ReadyPlanet.com
dot dot
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่

เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่ :

ภาพสะท้อนโลกทัศน์ ประวัติศาสตร์ไทย สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 

ดร.ศานติ ภักดีคำ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

นับแต่มีการศึกษาเกี่ยวกับสุนทรภู่ เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นงานของสุนทรภู่ที่มีผู้คนกล่าวถึงน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าเนื่องจากเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่ไม่เด่นนักเพราะมีพงศาวดารมากำกับ สุนทรภู่จึงไม่สามารถแต่งเพิ่มความมากได้ เสภาพระราชพงศาวดารจึงเป็นงานเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ที่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามแม้เสภาพระราชพงศาวดารจะจัดว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่เรื่องที่ไม่โดดเด่นมากนักในทัศนะของนักวรรณคดี แต่เมื่อนำเนื้อหาของเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารมาพิจารณากลับพบว่าเสภาเรื่องนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะในฐานะความเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และในช่วงที่เริ่มมีการปรับรับมุมมองความคิดทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นอย่างดี

1.       สุนทรภู่กับเสภา

2.       เรื่องพระราชพงศาวดาร

      สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายเรื่องที่มาของเสภาพระราชพงศาวดารไว้ในหนังสือ เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่งถวายในรัชกาลที่ ๔ แล เรื่องประวัติของสุนทรภู่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองพระชันษา ๖๐ ทัศ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ว่า

      "เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสฯ สั่งให้พระสุนทรโวหาร ซึ่งคนทั้งหลายเรียกเปนสามัญาว่า "สุนทรภู่" นั้น แต่งขึ้นสำหรับขับถวายทรงฟังในเวลาทรงเครื่องใหญ่ ตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาโปรดฯ ให้ใช้เปนบทสำหรับนางในขับส่งมโหรีหลวงด้วย..."๑

      ในท้ายพระนิพนธ์ประวัติของสุนทรภู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุประยะเวลาที่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารว่า "...เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารนี้น่าจะเปนหนังสือเรื่องหลังที่สุดที่สุนทรภู่แต่ง เข้าใจว่าแต่งเมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗..."๒

      พ. ณ ประมวญมารคเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารไว้ว่า "...มีข้อฉงนเพียงว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นอาลักษณ์วังหน้า เหตุไฉนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้แต่งได้..."๓

      แล้วในที่สุดท่านก็สรุปว่า "...แต่สุนทรภู่จะได้แต่งตามพระบรมราชโองการ หรือพระบวรราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แลเจ้าน้องนำถวายเจ้าพี่ไปขับเมื่อทรงเครื่องใหญ่ ก็ดูจะไม่มีความสำคัญอย่างไรเลย เพราะท่านก็เป็นพี่น้องคลานตามกันออกมาแท้ๆ"๔

      อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากตัวบทเสภา สุนทรภู่ได้แต่งบทขึ้นต้นว่า

      "๏ กราบบังคมสมเด็จบดินทร์สูร

      พระยศอย่างปางนารายณ์วายุกูล มาเพิ่มพูนภิญโญในโลกา

      ทุกประเทศเขตรขอบมานอบน้อม สะพรั่งพร้อมเป็นสุขทุกภาษา

      ของพระเดชพระคุณการุณา ด้วยเสภาถวายนิยายความฯ..."

      ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสุนทรภู่แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ข้าราชการวังหน้าหลายคน เช่น พระยามณเฑียรบาล๕ ก็เป็นที่โปรดปรานของวังหลวง ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยมาแต่ก่อน

      ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกแต่ประการใดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดให้สุนทรภู่ (ซึ่งก็น่าจะทรงคุ้นเคยอยู่ก่อน) แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารถวาย

      ปัจจุบันเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารมี ๒ ตอน คือตอนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาและรบขอม กับตอนสงครามกับพม่าในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

      เหตุที่เสภาขาดออกเป็น ๒ ตอนนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะเมื่อสุนทรภู่แต่งตอนต้นถวายแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเรื่องพงศาวดารตอนนั้นแม้เอามาแต่งเป็นเสภาคงไม่น่าฟัง จึงโปรดฯ ให้ข้ามไปแต่งตอนศึกพระเจ้าหงสาวดีในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเห็นจะเป็นด้วยสุนทรภู่ถึงแก่กรรม เสภาพระราชพงศาวดารจึงจบเพียงเท่านั้น

      แม้กระนั้นก็น่าคิดพิจารณาว่า เหตุใดจึงเลือกแต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเฉพาะ ๒ ตอนนี้เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจะเห็นว่า ตอนหนึ่งเป็นเหตุการณ์เกี่ยวพันกับเขมร และเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวพันกับพม่า หรือจะมีการเมืองแฝงอยู่ในเรื่องเหล่านี้ หาไม่คงเป็นเพราะทรงใฝ่พระราชหฤทัยในเรื่องทั้งสอง

3.       สุนทรภู่ใช้พระราชพงศาวดารฉบับใด

      แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างเนื้อความในเสภาพระราชพงศาวดารกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เห็นได้ว่าสุนทรภู่น่าจะนำโครงเรื่องมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารที่ชำระกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

      เนื่องจากในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารขึ้นต้นเรื่องด้วยการกล่าวถึง พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาและมีเมืองขึ้น ๑๖ หัวเมือง ดังความที่ว่า 
 
"จะกล่าวพงศาวดารกาลแต่หลัง  เมื่อแรกตั้งอยุธยาภาษาสยาม 
ท้าวอู่ทองท่านอุตส่าห์พยายาม  ชีพ่อพราหมณ์ปโรหิตคิดพร้อมกัน 
มีจดหมายลายลักษณ์ศักราชๆ เจ็ดร้อยสิบสองคาดเปนข้อขัน 
ปีขาลโทศกตกสำคัญ  เดือนห้าวันศุกร์ขึ้นหกค่ำควร  
พลาสามนาฬิกากับเก้าบาท  ตั้งพิธีไสยศาสตร์พระอิศวร 
ได้สังข์ทักษิณาวัฏมงคลควร  ใต้ต้นหมันตามกระบวนแต่บุราณ..."

      จะเห็นได้ว่าข้อความในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารที่ชำระในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารขึ้นต้นด้วยข้อความอย่างเดียวกันทุกฉบับ คือ

      "ศุภมัศดุศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เพลาสามนาฬิกาเก้าบาท สถาปนากรุงศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ตั้งพิธีกลปบาต ได้สังขทักษิณวัตรใต้ต้นหมันขอนหนึ่ง..."๖

      หรือในข้อความที่กล่าวถึงเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ๑๖ หัวเมือง

      "...มีเมืองขึ้นสิบหกพระบุรี  คือเมืองตะนาวศรีนครสวรรค์

      เมืองชวามละกาพิจิตรนั้น  เมืองสวรรคโลกศุโขไทย

      เมาะลำเลิงบุรีศรีธรรมราช  ทั้งสงขลามาภิวาทไม่ขาดได้

      พิศณุโลกกำแพงเพ็ชรเมืองพิไชย  ทวายใหญ่เมาะตะมะจันทบูร..."

      พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารทุกฉบับบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

      "...ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมลากา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบุรี เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์..."๗

      แม้จะเรียงลำดับไม่ตรงกันเนื่องด้วยต้องนำชื่อเมืองมาเรียงกันให้ลงฉันทลักษณ์ก็ตามแต่ แสดงให้เห็นว่าพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่สุนทรภู่นำมาใช้เขียนเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร น่าจะเป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารซึ่งก็น่าจะได้แก่ฉบับที่เรียกว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนนั่นเอง๘

4.       ความสนใจประวัติศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

      ที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายเหตุที่สุนทรภู่เลือกแต่งเสภา เรื่องพระราชพงศาวดารว่าที่ทรงเลือกแต่งเฉพาะสองตอนนี้เนื่องจากตอนอื่นๆ ไม่สามารถนำมาแต่งได้นั้นเป็นประเด็นที่น่าสงสัย

      เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สุนทรภู่แต่งพระราชพงศาวดารทั้งสองตอนนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนอื่นจะแต่งไม่ได้ ตามพระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

      หากแต่น่าเป็นเพราะเหตุการณ์ทั้งสองนี้ เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยมากกว่า

      ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเขมร ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเกี่ยวกับเขมรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องจากในเวลานั้นเป็นเวลาช่วงที่สมเด็จพระหริรักษรามา (พระองค์ด้วง) เริ่มติดต่อกับฝรั่งเศส สิ่งนี้น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจไม่ไว้วางพระราชหฤทัย ทำให้ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับประเทศเขมรมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่โปรดฯ ให้แปลพงศาวดารเขมร [ฉบับออกญาวงศสารเพชญ (นง)] เป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘๙ และทรงเป็นผู้เริ่มกำหนดว่า "เขมรแปรพักตร์" หมายถึงหัวเมืองเขมรที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ อันได้แก่ เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราบ และเมืองศรีโสภณ

      ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องพม่า หากพิจารณาดูจะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับประเทศพม่ามากไม่ต่างกับความสนพระราชหฤทัยในประเทศเขมร ด้วยในเวลานั้นประเทศพม่าได้เกิดสงครามกับอังกฤษ และโปรดฯ ให้คัดคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับภาษามอญและนำมาแปลเก็บรักษาไว้ในหอหลวงเพื่อใช้ตรวจสอบในการชำระพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้แปลพงศาวดารมอญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐๑๐ อีกด้วย

      แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้แปลพงศาวดารเขมร-มอญ และคำให้การขุนหลวงหาวัดหลังจากที่สุนทรภู่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแล้ว ในทางตรงกันข้ามเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารอาจจะแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความสนพระราชหฤทัยต่อประเทศเขมร-พม่า มาเป็นเวลานานก่อนจะมีการแปลพงศาวดารเขมร-มอญแล้วก็เป็นได้

      ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเลือกพระราชพงศาวดารทั้งสองตอนนี้ให้สุนทรภู่ใช้เป็นโครงเรื่องในการแต่งเสภาพระราชพงศาวดาร

5.       มุมมองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยของสุนทรภู่

      ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า เหตุที่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารก็เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สุนทรภู่แต่งถวาย ดังนั้นนอกจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารจะแสดงให้เห็นถึงความรับรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในคนรุ่นสุนทรภู่ (หรือคนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) แล้ว ยังสะท้อนถึงแนวพระราชดำริ (และความสนพระราชหฤทัย) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เห็นได้อีกด้วย

      จึงอาจกล่าวได้ว่า เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นภาพสะท้อนให้เห็นคือมุมมองและความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ของคนรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หรือในตัวสุนทรภู่) ในภาพอดีตที่ย้อนกลับไปของกรุงศรีอยุธยา

      ๔.๑ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเครือญาติ ราชวงศ์อู่ทอง-สุพรรณภูมิ

      ภาพความสัมพันธ์ระบบเครือญาติระหว่างราชวงศ์อู่ทอง-สุพรรณภูมิตามที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ามีความเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) เป็นพระเชษฐาร่วมพระครรภ์ของพระเจ้าอู่ทอง

      บทเสภายังกล่าวต่อไปว่า เดิมขุนหลวงพ่องั่วไม่ได้เป็นเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ หากเพิ่งได้รับสถาปนาเป็นพระบรมราชาเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

      "...ทรงรำพึงถึงองค์พระเชษฐา  ร่วมครรภาอัคเรศนรังสรรค์

      จำจะไปบำรุงกรุงสุพรรณ  ด้วยท่านนั้นสิร่วมสุริยวงศ์...

      ...ดำริพลางทางออกพระโรงรัตน์ ตั้งกระษัตริย์ขนานนามต้องตามที่

      เฉลิมเดชเชษฐาธิบดี   ให้เป็นที่พระบรมราชา..."๑๑

      ฉะนั้นตามความเข้าใจของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ขุนหลวงพ่องั่วจึงไม่ได้เป็นพระเชษฐาพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง เหมือนกับที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งแนวความคิดในเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดังความที่ว่า

      "...แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสี และตรัสเรียกว่าพระเชษฐานั้น เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี..."๑๒

      อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสุนทรภู่ไม่ได้ใช้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นโครงเรื่องในการเขียนเสภา เรื่องพระราชพงศาวดาร

      ๔.๒ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย-เขมร

      ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพสงครามไทย-เขมรในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องเขมร "คดประทษร้าย" ดังความในบทเสภา

      "...สถิตย์แท่นแสนสำราญดาลฤดี  ด้วยบุรีขอมคดประทษร้าย..."

      "...นี่แน่เจ้าเยาวยอดปิโยรส  อ้ายขอมคดดูถูกนะลูกเอ๋ย..."

      "...ซึ่งข้อขอมคดคิดจิตรพาลา  จะอาสามิให้เคืองบทมาลย์..."

      ข้อความเหล่านี้ตรงกับข้อมูลในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนที่ว่า "...แล้วให้ขึ้นไปเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระราเมศวรลงมาแต่เมืองลพบุรี ซึ่งกรุณาตรัสว่า ขอมแปรพักตร์จะให้ออกไปกระทำเสีย..."๑๓

      แม้ไม่ปรากฏคำว่า "ขอมแปรพักตร์" ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร แต่เสภาพระราชพงศาวดารได้ตีความคำว่า "ขอมแปรพักตร์" แล้วอธิบายว่าหมายถึง "ขอมคดประทษร้าย" ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในสายตาของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า "ขอมแปรพักตร์" ในพระราชพงศาวดารหมายถึง "ขอมคดประทษร้าย" นั่นเอง

      นอกจากนี้ในเรื่อง "เสียพระศรีสวัสดิ์" ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระราเมศวรไปแพ้และ "...เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ชาวกัมพูชาธิบดี..." ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า "พระศรีสวัสดิ์" น่าจะเป็นพระโอรสในพระเจ้าอู่ทองอีกองค์หนึ่งที่ไปสิ้นพระชนม์ในสงครามนั้น

      เสภา เรื่องพระราชพงศาวดารสะท้อนความคิดของคนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ให้เห็นว่า การเสีย "พระศรีสวัสดิ์" ในเหตุการณ์นี้หมายถึงการเสีย "พระเกียรติยศ" ไม่ได้หมายถึงการเสียพระโอรสอีกพระองค์หนึ่งแต่ประการใด

      "...เอออะไรลูกเราช่างเบาจิตร  แพ้ความคิดข้าศึกนึกขายหน้า

      ทำให้เสียท่วงทีในปรีชา   ดีแต่กล้าดื้อดื้อถือทนง

      จนเสียพระศรีสวัสดิ์น่าจัดแค้น เข้าเขตแดนอรินทร์ไยมาใหลหลง

      ไม่ระวังเนื้อตัวมัวทะนง   อ้ายขอมคงเหิมฮึกนึกดูเบา..."

      ๔.๓ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า

      ความเข้าใจเกี่ยวกับไทย-พม่า ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นว่าความคิดความเชื่อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์กับความคิดของปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่างพม่า-มอญ, ความรู้สึกเกี่ยวกับพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ (ตะเบ็งชะเวตี้) กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

      ความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่างพม่า-มอญ ในเสภาพระราชพงศาวดารให้ภาพที่สอดคล้องกับภาพที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร คือ ยังมีความสับสนระหว่างพม่ากับมอญ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์ที่เสภาพระราชพงศาวดารให้พระเจ้าหงสาวดีเป็นมอญ ดังที่กล่าวว่า

      จะกลับกล่าวถึงพระเจ้าเมืองหงษา  เปนปิ่นรามัญประเทศทุกเขตรขัณฑ์

      พม่าทวายฝ่ายลาวเมื่อคราวนั้น   อภิวันต์หงษาพึ่งบารมี๑๕

      นอกจากนี้ยังปรากฏการกล่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีเป็นกษัตริย์มอญอีกหลายครั้ง เช่น "กับผู้ผ่านหงษาเจ้ารามัญ", "ฝ่ายพระองค์หงษาพระยามอญ" หรือ "พระเจ้ารามัญ" แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่มองว่าพระเจ้าหงสาวดีเป็นกษัตริย์ของมอญ ส่วนพม่า, ทวาย และลาว (เชียงใหม่) เป็นเมืองออกที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งตามความจริงพระเจ้าหงสาวดี (ขณะนั้นคือบุเรงนอง) เป็นพม่าแต่สามารถรบชนะมอญและตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหลวงเก่าของมอญคือหงสาวดี

      ส่วนทัพที่ยกมารบกับกรุงศรีอยุธยาก็กล่าวว่าเป็นทัพรามัญ (แท้จริงทัพใหญ่คือพม่า) เช่น "ว่ากองทัพมอญตั้งนครสวรรค์" แสดงให้เห็นว่าความคิดของคนไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมองเกี่ยวกับสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นว่าเป็นสงครามระหว่างไทย-มอญ มิได้ให้ความสำคัญกับพม่ามากนัก

      ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เสภาพระราชพงศาวดารให้ภาพที่สับสน โดยรวมพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ (ตะเบ็งชะเวตี้) เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ดังนั้นจึงปรากฏว่าแม้ในสงครามช้างเผือก ที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าเวลานั้นคือบุเรงนอง แต่ในเสภาพระราชพงศาวดารก็ยังคงเรียกว่า "พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ" อยู่ ดังความในเรื่อง

      "...ฝ่ายปิ่นปักนัคเรศประเทศถิ่น พระเจ้าลิ้นดำดำรงเมืองหงษา..." ๑๖

      ซึ่งสอดคล้องกันกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร ว่าพระเจ้าหงสาวดีในสงครามช้างเผือกคือพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ แสดงให้เห็นว่า ตามความเข้าใจของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์พระเจ้าหงสาวดีในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัยกับสงครามช้างเผือกเป็นพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำองค์เดียวกัน

      เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของบทเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารในส่วนที่ว่าด้วยรบศึกพม่าตั้งแต่สงครามช้างเผือกจนกระทั่งจบ กับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร (โดยเฉพาะฉบับพระพนรัตน์) แสดงให้เห็นความสอดคล้องของเอกสารทั้งสองเล่ม ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารได้โครงเรื่องมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความคิดความเชื่อของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

      ๔.๔ การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามลักษณะภาษา

      การจำแนกกลุ่มชนชาติตามภาษาเป็นวิธีการที่นิยมและแสดงให้เห็นอิทธิพลการศึกษาแบบตะวันตกอันเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนไทยตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ดังจะพบได้อย่างชัดเจนในงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เรื่องนางนพมาศ ซึ่งมีการจำแนกกลุ่มชน (ชาติพันธุ์) ตามภาษาที่ใช้

      ในงานเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ปรากฏการกล่าวถึง "ภาษา" ที่ใช้ในการจำแนกกลุ่มชนที่สำคัญประมาณ ๕ ภาษา คือ ภาษาสยาม, ภาษามอญ, ภาษาพม่า, ภาษาทวาย, ภาษาลาว (เชียงใหม่)

      อยุธยา กับ ภาษาสยาม เมื่อมีการกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาหรือไทย เสภาพระราชพงศาวดารมักระบุว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ "ภาษาสยาม" เช่น "...เมื่อแรกตั้งอยุธยาภาษาสยาม..." หรือ "...อยุธเยศยอดสยามภาษา..." เป็นต้น

      น่าสนใจที่สุนทรภู่ไม่ใช้คำว่า "ภาษาเขมร" หรือ "ภาษาขอม" เลย แต่กลับใช้คำว่า "พวกขอม" แทน และเมื่อจะเรียกประเทศก็จะใช้คำว่า "กัมพูชา" จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สุนทรภู่และคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มองว่าเขมรเป็นส่วนหนึ่งของไทย จึงไม่จัดแยกเป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหาก

      อย่างไรก็ดีภาพเขมรที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นภาพที่ค่อนข้างไม่ดีนัก ดังความที่ว่า

      "...ทำไมกับทัพเขมรเดนเขาเลือก  มีแต่เปลือกสู้ไทยจะได้ฤา..."

      แสดงให้เห็นภาพความรู้สึกนึกคิดของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีต่อเขมรในเวลานั้นได้ชัดเจน

      ภาษาพม่า ในที่นี้ใช้ระบุว่าพวกพูดภาษาพม่าคือเมืองอังวะ ดังความที่ว่า "...พวกอังวะพม่าว่าลาแคะ..." นอกจากนี้สิ่งที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งในเสภาพระราชพงศาวดารที่แสดงโลกทัศน์และความรู้ของสุนทรภู่ไว้คือมีการแทรกภาษาพม่าไว้ด้วยว่า "...พวกพม่าว่าเลเอระพะ พยายะชะดองรำยองย่อ..."

      ภาษามอญ เสภาพระราชพงศาวดารจัดเป็นชนอีกกลุ่มหนึ่ง และแทรกภาษามอญลงไว้ด้วย เช่น "...มอญว่าแกละอาระเคลิงเกลิงเผนาะ..." หรือ "...มอญทะแยแซ่ซ้องเสียงพองคอ โอระออระหนายเฮยเยาะเย้ยกัน..."

      ภาษาลาว ภาษาลาวที่เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารระบุถึงหมายถึงภาษาลาวเชียงใหม่ ซึ่งในเสภาพระราชพงศาวดารกล่าวว่าในช่วงนั้นลาวเป็นเมืองขึ้นของพม่า ภาษาลาว (เชียงใหม่) สุนทรภู่ได้ยกตัวอย่างคำแทรกไว้เพื่อแสดงความหลากหลายในกองทัพพม่าไว้ด้วย สุนทรภู่แต่งว่า "...ลาวว่าเบอเจอละน้อหัวร่อเยาะ..." และกล่าวถึงการละเล่นของลาวเชียงใหม่ในกองทัพพม่าว่า "...พวกเชียงใหม่ได้แพนอ้อร้องซอลาว โอเจ้าสาวสาวเอ๊ยเจ๊ยละน้อ..."

      ภาษาทวาย ภาษาทวายเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ระบุไว้ในเสภาพระราชพงศาวดารว่าเป็นภาษาที่มีใช้ในกองทัพพม่าด้วย สุนทรภู่ยกตัวอย่างภาษาทวายไว้วรรคเดียว และไม่มีกล่าวถึงการละเล่นของทวายเหมือนกับภาษาพม่า ภาษาลาว และภาษามอญ สุนทรภู่กล่าวถึงภาษาทวายว่า "...ทวายว่าเดาะยามะเวเฮฮากัน..."

      ทสรุป

      เสภาพระราชพงศาวดารเป็นงานเขียนเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ที่แต่งขึ้นตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทเสภาที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมี ๒ ตอน เป็นเรื่องการรบเขมรสมัยพระเจ้าอู่ทอง กับการสงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

      เหตุหนึ่งที่สุนทรภู่เลือกพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทั้งสองตอนนี้มาแต่งไม่น่าจะเป็นเพียงเพราะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนอื่นนำมาแต่งไม่ได้ แต่น่าจะเป็นรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเจาะจงให้สุนทรภู่แต่งบทเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารสองตอนนี้ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ทรงสนพระราชหฤทัย

      ดังนั้นนอกจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารจะสะท้อนความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของสุนทรภู่และคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเขมร-พม่า ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

      ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายเรื่องแตกต่างกับผลการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน แต่นั่นมิได้หมายความว่าความรู้ในสมัยนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ หากเป็นสิ่งสะท้อนวิวัฒนาการความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (โดยผ่านสายตากวี) นอกเหนือจากมุมมองของนักพงศาวดารโดยตรง

      สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างในประเด็นนี้คือ การที่กวีให้ความสนใจกับกลุ่มชนชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์โดยใช้ภาษามาเป็นเครื่องกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารหรือวรรณคดีเรื่องอื่นซึ่งมีอายุร่วมสมัย (คือแต่งในยุครัชกาลที่ ๒-๔) ที่ให้ความสนใจกับเรื่อง "ภาษา" เช่นเดียวกัน อันแสดงถึงวิธีคิดแบบตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อปัญญาชนไทยสมัยนั้น

      แม้เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารผลงานเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่จะไม่โดดเด่นนักในคุณค่าด้านวรรณคดี แต่ด้วยคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ เสภาเรื่องนี้ก็มีคุณค่าควรแก่การศึกษาเช่นกัน บทความเรื่องนี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นอันควรมีการศึกษาในระดับลึกต่อไป 
 
เชิงอรรถ 
๑. เสภา เรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่งถวายในรัชกาลที่ ๔ แล ประวัติของสุนทรภู่. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ โปรดให้พิมพ์ในงานฉลองพระชัณษาครบ ๖๐ ทัศ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕. หน้า ๑. 
๒. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๖๙. 
๓. พ. ณ ประมวลมารค. ประวัติคำกลอนสุนทรภู่. พระนคร: แพร่พิทยา, ๒๔๙๙. หน้า ๔๙๐. 
๔. เรื่องเดียวกัน. หน้าเดียวกัน. 
๕. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔๓๐. 
๖. กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และจุลยุทธกาลวงศ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕. หน้า ๑. 
๗. เรื่องเดียวกัน. หน้าเดียวกัน. 
๘. เหตุที่ผู้เขียนเชื่อว่าสุนทรภู่น่าจะนำโครงเรื่องเสภาพระราชพงศาวดารมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ เนื่องจากในเวลาที่สุนทรภู่แต่งเสภาเรื่องนี้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด (ก่อนจะชำระอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ และเรียกว่าฉบับพระราชหัตถเลขา) ก็คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับนี้ (ซึ่งน่าจะชำระในราว พ.ศ. ๒๓๔๐) แม้กระนั้นพงศาวดารฉบับนี้ก็ยังน่าจะอยู่ในหอหลวงและไม่แพร่หลาย เพราะหมอบรัดเลเพิ่งนำมาพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้ตรวจชำระ. 
๙. กรมศิลปากร. "พงศาวดารเขมร", ประชุมพงศาวดารเล่ม ๑. พระนคร: ก้าวหน้า, ๒๕๐๖. หน้า ๑๖๕. 
๑๐. กรมศิลปากร. "พงศาวดารมอญ", ประชุมพงศาวดารเล่ม ๑. พระนคร: ก้าวหน้า, ๒๕๐๖. หน้า ๒๗๐. 
๑๑. เสภา เรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่งถวายในรัชกาลที่ ๔ แล ประวัติของสุนทรภู่. หน้า ๕. 
๑๒. กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: คลังวิทยา, ๒๕๑๖. หน้า ๑๑๑. 
๑๓. กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และจุลยุทธกาลวงศ์. หน้า ๑. 
๑๔. เสภา เรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่งถวายในรัชกาลที่ ๔ แล ประวัติของสุนทรภู่. หน้า ๒๔. 
๑๕. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๙. 
๑๖. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๐๒.




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ