ReadyPlanet.com
dot dot
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู

วรรณกรรม การเมือง การแปล และประวัติศาสตร์

: กรณี “รัก-สาม-เศร้า” ที่แหลมมลายู

พิเชฐ แสงทอง

ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

 

ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ หรือตำนานเมืองเคดะห์ เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางของการพิจารณาถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสยาม เคดะห์ และอังกฤษในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้ได้กล่าวถึงการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องฐานะของเมืองเคดะห์ ตลอดจนหัวเมืองมลายูอื่นๆ ในปลายแหลมมลายูได้รับพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะจากมุมมองของอังกฤษที่มุ่งหมายจะควบคุมรัฐพื้นเมืองในบริเวณนี้ และเคดะห์และหัวเมืองมลายูอื่นๆ เองที่ต้องการอิสระจากสยามในบางโอกาส บทความนี้จะได้ศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์และความคิดที่แวดล้อมวรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่องนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า บริบทของวรรณกรรมนั้นมีความหมายต่อเนื้อหาของวรรณกรรมเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้ ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ จึงไม่ใช่ตำนานหรือนิทานปรัมปราที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหลือเชื่อ แต่เป็นวรรณกรรมการเมืองซึ่งมีบทบาทต่อการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง 3 หน่วยทางการเมืองใหญ่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คือ สยาม เคดะห์ และอังกฤษ

 

วัฒนธรรมทางการเมืองของเมืองชายแดน

หลังจากอังกฤษได้เข้ามามีอำนาจปกครองเกาะปีนัง หรือที่สยามเรียกว่าเกาะหมากด้วยความยินยอมของเคดะห์ (ไทรบุรี) และเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะพรินซ์ ออฟ เวลส์เมื่อ พ.ศ.2329 รัฐบาลอังกฤษที่เกาะแห่งนี้ก็มีบทบาทในการสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของเมืองต่างๆ ทางแหลมมลายูอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองและช่องทางทางการค้า อย่างไรก็ดี การเสียปีนังก็เป็นการเปิดฉากให้อำนาจทางการเมืองจากภายนอกแหล่งใหม่เข้ามาตั้งตัวในแหลมมลายู ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนโฉมหน้าดินแดนนี้ในบั้นปลาย พรรณงาม เง่าธรรมสาร ระบุว่าการที่เคดะห์ยกปีนังให้อังกฤษ “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความพยายามดิ้นรนของไทรบุรี (เคดะห์) ในศตวรรษต่อมายิ่งลำเค็ญ อับจน และเสี่ยงขึ้นกว่าเดิม”[1]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพม่า ก็ได้มาชักชวนไทยให้เข้าสนับสนุน แต่ไทยแสดงท่าทีไม่เอาด้วยกับคำเชิญชวน อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ยังพยายามที่จะชี้ให้ไทยเห็นถึงความจำเป็น โดยเฉพาะกับเมืองในปกครองต่างๆ ของไทยในบริเวณภาคใต้ซึ่งอยู่ใกล้กับพม่า และมีความระแวงภัยพม่าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รัฐบาลอังกฤษที่เกาะปีนังจึงส่งทูตมายังเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นดูแลหัวเมืองแถบภาคใต้ฝั่งตะวันตกอยู่เพื่ออธิบายเรื่องสงครามที่อังกฤษกำลังเป็นต่อในการรบกับพม่า ทูตผู้นั้นคือ เจมส์ โลว์ ผู้แปลวรรณกรรมสมัยจารีตของมาเลย์ชิ้นสำคัญ คือฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ หรือ ตำนานเคดะห์

เจมส์ โลว์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางทางบก เขาจึงออกเดินทางทางเรือ โดยเริ่มต้นจากเมืองเคดะห์ ผ่านถลาง พังงา ไปหยุดอยู่ที่ตรัง เพื่อรอคำตอบจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่าจะให้เข้าพบหรือไม่  เมืองเคดะห์ในขณะนั้น พระภักดีบริรักษ์ บุตรชายของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ปกครอง โลว์บรรยายสภาพของไทรบุรีว่า เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่ขาดเสน่ห์และศักยภาพในฐานะรัฐๆ หนึ่งเกือบทุกด้าน[2] เป็นภาพความเสื่อมโทรมของเคดะห์ภายหลังการโจมตีครั้งใหญ่โดยกองทัพสยามในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2364 ด้วยเหตุผลที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เป็นเพราะสุลต่านอาหมัด ทาจุดดิน (ตนกูปะแงรัน) เจ้าเมืองเคดะห์ไม่ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่ยอมปฏิบัติตามความต้องการของสยามในเรื่องเงินและกำลังสนับสนุนกองทัพของสยาม มิหนำซ้ำยังโอนเอียงไปทางพม่า[3] โดยลักลอบส่งสาส์นแสดงความร่วมมือเพื่อวางแผนทำสงครามกับไทย สำหรับสยามแล้ว พม่าเป็นคู่ต่อสู้ที่อาจสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้ไม่น้อย ภาพหลอนจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ตลอดจนการเข้าโจมตีถลางซึ่งอยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ.2328 และ พ.ศ.2353 ทำให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้มีอำนาจควบคุมหัวเมืองมลายูในนามของรัฐบาลสยามขณะนั้นถึงกับกล่าวว่าพม่า “เป็นศัตรู (ของสยาม) มาแต่ดึกดำบรรพ์” [4]

                        ในมุมมองของสยาม การหันเข้าหาพม่าของเคดะห์เป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจรับได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสยามถือว่าสุลต่านอาหมัด ทาจุดดิน (ตนกูปะแงรัน) เจ้าเมืองเคดะห์ในขณะนั้นเป็นผู้ที่สยามให้ความช่วยเหลือและรับรองสิทธิธรรมเหนือบัลลังก์เคดะห์เอง กล่าวคือสยามได้ใช้อำนาจปลดพระยาไทรบุรี (ดิยา อุดดิน) ออกตำแหน่งหลังการสิ้นพระชนม์ของสุลต่าน อับดุลเลาะห์ มุการ์รัม ชาห์ และได้ตัดสินปัญหาการวิวาทเรื่องความชอบธรรมในการขึ้นครองเคดะห์ระหว่างพระอนุชา และราชบุตรของสุลต่าน อับดุลเลาะห์ มุการ์รัม ชาห์ ด้วยการให้ตนกูปะแงรันพี่ชายคนโตได้เป็นเจ้าเมือง พร้อมทั้งส่งทหารราว 1,000 คน เดินทางมาเคดะห์พร้อมตนกูปะแงรัน[5] เพื่อเป็นหลักประกันว่าการตัดสินใจของสยามจะศักดิ์สิทธิเพียงพอ

                อย่างไรก็ตาม การลักลอบส่งสาส์นไปเข้ากับพม่าในมุมมองของเคดะห์ก็มีเหตุผลและอาจอธิบายได้ด้วยรากเหง้าทางวัฒนธรรมทางการเมืองของเคดะห์เองได้ นั่นคือเคดะห์ในฐานะรัฐเล็ก พร้อมที่จะผละจากอำนาจของศูนย์อำนาจใดศูนย์อำนาจหนึ่งได้เสมอเมื่อมีโอกาสในการสร้างความมั่นคงและอิสระให้แก่ตนเอง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถที่จะแสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับศูนย์อำนาจมากกว่าสองได้เช่นกันในสถานการณ์จำเป็น ดังที่เคดะห์ต้องเอาใจทั้งสยามและพม่าในบางช่วงเวลา[6] กล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสยาม โลว์มีความเห็นว่า สยามไม่ได้จริงจังกับเคดะห์มากนัก “เพียงแต่ปล่อยดินแดนเหล่านี้ให้อยู่อย่างสงบ จนกว่าจะมีเวลาว่างและเข้มแข็งแล้วเท่านั้นจึงจะเข้ามาบังคับ”[7] เฮนรี่ เบอร์นี่ ก็เข้าใจเช่นนี้ ในรายงานที่ส่งต่อเลขานุการรัฐบาลสเตรทเซทเทิลเมนท์เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ.2368 เขาแจ้งว่าท่าทีเช่นนี้ของสยามเป็นที่รับรู้กันดีในหมู่เจ้าเมืองในภาคใต้ โดยอ้างคำบอกเล่าจากพระยาถลางว่า “ในกรุงเทพฯไม่มีใครสนใจเคดามากนัก” เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้รายงานเรื่องเจ้าเมืองเคดะห์เอาใจออกห่างไปนานหลายปี กรุงเทพฯถึงได้มีคำสั่งออกมาง่ายๆ ว่า “ให้ท่านทำได้ตามใจชอบเกี่ยวกับกษัตริย์องค์นั้น” [8] หรือหากย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าหลังจากเคดะห์รับศาสนาอิสลาม สุลต่านก็ได้เดินทางไปมะละกาเพื่อรับเครื่องหมายแห่งเกียรติยศจากกษัตริย์มาเลย์ (มะละกา) แทนที่จะรับจากสยาม ในทำนองเดียวกัน สยามก็ไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อโปรตุเกสเข้ามาโจมตีเคดะห์เมื่อปี พ.ศ.2154 เหมือนกับตอนที่สุลต่าน อิสกันดาร์ มูดา แห่งอาเจะห์โจมตีเมืองเคดะห์และจับเจ้าเมืองไปคุมขังก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดจากสยามที่จะช่วยเหลือเคดะห์ หรือแม้เมื่อชาวบูกิสถูกชักนำให้เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งกษัตริย์อันเป็นเรื่องภายในประเทศ ในที่สุดเมื่อสุลต่านเคดะห์ยกเกาะปีนังให้แก่บริษัทอิสท์อินเดียคอมปานีเมื่อปี พ.ศ.2329 เพื่อแลกกับการคุ้มครองทางทะเลของอังกฤษ[9]  สุลต่านก็ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากสยาม ทั้งยังปฏิบัติตัวราวกับกษัตริย์ที่ปกครองรัฐเอกราช อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อใดที่สยามเรียกร้องให้เคดะห์ช่วยเหลือด้านกำลังคน เงิน และเสบียงเพื่อใช้ในการสงครามของสยาม ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่[10]

ข้างต้นคือตัวตนทางวัฒนธรรมการเมืองของเคดะห์ในบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสยาม ชารอม อาหมัด ให้ความเห็นว่าเคดะห์จะยอมอยู่ใต้อาณัติของสยามตราบเท่าที่กษัตริย์สยามทรงมีพระราชอำนาจที่จะบังคับให้เป็นไปตามนั้น เมื่อใดที่พระราชอำนาจเสื่อมถอยลง การยอมตกอยู่ใต้อำนาจในฐานะเมืองขึ้นของสยามก็จะถูกสั่นคลอนไปด้วย[11]

อาหมัดระบุว่า การฟื้นฟูอำนาจของสยามเหนือเคดะห์เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลานี้ สยามฟื้นตัวจากความเสียหายในสงครามกับพม่าแล้ว จึงมีเวลาหันมาเอาใจใส่คาบสมุทรมลายูได้อีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงนี้ไปที่ตนกูปะแงรันปรารภกับรัฐบาลปีนังอยู่เสมอถึงข้อเรียกร้องและคำขู่ของสยาม สยามไม่เพียงแต่เรียกร้องความช่วยเหลือในด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เคดะห์ยกทัพไปปราบปรามเปรักซึ่งไม่ได้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองแสดงความสวามิภักดิ์ต่ออำนาจสยามด้วย จุดสำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างเคดะห์และสยามเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2364 เมื่อสยามโจมตีเคดะห์อย่างหนักจนตนกูปะแงรันต้องหลบหนีไปยังเกาะปีนัง กล่าวกันมีคนนับพันถูกฆ่าและอีกจำนวนมากถูกลักพาตัว ราชบุตรคนโปรดของตนกูปะแงรัน คือตนกูยาคอบพยายามจะหลบหนีแต่ก็ถูกจับตัวส่งไปยังสยาม เบนดาฮาราหรือหัวหน้าเสนาบดี ถูกจองจำในคุกและเสียชีวิตด้วยยาพิษในเวลาต่อมา[12] นอกจากนั้นยังกล่าวกันว่ากองกำลังสยามปล้นสดมภ์และทำลายทรัพย์สินอย่างย่อยยับ เจมส์ โลว์ เขียนรายงานอย่างเห็นภาพราวกับงานวรรณกรรมว่าสยามใช้อำนาจกับผู้พ่ายแพ้อย่างไร

 

                                กองทัพของสยามซึ่งยึดเมืองไทรบุรีได้นั้น มิได้กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยงผู้กระทำสงคราม พวกเขาแสดงให้เราเห็นว่าเป็นผู้ปล้นแผ่นดินที่ไร้ความกรุณาปราณีที่สุด ถือไฟและถือขวานเข้าไปในเมืองซึ่งปรากฏตามเหตุการณ์ในเวลาต่อมาว่าเขาจะยึดเอาได้ การปฏิบัติการอย่างไร้ความสำนึกของพวกเขา ไม่เพียงแต่จะกระทำแก่ประชาชนที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวและกำลังหลบหนีเท่านั้น แต่แม้กระทั่งต้นไม้ที่กำลังออกผลก็ถูกฟันทำลายลงอย่างป่าเถื่อน ชาวมลายูคนหนึ่งที่ได้สนทนากับข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เปรียบเทียบปฏิบัติการของพวกสยามว่าเป็น “การกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างน่าสลดใจ”...นอกจากนั้นยังทำลายขวัญของชาวพื้นเมืองเชื้อชาติผสมของเกาะปีนังที่อยู่ตามชายแดนใกล้เคียงกันนั้นด้วย[13]

 

ในสภาพเช่นนี้ เศรษฐกิจของเคดะห์ได้รับความกระทบเทือนอย่างหนัก ไม่เฉพาะแต่ประชาชนชาวเคดะห์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้าพาณิชย์ของชนชั้นนำเคดะห์ที่เปราะบางอย่างยิ่งด้วย เนื่องจากการค้าขายได้เปลี่ยนเส้นทางจากปีนังไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันชาวมลายูราวหนึ่งพันคนก็ถูกส่งตัวไปเป็นทาสของกษัตริย์ วังหน้า และเสนาบดีสยามเกือบจะทุกคนในกรุงเทพฯ[14]

                หลังจากนั้นจนถึงปี พ.ศ.2385 สยามโดยเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้เข้าปกครองเมืองเคดะห์ โดยส่งบุตรชายสองคนไปดูแล อย่างไรก็ดี ในห้วงเวลาราว 20 ปีนี้ เจ้าเมือง-บุตรชายของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกต่อต้านหลายหนหลายครั้งด้วยกัน อย่างเช่นในปี พ.ศ.2369 และ พ.ศ.2372 หลานชายของตนกูปะแงรันคือตนกูมูอัมเหม็ด ซาอิด และตนกู กูดิน รวมกำลังเข้าต่อต้านสองครั้งแต่ล้มเหลว ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2374 ตนกู กูดิน ก็ได้พยายามอีกครั้งจนยึดเมืองเคดะห์คืนมาได้ราว 10 เดือน ในสถานการณ์ความวุ่นวายเหล่านี้ เมืองนครศรีธรรมราชสงสัยว่าอังกฤษเป็นผู้รู้เห็นด้วย แต่แสดงความวางเฉย ดังตอนหนึ่งในรายงานของเบอร์นี่ ว่า

 

                                “เขา (พระภักดีบริรักษ์-พิเชฐ) จะต่อว่ามาในเรื่องของกษัตริย์แห่งเคดา ซึ่งตัวเขากับจอมพยาบานหาว่าพระองค์ส่งจารชนและสายลับเข้ามาในเขตของเคดาเสมอ เพื่อจะก่อความสงสัยให้กับคนสยามและยุยงให้คนมาเลย์ในเคดาคิดขบถต่อคนสยาม ข้าพเจ้าได้ให้ความแน่ใจแก่เขาว่า รัฐบาลของเราได้ตักเตือนกษัตริย์แห่งเคดาแล้ว มิให้ปฏิบัติอย่างนั้น...เขายิ้มกับคำพูดของข้าพเจ้าซึ่งแสดงว่าเขาไม่เชื่อ อีกประการหนึ่ง เขาเชื่อแน่ว่ามีญาติหรือคนใกล้ชิดของกษัตริย์แห่งเคดาเข้ามาปล้นสะดมเยี่ยงโจรสลัดในเขตแดนของเขา (เคดะห์-พิเชฐ) รัฐบาลอังกฤษก็รู้ แต่ไม่ว่าอะไร” [15]

 

                ความไม่ไว้วางใจข้างต้นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะปีนัง จนตัวพระองค์ได้กลายเป็นปมปัญหาใหม่ในท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสยาม ที่อังกฤษพยายามหาทางแก้ไขว่าจะให้ลี้ภัยอยู่ที่ปีนังต่อไปดีหรือไม่ ควรส่งเขาไปมะละกาหรือจะให้ไปขออภัยโทษต่อกษัตริย์แห่งสยามที่กรุงเทพฯดี เพราะตราบใดที่อดีตกษัตริย์แห่งเคดะห์ยังอยู่ที่นั่น “ความเชื่อถือหรือเข้าใจอันดีระหว่างคนอังกฤษกับคนสยามจะมีไม่ได้” [16] ทั้งยังเป็นความไม่ไว้วางใจที่ย่อมมีเชื้อมูลอยู่บ้าง บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย.อันดายา (Barbara Watson Andaya, Leonard Y. Andaya) ยืนยันว่ามีชาวยุโรปในสเตรทส์เช็ตเติลเมนท์บางคนให้การสนับสนุนการต่อต้านสยามของเชื้อวงศ์เคดะห์อยู่จริง ซึ่งรวมทั้งพ่อค้าชาวมลายู และชาวมลายูทั่วไปด้วย การที่การต่อต้านขยายวงจนดึงดูดหลายฝ่ายนอกเคดะห์ให้เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ทั้งในที่ลับและที่แจ้งนี้ นักวิชาการทั้งสองตีความว่าเป็นการต่อต้านสยามที่มีลักษณะเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ (jihad) ซึ่งไม่เพียงต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ใช่มลายูเท่านั้น แต่ยังต่อต้านคนนอกศาสนา (kafir) อีกด้วย[17]

ดังกล่าวแล้วว่าภาพบรรยายถึงเมืองเคดะห์ที่แทบจะไม่ต่างอะไรกับหมู่บ้านซอมซ่อแห่งหนึ่งที่เจมส์ โลว์ วาดขึ้นคือภาพในห้วงเวลาหลังสงครามสยามครั้งใหญ่และสยามกับอังกฤษมีปัญหาเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของตนกูปะแงรันนั่นเอง แน่นอนว่าในความรับรู้ของโลว์ เคดะห์ที่แท้จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โลว์เห็นว่าบริเวณนี้คือแหล่งทองคำ เพราะเขา “มีรายชื่อยาวเหยียดของสถานที่ในแหลมซึ่งเป็นแหล่งที่ได้พบโลหะชนิดนี้ และได้มีการจ้างผู้คนนับพันๆ มาค้นหาโลหะนี้เป็นครั้งคราว” และเขายังได้รับรู้ว่าระหว่างการยึดครองของสยามนั้นมีการขนข้าวของต่างๆ ออกไปยังปีนัง “ในบรรดาสิ่งของที่ถูกนำข้ามไป...ก็มีผงทองคำ ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่เป็นที่รู้ประจักษ์ในบรรดานักเขียนซึ่งได้เขียนไว้ว่าแหลมมะละกาไม่เคยเป็นแหลมทอง” [18] 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่โลว์เท่านั้นที่รู้ หรืออย่างน้อยก็พยายามที่จะเรียนรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเคดะห์นั้นเป็นเช่นไร ทว่าพ่อค้าและข้าราชการชาวอังกฤษทั้งก่อนหน้าและในห้วงเวลานั้นก็คงรับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน ที่เด่นชัดที่สุดก็คือภูมิรัฐศาสตร์ที่เราเข้าใจกันว่าสร้างปัญหาให้กับเคดะห์นั้นแต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเสน่ห์ในฐานะจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของการควบคุมเส้นทางการค้า เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ทั้งเป็นเมืองท่าที่อำนวยต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ มีเส้นทางบกติดต่อไปมาได้ระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันของคาบสมุทร มหาอำนาจใดที่หวังควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดียก็ต้องควบคุมศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองในบ้านเมืองแถบนี้[19] ในหมู่ชาวอังกฤษที่เกาะปีนัง เคดะห์ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียง เป็นที่สนใจและมีความคิดที่จะเชื่อมประสานเคดะห์เข้ากับเศรษฐกิจของปีนังภายใต้การดูแลของอังกฤษ เนื่องจากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต[20] แม้โดยนโยบายทางการปกครอง อังกฤษจะกล่าวอ้างถึงการครองแบบเสรีนิยมที่จะเปิดโอกาสให้กษัตริย์พื้นเมืองมีอำนาจเป็นเอกราช และจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน (ซึ่งอังกฤษระบุว่าเป็นการปกครองที่แตกต่างไปจากสยาม)[21]  แต่ก็คงเป็นเอกราชที่อังกฤษอยู่ในฐานะผู้ปกป้องดูแลเหมือนผู้ใหญ่ดูแลเด็ก หรือผู้มีอารยธรรมสูงกว่าให้การคุ้มครองคนพื้นเมือง ทั้งนี้ก็เพราะอังกฤษเชื่อในหลักการที่ว่า “ประเทศที่มีกำลังน้อยมีสิทธิที่จะป้องกันตัวด้วยการอาศัยความช่วยเหลือของประเทศที่มีกำลังมากกว่าอีกประเทศหนึ่ง และประเทศที่มีกำลังมากอีกประเทศหนึ่งนั้นก็ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือ ถ้าการช่วยเหลือนั้นเหมาะสมกับประโยชน์ของเขา” [22]  แม้ว่าแท้แล้วพ่อค้าและข้าราชการอังกฤษล้วน “ทราบกันอยู่แล้วว่าการเป็นเจ้าของเมืองเคดานั้นเป็นเป้าหมายอันสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ” [23] โรเบิร์ต ฟุลเลอร์ตัน ข้าหลวงแห่งเกาะปีนังมีความเห็นว่า ปัญหาระหว่างสยามกับเคดะห์จะหมดไป “ถ้ากษัตริย์แห่งเคดามอบราชอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดให้แก่รัฐบาลอังกฤษ แทนที่จะให้แต่เกาะปีนัง” [24]

                กล่าวได้ว่าความปรารถนาเคดะห์ของชาวอังกฤษนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนอำนาจของอังกฤษจะตั้งมั่นที่เกาะปีนัง ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์กับฝรั่งเศสและความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศจีน[25] แสดงให้เห็นตั้งแต่ช่วงที่ฟรานซิส ไลท์ มีบทบาททางการค้าอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมาแล้ว ไลท์เป็นพ่อค้าเอกชน ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเกาะปีนัง เขามีประโยชน์ทางการค้าอย่างกว้างขวางในฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร ในระยะเวลาที่มีข่าวลือและสถานการณ์ที่เป็นจริงว่าวิลันดาและ/หรือฝรั่งเศสจะเข้ามาสถาปนาอำนาจในดินแดนแถบนี้ ไลท์มองเห็นความหายนะของผลประโยชน์ของตนเอง จึงพยายามเรียกร้อง ผลักดัน ทั้งด้วยการโป้ปดคดโกงแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้บริษัทอังกฤษยึดดินแดนหนึ่งแถบนี้เพื่อรักษาประโยชน์ทางการค้าของเขาเอง ดังที่เขาได้วิ่งเต้นให้บริษัทอีสต์อินเดียยึดปากน้ำไทรบุรี ถลาง มะริด[26]

                บทบาทของสยามในเคดะห์ (รวมถึงหัวเมืองมลายู) ซึ่งอังกฤษเปรียบเทียบว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในนี้ก็ทำให้อังกฤษซึ่งให้ความสำคัญกับบริเวณนั้นอยู่แล้วต้องทบทวนถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเคดะห์ในทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง แต่เนื่องจากความขาดแคลนหลักฐานเอกสารพื้นเมือง บางครั้งรัฐบาลอังกฤษก็ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ดังกรณีของฟรานซิส ไลท์ที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษในกัลกัตตาภายหลังถูกถามถึงสถานภาพของเคดะห์ ไลท์แจ้งว่า “ไม่มีปรากฏหลักฐานใดๆ ทั้งเอกสารและขนบประเพณีที่แสดงว่าเคดะห์เคยถูกปกครองโดยสยาม”

 

                                ประชาชนเคดะห์เป็นสืบเชื้อสายมาจากมะโหมตัน (?) (Mahometon) ใช้อักษรอารบิก ภาษายาวี กษัตริย์ดั้งเดิมมาจากมินังกาเบาในสุมาตรา แต่เนื่องจากเคดะห์อยู่ใกล้กับลิกอร์ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรสยาม พวกเขาจึงได้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้แก่สยามทุกๆ 3 ปี แสดงความนับถือต่อลิกอร์ เพื่อรักษาความสัมพันธ์[27]

 

                ไมเออร์ วิจารณ์ว่ารายงานของไลท์ดังกล่าวส่อแสดงถึงความใส่ใจทางประวัติศาสตร์ที่จำกัด และเป็นเพียงข้อมูลจากการคาดเดาของพ่อค้าเอกชนผู้นี้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า บางทีไลท์อาจจะไม่รู้เกี่ยวกับฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นตัวบทลายลักษณ์หรือที่เป็นมุขปาฐะ หรือไม่ก็เขาอาจไม่เห็นว่ามันมีคุณค่าพอที่จะใส่เข้าไปในรายงานที่เป็นทางการเนื่องจากเห็นว่าฮิกายัตเรื่องนี้เป็นงานเขียนของชนพื้นเมืองที่ยังไม่มีอารยธรรมพอ (เมื่อเทียบกับชาวอังกฤษ) คนเหล่านี้อาจไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดีเมื่อหน้าที่ทางการทูตของอังกฤษตกมาถึงเฮนรี่ เบอร์นี่ และเจมส์ โลว์ ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเคดะห์ก็เริ่มที่จะเป็นระบบขึ้น แต่ก็ยังเป็นระบบที่คำรายงานของไลท์ยังมีความสำคัญในฐานะกรอบโครงเรื่องใหญ่ที่ใช้ในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเคดะห์ รัฐบาลและนักวิชาการชาวอังกฤษมักโอนเอียงไปทางรายงานที่ไมเออร์เห็นว่าแสดงถึงข้อจำกัดด้านความรู้ประวัติศาสตร์ของไลท์ ความเชื่อมั่นของไลท์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเคดะห์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับสยามกลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการถกเถียงของชาวอังกฤษ ซ้ำยังถูกอ้างอิงครั้งแล้วครั้งเล่าจากจอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson-ผู้แทนทางการเมืองของอังกฤษประจำเประและสลังงอร์ และมีหน้าที่เป็นผู้แปลภาษามลายูให้แก่ทางการ) แสตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Stamford Raffles-ผู้มีบทบาทในการก่อตั้งเมืองท่าที่สิงคโปร์) และเจ้าหน้าที่-นักวิชาการในศตวรรษต่อมา เช่น แฟรงท์ สเวตเตนแฮม (Frank Swattenham) บนฐานความรู้ หรือกรอบโครงเรื่องแม่บทที่สืบทอดมาจากไลท์ เจ้าหน้าที่และนักวิชาการชาวอังกฤษเหล่านี้พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้น รัฐบาลอังกฤษผิดพลาด (ทางศีลธรรม) ที่ปฏิเสธการช่วยเหลือให้สุลต่านอาหมัด ทาจุดดิน อาลิม ชาห์ได้กลับสู่บังลังก์หลังต้องประสบชะตากรรมในสงครามกับสยามเมื่อ พ.ศ.2364[28] ในปี พ.ศ.2368 ข้าหลวงแห่งเกาะปีนังได้สรุปรายงานว่า เมื่อได้ตรวจสอบหลักฐานราชการ ตำนานพื้นเมือง และอารมณ์ความรู้สึกของกษัตริย์ในรัฐมลายูแล้ว รัฐบาลสยามไม่มี “สิทธิ” เหนือเคดะห์ (และรัฐมลายู) ที่ผ่านมาสยามใช้แต่ “อำนาจ” เท่านั้น ดังตอนหนึ่งว่า

 

                                รัฐบาลสยามมีแผนการที่จะครองความเป็นใหญ่เหนือแหลมมลายูทั้งแหลม แต่มันเป็นเรื่องถือเอาเองโดยพลการ ไม่มีการพิสูจน์ถึงสิทธิแต่อย่างใด ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหลักฐานทางราชการที่สามารถนำออกมาแสดงได้ นอกจากขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมากกว่า 700 ปีแล้ว และพงศาวดารของทุกรัฐก็ปรากฎว่าไม่เป็นความจริง เท่าที่ได้สอบทานกับตำนานของมาเลย์มาแล้ว และเราได้พบในประวัติศาสตร์ของมลายูว่า สงครามระหว่างประเทศสยามกับรัฐต่างๆ ในแหลมมลายูได้เกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งรัฐมลายูเป็นฝ่ายชนะโดยทั่วๆ ไป แต่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าใครขึ้นกับใครหรือใครครอบครองใคร คนมาเลย์ไม่เคยอยู่ใต้อำนาจของคนสยาม เขาทั้งสองต่างกันโดยเผ่าพันธุ์ การสืบเชื้อสาย ศาสนา และภาษาพูด รัฐมาเลย์ต่างๆ มีความอ่อนแอ ส่วนประเทศสยามก็มีกำลังแข็งแรง เพราะฉะนั้นการตกเป็นเมืองขึ้นจึงเนื่องมาจากอำนาจไม่ใช่สิทธิ ประเทศสยามถือโอกาสจากความที่อยู่ใกล้ชิดกันเข้าครอบครองประเทศเพื่อนบ้านโดยพลการ การอ้างสิทธิซึ่งผู้อ้างไม่เคยมีและพิสูจน์ไม่ได้ และรัฐที่ถูกเขาครอบครองก็ไม่เคยยอมรับรู้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และต้องถือว่าเป็นโมฆะ และไม่มีสิทธิที่จะเข้าขัดขวางเมื่อรัฐนั้นต้องการจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอีกรัฐหนึ่ง[29]

 

                ข้อสรุปของข้าหลวงแห่งเกาะปีนังยืนยันให้เห็นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะดำรงอยู่เช่นไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับบริบทที่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นถูกสร้างขึ้น ตลอดจนเป้าหมายที่เรื่องเล่านั้นๆ ต้องการ บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา เห็นว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในคาบสมุทรมลายู และสุมาตรานั้นส่งผลถึงความรู้ทางวิชาการหรือประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับดินแดนเหล่านี้ด้วย การแบ่งแยกอาณาเขตของ “ฮอลันดา” และ “อังกฤษ” ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือการแบ่งแยกอำนาจทางการเมืองที่ได้กระทบกระเทือนถึงวาทกรรมความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสำคัญ ดังเช่นคนรุ่นใหม่ของ “นักบูรพาคดี” ชาวอังกฤษไม่มุ่งสะสมและรวบรวมหลักฐานของมลายูที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับคาบสมุทร ปล่อยให้การศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมมลายูในสุมาตราและบอร์เนียวตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องของฝ่ายฮอลันดาไป[30] ความรู้เหล่านี้สัมพันธ์กับจุดยืนทางการเมืองอันจะนำไปสู่การตีความที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเป้าหมายเชิงอำนาจบางอย่าง บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา กล่าวถึงการแปลวรรณกรรมพื้นเมืองเรื่อง Sulalat Us-Salatin ของจอห์น เลย์เดน (John Leyden) เมื่อปี พ.ศ.2464 โดยเลย์เดนให้ชื่อเรื่องซาเจเราะห์ มลายู ว่า “ประวัติศาสตร์ของชาวมลายู” ซึ่ง “บอกให้รู้ล่วงหน้าถึงการเข้าครอบครองโดยไม่มีสิทธิของอังกฤษที่มีมากขึ้นในการเป็นผู้ตีความของสังคมมลายู” [31]

 

การปรากฏตัวของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์

 

                        ในบริบททางการเมือง และด้วยกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับชนพื้นเมืองของชาวอังกฤษดังที่กล่าวมาข้างต้นนี่เองที่ได้เกิดการปรากฏตัวของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ขึ้นมา อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ากว่า 4 ทศวรรษ ก่อนเจมส์ โลว์ตีพิมพ์ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ เป็นภาษาอังกฤษ จอห์น เลย์เดนได้เข้ามาที่เกาะปีนังเมื่อ พ.ศ.2348 เขาใช้เวลาในช่วง 3 เดือนที่อยู่บนเกาะนี้ศึกษาภาษามลายู และเก็บรวบรวมเอกสารตัวเขียนต่างๆ แต่ในบัญชีรายชื่อต้นฉบับวรรณกรรมมาเลย์ที่เลย์เดนรวบรวมได้ไม่ปรากฏชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เคดะห์ หรือฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ แต่อย่างใด[32] ขณะที่เฮนรี่ เบอร์นี่ และแสตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ ก็ไม่เคยรู้จักตำนานเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ความเงียบเกี่ยวกับฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ที่น่าประหลาดใจมากกว่าก็คือกรณีของแอนเดอร์สันซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทอีสต์อินเดีย ที่เกาะปีนังตั้งแต่ปี พ.ศ.2365 ในตำแหน่งผู้แปลภาษามาเลย์ของรัฐบาลอังกฤษ แอนเดอร์สันได้พบกับสุลต่านปะแงรันได้โดยตรง เพราะพระองค์หลบหนีสยามไปอยู่ที่นั่นในห้วงเวลาที่แอนเดอร์สันเข้ามา แต่เขาก็กล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างเคดะห์กับสยามบนฐานรายงานของไลท์ ไม่ได้อ้างอิงถึงแบบแผนของความสัมพันธ์ที่มีร่องรอยอยู่ในตำนานหรือประเพณีทางการเมืองที่ปรากฏในตำนานเรื่องนี้  โดยเขาเห็นเหมือนไลท์ว่าการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเพียงมารยาทของรัฐเล็กหรือรัฐผู้น้อย ไม่ได้ชี้ถึงสิทธิในการครอบงำของสยามแต่อย่างใด[33]

                จากที่กล่าวมาทำให้เข้าใจได้ว่าในบรรดานักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และพ่อค้าชาวอังกฤษในแหลมมลายูไม่เคยมีใครรู้จักฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2392 เมื่อโลว์ทำฉบับแปลเสร็จแล้วนำไปตีพิมพ์ในวารสารหมู่เกาะอินเดียและเอเชียตะวันออก (Journal of the Indian Archipelag and Eastern Asia) โดยให้ชื่อว่า “บทแปลพงศาวดารเคดะห์ ตอนฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ และเค้าร่างของลักษณะสมัยโบราณของชาติหนึ่งในเอเชียกลางที่เกี่ยวข้องกับมาเลย์” (Translation of the Kaddah Annals, termed Marong Mahawangsa, and Sketches of the Ancient Condition of some of the Nation of Eastern Asia with Reference to the Malays) เขาชี้แจงไว้ในบทเกริ่นนำว่า ได้รับต้นฉบับฮิกายัตเรื่องนี้มาจากสุลต่านปะแงรันผู้เคราะห์ร้ายแห่งเคดะห์เองเมื่อปี พ.ศ.2373 โลว์เรียกฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ว่าเป็นงานเขียนทาง “ประวัติศาสตร์ของเคดะห์บนคาบสมุทรมลายู” [34]

                        สิบปีก่อนหน้าการตีพิมพ์ คือในปี พ.ศ.2380 เมื่อโลว์ได้รวบรวมรายงานเสนอต่อเวลส์ สิงคโปร์ และมะละกา โลว์ระบุว่า เขาได้พูดคุยกับอดีตราชาผู้พลัดถิ่นแห่งเคดะห์ และสอบถามถึงลักษณะแต่โบราณของเคดะห์ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ได้รับเอกสารทางประวัติศาสตร์มาชิ้นหนึ่ง หลังจากที่ได้ตรวจสอบโดยละเอียดแล้ว สุลต่านปะแงรันก็ได้ให้เลขานุการคัดสำเนาให้โลว์ และจากเอกสารชิ้นนี้นี่เองที่ความเป็นมาของความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างเคดะห์และสยามได้ถูกเปิดเผย[35]       

                โลว์ภาคภูมิใจในการค้นพบของเขามาก โดยกล่าวว่าตนเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เห็นฮิกายัตสำคัญเรื่องนี้[36] โลว์สนใจฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ในฐานะเอกสารที่จะแสดงความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มทั่วไปที่สามารถเห็นได้จากกระบวนการสร้างความรู้จากเอกสารพื้นเมืองของนักวิชาการชาวตะวันตกในบริเวณคาบสมุทรมลายูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในมุมมองของโลว์ความจริงที่เขาพึงสกัดได้จากฮิกายัตจะทำให้การวางนโยบายทางการค้าของอังกฤษในดินแดนแถบนี้ถูกต้องด้วย[37] อย่างไรก็ดี การมีฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ก็เป็นเพียงการตอกย้ำ “รายงานของผู้เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างจำกัด” อย่างไลท์เท่านั้น ฮิกายัตเรื่องนี้สามารถขจัดความคลางแคลงสงสัยต่อสิทธิธรรมเหนือบัลลังก์ของสุลต่านพลัดถิ่นแห่งเคดะห์ได้ก็จริง แต่มันก็เป็นเพียงการตอกย้ำความคาดหวังของอังกฤษที่จะพิสูจน์ความไม่มีสิทธิของสยามซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ได้เป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำวาทกรรมอำนาจของอังกฤษที่สร้างขึ้นจากการตีความบนฐานของผู้ที่ (ลึกๆ แล้ว) ปรารถนาจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือเคดะห์และรัฐบริเวณคาบสมุทรอยู่แล้ว  คำอธิบายเรื่องดอกไม้เงินดอกไม้ทองจึงถูกเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกเพื่อยืนยันว่า ดอกไม้เงินดอกไม้ทองที่เคดะห์ส่งให้แก่สยามในสมัยราชาศรีมหาวงศ์ (กษัตริย์พระองค์ที่ 3) เป็นเพียงมารยาทของความเป็นผู้น้อย (น้องชาย) ไม่ใช่การยินยอมอยู่ใต้อาณัติครอบงำ[38]

                ไมเออร์ กล่าวว่าโลว์เดินทางเข้ามาสู่คาบสมุทรเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วหากเทียบกับปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เคดะห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กลายเป็นดินแดนสำคัญที่เป็นที่สนใจของข้าราชการแห่งบริษัท อีสต์อินเดียตะวันออกของอังกฤษ ในปี พ.ศ.2329 ฟรานซิส ไลท์ เข้าไปปีนังโดยนามของพระเจ้าจอร์สที่ 3 แต่การครอบครองปีนังของอังกฤษก็ไม่เคยได้รับอนุญาตจากเคดะห์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเหนือเกาะแห่งนี้อย่างชัดเจนนัก[39] แต่ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ ปีนังก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อพัฒนาการของช่องแคบมะละกา ในปี พ.ศ.2345 อังกฤษก็ทำข้อตกลงกับปีนังว่าจะเป็นมิตรกันเหมือนทะเลและแผ่นดิน ยาวนานเหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์[40] การเติบโตของปีนังภายใต้อำนาจของอังกฤษดูจะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีของความเจริญที่คนพื้นเมืองจะพึงได้รับเมื่อพวกเขาตัดสินใจเข้ามาสัมพันธ์อยู่ในวงรัศมีแห่งอารยธรรมของอังกฤษ สิ่งนี้ตอกย้ำความเชื่อของอังกฤษที่ว่าตนมีอารยธรรมเหนือกว่า สามารถปกป้องคนพื้นเมือง เป็นตัวแบบแห่งปัญญา และสามารถมอบอนาคต (ที่ดีกว่า) ให้แก่ชาวมลายู[41] และสำหรับเจมส์ โลว์ อนาคตที่ดีกว่านี้ซุกซ่อนอยู่ในฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ นั่นเอง

 

ภาษา การแปล และการเมือง

 

                ฮิกายัตมะรง มหาวงศ์ ถือเป็นสิ่งอ้างอิงทางการเมืองชิ้นใหม่สำหรับอังกฤษ เป็นงานเขียนพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคที่มีงานเขียนเกี่ยวกับดินแดนบนคาบสมุทรเกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น ทั้งเรื่องราวจากความทรงจำส่วนตัว ข้อเขียนบันทึกการเดินทาง ข้อมูลเชิงสถิติ รวมถึงวรรณคดี ซึ่งประเภทหลังเกิดขึ้นมากมายในซาราวัก ขณะที่การขยายตัวของระบบราชการไทยก็เป็นเหตุให้เกิดเอกสารมากมายที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสยามและมลายู ศตวรรษนี้ถือเป็นยุคทองของงานเขียน โดยเฉพาะในกรณีของงานเขียนท้องถิ่นนั้น  ถือเป็นยุคแรกๆ ที่ชาวยุโรปได้นำวรรณกรรมมุขปาฐะของคนพื้นเมืองมาเขียน (หรือเขียนขึ้นตามคำสั่งคนท้องถิ่น) ก่อนจะนำไปตีพิมพ์เผยแพร่[42]

ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ทำให้โลว์ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่สนใจศึกษาค้นคว้าเมืองเคดะห์ ทั้งยังเป็นคนแรกที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีของชาวสยาม[43] เขาใช้ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์เป็นศูนย์กลางในการอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายของอังกฤษและประวัติศาสตร์ของดินแดนบนคาบสมุทรมลายู การที่โลว์ได้รับต้นฉบับสำเนาฮิกายัตมาจากมือสุลต่านปะแงรันเองทำให้เขามีความเชื่อมั่นว่าเรื่องเล่าเรื่องนี้จะสามารถอธิบายประวัติศาสตร์ของเคดะห์ได้อย่างถูกต้อง งานเขียนชิ้นนี้ทำให้โลว์ถึงกล้าประกาศว่า “ประวัติศาสตร์ของเคดะห์ไม่ได้ว่างเปล่าดังที่เข้าใจกัน” ซึ่งเขาก็ได้ทำ (แปลและเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ) ให้เห็นแล้ว[44]

เจมส์ โลว์ ก็เหมือนชาวตะวันตกในยุคอาณานิคมโดยทั่วไปที่มีความสนใจในลักษณะประจำชาติของชนพื้นเมืองในดินแดนที่ได้เข้าไปอยู่ เมื่อประกอบกับภาระหน้าที่ทางการในฐานะของทูตที่ต้องติดต่อประสานงานกับรัฐบาลในประเทศพื้นเมืองด้วยแล้ว การเรียนรู้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสร้างความรู้เกี่ยวกับรัฐบาลและชนชาตินั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โลว์ได้แสดงให้เห็นว่าเขาได้พยายามเรียนรู้ลักษณะนิสัยของชาวสยามมาเป็นอย่างดี และได้ให้ข้อแนะนำถึงวิธีปฏิบัติของคณะทูตว่าสิ่งที่ต้องกระทำก่อนอื่นก็คือการศึกษาลักษณะนิสัย หรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่จะติดต่อด้วยเป็นเบื้องต้น สำหรับกรณีไปติดต่อราชสำนักสยาม เขาเห็นว่า “ควรจะศึกษาความรู้สึกของราชสำนักดูเสียก่อน” หลังจากนั้นก็ให้สังเกตสัญลักษณ์ในพิธีกรรมต่างๆ ที่ราชสำนักแสดงต่อคณะทูตก็จะเห็นได้ว่าการเจรจาจะง่ายดายหรือยุ่งยาก เขากล่าวว่า “ถ้าหากพวกเขาหัวอ่อนเชื่อง่าย ก็อาจทำให้พวกเขายอมรับข้อผูกมัดทั้งหลายนั้น และจะแน่ใจได้ก็ด้วยการต้อนรับคณะทูตด้วยพิธีการที่ยิ่งใหญ่สูงสุด” [45]

 

                                ถ้าหากเป็นไปได้ บุคคลซึ่งจะทำหน้าที่ทูตไปยังต่างประเทศ ควรทำตนเองให้คุ้นเคยกับภาษาของพลเมืองประเทศนั้น ตลอดจนขนบธรรมเนียมและความรู้สึกนึกคิดอันแปลกประหลาดของเขาเกี่ยวกับระเบียบแบบแผน มิฉะนั้นเขาจะต้องเผชิญภาระหนักซึ่งเขาได้อาสาเข้าทำด้วยความยากลำบาก เบื่อหน่าย และไม่เป็นที่น่าพอใจ ความสำเร็จในระหว่างชาติที่มีอารยธรรมครึ่งๆ กลางๆ ทั้งหลายนั้น ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ศึกษาอย่างพิถีพิถันในระเบียบแบบแผนมากกว่าสรรพสิ่งทั้งปวง...แต่จากความผิดหวัง (ในการติดต่อ-ทำสัญญา-พิเชฐ) ก็ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น และจะเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้เสมอๆ คณะทูตทุกๆ คณะต้องเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ความรู้ทั่วๆ ไป ที่เรามีสะสมไว้แล้วไม่มากก็น้อย[46]

 

                ด้วยวิธีคิดเช่นนี้นี่เอง ทำให้เจมส์ โลว์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารยศร้อยเอก เป็นชาวอังกฤษที่เฉลียวฉลาด ช่างสังเกต  เขาพูดภาษาไทยได้ และเป็นนักค้นคว้าที่มีความมุ่งมั่นคนหนึ่ง เอาใจใส่ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นพอๆ กับความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษ ดังเขาแสดงเจตจำนงค์ตอนหนึ่งว่า “จุดประสงค์ของข้าพเจ้าก็คือจะรวบรวมข้อเท็จจริงตลอดจนหลักฐานอ้างอิงทั้งหลายที่น่าเชื่อให้มากที่สุดเท่าที่ความสนใจในประวัติศาสตร์ของสยามมาเป็นเวลานานของข้าพเจ้าจะทำให้ข้าพเจ้าสามารถทำได้ และหลักฐานเหล่านั้นจะได้รับมาโดยปราศจากข้อบิดเบือนทางการเมือง”[47]

ระหว่างการเดินทางเข้าไปในดินแดนต่างๆ ของคาบสมุทร โลว์เปิดเผยว่าเขาได้ครอบครองต้นฉบับตัวเขียนภาษาไทยและภาษามลายูหลายฉบับ และ “อาจจะได้รับ (อีก) ในภายหลัง” [48] คนพื้นเมืองก็ดูเหมือนจะรับรู้ความปรารถนาของทูตอังกฤษผู้นี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างการรอคำตอบจากเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ที่ตรังว่าจะได้พบกับเจ้าพระยานคร (น้อย) หรือไม่ ทางเมืองนครศรีธรรมราชได้ส่งบุตรชายเจ้าเมืองมาพบโลว์ และแสดงความใส่ใจโลว์ด้วย “การสนทนาเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับสยาม” และถามโลว์ว่า “อยากได้หนังสือบ้างหรือไม่ ถ้าอยากได้เพียงแต่จดรายชื่อหนังสือที่ต้องการให้เขา เขาจะหาหนังสือมาให้ ข้าพเจ้าจึงรีบตอบรับความเอื้อเฟื้อนั้นโดยไม่รอช้า” [49] ความเอื้อเฟื้อนี้ลูกชายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต้องการแลกเปลี่ยนกับความรู้เรื่อง “แผนที่” หรือ “ลูกโลก”  และการทหาร[50] ซึ่งต่อมาโลว์ก็ได้มอบให้แก่คณะต้อนรับผ่านไปถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชอย่างมีอารมณ์ภายหลังจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมให้เข้าพบ สำหรับโลว์แล้ว แผนที่คือการสำแดงถึงความแตกต่างระหว่างผู้มีอารยธรรมแบบอังกฤษกับชนพื้นเมืองในบริเวณดินแดนแถบนี้ เป็นภาษาของอำนาจและความรู้ซึ่งผู้ปกครองจำเป็นต้องมีและต้องพูด แต่ประเทศสยามไม่มีความรู้แบบใหม่นี้ ทั้งๆ ที่ได้สำแดงตนเป็นผู้ปกครอง  ตอนหนึ่งหลังจากได้สนทนากับพระภักดีบริรักษ์ ผู้ครองเมืองเคดะห์ โลว์รายงานว่า

 

                                ที่จริงถ้าเวลาอำนวยให้ข้าพเจ้าได้อธิบายให้เขาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ซึ่งเขายังโง่งมยิ่งนัก ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่คนหนุ่มคนนี้มากทีเดียว โดยทั่วไปแล้วคนไทยมีความรู้น้อยมาก เกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์ ถึงกระนั้นก็มีความชำนาญคล่องแคล่วในการบรรยายภูมิประเทศพอประมาณในแบบของพวกเขา ความไม่รู้นี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ชาวสยามเย่อหยิ่งยะโส และหุนหันพลันแล่น และทำให้ตามืดตามัวไม่รู้ว่าฐานะตำแหน่งอันแท้จริงของตนในระหว่างชาติต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร พวกเขาพึงพอใจในแผนที่ต่างๆ จะไม่เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องจัดหาแผนที่อินเดียให้เขาหลายฉบับโดยต้องเติมอักษรไทยลงในแผนที่เหล่านั้นด้วย ถ้ามิฉะนั้นแผนที่เหล่านั้นก็เห็นจะเป็นเพียงเครื่องวัดที่ถูกต้องที่พวกเขาจะรู้ว่าพวกนั้นเขามีความสำคัญสักแค่ไหน นี้ก็อาจเป็นขั้นแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุงสติปัญญาความคิดของพวกเขาในอนาคต[51]

 

โลว์หวังว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจากแผนที่คือ “การปรับปรุงสติปัญญา” อันจะนำการยอมรับสถานภาพตัวเองของสยามในหมู่นานาประชาชาติ แผนที่ซึ่งเขาฝากไปให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้ซึ่ง “ตั้งใจเหนี่ยว (เขา) ไว้นานกว่าความจำเป็นในการเจรจา (และ)...เจตนาถ่วงเวลา” ด้วยการแสร้งเป็นไข้[52] เป็นความพยายามสำแดงอำนาจของความเป็นตัวแบบแห่งปัญญาความรู้ของชาวอังกฤษผ่านการแสดงออกอย่างนุ่มนวลในแบบของนักการทูต โลว์กล่าวย้ำกับตัวแทนจากนครศรีธรรมราชว่าแผนที่ทวีปเอเชียที่เขาสลักชื่อเมืองต่างๆ เป็นภาษาไทยให้แล้วจะต้องแน่ใจว่าต้องถึงมือเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะแผนที่ “จะช่วยให้เขาสามารถทราบได้เองว่าประเทศของเขานั้นไม่สลักสำคัญอะไรเลยเมื่อเปรียบเทียบตามแผนที่” [53]

หลังจากประสบความล้มเหลวในการเจรจากับสยามโดยผ่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชราว 12 ปี ระหว่างการเข้าไปสำรวจแหล่งดีบุกในเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ.2379 โลว์ไม่เพียงแต่พยายามสืบค้นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สภาพทางภูมิศาสตร์ และนามเมืองของปัตตานีเท่านั้น แต่เขายังได้พูดคุยกับชาวเมืองและพระสงฆ์จนกระทั่งได้รับรู้นิทานพื้นบ้านที่เล่าถึงเรื่องราวของเจ้าหญิงแห่งเคดะห์ที่เดินทางมาปกครองปัตตานี และได้เสนอเงื่อนไขให้เจ้าชายแห่งสยามซึ่งมาจากกรุงเทพฯเข้ายึดบัลลังก์จาก “เจ้าชีวิต” ที่สยามแล้วจะเข้าพิธีอภิเษกด้วย แต่เจ้าชายทรงปฏิเสธเพราะฐานกำลังไม่เพียงพอ เจ้าหญิงจึงขับไล่เจ้าชายออกไป แล้วจัดการปกครองปัตตานีด้วยตัวพระองค์เอง แต่ภายหลังสยามก็ส่งกำลังมายึดคืนได้อีกครั้ง[54] จะสังเกตได้ว่า แม้จะเป็นเรื่องราวของปัตตานี แต่สำหรับโลว์แล้ว นิทานเรื่องนี้สำคัญสำหรับเคดะห์ เพราะยืนยันถึงอำนาจทางการเมืองของเมืองที่น่าปรารถนาแห่งนี้ เขาใช้เอกสารของปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) พ่อค้าซึ่งเข้ามาค้าขายที่ปัตตานีในช่วงปี พ.ศ.2155-2156 เป็นข้อยืนยันว่านิทานเรื่องนี้สะท้อนความจริงอย่างน้อยตรงข้อมูลที่นิทานระบุว่าปัตตานีปกครองโดยผู้หญิง[55] ข้อมูลนี้เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องเอกราชของเคดะห์ในทางประวัติศาสตร์ซึ่งโลว์ (และอังกฤษ) มีอยู่แล้ว หากภาพที่ฟลอริสยืนยัน คือภาพของเมืองปัตตานีภายใต้การปกครองของราชินีฮีจูที่เป็นอาณาจักรการค้าที่รุ่งเรือง[56] สำหรับโลว์ความรุ่งเรืองนี้ก็ต้องเป็นผลมาจากเคดะห์

ไม่ปรากฏว่าหนังสือต่างๆ ที่โลว์จะได้รับจากลูกชายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีอะไรบ้าง แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเขาได้ครอบครองต้นฉบับตัวเขียนภาษาไทยและภาษามลายูอยู่จำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้มีเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชซึ่งเขาได้รับจาก “ชาวสยามที่น่านับถือคนหนึ่งผู้ซึ่งตั้งรกรากอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลของเรา (ปีนัง-พิเชฐ) หรือไม่ก็รวบรวมจากที่อื่น” ซึ่งโลว์ก็ “ได้เลือกคัดและแปลจากเอกสารลายลักษณ์อักษร” [57] ลงในรายงานที่เสนอต่อรัฐบาลด้วย ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชที่โลว์อ้างว่า “แปล” มานี้กล่าวถึงสยามที่สับสนวุ่นวายภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก จนมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “ตาก” ฉวยโอกาสประกาศตัวเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ไม่เป็นที่พอใจของขุนนางนักเนื่องจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดินเพื่อการสงเคราะห์ที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป และเข้มงวดในอำนาจและความยุติธรรม แต่เมื่อได้ขึ้นเป็นพระเจ้าตาก “เขาก็สลัดหน้ากากออก” กระทำตัวไม่เหมาะสม ปลอมพระองค์ไปเที่ยวกลางคืน ระหว่างการท่องเที่ยวหากพบผู้กระทำผิดก็จะถูกประหารทันที

ต่อมาพระเจ้าตากถูกท้าทายอำนาจจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่ก็ถูกตอบโต้จากเมืองพัทลุง (ที่เขาชัยบุรี) โดยเจ้าเมืองที่เคยบวชเป็นพระ ต่อมากองทัพพระเจ้าตากก็ลงมาช่วยจนปราบเมืองนครได้ ระหว่างนี้ทัพกองทัพก็ต้องต่อสู้กับพม่าที่ยกกำลังมานครศรีธรรมราชจนได้ชัยชนะ ขณะที่มณฑลทางเหนือก็ถูกโจมตีจากพม่าเช่นกัน ในช่วงเวลานั้นพระเจ้าตากก็ส่งกรมการให้ออกสำรวจสำมะโนผู้คนในนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ต่อมาอีก 2 ปีพม่าก็ยกทัพมารุกรานนครศรีธรรมราชอีก พระเจ้าตากส่งพระยาจักรี และพระยากลาโหมลงมาปราบ และคนหนึ่งได้แต่งงานกับนายพัดแก้ว (เจ้าพระยานครพัด?) ระหว่างนั้น พระยาจักรีและพระยากลาโหมเกิดความคิดขึ้นมาว่า “ถูกลดเกียรติ” เพราะ “บ้านเมืองถูกปกครองโดยคนต่างชาติ” แม่ทัพทั้งสองจึง “มีความปรารถนาร้อนแรงที่จะนำเอาเกียรติกลับคืนมา ถึงแม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะกลายเป็นการทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดินซึ่งพวกเขาสาบานว่าจะซื่อตรงจงรักภักดีก็ตาม” [58]

โลว์เล่าว่าหลังจากนั้นไม่นาน สยามก็ผลัดแผ่นดิน ชายาของพระเจ้าตากถูกส่งไปเป็นชายาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่เปิดศึกกับพม่าเพื่อขยายพระเกียรติแต่ก็ตกอยู่ในวงล้อมของพม่าเนื่องจากพระเจ้าอังวะแสร้างทำเป็นนบนอบ แต่เจ้าเมืองพัทลุงก็วางแผนจนสามารถฝ่ากองทัพพม่าออกมาได้ และย้อนกลับไปปราบได้ชัยชนะจนได้ยึดครองเมืองพม่าอีกครั้ง ต่อมาพม่าแข็งข้อ ยกพลเข้าโจมตีเมืองถลาง สยามได้กองทัพจากเมืองไทรบุรีและเมืองพัทลุงขึ้นไปสนับสนุนจนขับไล่พม่าออกไปได้ ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งแต่งงานกับชายาที่ทรงพระครรภ์ของพระยาตากถึงแก่อสัญกรรม มีคำสั่งให้เจ้าเมืองใกล้เคียงไปต้อนรับเจ้านายชั้นสูงจากกรุงเทพฯ ที่เสด็จมาร่วมงานที่นครศรีธรรมราช แต่เจ้าเมืองไทรบุรีไม่ยอมมา สยามโกรธแค้นจึงยกกำลังไปปราบ บุตรชายคนหนึ่งในจำนวนหลายคนของเจ้าเมืองไทรบุรีเสียชีวิตขณะต่อต้านสยาม “อย่างกล้าหาญ”

เรื่องราวประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชซึ่งเจมส์ โลว์ อ้างว่าได้แปลมาจากเอกสารที่ได้รับมาจากชาวสยามจบลงเพียงเท่านี้[59] แต่เขาได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเป็นพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์สยาม-เคดะห์ โดยระบุว่าการอ้างสิทธิเข้าครอบครองเคดะห์ของราชสำนักสยามมีอยู่ข้อเดียว คือการที่รายาพระองค์หลังๆ ของเคดะห์ยอมรับนับถืออำนาจและยอมขึ้นแก่สยามเป็นครั้งคราว โลว์ให้ข้อสรุปว่าประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชที่เขาแปลจากภาษาไทยนี้ “ไม่ได้กล่าวถึงว่ามีเครื่องบรรณาการของไทรบุรีรวมอยู่ในบรรดาเครื่องบรรณาการของนครศรีธรรมราชซึ่งส่งไปยังเมืองหลวงตามพระราชโองการของท้าอู่ทอง (Thao Othang) พระเจ้าแผ่นดินสยาม ผู้ทรงมีชัยชนะเมืองไทรบุรีเป็นคราวแรก ด้วยเหตุนี้สิทธิใดๆ ที่มีต่อเคดะห์ “ซึ่งพวกเขาอาจอ้างว่าประชาชนไทรบุรีสืบเชื้อสายมาจากสยามแต่เดิมนั้น ไม่มีเหตุผลที่จะพอรับฟังได้เลย”[60]

รายงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชฉบับนี้ รวมถึงนิทานเรื่องเจ้าหญิงแห่งเมืองปัตตานี แสดงให้เห็นความพยายามของเจมส์ โลว์ ในการสืบสาวความรู้แวดล้อมเคดะห์ “ดินแดนซึ่งขาดประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและสมบูรณ์” เพื่อสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ของเคดะห์ ประวัติศาสตร์ในเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องนี้คือ “สภาพแวดล้อมภายนอก” ที่โลว์ให้ความสำคัญ ดังตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “เราก็อาจคาดการณ์ได้ว่าประวัติศาสตร์ของภาษาของพวกเขาเหล่านี้จะช่วยนักภูมิศาสตร์ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมภายนอก และตำนานทางประวัติศาสตร์ย่อมมีค่าเสมอในกรณีที่ดินแดนนั้นขาดประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและสมบูรณ์”[61]

จะสังเกตได้ว่าโลว์กล่าวถึง “ตำนานประวัติศาสตร์” ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายงานสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-เคดะห์ ภายหลังเล่าเรื่องประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจบแล้ว ตำนานประวัติศาสตร์ก็เข้ามามีความสำคัญในการยืนยันถึงความเป็นเอกราชของเคดะห์ เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชที่เขาเล่ามีความสอดคล้องกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ (ซึ่งน่าเชื่อว่าคือตำนานประวัติศาสตร์ของเคดะห์) ที่ตรงข้ามกับข้ออ้างของราชสำนักสยาม ตำนานประวัติศาสตร์ฉบับที่โลว์ไม่ได้เอ่ยชื่อแสดงให้เห็นว่า “ครั้งหนึ่งไทรบุรีมีรายาปกครองโดยเป็นอิสระจากไทย และเชื้อสายของเขาได้ปกครองสืบทอดกันลงมา โดยมิได้มีการขัดจังหวะจนกระทั่งเจ้าชายองค์หนึ่งของตระกูลนี้ทรงเปลี่ยนไปถืออิสลาม” การเข้ามาใช้อำนาจของสยามเป็นครั้งคราวนั้นได้ถูกผู้ปกครองแห่งเคดะห์ขับไล่ ดังข้อความว่า

 

ข้ออ้างอีกประการหนึ่งซึ่งเลือกไว้คงจะต้องไม่เหมาะที่จะยอมรับ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ตั้งแต่ศาสนาอิสลามถูกนำเข้าสู่ไทรบุรีเมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว รายาไทรบุรีได้สืบเชื้อสายปกครองไทรบุรีเรื่อยมาถึง 20 คน และอย่างน้อยๆ รายา 15 องค์ของจำนวนนี้ ก็ได้รับคำบอกเล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่แรกว่า มิได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อประเทศสยามโดยแท้จริง...เมื่อศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาของเจ้านายของไทรบุรี พวกเขาได้สบัดแอกซึ่งได้กดขี่พวกเขาอยู่นั้นออกเสีย และได้ดำรงรักษาความเป็นอิสระของพวกเขาไว้ได้ระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาถึงเกือบ 400 ปี แล้วประเทศสยามก็ได้บังคับเอาเครื่องบรรณาการดอกไม้ทองอีก...เป็นธรรมดาเหลือเกินที่ว่า เมื่อตระกูลเจ้านายแห่งไทรบุรีได้เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาบูชารูปเคารพอันเป็นศาสนาที่บรรพบุรุษเคยนับถืออยู่แล้ว พวกรายาเหล่านั้นก็น่าจะได้พยายามกระชากม่านที่ทำความมืดมัวให้แก่วงศ์ตระกูลของเขาออกทิ้งเสีย[62]

 

เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสยามประกอบกับข้อความข้างต้น จะเห็นว่าเป็นความตั้งใจของโลว์ที่จะแสดงเงื่อนไขให้เห็นว่า พระยาจักรีและพระยากลาโหมขบถต่อพระเจ้าตากเนื่องจากพระเจ้าตาก เป็น “ชาวต่างชาติ” (จีน) ความยิ่งใหญ่ของสยามถ้ามีอยู่จริง (ในความคิดโลว์) ก็เป็นเพราะว่าสยามได้กลับคืนสู่อำนาจของผู้ที่มีสิทธิ คือคนชาติพันธุ์สยามนั่นเอง เงื่อนไขเล็กๆ ที่โลว์วางไว้ให้ผู้อ่านรายงานของเขาใช้เทียบกับกรณีเคดะห์ (และรัฐมลายูอื่นๆ) เพื่อจะนำไปสู่การยอมรับถึงความชอบธรรมในการต่อสู้ของสุลต่านแห่งเคดะห์เพื่อให้หลุดพ้นจากสยาม

น่าสังเกตด้วยว่าข้อความของโลว์ข้างต้นมีใจความคล้ายคลึงกับเรื่องราวในฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ รายละเอียดบางอย่างก็ตรงกัน เช่นการนับถือรูปเคารพก่อนรับศาสนาอิสลาม การใช้ศาสนาอิสลามเป็นจุดตัดแบ่งระหว่างเคดะห์สมัยจารีตกับเคดะห์สมัยใหม่ และความอิสระจากสยามของรายาพระองค์ต่างๆ ในสมัยต้น รายละเอียดเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าก่อนปี พ.ศ.2373 ซึ่งเจมส์ โลว์ อ้าง (เมื่อ พ.ศ.2392) ว่าตนได้รับต้นฉบับตำนานจากมือของสุลต่านปะแงรันนั้น เขาน่าจะเคยได้รับรู้ถึงเนื้อหาในฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ มาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็น “ต้นฉบับลายลักษณ์อักษรภาษามาเลย์” ซึ่งเขาครอบครองอยู่ หรือโดยรับฟังมาจากชาวบ้านหรือ “รายา” ที่เขาได้สนทนาสอบถามด้วย (ปีรุ่งขึ้นหลังจากโลว์ทำรายงานชิ้นนี้ ประธานสภาที่ปีนังก็ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของสยามเหนือเคดะห์ที่ตำนานประวัติศาสตร์ของโลว์ไม่ยืนยันเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในที่ประชุม)[63] อย่างไรก็ดี โลว์ ก็เลือกที่จะเปิดเผยเรื่องนี้หลังจากนั้นนานถึง 25 ปี

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้ อำนาจ และการเมืองนั้นซุกซ่อนอยู่ในภาษา การแปล และเรื่องเล่าอย่างแยกไม่ออก แม้โลว์จะยืนยันว่าเขาศึกษาประวัติศาสตร์พื้นเมืองอย่าง “ไม่บิดเบือน” แต่สำหรับโลว์แล้ว การเมืองแยกไม่ออกแม้แต่จากดนตรี หรือศิลปะการแสดง เขาแสดงความคิดเห็นว่าประชาชนชาวสยามนั้นเป็นคนที่มีนิสัยดีตามธรรมชาติ และขบขันรื่นเริงง่ายสิ่งเหล่านี้เห็นได้จากดนตรี วรรณกรรม และการแสดง “พวกเขามักตั้งใจปล่อยอารมณ์ไปกับความสนุกสนามและเสียงเพลงชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้ความทุกข์ยากประจำวันที่เขาจำต้องทนทานจากการกระทำของผู้ปกครองที่ไม่มีความรู้สึกรู้สมอะไร (ลดลง-พิเชฐ)” [64]

วิธีคิดที่เห็นว่าการเมืองแทรกอยู่ในปริมณฑลที่กว้างเช่นนี้ เมื่อประกอบกับความรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมสยาม-มลายูที่กว้างขวางลึกซึ้ง ทำให้โลว์ในฐานะทูตไม่ไว้วางใจการแปลภาษาของล่ามนัก เขาขัดใจธรรมเนียมของการติดต่อในสยาม (และในราชสำนักอินโดจีน)[65] ที่ต้องใช้ล่ามอยู่เสมอ โลว์เชื่อว่าการสื่อสารผ่านล่ามนั้นจะทำให้การสื่อความผิดเพี้ยนไป เพราะตระหนักดีว่าอารมณ์และความคิดของล่ามอาจทำให้เกิดความเบี่ยงเบนของข้อมูลข่าวสารที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจสื่อสารกันจริงๆ และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายเสียหายไม่สมกับความตั้งใจ ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า

 

                                การติดต่อโต้ตอบทั้งหมดกับราชสำนักของสยาม ควรจะเขียนใช้ภาษาไทย และไม่ควรใช้ภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศไม่ชินปากของเขา เหมือนกับภาษาอารบิคที่ไม่ชินปากของเรา อาจมีล่ามชาวมลายูหลายคนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความสามารถสูงพอที่จะแปลภาษาของเขาเป็นภาษาไทยได้ แต่ทว่าการแปลที่ยึดตามถ้อยคำแท้ๆ บางทีก็ไม่พอ มีอารมณ์ซึ่งอาจจะถูกถ่ายเข้าไปในถ้อยคำเดิมซึ่งทำให้เสียน้ำหนักในคำแปล และมีผลของบางเรื่องที่มิได้ขึ้นกับการใช้ถ้อยคำที่ยากลำบากทั้งไวยากรณ์ แต่ขึ้นกับการใช้ศัพท์ง่ายๆ และรายละเอียดปลีกย่อยถูกต้องตามสำนวน ถ้าหากการติดต่อโต้ตอบนั้นถ้าใช้ภาษาไทยทั้งหมด โดยบรรดาผู้ที่มีความสามารถทำงานนั้นได้ จะทำให้การเจรจาสั้นลง และขจัดปัดเป่าปัญหาเกี่ยวกับการแปลความผิดๆ ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้[66]

 

                ไม่เฉพาะแต่เจมส์ โลว์เท่านั้น เฮนรี่ เบอร์นี่ก็ไม่ไว้วางใจล่ามและผู้แปลภาษา (ซึ่งทำให้เขาขัดแย้งอย่างรุนแรงกับแอนเดอร์สันผู้แปลภาษามาเลย์ของทางการอังกฤษ เพราะเขากล่าวอย่างชัดเจนว่าเขาเองก็รู้ภาษามาเลย์มากไม่แพ้แอนเดอร์สัน) เบอร์นี่เห็นว่าล่ามมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์อันดีหรือไม่ดีระหว่างคู่กรณี เขาเข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยาม อังกฤษ และรัฐมลายูนั้นเป็นสงครามของการเล่าเรื่องและสร้างภาพ ซึ่งล่ามได้เข้ามามีอิทธิพลในสงครามนี้ ดังที่เบอร์นี่เล่าถึงความเข้าใจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวหาว่า “ผู้แปลภาษามาเลย์พูดและทำทุกสิ่งเพื่อชวนให้เกิดสงครามระหว่างประเทศสยามกับรัฐบาลอังกฤษ” ตอนหนึ่งเบอร์นี่กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีการปลอมแปลงหนังสือเพื่อสร้างภาพความเลวร้ายให้เกิดแก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ว่า

 

                                ภาษาที่ใช้ในหนังสือของหลวงภักดีนั้น แสดงว่าเป็นสำนวนการเขียนของคนมาเลย์ที่ชั่วช้าคนใดคนหนึ่งที่ก่อเรื่องให้เกิดความเข้าใจผิด...คำพูดที่ว่ากราบลงที่ส้นรองเท้าเป็นของแปลกสำหรับคนมุสลิม และมีน้อยในขนบธรรมเนียมของคนสยาม ซึ่งความในจดหมายนั้นข้าพเจ้าสงสัยอย่างยิ่งว่าคงจะเป็นความตั้งใจของคนเขียนที่จะให้สะดุดตาของเรา เรื่องของการปลอมแปลงตราและหนังสือสำคัญที่ถูกค้นพบ และเปิดเผยขึ้นที่เมืองอาชีน ใน ปี ค.ศ.1819 จะแสดงว่าคนมาเลย์เป็นผู้ชำนาญมากในการทำความชั่วช้าชนิดนี้[67]

 

                เรื่องเล่าจึงกลายเป็นแกนกลางในการดำเนินการเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสยาม เบอร์นี่ระบุว่าแม้ว่าเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช “มีความมักใหญ่ใฝ่สูง มีศิลปรอบตัว และมีความฉลาดแกมโกง” ตามความเข้าใจของอังกฤษ แต่คุณสมบัติเช่นนี้ก็ “เป็นสิ่งธรรมดาในนิสัยของเจ้านายพื้นเมืองโดยทั่วไป” ในความเห็นของเบอร์นี่ ภาพลักษณ์อันเป็นเรื่องธรรมชาตินี้ถูก “แต่งเติม” จากการเล่าเรื่องผ่านวาจาและการเขียนรายงาน จนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในมุมมองของอังกฤษและมลายูดูเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก “มีเรื่องเล่าลือเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมของเราที่นี่ เพื่อทำให้ความอคติของเราที่มีต่อเขาเลวร้ายยิ่งขึ้น” [68] ดังเช่นข่าวที่ว่าเจมส์ โลว์ ถูกวางยาพิษโดยคำสั่งของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และเบอร์นี่ถูก “ตัด...ออกเป็นชิ้นๆ” และถูกจับกุมที่ควนตานี (ตรัง)[69] เบอร์นี่กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเหตุการณ์ซึ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของความป่าเถื่อนของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่ถูกสร้างขึ้นโดยอังกฤษและมลายูเท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของการเล่าเรื่องไม่ว่าจะโดยรูปแบบใด แอนเดอร์สัน ผู้แปลภาษามาเลย์ และผู้แทนการเมืองอังกฤษประจำเประและสลังงอร์เองก็ยอมรับว่าเรื่องเล่ามีอิทธิพลต่อการสร้างภาพและ (อ)คติ เขากล่าวว่า เขาไม่เคยพบพระองค์จริงของเจ้าพระยานคร แต่รู้จักจากจดหมายบอกเล่าที่เขาได้แปลนั่นเอง จะผิดพลาดหรือถูกต้องเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งเหล่านั้นแสดงถึงการได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการอังกฤษแล้วหรือไม่[70]

ปัญหากรณีล่ามมีอิทธิพลต่อเรื่องราวของโลว์ และเบอร์นี่ดังกล่าวยืนยันให้เห็นว่า ปฏิบัติการทางภาษาพร้อมที่จะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยไม่อาจควบคุมได้ ดังในกรณีของแอนเดอร์สันเช่นเดียวกัน ล่ามชาวอังกฤษผู้นี้รู้จักเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยการ “วาดภาพ...(จาก) ความรู้ในรายงานของร้อยเอกเบอร์นี่เป็นส่วนใหญ่” [71] แต่เขาก็มีทัศนคติเป็นลบอย่างรุนแรง ซึ่งตรงกันข้ามกับเบอร์นี่ที่ถูกหาว่าเข้าข้างสยามจนน่าสงสัยว่าละทิ้งผลประโยชน์ของอังกฤษ ขณะเดียวกันเบอร์นี่ก็รู้จักเจ้าเมืองเประ และสลังงอร์จากรายงานและเรื่องเล่าที่แปลโดยแอนเดอร์สัน แต่เบอร์นี่กลับเรียกสุลต่านเคดะห์ว่า “คนปัญญาอ่อน” เรียกสุลต่านเประว่า “คนอ่อนแอที่น่าสงสาร” และเรียกสุลต่านสลังงอร์ว่า “โจรสลัดคนหนึ่ง”[72] ส่วนแอนเดอร์สันเรียกคนเหล่านี้ว่า “เพื่อนชาวมาเลย์ผู้มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ และถูกกดขี่ข่มเหง”[73] ที่อังกฤษจะต้องช่วยปลดแอก และโอบอุ้มดูแล

อาจกล่าวได้ว่าการแปลนั้น ไม่ว่าจะแปลโดยมีล่ามหรือโลว์เป็นตัวกลาง การแปลก็ไม่เคยถ่ายทอดอะไรได้อย่างบริสุทธิ์หรือตรงไปตรงมา เพราะการแปลเป็นการสร้างวาทกรรมอย่างน้อยที่สุดมันก็ได้สร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ผ่านภาษาภายในบริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์ ที่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์และการควบคุม (ของวาทกรรม) ซึ่งอนุญาตให้พูดบางอย่างได้และพูดบางอย่างไม่ได้[74] เป้าหมายของการควบคุมทางวาทกรรมทำให้การแปลเป็นการ “ปกป้องอำนาจและอันตรายของตัวมันเอง” การแปลมีหน้าหน้าที่คล้ายกันกับการควบคุม ดังจะเห็นได้ว่า การแปลที่ประสบความสำเร็จคือการทำให้ความจำเพาะและลักษณะเฉพาะกลายเป็นคำพูดที่พิถีพิถัน เหมือนกับการบรรลุไปสู่ระดับแนวคิดทั่วไปที่มีอยู่ทั้งตัวบทดั้งเดิมและตัวบทพิเศษโดยฝีมือของผู้แปล (ในแนวคิดสมัยก่อน “จิตวิญญาณ” ของงานไม่ใช่ “คำ” ที่ถูกแปล) อย่างไรก็ตาม วิธีการทางวาทกรรมไปสู่การแปล มองตัวการแปลในฐานะวาทกรรม ที่แสดงเป้าหมายทั้งสิ่งที่ไม่อาจไปถึงได้ และสิ่งที่อาจไม่พึงปรารถนาด้วย ในฟิลิปปินส์ สเปนใช้การแปลควบคุมการเติบโตของภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อการครอบงำของจักรวรรดินิยม โดยการบังคับให้คนพื้นเมืองศึกษาวรรณกรรมในคริสต์ศาสนาแทนวรรณกรรมพื้นเมือง ในแง่นี้การแปลคือเครื่องมือในการลดทอนกระบวนการครอบงำของอาณานิคม[75] การแปลจึงเป็นการแทนที่ ในทางประวัติศาสตร์และสภาพทางสังคม การแปลเข้ามาสู่การดำรงอยู่ การผลิตซ้ำ การแทนที่ซึ่งทำให้การแปลมีบทบาททางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้การแปลจึงเป็นการเมืองอยู่ด้วย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ที่ตัวบทนั้นถูกจัดวางเอาไว้ นั่นคือการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทและสังคมที่ผลิตและบริโภคการแปลนั้นๆ[76]

                ในกรณีของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ ก็ซุกซ่อนเอาไว้ด้วยการเมืองของการสร้างความรู้ผ่านการแปลที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยวาทกรรมอาณานิคม การค้า และการเสรีนิยม แม้ว่าโลว์จะกันตัวเองเอาไว้จากตัวบทฮิกายัตด้วยการทำเชิงอรรถอธิบายความอย่างมากมาย (จนอาจจะมากกว่าเนื้อหาฮิกายัตด้วย) แต่ความเป็นตะวันตกของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ก็ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ผู้อ่านจะเห็นได้ถึงวัฒนธรรมการเขียนแบบสมัยใหม่ของตะวันตกที่เน้นการบรรยายภาพให้เห็นจริง หรือการสร้างบทสนทนา และพยายามแสดงเหตุผลให้แก่เรื่องราวด้วยการเล่าเรื่องย้อนหลังเพื่อให้คำอธิบายและเชื่อมโยงเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อกัน อันเป็นการขจัดลักษณะพื้นฐานทั่วไปของเรื่องเล่าพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยจารีตที่ชาวยุโรปเห็นว่าไม่ปะติดปะต่อและถึงขั้นสับสน ลักษณะสมัยใหม่นี้ อาจเป็นไปได้ทั้งในแง่ที่เป็นสิ่งซึ่งตกค้างมาจากการแปลของเจมส์ โลว์ เอง หรือการที่ผู้บันทึกตำนานชาวมลายูได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับชาวตะวันตก ด้วยวิธีการการเขียนแบบสมัยนี่เองที่ทำให้ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ สามารถสื่อสารกับชาวอังกฤษได้ ไวยากรณ์ทางวรรณกรรมแบบที่ตะวันตกคุ้นเคยจึงถูกนำมาผสมผสานกับไวยากรณ์ของตำนานพื้นเมือง

                จึงอาจกล่าวได้ว่ารูปแบบของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ นั้นมีอังกฤษ (หรือตะวันตก) เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยอย่างไม่อาจแยกออก หากการแปลในฟิลิปปินส์คือการลดขั้นตอนของกระบวนการกลายเป็นเจ้าอาณานิคมที่กระทำโดยสเปน ในกรณีของคาบสมุทรมลายู ก็อาจกล่าวได้เช่นเดียวกันว่า ทั้งการแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และการแปลองค์ความรู้นั้นไปสู่ภาษาอังกฤษของโลว์ก็คือการลดขั้นตอนของการครองความเป็นเจ้า (ของ) ของอังกฤษเหนือเคดะห์นั่นเอง ฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ จึงไม่อาจได้รับการพิจารณาบนฐานความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเคดะห์ดังที่ตัวบทพยายามโน้มน้าวให้เห็นเท่านั้น แต่การไม่ปรากฏตัวของอังกฤษ ในฐานะเจ้าอาณานิคมก็มีความหมายต่อหน้าที่ทางวัฒนธรรมและการเมืองของฮิกายัตเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

                ดังได้กล่าวแล้วว่า หลังพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ลี้ภัยไปประทับอยู่ที่เกาะปีนัง ท่าทีของอังกฤษแม้จะแสดงความเห็นใจพระองค์อยู่ไม่น้อย (ซึ่งทำให้เห็นความปรารถนาลึกๆ ของอังกฤษที่จะครอบครองเคดะห์เสียเอง) แต่ในเชิงนโยบายแล้ว อังกฤษจะทำเช่นนั้นอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ อังกฤษจึงไม่เต็มใจที่จะให้พระองค์อยู่ที่เกาะปีนังนัก เพราะการประทับอยู่ของสุลต่านทำให้เคดะห์กลายเป็นศูนย์รวมในการคิดก่อขบถที่จะมุ่งตรงไปที่การปกครองของสยาม[77] อันอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของสยาม-อังกฤษที่มีภาพของฝรั่งเศสหลอกหลอนอยู่เบื้องหลัง บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา กล่าวไว้ว่า ต่อเหตุการณ์ที่สุลต่านปะแงรันทรงลี้ภัยนั้น “ขณะที่เจ้าหน้าที่อังกฤษในปีนังและสิงคโปร์มองสยามด้วยความไม่สบายใจ (แต่) ที่ลอนดอน ความกังวลส่วนใหญ่ก็คือการขยายตัวที่อาจเป็นไปได้ของชาติยุโรปอื่นๆ เข้าไปในหมู่เกาะ โดยเฉพาะฝรั่งเศส” [78] ซึ่งเคยขยายอำนาจมาทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรไทยมาแล้วเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 อังกฤษหวังว่าจะสามารถกันคาบสมุทรมลายูไว้ได้โดยใช้ไทยเป็นกันชน ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์กับสยาม แม้ว่ารัฐมลายูบนคาบสมุทรได้พยายามอย่างยิ่งที่จะปกป้องตัวเองจากสยามด้วยการหันไปหาศูนย์อำนาจยุโรป แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะทั้งสยามและอังกฤษประสงค์ที่จะรักษาสันติภาพในคาบสมุทรมลายู ในปี พ.ศ.2410 เมื่อพ่อค้าสิงคโปร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสเตรท เซ็ตเติลเมนท์มีปัญหาข้อจำกัดทางด้านการค้า สยามก็รีบแก้ไขปัญหาให้ทันที ขณะเดียวกัน เมื่อสุลต่านแห่งตรังกานูส่งคณะผู้แทนไปลอนดอนเจรจาขอให้อังกฤษเป็นรัฐอารักขาอย่างเป็นทางการ แต่อังกฤษก็ตอบสนองอย่างเฉยเมย นอกจากนั้นยังได้ยอมรับว่า “ตรังกานูเป็นประเทศราชของไทย” [79]

                ภาษาและวรรณกรรมในบริบทเช่นนี้จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เบื้องลึกที่มีความปรารถนาเคดะห์ และเบื้องหน้าที่ต้องรักษาดุลยภาพทางการเมืองกับสยาม ทำให้อังกฤษต้องใช้ภาษาที่คลุมเครือในการสื่อสาร หรือทำสัญญา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างสยามและอังกฤษ อังกฤษวางหลักการให้คณะฑูตที่ไปเจรจากับสยาม “จะต้องงดเว้นไม่กล่าวถึงปัญหาอันใดเป็นทำนองยอมรับสิทธิอัน (สยาม-พิเชฐ) ไม่มีนี้เด็ดขาด”[80] แต่การหลีกเลี่ยงของอังกฤษก็ก่อให้เกิดความคลุมเครือ และถูกตีความจากสยามว่าคือการยอมรับสิทธิของสยาม ดูเหมือนว่าสยามได้ใช้ประโยชน์จากความคลุมเครือนี้อย่างหลักแหลม ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำสัญญากับอังกฤษอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อที่จะธำรงความเข้าใจจากการตีความของตนเองถึงการยอมรับจากอังกฤษเอาไว้ ดังที่อังกฤษพยายามส่งคณะทูตของเจมส์ โลว์ไปเจรจาใน พ.ศ.2367 แต่สยามก็พยายามหน่วงเวลาไม่ให้เกิดการเจรจากันอย่างเป็นทางการระหว่างเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชกับโลว์ ได้แต่ส่งตัวแทนที่โลว์เห็นว่าเขาไม่ต้องการเจรจาด้วย เพราะเป็นผู้ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเห็นได้จากอังกฤษต้องพยายามเจรจาเพื่อการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับประเทศราชในหัวเมืองมลายูของสยามถึง 3 ครั้ง จนสำเร็จได้สนธิสัญญาที่คลุมเครือมาอีกในปี พ.ศ.2369

ลักษณะเช่นนี้เป็นปัญหาที่อังกฤษเองก็ยอมรับ แต่อีกด้านหนึ่งก็ตอบสนองนโยบายทางการค้าและการเมืองของพวกเขาได้เช่นกัน อย่างเช่นในปี พ.ศ.2369 หลังยึดเคดะห์ได้แล้ว 5 ปี สยามยังพยายามเข้าโจมตีเประและสลังงอร์ อังกฤษจึงส่งเฮนรี่ เบอร์นี่ไปยังกรุงเทพฯ หลังจากเจรจากันอย่างยืดยาวก็ได้ตกลงกันทำสนธิสัญญาโดยที่สยามตกลงจะไม่โจมตีทั้งเประและสลังงอร์ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าประมุขของเประยังต้องการ ก็สามารถส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปให้กรุงเทพฯได้ แม้เคดะห์รับรองอย่างชัดเจนแล้วที่จะเป็น “ดินแดนในบังคับสยาม” การใช้คำภาษาอังกฤษในสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามก็ละสถานะของกลันตัน และตรังกานูเอาไว้อย่างกำกวม เบอร์นี่ระมัดระวังที่จะให้คำรับรองเกี่ยวกับการค้าของอังกฤษในพื้นที่เหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับรองการเป็นเจ้าผู้ปกครองของสยามอย่างเป็นทางการ หรือในปีเดียวกัน เมื่อส่งเจมส์ โลว์ ไปเประ และโลว์ได้ตัดสินใจทำสัญญารับรองอธิปไตยของเประและสนธิสัญญาให้ความช่วยเหลือเประในกรณีที่ถูกโจมตี ต่อสนธิสัญญานี้ แม้ข้าหลวงใหญ่ในกัลกัตตาปฏิเสธที่จะให้สัตยาบัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนอย่างชัดแจ้ง จึงเท่ากับยอมให้สัมพันธภาพอันไม่แน่นอนระหว่างเประกับอังกฤษยังมีอยู่ต่อไป[81]

ท่าทีที่คลุมเครือดังกล่าวแน่นอนว่าย่อมยังประโยชน์แก่อังกฤษด้วยอย่างที่กล่าวแล้ว นั่นคือนอกจากลดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดแล้ว ยังเป็นการสานสัมพันธ์เพื่อเปิดโอกาสเพื่อการขยายประโยชน์ทางการค้าในอนาคตด้วย[82] อย่างไรก็ดี ความกำกวมนี้ก็มีอยู่เฉพาะในสายตาของชาวยุโรปเท่านั้น จากทัศนะของคนกรุงเทพฯ เคดะห์ กลันตัน และตรังกานู ล้วนเป็นรัฐประเทศราชทั้งหมดที่รับรองสถานะการเป็นเมืองขึ้นของสยามด้วยการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปทุกๆ 3 ปี[83]

ความกำกวมหรือความคลุมเครือสะท้อนให้เห็นถึงเจตนาที่จะประนีประนอมของอังกฤษกับสยามเพื่อรักษาดุลสัมพันธ์ดังที่กล่าวแล้ว อย่างไรก็ดีในอีกแง่มุมหนึ่งยังได้รับการประเมินว่าการประนีประนอมเป็นผลมาจากทัศนะที่ขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่อังกฤษ 2 ฝ่ายเอง ฝ่ายหนึ่งต้องการปกป้องผลประโยชน์ของอังกฤษด้วยการหลีกเลี่ยงการผูกมัดตรงๆ แต่อีกฝ่ายต้องการให้ขยายการควบคุมทางการเมืองให้กว้างขึ้นและมั่นคงขึ้นเพื่อประกันการค้า[84] ในฝ่ายหลังนี้มีเจมส์ โลว์ อยู่ด้วย อย่างไรก็ดี การแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะให้อังกฤษแสดงความเด็ดขาดของเขาก็ถูกควบคุมโดยนโยบายหลักของอังกฤษที่ต้องการสร้างโอกาสทางการค้าเท่านั้น แนวคิดของอังกฤษก็คือการเข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งใดๆ “ให้ถือว่าเป็นการกระทำด้วยความรักฉันมิตรเท่านั้น ห้ามมิให้แสดงด้วยกริยาหรือวาจาในทำนองที่จะทำให้เราต้องมีความจำเป็นเข้าไปผูกพันถึงต้องใช้การปฏิบัติการทางทหาร”[85]

กล่าวได้ว่าความอยู่รอดของเคดะห์ขึ้นอยู่กับดุลยภาพระหว่างสยามและอังกฤษ และดุลยภาพนั้นก็แสดงผ่านการใช้ภาษา ทั้งในการเจรจาทางการทูต การทำสนธิสัญญา และวรรณกรรม ตัวตนทางการเมืองที่เคดะห์เคยแสดงออกมาตั้งแต่ต้น (เช่นการใช้กับสยามและพม่า สยามและมะละกา) จึงยังมีความจำเป็นสำหรับรัฐเล็กๆ แต่มีค่ารัฐนี้ เช่นเมื่อ พ.ศ.2391 ก่อนการปรากฏตัวของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ เพียงปีเดียว เมื่อปีนังได้อ้างสัญญา ค.ศ.1826 ของเจมส์ โลว์ กับเประต่อเคดะห์ บังคับให้ผู้สืบตำแหน่งของสุลต่านปะแงรันโอนเขตปกครองของ ก-ริ-อัน (Kreian) ซึ่งเป็นพรมแดนที่เป็นปัญหาขัดแย้งให้แก่เประ แต่ราชสำนักเคดะห์ก็กลัวสยามจะลงโทษ จึงตัดสินใจเลือกเขตปกครองเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับโปรวินส์ เวลสลีย์ ยกให้ปีนังแทน[86]

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานะหรือหน้าที่ของฮิกายัต มะรง มหาวงศ์ จึงไม่ใช่ตั้งอยู่บนแกนความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-เคดะห์เท่านั้น แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าได้มีอังกฤษเข้ามาเกี่ยวด้วยอย่างลึกซึ้ง ฮิกายัตเรื่องนี้จึงเป็นพื้นที่ที่บรรจุเอาไว้ด้วยตัวตนทางวัฒนธรรมการเมืองของเคดะห์ที่ต้องปลอดภัยทางการเมือง ตัวตนของอังกฤษที่ต้องประนีประนอมอยู่บนความคลุมเครือ และสยามที่ชัดเจนในการตีความของตัวเองว่า “ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง” คือเครื่องหมายของสิทธิที่เคดะห์ยกตนเองให้ เป็น “รัก-สาม-เศร้า” ที่กว่าจะจบก็ต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษ

 

 

บรรณานุกรม

 

Hendrik M.J Maier. In the Center of Authority: The Malay Hikayat Merong Mahawangsa. Ithaca, New York: Southeast Asia Program, Cornall University, 1988.

James Low, Marong Mahawangsa: The Keddah Annals. The American Presbyterian Society, 1908

Paul St-Pierre. “translation as a discourse of history.” www.erudit.org/revue/ttr/1993/v6/n1/037138 ar.pdf.

R. Bonney. Kedah 1771-1821, The Search for Security and Independence. Kuala Lumpur-Singapore: OUP, 1971.

Satya Mohanty. “Us and Them: On the Philosofical Bases of Political Criticism.” Yale Journal of Criticism. 11 (2): 1-31

Sharom Ahmat, “Kedah-Siam Relations, 1821-1905” in The Journal of the Siam Society 59, part 1 (January 1971).

Stuart Robson, “Peter Floris (alias Pieter Willemsz), Merchant and…Student of Malay,” Songklanakarin: Journal of Social Sciences&Humanities 6, 1 (January-April, 2000): 89-95.

Vicente Rafeal. Contracting Colonial: Translation and Christian Conversion in Tagalog Society under Early Spanish Rule. Ithaca: Cornell University Press, 1988.

กรมศิลปากร. เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3. น้อม นิลรัตน์ ณ อยุธยา แปล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2531.

เจมส์ โลว์. จดหมายเหตุเจมส์ โลว์. นันทา วรเนติวงศ์ แปล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542.

ชุลีพร วิรุณหะ, บุหงารายา: ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2551.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “คำอธิบายจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ใน ปรมินทร์ เครือทอง. สยาม-ปัตตานี ในตำนานการต่อสู้มลายูมุสลิม. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2548.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “จากรัฐชายขอบถึงมณฑลเทศาภิบาล: ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในเกาะภูเก็ต.” ใน กรุงแตก, พระเจ้าตกฯ และประวัติศาสตร์ไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์, พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2544.

บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2551.

ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, พงศาวดารเมืองไทรบุรี ตำนานมะโรง มหาวงศ์, กรุงเทพฯ: The Knowledge Center, 2551.

พรรณงาม เง่าธรรมสาร. “การเมืองไทยในหัวเมืองปักษ์ใต้ในอดีต กับจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ” ใน ยงยุทธ ชูแว่น (บรรณาธิการ). คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม: ประวัติศาสตร์ตัวตนของภาคใต้สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์. ปทุมธานี: นาคร, 2550.

พรรณงาม เง่าธรรมสาร. “นครศรีธรรมราชกับหัวเมืองมลายู (ไทรบุรี) ในต้นรัตนโกสินทร์: ทัศนะจากเอกสารต่างประเทศ ใน ยงยุทธ ชูแว่น (บรรณาธิการ). คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม: ประวัติศาสตร์ตัวตนของภาคใต้สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์. ปทุมธานี: นาคร, 2550.



[1] พรรณงาม เง่าธรรมสาร, “นครศรีธรรมราชกับหัวเมืองมลายู (ไทรบุรี) ในต้นรัตนโกสินทร์: ทัศนะจากเอกสารต่างประเทศ,” ใน ยงยุทธ ชูแว่น (บรรณาธิการ), คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม: ประวัติศาสตร์ตัวตนของภาคใต้สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ (ปทุมธานี: นาคร, 2550), หน้า 445.

                [2] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, นันทา วรเนติวงศ์ แปล (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542), หน้า 6-7.

                [3] Sharom Ahmat, “Kedah-Siam Relations, 1821-1905,” The Journal of the Siam Society 59 part 1 (January 1971, p.98.  

                [4] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, น้อม นิลรัตน ณ อยุธยา แปล (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2531), หน้า 65.

                [5] พรรณงาม เง่าธรรมสาร, “การเมืองไทยในหัวเมืองปักษ์ใต้ในอดีต กับจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ”, หน้า 397; ชุลีพร วิรุณหะ, บุหงารายา: ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู, หน้า 170.

                [6] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 185.  

                [7] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 110.  

                [8] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 246.  

[9] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 185.

                [10] Sharom Ahmat, Kedah-Siam Relations, 1821-1905 The Journal of the Siam Society 59 part 1 (January 19710, p.97.  

                [11] Ibid.  

                [12] Ibid.  

                [13] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 106-107  

                [14] Sharom Ahmat, Kedah-Siam Relations, 1821-1905, p.90-91.  

[15] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 226.

[16] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 106-107.

[17] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย.อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 198.

                [18] กรมศิลปากร, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 113.  

[19] พรรณงาม เง่าธรรมสาร, “นครศรีธรรมราชกับหัวเมืองมลายู (ไทรบุรี) ในต้นรัตนโกสินทร์: ทัศนะจากเอกสารต่างประเทศ”, หน้า 440.

[20] Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority:The Malay Hikayat Merong Mahawong, p.14.

[21] โดยได้ยกตัวอย่างการปกครองอินเดีย ว่า “ไม่เคยมีตัวอย่างว่ากษัตริย์ชาวพื้นเมืองต้องได้รับความกดขี่อย่างสาหัสจากการปกครองของอังกฤษ เพราะฉะนั้นการจัดการให้พระองค์ได้กลับไปครอบครองบ้านเมืองของพระองค์ตามเดิมจึงเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับนิสัยใจคอและชื่อเสียงของรัฐบาลอังกฤษ” ดู กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 172, 188, 192.

[22] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 186.

[23] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 166.

[24] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 186.

[25] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “จากรัฐชายขอบถึงมณฑลเทศาภิบาล: ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในเกาะภูเก็ต,” ใน กรุงแตก, พระเจ้าตกฯ และประวัติศาสตร์ไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2544), หน้า 188.

[26] R. Bonney, “Francis Light and Penang JMBRAS, XXXVIII, 1 (July, 1965): 153-154. อ้างใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, “จากรัฐชายขอบถึงมณฑลเทศาภิบาล: ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในเกาะภูเก็ต”, หน้า 180.

[27] อ้างใน Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority:The Malay Hikayat Merong Mahawong, p.15.

[28] Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority:The Malay Hikayat Merong Mahawong, p.16.

[29] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 166.

[30] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 202-203.

[31] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 203.

[32] Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority:The Malay Hikayat Merong Mahawong, p.16-17.

[33] Ibid, p.17-18.

[34] Ibid, p.13, 22.

[35] Ibid, p.13.

[36] Ibid.

[37] Ibid, p.23.

[38] Ibid.

[39] R. Bonney, Kedah 1771-1821, The Search for Security and Independence (Kuala Lumpur-Singapore: OUP, 1971), p.77. อ้างถึงใน Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority: The Malay Hikayat Merong Mahawong, p.14.

[40] Ibid, p.14.

[41] Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority, p.14-15.

[42] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 190-191.

                [43] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, พงศาวดารเมืองไทรบุรี ตำนานมะโรง มหาวงศ์, หน้า 266, 307.

[44] Hendrik M.J. Maier, In the Center of Authority, p.16.

                [45] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 44.

                [46] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 44.

                [47] เรื่องเดียวกัน, หน้า 111.

                [48] เรื่องเดียวกัน, หน้า 112.

                [49] เรื่องเดียวกัน, หน้า 56.

                [50] เรื่องเดียวกัน, หน้า 79.

                [51] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 5.

                [52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 87.

                [53] เรื่องเดียวกัน, หน้า 86.

                [54] James Low, Marong Mahawangsa: The Keddah Annals, p.90.

                [55] Ibid, p.87.

                [56] Stuart Robson, “Peter Floris (alias Pieter Willemsz), Merchant and…Student of Malay,” Songklanakarin: Journal of Social Sciences&Humanities 6, 1 (January-April, 2000), p.90.

                [57] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 97.

                [58] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 102.

                [59] ในต้นฉบับจดหมายเหตุเจมส์ โลว์ ภาษาอังกฤษ นันทา วรเนติวงศ์ ผู้แปลเป็นภาษาไทยระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตอนนี้มีลายมือซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นลายพระหัตถ์ในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพหมายเหตุเอาไว้ว่า “เรื่องประวัติศาสตร์ที่แปลไว้ต่อไปนี้ไม่สมควรจะเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะในกรณีใด” แม้ว่าโดยโครงเรื่องใหญ่ที่โลว์เล่าจะตรงกับเหตุการณ์จริงเกือบทั้งหมด เห็นได้จากในการทำหมายเหตุด้วยลายพระหัตถ์ที่เสริมความเรื่องชื่อบุคคลที่ตรงกับข้อมูลในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ในรายละเอียดที่โลว์เน้นย้ำและเลือกสรรอาจจะมีความแตกต่างจากความรับรู้ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย เห็นได้จากในการทำหมายเหตุด้วยลายพระหัตถ์ ดูเพิ่มเติมใน เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, เชิงอรรถหน้า 97, 101, 102, 105. และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, “คำอธิบายจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ,” ใน ปรมินทร์ เครือทอง, สยาม-ปัตตานี ในตำนานการต่อสู้มลายูมุสลิม (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2548.

                [60] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 108-109.

                [61] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 111-112.

                [62] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 109-110.

                [63] ในที่ประชุมครั้งเดียวกันนี้ได้พิจารณาสิทธิของสยามเหนือเประเช่นกัน โดยมีการอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัยเประเป็นเมืองขึ้นของมะละกา จนในปี พ.ศ.2162 เประและเคดะห์ตกเป็นเมืองขึ้นของอาชีนและได้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ต่อมาก็ตกอยู่ในอำนาจของฮอลันดาที่มะละกา หลังจากปี พ.ศ.2338 เมื่ออังกฤษตีมะละกาได้ก็ปลดปล่อยเประ เมื่อพิจารณาแล้ว “ไม่มีร่องรอยที่จะพิสูจน์ได้ว่าประเทศสยามเคยสั่งให้เปรัคส่งเครื่องราชบรรณาการ หรือว่าเปรัคเคยส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังประเทศสยาม...เราได้ค้นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการผูกพันทางการเมืองของเปรัคจากปี ค.ศ.1612 ซึ่งเป็นเวลากว่า 200 ปี ไม่มีตอนไหนกล่าวว่าเปรัคเคยขึ้นกับประเทศสยาม จากที่กล่าวนี้ก็เป็นที่แน่ชัดวัดเปรัคเคยเกี่ยวข้องและเป็นเมืองขึ้นของมหาประเทศอื่นๆ” กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 184, 189-190.

                [64] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 59.

                [65] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 45-46.

                [66] เจมส์ โลว์, จดหมายเหตุเจมส์ โลว์, หน้า 45.

                [67] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 146-147.

                [68] เรื่องเดียวกัน, หน้า 242-243.

                [69] เรื่องเดียวกัน, หน้า 244.

                [70] เรื่องเดียวกัน, หน้า 170, 172-173.

                [71] เรื่องเดียวกัน, หน้า 172.

                [72] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 165.

                [73] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 155.

                [74] Paul St-Pierre, “translation as a discourse of history”, www.erudit.org/revue/ttr/1993/v6/n1/037138 ar.pdf, p.62.

                [75] Vicente Rafeal, Contracting Colonial: Translation and Christian Conversion in Tagalog Society under Early Spanish Rule (Ithaca: Cornell University Press, 1988), p.213. อ้างถึงใน Paul St-Pierre, “translation as a discourse of history”, p.63.

                [76] Satya Mohanty, “Us and Them: On the Philosofical Bases of Political Criticism,” Yale Journal of Criticism, 11 (2), p.2. (1-31) อ้างถึงใน Paul St-Pierre, “translation as a discourse of history”, p.69.

                [77] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 195.

                [78] เรื่องเดียวกัน, หน้า 202.

                [79] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 201.

                [80] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 184.

                [81] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 194-195.

                [82] เรื่องเดียวกัน, หน้า 204.

                [83] เรื่องเดียวกัน, หน้า 195.

                [84] เรื่องเดียวกัน, หน้า 203.

                [85] กรมศิลปากร, เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ เล่ม 2 ตอน 3, หน้า 164.

                [86] บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, หน้า 199.




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ