อีกชิ้นหนึ่ง ที่อยู่ในความทรงจำเช่นกัน ก็คือ บทกวีของ เฉินซัน ที่ ขรรค์ชัย บุญปาน ได้อ่านบทกวีบทนี้ แล้วคิดว่า น่าจะเป็นเพลงที่ดี จึงนำมาให้ สุรชัย จันทิมาธร ทำเป็นเพลง ซึ่ง สุรชัย ได้ดัดแปลงบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเนื้อหาหลักของ เฉินซัน ไว้

 

บทกวีชิ้นนี้ของ เฉินซัน ถูกใส่ท่วงทำนอง และเป็นบทเพลงชื่อ ปรีดี พนมยงค์

 

มาบัดนี้พ่อลาลับไปจากโลก……………….ยังความโศกความอาลัยให้สุดแสน

ลูกชาวธรรมศาสตร์ประกาศแทน…………..จะยึดแน่นอุดมการณ์ที่ท่านทำ

 

คือวิญญาณเสรี……………ชื่อปรีดี พนมยงค์

คือดาวที่ดำรง………………อยู่คู่ฟ้าสถาวร

คือเทียนที่ลาร้าง……………แต่ส่องทางไว้สุนทร

คือเกียรติที่กำจร……………และจารใจผู้ใฝ่ธรรม

คือแสงธรรมที่นำฉาย……….คือความหมายที่เลิศล้ำ

คือผู้ประศาสน์คำ…………..ธรรมศาสตร์และการเมือง

ผู้พลิกประวัติศาสตร์……….ประชาราษฎร์ให้โลกเลื่อง

คือเสรีรองเรือง……………..ระยับอยู่คู่ฟ้าดิน

 

อำลาอาลัย อำลาอาลัย…………….จากดวงใจทั่วธานินทร์

แต่เจตนาจินต์จักสืบล่วงเป็นพลัง

 

คือหรีดและมาลัย…………จากดวงใจชนรุ่นหลัง

สายใยไม่หยุดยั้ง………….แต่ยังอยู่อย่างยืนยง

แม่โดมจักผงาด……………ธรรมศาสตร์จักดำรง

ปรีดี พนมยงค์”…………..ประดับไว้ในโลกา

ปรีดี พนมยงค์”…………..ประดับไว้ในโลกา

 

ทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนเสี้ยว ของร้อยกรอง ที่มาสู่บทกวีมีทำนอง ซึ่งคงอยู่ผ่านห้วงเวลาที่ผ่านเลยไป ทว่า ยังมีความงดงามอีกมากมาย ที่ยังคงอยู่ เพื่อรอให้ชนรุ่นหลังสืบค้น และนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยน อันจะนำสู่ประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา และการยกระดับทางจิตวิญญาณ รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย

 

จึงหวังใจว่า ผองเราจักร่วมกันร่วมวงเสวนา กันอย่างต่อเนื่องเต็มกำลังสืบไป

 

ด้วยจิตคารวะ

 

//.............................................……………………………………………………………

 

จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง (๒)

บางเสี้ยวของกระแสธารร้อยกรองเพื่อชีวิต

เขียน : อังคาร ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖

ผู้เขียน : นายทิวา

........................................

 

บทกวีบทหนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ที่จำหลักหนักแน่นในความทรงจำของสังคมไทย ก็คือบทนี้

 

เพื่อลบคราบน้ำตาประชาราษฎร์

สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์

แม้ชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน

จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

 

บทกวีบทนี้ อาเวตีก อีสากยัน กวีประชาชนแห่ง อาร์มาเนีย เขียนไว้

และ จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา ศรีนาคร แปลไว้

จากต้นฉบับบทกวีบทนี้ 

 

TO BANISH  THE TRACE OF A TEAR

FROM YOUR EYE,

A THOUSAND DEATHS WOULD I GLADLY DIE ;

IF ONE MORE LIFE WERE GRANTED ME,

I’D SPEND THAT LIFE IN SERVING THEE.

 

“AVETIK ISAKYAN”

THE PEOPLE’S POET OF ARMENIA

 

กล่าวสำหรับ บทกวีที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แปลมาจากบทกวีของต่างประเทศ ยังมีอีกชิ้นหนึ่งที่งดงามไม่แพ้กัน

 

นั่นคือบทกวีของ หลู่ซิ่น นักเขียน-กวี ชาวจีนผู้เลื่องชื่อ ซึ่ง จิตร ใช้นามปากกา ศิลป์ พิทักษ์ชน แปลไว้ และได้รับการตีพิมพ์ใน ปิตุภูมิ

 

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย

จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย

ต่อผองเหล่านวชนเกิดกร่นราย

จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน

 

ชิ้นงานร้อยกรองของ จิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนแล้วแต่ ส่งสาร บางประการ ถึงสังคมในสายธารของการรับใช้ชีวิต ไม่เฉพาะแค่การวิพากษ์สังคมการเมืองเท่านั้น

 

หากแต่ยังหมายรวมถึงการวิพากษ์ในภาคส่วนของ ค่านิยม-วัฒนธรรม ที่ฝังรากลึกในสังคม ซึ่งชายเป็นใหญ่อย่างต่อเนื่อง และร้อยกรองในรูปโคลง

 

อย่างงานชิ้นนี้ ที่ จิตร ใช้นามปากกา ขวัญนรา เขียนวิพากษ์ไว้

 

สองสตันโฉมช้อยง่าน....................งอนงาย

อัดอวบเอิบอาบกามฉาย..................เฉิดท้า

ตาวาววะวาบประกาย.....................ไกวกวาด

ยิ้มยิ่งยิ้มเยาะฟ้า..............................ยั่วฟ้ายอเยิน

 

ดำเนินทวยระทดแท้......................เทียวหนอ

ผายสะโพกสองเพลาคลอ.............คลั่งเคล้น

ขดานดือเพล็ดแพล็มรอ................รัดรูป โอยแม่

ทวยระทึกสะท้านเต้น..................ตุบเต้นติวตัว

 

เขาหัวหรรษ์หื่นห้า.......................โหเห

จุบปากบ้างเล็งคะเน.....................แน่งเนื้อ

แสนหนาวสั่นโผเผ......................ผาดเหือด หายพ่อ

ร้อนระอุอบอาบเชื้อ....................โชติเชื้อกามเกลียว

 

เมื่อกล่าวถึง จิตร ภูมิศักดิ์ แล้ว ก็เห็นจะต้องหยิบยกชิ้นงานอีกบางชิ้น ของอัศนี พลจันทร์หรือ นายผีเพื่อ รับสาร ที่เปี่ยมอรรถรสอย่างต่อเนื่อง

 

ชิ้นงานนี้ชื่อ ค้ากำไรเกินควร ซึ่งพูดถึง สงคราม เห็นภาพทีเดียว

 

เหล็กคืบเดียวดูไปไม่มีค่า

เหล็กบ้าบ้าบัดสีมีสนิม

ลองกลึงกลมกลองกลางให้บางริม

อาบยาอิ่มเออนี่มีราคา

 

เป็นลำกล้องปืนกลแยบยลแท้

ฆ่าคนแน่-นอนกระไรให้พับผ่า !

เป็นของดีมีคุณอุ่นอุรา

เออเอามาขายเล่นละเป็นรวย

 

อันเศษเหล็กรุงรังอยู่ตั้งเยอะ

เออ,เอาเถอะทำอาวุธสุดจะสวย

การเงินทรุดหยุดชะงักตะหวักตะบวย

อาจอำนวยในค่าของอาวุธ

 

ทุนหนึ่งบาทอาจขยายได้ตั้งร้อย

ขายไม่น้อยนะหากมากที่สุด

เมื่อรบไปยิ่งเปลืองเรื่องเร็วรุด

ขายไม่หยุดรวยใหญ่ไปทีเดียว

 

ค้าความตายขายดีเป็นที่หนึ่ง

เป็นสิ่งซึ่งสัตบุรุษสุดจะเสียว

ทรชนชอบใจกันไปเที่ยว

ค้าเต็มเหนี่ยวหน้าด้านค้านไม่ฟัง

 

เกิดสงครามลามไล่ไปในโลก

ล้วนเรื่องโศกเศร้ากระไรเลือดไหลคั่ง

มือประชามาประชุมคุมกำลัง

ย่อมอาจยั้งหยุดบ้าค้าสงคราม

 

หรือชิ้นนี้ ของ นายผี ที่ชื่อ วันเกิดคือวันแก้ผ้า อันตีพิมพ์ในคอลัมน์ อักษราวลี ของ สยามสมัย ก่อนปี ๒๕๐๐ ก็เปิดเปลือยให้เห็นภาพชัดนัก

 

ฉลองเฉลิมเสริมขวัญในวันเกิด

ผมพูดเปิดออกให้เห็นใจหนา

พูดเหมือนวันแรกเกิดเปิดอุรา

คือแก้ผ้าพูดกันไม่พรั่นพรึง

 

มีความชั่วเชิญว่ามาให้เห็น

จะได้เป็นข้อคิดพินิจถึง

ถ้าความดีมีบ้างอย่างคำนึง

ควรตะริดติ๊ดชึ่งให้ชื่นบาน

 

พูดถึง นายผี แล้ว ก็ต้องขอย้อนเรื่อง ไปที่บทกวีที่ชื่อ อิศานอีกที เพราะร้อยกรองชิ้นนี้ นอกจากจะถูกนำบางส่วน ไปใส่ทำนองในเพลงชื่อ คาราวาน ของวง คาราวาน แล้ว ก็ยังถูกนำไปใส่ทำนองเพลงพื้นบ้านอีกด้วย

 

โดยเพลงดังกล่าวนั้น นำท่อนท้ายของอิศานไปใช้เป็นบทเพลงหนึ่งเพลง

 

ในฟ้าบ่มีน้ำ.....................ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย....................คือเลือดหลั่งลงโลมดิน

สองมือเฮามีแฮง................เสียงเฮาแย้งมีคนยิน

สงสารอิศานสิ้น................อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน

พายุยิ่งพัดอื้อ.....................ราวป่าหรือราบทั้งแดน

อิศานนับแสนแสน............สิจะพ่ายผู้ใดหนอ

 

บทกวีข้างต้น ถูกนำใส่ทำนอง เพลงพื้นบ้าน โดย สมาน กาญจนผลิน  เป็นเพลงพิเศษ ที่ใช้ชื่อว่า อิสานกำสรวล และใช้ ระนาด เป็นเครื่องดนตรีหลัก

 

เล่นเป็นกรณีพิเศษ ที่หอประชุมจุฬาฯ ในงานต้อนรับคณะศิลปินไทย ภายใต้การนำของ สุวัฒน์ วรดิลก ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเดินทางไปแสดง ศิลปแห่งชาติ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน (ช่วงปี ๒๕๐๐)

 

งานนี้ใช้ชื่องานว่า บัวบานในแผ่นดินแดง และบทเพลงพิเศษ อิสานกำสรวล ก็กำเนิดขึ้น เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือประชาชนอิสานนั่นเอง

 

ร้อยกรองของ นายผี ยังมีที่ถูกใส่ทำนองเป็นบทเพลงอีกจำนวนไม่น้อย และบทหนึ่งที่ นายผี เขียนขึ้น โดยประสงค์ให้เป็นบทเพลง ก็คือ ลำนำเจ้าพระยา ที่เขียนขึ้น ในช่วงปี ๒๕๐๐

 

ลำน้ำเจ้าพระยา.............................................เมื่อครามีแสงจันทร์ส่อง มองเป็นประกาย

แสงแวววาวดังดาวพราวพราย........................เย็นสบายเมื่อลมพัดโชยพริ้วมา

น้ำไหลเรื่อยลับไป..........................................ดูสุดสายตา น้ำไหลไปสู่ขอบฟ้า

ไหลเซาะฝั่งสาดดังซู่ซ่า.................................น้ำพัดพาเอาโคลนและตมจมหายไป

ดูน้ำชวนให้หวนคิดความหลัง.......................เมื่อไรสังคมจะชื่นรื่นสดใส

ความชั่วช้าลามกใดใด...................................อีกเมื่อไรจะสูญลับไป มวลประชาจะชื่นรื่นรมย์

สำน้ำเจ้าพระยา..............................................ไหลไปเถิดหนา พาเอาความโสมม

ไหลท่วมล้างทั่วร่างสังคม...............................โคลนและตมจมหาย ลับไปในทะเล

 

ในสายธารกวีเพื่อชีวิต วรรคทอง ที่จำหลักแน่นแน่นในความทรงจำอีกบท ย่อมเว้นที่จะไม่กล่าวถึง ระวี โดมพระจันทร์ มิได้ โดยเฉพาะบทกวีที่ทรงพลังปลุกเร้ายิ่งบทนี้

 

ตื่นเถิดเสรีชน

อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน

ดาบหอกกระบอกปืน

ฤๅหาญสู้กระแสเรา

 

หรืองานชิ้นนี้ ของ ทวีป วรดิลก ในนามปากกา ทวีปวร ในสายธารเพื่อชีวิตอีกคน

 

จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย

เกรียงไกรในพลังสร้างสรรค์

เพื่อความดีงามร่วมกัน

แห่งชั้นชาวชนคนงาน

เข้ารวมร่วมพลังบังเกิด

แจ่มเจิดภพใสไพศาล

ชีพมืดชืดมาช้านาน

หรือจะทานแสงทองส่องฟ้า

 

และอีกคน ที่อยู่ในช่วงรอยต่อก่อนเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ประชาชน จนถึงกลอนในยุค ชักธงรบ ที่มีลีลาเฉพาะตัวก็คือ  พนม นันทพฤกษ์ ซึ่งแนบแน่นอย่างยิ่ง กับครูที่ชื่อ สถาพร ศรีสัจจัง แห่งดินแดนด้ามขวาน

 

และนี่คือ ร้อยกรองที่ชื่อ คือนกว่ายเวิ้งฟ้า ณ ปี ๒๕๑๔

 

คือนกว่ายเวี่ยเวิ้งฟ้า

ตะกายจิกดาวอยู่ไหวไหว

ไป่รู้ค่าเวลานาทีใด

ลอยมาลอยไปไร้วารวัน

เสพย์กินเพียงทิพย์ธรรมชาติ

บริสุทธิ์พิลาส-สูงค่านั่น

แม้เพียงเศษหัวใจก็ไป่ปัน

ให้ความไหวหวั่นทั้งถ้วนมวล

 

อันที่จริงในกระแสของสายธารเพื่อชีวิต กวีและบทร้อยกรอง ยังจำแนกมุมมองที่เป็นไปตามทัศนคติ และมุมมองต่อโลก ซึ่งความแตกต่างในมุมมอง หาใช่ความแตกแยกในกระแสธารหลัก

 

หากแต่เป็นการนำเสนอมุมมอง ทั้งในภาพจริงและสิ่งฝัน เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ในสังคมขณะนั้น

 

ในห้วงเวลาปี ๒๕๒๔ (๑๗ก..๒๕๒๔) นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญ จ่าง แซ่ตั้ง กวีซึ่งได้ชื่อว่า สะท้อนภาพจริง ในรูปของ ไร้ลักษณ์ มาร่วมเสวนา

 

ในรายการ บทกวีมีเพื่อฝันเท่านั้นหรือ

 

ในงานนี้ ผู้จัดได้รวบรวมบทกวีเกี่ยวกับความฝัน ทั้งจากนักเขียนและนิสิตจำนวน ๑๐ บทนำเสนอ และ จ่าง แซ่ตั้ง ได้เขียนบทกวี ความจริง จำนวน ๑๐ บท หลังจากนั้น เพื่อแสดงทัศนะคู่ขนานกับบทกวี ความฝันจำนวน ๑๐ บทดังกล่าว

 

และนี่เป็นบางส่วนของชิ้นงานบทกวี ที่ประกบคู่มุมมองคู่ขนาน ระหว่างบทกวีที่ชื่อ

 

ความฝันในชนบท ของ วิทยากร เชียงกูล กับ ความจริง ๑ (มิใช่ความฝัน)” ของ จ่าง แซ่ตั้ง

 

ความฝันในชนบท : วิทยากร เชียงกูล

จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า

มาทำอาหารให้คนไร้สิ้น

ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น

เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเพื่อคนจน

จับเอาดวงตะวันอันกว้างใหญ่

จัดสรรให้คนพำนักพักอาศัย

เที่ยวรวบรวมธาตุมาทั้งสากล

แล้วคิดค้นปรุงเป็นยาฆ่าโรคภัย

 

ความจริง ๑ (มิใช่ความฝัน)” : จ่าง แซ่ตั้ง

เพ้อฝันสอยดาวสาวเดือน

คนไร้สิ้นต้องการอาหารจริงจริง

เพ้อเจ้อฟันนภาออกเป็นชิ้นชิ้น

คนจนต้องการเครื่องนุ่งห่มจริงจริง

เพ้อจับตะวันเป็นแดนดิน

ผู้คนต้องการพำนักที่เป็นจริง

ธาตุทั้งสากลที่เพ้อฝัน

ก็เป็นยาฆ่าโรคภัยไม่ได้เลย

 

ว่าตามจริง ในสายธารหลักของร้อยกรอง อาจบางทีล้วนอยู่ในกระแสธารเดียวกัน ไม่ว่าจะแยกย่อยในชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม

 

อาจบางทีเป็นเพราะยุคสมัย และอาจบางทีก็อาจเป็นเพราะรสนิยม ซึ่งในบางครั้ง สายธารหลักก็แตกสาย และในหลายครั้ง สายธารสายนี้ก็กลับมาหลอมรวมเป็นกระแสหลักแห่งยุคสมัยหนึ่ง ๆ ได้

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เคยจำแนกยุคสมัยของกาพย์กลอนไทยแบบคร่าว ๆ เป็น ๕ ยุคหลัก ซึ่งทอดยาวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ทว่า ก็ใช่จะแบ่งแยกแบบตายตัวตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง เพราะในช่วงคาบเกี่ยวแต่ละยุค ก็มีรอยต่อของการคาบเกี่ยวจากรุ่นต่อรุ่นเสมอมา

 

และนี่คือ ๕ ยุคสมัยที่แบ่งส่วน เพื่อแสดงรอยต่อยุคสมัยของกาพย์กลอน

 

.ความคิดใหม่

จัดเป็นยุคต้น เป็นยุคกวีขุนนางนักเรียนนอก ซึ่งถ่ายเทวัฒนธรรมตะวันตกมาสู่สังคมไทย

ยุคนี้ มี น... , ครูเทพ ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย

 

.ใฝ่การเมือง

ช่วงยุครอยต่อ หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุคนี้ มี นายผี , จิตร ภูมิศักดิ์ , อุชเชนี (ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา , นิด นรารักษ์) , ทวีปวร (ทวีป วรดิลก) ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย

 

.เฟื่องการรัก

เป็นยุคถัดมา ซึ่งว่าตามจริงก็อาจจะเรียกว่า อยู่ในยุคมืด เผด็จการปิดหูปิดตา ไม่เพียงเฉพาะนักกลอนหากแต่สังคมโดยรวมในทุกแขนง ล้วนแล้วแต่ต้องระมัดระวังการนำเสนอความคิดทั้งสิ้น ยุคนี้ มี สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ , ประยอม ซองทอง ฯลฯ เป็นตัวแทนยุคสมัย

 

ตัวอย่างงานของ สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ

 

จะให้สัตย์ซื่อต่อก็เสียหน้า

จะร้างลาเลิกรอก็เสียหาย

จะฝืนสาวเล่าหนอก็เสียดาย

กลืนหรือคายมันก็ฝืดผะอืดผะอม

 

ตัวย่างงานของ ประยอม ซอมทอง

เพื่อพักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์

ชมดาววิบแวมวอมในอ้อมสรวง

ระรื่นรินกลิ่นผกาบุปผาพวง

ลิ้มผึ้งรวงหวานลิ้นด้วยยินดี

 

.ชักธงรบ

ช่วงรอยต่อจนถึงยุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย ตัวแทนยุคสมัยที่ร่วมกันปลุกเรามีอาทิ รวี โดมพระจันทร์ , วิสา คัญทัพ ฯลฯ

 

.ยังไม่พบเส้นทาง

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นามปากการะบาด ปกปิดตัวตน หลังการปะทะถึงขั้นแตกหักของทฤษฎีความเชื่อทางการเมือง ห้วงเวลานี้ มีการใช้สัญลักษณ์อย่างมาก เช่นเดียวกับ ลำนำกลอนเปล่าที่มีมากขึ้น และมีกลุ่มกวีท้องถิ่นมากขึ้น จนเป็นกระแสธารหลากทั่วสารทิศ ไม่อาจไหลรวมสู่กระแสเดียวกัน

 

อนึ่ง ในช่วงรอยต่อระหว่างยุค เฟื่องการรัก กับ ชักธงรบ กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยว มีบทบาทอย่างยิ่ง ในการปลุกเร้าความคิด กระทั่งสู่ยุคของ ชักธงรบ

 

กลุ่ม พระจันทร์เสี้ยว มีตัวแทนที่โดดเด่น อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี , วิทยากร เชียงกูล , วินัย อุกฤษณ์ (ผู้เขียนเพลงนกสีเหลืองของคาราวาน”)

 

เก็บเอาบางส่วนเสี้ยวของเรื่องราวในสายธารเพื่อชีวิต มาบอกเล่าแลกเปลี่ยน ด้วยหวังใจถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกัน และหวังใจถึงการก้าวเดินต่อไปในสายธารแห่งร้อยกรอง ซึ่งร้อยรัดชีวิตเข้าด้วยกันกับสังคมโดยแท้จริง

 

ด้วยจิตคารวะ

 

//..................................................................................................................................

 

จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง (๓)

บางเสี้ยวของกระแสธารร้อยกรองเพื่อชีวิต

เขียน : พฤหัสบดีที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖

ผู้เขียน : นายทิวา

........................................

 

มาพูดคุยเสวนาแบบ เพลงพาไป กันต่อ ถึงบรรทัดนี้ นำบางชิ้นงาน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นบทเพลง ในชื่อ เสียงเพรียกแห่งมาตุภูมิ  มาฝาก

 

 เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ เป็นบทเพลงที่เขียนบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อแผ่นดินแม่ ในยามที่ต้องพรากถิ่น เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ อันเสมอกันของมวลชนผู้ทุกข์ยาก ก่อนที่ท้ายที่สุด จะได้ความตายเป็นผลตอบแทน

 

พฤษภา (๒)๕๐๙ แดดลบเงาจางหาย………เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน

…………………………………………………………………………..

ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียน………..ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน

………………………………………………………(เพลง จิตร ภูมิศักดิ์ : คาราวาน)

 

…………………เสียงเพรียกแห่งมาตุภูมิ……………

ม่านฟ้ายามค่ำ…………..…………..ดั่งม่านสีดำม่านแห่งความร้าวระบม

เปรียบเหมือนดวงใจมืดทึบระทม……พ่ายแพ้ซานซมพลัดพรากบ้านมา

ต่อสู้กู้ถิ่น……………………………...เพื่อสิทธิเสรีเพื่อศักดิ์และศรีโสภา

จึงพลัดมาไกลทิ้งไว้โรยรา…………….จะร้างดั่งป่าอยู่นับปี

.เคยสดใสรื่นเริงดั่งนกเริงลม……….ถลาลอยชื่นชมอย่างมีเสรี

.แม้ร้อยวังวิมานที่มี…………………มิเทียมเทียบปฐพีที่รักมั่น

ความใฝ่ฝันแสนงามแต่ครั้งเคยเนาชื่นหวานในใจเราอยู่มิเว้นวัน

ความหวังเอยไม่เคยไหวหวั่น………..ยึดมั่นว่าจะได้คืนเหมือนศรัทธา

แว่วเสียงก้องกู่…………………………จากขอบฟ้าไกลแว่วดังจากโพ้นนภา

บ้านเอ๋ยเคยเนากังวานครวญมา………รอคอยเรียกข้าอยู่ทุกวัน

 

มีบางคำถามที่ถามกันว่า ถ้า จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีชีวิตอยู่ จะวางตัวอย่างไรในสังคมยุคทุนนิยมครองโลก

 

คำตอบก็อาจมีมากมาย แต่อย่างหนึ่งที่อาจเล็งเห็นผลได้ก็คือ บั้นปลายของ คนดี ที่ทำเพื่อชนส่วนใหญ่ มักคาดผลได้ไม่ยาก

 

โดยเฉพาะเมื่อต้องหาญท้า อำนาจ และ ชนชั้นผู้ใช้อำนาจ

 

รูปธรรม เช่น เทียนวรรณ” , “ป๋วย อึ้งภากรณ์” , “ปรีดีพนมยงค์” , “นายผี และ ฯลฯ ก็อาจเป็นสิ่งที่เห็นได้ประการหนึ่ง

 

ทว่า ในที่สุด ประจักษ์แห่งผลของการกระทำ ก็ได้พิสูจน์ความคงทนของ ความดี ที่ยังคงอยู่เสมอ แม้สายธารกาลเวลาล่วงเลยไปก็ตาม

 

ย้อนไปที่ อัศนี พลจันทร์ หรือ นายผี อีกครั้ง ครานี้ นำบางชิ้นงานที่ นายผี เขียนโดยใช้นามปากกา ศรีอินทรายุทธ มาฝาก

 

แสงทองอันรองเรือง……………มาประเทืองระทวยปราณ

ปราณีฤดีดาล……………………ก็ได้แรงบ่อิดโรย

แสงทองอันรองไร………………..มาส่องให้สิ้นเหี่ยวโหย

แช่มชื่นระรื่นโรย…………………ด้วยลมเช้าชะลอโลม

แสงทองที่ส่องถูก………………...ทั่วร่างลูกแลคือโคม

ทองส่องให้สิ้นโทม-………………-นัสเห็นหนทางจร

 

และอีกชิ้น ชื่อ เพลงแห่งอิสรา โดยนามปากกา ศรีอินทรายุทธ

 

ในมือเรามีฆ้อน

มีระฆังอันดังตี

เพลงไพเราะเรามี

สำหรับขับให้ครื้นเครง

คือฆ้อนแห่งธรรมะ

และระฆังอันวังเวง

ตีครางอยู่หง่างเหง่ง

เพรียกเป็นเพลงแห่งอิสรา

 

พูดถึงเรื่องการถ่ายเท ระหว่างชิ้นงานร้อยกรอง ไปสู่บทกวีมีทำนอง ก็เลยนำงานเขียนร้อยกรอง ของ สุรชัย จันทิมาธร แห่งวง คาราวาน ซึ่งมีได้ถูกนำไปใส่ทำนองเพลงมาฝากสักชิ้น

 

ปรารถนาดนตรี……………ดีดสีตีเป่า

คลอควันและน้ำเหล้า………สนุกสนานเฮฮา

เล่าเรื่องให้เธอฟัง……………ถึงความหลังความหน้า

ข้ามทะเลโค้งฟ้า……………..ตามสายลวดคดโค้ง

มีทั้งทุกข์และสุข……………..ปลุกระดมเต้งโต้ง

เหมือนแก้ผ้าโทงโทง…………ไม่โอ่โอ่งมันพาไป

ได้หนังสือหนึ่งเล่ม……………ค่อยค่อยเล็มค่อยค่อยใส่

เหมือนสองขาจับไข้…………..ก็ยังน่ายินดี

 

มาถึงบรรทัดนี้ ขอย้อนกลับไปที่งานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกครา งานเขียนร้อยกรองชิ้นนี้ เป็นมุมมองที่มีต่อสตรี โดยใช้นามปากกา ศรีนาคร

 

สหายเอย………………………………วานเฉลยว่าสตรีสวยที่ไหน

สวยที่ตาซึ้งงามหวามหัวใจ……………..สวยที่แก้มอำไพผ่องชมพู

 

สวยที่โอษฐ์เต็มอิ่มยิ้มน่าจูบ……………..สวยที่รูปร่างระหงทรงเพรียวหรู

สวยที่อกอันชายต้องร้องอู้ฮู้………………สวยตะโพกชวนดูเดินแนบเนียน

 

บ้างว่าสวยพร้อมพรายยามอายเหนียม..บ้างว่าเยี่ยมก็ตรงตอนงอนปวดเศียร

บ้างว่าสวยพร้อมสรรพเมื่อดับเทียน……….บ้างว่าสวยเพราะเธอเพียรให้ชมเชย

 

สวยเพราะแสนรักผัวจนกลัวหงอ…………..สวยเพราะรอเป็นเท้าหลังฟังเฉยเฉย

สวยเพราะผัวมีเมียน้อยปล่อยตามเคย…….สวยเพราะเป็นทาสเชลยเสมอไป

 

สหายเอย…………………………………..คำเฉลยต่อไปนี้เข้าทีไหม

สวยเพราะทำงานแข็งกร้านแกร่งไกร………เพื่อช่วยมวลชนไทยที่มืดมน

 

เพื่อช่วยให้เขาได้มีที่เรียนร่ำ……………….มีงานทำมีเงินจ่ายหายขัดสน

มีบ้านอยู่อย่างเป็นสุขทั่วทุกคน……………งานเพื่อชนทั้งสิ้นอยู่กินดี

 

สวยเพราะเป็นเท้าหน้าขวาหรือซ้าย………เทียมเท่าชายเชิดความรักในศักดิ์ศรี

ใช่แขวนชีพไว้กับผัวชั่วตาปี………………ใช้ความสามารถที่มีกอบกิจกรรม

 

จงตื่นเถิดรู้ตนว่าตนสามารถ……………….จงองอาจอย่ายอมให้ใครเหยียบย่ำ

แม่แห่งลูก แม่แห่งโลก แม่แห่งธรรม………..สองมือแม้นแม่แรงค้ำโลกและคน

 

เธอจักสวยเพราะคำนึงซึ่งในสิทธิ…………..ที่ควรมีเสมอมิตรทุกแห่งหน

สิทธิ..หะหา..จงเธอปองสิทธิของตน…………สวยด้วยศักดิ์ เสรีชน ใช่เชลย

 

งานชิ้นนี้เป็นมุมมองของ จิตร ภูมิศักดิ์ อันเป็นผู้เขียน(ชาย) ที่ในห้วงเวลาต่อมา จิรนันท์ พิตรปรีชา ก็บอกเล่ามุมมองผู้เขียน(หญิง) ที่มีต่อผู้หญิง ในชื่อชิ้นงาน อหังการ์ของดอกไม้

 

สตรีมีสองมือ………………….มั่นยึดถือในแก่นสาร

เกลียวเอ็นจักเป็นงาน………….มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ

 

สตรีมีสองตีน………………….ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน

ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน………………มิหมายมั่นกินแรงใคร

 

สตรีมีดวงตา……………………เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่

มองโลกอย่างกว้างไกล…………มิใช่คอยชะม้อยชวน

 

สตรีมีดวงใจ…………………….เป็นดวงไฟมิผันผวน

สร้างสมพลังมวล……………….ด้วยเธอล้วนก็คือคน

 

สตรีมีชีวิต………………………ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล

คุณค่า เสรีชน ……………….มิใช่ปรนกามารมณ์

 

ดอกไม้มีหนามแหลม………….มิใช่แย้มคอยคนชม

บานไว้เพื่อสะสม……………….ความอุดมแห่งแผ่นดิน

 

บางส่วนที่นำมาเสวนาพูดคุยนี้ เป็นบางส่วนที่บอกเล่าถึงการนำร้อยกรองมารับใช้กับชีวิตและสังคม ผ่านแง่มุมทั้งเชิงศาสตร์และเชิงศิลป์ อันถ่ายเทไปมาระหว่างรากของวัฒนธรรมต่างรูปแบบ แต่ล้วนสะท้อนเนื้อหาเพื่อสังคมโดยรวม

 

หวังใจเหมือนเคยว่า การต่อยอดจากการเสวนา จักได้จุดประกายความคิดต่อเนื่อง เพื่อการแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป

 

ด้วยจิตคารวะ

 

//.........................……………………………………………………………………………….๛




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ