ReadyPlanet.com
dot dot
ประชาชนในชาตินิยม

ชาตินิยมในประเทศไทย สมัยแรก ไม่มีประชาชน เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เพิ่มนิยามใหม่ว่า "ชาติคือประชาชน"

ถอดเสียงเป็นอักษร แล้วปรับปรุงใหม่จากปาฐกถา เรื่อง ชาตินิยม ของ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในงานแนะนำหนังสือ ชุมชนจินตกรรม ของ ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2552

อุดมการณ์ชาตินิยมในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วถูกส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้นในสมัยจอมพล ป. แต่เป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบปัญหาเฉพาะหน้าบวกในระยะยาวนิดหน่อย แต่ว่าเป็นการตอบปัญหาเฉพาะหน้าของชนชั้นนำเป็นสำคัญ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 ระดมความจงรักภักดีให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์

ลัทธิชาตินิยมในประเทศไทยไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น สืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ความคิดเรื่องมีประชาชนอยู่ในชาติค่อนข้างจะเบาบางผิวเผิน

กองทัพเป็นหัวใจสำคัญของชาตินิยม เพราะว่าฐานอำนาจของจอมพล ป. มาจากกองทัพ ชาตินิยมของจอมพล ป. ก็จะเน้นบทบาทของกองทัพสูง เน้นความสำคัญของกองทัพสูง

ความมั่นคงของผู้นำกับความมั่นคงของชาติ กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป

โดยสรุป อุดมการณ์ชาตินิยมในประเทศไทยมันเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองปัญหาเฉพาะหน้าของชนชั้นนำ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากสำนึกของคนจำนวนมากและหลากหลาย

แต่ว่าในกรณีของไทย เป็นเรื่องของกลุ่มชนชั้นนำสร้างลัทธิหรือสร้างสำนึกชาตินิยมเพื่อที่จะแก้ปัญหาค่อนข้างจะเป็นเฉพาะหน้าของตนเอง

ฉะนั้น การนิยามความเป็นไทยจากลัทธิชาตินิยมแบบนี้จึงค่อนข้างคับแคบ

อันที่หนึ่ง ก็คือ เน้นผู้นำค่อนข้างสูงมาก ในช่วงแรกๆ ก็จะเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างชาตินิยมรัชกาลที่ 6 จะไว้เปียก็แทบจะไม่เป็นไร ถ้ามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วต่อมาเน้นความมั่นคงของชาติซึ่งเท่ากันกับความมั่นคงของผู้นำ ก็คือการเน้นผู้นำนั่นเอง

อีกอันหนึ่ง เน้นในทางวัฒนธรรมที่รัฐเป็นคนกำหนดขึ้น แน่นอนว่าวัฒนธรรมที่รัฐกำหนดขึ้นนั้น ก็อาจจะคลี่คลายหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย เช่น

ภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยกรุงเทพฯนั่นแหละ เพลงไทยมาตรฐาน เป็นเพลงแบบหลวงวิจิตร เพลงไทยเดิม ไม่ได้พูดถึงเพลงอีแซวหรือเพลงหมอลำ เพราะไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน นาฏกรรมมาตรฐาน เป็นละครรำละครร้อง หรือละครอานุภาพพ่อขุนราม แต่ไม่รวมการแสดงอีกจำนวนมากมายที่มีอยู่ในประเทศไทย ความทรงจำมาตรฐาน คือประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกๆ คนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตแบบเดียวกัน ศาสนาและระบบความเชื่อมาตรฐาน จริงอยู่เราไม่ได้กีดกันศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าอิสลาม หรือว่าคริสต์ ก็ตามแต่ แต่มันมีอคติบางอย่างในพิธีกรรมของชาติอื่นๆ ร้อยแปดที่ให้ความสำคัญแก่ศาสนาและความเชื่อมาตรฐาน

การศึกษามาตรฐาน ความรู้มาตรฐาน วรรณกรรม ศิลปะมาตรฐาน อะไรทุกอย่างที่เป็นมาตรฐานที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น เพราะฉะนั้นความเป็นไทยจึงค่อนข้างคับแคบ

มีคนอยู่เพียงสองพวกเท่านั้นที่สามารถแสดงความเป็นไทยได้เต็มที่ คือ คนภาคกลางกับคนภาคใต้ เพราะมีวัฒนธรรมเดียวกัน หมายความว่า คนภาคใต้ก็เป็นอีกแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมภาคกลาง หรือภาคกลางก็เป็นอีกแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมภาคใต้

ไม่เหมือนกับเหนือกับอีสาน ซึ่งเป็นไทยเหมือนกัน แต่เป็นไทยคนละพวกไปเลย ผมคิดว่าทำความลำบากกับคนภาคเหนือ ทำความลำบากกับคนภาคอีสาน ที่จะกลายเป็นไทยได้เต็มที่ ได้พร้อมเพรียง ได้เรียบร้อย ได้ราบรื่น เท่ากับคนภาคกลางกับคนภาคใต้

ที่เหลือต้องค่อยๆ กลืนเข้ามาสู่ความเป็นไทยตามที่รัฐนิยามเอาไว้ และก็กลืนกันไม่เข้ากันอีกมากทีเดียวก็คือ ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายที่ไม่สามารถกลืนเข้ามาได้

เมื่อคุณเป็นไทยน้อยกว่าคนอื่นๆ คุณก็มีสิทธิน้อยกว่าคนอื่นๆ ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ตรงตามที่ชนชั้นนำต้องการรักษาอภิสิทธิ์ของตนเองไว้ ก็คือทำทั้งหมดนี้เป็นชาตินิยมเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถมีเหตุผลในการที่จะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ได้ เพราะเขาเป็นไทยมากกว่า

เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่มากับอุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย ตั้งแต่ 2490 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ ค่อยๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้ตัวหลักการเหตุผลที่พูดถึงของลัทธิชาตินิยมไทยดำรงอยู่ต่อไปได้ค่อนข้างยาก เพราะว่าพวกฝ่ายซ้ายไปนิยามใหม่ว่า ชาติก็คือประชาชน

ขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา ถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องของเจ๊กและญวน นั่นก็คือว่าความเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มคนอยากจะให้มันเปลี่ยนใน 14 ตุลา ถูกปะทะ หรือถูกค้าน ถูกต้าน โดยความคิดแบบชาตินิยมอย่างเก่า คือ คุณมีความเป็นไทยน้อยเกินกว่าที่คุณจะไปนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้

ในขณะที่วัฒนธรรมที่เกิดใหม่ของพวกฝ่ายซ้าย ยอมรับความเป็นไทยที่สมบูรณ์ของคนระดับล่างด้วย เช่น คนอีสาน

ชาติไม่ใช่สมบัติของคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นนำอีกต่อไป แต่ชาติเป็นสมบัติของคนเล็กๆ ทั่วๆ ไปหมดทุกคน และคนเล็กๆ ก็สามารถทำอะไรกับชาติได้ด้วย คือไม่ใช่เป็นผู้รอรับการจัดสรรที่ชนชั้นนำจะเป็นผู้จัดสรรให้ เพราะเขามีความเป็นเจ้าของชาติไม่น้อยไปกว่าอภิสิทธิ์ชน

ปัญหาเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สมัยหนึ่งไม่เคยมีคำถามอะไร แต่ปัจจุบันนี้เริ่มเกิดคำถามว่า สามอันนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรึเปล่า หรือเป็นสามอย่าง และถ้ามันเป็นสามอย่างจะขัดแย้งกันเองได้รึเปล่า เป็นต้น

สภาวะเดิมของลัทธิชาตินิยม ซึ่งผมขอใช้คำของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล เรื่องราชาชาตินิยม ตามความเข้าใจของผมคือราชานิยม กับชาตินิยมกลืนเข้าหากันสนิท แยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้

แต่ราชาชาตินิยมกำลังมีปัญหาเพราะว่าเริ่มกลืนเข้าหากันไม่ได้ และเมื่อกลืนเข้าหากันไม่ได้ จะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมแยะมากเลย เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ทางออกก็คือชาติต้องถูกกลืนกลับเข้าไปอยู่ในราชานิยมใหม่อย่างเดิม หรือในทางกลับกันราชาก็ต้องถูกกลืนเข้ามาสู่ความเป็นชาตินิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตราบเท่าที่สองอย่างนี้ยังขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ยังกลืนเข้าหากันไม่ได้อย่างนี้ เราก็จะได้พบความขัดแย้งอย่างที่เราได้พบมาในปีที่แล้ว และผมเชื่อว่าปีนี้ก็จะพบอีกอย่างแน่นอน

คุณไม่สามารถที่จะกำหนดแน่นอนได้ว่าเวลารักชาตินี่มันหมายถึงสีเหลืองหรือมันหมายถึงสีแดงกันแน่ เพราะว่าสองอย่างนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยอยู่ด้วยกัน แต่บัดนี้มันเป็นสองสีที่เห็นชัดเจนแล้วว่ามันไม่ได้อยู่ด้วยกัน

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม หน้า 20 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552

 


 

 

ชาติ-ชาตินิยม-รัฐ-ชื่อประเทศ-ชาติพันธุ์:

เอกลักษณ์ และ/หรือ พหุลักษณ์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

(18 มกราคม 2552)

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 359

ชาติ (ชาด, ชาติ-) นาม;

ประเทศ, ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน, ประชาชาติ ก็ว่า

ชาตินิยม (ชาดนิยม) น.

ลัทธิที่ถือชาติเป็นใหญ่, ความรักชาติ.

 

(1)

ในความเป็นจริงทางธรรมชาติและทางสังคม ทุกประเทศหรือ “รัฐชาติ/รัฐประชาชาติ” ในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป/ลุ่มแม่น้ำโขงนั้น เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (เชื้อชาติ race/ethnic) ภาษา และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือมีลักษณะที่เป็น “พหุลักษณ์” (plural identity) มากกว่าความเป็น “อย่างเดียวกัน” หรือ “เอกลักษณ์” (single identity) แต่ผู้กุมอำนาจรัฐมักจะมีทัศนคติว่า “ความแตกต่างหลากหลาย หรือความเป็นพหุลักษณ์” นั้นเป็นอันตรายต่อ “ความมั่นคงของชาติ” (ซึ่งน่าจะหมายถึงต่อผู้กุมอำนาจรัฐ หรือผู้ปกครอง/รัฐบาล นั่นเอง) ดังนั้น “ชาตินิยม” ของรัฐจึงมักพยายามที่จะ “ละลาย” หรือไปไกลถึงขั้น “ทำลาย” พหุลักษณ์ดังกล่าว และสร้าง “เอกลักษณ์” หรือความเป็น “อย่างเดียวกัน” ขึ้นมาให้จงได้

 

(2)

ศ. เบน แอนเดอร์สัน ผู้เขียนหนังสือสำคัญเรื่อง “ชุมชนจินตกรรม” (Benedict Anderson: Imagined Communities-Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, 1983/1991 ฉบับแปลภาษาไทย พ.ศ. 2552/2009) ได้จำแนก “ชาตินิยม” อันเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิด “รัฐชาติ” หรือ “รัฐประชาชาติ” (nation-states) อันเป็นรูปแบบของรัฐในโลกสมัยใหม่และสมัยปัจจุบันนี้ ออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน ดังนี้ คือ

 

1.                                       ชาตินิยมครีโอล หรือชาตินิยมของผู้อพยพ (Creole Nationalism คำว่า Creole นี้มีความหมายถึง settlers หรือผู้อพยพไป/มาตั้งรกราก) ซึ่งถือเป็นชาตินิยมเริ่มแรกของลัทธินี้เลยก็ว่าได้ และก็เกิดขึ้นใน “โลกใหม่” (New World) คือ ในทวีปอเมริกาทั้งเหนือและลาตินอเมริกา ดังเช่นในกรณีของ สหรัฐฯ ที่ปลดแอกจากอังกฤษ 1776/2319 หลังการตั้งกรุงธนบุรีได้ 9 ปี และรวมทั้งบรรดาประเทศใหม่ๆทั้งหลายที่พูดภาษาสเปนและโปรตุเกส ที่สลัดแอกจากเมืองแม่ ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างประมาณ ค.ศ. 1780s-1810s (ดูบทที่ 4 ของหนังสือแปล)

 

2.                                       ชาตินิยมทางภาษาและชาติพันธุ์ (Ethno-Linguistic Nationalism) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สอง และเกิดขึ้นมาในยุโรป หลังการล่มสลายของมหาอาณาจักรเก่า นักวิชาการแต่เดิมมักเชื่อว่านี่เป็นต้นกำเนิดของชาตินิยม ที่เป็นแม่แบบและแพร่หลายไปทั่วโลก แต่อันที่จริงกลุ่มนี้เกิดขึ้นภายหลัง คือ ระหว่าง ค.ศ. 1810s-1850s (ดูบทที่ 5 ของหนังสือแปล)

 

3.                                       ชาตินิยมทางการ (Official Nationalism) กลุ่มนี้ คือ ชาตินิยมของผู้กุมอำนาจรัฐแบบเดิมคือบรรดาจักรวรรดิหรืออาณาจักร ที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆของการแพร่กระจายของ Ethno-Linguistic  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิวัติลุกฮือครั้งใหญ่ในยุโรป ค.ศ. 1848 ชาตินิยมแบบนี้มีลักณษะที่กำหนดลงมาจากเบื้องบน (top down) ดังเช่นในกรณีของรัสเซีย ญี่ปุ่น และสยาม (ประเทศไทย) กลุ่มนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1850s-1880s (ดูบทที่ 6 ของหนังสือแปล)

 

4.                                       ชาตินิยมต่อต้านอาณานิคม (Anti-Colonial Nationalism) ซึ่งเป็นกลุ่มของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมมาก่อน และเป็นขบวนการปลดปล่อยตนเอง เพื่อสร้างประเทศขึ้นใหม่ ดังเช่นในกรณีของอุษาคเนย์ ที่เด่นชัดคือ พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ กลุ่มนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1850s-ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ดูบทที่ 6 ของหนังสือแปล)

 

5.                                       ชาตินิยมทางไกล (Long-Distance Nationalism) ซึ่งถือได้ว่าเป็นชาตินิยมใหม่เอี่ยมล่าสุด อันเป็นผลพวงมาจากการอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ และมีเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ของ “โลกอินเตอร์เน็ท” และ “อีเมล์” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา อย่างเช่น ไอริชในสหรัฐฯ ลาว-เวียด-ขะแมร์-ไทย ในสหรัฐฯ หรือยุโรป (ดูหนังสือ The Spectre of Comparisons 1998 ของผู้เขียนคนเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย)

 

 

(3)

ในกรณีของประเทศเรา “สยาม-ไทย” นี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยมเช่นเดียวกัน และถ้าจะใช้คำนิยามตามแบบข้างต้น ก็น่าจะถูกจัดได้ว่าเป็น “ชาตินิยมทางการ” Official Nationalism แต่ชาตินิยมของเรานี้ ได้มีนักวิชาการรุ่นต่อมาได้นิยามให้กระชับขึ้นว่าเป็น “ราชาชาตินิยม” (Royal Nationalism โดยธงชัย วินิจจะกูล) และ/หรือ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” (Military-Bureaucratic Nationalism)

 

เอาเข้าจริง “ลัทธิชาตินิยม “ไทยสยาม” ก็น่าจะเป็นเป็นผลผลิตอันเป็นส่วนผสมและเป็น “พันธุ์ทาง” ของทั้ง Creole Nationalism (ของลูกหลานเหลนโหลนจีน ผู้อพยพมาตั้งรกราก), ที่ผสมกับ Official Nationalism (ของเจ้าและขุนนาง/ข้าราชการ), กับของ Anti-Colonial (คือ ต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศส ดังเห็นได้ชัดจากกรณีการเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” (เสียมราบ-พระตะบอง-ศรีโสภณ) ในกัมพูชา และจัมปาสัก-ไซยะบุรี ในลาว ที่บานปลายไปเป็นเรื่องของคดี “ปราสาทเขาพระวิหาร” ทั้งในยุคของระบอบพิบูลสงคราม-สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (1940s-1960s) กับ “การเมืองใหม่” ของ “ลัทธิพันธมิตรเสื้อเหลือง”) และท้ายที่สุดผสมปนเปื้อนกับ Long Distance (ทางไกลจากแคลิฟอเนียร์ เท็กซัส ในสหรัฐฯและยุโรป)

 

(4)

กรณีศึกษาที่จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจ “ชาตินิยม” ของประเทศเราได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจะสะท้อนแนวความคิดว่าด้วย “พหุลักษณ์” หรือ “เอกลักษณ์” ของชาติเรา ก็คือกรณีของการเปลี่ยนนามหรือชื่อประเทศ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก “ราชอาณาจักรสยาม” กลายมาเป็น “ราชอาณาจักรไทย” หรือในภาษาอังกฤษจาก SIAM เป็น THAILAND เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482/1939 คือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ที่ “คณะราษฎร” อันเป็นกลุ่มที่มีองค์ประกอบสำคัญของบรรดา “อำมาตยาเสนาธิปไตย” ที่ได้ยึดอำนาจจาก “ราชาธิปไตย” คือพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 และปรับเปลี่ยน “ชาตินิยม” อันมี “สถาบันกษัตริย์” (monarchy) เป็นศูนย์กลาง มาเป็นการที่ “เชื้อชาติไทย” (race/ethnic) เป็นศูนย์กลาง

 

ขอให้สังเกตสิ่งที่เป็น “ศูนย์กลาง” ของชาตินิยมนี้ของเรา (ที่เราอาจจะไม่สังเกตกันเลย เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว) กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็น 8.00 น. หรือ 18.00 น. ที่ต้องยืนขึ้นเคารพ  “ธงและเพลงชาติ(ไทย)” อันมีเนื้อร้องของกองทัพบกที่ว่า “ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” นั่นเอง

 

(แต่ ในความเป็นจริงนั้น ชาติของเรามีถึงกว่า 50 ชาติพันธุ์ (เชื้อชาติ) และดังนั้น ชาติของเราจึง “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ไท ยวน ลาว ลื้อ คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทยใหญ่ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า กำหมุ มลาบรี ชอง บรู ญากูร์ โอรังลาอุต ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ลูกครึ่ง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ” กว่า 50 ชนชาติและภาษา” หลากหลายและเป็น “พหุลักษณ์” ที่เป็น “อัตลักษณ์” มาแต่ดั้งแต่เดิม

 

กล่าวโดยย่อ การเปลี่ยนชื่อหรือนามประเทศครั้งนั้น  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทัศนคติของเราอย่างลึกล้ำ เปลี่ยนจากการอิงอยู่กับนามหรือชื่อของ “สถานที่ หรือนามทางภูมิศาสตร์” (location, place name) คือจากคำโบราณมากกว่าหนึ่งพันปี คือ “สยาม” ที่มีรากเดิมจากภาษาชาวบ้านว่า “ซำ” หรือ “ซัม” ซึ่งแปลว่าดินที่มีน้ำ กลายมาเป็นเน้น “เชื้อชาติ” ไทย และ Thailand ซึ่งกลายเป็น land ของแต่เฉพาะ Thai

 

(5)

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กรณีของการเปลี่ยนนามประเทศ และการเปลี่ยนเนื้อร้องของเพลงชาตินี้ จึงก็มีวาระทาง “การเมือง” อย่างยิ่งอีกด้วย และเป็นตัวอย่างคลาสิกของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง “การเมืองภายในประเทศ” กับ “นโยบายต่างประเทศ” ที่ในด้านหนึ่งต้องการหาความสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วไป และในอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถใช้เป็นอาวุธจัดการกับฝ่ายตรงข้าม หรือศัตรูทางการเมืองอีกด้วย ขอให้เรามาดูลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเพียงไม่กี่ปี

 

พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932)                            มีการปฏิวัติ (รัฐประหาร) เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่“คณะราษฎร” อันประกอบด้วย “อำมาตยาเสนา” (ข้าราชการทหาร/พลเรือนและนักกฏหมาย) ยึดอำนาจจาก “พระราชา” หรือรัชกาลที่ 7

 

พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933)                            มีรัฐประหารซ้ำ 20 มิถุนายน โดย “คณะราษฎร” ล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่ถูกมองว่าเป็น “ตัวแทน” (ที่ควบคุมไม่ได้) ของ “คณะเจ้า”  ในปีเดียวกันนั้นมี “รัฐประหารซ้อน” หรือ “กบฏบวรเดช” ที่นำโดยอดีตเสนาบดีกลาโหมของ “พระราชา” รัชกาลที่ 7

 

พ.ศ. 2477/78 (ค.ศ. 1935)                       รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลของ “คณะราษฎร” ประสบปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกระแส “ลัทธิอำมาตยาเสนาชาตินิยม” อันมีแกนกลางอยู่ที่ “เชื้อชาติไทย” แทน “ราชาชาตินิยม” ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ยกย่อง “เอกลักษณ์” ของชนชาติไทย กดทับพหุลักษณ์และความหลากหลายของเชื้อ/ชนชาติอื่นๆอันหลากหลายที่มาแต่ดั้งเดิม

                                                                รัฐบาลสร้างและสนับสนุน “วาทกรรม” ว่าด้วย “การเสียดินแดน” ให้กับมหาอำนาจอาณานิคมตะวันตก

 

พ.ศ. 2482 (ค.ศ.1939)                             สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในยุโรป ฝรั่งเศสถูกกองทัพของนาซีฮิตเลอร์ยึดครอง ส่งผลกระทบต่อฝรั่งเศสในอินโดจีน ที่กลายเป็น “รัฐบาลหุ่น” อ่อนแอไร้สมรรถภาพ นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” จาก SIAM เป็น THAILAND และเรียกร้องให้มีการปรับพรมแดนระหว่างไทย กับลาวและกัมพูชาของฝรั่งเศสที่ทำกันไว้กับสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เสียใหม่

 

พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940)                            รัฐบาลสนับสนุนนักเรียนนิสิตนักศึกษา ให้เดินขบวนเรียกร้องดินแดน พร้อมด้วยคำขวัญว่า “สองฝั่งโขงเป็นของเรา” และ “มณฑลบูรพา นี่ก็เป็นของเรา” เกิดการสู้รบเป็นสงครามอินโดจีนขนาดย่อยระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทั้งทางบก เรือ อากาศ

 

พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)                            ญี่ปุ่นมหาอำนาจใหม่ เข้าไกล่เกลี่ยให้มีการลงนามในสนธิสัญญากรุงโตเกียว ทำให้ไทย “ได้ดินแดน” ในเสียมราบ พระตะบอง ศรีโสภณ หรือ “มณฑลบูรพา” (รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหาร และเปลี่ยนชื่อเมืองเสียมราบเป็น จังหวัดพิบูลสงคราม) กับได้จัมปาศักดิ์ (รวมทั้งปราสาทวัดพู) และ ไซยะบุรี (ต่อในระหว่างสงครามโลก ไทยยัง “ได้รับดินแดน” เพิ่มขึ้นอีก คือ เชียงตุง และเมืองพานในพม่าของอังกฤษ ซึ่งไทยนำมาตั้งชื่อใหม่ว่า “สหรัฐไทยเดิม” กับอีก “สี่รัฐมาลัย” ในมลายู คือ เคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานู และปะลิส) รัฐบาลฉลองความสำเร็จ “การได้ดินแดน” นี้ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในพระนคร

 

(6)

ผลของความสำเร็จของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” นี้ ทำให้ นรม.นายพันตรีหลวงพิบูลสงครามได้ยศข้ามกระโดดขั้นไปเป็นจอมพล โดยไม่ต้องผ่านยศพลโท หรือพลเอก รัฐบาลของ “คณะราษฎร” ประสบความสำเร็จ เหนือ “คณะเจ้า” ในการสร้างเสถียรภาพและความสนับสนุนจากประชาชนด้วยการปลุกระดมการ “สร้างชาติ” (nation building) ด้วย “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และความเป็น “มหาอานาจักรไทย” ของ “ชนเชื้อชาวไทย ทั่วทั้งแผ่นดิน”

 

อนึ่งขอให้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า นับตั้งแต่ยุคนั้น ประเทศไทยอาจเป็น “ราชอาณาจักรเดียว” ที่มีทั้ง “เพลงชาติ” และ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” คือมี 2 เพลง ในขณะที่สหราชอาณาจักรกับญี่ปุ่น มีเพียงชาติละ 1 เพลง คือ “God Save the Queen” กับ “Kimi-ga-Yo” (May Your Reign Last Forever) ที่เป็นทั้งเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีในเวลาเดียวกัน คำถามก็คือทำไมเราต้องมี 2 เพลง แต่เขาทำไมมีเพียง 1 เพลง

 

การเปลี่ยนนามประเทศ รวมทั้งการ “มี” และการ “เปลี่ยน” เนื้อร้อง “เพลงชาติ” นั้นเป็นการสร้าง “เอกลักษณ์” อันเป็น “อัตลักษณ์” ของคนในชาติขึ้นมาใหม่ ที่ถูกกำหนดโดยเบื้องบนหรือส่วนกลาง (กรุงเทพฯ top down) ว่า “เราคือใคร” เราเป็นใคร กดทับ “ความหลากหลาย” หรือ “พหุลักษณ์” ที่มีมาแต่ดั้งเดิมของคนจำนวนมากมายหลายเผ่าชาติพันธุ์

 

ดังนั้น“ลาน/ล้านนา” ต้องผันตัวไปเป็น “ลาน/ล้านนาไทย” คือต้องเติมคำว่า “ไทย” เข้าไปด้วย ทั้งที่ในภาษาโบราณก็ไม่มีคำนี้ (เหมือนๆกับคำว่า “ลาน/ล้านช้าง” ที่ไม่มีคำต่อท้ายว่า “ลาว”) หรือคำพูดกันเล่นๆว่า “อีสาน ไม่ใช่ลาว” ก็คงเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาอันสับสนของ “อัตลักษณ์” กับความเป็น “เอกลักษณ์” หรือ “พหุลักษณ์” ของคนในชาติบ้านเมืองของเรา

 

(7)

กล่าวโดยย่อ นี่คือผลพวงของการเมืองภายใน และการต่อสู้ระหว่าง “ระบอบใหม่” (new regime) ของ“คณะราษฎร” กับ “ระบอบเก่า” (ancient regime) ของ “คณะเจ้า” และมีผลพวงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของ “ชาตินิยมไทย/สยาม” ของรัชกาลที่ 6 จาก “ราชาชาตินิยม” (สถาบันกษัตริย์) มาเป็น “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ และ “คณะราษฎร”

 

นี่เป็น “การสร้างชาติ” ในทศวรรษ 2470s (1930s) และ 2480s (1940s) ที่เน้นความเป็นชาติว่าอยู่ที่เผ่าพันธุ์หรือ “เชื้อชาติ” (race/ethnic) ที่ผู้กุมอำนาจรัฐจะใช้กันเรื่อยๆมาจนกระทั่งสมัยของระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ในทศวรรษ 2500-10 (1960s) ก่อนที่จะมีการสถาปนา “พระราชอำนาจนำ” หรือ Royal Hegemony ในรัชกาลปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจน 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภา 2535 (ไม่ใช่ “ทมิฬ”)

 

(8)

ลัทธิชาตินิยมเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ที่ในปัจจุบันกลายเป็นส่วนผสมปนเปกันระหว่าง “ราชาชาตินิยม” กับ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” ก็ยังอยู่กับเราๆท่านๆ ดังจะเห็นได้จากการรื้อฟื้นให้คืนชีพกลับขึ้นมาใช้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และเห็นได้อย่างชัดเจนใน “การเมืองใหม่” ที่เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงเมื่อเกิด “ม๊อปธิปไตย” ของ “ลัทธิพันธมิตรเสื้อเหลือง” ต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณเสื้อแดง” ที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานเพื่อ “ล้มรัฐบาล” นับตั้งแต่ปี 2548-49-50-51 ที่บานปลายไปจนถึงการยึดถนน สถานที่ราชการ ทำเนียบรัฐบาล ตลอดจนสนามบินนานาชาติที่ทั้ง “หนองงูเห่า” และ “ดอนเมือง”

 

ท้ายที่สุด จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ยังขยายวงออกไปนอกบ้านกับกัมพูชา (เหมือนๆกับยุค ป. พิบูลสงครามและสฤษดิ์ ธนะรัชต์) อีกด้วย นั่นคือในกรณี “ปลุกผี” กรณี “ปราสาทเขาพระวิหาร” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ “มรดกโลก” ร่วมกันทางวัฒนธรรมกับการจัดการเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ชัดเจน อันน่าจะเป็นเรื่องของศตวรรษใหม่ที่ 21 กลับถูกทั้งอำมาตยาเสนา+ราชาชาตินิยม นักวิชาการ ผู้ดีมีสกุลสูงศักดิ์ทั้งบุรุษสตรี (และหลากเพศ) ลาก “ถูลู่ถูกัง” ถอยกลับไปเป็นเรื่องของ “ดินแดน-อธิปไตย-การเสียค่าโง่” ของยุคสมัยเมื่อ 50 ปีหรือ 100 ปีที่แล้วอย่างน่าเศร้าและน่าเสียดาย นี่เป็นผลของ “ชาตินิยม” ที่แปรเปลี่ยนปนเปื้อนจาก “ความรักชาติ” ให้กลายเป็น “ความหลง-ล้าหลัง-คลั่งชาติ”

 

(9)

 

ณ วันนี้ คำถามทางวิชาการของเรา ก็คือรัฐบาลใหม่ของ นรม. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ซึ่งมีเชื้อสายอันหลากหลายของความเป็นเวียดไม่น้อย) จะดำเนินการให้มี “การเมืองใหม่” อย่างแท้จริง ในการแก้ไขปัญหาความแตกแยกและแตกต่างในชาติ (ความสมานฉันท์) กับความร้าวฉานกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชาในกรณีปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างไร หรือจะรักษาความเข้มข้นกับมรดกของ “การเมือง” และชาตินิยมแบบเก่าๆ ไว้หรือไม่

 

และการตั้ง รมต. กต. คนปัจจุบันตามโควต้า ที่มีท่าทีและทัศนคติต่อเพื่อนบ้านแบบ “สายเหยี่ยว” ตามที่ได้ปราศรัยอย่างขาดความเป็นนักการทูตที่ดีดั้งเดิมของประเทศ ขาดความสุภาพ ขาดความเป็นผู้ดี ไว้หลายครั้งหลายคราบนเวที “พันธมิตรเสื้อเหลือง” นั้น จะเป็นเพียงวาระหรือ “ยุทธวิธี” ในการใช้ “ชาตินิยม” เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายใน เพียงเพื่อล้มรัฐบาลของ “ระบอบทักษิณเสื้อแดง” เท่านั้นหรือ หรือว่าทัศนคติทางการเมือง “ชาตินิยม” เก่าๆดังกล่าวในเวอร์ชั่นทั้ง “ราชา” และ “อำมาตยาเสนา” ฝังรากลึกจนถอนไม่ขึ้นเสียแล้ว และทุกอย่างก็มาลงตัวรวมกันเพียงเพื่อ “ชัยชนะ” ของกลุ่มการเมือง พรรคพวกและวงศาคณาญาติของ “อภิสิทธิชน” เท่านั้นเอง

 

(10)

 

นามของประเทศไทย หรือ Thailand (รวมทั้งเพลงชาติและเนื้อร้อง) ที่เปลี่ยนมาจากสยามประเทศ Siam มาครบ 70 ปีพอดีในปีนี้-เป็นนามที่มีปัญหาในเรื่องของ “เชื้อชาติ” -เป็นการยกย่องและย้ำเน้นความสำคัญของเพียงชนเชื้อชาติเดียว -เป็นการกดทับและกีดกัน “ชาติพันธุ์” อื่นๆอันหลากหลาย-เป็นนามที่ “ล้าหลัง” -เป็นนามที่เป็น “เอกพจน์” (single)-เป็นนามที่ “จิตใจคับแคบ” (narrow minded) -เป็นนามที่ขัดกับความเป็นจริงของมนุษยที่เป็น “พหุลักษณ์” (plural) ที่มีความหลากหลาย” -และที่มี “จิตใจกว้างขวาง” (broad minded)

 

ถึงเวลาอีกแล้วหรือยัง ที่เราจะต้องตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า “นามนั้น สำคัญไฉน” หากจะเลี่ยงเคราะห์กรรมหรือ “กาลียุค” แห่งชาติ ที่กำลังอุบัติอยู่ต่อหน้าต่อตาในปัจจุบันของ ของการปะทะระหว่าง “การเมืองเก่า” กับ “การเมืองใหม่” ของ “ระบอบใหม่” กับ “ระบอบเก่า” ของ “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” เราจะคงชื่อของ “วันทอง” ไว้ หรือเปลี่ยนกลับเป็น “พิมพิลาไลย” กันดี

 

และท้ายที่สุดก็คือ ถึงเวลาหรือยังที่บ้านเมืองของเรา จะมี “ชาตินิยม” เวอร์ชั่นใหม่ที่เป็นของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็น “ประชาชาตินิยม” ที่มาจากระดับและระนาบเดียวกัน (ที่มิใช่เป็น top down โดย “อภิสิทธิชน”) เป็นชาตินิยมของความมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และความสมานฉันท์แห่งภราดรภาพ




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ