สุนทรภู่-ครูมีแขก
จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
Download file PDF click here...
ความเคลื่อนไหวของความคิดและระบบปรัชญาของตะวันตก ที่เน้นการใช้ “เหตุผล” ของเดส์การ์ต (Rene Descartes 1596-1650) นั้นสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะมนุษยนิยมที่เริ่มปรากฏขึ้น พร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องความเป็นปัจเจก ดังหนังสือ Optics ที่เดส์คาร์ตเขียน ก็แสดงให้เห็นว่าภาพที่ปรากฏขึ้นในตาเรานั้นหาใช่การสำแดงออกของพระเจ้าไม่ แต่เป็นภาพการสะท้อนแสงกลับหัวผ่านเรตินาของเราเท่านั้น
ว่าที่จริงลักษณะปัจเจกในงานจิตรกรรมของฝรั่งเห็นได้จากในงานของดา วินชี (Leonardo da Vinci) และเดลลา ฟรานเชสก้า (Piero della Francesca) แล้ว (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16) ที่เริ่มมีการวาดภาพแบบมีมิติตื้นลึก อันเป็นการสำแดงออกซึ่งความเป็น “ปัจเจก” ของผู้วาดนั่นเอง (คือการที่ภาพทั้งภาพเป็นการแสดงมุมมองจากตำแหน่งที่ผู้เขียนภาพยืนอยู่ตำแหน่งเดียวเท่านั้น1 )
ส่วนของดนตรีตะวันตก “เพลงเดี่ยว” อย่างโซนาต้า (sonata) เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดปัจเจกนิยมเช่นนี้ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากช่วงเวลาที่เพลงเดี่ยวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพลงเดี่ยวอย่าง sonata นี้ค่อยๆ สร้างแบบแผน sonata form ขึ้นมาด้วยระยะเวลายาวนาน อันเป็นแบบแผนที่เคร่งครัดและเต็มไปด้วย “เหตุผล” ซึ่งพอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดที่เริ่มต้นโดยเดส์คาร์ตนี้ก็เห็นได้ชัดว่ากลายเป็นความเชื่อของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในตะวันตกไปแล้ว
ยิ่งกรณีของโมซาร์ต (Amadeus Mozart พ.ศ. 2299-2334 หรือ ค.ศ. 1756-1791) ที่ร่วมสมัยกับคานท์ (Immanuel Kant พ.ศ. 2267-2347 หรือ ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่เชื่อในเจตจำนงเสรี (Free will) การเป็นศิลปินอิสระจึงเป็นสิ่งที่น่าพิศมัยมากกว่าการรับใช้ราชสำนักหรือคริสตจักรอย่างจืดชืด เห็นได้จากช่วงปลายชีวิตที่โมซาร์ตได้ลาออกจากตำแหน่งในอาณัติของอาร์ชบิชอปมาใช้ชีวิตเป็นศิลปินอิสระ และสร้างงานที่เข้าถึงประชาชนคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก
แต่แนวคิดแบบปัจเจกนิยมนี้ก็มาพร้อมกับการยกย่องศิลปินจนเกินจริง และทำให้งานศิลปะกลายเป็นทิพย์ ศิลปินคือมนุษย์พิเศษ ดา วินชีเป็นอัจฉริยะ นักเขียนภาพไม่ใช่แค่ “ช่าง” อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว แต่เป็น “ศิลปิน” ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในศิลปะทุกแขนง และเป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปะกลายเป็นบางสิ่งที่แยกตัวออกมาจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ ดูห่างไกลและจับต้องได้ยากขึ้น
และในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นเอง ขณะที่ sonata form กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่อังกฤษเริ่มบุกอินเดีย และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจักรวรรดินิยม
ยิ่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 การค้าในอยุธยาที่คึกคัก ย่อมส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษากันและกันผ่านการค้าขาย แนวคิดต่างๆ ของทางตะวันตกย่อมไหลเวียนมาทางตะวันออกอย่างสยามประเทศด้วยเหตุนี้
มีข้อความหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 1-4 (พ.ศ. 2329-2398 หรือ ค.ศ. 1786-1855) มีความรู้เกี่ยวกับชาติต่างๆ เป็นอย่างดี ดังใน รำพันพิลาป ที่ท่านแต่งขึ้นเมื่ออายุได้ 65 ปี ได้กล่าวถึงเมืองต่างๆ ไว้มาก เช่นชวา มะละกา อินเดีย มังกล่า (เบงกอล) และเมืองลังกา (เกาะศรีลังกา) เป็นต้น
ดังนั้นเมืองลังกาของนางละเวงในเรื่อง พระอภัยมณี จึงเป็นเกาะที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องในจินตนาการเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น สุนทรภู่ยังรู้อีกด้วยว่าเกาะลังกาขณะนั้นถูกยึดครองโดยอังกฤษแล้ว ท่านจึงแต่งให้นางละเวงเป็นกษัตริย์ผู้หญิง (ที่ได้ครองเมืองลังกาเพราะพ่อถูกฆ่า) เทียบเคียงกับราชินีของอังกฤษสมัยนั้นคือควีนวิคตอเรียนั่นเอง
ยิ่งในตอนที่นางละเวงส่งภาพเขียนของตัวเองไปที่เมืองทมิฬ (อินเดียใต้) แล้วท้าวละมานแห่งเมืองทมิฬเดินทางมาหานางละเวงที่เกาะลังกานั้น ก็บรรยายฉากที่มีการจัดห้องนอนให้ท้าวละมานอย่างฝรั่งๆ ได้อย่างสมจริง มีการเอ่ยถึงเครื่องมือที่ “ถึงนาทีตีระฆังเสียงหงั่งเหง่ง” ซึ่งก็น่าจะเป็นนาฬิกาฝรั่ง หรืออย่างตอนบรรยายการแสดงดนตรีท่านก็เขียนไว้ว่า
ฝ่ายสุรางค์นางบำเรอเสนอหน้า รินสุราแลชม้อยคอยถวาย
สาวสำหรับขับเคียงเมียงชม้าย ประสานสายซอดังเสียงวังเวง
แล้วขับขานประสานเสียงสำเนียงเรื่อย ช่างฉ่ำเฉื่อยฉอเลาะล้วนเหมาะเหม็ง
บ้างไขกลดนตรีให้ตีเอง ได้ฟังเพลงเพลิดเพลินเจริญใจ
ซึ่งในสองวรรคสุดท้ายนั้นเห็นทีจะหมายถึงกล่องดนตรีหรือ music box นั่นเอง
แนวคิดแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความเป็นปัจเจกแบบของฝรั่งจึงส่งผลให้เกิดกวีอย่างสุนทรภู่ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ล้วนมีเหตุผลมารองรับประกอบกันอย่างหนาแน่น เริ่มจากการที่สุนทรภู่เป็นชนชั้นผู้ดีที่เกิดในวังหลัง เมื่อเข้ารับราชการก็เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานเรือนแพ ริมน้ำเจ้าพระยา ตรงท่าช้างวังหลวง ซึ่งเป็นย่านเรือนแพของขุนนาง “ผู้ดี” เป็นศูนย์กลางของข้าราชการที่ทำงานในวังหลวง เป็นถิ่นที่ทรงอิทธิพลและย่อมมีผู้ไปมาหาสู่เสมอ ซึ่งรวมถึงพ่อค้าทั้งภายในและภายนอกที่เป็นชาวต่างชาติ เช่นจีน ฝรั่ง แขก (ชวา-มลายู) เป็นต้น สุนทรภู่ท่านย่อมต้องเคยแลกเปลี่ยนความคิดและรู้เห็นเรื่องราวของต่างชาติมากก็ด้วยเหตุอันนี้
เพลงเดี่ยวแบบใหม่ที่เล่ากันภายหลังว่าเป็นของ ครูมีแขก ก็เริ่มประดิษฐ์ขึ้นในรุ่นราวคราวเดียวกันนี้ เพลงเดี่ยวแบบนี้แปลกออกไปจากขนบเดิมของดนตรีไทย เพราะไม่มีการด้น และผู้เล่นจะต้องจำทำนองให้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง2 ซึ่งเป็นเรื่องยากและก่อให้เกิดบุคลิกภาพส่วนตนของนักดนตรีขึ้นเช่นเดียวกับดนตรีตะวันตก มีความเป็นปัจเจกและมี อัตลักษณ์ของตัว ดังที่สุนทรภู่ท่านเคยอ้างถึงว่า
ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ
สุนทรภู่เองเป็นคนรุ่นเดียวกับครูมีแขก และยังเคยเป็นคนบอกบทละครให้กับคณะนายบุญยังอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านจะรู้จักเพลงดนตรีต่างๆ เป็นอย่างดี ส่งผลให้จินตนาการกว้างไกลสร้างสรรค์พระอภัยมณีที่ใช้ดนตรีเป็นอาวุธ (ดนตรีคือหนึ่งในศิลปศาสตร์ 18 ประการ)
โลกทัศน์ของสุนทรภู่ในเรื่องดนตรีจึงกว้างขวางลึกซึ้ง และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสู้รบที่กระทำผ่านเสียงเพลงของพระอภัยมณีนั้นเป็นแนวคิดว่าด้วย ”สันติภาพ” บอกเล่าถึงการไม่ทำร้ายกันและกัน (ในเชิงสัญลักษณ์) แนวคิดเช่นนี้ในสยามประเทศเมื่อสองร้อยปีก่อนถือเป็นเรื่องพิเศษ
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือแม้จนกระทั่งปัจจุบัน แนวคิดแบบนี้ก็ดูเหมือนจะยังคงเป็นเรื่องพิเศษอยู่
หนังสืออ่านเพิ่มเติม:
อันดามัน สุวรรณภูมิ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ
เอกสาร ประวัติย่อสุนทรภู่ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ (download ได้จาก website: www.sujitwongthes.com)
เชิงอรรถ
1 ซึ่งลักษณะเช่นนี้ตรงข้ามกับภาพสองมิติก่อนหน้า ที่แบนราบ และไม่มีมุมมองเพียงมุมเดียวแบบนี้
2 อย่างไรก็ตาม ผมไม่มั่นใจว่าลักษณะที่ต้องจำโน้ตทุกตัวของเพลงเดี่ยวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมไม่ค่อยเชื่อว่าเพลงทยอยของครูมีแขกที่สุนทรภู่กล่าวถึงจะเป็นไปในลักษณะนั้น และเห็นว่าการที่ต้องท่องจำตัวโน้ตทุกตัวให้ได้นั้น น่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ในขณะที่ “สำนัก” ของครูต่างๆ เริ่มลงหลักปักฐานแล้ว