
“ของ-โขง” จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
แสงดาว ศรัทธามั่น
(๑) ข่าวดีจากเชียงของ
กริ๊ง.. กริ๊ง.. เสียงกริ่งโทรศัพท์ดังกังวาลขึ้น.. “จะชวนไปล่องน้ำโขงกัน ไปนะอ้าย ชวนเพื่อนนักเขียนไปด้วยเน้อ”
…เสียงชวนทางโทรศัพท์ขณะฉันกำลังนั่งอ่านหนังสือที่บ้านเชียงใหม่ “ครูตี๋” หรืออาจารย์นิวัตร ร้อยแก้ว ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์เชียงของโทรฯ มาชวนยามต้นฤดูพรรษา...มีหรือที่ฉันจะปฏิเสธ ฉันรีบยกหูไปหา “อัคนี มูลเมฆ” นักเขียนสารคดีและนักแปลผู้แปลหนังสือ “บ๊อบ มาเล่ย์...ศาสดาขบถ” อันลือเลื่องมาแล้ว ชวน “ไพฑูรย์ พรมวิจิตร” และ “โถ่เรบอ” ไปด้วย คนแรกเป็นกวีนักเขียนแห่งสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนหลังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นชนชาติปกากญอนอกคอกแห่งมูเส่คี...ป่าสนวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ง “อุดร วงษ์ทับทิม” นักเขียน นักแปล “หนุ่ม” นักดนตรี และ “อานุภาพ นุ่นสง” แห่งสำนักข่าวประชาธรรม ฉันชวน “หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง” กวี นักเขียนสารคดี แต่เขาไม่ว่าง...
๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕...เรานั่งรถบัสไปลงสถานีขนส่งเชียงราย... “กิตติ ตรีราช” ครูหนุ่มแห่งโรงเรียนม่อนแสงดาว และเป็นนักดนตรีวง “เดอะรีไซเคิล” เอารถมารับมุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงของทันที ถึงเชียงของยามเย็น...กลิ่นอายแห่งสายน้ำโขงและสายลมต้อนรับเรา เชียงของยังน่าอยู่อยู่แม้ผู้คนจะมากขึ้นตึกรามจะผุดโผล่เพิ่ม เพราะบรรยากาศที่นี่ เย็น นิ่ง ลึก งดงามตามความรู้สึกของฉัน “ครูกิตติ”พาเราไปยัง “Guesthouse Orchid” สำนักของครูตี๋ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำน้ำโขงยิ้มร่าออกมารับเรา เขาปรี่รี่เข้ามาโอบกอดฉันซึ่งมีความสูงแค่ระดับไหล่ของเขา...เขาเป็นนักต่อสู้ นักอนุรักษ์ เป็นน้องชายที่น่ารักงดงามในจิตวิญญาณอีกคนหนึ่งของฉัน
“อ้าย มาลาไม่มาหรือครับ” เขาหมายถึง “อ้ายมาลา คำจันทร์” นักเขียนรางวัลซีไรต์แห่งล้านนา “มาไม่ได้ครับ อ้ายมาลาก็เสียดายมาก แต่อ้ายติดสอนหนังสืออักษรล้านนาที่วัดหาคนแทนไม่ได้” ฉันบอกครูตี๋
ค่ำคืนนี้เราพักที่นี่ กิน ดื่ม เล่นดนตรี ร้องเพลงด้วยความอบอุ่น สนุกสนาน “หนุ่ม” มือกีต้าร์ และ “ครูกิตติ” มือไวโอลิน พลิ้วเพลงกล่อมพวกเราจนค่อนดึก
(๒) สายธาร ผาหิน วิญญาณ
...พวกเรานัดหมายพบกันที่ “ร้านตำมิละ” ตั้งอยู่เคียงข้างน้ำโขง เป็นทั้ง “ร้านอาหาร” และ “เกสต์เฮาส์” ของคุณ วัชระ หลิ่วพงศ์สวัสดิ์และคุณวารุณี ปรีเปรม..คุณวัชระคือนักขี่จักรยานตัวยง ชอบท่องเที่ยวไปทั่วทั้งในและนอกประเทศ ฉันยินดีที่ได้ข่าวว่าเขาจะออกหนังสือที่เขาเขียนยามเที่ยวท่องทางไกล ส่วนคุณวารุณีคือเพื่อร่วมชีวิตของเขา เธอทั้งสองเป็นน้องสาว น้องชายที่งดงาม เอื้ออาทรของของฉันเช่นกัน มาเชียงของเมื่อไรก็ต้องมาเยือนบ้านนี้เกือบทุกครั้งล่ะ
ฉันเคยถามถึงความหมายของชื่อ “ตำมิละ” เขาบอกว่าเป็นชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าที่เคยอยู่ในเมืองนี้มาก่อน ครูตี๋เป็นผู้ประสานงานให้คนเดินทางจากทั่วสารทิศมาพบกันที่ร้านนี้ มีทั้งนักเขียน นักคิด นักหนังสือพิมพ์ และชาวบ้านทุกภาค เรากินอาหารเช้า ข้าวต้ม ชา กาแฟ กันที่นี่...มองลงไปข้างล่างริมลำน้ำโขง เรือยนต์หาปลาของชาวประมงหรือพรานปลามาจอดรอพวกเราอยู่ สายน้ำโขงเอื่อยไหลเรื่อยล่อง...ประเดี๋ยวเถิด ฉันจะให้แม่...แม่น้ำของฉันโอบกอดลูกชายให้ชื่นอกชื่นใจ...ฉันพึมพำในใจ มองแม่น้ำโขงด้วยหัวใจคารวะปีติ
พวกเราช่วยกันขนสัมภาระลงเรือ เราจะล่องทวนน้ำสู่ทิศเหนือ จุดหมายปลายทางคืออำเภอเชียงแสน...เรือยนต์ขนาดเล็ก ๗ ลำพาเพื่อนมนุษย์ตัวน้อยนิดร่วม ๔๐ กว่าชีวิตพุ่งทะยานไปข่างหน้า อากาศเช้านี้เย็นชุ่มฉ่ำ เมฆหนา ไร้แสงแดด ช่างเป็นใจให้คนเดินทางนัก เรือของเรามีแปดคน เป็นนักเขียนที่ชวนกันมาจากเชียงใหม่ รวมทั้งคนขับเรือ ครูตี๋นั่งเป็นแม่ทัพบนหัวเรือ ฉันนั่งหันหน้าไปทางหัวเรือ เรือแล่นเร็วพอประมาณ... ขวามือของเราเป็นชายฝั่งบ้านพี่น้องลาว บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว โอ ! ฉันเห็นผีเสื้อปรบปีกพลิ้วโผบินข้ามน้ำโขง-น้ำของสองฝั่งไปมาหาสู่กัน ดั่งเช่นลาวไทย...พูดให้ถึงที่สุดแล้วในความเป็นจริงย่อมไร้พรหมแดน เพศ สีผิว เผ่าพันธุ์...ธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียวทั้งดิน น้ำ ฟ้า อากาศ ฯลฯ ...นั่น ! นกนางแอ่นหลายตัวบินเล่นลมบนท้องฟ้า บ้างบินเลียดผิวน้ำ เสาะหาแมลง สัตว์ ปลาเป็นอาหาร...ฯลฯ
สายนทีรินหลั่งจากฟ้า แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง...แม่โขงกั้นกลางนั้นบ่สำคัญ
...แต่สองเรานั้นหัวใจเดียวกัน ฯลฯ”
...ฉันฮัมเพลง “ สองฝั่งโขง” ทักทางท้องฟ้า ภูดอย สายน้ำสองฟากฝั่ง ฯลฯ เอื้อมมือโอบกอดแม่น้ำโขงทางกราบเรือ แม่น้ำก็กอดโอบมือฉัน...วักน้ำลูบไล้ใบหน้า เรือนผม ช่างเย็นชื่นฉ่ำนัก
...เรือแล่นไล่ตามกันไปเรื่อย ๆ ตามร่องน้ำลึก ภาพดูช่างงดงาม พวกเราในเรือแต่ละลำหลายคนโบกมือ ร้องเพลงทักทายหยอกล้อกันในหมู่ผู้ที่คุ้นหน้า พรานน้ำโขงขับเรือด้วยความชำนาญ เขาอ่าน-รู้จักร่องน้ำทุกร่อง อ่านหินผา เกาะแก่งอย่างแม่นยำ ฉมังยิ่งด้วยความจัดเจนแห่งการดำรงชีพด้วยรากเหง้าแห่งวิถีชีวิต...ชั่วชีวิต เกาะแก่งหินผาน้อยใหญ่ล้วนเกื้อกูลสัมพันธ์กันทั้งพืช สัตว์ สายน้ำ ฯลฯ เรือพาเราเรื่อยแล่นผ่านแวะสัมผัสเกาะแก่ง หาดทราย...พี่น้องชาวประมงคือ “ครูใหญ่” ที่สอนพวกเราชาวเมือง ชนชั้นกลางให้เข้าใจวิถีชีวิตที่นี่...เรือเราแล่นเรื่อยล่อง ฉันเห็นเรือแจวของคนหาปลาจากอีกฝั่ง เขากำลังพายจ้า
...พายจ้ำ...ภาพดูสงบ สง่างาม “นั่น ! บ่าผาพระ” ครูตี๋ชี้ให้เราดูหินผาที่มีรูปพระแกะสลักมากมาย
“ผาพระนี้ให้สร้างโดยเจ้าอนุวงศ์ ช่วงเดินทัพเพื่อปลดปล่อยลาวจากไทย เจ้าองค์นี้คนลาวเคารพนับถือยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษกู้ชาติของเขานะ มิใช่เป็นกบฎเหมือนที่เราใส่ร้ายป้ายสีเขาทางประวัติศาสตร์” ครูตี๋พูดเสียงดัง หน้าตาขึงขึง... เรือแล่นผ่านหาดทราย ผาหินงามแห่งแล้วแห่งเล่า ฉันเอามือวักน้ำลูบหน้าหลายครั้ง แม่น้ำให้คุณค่าและความฉ่ำชื่นแก่มนุษย์นิรันดร์มา
“เขาจะระเบิดแก่ง ขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่เชียงแสน เชียงของ ถึงเวียงแก่น เพื่ออ้างปรับปรุงเส้นทางเดินเรือและเพื่อการท่องเที่ยว หมดแน่ ๆ เลยครับ วิถีชีวิตวัฒนธรรมคนบ้านเราและลาว”
ครูตี๋บอกพวกเราด้วยเสียงอันดังแข่งกับเสียงเรือยนต์สีหน้า แววตาลูกน้ำโขงที่เกิดที่นี่มีแววกังวล สายตาครูสอดส่องจ้องมองเกาะแก่งหาดทราย แม่น้ำ ฯลฯ สายแล้ว แสงตะวันระบายแรเมฆงดงาม...เพื่อการท่องเที่ยวจริงหรือ ? การท่องเที่ยวต้องไม่ทำลายธรรมชาติอย่างสุดโต่งเช่นนี้...เพื่อการค้า เงินตรา หรือ ? ...เพราะความโลภในวัตถุเงินตราสุดโต่งนี่แหละจิตใจคนเราจึงหยาบกร้านกระด้างลงไปทุกที ๆ... ฉันครุ่นคิดในใจ “หาดฮ้าย ผาฟอง แก่งไก่ ดอนสะเล็ง ผาฟ้า ผาหลัก ที่เราผ่านมา และจะไปถึงที่โดนขุดลอกระเบิดหมด” ครูตี๋พูดตอกย้ำเราพากันส่ายหน้าด้วยความอิดหนาระอาใจ
“โน่นไง ! แก่งไก่” ครูตี๋ชี้มือไปข้างหน้า “ก่อนนี้ไก่ป่าจากฝั่งลาวบินข้ามโขงมาเกาะที่แก่งนี้ แล้วบินมาเที่ยวฝั่งไทย สมัยก่อนไก่ป่าเยอะมาก” พวกเรายิ้ม พยักหน้าฟังด้วยความสนใจ ฉันฟังครูเล่าแล้วอยากใคร่เห็นเป็นบุญตาจังเลย.. เรือแล่นผ่านเกาะแก่งใหญ่น้อย บางช่วงน้ำไหลแรงเชี่ยวกราก.. “น้ำมันฮ้าย” คนเรือบอก หมายถึงว่าน้ำเชี่ยวแรงร้ายมาก ถ้าไม่รู้ร่องน้ำเรือพลิกคว่ำแน่นอน
คาราวานเรือพาเรามาแวะที่ดอนสะเล็ง-ผาฟ้า-ผาหลัก อันกว้างใหญ่ เป็นทั้งดอนทรายและผาสูงตระหง่านฟ้า พี่น้องชาวประมงพาเราขึ้นไปบนผาฟ้าสูงสวยงาม มองเห็นทิวทัศน์ไกล ๆ ของสองฝั่งโขงได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ณ สถานที่แห่งนี้ มีพืชหญ้าที่มีประโยชน์มากทีเดียว พี่น้องชาวเรือเป็นครูให้ความรู้แก่เราอีก.. “นี่ ! เรียกหญ้าไหม เขาเอากินกับน้ำพริก นั่น ! ยอดไคร้ กินกับลาบปลา โหยยยย..อร่อย โน่น ! ต้นไคร้หางนาก เป็นอาหารของปูปลาทุกชนิด พวกปลาจะมาอยู่ในป่าไคร้ก่อนหน้าหนาวและวางไข่ที่ดอนทราย ปลาบางชนิดวางไข่ติดกับใบต้นไคร้” ครูชาวประมงยืนตระหง่าน ฉากหลังเป็นแม่น้ำโขงล่องไหล วิบวับด้วยพรายน้ำ ครู “เล็กเชอร์” ให้คนในเมืองอย่างเราที่นั่งบนก้อนหินฟังด้วยความสนใจ
“หลง”ให้กำเนิด “เตา” *
“หิน”ให้กำเนิด “ไก” **
...วลีนี้ของครูชาวบ้านยังแว่วในหูของฉัน ทุกครั้งที่นึกถึงการเดินทางอันทรงคุณค่าในครั้งนี้...ได้เวลาพอสมควรเรามุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงแสน ไปถึงเห็นเรือสินค้าของจีนระวางขับน้ำประมาณ ๗๐-๘๐ ตัน จอดเรียงรายอยู่ที่ท่าเรือเชียงแสน... จีนนี้เอง ที่เป็นโต้โผภาคีใหญ่จัดประชุมร่วมจีน พม่า ไทย ลาว เมื่อเดือนแห่งวันวาเลนไทน์ ปี ๒๕๔๕ ณ เมืองคุนหมิง เพื่อทำแผนปฏิบัติงานปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงตอนบน โดยรัฐบาลจีนรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้เอง คล้ายเป็นการเปิดทางให้จีน ฯลฯ นำเรือสินค้าและเรือสำราญ (เรือท่องเที่ยว) ขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ ๓๐๐-๕๐๐ ตัน ผ่านสู่เมืองหลวงพระบางได้อย่างสะดวกโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบใหญ่ด้านรากเหง้าวิถีชีวิตของชุมชนทั้งสองฝั่งโขง
เราปีนขึ้นบกกินข้าวกลางวัน พักผ่อนที่นี่..บ่ายแก่ ๆ เรือ พาเราล่องกลับตามลำน้ำโขง ทุกคนดูสดชื่นแจ่มใส ชี้ชวนกันชมวิถีชีวิตสองฟากฝั่ง คนออกหาปลาทั้งลาว-ไทย ฉันเห็นเณรน้อยฝั่งลาวร่วมสิบกว่าคนเล่นน้ำ อาบน้ำกันสนุกสนาน เรามาถึงหาดบ้านดอนที่ ครูตี๋บอกให้พวกเรารอสักครู่ แล้วเขากับชาวประมงสามสี่คนก็บ่ายหัวเรือมุ่งสู่แผ่นดินลาวสักครู่ใหญ่ก็กลับมา “เขาไม่อนุญาตให้เรานอนที่ดอนหาดทรายกลางแม่น้ำ เพราะช่วงนี้มีทหารลาวจากในเมืองหลวงมาพักแรมที่นี่ เจ้าหน้าที่ของลาวเขากลัวมีปัญหา เขาบอกว่าถ้าไม่มีทหารมาก็ไม่มีปัญหาอะไรนอนได้เลย เราก็ต้องเข้าใจเขา ฯลฯ” ครูตี๋อธิบาย ตกลงเราจึงขนของลงหาดบ้านดอนที่ฝั่งไทย
หาดบ้านดอนที่เป็นหาดที่สวยงามมากเช่นกัน ทรายนวลเนียนละเอียด ฉันชอบเปลือยเท้าทักทายแนบชิดหาดทรายนุ่มนวล ช่างอบอุ่นใจนักยามนี้ หาดตั้งอยู่ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ ตรงข้ามกับบ้านน้ำเกิ๋ง แขวงบ่อแก้ว เขตห้วยทราย ลาว...เราเตรียมจัดข้าวของพักกันที่นี่ ช่วยกันหาฟืน ฝ่ายเสบียงช่วยกันเตรียมกับข้าว พี่น้องประมงได้ปลาใหญ่น้อยมา ทั้งปลาค้าว ปลากด ปลาเพี้ย
..มาน้ำโขงถ้าไม่ได้อาบน้ำโขงก็เหมือนไม่ได้มาถึงเต็มร้อย..แล้วหญิงชายสาวหนุ่มใหญ่หนุ่มน้อยพากันแบ่งโซนอาบน้ำกันอย่างม่วนซื่นโฮแซว สนุกสนาน...ส่วนใครอยากจะ “ไปหนักไปเบา” กันก็ตามอัธยาศัย มีห้องสุขาชั่วคราวขุดไว้บริการ ส่วนฉัน ตามเคยถนัดเรื่องไปเดินชมสุมทุมพุ่มไม้ นั่งเก็บดอกไม้ในป่าริมโขง ดูท้องฟ้า ยลสายน้ำ กลางสายลมพัดชวยชื่น อยู่ในเมืองไม่มีโอกาสงดงามเช่นนี้
...อาหารจานเด็ดอร่อยมื้อเย็นคือต้มส้มปลาเพี้ย ปลาค้าว ตลอดจนลาบปลา ฯลฯ โดยฝีมือที่ “เข้าพริก-เข้าเกลือ” ของชาวประมงและแม่ครัว นั่งกินกันตรงชายหาดยามเย็นที่ตะวันกำลังจะลาฟ้า แม่น้ำโขงไหลเรื่อยล่อง วิบ ๆ วับ ๆ ด้วยพรายน้ำยามเย็น...คืนนี้เราก่อกองไฟ จุดเทียน พูดคุย ดื่มกิน เล่นดนตรี ร้องเพลง อ่านบทกวี สนุกสนานอบอุ่นกัน ฯลฯ
อรุณรุ่งเสียงไก่ลาว-ไทยขันส่งทอดรับกันปลุกให้ฉันตื่นขึ้นมาทำธุระส่วนตัวแล้วก่อกองไฟ ต้มน้ำ ผิงไฟ ...หลังอาหารเช้าเรายังคุยกันเรื่องชะตากรรมของแม่น้ำโขง พันธุ์ปลา รากเหง้าวิถีชีวิต ฯลฯ เราเป็นห่วงปลาบึกที่จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะปลาบึกมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ยิ่งตอนนี้ปลาบึกมีปริมาณลดน้อยลง...สายน้ำโขงยังเอื่อยไหล หนุ่ม-ครูกิตติเอากีตาร์และไวโอลินมากรีดสายกล่อมเพลงให้กำลังใจคนเดินทาง สายน้ำ หินผา ปูปลา กุ้งหอย สรรพสิ่งสรรพชีวิต ณ สองฝั่งโขง ฯลฯ
(๓) คืนค่ำ ชื่นเช้า-รมณีย์
คนเดินทางกลับมาพักบ้านครูตี๋ บางส่วนแยกกลับบ้าน รุ่งเช้ากวี นักเขียนกลับเชียงใหม่ ฉันตั้งใจอยู่ต่ออีกคืนเพราะอยากไปเยือนมิตรสหายอีกคนหนึ่ง ครูตี๋พาฉันไปหา “ลุงภพ” พบหน้าเราสวมกอดกัน ลุงภพดีใจมาก “วันนี้ขอม่วนกันหน่อยนะ” ลุงบอก แล้วเราก็ “ม่วน” กันจริง ๆ กินดื่มกันที่แพริมน้ำโขงของลุง แกงปลา ย่างปลาอร่อยนัก ฉันนอนหลับสบายบนแพอันเย็นชื่น...รุ่งเช้าฉันตื่นขึ้นมารำมวยจีนเรียกพลังลมปรานบนชานแพ อากาศสดชื่นเหลือเกิน...นกนางแอ่นและนกเขาทรายออกหากินโบยบินฉวัดเฉวียนบนฟ้าและผิวน้ำ ฉันเก็บภาพนกนางแอ่นที่กำลังบินหลายภาพ และฉันก็ตื่นเต้นระทึกใจยิ่งเมื่อได้แอบถ่ายรูปรังนกนางแอ่นในร่มชายคาที่มุงด้วยหญ้าคาแพลุงภพ ฉันแอบย่องเข้าไปติด
ฝาห่างจากรังประมาณแค่มือเอื้อมถึง ภาพพ่อแม่นกนางแอ่นคาบตัวแมงมาย เหยื่อมาป้อนลูกนกในรังช่างงดงามนัก เป็นบุญตาฉันนัก..
...ฉันลาจากเชียงของราวบ่ายกว่า ๆ ...ลาก่อน กัลยาณมิตร..ลาก่อนกรวดหิน
ดินทราย เกาะแก่ง ร่องน้ำ หินผา ปู ปลา กุ้ง หอย... ลาก่อนแม่น้ำโขงอันหลั่งสายน้ำนมแม่มาจากภูดอยสูงทิเบต-หิมาลัยอันไกลโพ้น หลั่งไหลหล่อเลี้ยงเกื้อวิถีชีวิตสองฝั่ง จีน ม่าน ลาว ไทย กัมปูเจีย เวียดนาม... ลาก่อน ขอจิตวิญญาณสำนึกรับผิดชอบชั่ว-ดีแห่งมวลมนุษยชาติได้ช่วยกันปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติวิถีชีวิตของ “แม่น้ำของ-โขง” ด้วยเทอญ
“หลง” คือพื้นที่ชุ่มนิ่งของสองฝั่งโขง มีความกว้างประมาณ ๕-๑๐ เมตร บริเวณนี้อุณหภูมิจะแตกต่างกับแม่น้ำโขงที่เย็น “หลง” เป็นแหล่งให้กำเนิด “เตา” ซึ่งเป็นตะไคร่น้ำชนิดหนึ่งที่บริโภคได้ทั้งมนุษย์ และเป็นอาหารที่อร่อยของปลา
** “หิน” คือบริเวณหาดหินและแก่งของแม่น้ำโขง เป็นแหล่งกำเนิดของ “ไก” ซึ่งเป็นสาหร่ายชนิด เป็นอาหารอร่อยทั้งของมนุษย์และปลา ฯลฯ
( ข้อมูลจากคุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ แห่งเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจารย์นิวัตร ร้อยแก้ว (ครูตี๋) ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ )
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒ เดือนกันยายน ๒๕๔๕
....................
ประวัตินักเขียน
แสงดาว ศรัทธามั่น
กำเนิด บนดาวโลกดวงนี้เมื่อต้นฤดูหนาวปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นคนล้านนาเชียงใหม่
การศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ (วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภูมิศาสตร์)
จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาชีพ อดีตเคยเป็นครูสอนหนังสือเด็กโรงเรียนบ้านนอก อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รับราชการนานร่วม ๒๘ ปี ลาออกจากครูปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เพราะอยากเดินทาง ท่องเที่ยว เขียน-อ่านหนังสือ และเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อรากเหง้าวิถีชีวิตของแผ่นดิน ฯลฯ
เขียนบทความครั้งแรกชื่อ “ต้นหางนกยูงที่คูเมืองกำลังร้องไห้” ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “คนเมืองสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นชั้นมัธยมต้น ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อเรียกร้องให้เทศบาลเมืองเชียงใหม่ช่วยดูแลรักษาต้นหางนกยูงรอบ ๆ คูเมืองเชียงใหม่ที่ถูกน้ำเซาะตลิ่งล้มลงทีละต้น
...มาเขียนหนังสือค่อนข้างจริงจังบ้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จนถึงปัจจุบัน เขียนทั้งในนามจริงและทั้งในนามปากกานี้ตลอดจนนามปากกาอื่น ๆ และตั้งใจจะเขียนหนังสือจนไม่มีคนอ่าน”
มีผลงารวมเล่มเช่น ความรักที่งดงาม และ ขบถโรมานซ์ ฯลฯ