“๒๐ ปี ผิงดาว...
บทกวีในเสียงเพลงของ ชูเกียรติ ฉาไธสง”

ฝากดอกไม้นานาพันธุ์ ฝากความฝันอันสูงค่า
ฝากรอยยิ้มและน้ำตา ที่หลั่งมาจากหัวใจ
ฝากสายรุ้งที่แพรวพราว ฝากแสงดาวที่แสนไกล
เป็นบทเพลงอ่อนหวาน เป็นสายธารอ่อนไหว
ฝากรักหวานละไม มอบให้เธอ
ให้เธอก้าวไป อย่าไหวหวั่น
จุดหมายร่วมกัน เราฝันใฝ่
ให้โลกนี้งดงาม ด้วยความสุขสดใส
มีรอยยิ้มความเข้าใจ ให้ทุกคน
ปลูกความฝันอันยิ่งใหญ่ แด่ดวงใจทุกดวง
จุดไฟรักให้โชติช่วง ดับไฟลวงเล่ห์มายา
โลกสวยด้วยน้ำใจ เป็นรักใหม่เราขึ้นมา
คืนนี้ถ้าเธอหนาว ร่วมผิงดาวบนฟ้า
จากรัก จากศรัทธา ของเรา
(๒๕๓๒)

เพลง “ผิงดาว” บทประพันธ์ของ ชูเกียรติ ฉาไธสง นักเขียน กวี และนักดนตรีหนุ่มใหญ่จากบุรีรัมย์ ดินแดนอีสาน ที่บรรดาคนหนุ่มสาวในช่วงวัยแสวงหา ต่างคุ้นเคยกับคำร้องทำนองเป็นอย่างดี ลุถึงปีนี้ บทกวีในเสียงเพลงที่ไพเราะสวยงามดังกล่าว มีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว
บทเพลงนี้ นอกจากขับร้องโดยผู้แต่งเอง ยังมีผู้นิยมนำไปขับร้องอีกหลายฉบับ อาทิ ฤทธิพร อินสว่าง, อรวี สัจจานนท์ ฯลฯ โดยเฉพาะมักถูกขับขานในหมู่นักศึกษาหนุ่มสาวจากรั้วสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อออกไปเรียนรู้กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาฯ อันเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจ ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
เส้นทางบทเพลง มีส่วนปลุกปลอบความจริง ความฝัน ความรัก ความหวัง ให้แก่คนหนุ่มสาวหลายต่อหลายรุ่น หลายคนหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จในชีวิตวันนี้ ยอมรับว่าสมัยเรียนหนังสือ เคยมี “ผิงดาว” เป็นหนึ่งในตำนานการเดินทาง

ขอเชิญมิตรรักนักเพลงทั้งเก่าและใหม่ ร่วม “ผิงดาว” ในบรรยากาศรำลึกเล็กๆ ฟังการบรรเลงทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ โดย ชูเกียรติ ฉาไธสง รวมทั้งศิลปินรับเชิญ ร่วมแสดงดนตรี/อ่านบทกวี อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิบูลศักดิ์ ละครพล, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ป่อง ต้นกล้า, จามิกร แสงศิริ, วิลิต เตชะไพบูลย์ ฯลฯ
“๒๐ ปี ผิงดาว...บทกวีในเสียงเพลงของ ชูเกียรติ ฉาไธสง” ได้ฤกษ์รำลึกความหลัง “ร่วมผิงดาวบนฟ้าแห่งรักและศรัทธา” วันเสาร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องออดิทอเดียม ชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน (หอศิลป์ กทม.)
งานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
เพียงเตรียมหัวใจไปขับขานตำนาน “ผิงดาว” ร่วมกัน
ด้วยความขอบคุณจาก
รายการเพลงชีวิต และคนรัก “ผิงดาว”
ชูเกียรติ ฉาไธสง
กวี ป. ๖ หลัง ๑๔ ตุลาฯ ข้ามสะพานภาษาถึง “ผิงดาว”
“เริ่มรู้สึกถึงพลังของบทกวี และบทเพลง ตั้งแต่เรียนชั้น ป. ๖ ที่บุรีรัมย์ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ไม่นาน เมื่อมีเพื่อนของพี่เขย ที่เพิ่งตั้งวงดนตรี คาราวาน มาเยี่ยมที่บ้าน และตั้งวงเหล้า เล่นกีตาร์ ร้องเพลงกัน จึงรู้สึกถึงภาษากวีที่งดงามในบทเพลงนั้นๆ หลังจากนั้น วีระศักดิ์ สุนทรศรี ได้ฝากหนังสือชื่อ ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล มาให้อ่าน ก็ยิ่งประทับใจมากขึ้น โดยเฉพาะบทกวีชื่อ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน และเรื่องสั้นชื่อ เหมือนอย่างไม่เคย”
(ชูเกียรติ ฉาไธสง, จันทร์ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒)
หนึ่ง : “แก้วเปลี่ยนชีวิต”
บางถ้อยคำนี้ มีชีวิตขึ้นในวงกินดื่ม ใครจะเชื่อโดยไม่พิสูจน์ มันเป็นแก้วที่มีอยู่จริง บางคนอาจเริ่มต้นดื่มตอนค่ำแบบเบื่อๆ อยากๆ อ้างหนักนักแต่คืนก่อน ดื่มไปดื่มมา พบจุดเปลี่ยนในชีวิตจากแก้วบางแก้ว ดื่มยื้อลากยาว กระทั่งสามารถนำแสงสว่างสู่ครอบครัวตอนเช้าได้
ชะตาชีวิต โอกาสเป็นเช่นนั้นหาน้อยไม่ ระหว่างการใช้ชีวิต อาจพบจุดเปลี่ยนจากสิ่งผ่านพบ หนังเปลี่ยนชีวิต หนังสือเปลี่ยนชีวิต ดนตรีเปลี่ยนชีวิต บทกวีเปลี่ยนชีวิต เพื่อนเปลี่ยนชีวิต
ในเมืองหลวง ยี่สิบกว่าปีก่อน ผมพบ ชูเกียรติ ฉาไธสง หรือ นกน้อย ในแวดวงศิลปะ คนต่างจังหวัดอีสานบ้านเดียวกัน ต้องชะตากันง่าย เพียงแค่รู้ใครรักชอบสิ่งใด ผมบวชเรียนก่อนสึกออกแสวงหาทางโลก ขณะเขาผ่านโรงเรียนกรุงเทพวิจิตรศิลป์ และวิทยาลัยครูสวนสุนันทา
นกน้อย จึงเป็นทั้งคนวาดรูป คนเขียนหนังสือ คนเล่นดนตรี เครือข่ายเพื่อนของเขามีอยู่หลายวงการ เพื่อนของเขากลายเป็นเพื่อนของผม เพื่อนของผมกลายเป็นเพื่อนของเขาด้วย
จุดเปลี่ยนสำคัญของเขา เกิดขึ้นที่บ้านเกิด บ้านคือทางผ่านของอาคันตุกะหลากหลาย อาคันตุกะมักมาพร้อมแรงบันดาลใจแปลกๆ นั่นเอง บทกวีสำนวนแรกของเขาจึงได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “อธิปัตย์” ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นกวีเรียนชั้น ป. ๖ พูดถึงเรื่องความเกิด ความตาย ความไม่เที่ยง ถัดมาในปี ๒๕๑๙ เรื่องสั้นของเขาได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “โคราชรายวัน”
ณ บ้านเกิดของเขานั่นเอง ชะตาชีวิตลิขิตให้เขามีพี่เขยชื่อ สนาม จันทร์เกาะ ครูศิลปะตัวกลั่น ผู้ซึ่งมีเพื่อนเป็นชาวศิลปะดนตรีมากหน้าหลายนาม แต่ละหน้านามล้วนเป็นตัวแปรหนึ่งของคลื่นสังคม เอ่ยแค่นาม “คาราวาน” ดวงดาวแห่งฟากฟ้าศิลปะดนตรีก็พร่างพรายหลายดวงแล้ว
ปี ๒๕๕๒ สนาม จันทร์เกาะ ได้รับยกย่องเป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดบุรัมย์ สาขาทัศนศิลป์ ขณะน้องเมีย อดีตเด็กชายในบ้านหลังนั้นที่ชื่อ ชูเกียรติ ฉาไธสง ได้รับยกย่องในสาขาวรรณศิลป์
แต่ละแสงสว่างชีวิต ต่างสาดส่องโฉมหน้าชะตากรรมกันและกัน!
สอง : “เมืองหลวง, แด่ยามเย็นอันแสนเศร้า และผิงดาว”
“เขากลัวยามเย็น...โดยเฉพาะยามเย็นยามอยู่เดียวดาย ยามเย็นระงมไปด้วยเสียงภูตผีแห่งความเศร้า ยามเย็นทำให้เขาคิดถึงความตาย ยามเย็นทำให้เขาอยู่กับที่ไม่ได้ ประตูห้องต้องถูกเปิด เขาต้องเดินออกจากห้อง ไปหาเพื่อนสักคน...ดึกดื่นค่อนคืนนั่นแหละถึงได้กลับห้อง...ยามเย็นน่ากลัวสำหรับเขา...ยามเย็นนี่เองที่ทำให้เราพบกันบ่อย...ได้ช่วยกันปลอบโยนเศร้าบางเศร้า หรือเพราะยามเย็นน่ากลัวนี่เอง ตอนหลังนกน้อยจึงย้ายไปเช่าอยู่หอพักเดียวกับผม...หลายยามเย็นอันแสนเศร้า สู่หลายยามเช้าอันแสนสุข หลายครั้งที่ตื่นเช้าขึ้นมาอย่างสดชื่น เราได้ร่วมแต่งเพลงบางเพลง ได้ร่วมอ่านกลอนบางกลอน หรือกระทั่งนำไปสู่การเดินทางด้วยกันไปที่ไหนสักแห่ง...”
หลายปีก่อน ผมเขียนคำนำในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่าด้วย “แด่ยามเย็นอันแสนเศร้า”
เราเดินทางด้วยกันบ่อย กลายเป็นคู่หูไปทุกงาน โยกคลอนชีวิตไปหลายขบวนรถโดยสาร ผมไปบ้านเขา เขาไปบ้านผม เสมอเพื่อนเสมือนญาติ คนเราบทจะพบผูกพัน บางครั้งเริ่มต้นแสนง่ายงาม แรกรู้จักกันนั้น ผมตกรถ ไม่มีค่ารถเมล์กลับบ้าน ภาวนาให้พบคนรู้จักสักคน เดินผ่านร้านเหล้า พบนกน้อยกวักมือเรียก ไม่ต้องบอกหรอก ชีวิตยามนั้นจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีเพียงใด?
“โอ๊ย... ผู้หนึ่งตัวน้อยไว้หนวด ผู้หนึ่งตัวใหญ่ไว้ผมยาว...คือคักแท้”
เด็กร้านลาบข้างถนนพูดขึ้น หลังเฝ้ามองเราทุกยามเย็น ตั้งแต่สมัยยังริดื่มเหล้าดองยา
ระหว่างนั้น เราได้ใช้หัวใจกวี และนักดนตรี ให้กำเนิดเพลง “ฝันบนถนนเปลี่ยว”
“เราจากมา จากขอบฟ้าที่แสนเศร้า เราจะไป สู่ขอบฟ้าแห่งความฝัน เราคนจร ร่อนเร่มาพบกัน ระหว่างคืนและวัน ระหว่างทาง...”
เขาแต่งทำนอง ผมใส่คำร้อง ใช้เวลาสั้นๆ แต่สอดคล้องต้องใจกัน กลายเป็นคำร้องทำนองของความเศร้าสวยงาม เป็นเพลงเล็กๆ ที่ยังขับร้องกันอยู่ในหมู่คนนิยมเพลงของนกน้อย
นกน้อยเป็นคนเศร้าซึ้ง ผลงานของเขาทั้งบทกวี บทเพลง ภาพเขียน สะท้อนความเศร้าชนิด “ฉันฝันว่าฉันตาย” ทั้งยังเขียนสาระชีวิตเชิงวรรณศิลป์ ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นเชื้อไฟฟืนฝันอย่าง สังคม ทองมี ประเทือง เอมเจริญ สุรชัย จันทิมาธร พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ สลา คุณวุฒิ ฯลฯ
สามารถหลายด้าน ทว่าละยึดลดอยากเป็นคนเรียบง่าย ไม่บีบคั้นตัวเอง สมัยหนึ่งร้องเพลงประจำผับ ตามคำขอคอสุรา วันนี้หันหลังให้วิถีเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง เขาอยากร้องเพลงตามใจชอบ ในวงเล็กๆ ในงานเล็กๆ โดยเฉพาะภาพโดดเด่นในสถานการณ์บ้านเมืองเรียกร้องผู้คนเลือกข้างเช่นนี้ เราจะเห็นเขาปรากฏตัวชัดเจนในแทบทุกงาน ข้างๆ กวีเอก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
โชคดี ท่ามกลางจุดเปลี่ยนในกระแสการเมืองเชี่ยวกราก เรายังไม่พรากจากกันทางจุดยืน!
เมื่อพูดถึงนกน้อย ต้องต่อนามสกุล “นกน้อย ผิงดาว” อันเนื่องแต่เพลงไพเราะที่เขาแต่งขึ้นด้วยอารมณ์กวี ซึ่งนอกจากร้องเองแล้ว นักร้องมีชื่อเสียงหลายคนยังนำไปร้องซ้ำหลายรสชาติ
“แต่งบนรถทัวร์ ขณะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นอนไม่หลับ จึงมองดาวผ่านกระจก”
เขาชอบเล่าแรงบันดาลใจของเพลงนี้ ส่วนเหตุใดต้องผิงดาว? ไม่มีฟืนเหลือให้ก่อไฟแก้หนาวละหรือ? เข้าใจว่าเพลง “ผิงดาว” ยังคงรอให้คำตอบอยู่แล้ว ในโลกของบทกวี และบทเพลง
“แก้วเปลี่ยนชีวิต” ใช่แล้วเพื่อน...บางครั้งเราพบแก้วที่ว่านั้น ในห้วงชะตาไม่ต่างกันนัก!
ไพวรินทร์ ขาวงาม
พุธ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๒
เนชั่นสุดสัปดาห์