ReadyPlanet.com
dot dot
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ

มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ

องค์ บรรจุน

  

“มะเมี๊ยะ” ในความรับรู้ของผู้เขียนครั้งแรก เกิดจากเพลงโฟล์คซองคำเมืองของ จรัล มโนเพชร ขับร้องโดย สุนทรี เวชานนท์ เนื้อหาบอกเล่าชีวิตรักที่ขมขื่นของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง เพลงชุดนี้ออกวางแผงและโด่งดังอย่างยิ่งเมื่อช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ ตั้งแต่สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นประถมต้น

 

“หมะเมี๊ยะเป๋นสาวแม่ก้า คนพม่า เมืองมะละแหม่ง

งามล้ำดั่งเดือนส่องแสง                 คนมาแย่ง หลงฮักสาว

หม่าเมี๊ยะบ่อยอมฮักไผ๋                  มอบใจ๋ หื้อหนุ่มเจื้อเจ้า...”[๑]

 

ในขณะนั้นเมื่อได้ยินเนื้อเพลงว่า “มะเมี๊ยะเป็นสาวแม่ก้า คนพม่า เมืองมะละแหม่ง...” ก็ไม่เคยติดใจสงสัยอะไร ต่อเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วและได้ศึกษาประวัติศาสตร์มอญ สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ต่างก็บอกตรงกันว่า เมืองมะละแหม่งมีแต่มอญ ไม่มีพม่า

สภาพทั่วไปของเมืองมะละแหม่งนั้นเป็นเมืองเกษตรกรรมชายทะเล ริมอ่าวเมาะตะมะ รวมทั้งเป็นเมืองต้นทางของผู้เขียน เนื่องจากบรรพชนของผู้เขียนเคยอาศัยอยู่ในเมืองนี้เมื่อราว ๒๐๐ ปีก่อน คนมอญเรียกชื่อเมืองนี้ว่า โหมดแหมะเหลิ่ม เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาถึง เมืองนี้แทบหาคนเชื้อชาติอื่นไม่ได้เลย นอกจากคนมอญ[๒] อย่างไรก็ตามได้มีชาวไทใหญ่บางท่านเชื่อว่า มะเมี๊ยะ เป็นชาวไทใหญ่ แต่จากการได้สอบถามผู้รู้ภาษาและประวัติศาสตร์ไทใหญ่[๓] ต่างกล่าวตรงกันว่า “มะเมี๊ยะ” เป็นมอญ เพราะมาจากเมืองมะละแหม่ง ผู้เขียนจึงเชื่อว่ามะเมี๊ยะเป็นมอญ ไม่ใช่ พม่า ดังเหตุผลที่จะได้กล่าวต่อไป

เรื่องราวของมะเมี๊ยะ อาจเป็นเรื่องราวที่เคยครึกโครมและอยู่ในความทรงจำของชาวเชียงใหม่ แต่ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ในหมู่ชาวมอญ ทั้งในฐานะผู้สร้างตำนานรักโศกนาฏกรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าปากต่อปาก หาก มะเมี๊ยะมีตัวตนจริง ความไม่สมหวังในรักของมะเมี๊ยะและเจ้าน้อยศุขเกษมนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างมาก ในแง่ความรักระหว่าง “เจ้าชาย” กับ “แม่ค้าขายบุหรี่” ที่มีความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งความรักในลักษณะนี้นั้นพบว่านานครั้งจึงจะเกิดขึ้นและยืนยาว หากมองแค่ประเด็นทางสังคมแต่เพียงอย่างเดียว โดยนำเรื่องนี้ไปถามแม่ค้าในตลาดมะละแหม่ง ตลาดที่มะเมี๊ยะเคยขายบุหรี่ชะแล็ค พวกเขาก็คงจะตอบในทำนองว่า

“ผู้ชายเป็นเจ้า ผู้หญิงเป็นแค่แม่ค้า ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเขาก็คงไม่อยากได้เป็นลูกสะใภ้อยู่แล้ว...” หรือไม่ก็มองอย่างคนที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบหลวงวิจิตรวาทการ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คงจะได้คำตอบว่า

“ไปคว้าผู้หญิงพม่ามาเป็นเมีย จะอยู่กันได้อย่างไร พวกพม่ามันเคยมาเผากรุงศรีอยุธยาของเราเอาไว้ด้วย...”

แต่หากมองข้ามเรื่องเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องเดียวที่น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงก็คือ สถานการณ์ทางการเมือง ที่ลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างตกเป็นเมืองขึ้นกันแล้วถ้วนหน้า ผู้คนที่เคยอพยพโยกย้ายไปมาได้ตามใจ ขอบเขตประเทศจึงไม่เคยมีความหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องปักปันเขตแดน ผู้คนที่อยู่ไกลจากรัศมีและระหว่างคู่อำนาจของรัฐใดๆ ก็ล้วนไปมาหาสู่และเป็นเครือญาติด้วยกันทั้งสิ้น แต่ลัทธิอาณานิคมที่เข้ามา ทำให้การผสมปนเปเชื้อชาติของผู้คนและวัฒนธรรมตามแนวเขตชายแดนเป็นปัญหา ทางการไทยในสมัยนั้นจึงต้องการทำให้ทุกคนเป็นไทย ขีดเส้นแผนที่ประเทศให้ชัดเจน ชื่อสถานที่และชาติพันธุ์ ต้องกำกับด้วยความเป็นไทยเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกอ้างสิทธิ์ผนวกหัวเมืองชายแดนไปรวมอยู่กับพม่า ลาว หรือกัมพูชา

อังกฤษเริ่มทำสงครามกับพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ โดยยึดเมืองมะละแหม่งก่อนและใช้เป็นเมืองหลวงในการปกครองพม่า และยึดพม่าได้เบ็ดเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ กัมพูชาและลาวตกเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ และ ๒๔๓๗ ตามลำดับ[๔] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตระหนักถึงภัยของนักล่าอาณานิคมเหล่านี้ จึงทรงเปลี่ยนการปกครองใหม่ คือ พระราชอาณาเขตประเทศสยาม (The Kingdom of Siam) ยุบเลิกเมืองประเทศราช และการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างในอดีต ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ แบ่งออกเป็นมณฑล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยมีผู้ตรวจการไปจากส่วนกลาง แบบที่อังกฤษใช้ปกครองพม่าและมาเลเซีย ทว่าต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงวิตกว่าแผ่นดินฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติลาวอาจจะฝักไฝ่อยู่กับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสอาจจะถือโอกาสรวมคน (และดินแดน) ลาวทั้งสองฝั่งโขงเข้าไว้ด้วยกัน รวมทั้งหัวเมืองเหนือที่เคยเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาช้านาน มีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอาจมีจิตใจฝักไฝ่อยู่กับพม่า จึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเรียกมณฑลหัวเมืองเหนือและอีสานเหล่านั้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ดังนี้

มณฑลลาวเฉียง เป็น มณฑลลาวฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ (ปีถัดมาเป็น มณฑลพายัพ)

มณฑลลาวพวน เป็น มณฑลฝ่ายเหนือ

มณฑลลาวกาว เป็น มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และ

มณฑลเขมร เป็น มณฑลตะวันออก (มณฑลบูรพา)

กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวนสนองนโยบายด้วยการประกาศว่า “...แต่นี้สืบไป ให้เจ้าหน้าที่แต่ละแผนก ทุกหัวเมืองใหญ่น้อยในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัว หรือหากว่ามีราษฎรมาติดต่อที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ของทางราชการ ให้ปฏิบัติใหม่ โดยลงในช่องสัญชาตินั้นว่า ชาติไทยในบังคับสยามทั้งหมด ห้ามไม่ให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไท ฯลฯ ดั่งที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด...”[๕]

การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ จึงเป็นมรดกทางความคิดที่สืบทอดนโยบายของรัฐในเวลาต่อมา ที่ต้องการรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย นับเป็นกระบวนการแปลงชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในแผ่นดินสยามให้กลายเป็นไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นต้นมา

จากเหตุผลของความจำเป็นในการทำแผนที่ประเทศไทยตามอย่างตะวันตก นำมาซึ่งการตัดญาติขาดมิตร พรมแดนกลายเป็นเส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจรุกล้ำได้อีกต่อไป เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของผู้คนในภูมิภาคแถบนี้โดยสิ้นเชิง เส้นทางที่ผู้คนในอดีตไปมาหาสู่ และแลกเปลี่ยนสินค้าตามปกติ ต้องตัดขาดจากกันด้วยเส้นวาดแผนที่ที่มองไม่เห็น

เหตุผลด้านการเมืองข้างต้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมี๊ยะไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่ประเด็นในบทความชิ้นนี้เชื่อว่า หากมะเมี๊ยะมีตัวตนจริง มะเมี๊ยะก็จะต้องเป็นมอญ มิใช่พม่า ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ

๑. เมืองมะละแหม่งเป็นเมืองมอญ

๒. ความสัมพันธ์ระหว่างมอญไทยและมอญพม่า และสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น

๓. วัฒนธรรม “สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา”

 

๑. เมืองมะละแหม่งเป็นเมืองมอญ

เมืองมะละแหม่งเป็นเมืองมอญมาแต่อดีต มีเส้นทางตัดข้ามเขาจากเมืองหงสาวดี เมาะตะมะ และมะละแหม่ง มายังด้านใต้เมืองเชียงใหม่และหริภุญชัย (ลำพูน)[๖] ทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ (เม็ง) ขยายตัวตลอดลำน้ำปิงจนถึงเวียงฮอด (อำเภอฮอด จังหวัดตาก) ซึ่งอยู่ใต้สุดบนเส้นทางที่เชื่อมชุมทางการค้าระหว่างล้านนากับอยุธยา เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมืองหริภุญชัยเกิดอหิวาตกโรคระบาด ชาวเมืองหริภุญชัยได้อพยพไปอยู่เมืองสะเทิมและหงสาวดี ภายหลังจากโรคร้ายสงบลงก็อพยพกลับมาหริภุญชัยดังเดิม[๗] ดังปรากฏว่าทุกวันนี้ในชาวมอญลำพูนยังคงมีการลอยกระทงเพื่อรำลึกถึงชาวมอญเมืองเมาะตะมะและมะละแหม่ง และรำลึกถึงพระอุปคุตในมหาสมุทรเป็นประจำทุกปี มิได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาอย่างชาวไทยทั่วไป

พลเมืองของหริภุญชัยเป็นชาติพันธุ์ผสมคือ เม็ง (มอญ) และลัวะ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิม ในภายหลังจึงปรากฏกลุ่มคนไทย ในยุคหริภุญชัย “เม็ง” เป็นชนชั้นปกครอง เป็นกลุ่มที่รับความเจริญมาจากมอญภาคกลาง[๘] นอกจากนี้ยังมีชาวละโว้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมอญที่มากับพระนางจามเทวี เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร[๙] ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูล แต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ชาวเม็งตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง” (มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณ และกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่[๑๐]

ความเจริญด้านต่างๆ จากหริภุญชัยได้แพร่ขยายไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นในระยะต่อมาเช่นล้านนา กล่าวคือ ตัวอักษรธรรมล้านนามีที่มาจากอักษรมอญหริภุญชัย ด้านศิลปกรรมก็ยอมรับศิลปะหริภุญชัยอย่างเด่นชัด เช่นรูปทรงเจดีย์ แม้แต่กฎหมาย “มังรายศาสตร์” คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากกฏหมายของมอญที่หริภุญชัย[๑๑]

ชาวไทยจึงรู้จักคุ้นเคยชาวมอญมาแต่โบราณ หากไม่นับย้อนไปถึงมอญใน “ทวารวดี” และ “หริภุญชัย” แล้ว อย่างน้อยคนไทยคงคุ้นเคยกับ “มะกะโท” พ่อค้าชาวมอญ ที่ภายหลังครองราชย์เป็นพระเจ้าฟ้ารั่วแห่งเมืองเมาะตะมะ ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรื่องราวของมะกะโทแสดงให้เห็นว่า หงสาวดี เมาะตะมะ มะละแหม่ง หัวเมืองมอญทางใต้ รวมทั้งเมืองสุโขทัย และหัวเมืองเหนือของไทยในอดีต ล้วนเป็นเส้นทางไปมาหาสู่ เผยแผ่พุทธศาสนา และแลกเปลี่ยนสินค้าของมอญและไทยมาแต่บรรพกาล ต่อมาในสมัยอยุธยา พม่าก็มักใช้เมืองมะละแหม่ง เมาะตะมะเป็นที่ประชุมพลก่อนยกทัพเข้าตีไทย เพราะเมืองเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ สามารถทำนาปลูกพืชผักเป็นเสบียงให้กองทัพได้ดี และอยู่ใกล้ชายแดนไทย มอญในเมืองเมาะตะมะและมะละแหม่ง จึงถูกพม่าบีบคั้นกดดันมากกว่าเมืองอื่น ชาวมอญสองเมืองนี้จึงอพยพเข้าเมืองไทยมากกว่าเมืองอื่น[๑๒]

ปัจจุบันเส้นทางการค้าและเดินทัพดังกล่าวคงยังใช้งานอยู่ดังเดิม เมื่อกลางปี ๒๕๕๐ วันที่ผู้เขียนลงพื้นที่สำรวจชุมชนมอญในจังหวัดลำพูน ได้รับการบอกเล่าว่าในตอนเช้าวันนั้น ได้มีพระสงฆ์มอญจากมะละแหม่ง ๑๐ รูป แวะมาเยี่ยมเยียนพระมอญที่วัดเกาะกลาง[๑๓] รวมทั้งทุกวันนี้พ่อค้าวัวต่างชาวไทใหญ่ที่ต้อนวัวเข้ามาขายในเมืองไทยก็ยังคงผ่านทางเมืองมะละแหม่ง โดยพ่อค้าวัวทั้งหลายจะต้องจ่าย “ก๊อก” ให้ชาวมอญก่อนผ่านด่าน ซึ่งคำว่า “ก๊อก” ที่ชาวไทใหญ่ใช้นั้นเป็นภาษามอญ แปลว่า ภาษี และที่สำคัญ ปัจจุบันเมืองมะละแหม่งก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ ประเทศพม่า

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าเมืองมะละแหม่งและเชียงใหม่นั้นเป็นเส้นทางสัญจรของชาวมอญมาช้านานแล้ว อย่างไรก็ตาม ความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมี๊ยะไม่ใช่ความรักข้ามพรมแดนครั้งแรก เพราะมะกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว ก็เคยพานางเทพสุดาสร้อยดาว ธิดาของพระร่วงกรุงสุโขทัย ระหว่างที่พระองค์ไปราชการทัพและฝากให้มะกะโทดูแลบ้านเมือง หนีข้ามพรมแดนไปสร้างเมืองเมาะตะมะด้วยเส้นทางนี้เช่นกัน

 

๒. ความสัมพันธ์ระหว่างมอญไทยและมอญพม่า และสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น

เมืองเชียงใหม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ขณะที่เหตุการณ์เจ้าน้อยศุขเกษมพรากจากมะเมี๊ยะนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ช่วงก่อนนั้นรัฐบาลอังกฤษได้ทำสนธิสัญญากับรัฐบาลไทยเรียกว่า สนธิสัญญาเชียงใหม่ สนธิสัญญาฉบับนี้ให้ความคุ้มครองแก่คนในบังคับอังกฤษที่เข้ามาเป็นแรงงานและค้าขายในเมืองเชียงใหม่ ลำปางและลำพูน โดยจะได้รับความคุ้มครองในด้านความปลอดภัยจากโจรผู้รายตามแนวชายแดน คนในบังคับอังกฤษที่มีหนังสือทางสามารถเดินทางได้โดยอิสระ ทางการไทยไม่สามารถขัดขวางได้[๑๔]และทำให้คนในบังคับอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน อินเดีย พม่า ไทใหญ่ ขมุ ต่องสู่ และมอญ เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่มากขึ้น จนเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางการไทยจึงให้ระบุชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นเชื้อชาติไทยทั้งหมด ไม่แยกชาติพันธุ์[๑๕]

ดังจะเห็นว่าอังกฤษในขณะนั้นใช้อิทธิพลบีบบังคับรัฐบาลไทยทุกด้าน โดยเฉพาะในช่วงปี พ.. ๒๔๓๐ มีกระแสว่ามหาอำนาจต้องการยึดครองหัวเมืองเหนือผนวกเข้ากับพม่า การที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งโอรสไปเรียนการทำป่าไม้ที่เมืองมะละแหม่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น นอกจากความต้องการเรียนรู้วิทยาการชั้นสูงแล้ว อาจทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นคิดได้ว่า เชียงใหม่ต้องการเอาใจออกห่าง และเรื่องยิ่งบานปลายเมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมมีคู่รักเป็นสาวมอญ คนในบังคับพม่า ความสัมพันธ์ที่เปราะบางของรัฐบาลไทยและเชียงใหม่ ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่หวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดผลเสียต่อวงศ์ตระกูลและชาติบ้านเมือง โดยอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษยื่นมือเข้าแทรกแซงกิจการภายในได้ เพราะถือว่าเป็นบุคคลอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลของเขา และยังถูกลดศักดิ์ศรีลงเป็นบุคคลในอาณานิคม พลอยกระทบกระเทือนไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของเจ้าอุปราชโดยตรง

ภาพถ่ายของเจ้าน้อยศุขเกษมที่พบเห็นกันทั่วไปนั้น เทียบกับคนสมัยนี้แล้วนับว่าหล่อมาก นอกจากหน้าตาแล้วยังมีฐานะและชาติตระกูลพร้อม ส่วนมะเมี๊ยะ สาวแม่ค้าเมืองมะละแหม่ง ที่สามารถมัดใจเจ้าน้อยศุขเกษมได้นั้น จึงน่าเชื่อได้ว่า นอกจากบุคลิคนิสัยที่ดี อันดูได้จากดูแลดูแลปรนนิบัติ อาหารการกินไม่ขาดตกบกพร่อง และชวนกันทำบุญไหว้พระ กราบนมัสการพระธาตุเจดีย์และศาสนสถานสำคัญที่พม่ารามัญยกย่องบูชาแล้ว หน้าตาคงจะงดงามโดดเด่น ทำนองเดียวกับ เม้ยมะนิกที่ขายของอยู่ในตลาดกับสามี มะเทิ่ง เมื่อพระยาน้อย (ราชาธิราช) ชมตลาดผ่านมา พบเข้าและเกิดชอบพอ ขอไปเป็นมเหสี ทั้งที่อยู่ในฐานะรัชทายาทจะหาสาวสวยที่ยังโสดเท่าใดก็ย่อมได้

หลักฐานความสัมพันธ์ของไทยและมอญเมืองมะละแหม่งอย่างหนึ่งคือ ชื่อหมู่บ้าน เกาะซ่าก ซึ่งชาวมอญที่นั่นระบุว่า ไม่ใช่คำในภาษามอญ แม้จะออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกัน ซึ่งหากเป็นภาษามอญจะเขียนอย่างหนึ่งและแปลว่า รวย ส่วนการเขียนอย่างที่เป็นอยู่นี้เขียนตามเสียงภาษาไทยว่า สัก ซึ่งหมายถึง ไม้สัก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเพราะในอดีตมีชาวไทยเข้ามาเรียนวิชาการทำไม้ และมีกิจการทำไม้ในมะละแหม่งมาก หากไม่อคติมากเกินไปแล้ว การที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งเจ้าน้อยศุขเกรมไปเรียนการป่าไม้ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ตามความเคยชิน ไม่ได้เอาใจออกห่างรัฐไทยแต่อย่างใด

 

ความสัมพันธ์ระหว่างมอญไทยและมอญพม่า

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่ามอญเมืองไทยและมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) มีการไปมาหาสู่กันอยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๔ พระไตรสรณธัช (เย็น) พระเถระชาวมอญเมืองไทย เกิดที่บ้านคลองครุ สมุทรสาคร ได้นำพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายไปเผยแผ่ในเมืองมอญ ประเทศพม่า ชาวมอญที่นั่นเรียกพุทธศาสนานิกายนี้ว่า นิกายมหาเย็น ปัจจุบันมีวัดนิกายมหาเย็นมากกว่า ๑๐๒ วัด[๑๖]

นายเดช ชาวเรือหัก ชาวมอญจังหวัดสมุทรสาครนักดนตรีปี่พาทย์มอญ ชาวบ้านเกาะ สมุทรสาคร ไปรับจ้างแสดงดนตรีที่เมืองมะละแหม่งเป็นประจำ เนื่องจากก่อนหน้านั้นชาวมอญถูกพม่ากวาดล้างและพยายามกลืนชาติ ไม่ให้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน นาฏศิลป์ ปี่พาทย์ มอญรำ จึงเลือนหายไปมาก หลังอังกฤษเข้าปกครองได้เปิดโอกาสให้ชนชาติต่างๆ ในพม่าได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างเสรี ชาวมอญเมืองมะละแหม่งจึงต้องจ้างปี่พาทย์มอญเมืองไทยไปแสดงและฟื้นฟูขึ้นใหม่[๑๗]

“วัดไจ๊ตะหลั่น” ในเมืองมะละแหม่งที่มะเมี๊ยะและเจ้าน้อยศุขเกษมสาบานรักต่อกันนั้น คนมอญเรียกว่า “เพ่ฮ์กย้าจก์เซมลาน” แปลว่า วัดพระมอญเมืองไทยหนีพ่าย มีที่มาจาก พระเจดีย์ร้างที่สร้างค้างไว้หลายยุคสมัย ได้รับการสร้างต่อจนเสร็จโดยโดยพระสงฆ์ไทยเชื้อสายมอญ และจักกายมามโตนเล ขุนนางพม่าชั้นสูงชาวมอญ ที่หลบหนีมาจากเมืองย่างกุ้ง (เละเกิ่ง) หลังจากทำการกบฏต่อพม่าไม่สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ จึงได้มาอยู่ที่เมืองมะละแหม่งซึ่งขณะนั้นตกเป็นของอังกฤษแล้ว ขุนนางมอญผู้นี้รับราชการอยู่กับพม่าและพูดมอญไม่ได้ เช่นเดียวกับมะเมี๊ยะ ดังที่พงศาวดารเมืองเหนือระบุว่ามะเมี๊ยะพูดคุยกับเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยภาษาพม่า ก่อนหน้านั้นชาวมอญชุมชนนี้ส่วนหนึ่งได้อพยพมาอยู่เมืองไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน และได้สร้างวัดขึ้นในในจังหวัดปทุมธานี และตั้งชื่อวัดตามเดิม แต่ปัจจุบันวัดดังกล่าวนี้มีชื่อว่า วัดสังลาน

“มะเมี๊ยะ” หากเป็นคำในภาษามอญแล้วไม่สามารถหาคำแปลที่ไพเราะเหมาะสมได้ ซึ่งอาจเป็นการออกเสียงและจดบันทึกกันต่อมาผิดๆ ของชาวเชียงใหม่ รวมทั้งอาจเป็นไปได้อย่างกรณีของ มามโตนเล ที่รับเอาวัฒนธรรมพม่า นิยมตั้งชื่อเป็นพม่า จะด้วยความนิยมหรือด้วยต้องการทำตัวกลมกลืนให้พ้นภัยก็ตาม หาก มะเมี๊ยะ เป็นภาษาพม่าก็จะได้ความว่า นางสาวมรกต เพราะ มะ เป็นคำนำหน้าหญิงสาวในภาษาพม่า ซึ่งจากการที่ได้คุยกับลูกหลานเจ้านางไทใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านมีชื่อเป็นภาษาไทใหญ่ว่า “จิ่งเมี๊ยะ” และท่านแปลว่า อัญมณีสีเขียวเช่นกัน และเมื่อย้ายครอบครัวลงมาตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ เจ้านางยายของท่านจึงตั้งชื่อภาษาไทยกลางให้ว่า "ขจี"[๑๘]

ส่วนคำนำหน้าสาวมอญใช้คำว่า มิ แต่พม่าถือว่าหยาบคาย แต่เดิมคำว่า มิ ไม่ได้เปล่งเสียงจากริมฝีปาก แต่เป็นฐานเสียงนาสิก หนัก และลึก ลักษณะคล้ายกับที่คนไทยสมัยก่อนได้ยินว่า “เม้ย” ดังปรากฏว่าสาวมอญในเรื่องราชาธิราช จะมีคำนำหน้าชื่อว่า เม้ยมะนิก เม้ยเจิง เม้ยกะทอ เป็นต้น

บุหรี่ขี้โย หรือบุหรี่ชะแลก (ภาษามอญเรียกว่า บ่อกเดิง) ที่มะเมี๊ยะจำหน่ายนั้น เป็นบุหรี่พื้นเมืองขึ้นชื่อของชาวมอญเมืองมะละแหม่ง ซึ่งอาชีพการมวนบุหรี่นี้ เคยเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งชาวเม็ง (มอญ) บ้านช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำอาชีพสืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย[๑๙]

 

๓. วัฒนธรรม “สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา”

ประเพณี “สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา” เป็นประเพณีโบราณ ที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติมาช้านานแล้ว ซึ่งชาวมอญจะถวายความเคารพสูงสุด โดยน้อมเอาสิ่งสูงสุดของร่างกายตนลาดปูให้พระมหากษัตริย์และราชวงศ์เหยียบย่ำ แม้สถาบันกษัตริย์มอญจะไม่เหลือแล้ว แต่คนมอญยังคงถวายสักการะเช่นนี้กับพระราชวงศ์ของไทย ดังปรากฏว่า สาวมอญที่ไปรอรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในงานยกช่อฟ้าวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้หมอบรอรับเสด็จสองข้างทางตั้งแต่รถพระที่นั่งจอดเทียบไปจนถึงปะรำพิธี โดยปลดมวยผมสยายลงถวายสักการะให้แด่สมเด็จพระเทพฯได้เสด็จพระราชดำเนินผ่าน



[๑] มิวสิคเอทีเอ็ม.(๒๕๔๘). เพลงมะเมี๊ยะ จรัล มโนเพชร. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www. Musicatm.com/view.php?No=4687 วันที่สืบค้น ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒.

[๒] เก่ดแจะแหน่ะหม่าน เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. องค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านเกาะซั่วเกาะซ่าก เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙.

[๓] โสภิส กันน๊ะ ประธานมูลนิธิพระธรรมแสง และอัครวัฒน์ ชุติพัฒน์วรางกูร เลขาธิการมูลนิธิพระธรรมแสง เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ขนิษฐา คันธะวิชัย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่มูลนิธิพระธรรมแสง ซอยท่าข้าม ๒๘ ถนนพระราม ๒ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒.

[๔] บุญเทียม พลายชมพู. (๒๕๔๘). พม่า : ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์. หน้า ๒๕๑-๒๕๒.

[๕] สมคิด สิงสง. (๒๕๕๑). ลัทธิล่าอาณานิคมเหนือโขงสองฝั่ง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www. oknation.net/blog/print.php?id=263226. วันที่สืบค้น ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐.

[๖] สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๔๓). ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. หน้า ๗๖.

[๗] เพิ่งอ้าง. เล่มเดิม. หน้า ๑๗.

[๘] เพิ่งอ้าง. เล่มเดิม. หน้า ๘๓.

[๙] ตำนานจามเทวีวงศ์ เรียก ชาติพันธุ์ เม็ง ว่า เมงคบุตร. ใน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๑๕). คำแปลจามเทวีวงศ์: พงศาวดารเมืองหริภุญไชย. หน้า ๓.

[๑๐] พระโพธิรังสี. (...). คำแปลจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย. หน้า ๒๑๕.

[๑๑] สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๓๙). เล่มเดิม. หน้า ๑๓๑.

[๑๒] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๒๓๕๘). คำให้การสมิงอิน จ่านครมอญ เรื่องในเมืองมอญพม่าเบียดเบียน. เอกสารตัวเขียน สมุดไทดำ รัชกาลที่ ๒  จ.ศ.๑๑๗๗. เลขที่ ๗.

[๑๓] องค์ บรรจุน. (พฤศจิกายน-ธันวาคม, ๒๕๕๐). วัดหนองดู่. คอลัมน์ วัดมอญในเมืองไทย. ใน เสียงรามัญ. หน้า ๒๔.

[๑๔] สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๓๙).  ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า ๓๕๘.

[๑๕] ประวัติวัดป่าเป้า. (๒๕๔๔). เอกสารอัดสำเนา. หน้า ๓.

[๑๖] องค์ บรรจุน. (กุมภาพันธ์, 2548). ทวนน้ำท่าจีน เยือนถิ่นจังหวัดสมุทรสาคร มอญนอกพงศาวดาร. ศิลปวัฒนธรรม. หน้า ๕๙.

[๑๗] องค์ บรรจุน. (๒๕๕๒). มอญรำเมืองนนทบุรี. ใน จดหมายเหตุชาวไทยเชื้อสายมอญ : บำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามลัทธิธรรมเนียมมอญ. หน้า  ๗๘.

[๑๘] ขจี ถนัดสอนสาร เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. องค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่วัดชนะสงคราม ถนนจักรพงษ์ บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒.

[๑๙] สดใส หงษ์ทอง เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. องค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านเลขที่ ๒๐๔ ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑.

 

ดาวน์โหลดไฟล์ต้นฉบับคลิกที่นี่...




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ