ReadyPlanet.com
dot dot
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม

ปาฐกถาช่างวรรณกรรม

วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑

ณ สถาบันปรีดีพนมยงค์

 

จาก “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”สู่ “ชีวิตในวรรณกรรม”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“นักเขียนมีภาระหน้าที่

ในฐานะเลขานุการทางประวัติศาสตร์

อย่างน้อยผมก็ได้ทำหน้าที่ตรงนี้

ความเป็นนักเขียนไม่เข้าใครออกใคร

ไม่ขึ้นตรงต่อใคร

ทำให้สามารถมองปัญหา

และนำเสนอออกมาได้อย่างอิสระและบริสุทธิ์ใจ”

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์(2509-2549)

จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม (2551)

 

๑. สู่ชีวิตในวรรณกรรม

   ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙  เนื่องในวาระครบรอบสองทศวรรษของกรณี ๖ ตุลา ๒๕๑๙มีการจัดกิจกรรมโดยอดีตนักกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ๖ ตุลากันอย่างคึกคัก มีการรวมตัวกันของอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษารุ่น ๖ ตุลาที่มากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา มีการรำลึกความหลังอย่างที่ผมไม่เคยได้ยินได้รับรู้มาก่อน หลายเรื่องหลายมิติ ในวันนั้นบรรดานักศึกษาที่ประสบเหตุการณ์ก่อนและถึงการถูกปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลา ได้เล่าเหตุการณ์จากหัวใจอย่างไม่มีใครจะสามารถเขียนให้สะเทือนใจได้เท่า น้ำตาคลอเบ้าอย่างไม่รู้ตัว  ผมใช้มือปาดน้ำตาที่เล็ดออกมาทางหัวตา  เพื่อนที่นั่งข้างๆถามว่าผมไม่สบายหรือ  

จากนั้นคุณปรีดา ข้าวบ่อซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการผลิตเอกสารหนังสือสำหรับงาน๒๐ ปี ๖ ตุลา ได้ทาบทามให้ผมเขียนหนังสือสำหรับงานนี้   นั่นคือที่มาของหนังสือรวมบทความทางวรรณกรรมของผมในหัวเรื่องว่า วรรณกรรมในชีวิต: ชีวิตในวรรณกรรม (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, ๒๕๓๙)  อันเป็นข้อเขียนอันเกี่ยวกับวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ ซึ่งผมได้เขียนในวาระต่างๆนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ๑๖  ไปถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ๖ ตุลา ๑๙ และการลี้ภัยการเมืองไปสู้ในชนบทก่อนจะไปเรียนต่อในเมืองนอกอีกครั้ง 

ในท่ามกลางวิกฤตศรัทธาและความเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองสังคมนิยมดังกล่าวนั้น ผมได้อาศัยงานวรรณกรรมของหลากหลายสังคมและนักเขียนเป็นเครื่องปลอบประโลมใจและความคิด กล่าวได้ว่าห้วงเวลานั้น(๒๕๒๗-๒๕๓๙) ผมยังรักษาหนทางและถนนสายเล็กๆที่ไม่รุ่งโรจน์และสว่างไสว หากแต่ยังเป็นทางเล็กๆที่พอให้ผมเดินและก้าวไปได้บ้าง ช่วงเวลานั้นนั่นเองที่ผมตระหนักถึงพลังของวรรณกรรมอย่างที่ไม่เคยคิดและประสบมาก่อน นั่นคือการเป็นยาสมานหัวใจ เป็นดั่งน้ำค้างที่ให้ความสดชื่น เป็นพระจันทร์เสี้ยวในคืนข้างแรม และเป็นเพื่อนในวันที่โดดเดี่ยวและอ้างว้างที่สุด

ในช่วงเวลาของการ"ลี้ภัยส่วนตัว"ในต่างประเทศเกือบทศวรรษหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่"ยาวนาน"มาก ดูเหมือนกาลเวลาจะหยุดนิ่งหรือเคลื่อนไปเชื่องช้ามาก ไม่เหมือนกับกาลเทศะที่เราอยู่กับความหวังของสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา ในกรอบของเวลาเช่นนั้นที่ผมเริ่มรู้สึกและค่อยๆรับรู้ถึงความเจ็บปวด ถึงความสุขและความฝันกระทั่งความผิดหวังของผู้คนในอดีตที่เราเรียกรวมๆว่าประวัติศาสตร์ขึ้นมา  ช่วงเวลาเหล่านั้นเองที่ผมเริ่มซึมซับสิ่งที่มาร์เซล พรูสต์ (Marcel Proust) นักประพันธ์เอกชาวฝรั่งเศสพูดถึงว่า "เป็นห้วงเวลาแห่งความหวานชื่นในความสงบของความคิดที่เราอาจรวบรวมความทรงจำของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตขึ้นมาได้อีก"  แต่การรื้อฟื้นความทรงจำของอดีตก็คงไม่ใช่เพื่อสร้างความเจ็บปวด แม้จะไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ทั้งหมด หากที่สำคัญอยู่ที่การนำเอา"เวลา"และเรื่องราวของอดีตมาคลี่คลายเรื่องราวและความเข้าใจต่อเวลาปัจจุบัน ด้วยรูปแบบของวรรณกรรม เวลาในอดีตกลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกด้านในที่ลึกและซับซ้อนไปได้  ในแง่นี้ความทรงจำก็จะมาช่วยในการปลดปล่อยและยกระดับความรู้สึกไปถึงความรับรู้ของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ให้กลายมาเป็นความเข้าใจใหม่ เป็นตรรกของชีวิตใหม่ กระทั่งเป็นความงามใหม่ของมนุษยชาติได้ด้วย  ในเวลานั้นเองที่ผมตระหนักว่าวรรณกรรมเป็นสื่อที่ช่วยในการคลี่คลายเวลาในอดีตและปัจจุบันที่มีความหมายและความงดงามที่สุด

ดังนั้นผมจึงกล่าวว่าวรรณกรรมคือส่วนที่เป็นวิญญาณของประเทศและสังคม แนวคิดดังกล่าวนี้แตกต่างจากแนวคิดว่าด้วยวรรณกรรมเพื่อชีวิตสมัยขบวนการสิบสี่ตุลาอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ได้เน้นหนักไปที่ด้านปฏิวัติของวรรณกรรม ด้านที่เป็นการต่อสู้และแสดงออกถึงความก้าวหน้าของวรรณกรรมในการรับใช้การต่อสู้ของมวลชน ทว่าวรรณกรรมในยุคหลังขบวนการสิบสี่ตุลาและการปฏิวัติสังคมนิยม ที่ผมเรียกว่าเป็น “ชีวิตในวรรณกรรม” นั้นเป็นการมองและให้น้ำหนักของวรรณกรรมไปที่ความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมีความเป็นมาอันหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเจาะจงไปที่ปัญหาการเมือง ที่การต่อสู้ทางชนชั้น และชีวิตของชนชั้นผู้ถูกกดขี่อย่างขาวกับดำ หรือต้องนำเสนอและตีความแต่มิติที่เป็นความทุกข์ยาก การกดขี่ขูดรีดและความอยุติธรรมนานาประการทั้งหลายเป็นด้านหลัก หากแต่ที่สำคัญกว่าคือการสร้าง “ความจริงที่เป็นชีวิต” ดังที่ศรีบูรพาได้กระทำในนวนิยายเล่มที่เขามีความอิ่มใจมากกว่าเล่มใดๆที่สุด “สงครามชีวิต” (๒๔๗๕)

ชีวิตในวรรณกรรมให้ความสำคัญต่อมิติมากกว่าสองด้านคือขาวกับดำหรือผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ดีกับชั่วเท่านั้น  ชีวิตในวรรณกรรมนฤมิตความจริงที่เห็นและปรากฏอยู่ดาษดื่นให้มีชีวิตและเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ  จากความรับรู้ทางอัตวิสัยยกระดับจนมันไม่ใช่เป็นเรื่องหรือความรู้สึกของคนๆเดียวอีกต่อไป หากแต่มันผ่านกระบวนการวิภาษวิธี จากความรู้สึกกลายเป็นความรับรู้ที่ร่วมกันของคนอื่นๆด้วย และกลายเป็นความสะเทือนใจของปัจเจกบุคคลในที่สุด  ความจริงที่เป็นชีวิตจึงได้รับการยกระดับขึ้นเป็นปัญหาและความสำนึกร่วมกันของสังคมและคนส่วนใหญ่ไป  กระทั่งทั้งสังคมและประเทศและโลกไปได้  ถึงจุดนี้มันเป็นความงามทางศิลปะที่สามารถบันดาลความรักความอบอุ่นและความสุขไปจนถึงความสังเวชและสะเทือนใจ  ให้เรามองเห็นและตระหนักถึงความจริงที่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อมา ในด้านต่างๆของชีวิตสังคมและการเมืองเศรษฐกิจ  ในที่สุดชีวิตในวรรณกรรมภายใต้เนื้อหาและรูปแบบที่สมบูรณ์นำไปสู่พลังแห่งสำนึกอันดีงามของมนุษย์ให้ออกมา  แสดงออกผ่านการเข้าใจในคนอื่นที่ไม่เหมือนและแตกต่างจากเรา ถึงการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  รวมถึงการให้นัยในทางยกระดับความคิดและการวิเคราะห์ที่เป็นภววิสัยแก่ผู้อ่านได้  กล่าวโดยสรุป ชีวิตในวรรณกรรมไม่ได้ปฏิเสธบทบาททางสังคมและทางการเมืองของวรรณกรรมเสียทั้งหมด หากแต่นำเสนอข้อคิดใหม่ที่รอบด้านมากขึ้นว่า บทบาทอันสำคัญเหล่านั้น ไม่อาจทำได้โดยการทำให้วรรณกรรมเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองและการโฆษณาอย่างดาษๆเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป คือการทำให้วรรณกรรมเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่เหนือบทบาทธรรมดาของการสนับสนุนหรือคัดค้านอุดมการณ์และพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น  หากวรรณกรรมจักต้องซึมซับชีวิตและความขัดแย้งทั้งหลายเข้ามา เพื่อจะส่องทางข้างหน้าให้แก่สังคมและคนแต่ละคน ที่พร้อมจะรับแสงสว่างทางปัญญาและความรื่นรมย์ได้   เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของสังคม  ที่ยังมีความไม่เท่าเทียม มีความไม่สมบูรณ์ในด้านต่างๆ  วรรณกรรมก็ต้องมีชีวิต ที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันของพัฒนาการและความจริงเหล่านั้น  ชีวิตในวรรณกรรมจักต้องก้าวรุดหน้าไปพร้อมกับความเป็นจริงของสังคมและความคิด  เพราะว่าวรรณกรรมคือสารัตถะคือเนื้อในและแก่นแกนของสังคมนั่นเอง. 

 

๒. ก่อนถึงวันก่อเกิด

    แหล่งที่มาอันเก่าแก่ดั้งเดิมของงานเขียนหลากหลายที่เรียกรวมๆว่าวรรณกรรมนั้นมาจากการเล่าเรื่อง  กล่าวได้ว่าไม่มีสังคมไหนที่ไม่มีการเล่าเรื่อง จริงๆแล้วรูปแบบการเล่าเรื่องแบบต่างๆไม่ว่านิทาน คำกลอน ค่าวซอ ผญา เพลงกล่อมเด็ก มาถึงตำนาน ชาดก เพลงพื้นบ้านถึงลิลิตและฯลฯ ล้วนเป็นวิวัฒนาการของวรรณกรรมปากเปล่า(มุขปาฐะ)ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลังจากการค้นพบตัวอักษรและประดิษฐกรรมในการเขียนและสร้างหนังสือขึ้นมาในสังคมต่างๆ จนมีคำกล่าวว่า “ที่ใดมีภาษาที่นั่นมีวรรณคดี” (วิภา กงกะนันทน์, ๒๕๔๐, น.๑๐๒)  การพูดถึงวรรณคดีและวรรณกรรมจึงมักได้แก่เรื่องเล่าที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการเขียนแล้ว  ในสังคมไทยวรรณคดีจึงได้แก่งานเขียนที่ปรากฏในรูปแบบของร้อยกรอง เช่นกวีนิพนธ์ยวนพ่าย(แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๒๕) และลิลิตพระลอ อันถือว่าเป็นงานประพันธ์เชิงจินตคดีที่เก่าแก่ที่สุด ส่วนงานประเภทร้อยแก้วมักใช้ในการเขียนเชิงสารคดี เช่นการบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พระราชพิธีต่างๆ และการตรากฎหมาย (วิภา กงกะนันทน์, ๒๕๔๐, น. ๗๒) ตัวอย่างของงานร้อยแก้วโบราณเช่นจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หากไม่ติดใจในข้อวิพากษ์เรื่องกำเนิดของจารึกหลัก ๑ นี้ว่าน่าจะกระทำขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ในตำรากฎหมายและพงศาวดารต่างๆ ในตำนานลงมาถึงนิทานพื้นบ้าน

ข้อที่น่าสังเกตคือวรรณคดีและวรรณกรรมแต่โบราณมานั้นมักแสดงออกในรูปแบบของร้อยกรองมากกว่าร้อยแก้ว  เป็นปรากฏการณ์ที่เหมือนกันในแทบทุกสังคมก่อนถึงยุคสมัยใหม่(คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖)  อาจเป็นเพราะบทกวีร้อยกรองนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเล่าแบบมุขปาฐะและการนำเสนอก็สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของสังคม ไม่ว่าจะในพระราชพิธี ในพิธีกรรมทางศาสนาและในพิธีพื้นบ้านที่สำคัญในทางสังคมได้แก่การที่ภาษาอักษรนั้นก็ยังเป็นสมบัติและอยู่ภายใต้การครอบครองของชนชั้นสูงและผู้นำทางศาสนาจำนวนน้อยเท่านั้น  ทำให้การรู้หนังสือหรือภาษา (Literacy) เป็นเรื่องของคนชั้นนำส่วนน้อยเท่านั้น การนำเสนอนอกแวดวงชนชั้นนำจึงมักกระทำด้วยการเล่าเรื่องจากความจำที่ได้ยินมา (ไม่ใช่ได้มาจากการอ่าน) จึงไม่น่าแปลกใจที่งานประพันธ์โบราณของอาณาจักรสยามไทยจึงเขียนในภาษาอักษรที่สากลในดินแดนแถวนี้ คือภาษามคธ(บาลี) และอักษรขอมเป็นต้น  ดังเช่นปัญญาสชาดก(แต่ง พ.ศ. ๒๐๐๐-๒๒๐๐)  กระนั้นก็มีงานที่ใช้ตัวอักษรขอมแต่ใช้ภาษาไทยในการดำเนินเรื่องได้แก่ไตรภูมิพระร่วง (วิภา กงกะนันทน์, ๒๕๔๐, น.๘๐)

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกสังคมจะมีความเป็นมาที่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันในข้อที่ว่า การเขียนในรูปแบบใหม่ทางร้อยแก้วที่เรียกว่านวนิยายนั้นมีที่มาจากเรื่องเล่ามุขปาฐะ ที่น่าแปลกใจกว่าก็คือแทบทุกสังคม(รวมทั้งสังคมยุโรปด้วย) มีความล่าช้ามากกว่าจะสร้างรูปแบบงานเขียนที่เรียกว่า”นวนิยาย” ขึ้นมาได้ ในยุโรปก็ในศตวรรษที่ ๑๘ ในเอเชียตามมาในศตวรรษที่ ๑๙  ด้วยเหตุผลหลายๆด้านทั้งส่วนของนักเขียนเองและที่สำคัญไม่น้อยก็คือผู้อ่าน ที่เรารู้จักกันในนามของคนชั้นกลาง เราจึงเห็นการเกิดขึ้นของนวนิยายในประเทศต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับสังคมที่เริ่มมีเสรีภาพในด้านต่างๆเช่นเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม พร้อมกับการมีระบบการศึกษาที่กว้างขวางทำให้ระดับการรู้หนังสือในหมู่ประชาชนมีมากขึ้นด้วย  นั่นคือเกิดมีผู้อ่านนิรนามจำนวนมาก ประการสุดท้ายที่มีผลต่อการปรากฏและพัฒนาไปของนวนิยายได้แก่การเกิดระบบการผลิตด้วยการพิมพ์สมัยใหม่ที่ให้ปริมาณและเวลาที่รวดเร็วกว่าการพิมพ์แบบโบราณ และในที่สุดก็มีระบบการจัดจำหน่ายจ่ายแจกแบบสินค้าที่มีการบริโภคผ่านระบบตลาดที่เป็นทุนนิยมนั้นเอง (Goody 2006: 20)

กำเนิดของวรรณกรรมสมัยใหม่จึงแยกไม่ออกจากการเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “ลัทธิสัจจะนิยม” (Realism) ที่ผ่านมามักมีคำอธิบายกำเนิดของนวนิยายและการเขียนเรื่องสั้นสมัยใหม่ในสังคมนอกตะวันตกเช่นไทยว่าได้รับอิทธิพลหรือเป็นผลมาจากการครอบงำของลัทธิอาณานิคมตะวันตกและความรู้สมัยใหม่ทั้งหลายอันรวมไปถึงความรู้และวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์เช่นวรรณคดีและประวัติศาสตร์ปรัชญาต่างๆเป็นต้น  คำอธิบายดังกล่าวนั้นเป็นวิธีการมองโดยการเอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ทำให้การวิเคราะห์และเข้าใจในการเขียนนิยายในสังคมไทย ให้น้ำหนักไปที่อิทธิพลจากภายนอกเสียด้านเดียวมากเกินไป จนทำให้ขาดการศึกษาและเข้าใจในลักษณะของตนเองในการสร้างนิยายขึ้นมาเอง  นั่นคือขาดการพิเคราะห์อย่างเป็นวิภาษวิธีหรือรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่มิติภายในของสังคมไทยเอง

๓. ประวัติและรูปแบบของวรรณกรรม

กล่าวได้ว่าวรรณกรรมไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในฉับพลันหรือจากความปรารถนาของใครคนใดคนหนึ่ง วรรณกรรมก็เช่นเดียวกับงานศิลปะและความคิดปรัชญารวมถึงทฤษฎีต่างๆ ที่ต้องอาศัยเงื่อนเวลาและสถานที่ สำหรับการก่อรูปและพัฒนาเติบโตทั้งทางความคิดและทางรูปแบบ  นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า เนื้อหาหรือประวัติกับรูปแบบ ของวรรณกรรมหรืองานศิลปะทั้งหลาย  ทั้งหมดนั้นจะคลี่คลายไปอย่างไรจนไปสู่ภาวะแห่งการลงตัวของความงามในงานนั้นๆ ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองของวรรณกรรมนั้นๆด้วย ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเรา วรรณกรรมและศิลปกรรมก่อรูปและคลี่คลายไปในบริบทและโครงสร้างของรัฐประชาชาติสมัยใหม่เป็นสำคัญ  นี่คือพลังและจุดหมายของการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมโดยส่วนใหญ่ ปรากฏชัดในประเทศและสังคมตะวันตก และมาแสดงออกในสังคมและประเทศนอกตะวันตกเช่นไทยด้วยในระยะของการปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับลัทธิอาณานิคมและความรู้สมัยใหม่

ประวัติวรรณกรรมจึงได้แก่การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรม จากวรรณกรรมชั้นสูงลงมาสู่วรรณกรรมสังคม ที่มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในท้องถิ่นมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงดำเนินไปทำนองเดียวกับวิวัฒนาการของวัฒนธรรมนั่นเอง  ในกรณีของการกำเนิดการเขียนนวนิยายในสังคมที่อยู่นอกศูนย์กลางหรือรอบนอกของระบบโลก การเกิดขึ้นของการเขียนนวนิยายสมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากพัฒนาการอันเป็นอิสระของตนเอง หากแต่เป็นผลพวงจากการประนีประนอมระหว่างรูปแบบของตะวันตก(ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ)กับเนื้อหาวัตถุของเรื่องที่เป็นท้องถิ่นหรือพื้นเมือง  นั่นคือมาจากการสมยอมกันของรูปแบบต่างประเทศกับวัตถุดิบในท้องถิ่น(foreign form and local materials) จนได้ข้อสรุปที่ต่างไปจากความเชื่อของนักวิชาการวรรณคดีทั่วไปว่า รูปแบบวิวัฒนาการของนวนิยายแบบตะวันตกนั้น เป็นข้อยกเว้นไม่ใช่กฎทั่วไปที่กำเนิดนวนิยายในสังคมประเทศนอกตะวันตกต้องทำตาม (Moretti 2000;58) นั่นคือกำเนิดนวนิยายแบบตะวันตกไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมนอกตะวันตก ไม่ใช่เรื่องประหลาดหรือเป็นปมด้อยอะไร จึงไม่ต้องเสียเวลามาแก้ตัวหรือพยายามทำให้กำเนิดนวนิยายในท้องถิ่นให้เข้ากับตัวแบบของยุโรปให้ได้  การเปรียบเทียบอย่างเลียนแบบง่ายๆจึงไม่อาจทำให้เราเข้าใจกำเนิดและพัฒนาการของนวนิยายในสังคมนอกตะวันตกเช่นไทยได้อย่างแท้จริง  Moretti (2000)ได้เสนอข้อคิดที่น่าสนใจยิ่งในเรื่องวิวัฒนาการของวรรณกรรมโลก เขากล่าวว่าวรรณกรรมโลกนั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันอย่างมาก ไม่มีความเป็นเอกภาพได้เลย ที่ผ่านมาวรรณกรรมฝรั่งเศส-อังกฤษพยายามครอบงำวรรณกรรมโลกด้วยการทำให้มันกลายเป็นวรรณกรรมเอกภาพ  ดังนั้นเขาจึงเสนอว่าแทนที่จะมองดูเพียงว่ามี ๒ ฝ่ายคือตะวันตกกับท้องถิ่น(หรือนอกตะวันตก) เราควรพิจารณาวรรณกรรมโลกใน ๓ เส้าคือ ๑) ในรูปแบบหรือโครงเรื่องของข้างนอก (foreign form) ๒)ในวัตถุดิบที่เป็นท้องถิ่น(local material)  และ ๓) การนำเสนอในรูปแบบของท้องถิ่น(local form, narrative)  ที่สำคัญคือในการพรรณนาที่เป็นของตนเอง  อันเป็นผลมาจากการ “ประนีประนอม”อย่างเป็นวิภาษวิธีระหว่างรูปแบบนอกกับเนื้อหาใน  การสร้างรูปแบบการพรรณาของท้องถิ่นจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดและมีความขัดแย้งมากสุด เนื่องจากมันจะต้องนำเอาความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดมาคลี่คลายในการพรรณนาที่อาจไม่สมบูรณ์และยังไม่เป็นที่เข้าใจยอมรับได้ในสังคมทั่วไป  จะเห็นได้จากคำวิจารณ์เรื่อง คำพิพากษา ของเจตนา นาควัชระ ที่กล่าวว่า “นวนิยายเรื่องนี้ส่งสาส์นอันรุนแรงมายังผู้อ่าน คงจะไม่มีผู้อ่านสักกี่คนที่ขาดความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือขาดความสำนึกในเรื่องผิดชอบชั่วดีเสียจนไม่มีความรู้สึกว่าความตายของฟักตัวเอกของเรื่องเป็นสิ่งที่ทำให้สถานะแห่งความเป็นมนุษย์ของเราท่านทั้งหลายต้องสั่นคลอนไปด้วย...” ที่หนักหน่วงที่สุดคือ “เมื่อได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้วผู้อ่านเป็นจำนวนมากคงจะอดคิดเลยกรอบของเรื่องไปไม่ได้ว่า ผู้ที่อยู่นอกวรรณกรรมเรื่องนี้กำลังตกเป็นจำเลยเช่นกัน...” (เจตนา นาควัชระ, ๒๕๓๐)

 

๓.    รูปแบบของ“วรรณกรรมเพื่อชีวิต”

อันที่จริงการเกิดขึ้นของการเขียนที่เรียกว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” นั้น ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนยุคสมัยของขบวนการเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ แล้ว  เช่นกลุ่มสุภาพบุรุษในทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๗๐ และ กลุ่ม “มหาชน” และ “อักษรสาส์น” ในทศวรรษ ๒๔๙๐ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนเช่นขบวนการสิบสี่ตุลาและหกตุลา  ในระยะแรกคือทศวรรษปี ๒๔๗๐ ความหมายของวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นไปอย่างกว้างว่าหมายถึงวรรณกรรมที่ให้ความสำคัญไปที่การเสนอรูปแบบของความจริงทางสังคมที่ไม่ใช่แบบประเพณีและของชนชั้นนำเก่าอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนความจริงของ “คนใหม่”ในสังคมที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สังคมที่หยุดนิ่งหรือตั้งอยู่ในความแตกต่างทางฐานันดรอันตายตัวอยู่อีกต่อไป

นิยามความหมายนี้จะเปลี่ยนไปในทศวรรษปี ๒๔๙๐  เมื่อมีการนำเสนอแนวคิดใหม่นี้โดยเรียกอย่างกว้างๆว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” คนที่ประดิษฐ์วลีนี้คืออุดม สีสุวรรณ หรือบรรจง บรรเจิดศิลป์ในบทความเรื่อง  “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ในปี ๒๔๙๓  ซึ่งอธิบายว่าที่มาของศิลปะมาจากชีวิต  ดังนั้นมันจึงต้องรับใช้ชีวิต ชีวิตก็ต้องเป็นของประชาชนส่วนใหญ่คือกรรมกรชาวนา อันนำไปสู่คำขวัญที่ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (สมิทธ์ ถนอมศาสนะ, ๒๕๔๘)  แนวคิดดังกล่าวนี้จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งและกลายมาเป็นพลังทางความคิดการเมืองของ “คลื่นลูกใหม่” ในขบวนการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาและประชาชนยุคสิบสี่ตุลาที่นำไปสู่การสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากขึ้นและต่อยอดไปสู่ระบบสังคมนิยม ผมจะพูดถึงบทบาทของวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนนี้ในช่วงหลัง

ในที่นี้เห็นได้ชัดเจนว่า รูปแบบหลักของวรรณกรรมเพื่อชีวิตได้รับอิทธิพลหรือร่วมอยู่ในกระแสของวรรณกรรมสัจจะนิยมในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวได้ว่ารูปแบบของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ก็ดำเนินไปเคียงข้างของรูปแบบนานาชาติ(หรือสมัยใหม่)  ที่ต่างออกไปได้แก่วัตถุดิบและเนื้อหาอันมีลักษณะที่เป็นของท้องถิ่น ดังเห็นได้จากนวนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพาเป็นต้น ที่มีการพูดกันว่าเขาได้ลอกเลียนแบบเรื่อง Poor Folks ของดอสโตเยฟสกี้ ซึ่งศรีบูรพาได้อธิบายแล้วว่าเขาไม่ได้เลียนแบบแต่ประการใด หากแต่ได้เคยอ่านและชอบแนวการเสนอชีวิตจริงของคนยากจนแบบนั้น จึงคิดเอาจากประสบการณ์ในการเขียนจดหมายกับเพื่อนมาเรียบเรียงเป็นนวนิยายขึ้น  ตรงนี้เองจึงเห็นได้ว่าวิภาษวิธีระหว่างรูปแบบต่างชาติกับวัตถุดิบและประสบการณ์ท้องถิ่นของนักเขียน ได้นำไปสู่การสรรค์สร้างวรรณกรรมใหม่ที่มีรูปแบบของท้องถิ่นเองและก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสยามในยุคนั้นด้วย

กลุ่ม “คณะสุภาพบุรุษ” ที่นำโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์  คือจุดพลิกผันที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่  ที่สำคัญคือบรรดานักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่เหล่านั้นได้เสนองานเขียนที่วางอยู่บนจินตนิยมอันต่างไปจากงานประพันธ์แบบเดิมและเรื่องอ่านเล่นที่เขียนกันในสมัยก่อนทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๗๐   สุชาติ    สวัสดิ์ศรี  ประกาศให้คณะสุภาพบุรุษ คือ "หมุดหมายทางวรรณกรรมไทยสมัยใหม่" และคือ "รากเหง้าของวรรณกรรมสมัยใหม่” (สิงห์ สนามหลวง, 26 .. – 4 มี.. 2544 อ้างในชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์)  นวนิยายและเรื่องสั้นในช่วงแรกนี้ปรากฏในงานเด่นๆของศรีบูรพา ดอกไม้สด หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เป็นต้น (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ๒๕๕๐)

รูปแบบของวรรณกรรมไทยใหม่ที่นักเขียนรุ่นนั้นได้สร้างขึ้นมา ได้นำไปสู่การก่อรูปขึ้นของแนวคิดสมัยใหม่ในนวนิยายรุ่นแรกๆ นั่นคือแนวคิดว่าด้วยความจริงหรือสัจจะสังคม  นักเขียนที่นำเสนอแนวความคิดนี้อย่างเป็นระบบและเด่นชัดที่สุดคือกุหลาบ สายประดิษฐ์  กุหลาบได้สร้างพื้นฐานและแกนของความคิดทางการเมืองและสังคมของเขา ในระยะแรกและกระทั่งต่อมา ด้วยความเชื่อและปรารถนาที่จะเห็นมนุษย์ทั้งปวงเสมอภาคเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษยชน  หรือคือเห็นคนเป็นคนนั่นเอง   น่าสนใจมากว่าการที่นักเขียนมีทรรศนะดังกล่าวนี้ ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของ “ความจริง” ขึ้นมาทันที  ความจริงไม่ใช่เรื่องของกษัตริย์ ขุนนางผู้มีอำนาจหรือพ่อค้าคหบดีใดๆ ที่ทุกคนในสังคมจักต้องก้มหัวให้ เมื่อทุกคนตระหนักในความจริงแล้ว การมองเห็นคนและ “ความเป็นคน” ทั้งในตัวเราเองและในคนอื่นๆก็จะบังเกิดขึ้นมาได้ 

แต่อะไรคือเนื้อหาของความจริงทางสังคม  ลองพิจารณาคำนำของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” (๒๔๗๕) เขากล่าวว่าเจตนาใหญ่ในการเขียนเรื่องนี้มีอยู่ ๒ ประการๆ แรก “ปรารถนาจะให้คนทั้งหลายมีความเห็นอกเห็นใจในกันและกัน ปรารถนาให้ผู้ที่แตกต่างกันโดยฐานะและภาวะ ได้เล็งเห็นหัวอกของซึ่งกันและกัน”  ประการที่ ๒ ผู้เขียนได้เล่าถึงอำนาจของความรัก ความผิดหวัง ความขมขื่น ความเศร้าและความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของบุคคลไว้ในนิยายเรื่องนี้ด้วย “โดยมุ่งหวังจะให้ผู้อ่านเข้าใจในภาวะของมนุษย์และของโลก” (สงครามชีวิต, น.๓๑)  สรุปคือกุหลาบมุ่งให้ผู้อ่านมีความเห็นอกเห็นใจกัน และเข้าใจสภาวะความเป็นมนุษย์และของโลกนี้ แสดงว่าทรรศนะของท่านที่มีต่อมนุษย์ที่เป็นคนไทยนั้น กว้างไกลและมองไปยังอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงในโลกด้วย

พัฒนาการของวรรณกรรมใหม่คือการเกิดพลังทางสังคมขึ้นมา  แสดงออกผ่านนักเขียนและนักอ่าน  นักเขียนที่มีศรัทธายึดมั่นในอุดมการณ์สัจจะนิยม จึงสามารถต่อสู้และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งปรุงแต่งของอำนาจในระบอบและสังคมเก่าที่ปฏิเสธไม่กล้าสู้หน้ากับความจริงได้  ต่อสู้เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ เพื่อให้สังคมบรรลุถึงซึ่งความสงบ  หากมองจากแง่มุมนี้ ประสบการณ์งานเขียนต่างๆของศรีบูรพาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด  ไม่ว่านวนิยาย เรื่องสั้น และบทความ ตั้งแต่ปีพ.. 2471 คือเรื่อง “ลูกผู้ชาย” มาถึง “แลไปข้างหน้า” ในปีพ.. 2498 ก็กล่าวได้ว่านวนิยายของศรีบูรพาดำเนินไปบนความคิดและโลกทรรศน์อันเดียวกันของมนุษยภาพทั้งสิ้น 

ข้อที่นักวิจารณ์รุ่นหลังๆกล่าวว่า งานเขียนโดยเฉพาะนวนิยายและเรื่องสั้นของกุหลาบนั้น มีพัฒนาการที่เริ่มต้นจากทรรศนะแบบโรแมนติค(ของชนชั้นนายทุนน้อย) ค่อยๆก้าวเขยิบขึ้นสู่ทรรศนะแบบก้าวหน้า แบบสัจจะสังคมนิยมอะไร จึงเป็นการ “ตัดตีนให้เข้ากับเกือก” เป็นการวิเคราะห์แบบตายตัวตามสูตรพัฒนาการตามลำดับขั้น ซึ่งนำมาจากกรอบวิธีการศึกษาว่าด้วยประวัติศาสตร์วัตถุนิยมของชาวลัทธิมาร์กซ(ซึ่งมาร์กซปฏิเสธ) 

จุดอ่อนของการวิพากษ์ดังกล่าวอยู่ที่การไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงวิภาษวิธีระหว่างรูปแบบภายนอกกับเนื้อหาที่เป็นภายใน อันนำไปสู่การเกิดรูปแบบวรรณกรรมใหม่  จึงไม่ช่วยให้นักศึกษาได้เห็นและตระหนักถึงความซับซ้อนในทางความคิดและพัฒนาการทางรูปแบบของนักเขียนไทยอย่างลึกซึ้งได้ 

    ดังเห็นได้ว่านิยายทั้งหมดของศรีบูรพามีความแตกต่างกันในทางรูปแบบและเนื้อหาอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของท่วงทำนอง ภาษากลวิธีในการเขียนไปถึงเนื้อหาความคิดของผู้ประพันธ์ ในชีวิตการประพันธ์ 27 ปี แต่ทั้งหมดวางอยู่บนปรัชญามนุษยภาพดังได้กล่าวข้างต้นแล้วอันเดียวกัน  ความแตกต่างสำคัญที่ก่อตัวขึ้น มาจากพัฒนาการในการรับรู้และจุดหมายของสังคมในแต่ละช่วงที่เปลี่ยนแปลงไป  ความเปลี่ยนแปลงของสังคมก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอัตวิสัยด้วยเช่นกัน  ซึ่งปัจจัยหลังนี้น่าจะมีน้ำหนักมาก ดังจะสังเกตได้ไม่ยาก ว่ากุหลาบนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษา ในรูปแบบต่างๆอย่างสูงยิ่ง การเรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงและทำความจริงให้ปรากฏ เป็นเสมือนคบเพลิงที่สุกสว่างและให้ความอบอุ่นแก่วิญญาณและให้ญาณทรรศนะ(vision)ที่มองสังคมในเชิงบวกและก้าวหน้าแก่กุหลาบอย่างไม่จืดจาง

   พัฒนาการที่น่าสนใจในเนื้อหาของนวนิยายของศรีบูรพา ที่ผมอยากนำเสนอเป็นตัวอย่างเล็กน้อยในบทความนี้ คือทรรศนะเรื่องความรักของศรีบูรพา จากการวิเคราะห์อย่างสังเขป กล่าวได้ว่าทรรศนะความรักในตัวละครมีสองชนิดหรือแบบ คือความรักที่เป็นความทุกข์ เป็นความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน เป็นการเอาชนะเหนือกายและใจของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ความรักดังกล่าวผมเรียกว่าความรักเชิงลบ ปรากฏเป็นแกนหลักของเรื่องเช่นใน “แสนรักแสนแค้น”(2473) “มารมนุษย์” (2473) “สงครามชีวิต”(2475) เป็นต้น ไม่ต้องสงสัยว่าจุดจบของนิยายเหล่านั้นคือความเศร้าและหายนะของคู่รักทั้งสอง 

ที่น่าสังเกตก็คือในทรรศนะความรักเชิงลบดังกล่าวนี้ ผู้หญิงหรือนางเอกและนางรองมักไม่มีความคิดอันซื่อตรงต่อความรัก กล่าวคือปมเงื่อนที่ผูกให้เกิดเรื่องและปัญหาไปจนกระทั่งอวสาน มาจากทรรศนะและความประพฤติอันไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมของสังคมของผู้หญิงเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ชายหรือพระเอกหรือพระรอง เป็นฝ่ายตอบโต้หรือมีปฏิกิริยาต่อความผิดของฝ่ายหญิง  ดังนั้นตอนจบของนิยาย ผู้หญิงจึงต้องตายด้วยน้ำมือของฝ่ายชายที่คิดว่าการปฏิเสธความรักของเขานั้นคือความผิดอันมหันต์ และคือความไม่ยุติธรรมที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้ชาย 

จุไรตรอมใจตายจากการแก้แค้นของพโยม สิงหยรรยง ส่วนแม้น นพคุณตายด้วยปืนของประยูร พงษ์พินิจ ก่อนหน้านี้นางอารี อดิสัยก็ตรอมใจตายจากความเจ้าชู้ของพระอารีฯ  พล๊อตเรื่องเหล่านี้ไม่ “ก้าวหน้า”และไม่สลับซับซ้อนอะไรเลย ตรงนี้อาจเป็นจุดอ่อนของศรีบูรพาได้ หากแต่จุดที่เด่นนั้นอยู่ที่การสร้างบุคลิกและปัจเจกภาพของตัวละครแต่ละคนให้โลดแล่นไปในโลกและสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของมัน

   เมื่อจับเอาตัวละครเหล่านั้นมานั่งพินิจพิจารณาดู โดยไม่ลืมบริบทและสภาพสังคมในสมัยดังกล่าว ภาพของความรักเชิงลบก็ค่อยกระจ่างขึ้นมา  นายพโยม  สิงหยรรยง บุตรชายคนเดียวของเจ้าคุณปลัดทูลฉลอง พระยานรราชพัลลภ เป็นตัวแทนของสังคมระบอบเก่าที่กำลังเสื่อมคลาย ในขณะที่เขาเองก็ไม่อาจเอาชนะตัวเอง เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้ากับสังคมกระฎุมพีที่กำลังก่อตัวขึ้น  หากนับช่วงเวลาที่ศรีบูรพาได้แต่งนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือระยะเวลาอันกำลังดำเนินเข้าสู่ระยะการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบเก่ามาสู่ระบอบใหม่ ก็อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนวางจุดหนักไว้ที่สังคมเก่าและลักษณะของมัน มากกว่ามุ่งให้คำตอบและจินตนาการถึงสังคมใหม่และคนใหม่  ดังนั้นตัวละครที่เป็นพระเอกของเรื่องจึงทำหน้าที่ในการถ่ายทอดและให้ความรู้สึกต่อความเป็นจริงและความเป็นไปของระบอบเก่าอย่างเต็มที่   ความพยาบาทของพโยม ความมักมากในกามคุณของพระอารีอดิสัย ซึ่งเป็น “คนหนุ่ม สวย มีชื่อเสียงและมีทรัพย์มหาศาล” จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของความจริงในสังคมเก่าส่วนหนึ่ง และก็ในโครงสร้างแห่งอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เอง ที่ผู้หญิงจะต้องเป็นผู้สังเวยและเป็นเหยื่ออธรรมของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่แห่งนี้  ดังนั้นความรักที่เกิดขึ้นในโครงครอบของสังคมดังกล่าว จึงยากที่จะเป็นความสุขและความสมหวังที่แท้จริงอย่างเสมอภาคกันระหว่างหญิงกับชาย

   ในขณะที่ความรักในนิยายช่วงหลังคือจาก “ป่าในชีวิต”(2480) “ข้างหลังภาพ”(2480) มาถึง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” (2493) เป็นต้นมา จะมีลักษณะพัฒนาการของความรักจากอารมณ์ที่หยาบไปสู่อารมณ์ที่ละเอียดมากขึ้น  จากความรักของปัจเจกชนไปสู่ความรักของคนส่วนใหญ่  จากอารมณ์ด้านลบไปสู่อารมณ์เชิงบวก คือเป็นความรักที่ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวเพียงถ่ายเดียว ไม่ใช่การเอาชนะและการทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของตนเอง หากความรักนำมาซึ่งการเสียสละและความไม่เห็นแก่ตัว จนในที่สุดความรักอย่างใหม่นี้พัฒนาไปสู่การมีความรักในมนุษยชาติ เป็นความรักที่กว้างใหญ่ไพศาล

   ควบคู่ไปกับนัยเชิงบวกของความรัก ก็คือบุคลิกและปัจเจกภาพของผู้หญิงโดดเด่นขึ้นมาอย่างมาก ไม่ใช่ด้วยความสวยงามหรือมีเสน่ห์ยั่วยวนใจชายเท่านั้น หากที่สำคัญกว่าอยู่ที่การมีความคิดความอ่านและเหตุผลที่เป็นของตนเอง มีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าความจริง  กันยา บุตรสาวของคุณหลวงบริบารประชากิจ จึง “ไม่ใช่ผู้หญิงจำพวกโง่ดักดานแถมเย่อหยิ่งอวดดีเหล่านั้น ซึ่งจะจัดการกับคนรักของหล่อนประดุจเชลย” (ป่าในชีวิต)  หลังจากร..นิกร เสนีย์บริรักษ์บุตรชายของนายพลตรีพระยาเดชานุภาพไตรภพ ถูกจับข้อหากบฏบวรเดช คนที่เป็นหลักในการรักษาความรักของคนทั้งสองเอาไว้ก็คือกันยา

   เช่นเดียวกันแนนซี่ เฮนเดอร์สันสตรีชาวออสเตรเลีย เพียงชั่วเวลา 3 เดือนที่ได้รู้จักกัน ก็”ได้ให้คุณค่าล้ำลึก”แก่ชีวิตของโกเมศนักเรียนไทยในออสเตรเลีย “ยิ่งกว่า 22 ปีที่ฉันได้ใช้ไปโดยปราศจากความคิดและความรับผิดชอบใดๆในสยาม” เธอบอกเขาว่า “สิ่งที่เรียกว่าความรักระหว่างชายกับหญิงนั้น ถ้ามี ก็เป็นแต่ความรักในวงแคบๆนิดเดียว” แนนซี่ได้มาสอนฉันให้รู้จักความรักที่แผ่กว้างออกไปในชุมนุมมนุษย์ ความรักที่พึงให้แก่มนุษย์ผู้เกิดมาอาภัพ ยากจนข้นแค้น” 

   วันสุดท้ายในชีวิตของเธอ ได้กล่าวแก่โกเมศว่า “มิตรรักของฉัน เธอรับกับฉันอีกครั้งได้ไหมว่า เมื่อกลับไปบ้านเมืองของเธอแล้ว เธอจะใช้สติปัญญาและความมั่นคงอดทนของเธอ ช่วยให้เพื่อนร่วมชาติฉลาดเหมือนเธอ และช่วยชี้ทางให้เขาบรรลุความเสมอภาคซึ่งจะนำไปสู่สันติสุขอันยั่งยืน.” (จนกว่าเราจะพบกันอีก)

   สิ่งที่แนนซี่มอบให้โกเมศนั้น ไม่ใช่อะไรอื่นหากได้แก่ “ความจริง”  “ความเสมอภาค”และ “ความสงบ” อันเราได้เห็นมาแล้วแต่ต้นว่าเป็นแก่นแกนของความคิดแห่งมนุษยภาพที่กุหลาบได้เสนอมาแต่ปีพ.. 2474  และนี่เองที่ผมเสนอข้อคิดว่า ความคิดทางการเมืองและสังคมของกุหลาย สายประดิษฐ์นั้น ไม่อาจตัดตอนออกเป็นท่อนๆจากช่วง “ประโลมใจ”(romance) แล้วกระโดดยกระดับไปสู่ “สัจจะสังคมนิยม”(social realism) อย่างเป็นกลไก  หากควรพิจารณาจากกระบวนคิดอันเดียวกัน ที่พัฒนาไปท่ามกลาง “สิ่งปรุงแต่ง”ของอำนาจในแต่ละยุคสมัย

  นี่คือความจริงของคนใหม่ที่เรียกรวมๆว่า “คนชั้นกลาง” ซึ่งภาระกิจทางประวัติศาสตร์คือการสร้างสังคมเมืองและวัฒนธรรมกระฎุมพี  แต่ในประวัติศาสตร์ไทย คนชั้นกลางไม่อาจสถาปนาอำนาจนำ (hegemony) ไม่ว่าในด้านใดๆขึ้นมาได้ ในนวนิยายหลายเรื่องของ ดอกไม้สด ชีวิตและครอบครัวของคนชั้นกลาง “ใหม่” เหล่านี้ แทบไม่สามารถกระทั่งสร้างครอบครัวที่มีความสุขและมีอุดมการณ์ของชนชั้นตนขึ้นมาได้เลย  พวกเขาประสบความผิดหวัง ชีวิตและครอบครัวแตกสลาย พังทลายก่อนที่จะก้าวสู่ยอดปิรามิดแห่งความสำเร็จทางโลก(ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ๒๕๕๐)

 

4:  พลังของวรรณกรรมใหม่

   ในระยะเวลาก่อนการปฏิวัติ ๑๔ ตุลานั้น ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง  ซึ่งท้าทายความคิดและทรรศนะอันเกี่ยวกับเรื่องของวรรณกรรมอย่างมาก   แม้ก่อนหน้านั้นผมได้เคยอ่านนิยายและเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาข้องเกี่ยวเกี่ยวกับการเมืองไทยจำนวนหนึ่ง เช่น “ระย้า” และ “นักปฏิวัติ” ของสด กูรมะโรหิต มาถึง “เมืองนิมิต” ของ ม.ร.ว. นิมิตมงคล นวรัตน  แต่นิยายเหล่านั้นเดินเรื่องและนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา มุ่งที่การโจมตีนักการเมืองและรัฐบาลที่เผด็จการหรือรับใช้ต่างชาติ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นต้น  เนื้อเรื่องเหล่านั้นทำให้เกิดความตื่นเต้นและเร้าใจไปกับตัวเอกของเรื่อง แต่นิยายดังกล่าวยังไม่อาจสร้างผลสะเทือนลงไปสู่สำนึกด้านลึกของผมได้  การต่อสู้ถึงขั้นใช้กำลังและอาวุธเข้าห้ำหั่นกัน ก็ไม่ต่างไปจากนิยายบู๊จำนวนมากที่ในที่สุดกระตุ้นความรู้สึกระดับผิวเผินของเราขึ้นมาได้   แต่บทความที่ผมกล่าวถึงนี้ สามารถเปิดประตูหัวใจให้เนื้อหาใหม่ที่มีพลังก่อรูปขึ้นมาได้อย่าง น่าทึ่ง

 

   "ศิลปะ(และวรรณกรรม)กับชีวิตนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ชีวิตคือแหล่งกำเนิด แห่งศิลปะ ในขณะเดียวกันศิลปะก็สามารถที่จะช่วยผลักดันให้ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลง ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ศิลปะวรรณกรรมช่วยสะท้อนให้เห็นชีวิตที่เป็นจริงตาม สภาพแวดล้อมของสังคมนั้น ไม่มีศิลปะใดที่อยู่นอกเหนือชีวิต หากแต่ศิลปะกลับจะยิ่งเสริมสร้างชีวิตให้เป็นแบบฉบับ และมีความหมายมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังคำกล่าวที่ว่า "ความงามของศิลปะนั้น ได้สำแดงออกซึ่งเนื้อแท้ของสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตอันสับสนวุ่นวาย นั้นออกมาไม่เลือนลางไปได้ง่ายๆ และมีความเด่นชัดพร้อมกับมีน้ำหนัก ความงาม แห่งศิลปะจีงมีลักษณะที่รวบยอด มีลักษณะที่เป็นแบบฉบับ และมีองคาพยพที่เหนือ กว่าความงามของชีวิต ด้วยเหตุนี้เองความงามของศิลปะจึงมีกำลังดึงดูดใจคนยิ่ง กว่าความงามในตัวชีวิตเอง"  (บรรจง บรรเจิดศิลป์ "ความงามของชีวิตและความงามของศิลป" ใน ทีทรรศน์นักประพันธ์ ชมรมวรรณศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๘, หน้า ๑๕๙)

นี่คือที่มาทางความคิดของงานเขียนที่ต่อมารู้จักกันในนามของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ซึ่งนับได้ว่าเป็นการต่อเนื่องและยกระดับการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมจากยุคทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๙๐  มีการออกนิตยสารชื่อ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมทางสังคมของนิสิตนักศึกษา ภายใต้บรรยากาศของรัฐบาลอำนาจนิยมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ

   ในยุคนั้นการได้สัมผัสความงามของชีวิตที่แสดง ออกผ่านศิลปะวรรณกรรม เป็นความตื่นเต้นและหวาดผวาเพราะวรรณกรรมเพื่อชีวิต เหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็น"ของต้องห้าม" เป็นสิ่งผิดกฏหมายและเป็นอันตรายต่อระบบและสถาบันสูงสุดของชาติและประเทศ  ทว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ที่ศิลปะเพื่อชีวิต จะเป็นสิ่งอันตรายและน่ากลัวน่าขยะแขยงไปได้

   ในยุคที่รู้จักกันดีว่า “ฉันจึงมาหาความหมาย” มีนวนิยายเล่มหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจอย่างสูงแก่บรรดานิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย  นวนิยายเล่มนั้นคือ "ปีศาจ"  พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านและไม่เคยรู้จักหนังสือและผู้เขียนด้วย จากนั้นมีการนัดแนะกันเพื่อจะรอคิวอ่าน "ปีศาจ"(อย่างปิดลับ) ซึ่งหลังจากพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง ในปีพ..๒๕๐๐ แล้ว ก็ไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกเลย แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราซึ่งเริ่มโตพออ่านหนังสือและนวนิยายยาวๆได้ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา ไม่มีโอกาส เห็น "ปีศาจ"ตนนั้นเลยแม้แต่น้อย

  งานของเสนีย์ต่างจากกุหลาบในการนำเสนอคนใหม่ที่มาจากชนชั้นล่าง ไม่มีการประนีประนอมกับชนชั้นเก่าอีกต่อไป   "ปีศาจ"สะท้อนสังคมไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่สำคัญคือการก้าวขึ้นมาของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะมองในด้านอำนาจเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นอย่างเด่นชัด ในกรณีของสาย สีมา กับรัชนี ซึ่ง "คู่รักของหล่อนเป็นผู้ชายธรรมดา คนหนึ่ง... พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือก็มาจากครอบ ครัวของคนสามัญ ที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ ครอบครัวของหล่อนเรียกก็จัดอยู่ในจำพวกคนไม่มีสกุลรุนชาติ... แต่หล่อนเกิดมา ในสกุลขุนนางศักดินามีสายเลือดสูงของบรรพบุรุษที่สืบสายขึ้นไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา”

   แต่สาย สีมากับรัชนี ก็ไม่ใช่พระเอกนางเอกในเรื่องเพียงคู่เดียว แท้ที่จริงเขาหล่อนทั้งสองเป็นเพียงตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เปรียบเสมือนกับ"ปีศาจ" ที่หลอกหลอนคนรุ่นเก่าให้หวาดกลัวต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของเขา กิ่งเทียน และนิคมก็เป็นคนรุ่นใหม่อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวน้อยกว่ารัชนี ค่าที่กิ่งเทียนมาจากครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ต้องหาเลี้ยงชีพไปวันต่อวันตามลำพังสองแม่ลูก  ชีวทรรศน์ของกิ่งเทียนจึงได้รับการหล่อหลอมให้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของการใช้แรงงาน เมื่อแม่บอกว่า "มือของกิ่งนุ่มกว่ามือแม่แยะ" ทำให้เธอตั้งปณิธานว่า "ฉันต้องเรียนหนังสือดี และมือของฉันต้องด้านเท่าๆกับแม่

   "สำหรับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ พวกเขามีอะไรใหม่บ้าง เมื่อนิคมพูดถึงความรัก เขากล่าวว่า "มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นลอยๆ และเป็นอิสระในตัวของมันเอง ปราศจากความสัมพันธ์จากสายสัมพันธ์ในชีวิต แต่(ความรัก)เป็นผลที่เกิดจาก ความวิวัฒน์ของชีวิตที่เติบโตด้วยวัยและความรู้สึกนึกคิด ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีกฎเกณฑ์ประจำวันของมัน...ความสัมพันธ์ทางจิตใจของเราก็เป็นเรื่องของจิตใจ ชีวิตทางการงานของเราก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องดำเนินไปตามทางของเรา มีบทบาทสำคัญที่เป็นแรงและกำลังของชีวิตที่จะทำงานเพื่อสร้างสรรค์คุณงามความดี เพื่อชีวิตอื่นและสิ่งอื่นๆ ความรักและชีวิตเป็นสิ่งอิสระเท่ากัน และในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กัน"

   นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ดังกล่าวนี้ ยังมีโลกทรรศน์แตกต่างไปจากเดิมอีก พวกเขาเชื่อว่า "ความแตกต่างของคนเราไม่ใช่มาจากบุญกรรม แต่คนเรากำหนด มันขึ้นมาเอง ฉะนั้นมันจึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ คนเราไม่ได้แตกต่างในความดีเลว เท่านั้น แต่ในฐานะสภาพชีวิตทีเดียว"

  ในที่สุดแล้ว "เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองโลกและทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความพิศวง เรามองทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามีที่ได้มีได้เป็นมาแล้วและกำลังมีและเป็นอยู่ด้วยความ ใคร่ครวญพิเคราะห์และด้วยเหตุผล ผมคิดว่าด้วยคำถามว่า"ทำไม" คำเดียว เราอาจจะพลิกโลกทั้งโลกและทุกสิ่งทุกอย่างจากที่ตั้งอยู่บนที่เดิมของมัน หงายกลับขึ้นมาดูเหตุผลของมันได้ทีเดียว"

   "ประการสำคัญที่สุด คนรุ่นใหม่ไม่ได้เพ้อฝันถึงความคิดใหม่ๆเหล่านี้อย่าง เลื่อนลอย หากแต่ว่าพวกเขาพร้อมที่จะปฏิบัติและได้ลงมือกระทำมันอย่างจริงจัง นิคมออกไปทำงานรับราชการในชนบทพร้อมกับเรียนรู้ว่า ความใฝ่ฝันที่เคยมีมานั้นมันไม่เป็นจริง และเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติใหม่ที่เป็นจริงและสอดคล้องกับสภาพสังคม กิ่งเทียนก็ออกไปรับใช้ประชาชนในที่ๆหล่อนเห็นว่าจะทำประโยชน์ได้มากที่สุด ส่วนสาย สีมาก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวลาออกจากบริษัทที่เขา ไม่อาจเป็น(ทนาย)เครื่องมือกดขี่ชาวบ้านผู้ยากไร้ได้ต่อไป และรวมถึงการ ปฏิเสธลาภยศต่างๆที่มีผู้เสนอให้เขาในการดำเนินคดีกับชาวนาผู้ทุกข์ยากทั้งหลายได้ แม้จะถูกประณามว่าเป็น "คนอกตัญญู"ก็ตาม จากนั้นเขาก็เดินทางไปสู่ชนบท เพื่อต่อสู้ ร่วมกับชาวนาผู้ยากไร้ต่อไป  ทางด้านรัชนี ในที่สุดก็สามารถค้นพบทางออกของชีวิต ที่มีความหมายด้วยการ"กบฏ"ต่อครอบครัว เพื่อภารกิจอันยิ่งใหญ่กว่านั้น..."

กล่าวได้ว่าช่วงเวลาของยุค ๑๔ ตุลานั้น พวกเราไม่ได้เขียนหรือนฤมิตร วรรณกรรมอย่างเงียบเหงาและโดดเดี่ยว และไม่ได้สร้างงานวรรณกรรม ในรูปแบบที่ลอกเลียนมาจากผลงานเก่าๆก่อนหน้านี้เท่านั้น  หากแต่ยุคสมัยดังกล่าว การสร้างสรรค์วรรณกรรมของสังคมนั้น กระทำไปโดยมีแรงดึงดูดจากทุกส่วนของสังคม  เป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมเดือนตุลาสามารถรู้สึกถึงพลังของสังคมที่ผลักดันและสร้างพื้นที่ใหม่ๆให้พวกเราในการเห็น มองและคิด  อย่างที่ไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน  ข้อความและวลีที่พลุ่งออกมาจากจินตนาการและความใฝ่ฝันของนักต่อสู้คนหนุ่มสาว คนแล้วคนเล่าจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรวมศูนย์สภาพเป็นจริงของประชาชนของสังคมและของประเทศได้อย่างมีพลังและมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม  ไม่มีใครลืมวรรคทองที่ว่า “เปิดข้าวทุกคาวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน” “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน”  ไปถึง “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” 

 

 

5:  วรรณกรรมกับการเมือง

นักเขียนฝรั่งเศสผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า “การเมืองในงานวรรณกรรม ก็เหมือนกับการยิงปืนในกลางห้องคอนเสิร์ต มันเป็นอะไรที่ดังและหยาบคาย ทว่าก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธหรือไม่ให้ความสนใจได้” (Politics in a work of literature is like a pistol-shot in the middle of a concert, something loud and vulgar, and yet a thing to which it is not possible to refuse one’s attention.”-Stendhal)  ข้อความนี้บอกถึงความรู้สึกอันรับรู้ได้โดยทันที ถึงการแทรกแซงและใช้กำลังที่ผิดกาลเทศะ  การเมืองคือการใช้กำลังที่ผิดกาลเทศะ  หากต้องการไปบรรลุจุดหมายของการต่อสู้เรียกร้องที่ระบบไม่เอื้ออำนวยหรือกำลังในการต่อสู้ของสองฝ่ายไม่ทัดเทียมกันได้  แต่วรรณกรรมเมื่อพูดให้ถึงที่สุดไม่ใช่การเมือง  ดังนั้นการมุ่งแต่จะบรรลุจุดหมายทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงวรรณศิลป์ก็ไม่ใช่การปฏิบัติที่เป็นผลดีต่อการสร้างวรรณกรรม

 

   ฉากหนึ่งซึ่งผมไม่เคยลืมเลยในนวนิยายเรื่อง"ปีศาจ" ซึ่งวิทยากร เชียงกูล วิจารณ์ว่า"เป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศเล็กๆเช่นไทย" ก็คือฉากการปะทะคารมกันระหว่างสาย สีมา "คนรุ่นใหม่"ผู้ไม่มีรากเหง้าและฐานะทางสังคม กับเจ้าคุณพ่อของรัชนีผู้สืบสกุลขุนนางผู้ดีเก่ามานมนาน ในคืนเลี้ยงอาหารค่ำนัยว่าเพื่อจะปราบเจ้าปีศาจตนนี้

   ท่านเจ้าคุณพูดตอนหนึ่งว่า "เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใครๆจะทำอะไร ก็ได้โดยไม่ต้องอยู่กับร่องกับรอย โดยไม่ต้องด้วยขนบประเพณี คนที่ผุดเกิดมาจากป่า ดงไหนก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้ ฉันเห็นว่าเจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้คนเลวลงมาก กว่าที่จะดีขึ้น ทำให้คนเราไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ...เห็นเขาดี ก็อยากจะได้ดีบ้าง โดยไม่ได้สำนึกตนว่าความเป็นผู้ดีนั้นมีมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็จะต้องเป็นหงส์อยู่ตลอดไป"

   สาย สีมาลุกขึ้นอย่างแช่มช้า ทำท่าจะกลับแต่ขอพูดอะไรหน่อย

   "ผมมีความภูมิใจสูงสุดในวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ผมเองก็ไม่ทราบเหมือน กันว่าทำไมพ่อผมจึงไม่ได้เป็นขุนนาง แต่ทว่าขุนนางนั้นมีอยู่จำนวนน้อย และคนที่เป็น ชาวนานั้นมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า พ่อผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายข้างมาก ผมไม่มี เหตุผลประการใดเลยที่จะน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาที่มิได้เกิดในที่สูง ในสายเลือด ของผู้ดีมีสกุล เพราะนั่นมันเป็นสิ่งหรือเงื่อนไขที่คนเราได้สร้างขึ้นและคิดสรรมันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มันไม่ยืนยงคงทนอะไร และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

   "...ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก เมื่อวันเวลาล่วงไป ของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น...ท่านเข้าใจผิดที่ คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี เพราะนั่นเป็นการถอยหลังกลับ เวลาได้ล่วง ไปมากแล้ว ระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว..."

   ปีศาจตนนี้ทำลายไม่ได้ เพราะมันอยู่ใน"เกราะกำบังแห่งกาลเวลา"

อะไรคือ “เกราะกำบังแห่งกาลเวลา”

ตอบอย่างสั้นๆก็คือการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์นั่นเอง  การเปลี่ยนแปลงที่สร้างให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นในสังคมและในหมู่ประชาชน   เหมือนกับลูกธนูที่ถูกยิงออกจากไป กาลเวลามีแต่วิ่งไปยังจุดหมายข้างหน้า สำหรับมวลมหาประชาชน พวกเขาและเธอมีเวลาอยู่ฝ่ายตนอีกมาก ดังนั้นพวกเขาจึงรอคอยได้

   พลังของการปะทะกันในวงอาหารค่ำคืนนั้น ไม่ได้อยู่ที่ถ้อยคำอันดุเดือดหนักหน่วง หรือการเสียดสีกันระหว่างตัวแทนของสองชนชั้นสองฐานะสังคมและสองวัยเท่านั้น  หากความดึงดูดกินใจของวรรณศิลป์อยู่ในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาโดยตรงของตัวละครเหล่านั้นต่างหาก  ความอันไม่ได้พูดเหล่านั้นเองที่เดินทางไกลต่อมาอีกกว่า ๓ ทศวรรษ เพราะมันเป็นความจริงที่มีชีวิตไปแล้ว เป็นความจริงที่น่ากลัวเหมือนปีศาจ ที่คนจำพวกหนึ่งไม่อยากไม่ต้องการเห็นมันเกิดขึ้น แต่มันก็จะต้องเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว 

นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความงามกับเนื้อหาและรูปแบบ

ใน “ความรักของวัลยา” เสนีย์ได้พบกับ “คนขายหนังสือจนๆคนหนึ่งในกรุงปารีส แกเป็นคนเล็กๆและสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษที่จะทำให้ใครเอาใจใส่ แต่เมื่อได้พบปะรู้จักและสนทนากันแล้ว จึงรู้สึกถึงคุณค่า รู้สึกถึงแก่นสารของชีวิต ทั้งๆที่แกเป็นคนยากจน และได้เสียลูกไปถึงสองคนในระหว่างสงคราม แต่แกก็ยังมองเห็นชีวิตเป็นสิ่งสวยงาม น่ารักและน่าพิสมัย และเป็นของมีค่าที่มนุษย์จะต้องต่อสู้ เพื่อทำชีวิตให้สวนสดงดงามยิ่งขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น—แกเป็นผู้ที่ได้รู้สึกและเห็นชีวิตด้วยตนเอง สิ่งที่แกพูดจึงมีแต่แก่นสารของความจริง แม้ว่าสำนวนจะไม่ขัดเกลาเรียบร้อยให้ไพเราะอย่างปาฐกถาของศาสตราจารย์หรือนักรู้ ซึ่งได้มาจากหนังสือ......” (ความรักของวัลยา, น.๔๗)

การเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองอย่างถึงที่สุด ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้ผ่านประสบการณ์สำคัญยิ่งของกระบวนการสร้างวรรณกรรมของประชาชน   "วรรณกรรมเพื่อชีวิต"ซึ่งเริ่มมาก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อเข้าสู่ปี ๒๕๑๙ มันได้กลายเป็น"ชีวิตในวรรณกรรม" ในความหมายที่ว่า ชีวิตที่เป็นจริงของประชาชนทั้งมวลนั่นแหละคือวรรณกรรม --ชีวิตคือวรรณกรรม.

 

6:  รูปแบบใหม่ในวรรณกรรมยุคโลกาภิวัตน์

ผมขอจบการพูดวันนี้ด้วยข้อสังเกตสั้นๆต่อวรรณกรรมปัจจุบันภายใต้ยุคของโลกาภิวัตน์และการเมืองประชาธิปไตย  ผมจะใช้งานเขียนของชาติ กอบจิตติเรื่อง “คำพิพากษา” และของนักเขียนร่วมสมัยอื่นๆ เป็นตัวอย่างในการนำเสนอข้อคิดต่อพัฒนาการของรูปแบบและเนื้อหาวรรณกรรมปัจจุบัน

ประการแรกที่สังเกตได้จากวรรณกรรมปัจจุบันคือการลดระดับลงอย่างเด่นชัดของการปฏิบัติทางการเมืองในวรรณกรรม ไม่มีใครคิดหรืออยากเขียนงานทำนอง “วรรณกรรมการเมือง” ออกมาอีกต่อไป เพราะมันกลายเป็นงานที่หยาบและเป็นเครื่องมือเหมือนงานโฆษณาสินค้าเท่านั้น

ประการต่อมาคือการลดน้ำหนักทั้งการนำเสนอและเนื้อหาของ “คนใหม่” ที่มาจากชนชั้นกลาง  ไม่มีคนอย่างสาย สีมา รัชนีและกิ่งเทียนให้เห็นอีก  หากแต่จะปรากฏคนเช่นซัลมาน (“โลกใบเล็กของซัลมาน” กนกพงศ์ สงสมพันธุ์) ฟัก (คำพิพากษา ชาติ กอบจิตติ) ที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความเจริญก้าวหน้าอีกแล้ว หากครานี้คนชายขอบเหล่านี้กำลังตกเป็นเหยื่อและการทำลายของกระบวนการโลกาภิวัตน์ทั้งหลาย

ในทางการเมือง กล่าวได้ไหมว่าวรรณกรรมรุ่นโลกาภิวัตน์กำลังสะท้อนถึงความล้มเหลวของชนชั้นกลางไทยทั้งในเมืองและชนบท  “เขา”ในเรื่องสั้น “นักปฏิวัติ” ของ วัชระ สัจจะสารสิน รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๕๑ “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา แต่ไม่มีความผูกพันหรือพันธะกิจในทางการเมืองที่แน่นอนอะไรอีกต่อไปแล้ว

ประการสุดท้ายคือการก่อรูปใหม่ของรูปแบบและเนื้อหาที่มีชนบทเป็นตัวแทน ใน “คำพิพากษา” กระบวนการทางสังคมที่ไม่ยุติธรรมทำการบดขยี้ฟัก ในท่ามกลางสังคมที่ยังเป็นชนบท หมู่บ้านที่ผู้คนไร้ความเป็นธรรม  บนทางที่ฟักเดินไปท่ามกลางความเจ็บปวดในใจและตามร่างกาย เต็มไปด้วย “ดงมะพร้าว ที่ใบมะพร้าวกางงองุ้มลงมาเป็นทิวแถวตลอดทาง” ที่ท้องฟ้ายังมีดาวและสองข้างทางลูกรังยังมีแมกไม้สีเขียวขจี เสียงนกยังร้องให้ได้ยินทุกเช้า  และเสียงระฆังดังจากวัด แม้จะมีความเป็นไทยใหม่มากขึ้นจากกุฏิวัดทรงเรือนไทยประยุกต์ ๒ ชั้น แน่นอนสิ่งที่ยังใหม่สำหรับชนบทที่กำลังถูกพัฒนาคือการมีไฟฟ้าสว่างไสวทั่วทั้งวัดเป็นแห่งแรก  ฝนฟ้ายังให้ความสดชื่น ทั้งหมดคือสภาพของความจริงของชนบทที่เป็นชีวิตใหม่ที่มีความหมายอะไรบางอย่าง  ไม่ใช่ความร่วงโรยและอับเฉาไร้ทางออกอย่างสิ้นเชิงของชนบทไทยในยุคพัฒนาดังเช่นหลายเรื่องสั้นใน ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม

ใน คำพิพากษา ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนต่างหากที่เป็นปัญหา และก็ไม่ใช่กับคนใหญ่คนโตในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย แต่เป็นคนเล็กและกลางๆในหมู่บ้านนั้นเอง ไม่มีใครที่อ่านแล้วจะไม่สะเทือนใจไปกับโศกนาฏกรรมของฟักลูกภารโรงที่ไม่มีรากเหง้า ที่สืบทอดอาชีพนั้นต่อมา กระทั่งกลายเป็นคนติดเหล้าอย่างหัวราน้ำ เพราะถูกพิพากษาโดยศาลประชาสังคมให้เป็นคนเลว น่าสังเกตว่าฟักถูกวาดภาพของการกระทำที่ทำร้ายความเป็นคนของเขาไปทีละขั้นทีละตอนอย่างเป็นเส้นตรง  กระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่เขาต้องทำลายตัวเองเพื่อให้ความอยุติธรรมและความไม่เป็นธรรมที่มองไม่เห็นสามารถดำเนินไปถึงจุดจบของมันได้

แต่สิ่งที่ช่วยทำให้ภาพโศกนาฏกรรมนี้รุนแรงขึ้น ได้แก่การที่ฟักไม่สามารถสร้างกำลังในความคิดและทางกายที่จะต่อสู้ ที่จะตอบโต้และต่อต้านอะไรได้เลยแม้แต่น้อย ไม่อาจหาแนวร่วมและผู้เห็นอกเห็นใจได้แม้สักนิด นอกจากสัปเหร่อคนนอกสังคมเท่านั้น  นัยตรงนี้คือฟักหรือชาวบ้านนั้นไม่มีพื้นที่ในสังคมแม้หมู่บ้านที่ตัวเองก่อเกิดมาเอง ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่ในสังคมใหญ่ของประเทศหรือรัฐชาติ  มีฉากเดียวที่ฟักแสดงความโกรธต่อครูใหญ่เรื่องโกงเงินที่ฝากไว้  โดยทั่วไปแล้วฟักเป็นภาพตัวแทน (representation) ของคนไทยที่เป็นชาวบ้านจริงๆไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย นั่นคือการต้องยอมรับการกดขี่ ยอมรับการขูดรีด การเอาเปรียบนานาประการอย่างหน้าตาเฉย ต้องหวานอมขมกลืนเอาไว้กับตัวเอง แม้จะรู้ว่ามันไม่ยุติธรรม 

โศกนาฏกรรมของฟักจึงต่างจากโศกนาฏกรรมาของศัลยาใน นี่แหละโลก ของ “ดอกไม้สด” และนวนิยายเรื่องอื่นๆของเธอ ที่จุดจบคือการยอมรับความทุกข์ มันเป็นกฎของความเป็นอนิจจัง    ทว่าในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ฟักไม่ใช่ชาวบ้านยุคก่อนโลกาภิวัตน์และประชาธิปไตย(ครึ่งใบ)  คราวนี้ฟักคิดได้และรู้สึกกระทั่งอธิบายให้ตัวเองฟังได้อย่างเป็นวรรคเป็นเวรอย่างมีตรรกและเหตุผล  เพียงแต่เขาไม่อาจแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นของตนเองเหล่านั้นออกมาอย่างเป็นกอบเป็นกำและมีความน่าเชื่อถือต่อคนอื่นๆในหมู่บ้านได้  ฟักไม่มีอำนาจอันชอบธรรมของความเป็นพลเมือง ไม่มีสิทธิแห่งมนุษยชนและความเป็นคน นั่นคือฟักถูกทำให้เป็นชาวนาผู้ไม่อาจกบฏต่อนายได้ แต่ในทางความคิดฟักรู้อยู่เต็มอกว่าใครคือศัตรูในชีวิตของเขา โศกนาฏกรรมของฟักคือเขาไม่อาจทำสิ่งที่ผิดให้ถูกได้ และเหนือสิ่งอื่นใดนั่นหมายความว่าเขาเองก็ไม่ได้เป็นนายเหนือชีวิตของเขาเองด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องพิพากษา...ใครคือผู้พิพากษา

รูปแบบการพรรณาใหม่ของ คำพิพากษา ที่เป็นผลรวมของวัตถุดิบและเนื้อหาทางสังคมใหม่จึงไม่เห็นปัจจัยที่ชัดเจนของการกดขี่ที่มาจากชนชั้นนายทุนและศักดินาอีกต่อไป  หากแต่เป็น “เรื่องของเราเอง” สะท้อนผ่านมิติทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวบ้านกันเอง  ทำนองเดียวกับเรื่อง “เรื่องเล่าจากหนองเตย” ของ วัชระ สัจจะสารสิน ที่ในที่สุดก็ไม่มีใครอาจเอาชนะอยู่เหนือ “ตำนานความเชื่อแห่งหนองเตย” ได้  ทั้งหมดนี้เมื่อเปรียบกับชาวนาและบริบทของสังคมชนบทไทยใน “ฟ้าบ่กั้น” ของ ลาว คำหอม จะเห็นนัยของความแตกต่างในพัฒนาการรูปแบบเนื้อหาของวรรณกรรมสองยุคสมัย ที่ทำหน้าที่ของเลขานุการให้กับประวัติศาสตร์ได้อย่างมีพลัง

กล่าวสรุป ประเด็นสุดท้ายการวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ใช่การบอกว่านวนิยายและเรื่องสั้นยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบันไม่มีลักษณะปฏิวัติหรือก้าวหน้า เฉกเช่นเรื่องสั้นและวรรณกรรมยุคก่อนและหลัง ๑๔ ตุลา  หากแต่ผมต้องการแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและนัยของรูปแบบวรรณกรรมแต่ละยุค ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์กับรูปแบบก่อนหน้านี้(มรดก)กับเนื้อหาและวัตถุดิบในท้องถิ่น(บริบท)ของนักเขียนเองที่ย่อมแตกต่างกันไปตามกาลสมัย ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเกิดรูปแบบและเนื้อหาวรรณกรรม--อันรวมถึงความต้านตึงและความขัดแย้ง--ที่เป็นของตนเองขึ้นมา.

 

บรรณานุกรม

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์  จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, ๒๕๕๑.

เจตนา นาควัชระ  ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ กรุงเทพฯ เทียนวรรณ, ๒๕๓๐.

ชาติ กอบจิตติ  คำพิพากษา  กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ต้นหมาก, ๒๕๒๔.

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์  “ปริศนาข้างหลังภาพของ "คณะสุภาพบุรุษ"  ใน กาญจนี ละอองศรีและธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บก. กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔.

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ  วรรณกรรมในชีวิต: ชีวิตในวรรณกรรม  กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, ๒๕๓๙.

“_________________”  “คนชั้นกลางในวรรณกรรมไทย” ใน นลินี ตันธุวนิตย์ บก.  คนชั้นกลาง  กรุงเทพฯ มิสเตอร์ก๊อปปี้, ๒๕๕๐.

วิภา กงกะนันท์  กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๔๐.

วัชระ สัจจะสารสิน  เราหลงลืมอะไรบางอย่าง  กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์นาคร ๒๕๕๑.

Goody, Jack.  “From Oral to Written: An Anthropological Breakthrough in Storytelling,” in Franco Moretti, ed., The Novel Vol. I History, Geography, and Culture.  Princeton and Oxford: Princeton University Press, 2006.

Moretti, Franco  “Conjectures on World Literature,” in New Left Review 1 (Jan-Feb 2000): 54-68.

 

 

 

 

 

 

 

 

 




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ