ReadyPlanet.com
dot dot
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล

พี่มูล มือระนาดไร้อัตตา คนกล้าแห่งโลกดนตรีร่วมสมัย

1.      ทุกข์ และเพื่อนร่วมทุกข์

ยี่สิบกว่าปีที่รู้จักและรู้รักกันมา พี่มูลทำให้คำว่าวงดนตรี “ฟองน้ำ” มีความหมายมากกว่าวงดนตรีร่วมสมัยธรรมดา นอกจากนั้น ทำให้ผมได้มีโอกาสแต่งเพลงสำคัญที่สุดในชีวิต

ผมทำงานดนตรีร่วมสมัยหลายๆเพลงสำเร็จได้ด้วยความกล้าหาญ ความใจถึง และความสนุกในการเรียนรู้ไม่หยุดหย่อนของพี่มูล

ในบุคลิกที่สุภาพอ่อนโยน ความถ่อมตัวถ่อมตน พี่มูลกลับเป็นคนใจถึงที่สุดที่ผมเคยรู้จักคนใจถึงมามากมายหลายคนในโลกนี้

ที่ว่า “ใจถึง” นี้มิใช่เป็นคำนักเลงอันธพาล ไม่ได้เป็นพวกกล้าท้าลองของลองพิสูจน์แบบเสี่ยงตาย แต่ทว่าคือการนำพา “ใจ” ให้เป็นอิสระ เปิดกว้าง ข้ามพ้นอุปสรรคปัญหาใดๆในชีวิต เป็นศิลปินที่กล้าเดินเผชิญหน้า พาเอาศิลปะไป “ถึง” อีกฟากฝั่งหนึ่งที่อยู่ไกลเกินการบรรยายด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ

คนดนตรี คนทำงานศิลปะอีกหลายคน ทุ่มเท ฝึกฝน ใฝ่ฝัน ทำงานหนัก เก่ง คล่อง แต่ไปไม่ถึงมิติที่พี่มูลไปถึงนั้น ผมอาจจะใช้คำว่า “ใจไม่ถึง” ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การดูถูกใคร แต่คงเป็นเพราะเขาเหล่านั้นเดินทางอย่างพี่มูลไม่เป็น บางคนอาจพลัดหลงทิศ ผิดหลงทางไปเลย บางคนหกล้ม บางคนเดินกลับหลังหัน และน่าเสียดายที่บางคนไม่กล้าแม้กระทั่งเริ่มต้นก้าวแรก

พี่มูลอยู่ในโลกอดีตมาก่อน มีรากฐานที่แข็งแรงมาแต่เด็ก เคยอยู่ในวิถีดนตรีโบราณอย่างสง่าผ่าเผย รักษาครูบาอาจารย์ด้วยความนอบน้อมถ่อมตัว ในขณะเดียวกันพี่มูลมีปัจจุบันตลอดเวลา มีสติ ตื่นอยู่เสมอ แล้วพี่มูลก็มีอนาคต มีข้างหน้าที่เรียกว่าสถานการณ์ใหม่ มีของเล่นใหม่มาคอยกวักมือเชื้อเชิญให้พี่มูลไปเล่นด้วยกัน เป็นคนระนาดอดีตที่เล่นเพลงอนาคตได้ดีที่สุดในกาลเวลาปัจจุบัน

ในโลกอนาคต สำหรับสถานการณ์ใหม่ พี่มูลทันสมัยเสมอ พร้อมเสมอที่จะเรียนรู้ในฐานะเด็กหัดใหม่ เล่นซนเป็น ชอบเล่นสนุกกับความไม่รู้ที่คงมีโอกาสจะได้รู้บ้างสักวัน

เราเรียกความซนนี้ว่าการแสวงหา ซึ่งทั้งการแสวงและการหานั้น พี่มูลไม่เคยมีปัญหา เพราะไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ได้เล่นระนาดเพราะฉันเก่ง ฉันได้รางวัล ฉันมีชื่อเสียง เมื่อเสียงเพลงดังขึ้น พี่มูลเล่นเพราะสนุก สุขที่จะเล่น สบายอย่างไร้ตัวตน พี่มูลเข้าใจความงามอย่างอ่อนช้อย รู้จักทั้งเสียงดังและความเงียบ รู้จักที่จะเปิดใจรับมือกับเพลงใดๆก็ตามที่ต้องผลิตเสียงออกมาจากปลายไม้ระนาดทั้งสองข้างเป็นส่วนหนึ่งผสมผสานกลมเกลียวไปกับเสียงอื่นๆ หลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นคนเดียวกันกับทุกคน ไม่แยกหนีห่างออกไปจากวง ไม่คิดข่มเหงอย่างนักระนาดชื่อดังทั่วไปว่าฉันจะต้องเก่งกว่าคนอื่นตลอดเวลาแต่อย่างเดียว

นี่คือความไม่มีอัตตาของคนระนาดที่ผมหาไม่พบในวงการดนตรีไทยอีกเลย ทั้งนี้ต้องยกเว้นครูบุญยงค์ เกตุคง เอาไว้ด้วย เพราะท่านไม่มีอัตตามานานนักแล้ว เหนือกว่าใครๆมานานแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ว่าพี่มูลมาในทางที่แตกต่างจากครูบุญยงค์ มาต่างเวลากัน ตัวพี่มูลเองอยู่ในวงการประชันขันแข่งมาหนักหนาตั้งแต่เด็กวัยรุ่น ที่จริงคงจะมีคู่แข่งเยอะ แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องอัตตา ไม่เคยสร้างภาพพจน์ออกมาถมทับข่มเหงใคร ผมคิดว่าการที่คนปี่พาทย์หลายคนต้องหันมาสร้างภาพพจน์กัน เพราะอัตตาเป็นเหตุปัจจัย คนพวกนี้ไม่เคยมีความมั่นใจในตนเอง ต้องหามุขในการแสดง ต้องมีมารยาเล่ห์เหลี่ยมเพื่อใช้เอาเปรียบคนอื่นๆ ที่จริงล้วนแต่ใจไม่ถึงกันทั้งนั้น

ความใจถึงและความไร้อัตตาของพี่มูล ทำให้ผมได้มีช่วงเวลาดีที่สุดในการเป็นนักแต่งเพลง การเป็นนักดนตรี และการได้เป็นเพื่อนรักกับคนชื่อละมูล เผือกทองคำนี้

หลังจากช่วงเวลาดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งที่ผ่านเลยไปก่อนนั้น คือช่วงเวลาของการได้เป็นศิษย์ของครูบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดที่ใครๆมักเอ่ยถึงเสียงระนาดของท่านว่าเสมือน “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” ผมตัดสินใจเดินทางจากวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ บากบั่นมาขอเรียนวิชากับท่านที่กรุงเทพมหานครเพราะความประทับใจในเพลง “ชเวดากอง” ที่ท่านแต่งขึ้น เป็นความประทับใจสิ่งที่ท่าน “คิด” มากกว่าสิ่งที่ท่านเล่นบรรเลง ไม่ใช่เพราะภาพพจน์หรือสมญานามของท่านที่หลายคนท่องจำกันแม้ว่าจะไม่ได้ฟังครูบุญยงค์ตัวจริงๆเล่นระนาดเลยก็ตาม ซึ่งอันที่จริงท่านก็เป็นยอดในชั้นเชิงระนาดอยู่แล้ว แต่การเป็นนักคิดชั้นยอดมันลึกซึ้งกว่า ทำให้ผมได้ครูที่ให้ “ความคิด” กับตัวผม นำพาให้ผมรู้จักดนตรีไทยมากกว่าที่จะหาโอกาสศึกษาจากแหล่งไหนได้

และครูบุญยงค์นี่เอง เป็นคนแนะนำให้ผมได้รู้จักกับพี่มูล ขณะที่สถานการณ์วงฟองน้ำ ไม่สู้ราบรื่นนัก ย่างเข้า พ.ศ. 2529 เรากลับจากการเดินทางไกลกันไม่นาน แล้วก็ไม่สบายใจเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงสมาชิกบางคนในวงออกไป ผมรับงานบันทึกเสียงเพลงประกอบรายการโทรทัศน์ขนาดยาวเอาไว้ (เมืองไทย เมืองทอง) และเพิ่งจะได้ตกลงสัญญากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมการฉลองปีท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเริ่มต้นในปีหน้า รวมทั้งมีงานที่คาดว่าจะต้องเดินทางไกลไปแสดงดนตรีในเทศกาลใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปีหน้าเช่นกัน

ฟองน้ำเกิดวงมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ที่จริงก็มีการทำงานมาด้วยกันก่อนนั้นหลายวาระ แต่มาประกาศตัวทั้งด้านเวทีและงานบันทึกเสียงในปีนั้น ถึงปีที่เรากลับจากเดินทางไกลกันมา นักดนตรีหลายคนมาร่วมงานแล้วเลิกรากันไป งานยังต้องเดินหน้า แต่เราไม่มีกำลังที่จะสู้นัก ครูเองก็ไม่แข็งแรงเหมือนตำนานนักประชันยิ่งใหญ่ที่คนชอบเล่าขานกัน ไม่ว่าจะสุขภาพหรืออายุขัย หลังจากเกษียณอายุราชการ ครูบุญยงค์ก็ป่วยเป็นวัณโรค กับทั้งปัญหาการดำรงชีวิตหลายๆอย่างของครูที่ลำบากมาก เหนื่อยมาก คงไม่ใช่เวลาเหมาะที่ครูจะต้องกำไม้ระนาดนำทัพอีกต่อไป ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

วันหนึ่งที่คิดอะไรไม่ออก ครูบุญยงค์เอ่ยประโยคหนึ่งขึ้นมา

“นี่ พ่อบรูซ ... ฉันมีคนระนาดคนนึง เล่นอยู่ด้วยกันที่สีลม อยากจะแนะนำให้รู้จัก เผื่อจะเอามาร่วมงานกันได้... ชื่อพ่อละมูล ... แหม้...ตีระนาดละมุ่มละไมเหลือก้ำเหลือเกิน....”

ถ้าใครรู้จักครูบุญยงค์ คำว่า “ละมุ่ม” ของครูเป็นคำที่ท่านมักจะยกกลอนลิเกฉากโป๊ฉากหนึ่งมาเอ่ยเอื้อนเวลาที่ท่านร่ำสุราได้ระดับดีกรี เป็นเรื่องของนายโรงที่อยากจะได้นางเอกแต่ต้องหาทางพิชิตด้วยคารมกลอนสดเสียก่อน ผมขอยกเว้นไม่เล่ารายละเอียดข้างในกลอน ไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่าต้องการเขียนคำไว้อาลัยให้ถูกกาละเทศะ

เมื่อครูพูด “ละมุ่มละไม” อย่างคล้องจองกับชื่อคนระนาดที่มีนามว่า “ละมูล” อย่าง “เหลือก้ำเหลือเกิน” ทำให้วันนั้นเอง ผมต้องตามครูไปนั่งฟังพี่มูลตีระนาดที่ร้านอาหารสีลมวิลเลจ

ขณะนั้นสำนักงานบริษัทไพซิสมิวสิคที่ผมกับครูบุญยงค์ย้ายเข้าไปทำงานกับเพื่อนอยู่ไม่ห่างกันจากร้านสีลมวิลเลจ ปกติครูบุญยงค์ก็จะขับรถมานั่งที่ไพซิสมิวสิค ซ้อมดนตรีเหงาๆตอนบ่าย ดื่มเบียร์สักพัก แล้วออกไปทำเพลงที่ร้านอาหารกับพวกลูกศิษย์ตอนเย็น

จากนั้นไม่นาน มือระนาดละมุ่มละไมของครูบุญยงค์ ก็กลายมาเป็นสมาชิกอีกคนที่เข้ามานั่งปรนนิบัติครูที่ไพซิสเป็นประจำ เป็นคนหนึ่งที่ทำให้งานอัลบั้มเพลง “เมืองไทยเมืองทอง” ซึ่งผมรับงานมาจากคุณประชา พงษ์สุพัฒน์ ในต้นปี พ.ศ. 2530 ผ่านไปอย่างราบรื่น เขาคนนั้นช่วยเหลือผมและครูบุญยงค์ได้มาก เล่นทั้งปี่พาทย์ไม้แข็ง ไม้นวม ตีโปงลาง เดี่ยวระนาด เดี่ยวทุ้ม เดี่ยวฆ้อง ทำให้เพลงชุดนี้มีสีสันหลากหลาย นอกจากนี้ก็มีอาจารย์นพ โสตถิพันธ์ มาช่วยสีไวโอลิน คุณอรรณพ จันสุตะและไกวัล ติโลกะวิชัยทำโปรแกรมไฟฟ้า เราใช้เวลาบันทึกเสียงที่ห้องสยามพัฒนาฟิล์มกันอยู่หลายวันทีเดียว จากนั้นไม่นาน เขาก็ร่วมประกาศเสียงระนาดให้เพลงธีมหลักของการท่องเที่ยวไทย Thailand the Golden Paradise ซึ่งครั้งนี้เราไปทำงานกันที่ห้องบันทึกใหม่เอี่ยมของคาราบาว สมเถา สุจริตกุล เป็นคนเขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ มีครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ เป่าปี่ พี่ต๋อง เทวัญ เป่าแซ็กโซโฟน จ่าพิณ เรืองนนท์ หน่อง สาร มาเล่นเครื่องจังหวะ ครูบุญยงค์ร้องเพลงปรบไก่ และมือระนาดคนนี้มาทำหน้าที่ Studio Musician เต็มตัว คือเล่นระนาดทั้งเอกทั้งทุ้มแบบเจาะคิวตามแทร็กวรรคเพลง ใส่หูฟังเล่นกับเครื่องซีเควนเซอร์ ไม่ได้เล่นตั้งแต่ต้นจนจบอย่างธรรมชาติดั้งเดิมที่เขาเคยคุ้นมาอีกต่อไป บทเพลงใหม่ที่เราอัดเสร็จหมาดๆ เดินทางต่อไปที่ญี่ปุ่นทันที เพื่อเปิดตัวประเทศไทยในงานมหกรรมการท่องเที่ยว PATA ณ กรุงเกียวโต ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางไกลไปกับฟองน้ำเป็นครั้งแรกของเขาเช่นกัน ครั้งนี้มีเพลงประยุกต์อีกหลายสไตล์ที่เขาต้องเล่นระนาดกับเราด้วย ครูบุญยงค์หันไปหาไวบราโฟนตัวเก่ง ปล่อยให้เขาทำหน้าที่ทั้งเอกทั้งทุ้มอย่างสบายใจ

เสียงระนาดของเขามากกว่าคำที่ครูเปรยว่าละมุ่มละไม มีอีกหลายเสียงที่ผมประทับใจ และเข้าใจว่า ในใจครูบุญยงค์คิดอะไรอยู่

นี่แหละ เป็นเสียงและเป็นบุคคลพิเศษที่ครูบุญยงค์เลือกสรรมาแล้วว่า เหมาะสมแล้ว ที่เขาจะต้องมาทำหน้าที่มือระนาดเอก ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเราข้างหน้า ร่วมเดินทางกับวงฟองน้ำต่อไป

อังกฤษ ฮ่องกง อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส มาเก๊า สิงคโปร์ ฯลฯ ใกล้ไกลขนาดไหน เหนือใต้ออกตกข้ามน้ำข้ามทะเล เขาเดินทางด้วยตลอดไม่เคยห่างหาย

จากไพซิสมิวสิค ไปอยู่ในสลัมท้ายซอยแสงทิพย์ ไปอุดอู้อยู่ซอยศูนย์วิจัย กระทั่งมาใช้ชีวิตยามราตรีเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เขาเดินทางด้วยตลอด ไม่เคยห่างหาย

ผมเรียกเขาว่า “พี่มูล” นับถือเขาเป็น “เพื่อน” เนื่องด้วยอายุไม่ห่างกันนัก ครูบุญยงค์เรียกเขาว่า “พ่อมูล” ตามคำคุ้นปากของคนวัยครู แล้วก็นับเขาเป็น “เพื่อน” ด้วยเหมือนกัน หากเป็นเพื่อนเดินทางไปไหนต่อไหนกับครู ทั้งเมืองไทย เมืองนอก ทั้งบนเวที และเมื่อจบการแสดง พี่มูลดูแลครูบุญยงค์อย่างดีเกินกว่าที่ผมจะคาดคิด นอกไปจากเรื่องค่าตอบแทนที่ผมบูชาครูมาตลอด พี่มูลเป็นเพื่อนร่วมผืนวงปี่พาทย์ เสียงระนาดเอกพี่มูลหยอกล้อยั่วเย้ากับครูที่ตีทุ้มอย่างน่าชื่นใจ ผมนั่งตีฆ้องอยู่ระหว่างกลาง ไม่รู้ว่าพี่มูลแก่ขึ้นหรือครูบุญยงค์เด็กลง แต่ในบทสนทนาด้วยเสียงระนาดของทั้งสองคนเป็นบทสนทนาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ใช้คารมคมคาย มีความเคารพนับถือกัน ฟังกันและกัน และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอยู่ในที คงต้องเข้าใจคำว่าเพื่อนเท่านั้นถึงจะฟังคู่ระนาดเอกระนาดทุ้มคู่นี้ได้อย่างเพลินหูเพลินตาและเพลินใจ

สิ้นครูบุญยงค์ พี่มูลยังไม่ทิ้งผมไปไหน ยังเป็น “เพื่อน” ที่ทำหน้าที่เพื่อนที่ดี จริงจัง จริงใจมาตลอด จนถึงวาระสุดท้ายของเขา

 

2.      สมุหทัย

ขอย้อนเวลาอดีตสักสองสามช่วง หวังว่าคงเป็นการบอกเล่าที่มีประโยชน์แก่การบันทึกประวัติศาสตร์ดนตรีไทยในโลกหลังสมัยใหม่บ้าง

ขั้นแรกคือย้อนกลับไปเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี เมืองหลวงที่ชื่อว่ากรุงเทพมหานครเวลานั้น มีกิจกรรมมากมายในการเฉลิมฉลองอายุ รวมทั้งกิจกรรมดนตรีไทยและดนตรีร่วมสมัย ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ให้โอกาสผมเป็นหนึ่งในนักประพันธ์เพลงฉลองกรุง ร่วมโปรแกรมการแสดงเดียวกับครูมนตรี ตราโมท ซึ่งท่านแต่งเพลงโหมโรงรัตนโกสินทร์และสมโภชพระนครเถาออกมา ส่วนผมได้เรียนปรึกษากับครูบุญยงค์ ซึ่งขณะนั้นเราเป็นศิษย์เป็นครูกันเรียบร้อยแล้ว ผมตั้งใจว่าจะแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเป็นงานเปียโนคอนแชร์โต้ร่วมกับเครื่องดนตรีไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นผมได้นำเพลงชุดน้ำต่างๆมาเรียบเรียงเป็นอัลบั้มฟองน้ำไปแล้ว ผมสนใจเพลงฉิ่งมู่ล่งที่ครูบุญยงค์ต่อไว้ให้และท่านทำช่วงครึ่งชั้นต่อจากมูล่งชั้นเดียวซึ่งเหมาะในการใช้มู่ล่งนี่เป็นเค้าโครงเพลงเจ้าพระยามาก นอกจากนี้ครูบุญยงค์เพิ่งจะไปได้เรียนทำนองเพลง “เถรลอยถาด” หรือ “เถรลอยชาย” ท่อนพิเศษมาไม่นาน เป็นท่อนเพิ่มเติมจากที่นักดนตรีปี่พาทย์ทั่วไปรู้จักซึ่งเดิมมีอยู่แค่ 3 ท่อน แต่ของใหม่ที่ครูบุญยงค์ได้มานี่มีอีก 2 ท่อน ครูก็บอกผมว่าตั้งใจจะมอบเพลงนี้ให้เป็นของขวัญแก่กรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งผมก็สนใจมากเพราะคำว่าลอยถาดนี้สามารถโยงไปถึงเรื่องของพระเจ้าลอยถาดซึ่งเป็นบทบาทของน้ำก่อนช่วงที่พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสรู้ได้ เราก็เอามาเย็บเล่มกันเป็นเพลงชุดเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ มีนักดนตรีท่านอื่นๆที่มาร่วมงานเวลานั้น อาทิ ครูบุญยัง เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ คุณประยงค์ กิจนิเทศ คุณสกล อ่องเอี่ยม คุณจิรพรรณ อังศวานนท์ ฯลฯ เราเล่นเพลงชุดนี้เสร็จแล้ว ครูบุญยงค์ก็ออกจากกรุงเทพมหานครพอดี ไปอยู่กับผมที่ไนท์สปอร์ต ดูแลงานที่ต้องใช้เสียงดนตรีไทยโฆษณาอะไรต่างๆ ไปช่วยงานบันทึกเสียงที่ห้องอัดบัตเตอร์ฟลาย ก่อนจะออกมาอยู่ไพซิสด้วยกันกับคุณอัมพร จักกะพาก และมาพบพี่มูลในภายหลัง

เพลงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ ฉบับแรกที่เราเล่นกันไปนั้น ที่จริงยังไม่ถูกใจผมนัก เพราะผมคิดถึงมิติของสายน้ำ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ แล้วเดินทางต่อเป็นแม่น้ำเจ้าพระยามาออกสู่ท้องทะเล ตอนนั้นผมอยากให้แม่น้ำแต่ละสายในช่วงต้นเดินทางเป็นอิสระ แต่ทำไม่ได้เพราะยังคงต้องเคารพหลักวิชาครูโบราณอยู่ ยังต้องเล่นไปพร้อมๆกัน จนกระทั่งได้มาทดลองทำครั้งที่ 2 ในงานประชุมของไอบีเอ็ม ปี 2529 ก็เริ่มเห็นแววว่าน่ะจะเป็นไปได้ที่วงดนตรีต่างวง แยกกันเล่นคนละเวลา คนละจังหวะ คนละทำนอง มาพบกันในบางเวลา บางตัวโน้ต แล้วก็เดินทางของตัวเองต่อไป ผมเล่นเสร็จในปีนั้นก็ควรเรียกว่าสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ถือว่าน่าพอใจจริงๆนัก ผมคิดว่ามันควรได้คำตอบของการประพันธ์เพลงมากกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้น จนกระทั่งมาได้ทำคอนเสิร์ตเต็มๆเอาในปี พ.ศ. 2536 นี่แหละ ตอนนี้พี่มูลมาเป็นมือระนาดให้ฟองน้ำระยะหนึ่งแล้ว ร่วมเวที ร่วมเดินทางกันไปหลายประเทศแล้วและผ่านการเคี่ยวกรำจากอุปสรรคการตีระนาดในดนตรี

ในงานคอนเสิร์ตเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ จัดที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นการเล่นครั้งที่ 3 และเป็นครั้งที่ผมสามารถเข้าใกล้ความฝันหลายๆอย่างที่ผมตั้งใจจะทำให้เสียงต่างๆในเพลงเจ้าพระยานี้มันเกิดขึ้นมาได้จริงที่สุด ปัญหาของการนำเสนอเสียงที่มาจากคนละมิติเวลา คนละพื้นที่ เป็นเหมือนดนตรีประโคม ต่างสายน้ำ ต่างเวลา ต่างทำนอง มีกลิ่นอายของพื้นบ้าน และมีลักษณะของ concerto grosso ออกมาด้วย ผมวางแผนให้จัดเวทีกระจายออกเป็น 5 เวที มีเวทีใหญ่อยู่ตรงกลางเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เวทีข้างๆทั้งบนและล่างของหอประชุมเป็นแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน มีผู้อำนวยเพลงแยกกันวงละคน สวมหูฟังจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งจังหวะเคาะต่างอัตราความเร็วกัน ใช้นักดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมศิลปากร เด็กวงโยธวาทิตวัดสุทธิวราราม แล้วก็ยังมีคณะนักร้องประสานเสียงจำนวนนับร้อยมาขับร้องเพลงจากบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์อีกด้วย วงกลางที่ผมอยู่นั้นมีนักเป่าฟลูต วีโอล่า ฮารพ์อาจารย์ธงสรวง ไวบราโฟนประสาร และตัวผมเองเล่นเปียโน คราวนี้ตั้งใจจะเล่นมู่ล่งขยายทั้งแต่สองชั้นทางครูพุ่มไล่ไปจนครึ่งชั้นของครูบุญยงค์เลยทีเดียว ทำมู่ล่งเป็น Cadenza แล้วเข้าเพลงปูลม ออกครึ่งชั้นที่ผมทำใหม่เพื่อโต้กับครูบุญยงค์ เป็นกระสวนจังหวะที่ยากมากเพราะมีทั้งจังหวะ 11 ทั้ง 13 ต้องเขียนโน้ตละเอียดมาก เตรียมซ้อมกันนาน

งานนี้คนที่รับบทหนักมากที่สุดคือพี่มูล ผมเห็นใจมากกว่าใครตรงที่พี่มูลต้องจดจำทุกลูกทุกเม็ดในเพลง ผมให้พี่มูลเป็นเสียงสัญลักษณ์ของแม่น้ำปิง ต้องตีโน้ตเพลงที่แปลกหู และแปลกมากกว่างานไหนๆคือต้องใช้ระนาดเอกถึงสามผืนสามรางวางชนกันเป็นสามเหลี่ยม แต่ละผืนเทียบเสียงต่างคีย์กัน ผืนหนึ่งเป็นบันไดเสียง A Major ผืนที่สองเป็น F และผืนที่สามเป็น G ทั้งสามผืนนี้เรียงเสียงโน้ตแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จะตีสองมือควบแบบเดี่ยวสองรางสมัยคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะฯก็คงไม่สะดวกอีกต่อไปแล้ว ผมแต่งทำนองใหม่ให้พี่มูลเล่น 11 เสียง ขาด Eb ตัวเดียว เหตุผลคือ ถ้าหากว่าในระนาดมี 7 เสียง ถ้าหากว่า 3 รางเป็น 21 ก็เหมือนกับว่า 11 สองครั้ง ด้วยเหตุผลอันนี้ เราขาด Eb อันเดียว ในทั้งเพลงเล่นกันทุกโน้ตแต่ว่า Eb ไม่มีตัวเดียว มันเริ่มจาก A major แต่มันเป็นทำนองเดิม อยู่ในคีย์ A หลังจากนั้นก็เล่นคละกันไปเลย พี่มูลต้องมีท่าตีสลับไปเรื่อยๆ ซึ่งน่าสงสัยเหลือเกินว่าใครจะท่องได้ แต่พี่มูลใจสู้จริงๆ เขาใช้เวลาฝึกฝนท่องทำนองโน้ตอยู่ถึง 6 เดือนเต็มๆโดยไม่อ่านโน้ต แล้วก็ไม่มีทางที่จะอัดเทปไปท่องที่บ้านได้ เพราะมันจะไม่ใช่ว่า น้อย หน่อย นอย ฯลฯ บนผืนเดียว ต้องมาซ้อมกับผมและประสารทุกวัน เป็นเรื่องทรมานทั้งประสารและพี่มูลมาก ประสารตีไวบราโฟนในฉบับที่พิสดารไปจากครูบุญยงค์ ส่วนพี่มูลก็ต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินไม้ระนาดบนลูกที่ไม่ใช่คู่แปดธรรมดา ถ้าใครเห็นพี่มูลตีระนาดงานนั้นคงจะเหนื่อยใจแทน

งานเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ที่ธรรมศาสตร์ผ่านไป คราวนี้ผมยิ่งทำให้พี่มูลทรมานมากขึ้นอีกเพราะสองปีต่อมา พ.ศ. 2538 วงฟองน้ำถึงเวลาเดินทางไปอังกฤษครั้งใหม่ ไปเล่นที่รอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ กรุงลอนดอน ซึ่งผมตั้งใจว่าจะบันทึกเสียงเพลงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ฉบับสมบูรณ์ให้จงได้ โดยใช้นักดนตรีของอังกฤษที่เชื่อแน่กว่ามีฝีมือมากกว่านักดนตรีสากลบ้านเรา ทั้งเครื่องสี เครื่องเป่า และฮาร์พ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครที่จะจัดการกับภาระนาดเอกได้เหมือนพี่มูล นักดนตรีไทยคนอื่นๆที่ผมพาไปด้วยครั้งนี้ มีประสาร ไกวัล หง่าว ดำ ไก่ เครื่องหนัง นอกจากเพลงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้เรายังมีเพลงเชิดนอกออกเชิดใน เพลงจักจั่น และอีกหลายเพลงที่ต้องเตรียมไว้ในการแสดงและการบันทึกเสียงด้วย

สำหรับงานเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ ครั้งที่อังกฤษนี้แม้ว่าจะสั้นกระทัดรัดกว่าสมัยธรรมศาสตร์ กลับกลายเป็นว่า ครั้งนี้ผมทำการบ้านกับพี่มูลหนักที่สุดในชีวิต เพราะแนวทำนองเดิมที่ประสารตีไวบราโฟนตั้งแต่ช่วงมู่ล่งสองชั้นจะโอนขยายกลายเป็นทำนองของพี่มูลแทน ตีไปจนจบครึ่งชั้นจนออกเถรลอยชาย และยังต้องคงโจทย์ระนาดสามคีย์เอาไว้ แต่หากมีอะไรที่พี่มูลเห็นว่าทำได้อีก ผมก็เพิ่มเติมเข้าไป เราใช้เวลานั่งหน้าระนาดคู่กันต่ออีกหลายเดือนเพื่อเตรียมตัวไปบันทึกเสียง ผมจิ้มระนาดบอกทำนอง มือนี้นะครับ แล้วหันไปรางนี้นะครับพี่ เหวี่ยงให้โดนที่ลูกนี้ แล้วรีบพลิกกลับมาที่อีกรางนึงนะพี่ รัวลูกนี้ต่อทันที งานนี้พี่มูลแสดงความเป็นสุดยอดของมืออาชีพให้เห็นจริงๆ ทำได้ทุกอย่างที่นักแต่งเพลงต้องการและไม่ย่อท้อถ้าทำไม่ได้ตรงนั้นเดี๋ยวนั้น ไม่มีการต่อรอง กลับไปหาทางซ้อมมาจนได้ แล้วเดินหน้าต่อเพลงกันไปจนจบ ท่องจำทุกตัวโน้ตจนขึ้นใจ อย่าลืมว่าพี่มูลไม่อ่านโน้ตเลย และผมบันทึกโน้ตที่ยากมากๆเอาไว้เป็นต้นแบบให้พี่มูลต้องตีไปตามนั้น ถ้าจะบอกว่ายากเหลือเชื่อก็ได้ ผมเองตีไม่ได้ แต่บอกเพลงให้ได้ บอกลูกระนาดได้ว่าอยู่ตรงไหนแต่เรียงมือเองคงจะไหม่ไหว หากแต่พี่มูลก็ทำให้ครบจบเพลงได้เหลือเชื่อเหมือนกัน สามารถเล่นติดต่อกันได้อย่างระบบ Real time คือตีติดต่อกันเป็นพืดตามแนวที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบได้เลย หรือจะหยิบเข้าเอาออกตรงช่วงไหนก็ไม่กลัว ทำได้ทั้งนั้น ทั้งความจำทั้งความมีหัวใจที่จะทำงาน แล้วเมื่อถึงเวลาบันทึกเสียงจริงกับทางบริษัทนิมบัส Nimbus พี่มูลก็ตี Real time ไปได้จริงๆ ตีทำนองพิสดารทั้งหมดยาวประมาณยี่สิบนาทีต่อเนื่องกัน ไม่มีการตีซ้ำเป็น Take two หรืออัดเจาะใหม่แต่ประการใด เราเล่นด้วยกันทั้งวง ขึ้นพร้อมและจบพร้อม เดินทางไปด้วยกันอย่างมั่นใจ

ถ้าไม่ใช่พี่มูลคนนี้ตีระนาดสามรางในเพลงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้นี้ และเป็นคนใจถึงขนาดนี้ ผมก็คงไม่มีโอกาสแต่งเพลงยากขนาดนี้เหมือนกัน แต่ผมก็มีความสุขมาก ที่จะได้ยืนยันว่า นี่แหละ การเล่นดนตรีอย่างพี่มูล คือการเล่นที่ไม่มีอัตตาอะไร เมื่อเอาอัตตาออกไป มีแต่ความว่างเปล่า เสียงมหัศจรรย์อีกมากมายก็บังเกิดขึ้นมาบนผืนระนาดเรียบง่ายนี่แหละ ผมคิดว่าการตีระนาดเพลงนี้คือก้าวการเดินทางครั้งที่ไกลที่สุดของพี่มูลเองและตัวผมด้วย ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครวิ่งทันพี่มูล และโอกาสที่ผมจะได้ทำงานกับนักระนาดเอกที่ใจถึงมือถึงขนาดนี้คงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ ผมก็คงต้องหาวิธีคิดอย่างอื่นมาทดแทน หันไปทำงานแนวอื่นแทนเพราะขาดพี่มูลอยู่ใกล้ๆ

จะตั้งคำถามว่า แล้วที่พี่มูลตีระนาดอย่างนั้นน่ะ คนอื่นใครเขาฟังรู้เรื่องกันไหม? แล้วจะส่งผลอะไรให้วงการระนาดไทยไหม?

ผมคงไม่ตอบ ถ้าตอบก็คงพูดง่ายๆว่าฟังไม่รู้เรื่องหรอก ตีแบบนั้นคงไม่มีใครอยากฟังกันอยู่แล้ว หรือไม่มีใครอยากเสียเวลานานแสนนานมาทุ่มเทรับผิดชอบท่องทุกตัวโน้ตตั้งแต่ต้นจนจบแล้วตีโดยไร้อัตตาตัวตนอย่างพี่มูลอีกแล้ว แต่นี่ก็คือความทรงจำที่งดงาม และเป็นสิ่งที่ผมหาไม่ได้อีกต่อไปในชีวิตการแต่งเพลงดนตรีสมัยใหม่ให้นักดนตรีตัวจริงเล่นอย่างพี่มูลเล่นระนาดเอกครั้งนั้น

ถ้าหากว่าจะมีอะไรท้าทาย ทำอะไรที่ใหม่ ที่ไม่คุ้นเคย พี่มูลไม่กลัวสิ่งที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่กลัวเลย เพียงแต่บอกเขาว่า ผมคิดว่าอันนี้คงจะเพราะมากเลย แต่มันแปลกนะ พวกเราต้องสู้หน่อยแล้ว ครูบุญยงค์เอา พี่มูลเอา และไม่ใช่ว่าแค่นั้น เขาสนุกด้วย เขาจะสามารถใส่อารมณ์ ใส่ความสนุกสนานเข้าไปในสิ่งที่ใหม่ๆที่แปลกๆซึ่งอันนี้เป็นทัศนคติที่หายากมากในบรรดานักดนตรีไทยทั้งหลาย ไม่มีอัตตาเลย ไม่เป็นห่วงภาพพจน์ของตัวเองในสังคมว่า เออ ฉันไม่ได้เล่นเหมือนคนอื่น กลัวเพื่อนฝูงจะบอกว่ามึงเสียสติแล้ว มึงบ้าแล้ว ทำไมไม่เล่นเหมือนชาวบ้าน อันนี้แหละที่หายากที่สุดในบรรดามือระนาดเอก แต่พี่มูลไม่มีแบบนี้เลย เขาไม่มีปัญหากับภาพพจน์ของตัวเองเลย เขาเป็นศิลปินแท้ๆ  ศิลปินระดับโลกจริงๆ แล้วก็ระนาดอื่นๆ ในบ้านเราตอนนี้ ล้วนแต่ไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ รู้แค่นิดเดียว แล้วก็แทนที่จะลืมอีโก้ ลืมอัตตา มัวแต่คิดว่าดนตรีที่ผมเล่นเนี่ย ผมเล่นเพื่อจะพิสูจน์ว่าผมเก่งกว่าอีกคนหนึ่ง ก็คิดได้แค่นั้น อันนั้นไม่ใช่ศิลปะ ศิลปะมันต้องลืมพวกนั้นเลย แล้วก็เข้าไปเล่นเพลง เริ่มช้าๆ แล้วก็มาเพลินกับการผูกกลอนให้เพราะ ถอดอัตตาแต่มีทางจับใจคนฟังให้ได้ สมัยนี้หายาก

พี่มูลมีความวิเศษอยู่ตรงนี้แหละ

การย้อนเวลาขั้นต่อมาที่ผมอยากจะพูดถึง คืองานดนตรีร่วมสมัยที่ปูทางสู่ความก้าวหน้าของพี่มูลเอง ก่อนเวลาและหลังเวลาของเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ มีหลายเพลงที่ต้องเล่าให้ฟังด้วยเช่นกัน ในที่นี้ผมขอเลือกเพลงบางเพลงมายกตัวอย่างเพราะเวลาเขียนมีจำกัด

เพลงในลำดับต่อไปนี้ชื่อ เพลงพม่าใหม่ พระสังข์-เงาะยิ้ม เพลงสุดถนนคอนกรีต และเพลงมรรคแปด ถ้าเข้าใจเพลงพวกนี่คงพอจะเข้าใจได้ว่าใจพี่มูลไปถึงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ยังไง

เพลงพม่าใหม่ เป็นเพลงสำเนียงพม่าที่ผมแต่งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2530 เลียนความคิดเรื่องการใช้มือพม่าและจังหวะแปลกๆของเพลงชเวดากองของครูบุญยงค์ซึ่งต้องยืนยันว่าเป็นเพลงที่ทำให้ผมตัดสินใจมาเป็นลูกศิษย์ของท่านอย่างจริงจังและเราเคยเล่นเพลงนี้บันทึกเสียงในนามวงฟองน้ำตั้งแต่ยุคแรก ต่อมาผมได้ลองใช้วิธีค้นหาเพลงพม่าอย่างที่ครูบุญยงค์ท่านเล่าให้ฟังคือการเปิดวิทยุคลื่นสั้นหาเสียงเพลงพม่า จนกระทั่งผมแต่งเพลงพม่าใหม่ขึ้นมาได้ คราวนี้ผมมอบหมายให้พี่มูลเป็นคนระนาดทุ้มประจำเพลงในการบันทึกเสียงเทปชุดประตูสู่โลกกว้าง ครูบุญยงค์ไม่ได้เล่นด้วย ผมเกรงใจครูมาก ก็บอกว่าครูครับ ผมแก้เพลงชเวดากองแล้ว ก็ทำเหมือนอย่างที่ครูทำน่ะ จังหวะใหม่ การแบ่งมือใหม่ๆในเพลงพม่าใหม่นี้ไม่ปกตินัก ถือเป็นแบบฝึกหัดการทรมานพี่มูลในยุคแรกๆก่อนที่จะก้าวไปหาเพลงอื่นๆต่อไป

เพลงชุดพระสังข์และเงาะยิ้ม วงฟองน้ำเราเคยมีเพลงพระสังข์ที่ใช้ระนาดใหญ่เล่นวรรคตอนเพลงที่แต่งด้วยทฤษฎีฟีบีนาชี ใช้สัดส่วน Golden Means เป็นตัวกำหนดโครงสร้าง เวลาตีต้องท่องสูตร “กัมมาลา ทาคีทาคี” ไปด้วยถึงจะเข้าใจ เอากังสดาลมาตีเป็นสัญลักษณ์ร่วมกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งและไฟฟ้าในเพลง ทำลีลาคล้ายเพลงหน้าพาทย์บรรยายตอนที่พระสังข์ชุบตัวให้เป็นทอง พอเป็นทองเสร็จ พระสังข์ทองท่านก็ตระหนักรู้ถึงทุกข์และต้องการออกไปช่วยโลก ก็เลยเลือกเอารูปเงาะที่เปรียบได้กับพวกคนป่าบ้าใบ้ไร้วัฒนธรรมเอามาสวมใส่พรางตัวที่เป็นทองข้างในเอาไว้ แล้วออกไปเผชิญกับความเดือดร้อนต่างๆของโลก ตรงนี้ผมทำเพลงเงาะยิ้มซึ่งมีความเป็นฟีบีนาชีอีกระบบหนึ่ง คำนวณสูตรเพลงที่พลิกกลับออกไป แล้วเสียงระนาดแบบปี่พาทย์พิธีก็กลับกลายไปเป็นเสียงพื้นบ้าน เสียงซื่อๆดิบๆ เราใช้ระนาดเงาะที่ดัดแปลงมาจากระนาดคาร์ล ออฟ รางเล็กนิดเดียว เอาให้พี่มูลตีต่อจากระนาดไทย นี่เป็นปีที่หนึ่งหรือสองที่พี่มูลร่วมงานกับฟองน้ำเหมือนกัน ปรากฏว่าเสียงระนาดเงาะก็เป็นบุคลิกของชาวป่าใสๆ ยิ้มซื่อๆอย่างเงาะในหน้าโขน แล้วก็กระโดดโลดเต้นได้สนุกสนาน ตอนหลังพี่มูลเล่นระนาดเงาะนี้อีกหลายวาระ โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เงียบขาวดำเรื่องช้างด้วย โดยที่เรานำเพลงกราวแขกเงาะเถาของครูบุญยงค์และเพลงอื่นๆมาเล่นด้วยวงเงาะป่ากันใหม่ สิ่งที่พัฒนาคือ การนับกติกาจังหวะของพี่มูลและการใช้น้ำหนักมือที่ตีลงไปบนระนาดต่างตระกูลต่างน้ำเสียงนั้น มีความแม่นยำมาก และทำได้น่าฟังทั้งสองตระกูลระนาดเลยทีเดียว

เพลงสุดถนนคอนกรีต พ.ศ. 2532 เป็นตอนที่ผมสนใจแนวคิดของบรมครูนักประพันธ์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งคือ Harry Patch ถึงการใช้วัสดุที่แตกต่างจากเครื่องดนตรีที่ปรุงแต่งแล้วทั้งรูปร่างและเสียงมาทำดนตรีปนกันไปด้วย อาจเป็นเรื่องของเสียงรบกวน noise ที่ปกติไม่เป็นที่พึงปรารถนาในสังคมดนตรี (ทุกสมัย) กับเสียงจากระบบการผลิตภาคโรงงานอุตสาหกรรม เอามาจัดวางใหม่ไปกับเสียงมโหรีปี่พาทย์ ขับร้องโดยดุษฎี สว่างวิบูลย์พงษ์ ใช้บทกวีของคุณคมทวน คันธนู มาขับร้อง งานนี้พี่มูลต้องต่อเพลงแบบใหม่ ขยายความคิดออกไปจากเพลงไทยประเพณี ใช้ขั้นคู่ที่ไม่ปกติ แม้จะคิดว่าสุดถนนคอนกรีตมันเป็นสมัยใหม่ แต่มันยังอยู่ภายใต้กติกาของไทยโบราณพอสมควร ที่จริงเป็นเพลงเถานะ เพียงแต่มันไม่ใช่เถาตามแนวทางครูเดิม บางวรรคผมก็ขยายมายืดยาวเพราะต้องการเล่นกับเสียงโน้ตยืนลูกตกหลัก บางวรรคก็ยอกย้อน บางวรรคบังคับกลอน บางวรรคเปิดอิสระให้ใครทำอะไรก็ได้ระหว่างช่องไฟนั้น มีคู่ 7 คู่9 อะไรบ่อยๆ พูดได้ว่าอีกคนนึงที่ปวดหัวได้ไม่น้อยในงานนั้น คือประสารนั่นแหละ เพราะว่าเขาต้องแปลอันนั้นเป็นทางของซอ ทางจะเข้ ทางทุ้ม กระโดดไปมา ส่วนระนาดเอกต้องพี่มูลเท่านั้นน่ะ ที่จะอ่านความคิดของผมออก เราบันทึกเสียงกันในที่ห้องสยามพัฒนาและห้องคุณร็อบเพื่อนผม ซึ่งครั้งนี้ผมก็ใส่เพลงของพี่มูล เพลงหิมะรำลึกลงไปด้วย เป็นเพลงหวานๆที่พี่เขาแต่งสมัยกลับจากทัวร์แคนนาดา แล้วก็มีเพลงครวญฝั่งโขงของไก่ เพลงกบเขียวของอาร์ต จีรเดช ตอนเล่นคอนเสิร์ตสุดถนนคอนกรีตนี่เราก็ทดลองสร้างโปงลางท่อเหล็ก สร้างระนาดท่อพลาสติก พี่มูลเป็นทั้งนักดนตรีทั้งกรรมกรก่อสร้าง พอดีตอนนั้นเราย้ายสำนักงานจากสีลมไปอยู่พระโขนงกัน พี่มูลก็ลาออกจากทหารอากาศมาอยู่กับเราเต็มตัวที่นั่น ทั้งไล่ระนาดไปด้วย ช่วยทำงานในบ้าน ช่วยสร้างเครื่องดนตรีทดลองไปด้วย เพลงชุดสุดถนนคอนกรีตนี่ ถัดจากคอนเสิร์ตแรกที่หอประชุมจุฬาฯ แล้วก็บินไปเล่นที่สิงคโปร์ และเมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้กลับมาเล่นที่จุฬาฯอีกหน เป็นนักดนตรีฟองน้ำกลุ่มใหม่เล่น แต่คราวนี้ต้องใช้วิธีการเปิดเทปเสียงเดิมทับลงไป ต้อง hand sync เพราะใจคนรุ่นหลังยังไม่ถึงพอเหมือนยุคพี่มูล

เพลงมรรคแปด เพลงนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2534 เราได้รับเชิญจากดร. โดนัล มิทเชล (Donald Mitchell) แห่งมูลนิธิบริทเทน-เพียร์ (Britten-Pears Foundation) นักดนตรีวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งเคยสนิทสนมกับวงฟองน้ำมาตั้งแต่สมัยแรกที่ไปร่วมงานมหกรรมดนตรีราชสำนัก ให้ไปร่วมงานเทศกาลดนตรี Aldeburgh Festival ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมทั้งทัวร์ไปเล่นอีกหลายเมืองในอังกฤษและฝรั่งเศสประมาณเดือนหนึ่ง ครูบุญยงค์ซึ่งเพิ่งแยกทางกับเพื่อนเก่าอีกกลุ่มหนึ่งก็ไปกับเราด้วย ที่จริงผมควรต้องเล่าหมายเหตุแทรกนิดหนึ่งว่า ในการเดินทางครั้งนี้ เราได้เริ่มสร้างงานบันทึกเสียงซีดีกับบริษัทนิมบัส (Nimbus) เอาไว้เป็นผลงาน World Music ที่สำคัญมาก มีชุดเสภาโบราณ ชุดเพลงหน้าพาทย์ เพลงเรื่องนางหงส์ มโหรีโบราณ และเดี่ยวระนาดเอก แต่ประเด็นหลักที่ผมอยากพูดมากกว่าในด้านพัฒนาการของการตีระนาดของพี่มูลนอกไปจากเพลงโบราณประเพณี คือตัวเพลงมรรคแปด ซึ่งถ้าแปลความหมายในเชิงพุทธศาสนาคงทราบกันดีว่านี่คือเส้นทางปฏิบัติแปดทางสู่การดับทุกข์ ผมเลือกชื่อมรรคแปด เนื่องจากว่า มันไม่สามารถมีคำที่พูดจำกัดความได้ของธรรมมะ มันมีหลายหนทาง ที่จะใช้ขจัดทุกข์ หลายทางที่จะเข้าไปสู่ธรรมมะ เพราะฉะนั้น งานเพลงนี้ก็มีวิธีการดำเนินหลายวิธี ผมสนใจการเล่นที่เป็นอิสระออกจากกันมีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง และคอมพิวเตอร์ หันไปคนละทิศละทาง มีลำโพงแปดตัว โจทย์ที่ใช้แต่งเพลงคือ อนันตวิถี เป็นขั้นตอนของการแต่งเพลงปลายเปิด เป็นดนตรีที่เริ่มต้นจากโจทย์ แล้วนักดนตรีแต่ละคนพัฒนาตนไปสู่ภาวะของจิตที่มีความคิดหลากหลายกำเนิดขึ้น ราวกับว่าโจทย์นั้นเป็นสิ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครูเทวดา ต่างคนต่างเล่นกัน ทุกคนก็อยู่ในทิศทางของตัวเอง แล้วก็ต้องฟัง มันเหมือนกับดนตรีประโคม มีดนตรีหลายๆ วงเล่นด้วยกัน แต่เสร็จแล้วก็มาเจอกัน แล้วก็ออกอีก เจอกัน แล้วก็มือเป็นแบบแปลกๆ แล้วก็ต้องวุ่นกับไฟฟ้าอีก ไอ้ตำแหน่งของเสียงเนี่ย มันจะมีทิศทางของมัน ในเวลานั้น งานนี้เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับคนฟองน้ำมาก เอาอีกแล้ว ไม่มีใครใจถึง ต้องเป็นพี่มูล สาร ผม กับไก่ แล้วพี่มูลทัน มันเป็นเรื่องที่พี่เขารับได้หมด แล้วเพลงมรรคแปดนี่ ผลลัพธ์ออกไปแบบหักเส้นทางออกจากโบราณเลยทีเดียวเชียว คือมันมีโบราณแน่ๆ มันอยู่ในมรดก แต่มันออกมาเป็นกติกาใหม่ๆ เยอะแยะไปหมดเลย แล้วพี่มูลก็จะไม่ยอมไม่ทัน เขาจะต้องทันให้ได้เลย เขายอดตรงนี้แหละ ไม่บ่น สู้อย่างเดียว จะไม่ย้อมแพ้ท่าเดียว เปิดใจรับได้ ในงานที่อังกฤษ  ผมอุทิศเพลงนี้ให้กับยอดนักแต่งเพลง เบนจามิน บริทเท่น (Benjamin Britten) เพราะมันเป็นเรื่องของความมีขันติ Tolerance เนื่องจากว่า เราจะไม่กำหนดว่าคุณผิด ไม่ทะเลาะกันจนเราต้องก่อสงคราม ต้องฆ่ากัน ความเชื่อที่ว่าสัจจะ  พระเจ้าหรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ มันมีแค่หนทางนี้เท่านั้น โลกนี่เกิดสงคราม เพราะว่าคุณเชื่ออย่างนี้  ผมเชื่ออย่างนั้น แล้วก็เราไม่มียอมกัน พราหมณ์กับอิสลามก็ตีกัน  คริสต์กับอิสลามยิ่งตีกันใหญ่โต ถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าหากว่าเรามีจิตใจแบบศาสนาพุทธ ว่า โอเค คุณอาจจะไปในทางของคุณก็ได้ แต่ว่าจุดเป้าหมายคือความบริสุทธิ์ คือสิ่งที่ไม่มีใครอธิบายได้ เพราะมันเหนือสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ ไม่มีวิธีพูดหนึ่งเดียว อันนี้คือมรรคแปด

หลังยุคเจ้าพระยาคอนแชร์โต ที่จริงต้องเสริมว่า พี่มูลมีงานระนาดที่สำคัญอีกหลายเพลง อันที่ออกจะลำบากเหมือนกันในทางการการปฏิบัติคือเดี่ยวระนาด 9 ราง ชื่อเพลงทศพิธราชธรรม เป็นเพลง 10 ท่อนที่ผมเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมงคลวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี ผมจัดเวทีใหม่เป็นตัวเลข ๕๐ แบบไทย โดยมีระนาดเอก 9 ราง และระนาดทุ้มอีก 9 รางวางซ้อนตำแหน่งวนไล่กันอยู่ในเลข 0 นั้น กำหนดให้พี่มูลกับคุณตุ่ม มือทุ้มจากวงตำรวจที่เข้ามาร่วมงานกับเราหลังยุคครูบุญยงค์เป็นคนตีร่วมกันในท่อน cadenza หลังจากที่วงดนตรีแบบอื่นๆ เล่นผ่านไปแล้ว เช่น มโหรีโบราณ แตรวง อังกะลุง เปี๊ยะหมู่ แคน สตริงแชมเบอร์ออร์เคสตรา ร้องหมอลำ ขับเสภา อ่านบทกวี เป็นต้น พี่มูลได้ออกแบบวิธีการตีระนาดเอก 9 รางโดยประยุกต์ความรู้เดิมสมัยเรียนกับครูไก่บ้านดุริยประณีตจาก 4 ราง 5 ราง และการตี 7 รางของครูบุญยงค์ พัฒนาขึ้นมาเป็นเลข 9 ซึ่งนั่งตีไม่ได้เสียแล้ว ต้องเดินตีระนาดเพื่อความคล่องตัว ต้องหาทิศทางหมุนตัว เคลื่อนไหวร่างกาย หมุนข้อเหวี่ยงมือ กำหนดจุดตัวโน้ตในการบรรเลงในแต่ละวรรคตอน ตีให้ครบทุกลูกทุกผืน ต้องรักษาวิชาการเดี่ยวระนาดอย่างโบราณสมัยครูหลวงประดิษฐไพเราะเอาไว้ด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องมีการพัฒนาสุนทรียภาพ และทัศนียภาพสมัยใหม่ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน พี่มูลตั้งใจทำการบ้านเพลงนี้มากทีเดียว และผมยกให้เป็นงานนวัตกรรมสำคัญของพี่มูลกับพี่ตุ่มที่ลงมือสาธิตแสดงผลให้ประชาชนได้ดูกันทั้งประเทศผ่านจอโทรทัศน์ซึ่งเคลื่อนกล้องไปตามทิศทางของเพลงอย่างเข้าอกเข้าใจ ช่วยพัฒนามุมมองในการชมเดี่ยวระนาดอย่างนี้อย่างดีเช่นกัน

3.      นิโรธ

บทบาทพี่มูลในฐานะมือระนาดเอกกับการร่วมสร้างสรรค์ดนตรีร่วมสมัย ถ้าผมจะพูดแต่งานอนาคตอย่างเดียว คงไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนทั้งหมดของเขา เพราะอีกฟากฝั่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ น่าจะใหญ่ไม่แพ้งานเพลงต่างๆที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือการอนุรักษ์ดนตรีไทยในเชิงประวัติศาสตร์

ในฐานะของศิษย์ครูบุญยงค์ ศิษย์ครูมนตรี ศิษย์ครูจำเนียร ศิษย์ครูโสภณ และอีกหลายท่าน เราตระหนักดีว่า เรามีรากฐานมาจากอดีตที่ยาวไกล เป็นอดีตที่รับใช้สังคมไทยในเชิงจิตใจ ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นอดีตที่มีร่ำรวยวัฒนธรรมเหลือเกิน ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อความเคารพนับถือเป็นตัวพิทักษ์รักษาเอาไว้

ดนตรีไทยที่ในเวลาที่ผมเรียนรู้จากครูทุกท่านที่กล่าวนามมา จนเมื่อมีพี่มูลและคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกหลายคนมาร่วมงาน มาเสริมกำลังให้เราทำอะไรได้คล่องแคล่วมาก แต่เราก็ยังคงมีครูบาอาจารย์ที่ยังมีลมหายใจอยู่ มีความรู้ความสามารถที่ลึกซึ้ง สะสมบ่มเพาะตัวเองมายาวนานกว่าเราจะคาดคิด คุณค่าของท่าน เตือนสติให้ฟองน้ำต้องไม่ลืมที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ที่ติดตัวท่านมาแต่แรกเอาไว้ในการทำงานควบคู่กับดนตรีสมัยใหม่ไปด้วย

งานเหล่านี้ไม่ใช่งานถอยหลัง แต่เป็นยิ่งกว่าการก้าวหน้า ไกลเกินที่เราคนยุคใหม่จะคาดคิด

นับตั้งแต่ปี 2530 พี่มูลมาอยู่ในวงฟองน้ำ ผมและครูบุญยงค์ปรึกษาหารือกันเรื่องการจัดการแสดงที่จะไปร่วมงานมหกรรมดนตรีราชสำนัก Music of the Royal Courts ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสถานีวิทยุ BBC เป็นเจ้าภาพใหญ่ จัดงานที่ศูนย์วัฒนธรรมเซ้าท์แบงค์ South Bank Centre อันมีโรงละครที่มีชื่อเสียงของประเทศหลายโรงรวมอยู่ด้วย โจทย์ที่จะต้องทำนั้นคือเราต้องแสดงเพลงที่เป็นมรดกราชสำนัก หากว่ามีนักดนตรีที่ผ่านประสบการณ์ราชสำนักมาร่วมก็จะยิ่งเป็นเกียรติกับงาน มีโปรแกรมการแสดงอยู่หลายวัน มีงานที่จะต้องสาธิตบรรยายความรู้วิชาการ นิทรรศการ และการประชันกับดนตรีราชสำนักประเทศอื่นๆด้วย

ครูบุญยงค์ได้เสนอให้เราจัดทีมนักแสดงอาวุโสไปกับทีมคนหนุ่ม อาวุโสคือแถวหน้าในโลกดนตรี คนหนุ่มเป็นแรงงานเสริม ช่วยจัดการอะไรได้มากเมื่ออยู่ต่างถิ่นแดนไกล นักดนตรีที่เป็นต้นฉบับดนตรีราชสำนักที่เหมาะสมที่สุดในความรู้สึกผมคืออาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน บุตรีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) ท่านเคยถวายตัวเป็นนักดนตรีวงมโหรีหลวงมาก่อน ผมประทับใจลีลาขับร้องของท่านมาก แต่ว่าขณะนั้นท่านอายุมากแล้ว (72 ปี) และเป็นสุภาพสตรี ต้องเดินทางไกลไปค่อนโลก ไปกับนักดนตรีชายหลายคนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งยากต่อการทำให้ฝันเป็นจริง หากแต่เมื่อไปกราบเรียนท่านที่บ้าน อาจารย์เจริญใจกลับแสดงความยินดีและเตรียมตัวอย่างดีที่สุดในการเดินทาง มาซ้อมร้องเพลง ซ้อมสีซอสามสายให้กับวงดนตรีฟองน้ำทุกวันไม่ขาด มาช่วยแนะนำทางร้องทางซอให้ครูประเวชในเพลงช้าลูกหลวง พัดชา กระทั่งเทคนิคยากๆในการร้องเพลงตับพรหมมาสตร์ของครูประเวชร่วมกับครูจำเนียร ท่านยังแนะนำผมอีกหลายอย่างในการบรรเลงรับร้องส่งร้อง ให้กำลังใจที่ผมอาจจะดูเป็นคนแปลกๆเป็นฝรั่งนั่งอยู่ในวงดนตรีกับคนไทย การแสดงความเมตตาท่านทำให้ผมมีกำลังใจอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าทำงานอนุรักษ์ต่อ และมั่นใจว่าการมีครูผู้ใหญ่ นักดนตรีรุ่นอาวุโสไปแสดงของจริงต่อหน้าชาวโลกเป็นสิ่งถูกต้อง แม้เป็นเรื่องที่สวนกระแสในเวลานั้น ไม่มีวงดนตรีไหนเขาทำกัน แม้แต่หน่วยราชการที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์โดยตรง ครูอาวุโสที่ไปกับเราในครั้งนั้นทุกท่านเลยวัยเกษียณอายุไปแล้ว ได้แก่อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ ครูประเวช กุมุท ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ครูบุญยงค์ เกตุคง ส่วนนักดนตรีหนุ่มมีผม จ่าพิณ เรืองนนท์ พี่มูล หน่อง อานันท์ นาคคง และสาร ประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์ มีคุณอัมพร จักกะพากเป็นผู้จัดการวง เราขนเครื่องดนตรีจำนวนมาก เป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงมโหรี และเครื่องดนตรีราชสำนักไปที่ลอนดอน ทำหน้าที่ของนักดนตรีไทยกันอย่างเต็มกำลัง ส่งเสียงเพลงทั้งในโรงละครและผ่านคลื่นวิทยุบีบีซีออกไปให้คนฟังทั้งเกาะอังกฤษ

ในงานนี้พี่มูลแสดงฝีมือตีระนาดเอกหลายแบบ ทั้งปี่พาทย์ไม้แข็ง ปี่พาทย์ไม้นวม มโหรี และผลงานหนึ่งที่กลายเป็นชื่อเสียงของวงฟองน้ำอีกครั้งคือการรื้อฟื้นเพลงเชิดในเถามาเล่นเป็นครั้งแรกอย่างสมบูรณ์แบบ ครูบุญยงค์ได้ค้นคว้าเรียบเรียงเพลงเชิดในจากความทรงจำของท่านสมัยเรียนปี่พาทย์กับครูละม้ายหรือครูทองหล่อ มาเป็นเพลงเถาที่ออกเดี่ยวปี่พาทย์ทุกเครื่องมือ เริ่มจากครูจำเนียรเดี่ยวปี่ พี่มูลเดี่ยวระนาด ผมเดี่ยวฆ้องใหญ่ ครูโสภณฆ้องเล็ก ครูบุญยงค์เดี่ยวทุ้ม สารตีฉิ่ง จ่าพิณตีตะโพน หน่องตีกลองทัด ที่สำคัญคือเมื่อถึงชั้นเดียว เราจะออกเชิดทำนองที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในการแสดงโขนละครของไทยอีกหลายทำนอง เรียกหน่วยทำนองนี้ว่าตัว ไม่ใช่ท่อน งานนี้ฟองน้ำเล่นเชิดในจำนวน 38 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นเพลงขนาดยาวมาก นานกว่าครึ่งชั่วโมง ไม่มีช่องไฟให้พักมือคนเล่นหรือพักหูคนฟังเลย ที่จริงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเอาคนดูให้อยู่ น่าอัศจรรย์มากเมื่อเล่นเพลงนี้จบทุกครั้ง คนดูจะลุกขึ้นปรบมือกันยาวนาน เพลงอื่นๆที่เราเล่นกันอีกมี โหมโรงเสภาพม่าวัด โอ้ลาวเถามโหรี ตับนกปี่พาทย์ไม้นวม ขับไม้ช้าลูกหลวง พัดชามโหรีโบราณ เดี่ยวซออู้สารถีครูโสภณ เดี่ยวจะเข้จีนขิมใหญ่ประสาร มีเพลงตับพรหมมาสตร์ครบตับที่ฉายสไลด์ภาพจิตรกรรมประกอบและคำบรรยายภาษาอังกฤษบนจอบ้างเวทีควบคู่ไปกับเนื้อร้องที่ครูประเวชและครูจำเนียรร้องกันด้วย

กลับจากลอนดอนคราวนั้น นอกจากความภูมิใจว่าเราทำงานครบโจทย์ของทั้งอังกฤษและโจทย์ของครูบุญยงค์ ผมยังได้ความคิดสำคัญอีกอย่างคือการบันทึกเสียงครูอาวุโสและเพลงประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้ รวมทั้งเสาะหาเพลงอื่นๆที่ควรค่ากับการอนุรักษ์เอาไว้ด้วย ครูบุญยงค์เองก็มีแก่ใจถ่ายทอดความรู้ให้คนหนุ่มอีกมาก ผมสังเกตได้ว่าตั้งแต่เริ่มซ้อมดนตรีเพื่อเตรียมไปอังกฤษ พี่มูลจะสนิทสนมกับครูบุญยงค์มาก ครูบุญยงค์เป็นโปรดิวเซอร์ทางระนาดทุกลูกทุกเม็ดที่พี่มูลตีในเพลงทุกเพลง ทั้งเดี่ยวทั้งหมู่ กระทั่งหน้าพาทย์ในพรหมมาสตร์ บอกให้อย่างไม่ปิดบัง พี่มูลจะพกเครื่องอัดเทปคาสเซ็ทขนาดเล็กติดตัวเสมอ อัดเสียงสิ่งละอันพันละน้อยของครูบุญยงค์ทุกวัน ถ้านับเป็นแทร็กดิจิตอลสมัยใหม่คงเป็นหลายหมื่นแท็ก แต่ว่างานอนาล็อคมันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่ บางทีก็อัดแล้วไปฟังเสร็จ ซ้อมเสร็จก็อัดอย่างอื่นทับลงไปใหม่ มีทั้งเสียงตีระนาด เสียงเล่านิทานของครูบุญยงค์ เสียงซ้อมรวมวง เสียงอาจารย์เจริญใจดุว่าเวลาเข้าเพลงไม่ถูกใจท่าน พี่มูลเป็นทั้งนักดนตรีทั้งซาวน์เอนจิเนียร์สมัครเล่นที่กดเทปอัดด้วยสัญชาตญาน ผมเลยตั้งใจว่า ในที่สุดแล้ว เสียงเหล่านี้ ควรจะเข้าห้องอัดอย่างเป็นงานเป็นการสักที

ในเมื่อเราลงทุนเทคโนโลยีมากมายกับการอัดเสียงอนาคตแล้ว ทำไมจะเพิกเฉยกับเสียงอดีตเล่า

การลงมือทำงานดนตรีสมัยใหม่ อาจง่ายพอสมควร เพราะเรามีเทคโนโลยีรองรับแทบจะทุกกระบวน ทั้งซอฟแวร์ฮาร์ดแวร์ที่หลั่งไหลเข้ามาให้ทดลองเล่นทดลองใช้ ราคาไม่แพงนัก มีกรรมวิธีการตัดต่อเสียงและมิกซ์เสียงที่ไม่มีใครรู้ว่าเราอัดไปกี่รอบ พลาดกี่ที ดีกี่หน มีเครื่องเสียงขั้นสุดยอดให้เราฟังเพลงปลอมๆได้เหมือนจริง

แต่เมื่อจะต้องกลับมาทำงานอนุรักษ์ ผมรู้สึกว่าโลกสมัยใหม่ที่คุ้นเคยมันเชยมากกว่า ที่เชยที่สุดคือความไม่รู้จักคุณค่าของความสด ความจริงของเวลาที่ต้องใช้ความซื่อสัตย์ในการทำงาน ใช้ความสามารถในการเล่นที่โกงกันไม่ได้ ที่สำคัญคือ งานเหล่านี้ เกิดได้จากครูดนตรีรุ่นใหญ่หลายๆคนที่มีรากเหง้ามาจากสำนักดนตรี จะวังหรือจะบ้านก็ตาม มีการเรียนจากรุ่นครูใหญ่จริงๆมาก่อน เคยถูกตำหนิลงโทษ ถูกทดสอบผ่านวันเวลาที่เข้มข้นมาก่อน แล้วเมื่อไหร่ที่ครูเหล่านี้หยิบจับเครื่องดนตรีมาเล่น เสียงสวรรค์ก็ปรากฏให้เราได้เห็น

ช่วง พ.ศ. 2531-35 มีบริษัทบันทึกเสียงสองแห่ง ที่ให้ความสนใจกับการร่วมลงทุนสนับสนุนงานบันทึกเพลงประวัติศาสตร์ คือบริษัท Pacific (TAO) และบริษัท Marco Polo ทั้งสองบริษัทมีเจ้าของคนเดียวกันคือเคล้าส์ เฮมานนน์ Klaus Heimann ชาวเยอรมันซึ่งจดทะเบียนสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง เคล้าส์เป็นเพื่อนที่ให้ทุนก้อนเล็กๆกับผมมาจัดทำต้นฉบับบันทึกเสียงเพลงไทยแบบอนุรักษ์ แน่นอนว่า ผมไม่รีรอที่จะเชิญครูอาวุโสมาร่วมงานสำคัญเช่นนี้อีกครั้ง นักดนตรีทุกท่านที่เคยเดินทางไปอังกฤษกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังได้มีคนสำคัญอีกหลายท่านที่ผมเคยตั้งใจจะเชิญมาร่วมงานอยู่นานแล้ว ก็ได้โอกาสมาบันทึกเสียงร่วมกันในครั้งนี้ด้วย

งานเพลงประวัติศาสตร์แบ่งเป็นสองระยะ ระยะแรกใช้ทุนของ TAO ได้แผ่นคอมแพคดิสค์สามแผ่น ซึ่งเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่งานบันทึกเสียงวงฟองน้ำทำเป็นคอมแพคดิสค์ บันทึกเป็นระบบดิจิตอลอย่างดี ใช้ห้องเสียงพัฒนาฟิล์ม นักดนตรีที่มาเพิ่มเติมจากชุดอังกฤษ อาทิ ครูอุดม อรุณรัตน์ มือซอสามสายศิษย์พระยาภูมีเสวิน ครูจงกล ศุขสายชล มือซอศิษย์หลวงไพเราะเสียงซอ ครูปี๊ป คงลายทอง บุตรชายครูเทียบยอดนักเป่าปี่ ครูสวาท กิจนิเทศ มือเครื่องหนังบ้านหลานหลวง คุณสมพงษ์ ภู่สร มือปี่มอญวัดหัวลำโพง คณะนักดนตรีปี่พาทย์พื้นเมืองจากเชียงใหม่ คุณวิรัช สงเคราะห์ มือซอจากจุฬาฯ คุณศิริพงษ์ วัชโรทัย มือบัณเฑาะว์จากสำนักพระราชวัง พี่ง่อน เรืองเดช พุ่มไสว วัดเศวตรคลองสาน ฯลฯ ผลงานครั้งนั้นมีเพลงเชิดในเถา ตระนาฏราช เพลงเรื่องต้นเพลงฉิ่งออกพญาพายเรือ เพลงพญาแปแล โหมโรงไอยเรศ ช้าลูกหลวง สะระหม่า-ย่ำแขก โอ้ลาวเถา ตับนก และจ๊อยบ๊อย (เพลงปี่พาทย์ล้านนา) ทุกเพลงบันทึกที่ห้องสยามพัฒนาฟิล์ม

หลังจากนั้น ผมหันไปบันทึกเสียงแบบย้ายสภาพแวดล้อมบ้าง เลือกห้องให้เหมาะกับรูปแบบของวง ให้เหมาะกับเสียงที่ควรอยู่กับพื้นที่ และเลือกใช้เทคนิคการบันทึกวางไมโครโฟนแบบธรรมชาติ ไปหลายห้องเสียง เช่น สวนหลวง ร.9, หอประชุมเตรียมอุดม, โรงละครอักษรศาสตร์จุฬาฯ, หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ระยะที่สองนี้เป็นทุนของ Marco Polo ใช้ชื่อชุดว่า Siamese Classical Music มี 5 แผ่นด้วยกัน นักดนตรีกลุ่มแผ่นเสียงชุดแรกบางท่านยังเล่นด้วยอยู่ และมีนักดนตรีรุ่นใหม่มาเสริม มีพี่สอิ้ง สุวิทย์แก้วกระมล ปี่พาทย์ทหารเรือ คุณตุ่มตำรวจ วิบูลย์ธรรม เพียรพงษ์ อ้ำ เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี คุณดวงเนตร ดุริยพันธุ์ นักร้องกรมศิลปากรมาร้องหุ่นกระบอกกับคุณธีระ ภู่มณี คุณสมาน น้อยนิตย์ มือกลองศิลปากร แก้ว ดุษฎี สว่างวิบูลย์พงษ์ ดีดจะเข้ คุณสมชาย ทัพพร นักร้องกรมศิลปากร คุณวิมล เผยเผ่าเย็น นักร้องกรุงเทพมหานคร อาจารย์ศิลปี ตราโมท ซอสามสาย เป็นต้น อาจารย์เจริญใจไม่สบายงานนี้ แต่ท่านส่งลูกศิษย์สาวเสียงดีคือหนูเม้ง อภิญญา ชีวะกานนท์ มาร้องแทน โดยท่านก็ยังไม่ทิ้งงาน ยังมาช่วยกำกับวงมโหรีในแผ่นเสียงสุดท้ายให้อยู่จนจบ เพลงที่บันทึกครั้งหลังนี้มีมากมายทีเดียว อาทิอาทิ โหมโรงชาตรี สาธุการออกตระหญ้าปากคอก ตระจอมศรี เดี่ยวปี่เชิดนอก เพลงเรื่องเขมรใหญ่ เพลงชุดโหมโรงกลางวัน เพลงโหมโรงราโคเครื่องสายปี่ชวา แขกขาวเถา หุ่นกระบอก เดี่ยวขลุ่ยพญาครวญ เดี่ยวจะเข้แขกมอญ เดี่ยวซอด้วงสารถี ปี่พาทย์เสภาโหมโรงพม่าวัด ทยอยนอก เดี่ยวระนาดกราวใน เดี่ยวทุ้มแขกมอญ มโหรีโหมโรงขวัญเมือง บุหลันลอยเลื่อน กล่อมช้าง จำปานารี นางนาค พัดชา พระอาทิตย์ชิงดวง

นักดนตรีเหล่านี้ มาช่วยกันเสริมเสียงให้โครงการดนตรีประวัติศาสตร์ของงานฟองน้ำได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างน้อยการทำงานที่มีพื้นฐานความเคารพรากเหง้า มีความเข้าใจในการสืบหาต้นฉบับเพลง ภาระหน้าที่บำรุงรักษาแบบอย่างดนตรีโบราณ ยังคงเป็นหัวใจของฟองน้ำ เสียงอดีตยังคงเป็นสิ่งที่มีความหมายเสมอในสังคมไทยเรา

ครูบุญยงค์ ค่อยๆหมดแรงลงไป กว่าจะถึงงานบันทึกแผ่นท้ายๆ ครูยังพอมีแรงมาช่วยแนะนำเราอยู่ ยังเป็นห่วงเป็นใยตรวจสอบมือฆ้องทุกมือ กลอนระนาดทุกกลอน พี่มูลกับผมต้องทำการบ้านต่อหน้าครูเสมอก่อนที่จะอัดเสียง บางเพลงที่ครูฟังอยู่ในขณะอัดเสียงแล้วไม่ถูกใจก็บอกให้ปรับใหม่ แม้แต่เดี่ยวระนาดกราวในเถา พี่มูลเคยเรียนมาจากครูสกล แก้วเพ็ญกาศ แบบหนึ่ง พอเรามาอัดเสียงกัน ครูบุญยงค์ก็แนะนำลูกขึ้นให้ใหม่ บอกเคล็ดลับว่าตรงไหนเมื่อไหร่ที่พี่มูลจะต้องเข่นกำลังฮึกเหิมขึ้นมาหรือต้องสุภาพบันยะบันยัง แค่ไหนถึงจะพอ แค่ไหนที่ยังเพิ่มได้อีก และอะไรที่ไม่ควรจะเล่นเมื่ออยู่ในห้องบันทึกเสียง

งานคอมแพ็คดิสค์อื่นๆที่ได้เก็บเสียงอดีตเอาไว้เพิ่มเติมอีกหลังจากนั้นที่น่าบันทึกถึงเพิ่มเติมคือ แผ่นเสียงคู่ ในนาม FONG NAAM - Ancient-Contemporary Music from Thailand ทุนทำงานของบริษัทเซเลสเชียล ฮาร์โมนี (Celestial Harmony) อัดเสียงที่โรงละครอัลคาซ่า พัทยา มีเพลงเดี่ยวระนาดเอกจีนแสปริศนา เพลงเชิดในเถา โหมโรงสาวน้อยเล่นน้ำ ปี่พาทย์มอญโยคีถวายไฟ ปราสาทไหว เดี่ยวแคนลมพัดพร้าว แตรวงมหานิมิตร งานบันทึกเสียงครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีครูบุญยงค์เป็นหลักให้พวกเราแล้ว แต่ร่มเงาบารมีของท่านก็ยังคอยคุ้มครองดูแลพวกเราอยู่ เพลงจีนแสปริศนาที่บันทึกครั้งนี้ ก็เป็นเสียงระนาดผืนรักสุดใจของครูบุญยงค์ที่เคยเดินทางไปเยือนเมืองจีน จนได้สมญาระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยกนั่นเอง

เพลงเชิดในที่บันทึกครั้งใหม่ เสียงดีขึ้น เล่นกันแน่นขึ้น แต่เมื่อถึงคราวที่บันทึก ครูจำเนียรมือปี่ ครูโสภณคนฆ้องเล็ก และครูบุญยงค์มือทุ้ม จากเราไปไม่กลับคืนแล้ว พี่มูลกับผมยังนั่งปักหลักกันสองคน พี่สอิ้งมาเป่าปี่แทนครูจำเนียร ประสารไปตีฆ้องเล็กแทนครูโสภณ คุณตุ่มตีทุ้มแทนครูบุญยงค์ เครื่องหนังก็เปลี่ยนไปเป็นดำกับพี่สมชาญ เพลงเชิดในฉบับใหม่เป็นเพลงปิดท้ายที่เราบรรเลงกันในครั้งบันทึกเสียงเพลงอนุรักษ์นี้

สุดท้าย เราก็นำวงปี่พาทย์ชุดที่บันทึกเชิดในในอัลบั้มนี้ ไปรำลึกครูบุญยงค์และเพื่อนๆของท่านที่ล่วงลับ รำลึกกันอย่างสมเกียรติบนเวทีปี่พาทย์วัดพระพิเรนทร์ เล่นกันอย่างถวายครูเป็นที่สุดในชีวิต ท่ามกลางสายตาของคนปี่พาทย์อีกเป็นร้อยเป็นพัน มารุมล้อมดูเรา มาฟังเสียงระนาดสดๆของพี่มูลที่เคยเป็นดาราเด่นของวงการปี่พาทย์ประชันวัดพระพิเรนทร์มาก่อน ปีนั้นเราไม่ได้ประชันกับใคร เพียงแต่ขึ้นไปร่วมไว้อาลัยครูๆของเราเท่านั้น พี่มูลตีระนาดงานนี้ได้เจิดจ้ามาก ชัด ไหว แม่นยำ และยังคงเป็นละมูลที่แฟนเพลงปี่พาทย์ทุกคนนับถือในฝีมือ

ครูบุญยงค์คงฟังเพลงนี้อย่างสุขใจที่มุมไหนสักแห่งของวัดพระพิเรนทร์เหมือนกัน

จากงานครั้งนั้น ไม่นานนัก พี่มูลก็ล้มป่วย เข้าโรงพยาบาลพระราม 9 รักษาตัวเป็นเวลานาน กลับมาก็ยังตีระนาดได้ แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่ทิ้งวิญญานคนระนาด

อีกหลายปีต่อมาก็ยังเป็นเช่นนั้น แต่ผมให้งานพี่มูลทำน้อยลง เพราะเป็นห่วงอยากให้พักผ่อนมากกว่า มีคนระนาดใหม่ๆอีกหลายคน เข้ามาช่วยงานกับวงฟองน้ำที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ถ้าจะไล่เรียงลำดับคนตีระนาดในวงฟองน้ำ พี่มูลเป็นคนที่ 5 แต่อยู่นานที่สุดและเป็นยุครุ่งเรืองที่สุด สี่คนก่อนหน้านั้นคือ ครูบุญยงค์ รายแรกสุด, ครูบุญยัง ยุคแรกเริ่มบันทึกเสียง, ผมเอง(เคยตีระนาดเอกในละครพระสังข์-อิฟิเกนีย์ทั้งเรื่อง), คุณชัยยุทธ โตสง่า ซึ่งเป็นทายาทครูสุพจน์เพื่อนรักครูบุญยงค์ เอามาเข้าวงตอนที่จะไปงานเอ็กซโป แล้วก็มาเป็นพี่มูล นานหลายปีมากกว่าจะเปลี่ยนมาเป็นคุณเอก ไกรสันต์ แย้มทัพ, คุณปู สุกฤษณ์ชนม์ พงษ์พรหม, คุณมนตรี คล้ายฉ่ำ และคุณเล็ก สกล บุญศิริ ซึ่งเป็นรุ่นลูกศิษย์พี่มูลอีกทีหนึ่ง

งานเลี้ยงตัวที่โรงเบียร์ตะวันแดงช่วงหลังนี้พี่มูลจะพักผ่อนอยู่กับบ้านห้วยขวางมากกว่า แต่อย่างไรพี่มูลก็ยังแวะเวียนมาร่วมเล่นกับเราเวลาที่ว่างหรือสุขภาพดี มาเล่นเพลงไม้แข็งไม้นวมเปิดเวทีให้เราอยู่เรื่อยๆ แม้กระทั่งใกล้วาระสุดท้าย ก็ยังถือเป็นหน้าที่ในใจว่าหายป่วยแล้วก็จะต้องกลับมาเล่นกับฟองน้ำให้ได้ โชคดีที่มีคุณละออแม่บ้านกับพี่สมชาญเพื่อนร่วมวงแต่ยังเยาว์หมั่นคอยดูแลพี่มูลเสมอ คอยรายงานให้ผมทราบว่าพี่มูลเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

พี่มูลรอเวลาหายป่วย พวกเราก็รอเวลานั้นที่พี่มูลจะกลับมาเล่นระนาดกับเรา

แต่พี่มูลไม่กลับมาอีกเลย

4.      มรรค

เรื่องนี้ไม่ใช่การย้อนเวลาอีก เป็นเรื่องปัจจุบันนี่แหละ คงจะดึงเวลากลับมาไม่ได้แล้ว ถ้าทำได้ ผมก็คงอยากจะให้ทั้งพี่มูล ทั้งครูบุญยงค์ย้อนคืนกลับมาเป็นเพื่อนร่วมวง ร่วมเดินทาง ช่วยกันต่อสู้แสวงหา ร่วมสอนสั่งความรู้ให้กับผมอีก

เมื่อย้อนเวลาในนาฬิกาชีวิตไม่ได้เหมือนความทรงจำ ผมก็อยากจะให้ทุกคนช่วยกันจำพี่มูลไว้ว่า พี่มูลเป็นนักดนตรีไทยที่หายากมาก เป็นคนจิตใจอ่อนโยน แล้วก็ใจถึง สามารถอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผยทั้งโบราณกับสมัยใหม่ สามารถเข้าใจ อะไรคือ บู๊ เร้าใจ มันส์ อ่อนช้อย ช้าๆ ลึกซึ้ง  รู้จักเสียงดัง และรู้จักความเงียบ เพราะว่าจิตใจของพี่มูลเป็นอย่างนั้น

ครูบุญยงค์เคยพูดกับผมด้วยว่าพี่มูลตีระนาดเสียงหวาน เจ้าชู้   ครูบุญยงค์เคยพูดกับผมอย่างนั้น แต่ไม่เคยพูดกับพี่มูลนะ ครูบุญยงค์บอกว่า ท่านตีไม่หวาน ท่านเป็นนักเลง ชอบตีบู๊ ถ้าจะหวาน ก็สู้พี่มูลไม่ได้ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครูบุญยงค์ตีลาวแพน เหมือนกับกราวในเลย ยักษ์ออกรบอย่างเดียว ยิ่งเสียงระนาดสมัยใหม่นี่ หายากมาก คนที่ตีหวานเป็นในยุคนี้หายากมาก ผมว่ามันเป็นรสชาติอย่างหนึ่งที่ระนาดไม่น่าจะทำเสียงหวานได้ แต่พี่มูลเขาจะมีช่องไฟ รู้จักกำหนดว่าตรงไหนมีกรอ มีสะบัด มีลูกเสี้ยว มีกนกต่างๆ มีหนักเบาที่มันทำให้เกิดความอ่อนช้อยขึ้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ มันเป็นความรู้สึกอันนึง และก็เป็นวิชากล้ามเนื้อด้วย ทำนองอย่างนี้ ช่องไฟก็เหมือนกัน มันจะยืดสักหน่อยนึง แล้วก็ย้อยลงมา เหมือนกับพวกซอ พวกเครื่องเป่าอะไรเขาทำกัน พี่มูลก็สามารถที่จะหวานไปกับเขาได้ ไม่ใช่หาง่ายๆ นั่นแหละพี่มูล แต่มันมีขั้นตอนเหมือนกันนะ จะให้บู๊เหมือนครูบุญยงค์ก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่บู๊นักเลงโผงผางอันธพาลนะ ท่านมีเวลาของท่าน มีมารยาทนักเลง รู้กาละเทศะอย่างยิ่ง เวลาไปตีหน้าพาทย์ไหว้ครูนะ ผมยังจำได้ ท่านจะเริ่มต้นตอนเช้าๆเนี่ย สาธุการ ดูยังกับครูตีระนาดไม่เป็น ตีช้าๆ แล้วใจเย็นด้วย ไม่ได้เดือดร้อนเลย ค่อยๆสร้าง พอมันเริ่มจะเข้ากลางๆพิธีตอนนี้ พวกรัวจะเด่นออกมาแล้ว ต้องบอกก่อนนะว่าครูบุญยงค์จะเป็นคนถ่อมตัวที่สุด เวลาเล่นเพลงหน้าพาทย์นะ ไม่มีลวดลาย ไม่มีอะไรแฟนซีเลย แต่พอรัวท้ายนะ ท่านจะสั่งสอนว่ากูเป็นใคร ซึ่งโบราณผมว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น ต้องเล่นรัวกี่สิบครั้งในพิธีไหว้ครูใช่มั้ย ท่านก็จะค่อยๆสร้างออกมา ออกแบบออกแนวรัวอะไรต่างๆไม่มีซ้ำซากเลย พี่มูลก็ได้แนวคิดการตีหน้าพาทย์อย่างครูบุญยงค์ไปมากเหมือนกัน

ผมจะจำได้ตลอดเลยว่า พี่ละมูลยิ้มยังไงเวลาที่เรามีความสุขด้วยกัน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ พี่มูลเป็นคนที่สามารถทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของวง เขาจะไม่จำเป็นจะต้องอวดว่าดังกว่าคนอื่น หรือว่าประกวดแข่งขันกันว่า ฉันจะต้องเก่งกว่า พี่มูลไม่มีลักษณะอย่างนั้น เป็นคนที่มาทำงานร่วมกันเพื่อศิลปะ เพื่อให้เกิดศิลปะที่ไพเราะ เขาเป็นคนที่ได้ทำดนตรีด้วยกันแล้วสบายใจ เป็นคนที่ teamwork และเป็นคนที่มาร่วมกับคนอื่นอย่างลึกซึ้ง เหนือกว่านั้นคือ จิตใจของพี่มูล เขาเป็นคนอ่อนช้อย มีเมตตา ไม่เห็นแก่ตัว  ไม่เย่อหยิ่ง มีน้ำใจ

วันนี้ ศิลปินยอดเยี่ยมของประเทศไทยคนหนึ่งได้หลับไปแล้ว ประเทศไทยจะรู้บ้างไหมว่าเราเสียคนที่สำคัญมากไปคนหนึ่งในวันนี้

แต่ยิ่งกว่านั้น ผมต้องเสียเพื่อนที่ผมรักมากที่สุด เพื่อนคนหนึ่งที่มีความหมายกับชีวิตการแต่งเพลงของผมมากที่สุดไปแล้วจริงๆ

 

 

ขอบคุณพี่มูลนะครับ ที่พี่เป็นเพื่อนที่ดีของผม

บรูซ แกสตัน

วงฟองน้ำ

รำพึงรำพัน, โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เมษายน 2552

อานันท์ นาคคง เรียบเรียง




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ