ReadyPlanet.com
dot dot
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต

นครพนม: โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต

โชคชัย บัณฑิต’

 

โหมโรง

                นอกจาก “ความรัก”จะทำให้คนเป็นกวีแล้ว “ธรรมชาติ”ที่งดงามก็มีมนต์ดลใจให้ผู้คนอยากจะกล่าวอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความรู้สึกที่ตนมีต่อความงามที่ได้เห็นอยู่ตรงหน้า

                กวี เลือกใช้ถ้อยคำเขียนเป็นบทกวี

                จิตรกร เลือกสีเขียนเป็นภาพ

                นักแต่งเพลง หยิบเอาถ้อยคำประกอบเข้ากับท่วงทำนองเรียงร้อยเป็นบทเพลง

               

                ผู้เขียนเองก็เคยเขียนบทกวีบอกเล่าบรรยากาศนครพนมยามหนาวเมื่อคราวมาเยือนเมื่อเดือนมกราคม 2545 ในคราวประชุมนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 8 (จัดโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างวันที่ 9-12 มกราคม 2545)

                มานครพนมคราวนั้นมีเวลาละเลียดอารมณ์ริมฝั่งมากกว่าครั้งใด เห็นภาพแปลงผักริมโขงแล้วอดนึกถึงเพลง “หนุ่ม นปข.”ไม่ได้ โดยเฉพาะเนื้อเพลงท่อนสองที่เห็นภาพชีวิตผู้คนริมตลิ่งโขงเด่นชัด

                “...สาวคนงามหาบน้ำขึ้นท่า น้องนำมารดต้นยา ทำสวนผักปลูกพริกมะเขือ

เมื่อเห็นทรามวัยหัวใจแทบหลุดจากเรือ หากว่าน้องจุนเจือ ลูกทัพเรือรักได้บ่นาง...” (เพลง หนุ่ม นปข. ขับร้องโดยสุริยา ฟ้าปทุม)

 

                การเขียนบทกวีเบื้องต้นนอกจากเขียนตามที่“รู้สึก”แล้ว การเขียนตามที่ตา“เห็น”ก็สำคัญ และทำได้ง่ายกว่า

                โดยเฉพาะบทกวีของ นายผี (อัสนี พลจันทร์) ที่เขียนถึง “ตลิ่งของ”แล้วเห็นทั้งภาพ ได้ทั้งความรู้สึก และความคิด เห็นชีวิตผู้คนสามัญที่อาศัยทำมาหากินอยู่สองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนของแม่น้ำโขง บทกวีชิ้นนี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ลองอ่านดู

                “ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ                                               แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า

                เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา                                  แต่ตีนท่าลื่นลู่ดังถูเทียน

                เหงื่อที่กายไหลโทรมลงโลมร่าง                         แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร

                อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน                ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย”

 

โขงนที

                เฉพาะเรื่องเพลงมีเพลงที่อาศัยฉากแม่น้ำโขงและฉากนครพนมหลากหลายเพลง โดยเฉพาะเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงแม่น้ำนานาชาติสายนี้มีหลากหลายเกินกว่าจะรวบรวมได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเพลงเก่าของลาวอย่างเพลง “สองฝั่งของ”ที่มีนักร้องฝั่งไทยนำมาร้องไว้หลายราย(...สายนทีรินหลั่งจากฟ้า แบ่งพสุธาทั้งซ้ายและขวาสองฝั่ง...) เพลงลูกกรุงอย่าง “เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง”(...เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง ให้มันไหลลง ไหลลง ไหลลงทะเล...ขับร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส) เพลง “จากเจ้าพระยาถึงฝั่งโขง”(...แม้อยู่ห่างต่างถิ่นแผ่นดินไหน ถ้าวันใดคิดถึงถิ่นแผ่นดินสยาม... ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง) หรือเพลงเพื่อชีวิต “อินโดจีน”ของวงคาราวานที่มองแม่น้ำโขงแบบมีผู้คนและสังคมการเมืองอยู่ในนั้น(จะกล่าวโดยละเอียดต่อไป) ทำนองเดียวกับบทกวี “ตลิ่งของ”ของนายผี ที่ สุรชัย จันทิมาธร นำมาใส่ทำนองเป็นบทเพลงอีก 1 เพลงในอัลบั้มเดี่ยวของตนชุด “ลุงไม้ไทย”เมื่อเดือนกันยายน 2533

                เพลงลูกทุ่งที่อาศัยแรงบันดาลใจหรือกล่าวถึงแม่น้ำโขงมีเป็นจำนวนมาก อาทิเพลง “เบิ่งโขง”ของราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ที่ว่า

“...มองเบิ่งโขงน้ำน้อยตกแก่งไหลย้อยยามเมื่อเย็น คราเมื่อใครได้เห็นชมเล่นเพลินตาแท้ละเหนอ ฝั่งโขงอ้ายมา สุขตาเพราะอ้ายมาได้เจอ เพียงแต่มาพบเธอ ดูซิเออหลบเอียงอาย...”

                หรือเพลง “เดือนหงายที่ริมโขง”ซึ่งเป็นบรรยากาศฝั่งโขงจังหวัดหนองคายที่ว่า

“...โอ้เวียงจันทน์ คืนนั้นเดือนหงายแจ่มฟ้า ทอแสงมากระทบลำโขง โขงเจ้าเอยไหลเอื่อย ไหลเรื่อยเป็นลำคดโค้ง เหมือนเชื่อมโยงหัวใจพี่ ให้ฮักเจ้าจนสิ้นชีวา...”

                นักร้องลูกทุ่งที่ร้องเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเอาไว้จำนวนมากน่าจะเป็น ปอง ปรีดา ไม่ว่าจะเป็นเพลงแรกที่สร้างชื่อให้เขาอย่างเพลง “สาวฝั่งโขง” ที่ขึ้นต้นไว้ว่า

“...โอ้ ฝั่งลำน้ำโขง ยามเมื่อแลงค่ำลง สาวเจ้าคงลงเล่นตามท่า สาวเจ้าคงสิเพลินหนักหนา ข้อยหรือมาคอยท่า สาวเจ้าอย่ามัวหลงลอย...”

                รวมทั้งเพลง “ล่องโขงคืนเพ็ญ”(...ล่องโขงเลียบริมสายชลธาร ค่ำนี้พี่พานงคราญเริงรื่นชื่นบานเลาะฝั่งไป...) เพลง “ฝั่งโขงในอดีต”(...ยามสายัณห์ตะวันค่ำลง ข้อยคิดถึงฝั่งโขงเมื่อยามข้อยลงเว้าสาว...) หรือเพลง “คิดถึงฝั่งโขง”(...โอ้โขงเอย...ก่อนข้อยเคยล่องเรือเกี้ยวสาว...)ตลอดจนเพลงอื่น ๆ ของปอง ปรีดา ที่ไม่มีคำเรียกแม่น้ำโขงในชื่อเพลง แต่ก็กล่าวถึงแม่น้ำโขงในเนื้อเพลงอีกหลายเพลง

                นอกจากเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงลาว และเพลงเพื่อชีวิต ตามที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีเพลงไทยสากลร่วมสมัยที่เป็นผลงานการขับร้องร่วมกันระหว่างหนุ่มไทยและสาวลาว โดยมีเนื้อหากล่าวถึงแม่น้ำโขงและพระธาตุพนมอย่างเพลง “สาวลาว บ่าวไทย”ที่ได้นักร้องลาวร่วมสมัยอย่าง อเล็กซานดร้า ธิดาวัลย์ บุญช่วย มาร่วมสร้างสีสันคู่กับ ชวิน จิตรสมบูรณ์ (จะกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง)

                เพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงยังมีมากกว่านี้ จนน่าจะยกเป็นหัวข้อศึกษาวิจัยได้อีกหนึ่งหัวข้อ ในที่นี้จะขอยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปเพียงเท่านี้

 

ศรีโคตรบูรณ์

                เพลงที่มีเนื้อร้องอ้างถึงสถานที่เกี่ยวกับจังหวัดนครพนม  หรือนามเดิมคือศรีโคตรบูรณ์ นั้นมีทั้งที่กล่าวถึงนครพนมโดยรวม กล่าวถึงพระธาตุพนม และกล่าวถึงอำเภออื่นในจังหวัดนครพนมโดยกล่าวถึงชื่อนครพนมไว้ด้วยก็เช่น

                เพลง “อาลัยพระธาตุพนม” ของเทพพร เพชรอุบล ที่ขึ้นต้นว่า

“...น้ำตาหล่นเสียแล้วหละคนอีสาน เมื่อสมบัติคู่บ้านของชาวอีสานมาถล่ม สุดแสนเสียดายองค์พระธาตุพนม ก่อนนี้เคยกราบก้มกลับมาถล่มจมพสุธา…”

                และเพลง “อาลัยสาวเรณู” ของเทพพรเช่นกันที่ขึ้นต้นว่า “...เสียงเพลงนี้เศร้าส่งถึงสาวชาวเมืองเรณู จากเจ้าไปไกลสุดกู่คิดถึงสาวเรณูนครพนม...”

                ส่วนเพลงรักโรแมนติคอย่างเพลง “หนาวลมที่เรณู” ซึ่งงดงามทั้งเนื้อร้องและทำนอง ผลงานของ สุรินทร์ ภาคศิริ ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ ขึ้นต้นไว้ว่า

“...เรณูนครถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง ได้พบนวลนางดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง น้องนุ่งซิ่นไหมไว้ผมมวยสวยเพริศพริ้ง พี่รักเจ้าแล้วแท้จริงสาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน...”

                เพลง “สาวสวยเรณู”ขับร้องโดย แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ที่ว่า

“...ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้มาเมืองเรณู มาเจอคนสวยโฉมตรูผู้งามประจำดินแดน ขึ้นชื่อเรณูใครก็รู้และอยากเป็นแฟน หนุ่มแถวอุดรฯขอนแก่นยังอยากเป็นแฟนเนื้อทอง...”

                เพลงที่มีท่วงทำนองคึกคักและมีภาษาถิ่นปะปนในเนื้อหาอย่างเพลง “หนุ่มนานครพนม” ขับร้องโดย พรศักดิ์ ส่องแสง ที่ว่า “...เสื้อขาดต่องต่อง แต่งแต่ง ตามหาน้องแดงตั้งแต่เดือนสาม ป่านนี้ยังไม่เห็นหน้าพี่ยังอุตส่าห์เฝ้าติดเฝ้าตาม...”

                สำหรับเพลงลูกทุ่งรุ่นใหม่ผลงานการประพันธ์ของสลา คุณวุฒิ ทั้งสองเพลง ได้แก่เพลง “รอพี่ที่นครพนม”ขับร้องโดย ต่าย อรทัย ที่ขึ้นต้นไว้ว่า

“…สายลมพัดส่าเมื่อคราหน้าหนาว คิดถึงเด๊คิดถึงคราวเมื่อก่อนสองเฮาเคียงคู่สุขสม นัดมาพบกันเที่ยวงานพระธาตุพนม จุดธูปขอพรกลางลม ฮักอย่าล่มยามอ้ายห่างไกล...”

                และเพลง “นครพนมคืนเพ็ญ” ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์ ที่ว่า

“...เดือนหงายสายลมที่นครพนมคืนเพ็ญ เฮาเกี่ยวก้อยกันเดินเล่นรับลมเย็น ณ ริมฝั่งโขง เมืองท่าแขกฝั่งลาวมีทิวเขาเป็นเงาคดโค้ง เสียงซุงลายโตดติต่งลอยข้ามโขงมากล่อมหัวใจ...”

 

เพลงกวี

                หากยึดนิยามความเป็นบทกวีที่ดี ว่าจะต้องใช้ถ้อยคำถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้กระทบใจผู้รับ มีการสรรคำที่เหมาะสมกับรสอารมณ์และมีการใช้โวหารกวีที่อุดมด้วยจินตภาพ จะเห็นได้ว่าตัวอย่างเพลงที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงและเพลงเกี่ยวกับนครพนมข้างต้น มีบางเพลงไพเราะลึกซึ้งด้วยท่วงทำนองและบรรยากาศที่กล่าวไว้ในเนื้อเพลง บางเพลงมีโวหารกวีงดงาม ดังนี้

                1. เพลงที่มีท่วงทำนองงดงาม

                                1.1 “เพลงหนาวลมที่เรณู” ผลงานการประพันธ์ของ สุรินทร์ ภาคศิริ เป็นเพลงที่ผู้ประพันธ์สามารถใช้ถ้อยคำถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจต่อผู้คน(สาวงาม)และสถานที่(อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม)ได้สอดคล้องกับท่วงทำนองเนิบช้า ให้ภาพประทับใจแบบโรแมนติค เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงแรก ๆ ที่คนทั่วไปนึกได้ก่อนเพลงใดถ้าให้เลือกเพลงที่ตนจำได้เกี่ยวกับจังหวัดนครพนม ซึ่งไม่น่าจะผิดจากความคาดหมายสักเท่าใด

เพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนพลิ้วไหวให้บรรยากาศสายลมโชยมา ก่อนกรีดเสียงหวานด้วยไวโอลินคลอไปกับเสียงเปียโนหวิวไหวราวสายลมหนาวให้บรรยากาศชวนฝัน ประสานกับเสียงหวานทรงพลังของผู้ขับร้องอย่างศรคีรี ช่วยให้บรรยากาศของนครพนมยามฤดูหนาวปรากฏเป็นภาพงดงามขึ้นในใจของผู้ฟัง ภาพ “น้องนุ่งซิ่นไหม ไว้ผมมวยสวยเพริศพริ้ง”ให้บรรยากาศสาวงามแบบคนพื้นถิ่นที่ชวนหลงใหล ซึ่งผู้ประพันธ์เปรียบเทียบความงามว่าเหมือนเป็น “สาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน” คืองามชวนฝันเช่นเดียวกันกับสาวเหนือหรือสาวเชียงใหม่(เวียงพิงค์) ที่กลายเป็นภาพแทนสาวงามในอุดมคติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

                                1.2 เพลง “ล่องโขงคืนเพ็ญ” ขับร้องโดย ปอง ปรีดา รูปแบบของเพลง ต่างจากเพลงลุกทุ่งร่วมสมัยในขณะนั้นตรงที่เป็นเพลงแบบ AB AB ไม่ใช่เพลงแบบ AA B A อย่างที่นิยมกัน จึงเป็นเพลงหวานเศร้าที่ฟังแปลกหูจากความเคยชิน (เพลงลูกทุ่งทั่วไปจะมี 4 ท่อน โดยท่อน 1 2 และ 4 จะมีทำนองเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเสียงท้ายท่อนที่ 2 เพื่อให้นำไปสู่ท่อนที่ 3 ซึ่งเป็นท่อนแยกอีกหนึ่งทำนอง เรียกว่ามีรูปแบบ A A B A)

ท่วงทำนองเพลง“ล่องโขงคืนเพ็ญ”ให้อารมณ์วิเวกหวามของยามค่ำ สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงที่กล่าวถึงการล่องโขงยามค่ำที่อร่ามด้วยแสงเดือนและเงาไม้ชายฝั่ง รวมทั้งการเลื่อนไหลทำนองเหมือนสายน้ำที่ผกผันตรงช่วงกลางของท่อนเพลงทั้งสองท่อนโดยการเปลี่ยนคีย์จากเมเจอร์เป็นไมเนอร์ ก่อให้เกิดอารมณ์เศร้าสอดคล้องกับเนื้อเพลงที่ยังไม่สมรักแม้บรรยากาศการหวนรำลึกจะงดงามในช่วงแรกของอารมณ์ก็ตาม ดังตัวอย่างท่อนที่สองของบทเพลงที่ว่า

“...พุ่มพฤกษ์ข้างลำโขงบังเงาเดือน สุขเหลือไม่ลืมไม่เลือนคำพลอดยังเตือนฝังอุรา ลุ่มโขงกั้นกลางขวางทางไปมา ไม่ขวางกั้นทางชีวาที่ปรารถนาจะร่วมไป

(เปลี่ยนเป็นคีย์ไมเนอร์) พี่ฮักนางจูบปรางค์เว้าคำรำพัน สัญญารักไม่แปรผันทุกวันจะฮักจนสุดใจ โขงฟากโน้นพี่จะขอว่ายข้ามไป หวังคู่เคียงดวงใจเพราะความฮักใคร่ผูกพัน…”

                2. เพลงที่ใช้ภาษาได้งดงาม นอกจากการใช้ภาษาสละสลวยมาบรรยายเรื่องราวและบรรยากาศในเนื้อเพลงแล้ว ยังรวมถึงโวหารกวีที่ลึกซึ้งกินใจ ดังนี้

                                2.1 เพลง “เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง” ประพันธ์โดย พยงค์ มุกดา มีโวหารกวีหรือความเปรียบที่งดงามตรงท่อนแยกหรือท่อนที่สามของเนื้อเพลงที่ว่า

“...แม้ความเจ็บปวดเป็นเหมือนกรวดทราย ถมทิ้งลงไปแม่โขงทั้งสายคงกลายเขินตื้น หากความเจ็บช้ำเป็นน้ำก็นองท่วมพื้น รสชาติบาดแผลขมขื่นแม่โขงช่วยกลืนให้ไกลแสนไกล...”

                                โวหารกวีที่น่าสนใจเช่นนี้น่าจะส่องให้เราเห็นรูปเงาอิทธิพลของวรรณคดีโบราณอย่างกำสรวลศรีปราชญ์ ในบทที่พรรณนาความเศร้าเสียใจเพราะผิดหวังจากความรักไว้ว่า

                                “เรียมร่ำน้ำเนตรท่วม                            ถึงพรหม

                                พาหมู่สัตว์จ่อมจม                 ชีพม้วย

                                เขาพระสุเมรุเปื่อยเป็นตม     ทบท่าว ลงนา

                                หากอักนิษฐ์พรหมช่วย         พี่ไว้จึงคง”

                                หรือโวหารเศร้าอาลัยในลิลิตพระลอ ตอนสิ้นพระลอและสี่พี่เลี้ยง ที่ว่า

                                “เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้                          ทุกเรือน

                                อกแผ่นดินดูเหมือน                              จักคว่ำ

                                บ เห็นตะวันเดือน                 ดาวมืด มัวนา

                                แลแห่งใดเห็นน้ำ                   ย่อมน้ำตาคน”

                                นอกจากโวหารข้างต้นแล้ว เพลงนี้ยังเปรียบเทียบความลึกล้ำของ “เล่ห์กล”ในจิตใจมนุษย์ว่า “ลึก”กว่าทะเล พร้อมทั้งเล่นเสียงเล่นคำอย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ไปในขณะเดียวกันด้วย ดังตัวอย่าง

“...เบื่อความรักจากคนร้อยเล่ห์ เล่ห์ลวงลึกกว่าทะเล สุดคาดคะเน สุดนับคณา...”

                                2.2 เพลง “หนาวลมที่เรณู” ใช้ภาษาที่ได้บรรยากาศความงามของฤดูหนาว สัมผัสได้ถึงความหนาวเย็นของสายลม และท้องฟ้าที่สดสว่าง รวมทั้งการใช้คำเปรียบเทียบเพื่อออดอ้อนขอความรักได้งดงามและสอดคล้องกับสีสันประเพณีพื้นถิ่นที่ว่า

“...ผ้าผวยร้อยผืนไม่ชื่นเหมือนน้องอยู่ใกล้ ดูดอุร้อยไหไม่คลายหนาวได้หรอกหนา ขาดน้องพี่ต้องหนาวหนักอุรา คอยนับวันเวลาจะกลับมาอบไอรักเก่า...”

                                2.3 เพลง “นครพนมคืนเพ็ญ” ผลงานการประพันธ์ของ สลา คุณวุฒิ นอกจากความไพเราะของทำนองเพลงแล้ว ยังมีความคมคายของถ้อยภาษาที่กล่าวถึงธรรมชาติของสองฝั่งโขงได้อย่างกระชับ ที่ว่า

“...ดงภูเป็นของฝั่งลาว ทิวทัศน์ทอดยาวเป็นของฝั่งไทย เดือนขึ้นทางฝั่งโน้น โรยแสงอ่อนโยนอาบคิงน้องอ้าย ลอยข้ามโขงลงทางฝั่งไทย แสงงามเดือนหงายเราใช้ร่วมกัน...”

 

ดนตรีชีวิต

                หน้าที่ของเพลงนอกจากเพื่อความบันเทิงใจของผู้ฟังแล้ว เพลงยังทำหน้าที่บันทึกสังคมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอีกประการหนึ่งด้วย เช่น เพลงรักอย่าง “หนุ่ม นปข.”ผู้ฟังยังได้เห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งโขงโดยผู้ประพันธ์มิได้ตั้งใจจะเสนอภาพชีวิตเป็น “สาร” หลักเท่ากับการ “เกี้ยวสาว” แต่ภาพ “...สาวคนงามหาบน้ำขึ้นท่า น้องนำมารดต้นยา ทำสวนผักปลูกพริกมะเขือ...”และ “...สาวอีสานเจ้าแสนซื่อ สมคำที่เขาร่ำลือ งานหรือก็ขยันอย่างนี้...” ก็สะท้อนการดำรงชีวิตของผู้คนตัวเล็ก ๆ ไว้อย่างมีชีวิตชีวา ต่างจากบางเพลงที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจบันทึกภาพสังคมเอาไว้ ดังนี้

                1. เพลง”อาลัยพระธาตุพนม” ขับร้องโดย เทพพร เพชรอุบล จากเหตุการณ์ที่องค์พระธาตุพนมทรุดพังลงมาเมื่อ พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของภูมิภาคอินโดจีนร้อนแรงที่สุด เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เวียดนาม และกัมพูชา สูญเสียอธิปไตยให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กลายเป็นประเทศสังคมนิยม หรือแม้แต่สถานการณ์การเมืองของไทยก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน เพลงนี้จึงบันทึกเหตุการณ์การสูญเสียพระธาตุพนมเชื่อมโยงไปกับสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคอินโดจีนไว้ว่า

                “...เหตุเกิดวันที่สิบเอ็ดสิงหา เมื่อตอนเวลาดึกสงัด

สายฝนกระหน่ำลมซ้ำสะบัด จนพระเณรทั้งวัดต้องตื่นผวา

โอ้ อนิจจัง วัฏฏะสังขารา ฟ้าได้บัญชาอาญาโทษทัณฑ์

ที่เห็นหมู่เฮาเอาแต่ฆ่าฟัน เอาแต่ห้ำหั่นล้างผลาญชีวา

จึงใช้สายฟ้า จึงใช้สายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงมาองค์พระธาตุทันใด...”

                และยังตอกย้ำอีกท่อนหนึ่งว่า

                “...มวลหมู่มนุษย์แสนสุดจะชั่ว จงหยุดรวมหัวทำชั่วเสียที

                จงหยุดฆ่าฟันห้ำหั่นชีวี มาทำความดีให้ชาติเถิดหนา

                จงรวมน้ำใจอันใสสะอาด รวมแรงทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์…”

                และเมื่อร่วมแรงร่วมใจบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วยังกำชับเรื่องชาตินิยม ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ไว้ตอนจบเพลงอีกว่า

                “...ให้ลูกให้หลานกราบกรานก้มไหว้ เพื่อชำระใจให้ใสสะเด็ด

                โลกจะได้รู้ไทยพริกขี้หนูนี้เผ็ด ใจเด็ดเยี่ยงเพชร รักชาติยิ่งชีวา…”

                2. เพลง “อินโดจีน”ขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร แห่งวงคาราวาน หลังจากท่อนสร้อยของเพลงที่เน้นย้ำคำว่า “อินโดจีน”ซ้ำ ๆ กันแล้ว เพลงได้เปิดฉากด้วยความคิดคำนึงถึงมิตรภาพระหว่างไทย ลาว กัมพูชา(เขมร) และเวียดนาม(ญวน)โดยเห็นว่าแม่น้ำโขงเปรียบเหมือนมาลัยดอกไม้ที่ไหลคล้องความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศ ดังเนื้อเพลงที่กล่าวว่า

                “...มองเมืองลาวมีความเหงาลึกลึก ฉันเคยรู้สึกโขงแดงเหมือนเลือด

                เขมรลาวญวนก็ล้วนคนคล้ายคลึง ยังคงคิดถึงความหลังครั้งเก่า

                อินโดจีนไทยน้ำใจพี่น้อง น้ำโขงไหลคล้องมีดอกไม้ลอย

                น้ำโขง น้ำโขง น้ำโขง มีดอกไม้ลอย...”

                ท่อนที่สองสะท้อนภาพการเมืองผ่านการรุกรานของประเทศมหาอำนาจทั้งจากซีกโลกตะวันตกและจากเอเชียด้วยกัน ที่ว่า

                “...ฝรั่งเศสไปแล้ว อเมริกันเข้ามา รุสเซียเข้าคว้า จีนถลาเข้าดึง

                จึงอินโดจีนโกลาหล ปลอกกระสุนปืนกลเกลื่อนทั้งพงไพร…”

                และในท่อนสุดท้ายผู้ประพันธ์ให้ภาพแม่น้ำโขงซ้ำทำนองกับท่อนแรก แต่เปลี่ยนภาพดอกไม้ลอยน้ำกลายเป็นภาพศพไหลลอยมาแทน โดยใช้คำสัญลักษณ์ที่คุ้นเคยอยู่แล้วมากล่าวแทนชื่อประเทศเจ้าอาณานิคมอีกครั้ง ดังนี้

                “...เตือนอินโดจีนแผ่นดินปวดร้าว ลุงแซมหมีขาวมังกรหมาป่า

                นานมาแล้วแว่วเสียงลำนำ เป็นเพลงลำน้ำชอกช้ำระบม

                น้ำโขง น้ำโขง น้ำโขง มีศพไหลลอย...”

                3. เพลง “สาวลาว บ่าวไทย” ประพันธ์คำร้องโดย ประภาส ชลศรานนท์ นักเขียนนักแต่งเพลงผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงดนตรีอารมณ์ดีอย่างวง “เฉลียง”เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว และยังเป็นเจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คขายดีอย่าง “ขอชื่อสุธีสามสี่ชาติ” ในสังกัดกลุ่ม”สำนักศิษย์สะดือ”ที่ทำนิตยสาร “ไปยาลใหญ่”ประสบความสำเร็จเรื่องอารมณ์ขันแบบ “เด็กสถาปัตย์”มาแล้วในอดีต เพลง “สาวลาว บ่าวไทย”จึงสะท้อนภาพสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มไทยและสาวลาวด้วยลีลาของนักแต่งเพลงอารมณ์ดีแบบประภาส โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ถ้าเพลงเก่าอย่าง “เดือนหงายที่ริมโขง” ของสุรพล สมบัติเจริญ สะท้อนบรรยากาศสังคมไทย-ลาวเมื่อครั้งยังไม่มีสะพานข้ามโขงที่ฝั่งหนองคาย-เวียงจันทน์ การข้ามไปมาหาสู่กันจึงต้องโดยสารเรือข้ามฟากจากท่าเสด็จฝั่งจังหวัดหนองคายไปยังท่าเดื่อฝั่งเวียงจันทน์ ดังเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า “...ฮักหนูพี่จึงข้ามมา เห็นเดือนเจิดจ้าที่ริมฝั่งโขง พี่จึงทอดโยงสายเรือ จับรถท่าเดื่อมาหาขวัญใจ...” ฝั่งโขงในปัจจุบันแม้มีสะพานข้ามโขง แต่ผู้ประพันธ์กลับเสนออารมณ์สนุกเจือด้วยอารมณ์ขันด้วยการให้ตัวละครฝ่ายไทยเป็นผู้ว่ายน้ำไปหาสาวลาว เพื่อให้ฝ่ายสาวเหน็บแนมด้วยอารมณ์สนุกสนานประสาหนุ่มสาว ดังนี้

                “...(ช) โขงเจ้าเอยก่อนเคยว่ายไป        (ญ) ว่ายเฮ็ดหยังสะพานก็มี

                (ช) พอรักใครว่ายน้ำทุกที                    (ญ) เว้าจั่งสิน้องนี้บ่เชื่อใจ

                (ช) โขงเจ้าเอยช่วยเป็นพยาน                               (ญ) สิเอิ้นสะพานมาสาบานด้วยบ่

                (ช) หากทำน้องตรมให้จมโขงไป        (ญ) อ้ายหรือไผที่จม…”

                เพลงยังสะท้อนความรู้สึกศรัทธาของชาวไทยและชาวลาวที่มีต่อองค์พระธาตุพนมไว้ด้วย เมื่อฝ่ายชายอาสาจะพาฝ่ายหญิงไปเที่ยวทะเล เนื่องจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ฝ่ายหญิงกลับตอบว่าอยากไปไหว้พระธาตุพนมมากกว่า ดังนี้

                “...(ช) อยากชวนนวลน้องให้ลองข้ามมา จะพาล่องชายทะเลอ่าวไทย

                (ญ) อยากไปคือกันนะอ้าย แต่อยากไปไหว้พระธาตุพนม...”

                จะเห็นได้ว่าเพลงตัวอย่างที่ยกมาวิเคราะห์ทั้ง 3 เพลง เป็นการบันทึกสภาพสังคมผ่านทัศนะของผู้ประพันธ์จากหลายมุมมอง หลายอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งช่วยยืนยันเรื่องอิทธิพลของสังคมที่มีต่อผลงานศิลปะการประพันธ์ในลักษณะส่องสะท้อนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

 

ส่งท้าย

                ในบรรดางานวรรณศิลป์หลากหลายรูปแบบ เพลงกับบทกวีมีความคล้ายคลึงกันมากที่สุด นอกจากฉันทลักษณ์ จำนวนคำที่แน่นอนตามรูปแบบแต่ละชนิด และการส่งสัมผัสระหว่างวรรคระหว่างบทแล้ว การใช้คำจำนวนน้อยคำให้เกิดผลทางอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เพลงกับบทกวีมีลักษณะร่วมกันมากที่สุด ดังคำกล่าวที่ได้ยินทั่วไปว่า “บทกวีก็คือเพลงที่ยังไม่ได้ใส่ทำนอง และเพลงก็คือบทกวีที่มีท่วงทำนองนั่นเอง” เพลงบางเพลงเพียงอ่านดูด้วยสายตาก็พบว่ามีลีลาถ้อยคำล้ำลึกไม่ผิดจากบทกวี และบทกวีบางชิ้นมีท่วงทำนองสละสลวยจนแทบจะเปล่งออกมาเป็นเสียงเพลงได้ในขณะอ่าน ดังตัวอย่างโวหารกวีในเพลงหลายเพลงที่ยกมาอภิปรายข้างต้น รวมทั้งบทกวีบางชิ้นอย่าง “ตลิ่งของ” ของนายผี ก็มีผู้นำไปใส่ทำนองเพื่อขับร้องเป็นบทเพลงทำหน้าที่ส่ง “เสียง”ให้ได้ยินด้วยหูนอกเหนือไปจากการอ่านด้วยตา เป็นอาทิ ทั้งนี้งานศิลปะทั้ง 2 ประเภทต่างก็ต้องอาศัยความสามารถของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการถ่ายทอดภาพประทับใจ อารมณ์ที่ไหวรู้สึก ล้ำลึกด้วยโวหารภาพพจน์ ตลอดจนความคิดที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้รับ ผ่านท่วงทำนองของภาษาที่ละเมียดละไมเหมาะสมกับเนื้อหาของแต่ละชิ้นงาน ผู้สร้างงานที่ดีต้องสามารถบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าสภาพสังคมและวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลาที่สะเทือนอยู่ในความรู้สึกของผู้สร้างย่อมมีผลสะท้อนอยู่ในเนื้อหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ