สยาม กาลครั้งหนึ่ง
ที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” และคำว่า "ภาษา"
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ผมออกจะสงสัยอยู่นานแล้วว่า ก่อนหน้าที่เราจะใช้คำว่า "วัฒนธรรม" ซึ่งเป็นคำผูกใหม่จากภาษาสันสกฤตเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 7 เราไม่มีคำอื่นใดใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษคำว่า "culture” อย่างที่ใช้แปลกันอยู่ในความหมายปัจจุบันเลยหรือ?
ท่านผู้อ่านที่รู้ทางประวัติศาสตร์อาจจะจดจำได้ว่า แต่เดิมมีคำที่ใช้แปลศัพท์คำว่าculture อยู่อีกคำหนึ่งว่า "พฤฒิธรรม" แต่ก็เป็นคำที่ผูกขึ้นใหม่ในช่วงไล่เลี่ยกับคำว่า วัฒนธรรม นั่นแหละ
น่าสนใจว่า คำว่า "วัฒนธรรม" ซึ่งผมขอแปลจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตด้วยตนเองตามปัญญาน้อยนิดที่มีติดตัวอยู่บ้างว่า หลักการ หรือหน้าที่ที่นำไปสู่ความเจริญ ในขณะที่คำว่า "พฤฒิธรรม" หมายถึง หลักการ หรือหน้าที่ที่มีการปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์
ท้ายสุดก็อย่างที่ทราบกันว่า เราเลือกที่จะใช้คำว่า วัฒนธรรม มากกว่า ส่วนคำว่า พฤฒิธรรม ก็ค่อยเลือนหายไปจนเกือบจะไม่ใคร่มีใครใส่ใจจดจำกันนัก จึงไม่น่าประหลาดใจอันใดเลยว่าในสมัยหนึ่ง คำอธิบายตามหลักสูตรการศึกษาในระดับชั้นมัธยมจะแปลความหมายของคำว่า วัฒนธรรม (ที่หมายถึงการแปลความหมายมาจากศัพท์คำว่าculture มากกว่าความหมายจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤตเอง) ในทำนองที่ว่าคือ ประเพณีอันถูกต้องดีงาม ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนคำอธิบายที่ว่านี้ไปบ้างหรือเปล่า เพราะไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดนัก
การให้ความหมายคำว่า วัฒนธรรม (culture) อย่างที่ว่านี้ดูจะผูกโยงอยู่กับความหมายของคำว่า "culture" ตามอย่างลัทธิโรแมนติคสกุลอังกฤษ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่หมายถึง อารยธรรมในอุดมคติของมนุษยชาติ อันมีความหมายไปในเชิงบวก เช่นงานของ Matthew Arnold (ค.ศ. 1822-1888) นักคิด และนักวิจารณ์สังคมชาวอังกฤษ ซึ่งใช้งานคำว่า culture ในบทกวีความหมายของเขาว่า หมายถึงอุดมคติอันสูงสุดของมนุษย์ สำหรับในกลุ่มความคิดแบบนี้แล้วคำว่า culture คือคู่ตรงข้ามของ สภาวการณ์ที่ไร้ระเบียบแบบแผน
แนวคิดอย่างที่ว่านี้คงจะพัฒนามาจากนิยามของคำว่า culture ในยุโรปที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น เช่นในงานของ Thomas Hobbes (ค.ศ. 1588-1679) หรือ Jean-Jacque Rousseau (ค.ศ. 1712-1788) ที่อธิบายความหมายของคำว่า culture คู่ตรงข้ามกับ สภาวการณ์ตามธรรมชาติ ความหมายของ culture อย่างที่ว่านี้ดูจะทับซ้อนอยู่กับคำว่า civilization จึงไม่น่าจะประหลาดใจเลยที่แนวคิดอย่างที่ว่านี้จะแบ่งแยก culture ออกเป็น high culture กับ low culture
อย่างไรก็ดี การให้ความหมายอย่างที่ว่านี้ ดูจะอยู่ผิดทิศผิดทางกับเจ้าของอำนาจการอธิบายความคำว่า วัฒนธรรม (culture) ตัวจริงในช่วงตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อย่างสายมานุษยวิทยา ที่มีกระบวนการคิด และทำงานเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ รวมถึงมนุษย์เอง ซึ่งเริ่มมีการอธิบายความหมายของคำว่า culture แตกต่างออกไป
ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา “culture” กลายเป็นคอนเซ็ปต์โดยรวมของการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทางฟากอเมริกันได้นิยามความหมายของ culture ในทำนองที่หมายถึง ขอบข่ายความเป็นสากลของมนุษย์ (กลุ่มหนึ่งๆ) ที่สามารถจำแนก ถอดรหัส และสื่อสารต่อบุคคลอื่น ด้วยระบบสัญลักษณ์ต่างๆ จากประสบการณ์เฉพาะของแต่ละชุมชน การนิยาม culture ทำให้นักมานุษยวิทยาสายอเมริกัน จำแนกพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับ culture ออกเป็นสี่แขนงหลัก ได้แก่ มานุษยวิทยากายภาพ ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และโบราณคดี
culture ในความหมายอย่างใหม่นี้ดูจะสอดคล้องกับคำว่า พฤฒิธรรม มากกว่าคำว่า วัฒนธรรม เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักการแห่งความเจริญใดๆ ทั้งสิ้น และโปรดอย่าลืมว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นตรงอยู่กับช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเก่าแก่ก่อนที่จะมีการบัญญัติทั้งคำว่า พฤฒิธรรม และวัฒนธรรม
ดังนั้นคำว่า "วัฒนธรรม" จึงเป็นตัวแทนของ “culture” ในความหมายอย่างเก่าของพวกยุโรป มากกว่าที่จะหมายถึง หลักการ หรือหน้าที่ที่จะนำไปสู่ความเจริญ ตามความหมายอย่างรากศัพท์ เพราะความหมายของคำว่า culture นั้นยังสัมพันธ์กับภารกิจของคนขาวในยุคล่าอาณานิคมอย่างแยกขาดกันได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การตัดสินของพวกยุโรปที่เข้าไปรุกรานแหล่งอาศัยของพวกอเมริกันอินเดียน โดยถือว่าตนเองมีอารยธรรม (civilization) ที่สูงส่งกว่า บาทหลวงชาวยุโรปบางคนยังถือว่าชาวพื้นเมืองเหล่านั้นไม่ใช่ "มนุษย์" เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้นเองเสียด้วยซ้ำ
ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ในระยะแรกจึงมีลักษณะที่ค่อนข้างฉาบฉวย เพราะหมายถึงเฉพาะ ความรู้ กิริยามารยาท และธรรมเนียมอย่างตะวันตกมากกว่าที่จะหมายถึง พฤติกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ระบบสัญลักษณ์ ความเชื่อ ฯลฯ ของพื้นเมืองสยาม หรืออุษาคเนย์ แม้ว่าในปัจจุบันจะเกิดการขยายตัวของความสนใจในเรื่องวัฒนธรรมขึ้นมาก แต่ก็ยังคงอยู่ในแวดวงของการศึกษาทางวิชาการ มากกว่าจะขยายความเข้าใจไปสู่แวดวงอื่น ดูตัวอย่างสุดคลาสลิคได้จากกรณี "โจรกระจอก" ในสมัยรัฐบาลของคุณทักษิณ ที่มองปัญหาทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ว่าเป็นเพียงเรื่องของโจรกิ๊กก็อก เป็นต้น
รากเหง้าของภัยพิบัติเรื่องความเข้าใจใน วัฒนธรรม นี้ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน และหาดูได้ทั่วไปจาก งานอีเวนต์ที่ ททท. อ้างถึงความดีงามวัฒนธรรม โบราณสถาน หรือมิวเซียมที่พยายามสืบรากความเก่าแก่ให้คนไทย โดยที่ไม่เหลือหน้าที่ใช้งานเดิมที่คนในบริเวณโยดรอบชุมชนสามารถจะจินตนาการตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพราะคนในชุมชนโดยรอบเป็นเพียงพวก low culture ต่างกับโบราณสถานที่เป็น "ซากปรักหักพัง" ของ high culture ในอดีต คนในชุมชนโดยรอบจึงไม่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในชุมชนมากไปกว่า สถานที่ราชการอันแตะต้องมิได้ หรือไม่อาจเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับงานเฟสติวัลปาหี่ที่ ททท. ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่
ผมเข้าใจเอาเองว่า ก่อนที่เราจะประดิษฐ์คำว่าวัฒนธรรมขึ้นมาใช้ เราคงใช้คำอื่นในการอธิบายถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ความเชื่อของกลุ่มชนที่แตกต่างกันด้วยคำเก่าที่แตกต่างออกไป และแน่นอนว่าคงเข้ากันไม่ได้กับจริตของคำว่า culture ในภาษาอังกฤษ (อย่างน้อยที่สุดก็คงต่างออกไปในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐเจ้าอาณานิคม กับผู้ถูกล่า)
ในนิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
คำว่า "ภาษา" ในที่นี้สัมพันธ์กับ "มอญ" ในวรรคข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ก็อธิบายศัพท์คำนี้นอกเหนือที่หมายถึง การสื่อสารด้วยการพูด หรือเขียน โดยอ้างอิงจากพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3ไว้ว่า "คนหรือชาติที่พูดภาษานั้นๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา"
“ภาษา" ในบทกลอนของสุนทรภู่ ยังชวนให้ผมนึก ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือหนังสือนางนพมาศ ซึ่งอาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 ที่แบ่งแยกคนกลุ่มต่างเป็น "ชาติภาษา" ไม่ใช่ เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์อย่างศัพท์วิชาการสมัยใหม่ และยังทำให้นึกถึงประโยคเก่าๆ ที่อธิบายความรุ่มรวยของอยุธยาว่า อยุธยาเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่มีผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากมายถึง 12 ภาษา เป็นต้น
ในภาษามลายู มีคำว่า “bahasa” ซึ่งก็แปลว่า "ภาษา" นั่นแหละ เพราะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตเหมือนกัน ที่น่าสนใจคือเมื่อเติมคำว่า "ber-” เข้าไปข้างหน้าจะมีความหมายว่า มีภาษา สุภาพ มีวัฒนธรรม หรือเมื่อเติม "per-” หรือ “per-,-an” เข้าไปก็จะแปลว่า ภาษิต มารยาทที่ดี หรือความสุภาพ ในกรณีภาษาจึงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชั้นสูง (ซึ่งเกี่ยวโยงอยู่กับอำนาจ) อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งที่โดยรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตคือ "ภาษ" แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมเนียม มารยาท หรือวัฒนธรรมใดๆ เลย เพราะแปลว่า การพูด หรือการกล่าว เท่านั้น
น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า คำว่า "ภาษา" ปรากฏอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมลายู เขมร และไทย (ตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมา?) ทั้งหมดนี้ล้วนสะกดด้วย "ษ" ตามอย่างภาษาสันสกฤต ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ และพุทธแบบมหายาน ไม่ใช่ "ส" ตามอย่าง "ภาส" ในภาษาบาลี ที่มีความหมายเดียวกัน แต่สัมพันธ์อยู่กับกลุ่มพุทธศาสนาเถรวาท ในขณะที่กลุ่มภาษาที่นับถือพุทธเถรวาทยังมีคำพื้นเมืองใช้เรียกตามอย่างดั้งเดิมของตนเอง เช่น คำว่า "อะเร่" ในภาษามอญ และคำว่า "ปาก" ในภาษาตระกูลไท(ย)-ลาว เป็นต้น
ลักษณะอย่างนี้คงแสดงให้เห็น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และเครือข่ายทั้งทางด้านการค้า และญาติวงศ์อย่างไม่ต้องสงสัย "ภาษา" ในที่นี้ยังน่าจะเกี่ยวพันถึงความรู้ใหม่ ซึ่งคงจะเกี่ยวพันกับเครือข่ายของศาสนาพุทธมหายาน หรือพราหมณ์จากชมพูทวีปอยู่อีกด้วย
คำว่า "ภาษา" ที่ไม่ได้หมายถึงการสื่อสาร แต่หมายถึงกลุ่มชน จึงหมายถึงชาติพันธุ์กิ๊กก็อกก็ไม่ได้ เพราะแสดงถึงเครือข่ายเชิงอำนาจ ดูชาติภาษาต่างๆ ในการละเล่นเพลงสิบสองภาษาเป็นตัวอย่างได้อย่างดี
วิธีการจำแนกกลุ่มคน (ซึ่งเกี่ยวพันอยู่กับวัฒนธรรม (culture) อย่างแยกไม่ออก) ระหว่างพื้นเมืองอุษาคเนย์ กับชาติตะวันตกยุคอาณานิคมจึงแตกต่างกันจนไม่สามารถถ่ายทอดความหมายแทนกันได้ เพราะคำว่า "ภาษา" ยังมีความหมายหลักอีกอย่างว่า การสื่อสาร ในขณะที่รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า culture มาจากคำว่า cultura ในภาษาละติน ที่หมายถึงการทำเกษตรกรรมอย่างที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเป็นแบบแผน ความเข้าใจเรื่อง วัฒนธรรม (culture) ของชาวสยามจึงกระโดกกระเดกมาตั้งแต่ชั้นต้น เพราะไม่ใช่เรื่องที่ตรงกับธรรมชาติ หรือโลกทัศน์ของเราเลยแม้แต่น้อย
วัฒนธรรมแบบไทยๆ (โดยเฉพาะกิจกรรม และการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม )จึงฉาบฉวย และไม่มีรากเหง้า เพราะเราเอาแต่ลอกวิธีการของฝรั่ง โดยไม่ได้พยายามทำความเข้าใจในวิธีคิดทั้งของฝรั่งเอง และของเราด้วยแม้แต่น้อย

คำบรรยายภาพ
Matthew Arnold (ค.ศ. 1822-1888)