ReadyPlanet.com
dot dot
ความหมายทางวัฒนธรรม

โครงสร้างร่วมของตำนานไทย และฮิกายัตมาเลย์

: ความหมายทางวัฒนธรรม

พิเชฐ แสงทอง

ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ผู้เขียนสนใจว่าในสังคมที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มใหญ่ในบริเวณคาบสมุทรไทยและคาบสมุทรมลายู ที่เมื่อมองจากปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างสิ้นเชิงนั้น เรื่องเล่าของแต่ละกลุ่มชนจะมีโครงสร้างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันได้หรือไม่และอย่างไร เพื่อตอบปัญหานี้ การย้อนกลับไปพิจารณานิยามความหมายของเรื่องเล่าของโรลอง บาร์ธส์ (Roland Barths) จึงอาจชี้ทางสว่างได้ บาร์ธส์เห็นว่า นอกจากเรื่องเล่าจะเป็นสิ่งที่มีความสามารถข้ามชาติ ข้ามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว “เรื่องเล่ายังมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยไม่ทำให้รากฐานของมันเสียหาย” [1] สิ่งที่จะทำให้เรื่องเล่าของต่างวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันก็จะโดยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เป็นการเฉพาะเท่านั้น เพราะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สร้างความหมายเฉพาะให้กับเรื่องเล่า[2] อย่างไรก็ดี โครงสร้างและ/หรือองค์ประกอบพื้นฐานของเรื่องเล่าก็สามารถเป็นที่เข้าใจได้ระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกัน และไม่ผูกติดกับวัฒนธรรมใดๆ เป็นการเฉพาะ[3] แนวคิดนี้คล้ายคลึงกับโคลด เลวี่-สเตราส์ (Claude Levi-Strauss) ที่เห็นว่าความเหมือนในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของเรื่องเล่าเป็นผลจากการที่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนดั้งเดิมหรือคนร่วมสมัยที่มี human mine เดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือชนดั้งเดิมมีกระบวนการหาคำตอบโดยมองความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของแต่ละส่วนว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรภายใต้ระบบเดียวกัน แต่กระบวนการหาคำตอบแบบวิทยาศาสตร์ของสังคมปัจจุบันเป็นการแยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนๆ แล้วตอบปัญหาทีละส่วนโดยไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ทั้งหมดในจักวาล การวิเคราะห์ตำนานของเลวี-สเตราส์ จึงมีหน่วยการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่เนื้อเรื่องหรือเขตวัฒนธรรม แต่เป็นความคิดของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นสากล กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เลวี่-สเตราส์ มีความเห็นว่าการขยายตัวของตำนานจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่โครงสร้างของมันไม่เปลี่ยนแปลง[4] ตำนานเป็นศิลปะแบบหนึ่ง ในความหมายของการผลิตซ้ำหรือจำลองโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็มีโครงสร้างชุดหนึ่งที่ร้อยรัดหรือตรึงเรื่องราวภายในตัวบทเข้าด้วยกัน จนมีลักษณะเฉพาะตัว ตำนานมีทั้งลักษณะของวิทยาศาสตร์และศาสตร์แบบของคนพื้นเมืองโบราณไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ดี ตำนานก็แตกต่างไปจากงานศิลปะในแง่ของจุดเริ่มต้นของการสร้าง กล่าวคืองานศิลปะเริ่มจากวัตถุหรือสิ่งที่ต้องการจะสร้าง/วาด แต่ตำนานเริ่มจากโครงสร้างหรือระบบความสัมพันธ์ชุดหนึ่ง จากนั้นจึงสร้างวัตถุ (เรื่องเล่า/เหตุการณ์) ขึ้นมา ศิลปะจึงเริ่มต้นจากชุดของวัตถุและเหตุการณ์และนำไปสู่การค้นพบโครงสร้าง ส่วนตำนานเริ่มจากโครงสร้าง จากนั้นจึงสร้างชุดของวัตถุและเหตุการณ์ขึ้นมา[5]

ในแง่นี้ วัตถุและเหตุการณ์ที่ตำนานสร้างจึงทำให้ตำนานดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันในเชิงเนื้อหา หากไม่พิจารณาถึงองค์ประกอบและโครงสร้างการเล่าเรื่องพื้นฐานก็จะทำให้มองไม่เห็นว่าเป็นตำนานที่มีโครงสร้างเดียวหรือคล้ายคลึงกัน ตำนานไทยและฮิกายัตมาเลย์ก็มีครรลองเช่นนี้

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช บอกเล่าถึงการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานนางเลือดขาวกล่าวถึงการสร้างวัดและสร้างเมืองต่างๆ ของนางเลือดขาวในเขตพัทลุง ตรัง ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ส่วนฮิกายัต ปัตตานี เล่าถึงการสร้างเมืองปัตตานี และฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ กล่าวถึงการสร้างเมืองเคดะห์ แม้รายละเอียดเรื่องราวต่างๆ ในตำนานจะแตกต่างกัน แต่ถ้ากล่าวตามแนวคิดของเลวี่-สเตราส์ แล้วจะพบว่าความแตกต่างดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการเขียนที่เลือก “วัตถุ” ในการเขียนที่แตกต่างกัน วัตถุเหล่านี้ก็คือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ตลอดจนเหตุการณ์และวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองในสมัยโบราณที่ไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเนื้อหาและการเล่าเรื่องก็พบว่า ตำนานในสองวัฒนธรรมมีโครงสร้างมีลักษณะที่คล้ายคลึงหรือเกือบจะเป็นโครงสร้างเดียวกัน ดังผู้เขียนจะได้พิจารณาถึงเนื้อหาหลักในตำนานที่ปรากฏซ้ำๆ กันเพื่อแสดงถึงโครงสร้างร่วมดังกล่าว

เมื่อวิเคราะห์เนื้อเรื่องตำนานสมัยจารีตของภาคใต้ที่นำมาศึกษาทั้งหมด พบว่ามีเนื้อหาที่ปรากฏซ้ำๆ ในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1) การอพยพไปตั้งบ้านเมืองใหม่

2) กษัตริย์มีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ

3) สัตว์มีบทบาทในการช่วยสร้างเมือง

4) ศาสนาทำให้บ้านเมืองมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง

 

- การอพยพไปตั้งบ้านเมืองใหม่

ในตำนานจารีตที่ผู้วิจัยนำมาศึกษา เนื้อหาที่ปรากฏซ้ำๆ กันในทุกตำนานก็คือการกล่าวถึงการแสวงหาที่ตั้งเมืองใหม่ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงพญานรบดีราชราชาที่บ้านเมืองวิกฤติเพราะเกิดไข้ยมบน จึงอพยพไพร่พลมาขึ้นที่หาดทรายแก้วและสร้างเมืองนครศรีธรรมราช[6] ต่อมาเกิดไข้ยมบนขึ้นอีกครั้ง เมืองนครศรีธรรมราชก็กลายเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งในช่วงเวลาต่อมาเชื้อสายกษัตริย์จากราชวงศ์เพชรบุรี คือพระพนมวังและนางเสดียงทองก็อพยพผู้คนมาฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชจนกลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง[7] เช่นเดียวกับในฮิกายัต ปัตตานี ที่พญาท้าวนักกะพา ราชบุตรท้าวโกรบมหาชนะ ที่ขึ้นครองเมืองโกตามหาลิฆัยแทนพระราชบิดา ก็สร้างเมืองปัตตานีขึ้นภายหลังพระองค์เสด็จออกไปล่าสัตว์ แล้วพบทำเลที่ตั้งเมืองที่สวยงาม แม้ตัวบทตำนานจะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่าพญาท้าวนักกะพาทิ้งเมืองเก่ามาด้วยเหตุผลใด แต่พระองค์ก็ได้สร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม

เนื้อหาเรื่องการอพยพไปตั้งเมืองใหม่ ยังปรากฏซ้ำๆ กันในตำนานเรื่องเดียวกันอีกด้วย ดังเช่นเรื่องฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ และตำนานนางเลือดขาว ในฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ ราชามะรง มหาวงศ์ แม้จะไม่ได้ตั้งใจอพยพไปสร้างเมือง แต่เหตุการณ์บังคับในท้องเรื่องก็ทำให้พระองค์ตั้งเมืองใหม่ การค้นพบที่ตั้งเมืองเกดะห์ก่อให้เกิดเมืองใหม่ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วโดยที่เนื้อเรื่องไม่ได้กล่าวย้อนไปถึงเมืองเก่าของราชามะรง มหาวงศ์ แต่อย่างใด เนื้อหาซ้ำๆ ในประเด็นนี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในตอนที่ราชนัดดา 3 พระองค์ของราชามะรง มหาวงศ์ อพยพขุนนาง ไพร่พล พร้อมราษฎรบางส่วนออกไปสร้างเมืองต่างๆ 3 เมือง คือพระโอรสองค์โตสร้างเมืองสยาม โอรสพระองค์รองไปสร้างเมืองเประ และราชธิดาสร้างเมืองปัตตานี[8]

ส่วนในตำนานนางเลือดขาว การเดินทางแสวงบุญด้วยการสร้างวัด และสร้างพระของพระนางนัยหนึ่งก็คือการอพยพผู้คนและแรงงานไปตั้งบ้านเมือง ยังผลให้เกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นในพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช หลายเมือง เช่น โคกเมืองบางแก้ว ในจังหวัดพัทลุงปัจจุบันซึ่งกล่าวกันว่าเคยเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของพัทลุง และเมืองพระเกิด (ในอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง)[9] ตำนานตอนหนึ่งกล่าวว่านางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารเดินไปทางยังเมืองสทังบางแก้ว ได้ทำการสำรวจพื้นที่จะสร้างเมืองใหม่ แต่ก็ไม่มีทำเลที่เหมาะสมเนื่องจากขณะนั้นยังเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง นางจึงเดินทางแสวงหาที่สร้างเมืองต่อไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช พฤติกรรมซ้ำๆ อย่างการสร้างวัด และสร้างพระระหว่างการเดินทางหาที่สร้างเมืองของพระนางเลือดขาวในครั้งนั้น ตำนานหมู่บ้านหลายแห่งในภาคใต้ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นมูลเหตุทำให้เกิดเมืองหรือชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมากมายตามรายทางที่พระนางดำเนินผ่าน เช่น ชุมชนเจ้าแม่อยู่หัว ชุมชนชะอวด ชุมชนในอำเภอฉวาง อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอทุ่งสง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช[10]  

 

- กษัตริย์มีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ

ในตำนานกลุ่มตำนานเมืองนครศรีธรรมราช พระยาศรีธรรมโศกราชอพยพครอบครัวผู้คนผ่านมาจากเวียงสระ ถึงลานสะกา และได้ค้นพบที่ตั้งเมืองและที่สร้างพระธาตุเจดีย์ด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์และพระวิษณุ โดยในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นฉบับที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดนั้นกล่าวว่า “พระวิษณุกรรมก็ช่วยพญา ตกแต่งก่อพระมหาธาตุซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุแล้วไซร้ จึงพระวิษณุกรรมก็ขึ้นไปยังพระอินทร์” [11] ส่วนในตำนานพระบรมธาตุฉบับกลอนสวด บทบาทการเป็นผู้ช่วยเหลือของพระอินทร์ทำให้ภารกิจในการตั้งพระธาตุและตั้งเมืองเป็นไปอย่างราบรื่น การได้พบทำเลที่ตั้งพระธาตุและที่ตั้งเมืองที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเติบโต ตำนานบางสำนวนเล่าว่าเทวดาเข้าฝันพระยาศรีธรรมาโศกราชให้เกณฑ์คนไปหักร้างถางพง ส่งพญานาคลงมาเลื้อยชี้แนะให้ปักเขต ส่งผู้เชี่ยวชาญศิลปะศาสตร์จากเมืองไกลมาให้ช่วยแก้อาถรรพ์ให้ เป็นต้น

ส่วนในตำนานกลุ่มฮิกายัตในวัฒนธรรมมลายูมุสลิม ก็พบว่าสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติก็เข้ามามีความเกี่ยวพันกับอนาคตของเมืองและกษัตริย์เช่นเดียวกัน เช่น ในฮิกายัต ปัตตานี ที่กล่าวไปถึงรากเหง้าของราชวงศ์ศรีวังสาว่าเป็นทายาทแห่งสวรรค์ โดยฝ่ายหญิงชื่อ กัมพูวังกู เกิดจากฟองน้ำ แต่งงานกับชายที่เกิดจากไม้ไผ่ตงได้จนกำเนิดนางเลือดขาว “ตามคำบอกเล่ากันว่าลงมาจากสวรรค์ เป็นต้นราชวงศ์ และได้ครองราชอาณาจักรปัตตานี”[12] เช่นเดียวกับฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ที่เรื่องราวได้พยายามย้ำให้เห็นว่ากษัตริย์ของเคดะห์นั้นเป็นเชื้อสายมาจากสวรรค์ แม้แต่กษัตริย์ที่เป็นเชื้อสายของยักษ์ แต่การที่จะขึ้นครองราชย์ได้ก็ต้องมีเชื้อสายบางส่วนจากเทพหรือสวรรค์ ดังเช่น ราชบุตรของราชามีเขี้ยวหรือราชายักษ์ที่กำเนิดจากบุตรสาวชาวนา เพื่อให้ราชบุตรผู้นี้มีความชอบธรรมที่จะเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปของเมืองเคดะห์ ตำนานก็ได้เล่าย้อนกลับไปเพื่อให้คำอธิบายว่า พ่อของหญิงชาวนาผู้นั้นเคยเป็นราชาชั้นรอง และนางก็สืบเชื้อสายมาจากเทพธิดา แต่เนื่องจากไม่พอใจผู้คน จึงอพยพกันมาใช้ชีวิตอยู่อย่างสามัญชนในชนบท[13]

อนุภาคตัวละครที่เกิดจากไม้ไผ่และมีเลือดสีขาวซึ่งเป็นประเด็นที่แสดงความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ยังเห็นได้จากตำนานท้องถิ่นที่แพร่หลายอยู่ในจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ได้แก่ตำนานนางเลือดขาว โดยในตำนานฉบับของจังหวัดพัทลุงนั้น พระนางเลือดขาวและสามีเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ แม้ตัวบทตำนานจะไม่ได้กล่าวเชื่อมโยงตัวละครทั้งสองไปถึงเทพเทวดา หรือสวรรค์ แต่เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องก็บ่งนัยให้ผู้อ่านเห็นได้ว่านางเลือดขาวมีความเชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ นางเลือดขาวอิงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจเกิดขึ้นเองแก่บุคคลที่มีบุญญาอภินิหาร มีบุคลิก และคุณสมบัติบางอย่างที่เด่นและแตกต่างกับคนอื่น ซึ่งในกรณีนางเลือดขาวก็คือความเป็นผู้หญิง และการมีเลือดเป็นสีขาว อันเป็นสัญญะของผู้มีกำเนิดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน

ลักษณะที่เด่นกว่าดังกล่าวนี้ทำให้นางเลือดขาวผู้นั้นสามารถติดต่อหรือสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งในที่นี้คืออำนาจอันลี้ลับ เช่น การได้ไปพบทรัพย์สมบัติฝังอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก ทรัพย์เหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่อำนาจลี้ลับได้มอบให้แก่นางเลือดขาวในการสร้างความสืบเนื่องให้แก่อำนาจ ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับฮิกายัต ปัตตานี และฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ก็จะพบว่าอนุภาคเลือดขาว การเกิดจากไม้ไผ่ และฟองน้ำ มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องอำนาจจากสวรรค์ หรือเทพเทวดา

ลักษณะของละครที่มีความสัมพันธ์กับ “สีขาว” นี้ยังเห็นได้ในตำนานของมาเลเซีย ดังเช่นในเรื่อง ฮิกายัตราชา-ราชา ปาไซ เมื่อเมอระห์ ซิลู เจ้าเมืองปาไซถอดผ้าคลุมผมพระนางเบอตุงออก เลือดสีขาวอันแสดงถึงความบริสุทธิ์ของนางก็ไหลจนกระทั่งนางสิ้นพระชนม์เลือดจึงหยุดไหล[14] หรือในเรื่องฮิกายัตฮัง ตัวห์ ที่กล่าวถึงซอง ซาปูบา เจ้าเมืองบูกิต ศรีกุนตัง ที่เข้าป่าล่าสัตว์ไปพบกับเจ้าหญิงซึ่งพระองค์ได้ราชาภิเษกด้วย เจ้าหญิงพระองค์นี้ถือกำเนิดจากฟองน้ำลายของวัวสีขาว ต่อมาได้ให้กำเนิดราชบุตร 4 พระองค์ และได้ส่งไปครองเมืองต่างๆ รายรอบบูกิต ศรีกุนตัง[15] โดยนัยยะแล้ว ราชบุตรทั้ง 4 พระองค์ที่ซอง ซาปูบา ส่งไปสร้างเมืองต่างๆ นั้นคือกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากสวรรค์ซึ่งเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ การที่ตำนานให้เจ้าเมืองบูกิต ศรีกุนตัง ได้แต่งงานกับเจ้าหญิงที่เกิดจากฟองน้ำลายของวัวสีขาวจึงเป็นเชื่อมโยงให้เห็นถึงสถานะของกษัตริย์ที่เป็นทายาทจากสวรรค์ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นได้ว่าในมโนทัศน์ของผู้เล่าหรือผู้เขียนตำนานสมัยจารีตท้องถิ่นในบริเวณคาบสมุทร มองว่าสวรรค์และโลกมีความใกล้ชิดและต่อเนื่องกัน[16] กษัตริย์จึงถูกให้ความสำคัญในฐานะ “ตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่ในโลก” หรือ “เป็นกษัตริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าส่งลงมาจากสวรรค์”[17]

                นอกจากในตำนานเรื่องหลักดังกล่าวแล้ว ตำนานหมู่บ้านในภาคใต้ตอนกลางหลายแห่ง ก็สื่อถึงประเด็นซ้ำๆ เรื่องกษัตริย์ หรือผู้นำมีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติด้วยเช่นกัน ตำนานเหล่านี้มักกล่าวถึงกำเนิดหมู่บ้านโดยการนำของหัวหน้าผู้ปกครองหมู่บ้านที่มี “ฤทธิ์” เหนือคนธรรมดา เช่น เป็นคนที่มีความรู้ด้านเวทมนตร์คาถา หรืออายุยืนยาวผิดคนธรรมดา มีแก้วกายสิทธิ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งศึกษาเรื่องนี้เห็นว่า การที่ผู้นำหมู่บ้านถูกเล่าให้เชื่อมโยงกับสิ่งเหนือธรรมชาตินี้ สื่อนัยยะว่าอาญาสิทธิ์ของหมู่บ้านเกิดจากความสัมพันธ์เป็นพิเศษระหว่างอาญาสิทธิ์และพลังลี้ลับบางอย่าง พลังนี้จะอธิบายในแง่มุมของศาสนาหรือไสยศาสตร์ก็ได้[18]

 

 

- สัตว์มีบทบาทในการช่วยสร้างเมือง

ประเด็นนี้ดูเหมือนจะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในตำนานทุกเรื่อง ในตำนานกลุ่มตำนานเมืองนครศรีธรรมราช มีสัตว์ตามคตินิยมความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาแสดงบทบาทในการสร้างเมืองของกษัตริย์นครศรีธรรมราช สัตว์ดังกล่าวนี้เป็นทั้งสัตว์ที่เกิดจากการจำแลงกายของเทพเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิเหนือธรรมชาติ และสัตว์ทั่วไป ซึ่งบางครั้งก็สื่อความหมายว่าเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์เหนือสัตว์ธรรมดา เช่น การอธิบายว่าพระอินทร์ได้รับสั่งให้พระวิษณุแปลงกายเป็นกวางเที่ยวเดินในป่าเพื่อหลอกล่อให้พรานสุรีตามไปจนพบจุดที่ดวงแก้วซ่อนอยู่ ซึ่งที่บริเวณนั้นต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ตั้งพระธาตุ และเมืองนครศรีธรรมราช โดยพรานสุรีได้กราบทูลว่า ที่แห่งนั้นเป็นที่ที่สวยงามเหมาะแก่การตั้งเมืองมาก ซึ่งเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงทอดพระเนตรเห็นดวงแก้ว และทรงทราบถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นก็ให้พรานนำทหารและนายช่างวาดเขียนไปเขียนแผนที่มาถวายเพื่อวางแผนการสร้างพระธาตุและสร้างเมืองต่อไป

นอกจากกวางแล้ว ครุฑก็ยังมีบทบาทที่สำคัญด้วยเช่นกัน ดังที่ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชฉบับกลอนสวด กล่าวถึงพระมหาเถรพรหมเทพแปลงกายเป็นครุฑขนาดปีกและหางยาวข้างละโยชน์มาร่อนลงที่หาดทรายแก้ว แล้วช่วยพระนางเหมชาลาและเจ้าทนกุมารไปนำพระทันตธาตุจากกรุงนาคามาให้ ทั้งยังช่วยเหลือสองพี่น้องให้ปลอดภัยจากการโจมตีของฝูงนาคที่พยายามฉกชิงพระทันตธาตุที่สองกุมารซุกซ่อนไว้ที่หาดทรายแก้ว

นาค ก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีบทในการสร้างเมือง ดังที่เรื่องกล่าวถึงพญานาค และไพร่พลนาคแห่งกรุงนาคา แม้สัตว์ชนิดนี้จะแสดงบทบาทในทางลบ นั่นคือพญานาคพยายามที่จะขโมยเอาพระทันตธาตุไปประดิษฐานที่เจดีย์กรุงนาคา และพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้การประดิษฐานพระทันตธาตุที่หาดทรายแก้วล้มเหลว บทบาทต่อการเกิดเมืองในทางลบของเหล่านาคเช่นนี้ส่งเสริมให้เมืองนครศรีธรรมราชที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างขึ้นนั้นยิ่งใหญ่ เพราะนาคเป็นตัวละครอุปสรรคที่เข้ามายืนยันความสำคัญของพระทันตธาตุที่เป็นศูนย์กลางของเมืองนครศรีธรรมราช ลักษณะเช่นนี้ ตามแนวคิดของเลวี่-สเตราส์ คือลักษณะของตำนานที่มีการแปรรูปกลับ (inversion) คือเรื่องกล่าวถึงบทบาทของสัตว์ต่อการสร้างเมืองใหม่เหมือนกัน เพียงแต่บทบาทของกวางและครุฑเป็นไปในเชิงบวก ส่วนบทบาทของนาคเป็นไปในเชิงลบ อย่างไรก็ตามสัตว์ทั้งสามก็ล้วนร่วมกันแสดงบทบาททำให้เกิดเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ในตอนหลัง นาคก็ได้แสดงบทบาทในทางบวก เมื่อพระอินทร์ได้สั่งให้พญานาคเลื้อยกำหนดขอบเขตที่จะสร้างเมืองให้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช อันสะท้อนนัยถึงการกลายมาเป็นผู้ปกป้องเมืองและยอมรับพระศาสนาของนาค ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในตำนานในวัฒนธรรมไทยพุทธ ดังเช่น ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเมื่อเสด็จถึงดอยเกิ้ง พญานาคตนหนึ่งควักดวงตาถวายแด่พระพุทธเจ้า ตำนานพระบาทยางวิด เล่าว่าพญานาคได้เนรมิตบ่อน้ำและกระบวยทองคำให้พระพุทธเจ้าชำระล้างอุจจาระและปัสสาวะ ต่อมาก็เกิดรอยพระพุทธบาทไว้เป็นที่สักการะบูชา[19] ขณะที่ในคติความเชื่อดั้งเดิม นาคปรากฏบทบาทในฐานะอำนาจเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับดิน น้ำ และเมืองโบราณต่างๆ นาคได้คุ้ยควักแผ่นดินจนเกิดเป็นแม่น้ำสายต่างๆ เช่น พญาสุตตนาคคุ้ยควักแผ่นดินจนเกิดเป็นแม่น้ำโขง พญาศรีสัตตนาคคุ้ยควักแผ่นดินจนเกิดแม่น้ำอู และยังได้สร้าง “ฝายนาค” หรือ “ลี่ผี” กั้นปิดทางต้นน้ำแม่โขงเพื่อไม่ให้ไหลลงสู่สมุทร และยังได้ช่วยสร้างเมือง เช่น เมืองสุวัณณะโคมคำ พันธุนาคราชช่วยสร้างเมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร และนาคที่สร้างเมืองหนองคันแทเสื้อน้ำให้บุรีจันอ้ายล้วย[20]

ในฮิกายัต มะรงค์ มหาวงศ์ งูใหญ่ซึ่งเป็นร่างแปลงของชาวบ้านผู้มีคาถาอาคมคนหนึ่งมีบทบาทในการสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่เมืองเคดะห์ กล่าวคือเป็นผู้ที่เข้ามาท้าทายอำนาจของราชายักษ์ จนราชายักษ์สูญเสียอำนาจการปกครองทั้งเสนาอำมาตย์และประชาชน และต้องละทิ้งราชบัลลังก์หนีออกไปอยู่ชนบทในที่สุด บทบาทดังกล่าวนี้ แม้ในช่วงแรกจะทำให้เคดะห์ขาดกษัตริย์ปกครองไปหลายปี แต่ก็เป็นการเตรียมเคดะห์เพื่อจะได้พบกับแสงสว่างแห่งศาสนาอิสลามในสมัยราชาพระองค์มหาวงศ์

จะเห็นได้ว่า นาคมีบทบาททั้งด้านบวกและลบ เมื่อผู้ปกครองหรือมนุษย์ประพฤติผิด นาคก็มีอำนาจในการทำให้เกิดผลร้ายต่อเมืองหรือต่อโลกได้ ดังเช่นในตำนานวัฒนธรรมไทยพุทธกล่าวถึงนาคที่ทำลายฝั่งน้ำจนทำให้เมืองสุวัณณะโคมคำล่ม ขณะเดียวกันถ้ามนุษย์ประพฤติผิดต่อแถนๆ ก็จะสั่งไม่ให้นาคลงเล่นน้ำ ซึ่งจะเกิดภัยพิบัติแห้งแล้งตามมา[21] ในกรณีของตำนานฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ นั้นจะเห็นว่างูใหญ่ท้าทายและสั่นคลอนอำนาจของกษัตริย์ก็เพราะกษัตริย์ประพฤติผิดต่อราษฎรหรือต่อแนวทางการเป็นกษัตริย์ที่ดี งูใหญ่ในฐานะอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงลงมาท้าทาย จนกษัตริย์ไร้คุณธรรมต้องหลบหนีออกไปในที่สุด

บทบาทของสัตว์ในการสร้างเมือง แต่แสดงออกในเชิงลบดังที่เห็นบทบาทของนาคในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชช่วงต้นดังกล่าวแล้ว ปรากฏในเรื่องฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ในลักษณะที่คล้ายกัน โดยเรื่องได้เล่าถึงพญาครุฑแห่งนครร้างลังกาผู้ต้องการท้าทายชะตากรรมของมนุษย์ที่พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้แล้ว โดยพญาครุฑได้โจมตีขบวนเรือเสด็จของเจ้าชายแห่งรุมซึ่งบัญชาการโดยราชามะรง มหาวงศ์ อย่างรุนแรงถึง 3 ครั้ง ทำให้เรือแตก ไพร่พลพลัดกระจายไร้ทิศทาง การโจมตีดังกล่าวนี้ทำให้เรือของราชามะรง มหาวงศ์ ถูกพัดไปจนกระทั่งพบสถานที่แห่งหนึ่งที่ต่อมาพระองค์ก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นเมืองเคดะห์ เมืองใหญ่ที่มั่งคั่งขึ้นมาด้วยการค้าพาณิชย์ มีอำนาจเหนือเมืองอื่นๆ

บทบาทของครุฑที่เป็นไปในเชิงลบในฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ตรงกันข้ามกับบทบาทของช้างเยาฮารีของเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นไปในทางบวก โดยช้างเชือกนี้เป็นช้างที่เข้าใจภาษามนุษย์ และมีญาณสัมผัสพิเศษ เป็นผู้นำพระราชธิดาของกษัตริย์เคดะห์พระองค์ที่ 2 ไปหาที่เหมาะสมที่สร้างเมืองปัตตานี ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้ไปค้นหาทายาทของราชายักษ์มาครองราชบัลลังก์ต่อ หลังจากที่ราชบัลลังก์เคดะห์ว่างลงเนื่องจากเหล่าเสนาอำมาตย์ขับไล่ราชายักษ์ออกไป บทบาทของช้างเยาฮารีจึงทำให้อำนาจและราชบัลลังก์ของเคดะห์มีความต่อเนื่อง และมั่นคงขึ้น  

ในตำนานนางเลือดขาว ช้างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างเมืองของพระนางเลือดขาว และพระสวามีเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่กำเนิดนางเลือดขาว ช้างก็เป็นสัตว์ที่นำไม้ไผ่ตงและไม้ไผ่เสรียงซึ่งพระนางเลือดขาวและพระกุมารกำเนิดอยู่ในนั้นมามอบให้ยายเพชรกับตาสามโม หมอสะดำหรือหมอช้างของกรุงสทิงพาราณสี ทำให้สองตายายพบและชุบเลี้ยงทั้งสองจนโต หรือในกรณีการสร้างเมืองบางแก้ว ช้างก็เป็นสัตว์ที่ค้นพบที่ฝังของทรัพย์สินเงินทองมากมาย จนพระนางเลือดขาวได้มีทรัพย์สมบัติในการสร้างวัด สร้างพระ และสร้างเมือง

ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ช้างเป็นสัตว์คู่บุญบารมีของกษัตริย์ และยังมีบทบาทสำคัญในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วย ดังเช่น ในตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ก็เล่าถึงการอัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐานว่าเมื่ออัญเชิญพระบรมธาตุประดิษฐานบนช้างมงคลและอธิษฐานเสี่ยงช้างให้ไปหยุดบริเวณที่ที่เหมาะสมในการประดิษฐานพระบรมธาตุ[22] บทบาทเช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับช้างในฮิกายัต ปัตตานี ที่เป็นผู้นำทางพระราชธิดากษัตริย์เคดะห์ไปหาที่เหมาะสมสร้างเมืองปัตตานี ด้วยเหตุนี้ ช้างจึงสัมพันธ์กับกษัตริย์และความมั่นคง การครอบครองช้างที่มีคุณสมบัติพิเศษจึงแสดงถึงราชานุภาพของกษัตริย์ ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐต่อรัฐ ช้างยังเป็นเครื่องหมายของความจงรักภักดีที่รัฐเล็กมีต่อรัฐที่มีอำนาจมากกว่า ดังในตำนานนางเลือดขาว ตาเพชรและยายสามโมซึ่งเป็นหมอช้างของเมืองพัทลุงต้องจัดช้างส่งแก่เมืองสทิงพาราณสี จนเมื่อตำแหน่งหมอช้างสืบทอดมาถึงนางเลือดขาว พระนางก็ส่งช้างให้กรุงศรีอยุธยา อันแสดงให้เห็นว่าศูนย์อำนาจที่เมืองพัทลุงจะต้องแสดงความภักดีนั้นเปลี่ยนไปจากสทิงพาราณสีเป็นกรุงศรีอยุธยา โดยนัยนี้ช้างจึงเป็นเครื่องหมายของอำนาจของกษัตริย์และความจงรักภักดีด้วย ในเรื่องซจาเราะห์ มลายู ความสูญเสียอำนาจในฐานะกษัตริย์ของมหาราชา เทวา สุระ แห่งปาหัง ถูกนำไปเชื่อมโยงกับช้างตัวโปรดของพระองค์ กล่าวคือ ระหว่างที่เจ้าเมืองปาหังถูกขังอยู่เพราะพ่ายแพ้แก่กษัตริย์มะละกาพระองค์ได้เห็นช้างยา เคนยัง ซึ่งเป็นช้างคู่พระบารมีของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อได้เห็นว่าเล็บของช้างยา เคนยังหลุดหายไป พระองค์จึงรำพึงรำพันขึ้นมาว่า “เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นช้างของเราเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกเลยที่เราจะสูญเสียแผ่นดินของเราไป” [23]

                สำหรับฮิกายัต ปัตตานี สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างเมืองคือกระจง โดยพญาท้าวนักกะพา ปฐมกษัตริย์แห่งปัตตานีสร้างเมืองขึ้นจากบริเวณที่กระจงตัวหนึ่งวิ่งนำทางไป บทบาทของกระจงนี้ยังปรากฏให้เห็นในตำนานพื้นเมืองของมาเลเซียที่กล่าวถึงกระจงซึ่งมีบทบาทในการสร้างเมืองยะโฮร์ใน ซจาเราะห์ มลายู อีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่ากระจงเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกวาง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีบทบาทอยู่ในตำนานในวัฒนธรรมไทยพุทธ ดังเช่นตำนานในกลุ่มตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่กวางเป็นร่างจำแลงของพระวิษณุกรรม ความคล้ายคลึงกันของสัตว์ซึ่งมีบทบาทต่อการสร้างเมืองทั้งสองนี้ แสดงให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ความเชื่อเรื่องสัตว์ที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจมีกำเนิดมาจากกระบวนทัศน์ความเชื่อดั้งเดิมร่วมกัน

 

- ศาสนาทำให้บ้านเมืองมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง

ตำนานในกลุ่มตำนานเมืองนครศรีธรรมราชนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนาของกษัตริย์และราษฎรเป็นอย่างมาก โดยการสร้างจุดแบ่งเพื่อขับเน้นความแตกต่างระหว่างสถานภาพของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชและเมืองนครศรีธรรมราชก่อนและหลังสร้างพระธาตุ ซึ่งเป็นสัญญะของการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ตำนานได้แสดงให้เห็นว่าก่อนสร้างพระธาตุ กษัตริย์นครศรีธรรมราชเคยเป็นผู้นำรัฐที่ประสบความล้มเหลวในการสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐของพระองค์มาก่อน ดูได้จากการที่พระองค์ต้องอพยพผู้คนลงใต้มาหาที่ตั้งเมืองใหม่ถึง 3 ครั้งก่อนจะตั้งที่นครศรีธรรมราช จนกระทั่งเมื่อได้สร้างพระธาตุ พระองค์ก็กลายเป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาอภินิหารสลับซับซ้อนขึ้นมา มีเจ้าเมืองน้อยใหญ่ ทั้งไกลทั้งใกล้เข้ามามีสัมพันธ์ด้วย แม้กระทั่งเจ้าเมืองลังกา และเจ้าเมืองหงสาที่เป็นศัตรูกันอยู่ก็เข้ามาสัมพันธ์ให้ความช่วยเหลืออย่างพร้อมเพรียง

ในฮิกายัต ปัตตานี ศาสนาอิสลามก็เป็นเส้นแบ่งที่เด่นชัดซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างปัตตานีใน 2 ช่วงเวลา คือปัตตานีเก่าขณะนับถือรูปเคารพตามคติฮินดูและปัตตานีใหม่ภายหลังกษัตริย์และชาวเมืองเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยตำนานกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พญาท้าวนักกะพา กษัตริย์พระองค์แรก ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเช็ค ซาอิด หมอรักษาโรคผิวหนังชาวปาไซ โดยการเข้ารับศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านอิสมาอิล ซิลลุลเลาะห์ ฟีลอาลาม หรืออิสมาอิล ชาห์ จนถึงการสร้างมัสยิดเพื่อให้ความเป็นมุสลิมเป็นที่ประจักษ์ชัด ปัตตานีก็สามารถสร้างปืนใหญ่ได้ มีศักยภาพในการสงคราม สามารถยกทัพไปโจมตีรัฐที่ยิ่งใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยา และสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างองอาจจากรัฐใหญ่ทางใต้อย่างยะโฮร์ และปาเล็มบัง ในฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ เมื่อกษัตริย์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามตามคำชี้แนะของผู้รู้จากแบกแดด เคดะห์ก็เหมือน “การตื่นจากความหลับไหล” ศาสนาอิสลามทำให้เคดะห์ตื่นขึ้นมาพบกับแสงสว่าง[24] แม้ฮิกายัตมะรง มหาวงศ์จะแตกต่างจากฮิกายัต ปัตตานีและฮิกายัตของมาเลเซียหลายเรื่องเพราะบอกเล่าถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลามไว้ในตอนสุดท้ายของเรื่อง แทนที่จะเขียนไว้ตอนต้นๆ เรื่อง แต่ลักษณะเช่นนี้ก็ชี้ให้เห็นนัยสำคัญของศาสนาอิสลามกับความมั่นคงของรัฐ ดังที่ชุลีพร วิรุณหะ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เป็นเพราะเสาหลักสองเสาคือ ราชวงศ์และศาสนาอิสลามได้ปักหลักลงอย่างมั่นคงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่เกดะห์จะต้องมีพลวัตทางประวัติศาสตร์อีกต่อไป กล่าวคือนับจากได้ยอมรับศาสนาอิสลามแล้ว ไม่ว่าเคดะห์จะถูกปกครองโดยกษัตริย์พระองค์ใดหรืออีกกี่พระองค์ เหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้นในรัฐนี้ก็จะไม่แตกต่างจากรัชสมัยของสุลต่านมัสซัฟฟาห์ ชาห์ ปฐมกษัตริย์ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นพระองค์แรก “ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องลงบันทึกไว้ ฮิกายัต มรง มหาวังสา จึงเป็นเรื่องราวที่มีแนวเรื่องหลัก (theme) หนึ่งเดียว อะไรก็ตามที่จะแสดงออกถึงความเชื่อ ความเข้าใจ และความรับรู้ของชาวเคดะห์ก็จะอยู่ภายใต้แนวเรื่องหลักนั้น” [25]

ส่วนการบำรุงพระศาสนาของพระนางเลือดขาว ในตำนานนางเลือดขาวนั้นก็คือการสร้างวัดและสร้างพระ กิจกรรมของพระนางคือการบำเพ็ญบุญผ่านการสร้างศาสนวัตถุและศาสนสถานอันเป็นมูลเหตุให้เกิดชุมชนและเมืองต่างๆ โดยการมีบทบาทเช่นนี้ยังผลให้พระนางเลือดขาวได้รับนับถือยกย่องทั่วไป จนกระทั่งเจ้าเมืองสุโขทัยเรียกตัวเข้าเมืองและจะแต่งตั้งเป็นพระสนม ตำนานนางเลือดขาวฉบับคำบอกเล่าของชาวบ้านในปัจจุบันกล่าวว่าชื่อเสียงของพระนางทำให้พระนางได้เป็นมเหสีของกษัตริย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ได้ “ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโกยการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มากมายทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) และเมืองใกล้เคียง ทั้งยังได้ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย จนเป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้าโดยทั่วไป”[26]

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเนื้อหาหรือเรื่องราวในตำนานภาคใต้สมัยจารีต ทั้งตำนานในวัฒนธรรมไทยพุทธ ตำนานในวัฒนธรรมมุสลิม และตำนานผสมผสานจะมีความแตกต่างกัน  แต่เมื่อได้พิจารณาถึงเนื้อหาหรือองค์ประกอบของเรื่องที่ตำนานเหล่านี้แสดงออกอย่างซ้ำๆ กันแล้ว ก็จะพบว่ามีโครงสร้างเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่เป็นแบบเดียวกัน โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของวิธีการสื่อสารเรื่องราวของผู้คนในภูมิภาคใต้หรือคาบสมุทรมลายู (หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ก่อนที่จะถูกแบ่งแยกด้วยศาสนาและชาติพันธุ์ตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ทั้งน่าจะเป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่เข้มแข็งเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะแม้ว่าในเวลาต่อมาภาคใต้ตอนกลางจะมีอิทธิพลของศาสนาพุทธ และภาคใต้ตอนล่างมีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม แต่การเล่าเรื่องผ่านโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนี้ก็ยังสามารถเห็นได้อย่างเด่นชัด

โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวยืนยันว่าแม้ตำนานสมัยจารีตจะบอกเล่าถึงเรื่องราวของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง แต่ก่อนที่จะเป็นตำนานลายลักษณ์ซึ่งนักวิชาการใช้ศึกษากันในปัจจุบันนั้น ตำนานเหล่านี้ย่อมจะเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะมาก่อน ในแง่นี้ ความคิด ความเชื่อ หรืออุดมคติต่างๆ ที่ปรากฏในตำนานลายลักษณ์ เช่น แนวคิดเรื่องกษัตริย์ที่สัมพันธ์กับเทพเทวดาหรือผู้เป็นเจ้า ที่กลายมาเป็นคติเกี่ยวกับกษัตริย์ในตำนานในวัฒนธรรมมลายูทั้งของไทยและมาเลเซีย จึงน่าจะเป็นแนวคิดที่แพร่หลายอยู่ในหมู่คนพื้นเมืองก่อนที่ราชสำนักจะรับมาขัดเกลาเป็นอุดมคติของสถาบันกษัตริย์ ดังที่ชาริฟาร์ มัซนะห์ ซาเยด โอมา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คติความเชื่อเรื่องความมหัศจรรย์ เรื่องเหนือธรรมชาติ ทั้งของคนและสัตว์นั้น แพร่หลายอยู่ในวัฒนธรรมมุขปาฐะของประชาชนคนพื้นเมืองมาเนิ่นนาน ต่อมาเหล่าผู้สร้างสรรค์ตำนานได้ประสมประสานคติเหล่านี้เข้ากับอุดมการณ์ของชนชั้นสูง ก่อนที่ราชสำนักจะกระจายกลับออกไปเพื่อค้ำยันสถานะของตนเองต่อประชาชนผ่านในรูปแบบการบอกเล่าอีกครั้งหนึ่ง[27]

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือร่องรอยของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธที่เคยเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมความเชื่อของผู้คนในบริเวณคาบสมุทรมาก่อน ในบริเวณภาคใต้ตอนล่างจะพบอิทธิพลของศาสนาฮิดูลัทธิไศวนิกายหรือนิกายที่นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุด ดังปรากฏหลักฐานที่เป็นฐานประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมฮินดูที่เมืองโบราณยะรัง ปัตตานี เช่น แท่นโยนิโทรณะ ศิวลึกค์ และพระโคนันทิ เป็นต้น หรือการบูชาพระอิศวร (พระศิวะ) ที่ปรากฏในขนบนิยมการเชิดหนังตะลุงในภาคใต้ การบูชากุหนุง หรือเขาพระสุเมรุในศิลปะการแสดง และวิถีชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังพบประติมากรรมโบราณที่เกี่ยวข้องกับองค์พระวิษณุ เช่น องค์พระวิษณุสี่กรศิลาที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าหลักเมือง จังหวัดสงขลา ในภาคใต้ตอนกลางพบโบราณวัตถุของทั้งสองนิกาย แม้ว่าร่องรอยของศาสนาฮินดูในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางจะเป็นอิทธิพลของอินเดียโดยตรงมากกว่าร่องรอยของศาสนาฮินดูในภาคใต้ตอนล่างที่มีรูปแบบของฮินดู-ชวา

ภายใต้วัฒนธรรมฮินดู แนวความคิดเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุต่างก็มีร่วมกันและสะท้อนออกมาในวิถีชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างชัดเจนที่สุด ชาวมลายูดั้งเดิมจะเชื่อว่าองค์พระศิวะสถิตอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งหมายรวมทั้งเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เขาสัตตบริภัณฑ์ที่แวดล้อมและเขาไกรลาศ รวมเข้าเป็นเขาพระสุเมรุทั้งหมด ดังนั้นคำว่าเขาพระสุเมรุในความเชื่อพื้นบ้านจึงรวมเอาภูเขาสำคัญๆ ทั้งหลายในคติฮินดูดั้งเดิมที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของหมู่เทพเทวดาทั้งหลายมาเป็นเขาพระสุเมรุ และยังคงสะท้อนให้เห็นอยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิมอย่างเด่นชัด

 

 

บรรณานุกรม

 

A.Teeuw and D.K.Wyatt. Hikayat Patani: The story of Patani vol.1-2. The Hague: Koninklijk Instituut, 1970.

David K. Wyatt. The Crystal Sands: The Chronicle of Nagara Sri Dharrmaraja. New York: Cornell University, 1975.

Hayden White. The Value of narrativity in the Representation of Reality, in W.J.T. Mitchell, ed., On Narrative, Chicago and London: The University of Chicago Press, 1981.

Hendrik M.J. Maier. In The Center of Authority: The Malay Hikayat Merong Mahawangsa. New York: Southeast Asia Program, Cornell University, 1988.

James Low. Marong Mahawangsa: The Keddah Annals. The American Presbyterian Society, 1908.

Roland Barths. “Introduction to the Structural Analysis of Narratives.” Image, Music, Text, Trans. Stephen Heath. New York: Fontana Press, 1977.

Sharifar Maznah Syed Omar. Myths and the Malay Ruling Class. Singapore: Time Academic Press, 1993.

เกศสุดา สิทธิสันติกุล และกชกร ชิณะวงศ์ (บรรณาธิการ). แม่เจ้าอยู่หัว: ศรัทธา ความดี แรงใจ สู่พลังชุมชน. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค, 2546.

เครก เจ. เรย์โนลด์ส. เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และคนสามัญ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2550.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2545.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. ชำระเพลานางเลือดขาว. พัทลุง: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2525.

ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา: ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2551.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.

ปรมินท์ จารุวร. ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. พงศาวดารเมืองไทรบุรี ตำนานมะโรง มหาวงศ์. กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550.

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. “เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้างและการศึกษานิทานของโคลด เลวี่-สเตราส์.” วารสารธรรมศาสตร์ 17 (2533): 45-80.



[1] Roland Barths, “Introduction to the Structural Analysis of Narratives,” Image, Music, Text, Trans. Stephen Heath (New York: Fontana Press, 1977), p.79.  

[2] Hayden White, The Value of narrativity in the Representation of Reality, in W.J.T. Mitchell, ed., On Narrative, Chicago and London: The University of Chicago Press, 1981, p.2.

[3] เครก เจ. เรย์โนลด์ส, เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และคนสามัญ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2550), หน้า 205.

[4] ปรมินท์ จารุวร, ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), หน้า 2-3; ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, “เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้างและการศึกษานิทานของโคลด เลวี่-สเตราส์ วารสารธรรมศาสตร์ 17 (2533): 56; ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์ (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2545), หน้า 80-81.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 67.

[6] David K. Wyatt, The Crystal Sands: The Chronicles of Nagara Sri Dharrmaraja, p.190.

[7] Ibid, pp.195-196.

[8] James Low, Marong Mahawangsa: The Keddah Annals (The American Presbyterian Society, 1908), pp.74-85; ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, พงศาวดารเมืองไทรบุรี ตำนานมะโรง มหาวงศ์ (กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550), หน้า 93-106.

[9] ชัยวุฒิ พิยะกูล, ชำระเพลานางเลือดขาว (พัทลุง: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2525), หน้า 5; วิชัย อินทวงศ์, ตามรอยเจ้าแม่อยู่หัว (สงขลา: วัดอินทราวาส, 2524), หน้า 28.

[10] เกศสุดา สิทธิสันติกุล และกชกร ชิณะวงศ์ (บรรณาธิการ), แม่เจ้าอยู่หัว: ศรัทธา ความดี แรงใจ สู่พลังชุมชน (เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค, 2546), หน้า 20-26.

[11] David K. Wyatt, The Crystal Sands: The Chronicles of Nagara Sri Dharrmaraja, p.194.

[12] A.Teeuw and D.K.Wyatt, Hikayat Patani: The story of Patani vol.1, p.197.

[13] James Low, Marong Mahawangsa: The Keddah Annals (The American Presbyterian Society, 1908), p.123; ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, พงศาวดารเมืองไทรบุรี ตำนานมะโรง มหาวงศ์ (กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2550), หน้า 145.

[14] Sharifar Maznah Syed Omar, Myths and the Malay Ruling Class (Singapore: Time Academic Press, 1993), pp.7-8.

[15] Ibid, p.29.

[16] Ibid.

[17] Ibid, p.45.

[18] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538), หน้า 13-14.

[19] ปรมินท์ จารุวร, ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย, หน้า 272.

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 269.

[21] เรื่องเดียวกัน.

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 261.

[23] Sharifar Maznah Syed Omar, Myths and the Malay Ruling Class, p.7.

[24] Hendrik M.J. Maier, In The Center of Authority: The Malay Hikayat Merong Mahawangsa (New York: Southeast Asia Program, Cornell University, 1988), p.182.  

[25] ชุลีพร วิรุณหะ, บุหงารายา: ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู (กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2551), หน้า 184.

[26] เกศสุดา สิทธิสันติกุล และกชกร ชิณะวงศ์ (บรรณาธิการ), แม่เจ้าอยู่หัว: ศรัทธา ความดี แรงใจ สู่พลังชุมชน, หน้า 22.

[27] Sharifar Maznah Syed Omar, Myths and the Malay Ruling Class, p.94.




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ