หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
วัฒนธรรมแห่งความดีและซื่อสัตย์
โดย ดร. สมยศ แสงสุวรรณ
ได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาก็ตั้งใจไว้เลยว่าต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพราะที่บ้านให้แต่ค่าเครื่องบินไปเท่านั้น มีติดกระเป๋าไปประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ ไว้เป็นค่าน้ำ อาหารเผื่อเวลาจำเป็น ลงจากเครื่องวันรุ่งขึ้นก็ไปมอบตัวที่มหาวิทยาลัยในเมือง SAN DIEGO มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีเงินลงทะเบียน แต่ที่ไปเพราะอยากรู้หน้าตาที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เมื่อรู้แล้วก็กลับมาหางานทำ ผมเริ่มได้ทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยมีรุ่นพี่คนไทยคนหนึ่งแนะนะ ที่ทำงานก็เป็นโงงานทำเครื่องดูดควัน (HOOD) ในครัว เวลาปรุงอาหาร ทำตั้งแต่นั่งเจาะรู อลูมิเนียมจนชำนาญ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมพนักงานในแผนกนั้นของบริษัท ตอนเย็นไปทำงานที่โรงแรม SHERATON ที่ตั้งอยู่ติดกับสวนสนุก DISNEYLAND ในเมืองแอนาแฮม (ANAHEIM) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
หลังจากนั้นก็ทำงานอีกหลายอย่าง เช่น ปั๊มน้ำมัน งานตกแต่งสวน ร้านขายของชำ (7-ELEVEN) หนักงานขายรถยนต์ งานในมหาวิทยาลัย มีธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เป็นตัวประกอบหนังฮอลลีวู๊ด โรงละคร แม้กระทั่ง Department Store อย่างบริษัท เชียร์รบัค รวมงานที่ทำประมาณ 20 ชนิด เปลี่ยนงานหาประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นคนจับจดไม่อดทน แต่เพราะเรื่องเวลาไม่เหมาะสมกับเวลาเรียนบ้าง อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ บ้าง เงินดีกว่าบ้าง คือเปลี่ยนงานทุกครั้งจะมีเหตุผลของมันเอง ผมอยากจะเล่าเรื่องงานการทำความสะอาดตามโรงงาน ธนาคาร โชว์รูมรถ ให้ฟังที่มีเพื่อนร่วมงานที่เต็มไปด้วยจริยธรรม
จิม ถามจริงๆ เหอะ เจ้านายของบริษัทเราที่ทำงานอยู่นะรวยมั๊ย ผมเอ่ยถามจิมมี่ (Jimmy) เพื่อนร่วมงานซึ่งคนฝรั่งคนซื่อ ขณะที่เรานั่งในรถแวนสีขาววิ่งไปบน Freeway พร้อมอุปกรณ์ทำความสะอาดเต็มรถ
ลำนั้นอาจจะเป็นของเขาก็ได้ จิมตอบ และชี้ไปที่เครื่องบินเล็กส่วนตัวที่บินอยู่เหนือซานดิเอโก (San Diego) เมืองทางตอนใต้สุดของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California)
เหรอ ผมอุทานขึ้นด้วยความประหลาดใจ
ใช่ เขารวยมาก มีเครื่องบินส่วนตัว เรือยอร์ช บ้านสวยหรูที่ปาร์มสปริงค์ เมืองตากอากาศของคนรวยนั้นแหละ จิมเล่าต่อด้วยท่าทียินดีกับเจ้านาย จิมเป็นคนดีมากในสายตาผม เขาทำหน้าที่ที่เขาได้ดีที่สุด ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และองค์กรที่เขาทำงานอยู่
ช่วงฤดูร้อนผมจะออกหางานพิเศษทำเพื่อเพิ่มรายได้ไว้เสียค่าเทอม ปรกติผมมีงานประจำอยู่แล้ว จิมเป็นผู้ร่วมงานกึ่งหัวหน้าที่รับผิดชอบด้านความสะอาดของธนาคาร โชว์รูมรถยนต์ โรงงานขนาดเล็ก ที่บริษัทเรารับบริการด้านความสะอาดซึ่งประมูลมาได้โดยไม่ต้องฮั้วกันอย่างในกระทรวงต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่ในบางประเทศ บริษัทมีพนักงานประมาณ 500 คน ไปดูแลร้านฟาสฟู๊ดอย่าง MC. Donald, Jack in the Box ถึง50 สาขา ธนาคารอีก 20 แห่ง โรงงานและสำนักงานอีกหลายสิบแห่ง ธุรกิจการให้บริการด้านทำความสะอาดจึ่งเป็นธุรกิจที่ทำเงินอย่างหนึ่งในอเมริกา
จิมเล่าให้ผมฟังว่าประธานบริษัท คือ ริชาร์ด เขาเป็นคนดี มีจริยธรรมสูงมาก จึงได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของธุรกิจให้เขามาดูแลบริษัทด้านความสะอาดมากมาย เรียกว่ามอบกุญแจบริษัทให้เลย หน้าที่ของผมคือทำความสะอาดดูดฝุ่นบนพรม ตั้งแต่ในห้องประธานบริษัท จนถึงหน้าห้องน้ำบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อ เช่น Motolora, Bank of American ฯลฯ ริชาร์ดเป็นรุ่นที่สาม (Third Generation) แล้วที่เขาสืบทอดธุรกิจนี้มาจากบรรพบุรุษ ซึ่งความซื่อสัตย์และมีจริยธรรมของเขานั้นจะสอดคล้องกับการค้นคว้าของนักคิดนัยเขียนผู้โด่งดังอย่าง สตีเฟน อาร์. โควี ที่เขียนไว้ในหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ว่าหนังสือที่กล่าวถึงความสำเร็จในชีวิตของคน ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงประมาณปี 1950 มักพูดถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความมีคุณธรรม จริยธรรม และอดทนพากเพียร แลสร้างขึ้นเป็นหลักปฏิบัติจนเป็นนิสัยปรกติ
เขาวิเคราะห์ไว้ว่า ตำราช่วง 50 ปี หลังนี้ มักเน้นความสำเร็จในชีวิตโดยการปลูกฝังแต่เปลือกนอก สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่กายดี มาดเท่ห์ หาวิธีพูดให้น่าเชื่อถือโดยนำเอาเทคนิคต่างๆ ที่จะชนะใจคนมาใช้และก็ประสบความสำเร็จได้ แต่ทิ้งปัญหาไว้มากมายในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่รู้เท่าทันจะตกเป็นเหยื่ออย่างไม่จบสิ้น
ผมเคยพบริชาร์ดครั้งหนึ่งตอนจิม (Jim) นำผมไปรู้จักสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองซานดิเอโก (San Diego) จิมแนะนำให้ผมรู้จักกับประธานบริษัท ดูเขาเป็นคนน่าศรัทธา เยือกเย็น ใบหน้าเขามีแต่ความเมตตา แต่งตัวง่ายๆ เรียบๆ ผมคิดว่าเขาคงได้รับการอบรมถ่ายทอดมาอย่างดีในเรื่องของความสำนึกแห่งการทำความดี มีคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้เขามีธุรกิจการให้บริการที่ใหญ่โต และมั่นคง ลูกน้องให้ความศรัทธา เคารพ และเขาก็ประสบความสำเร็จ ชีวิในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ จิมเพื่อนผมคงได้รับการถ่ายทอดมาด้วย
ผมสังเกตหลายครั้งที่เขาใช้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรกลับบ้านหรือธุรกิจส่วนตัวของเขาทั้งๆ ที่เขาสามารถแอบใช้เครื่องโทรศัพท์ในสำนักงานโต๊ะไหนก็ได้ เพราะไม่มีใครเห็นในสำนักงานที่เขารับผิดชอบด้านรักษาความสะอาด แต่เขาไม่ทำ ผิดกับหลายบริษัทที่เจอปัญหาพนักงานเบิกค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ทางไกลจากบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นการทำธุระส่วนตัว ลาป่วยทั้งๆ ที่จริงแล้วสบายดี ขโมยเวลาบริษัททำธุรกิจส่วนตัว นำสิ่งของสำนักงานไปใช้ที่บ้าน ในสังคมปัจจุบัน คนจะหนีห่างเรื่องจริยธรรมมาก และยังมีความเชื่อว่าจะต้องหลอกลวงคนอื่นก่อนตนจึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต
ช่วงที่ผมทำงานในร้านค้าปลีกที่อเมริกา วันหนึ่งมีแหม่มฝรั่งพร้อมลูกชายวัย 10 ขวบ เดินเข้าในร้านและต่อว่าผมว่า ยูให้ลูกเขาขโมยขนม (Candy Bar) ไปได้อย่างไร ผมจะตอบอย่างไรได้ นอกจากบอกว่าผมไม่เห็นเขาขโมยจริงๆ เพราะว่าผมกำลังมัวยุ่งขายของให้ลูกค้า หลังจากเอาขนมที่ลูกขายขโมยไปคืนแล้ว เขาได้กำชับผมก่อนออกจากร้านไปว่านับแต่นี้ไป 2 อาทิตย์ เข้าไม่อนุญาตให้ลูกเขาเข้าร้านเป็นเด็ดขาด และให้ยูช่วยดูแลควบคุมความประพฤติลูกเขาด้วย ผมมองว่านี่เป็นคำสั่งที่เด็ดขาดและเป็นการปลูกฝังที่ดีที่ไม่ต้องการให้ลูกเขาเป็นขี้ขโมย (โกง)
ผมเคยใช้โทรศัพท์สาธารณะแต่ต่อไม่ติด และบังเอิญเครื่องกินเหรียญ (ไม่คืนเงินให้) ผมไป 1.25 เหรียญ หลังจากนั้น ผมโทรไปที่ศูนย์โทรศัพท์และแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น พนักงานรับสายเขาขอที่อยู่ผมไว้หลังจากวันนั้น 7 วัน ผมแปลกใจมากที่ได้รับจดหมายเป็นซองแข็งๆ เปิดดูข้างในมีจดหมายขอโทษและเงิน .125 เหรียญสหรัฐ สอดมาในซองกลมๆ อย่างดีโดยเป็นเหรียญ ควอเตอร์ ( 25 เซ็นต์) 5 อัน ผมยังเก็บซองนั้นไว้เป็นที่ระลึกแห่งความมีจริยธรรมขององค์การโทรศัพท์ของเขาจนทุกวันนี้
ผมมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศมากมายไว้จะเขียนให้อ่านกันต่อไปในโอกาสหน้าครับ
