ReadyPlanet.com
dot dot
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”

200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้” (A House divided against itself cannot stand)

 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ[1]
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 หากถามคนที่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่าใครคือเอบราแฮม ลิงคอล์น ร้อยละ ๘๐ น่าจะตอบได้ว่าเขาคือใคร แต่ถ้าถามว่าแล้วใครคือมาร์ติน แวน บิวริน (Martin Van Buren, 1782 –1862)หรือ ทูสแซงต์ ลูเวอร์ตู Toussaint-Louverture 1743–1803) ร้อยละ ๙๙.๙ คงตอบไม่ได้ เหตุที่ผู้คนจำนวนมากรู้จักว่าเอบราแฮม ลิงคอล์น (เขียน ลินคอล์นแต่ออกเสียงลิงคอล์น[2]) คือใคร เนื่องมาจากกระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนล่าสุดคือนายบารัค โอบามา ผู้เป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน(พ่อ)และอเมริกัน(แม่)หรือเรียกกันทั่วไปในสหรัฐฯว่าคนแอฟริกันอเมริกัน (ก่อนนี้เรียกว่าคนผิวดำ อเมริกันผิวดำและแอฟโฟรอเมริกัน ถอยไปสมัยระบบทาสเรียกนิโกรและคนผิวสี)[3] และได้รับชัยอย่างชนะขาดลอย ตลอดเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นายโอบามาพูดและเปรียบการต่อสู้ทางการเมืองของเขากับของอดีตประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ คือเอบราแฮม ลิงคอล์นผู้เป็นประธานาธิบดีที่ประกาศเลิกทาส(ผิวดำ)ในสหรัฐฯโดยสิ้นเชิงมากที่สุด   ในหลายๆสุนทรพจน์ของโอบามาเอง ก็อ้างถึงความคิด วาทะและวรรคทองหลายอันของลิงคอล์น ทั้งนี้เพราะทั้งสองคนต่างถูกโจมตีจากคู่ต่อสู้ในประเด็นเรื่องเชื้อชาติและการเหยียดผิวมาตลอด กระทั่งเมื่อได้รับชับชนะในการเลือกตั้งแล้ว วันที่โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการนั้น อันเป็นวันรับตำแหน่งที่ตื่นเต้นและมีคนเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อ ไม่เฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้น หากยังทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย บารัค โอบามากล่าวสาบานตนต่อหน้าประธานศาลสูงสุด ยกมือข้างขวาขึ้นขณะกล่าวสาบาน ในขณะที่วางมือซ้ายลงบนคัมภีร์ไบเบิล เป็นคำสัญญาต่อพระเจ้า(ของคริสเตียน)ด้วย ไม่ใช่ต่อศาลและประชาชน ที่สำคัญและต้องถือว่าเป็นการใช้สัญลักษณ์อย่างเต็มที่ในงานนี้ ก็คือ คัมภีร์ไบเบิลเล่มเก่านั้นเป็นไบเบิลเล่มเดียวกันกับที่ลิงคอล์นใช้ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเหมือนกัน
                นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้ว ที่ทำให้ชื่อและฐานะของประธานาธิบดีลิงคอล์นได้รับการเอ่ยถึงและตอกย้ำในหลายวาระทางการเมือง อีกวาระคือปีคศ. ๒๐๐๙ เป็นปีแห่งการครบชาตะกาลสองศตวรรษของลิงคอล์น (อีกคนหนึ่งที่ครบชาตะกาลสองร้อยปีเหมือนกันคือชาร์ลส ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่นำไปสู่การสร้างทฤษฎีชีวศาสตร์(life sciences) ที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงตรรกของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) ประการสุดท้าย สำหรับคนไทยผู้คุ้นเคยและอ่านประวัติศาสตร์ไทยมากหน่อย มักจะเคยได้ยินตำนานเรื่องประธานาธิบดีลิงคอล์นปฏิเสธช้างไทย ที่พระเจ้ากรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรับสั่งให้ส่งช้างไปช่วยประธานาธิบดีลิงคอล์นรบกับพวกกบฏฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง ในความเป็นจริงพระราชสาน์นฉบับนั้นส่งไปในสมัยประธานาธิบดีบูแคนัน และไม่ได้บอกว่าจะให้ไปช่วยรบในสงครามกลางเมือง เพียงแต่จะให้เป็นของขวัญสำหรับประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา ที่ไม่มีช้างในประเทศ กล่าวโดยสรุป ชื่อและความสำคัญของประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์นนั้นมีอยู่ค่อนข้างมากในวงการนักอ่านไทย อาจจะมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนอื่นๆด้วย
                ภาพลักษณ์และฐานะของลิงคอล์นในความรับรู้ของคนอเมริกัน
                กล่าวได้ว่าในสหรัฐฯเองก็เหมือนกันกับผู้คนทั่วโลก คนอเมริกันส่วนมากรู้จักประธานาธิบดีลิงคอล์นมากกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ ยกเว้นประธานาธิบดีคนแรกคือจอร์จ วอชิงตัน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องและสถาปนาให้เป็นเสมือนเทพไป เพราะเป็นประธานใน “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ” จึงไม่อยู่ในฐานะที่ประธานาธิบดีคนต่อๆมาคนไหนก็ตามที่จะไปเปรียบเทียบได้ คุณสมบัติอันสำคัญที่คนอเมริกันซึมซับและถือเป็นภาพลักษณ์หรือยี่ห้อของประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์นได้แก่ความซื่อสัตย์ อันเป็นคุณธรรมของสามัญชน และความสามารถในการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยสองแขนและสองขากระทั่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศคือประธานาธิบดี ตำนานการสร้างตัวและความสำเร็จของคนธรรมดา (คล้ายกับตำนานเสื่อผืนหมอนใบของเจ้าสัวในเมืองไทย) จริงๆแล้วตำนานทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียวในสหรัฐฯ คนจนๆที่ไม่มีฐานะและครอบครัวแล้วประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีเป็นนักธุรกิจและฯลฯก็มีหลายคน แต่ที่ลิงคอล์นแปลกและใหม่ไม่เหมือนสามัญชนคนอื่นๆที่มีชื่อเสียงหลายคน ได้แก่การที่เขาสามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งอันสูงสุดของสหรัฐอเมริกา นั่นคือตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีทั้งอำนาจและเกียรติยศความยิ่งใหญ่ตามฐานะของประเทศ ทั้งหมดนั้นเขาได้มันมาในเวลาเพียงไม่กี่ปี เป็นการก้าวขึ้นสู่ฐานะอันสูงส่งสุดยอดของคนที่ไม่มีอะไรเลยได้ในเวลาอันสั้น ตรงนี้เองที่ทำให้ตำนานและความสำเร็จของลิงคอล์นไม่เหมือนใครและก็ยากที่จะหาใครรุ่นต่อๆมาทำได้อีก
อีกข้อในจินตนาการภาพประธานาธิบดีลิงคอล์นของคนอเมริกัน คือภาพประทับของคนที่เคร่งในคำสอนของชาวคริสเตียน เขามักยกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลหรือคำสอนที่คุ้นกันทั่วไปมาใช้ในการพูดทางการเมืองของเขา กล่าวในสำนวนสมัยใหม่ ลิงคอล์นเป็นนักการเมืองคนแรกๆที่ใช้กลยุทธเดิน แนวทางมวลชน ด้วยการใช้คติความเชื่อแบบชาวบ้านมาอธิบายจุดยืนและความหวังทางการเมืองของเขา อย่างง่ายๆแต่กลายเป็นคำพูดติดปากผู้คนอเมริกันไปในเวลาอันรวดเร็ว เช่นสุนทรพจน์ในวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ ๒ เขาอ้างภาษิตคริสเตียนว่า ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ทำแต่กุศลให้คนทั้งปวง(with malice towards none and charity for all)เมื่อขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ เขายอมรับมันอย่างหน้าตาเฉย ไม่ตีโพยตีพาย แม้ถูกเล่นงานจากคู่ต่อสู้อย่างไม่เป็นธรรมนักก็ตาม เขากล่าวเพียงว่าอนาคตนั้นไม่แน่นอน พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ เขาจึงต่างจากนักการเมืองนักหาเสียงที่ไม่ใช้คำโฆษณาเหนือความจริงหรือปลุกระดมมวลชนให้เชื่อในจุดหมายที่เขาจะพาไป ความที่ลิงคอล์นทำตัวเป็นชาวคริสเตียนที่ดีแม้เป็นผู้นำการเมืองก็ตาม ทำให้คนเปรียบเขากับพระเยซู กล่าวว่า ลิงคอล์นเป็นคนที่มีบุคลิกอันยิ่งใหญ่ นับแต่พระเยซูมา เป็นการเปรียบเทียบที่ยากจะเปรียบ คงหานักการเมืองน้อยคนหรือแทบไม่มีเลย ที่จะเอามาเปรียบเทียบกับพระเยซูได้ (ลองคิดดูว่าหากจะเปรียบนักการเมืองและผู้นำการเมืองไทยสักคนว่าเหมือนหรือยิ่งใหญ่เท่ากับพระพุทธเจ้า จะมีไหม? ในอดีตเปรียบพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเสมือนพระพุทธเจ้าในโลก แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่ นักการเมือง หรือ ผู้นำการเมืองในระบบสมัยใหม่)
ประการสุดท้าย เป็นการตีความและให้คำวินิจฉัยโดยนักประวัติศาสตร์อเมริกันคนสำคัญผู้ล่วงลับไปแล้วคือ ริชาร์ด ฮอฟสแตดเตอร์ (Richard Hofstadter, 1916-1970) เขาให้น้ำหนักในคุณลักษณะทางจริยธรรมของลิงคอล์นอย่างสูง โดยกล่าวว่า ไม่มีใครที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างรวดเร็วแต่ก็ยังรักษาความเรียบง่ายนั้นอยู่ได้อย่างสูงส่ง ไม่มีใครที่สามารถประสานความสำเร็จในการได้อำนาจให้เข้ากับความตระหนักรู้ถึงความเป็นมนุษย์และความรับผิดชอบทางจริยธรรม (none has maintained so completely while scaling the heights the aspect of extreme simplicity; and none has combined with the attainment of success and power such an intense awareness of humanity and moral responsibility)[4]  
มองย้อนกลับไป ผมคิดว่าความสำเร็จและความล้มเหลวของระบบการเมืองในประเทศหนึ่งๆ  เป็นผลลัพธ์อันต่อเนื่องมาจากการนำของผู้นำและนักการเมืองในยุคก่อนๆ กับเป็นผลรวมของ ประสบการณ์และคุณลักษณะของผู้นำการเมืองยุคก่อนเหล่านั้นอันจะมีผลต่อการสร้างและพัฒนาพฤติกรรมของระบบการเมืองในเวลาต่อมาด้วย การก้าวขึ้นมาสู่การเป็นผู้นำการเมืองสูงสุดของเอบราแฮม ลิงคอล์นต้องถือว่าเป็นความโชคดีอันมหาศาลของสหรัฐฯ เพราะเขาจะเป็นตัวแทนของคนอเมริกันจากรากหญ้าผู้นำเอาตำนานและความเป็นสามัญชนเข้าไปในทำเนียบขาวและใช้มันอย่างได้ผล ในแง่นี้ลิงคอล์นจึงเปรียบเสมือนผู้นำในอุดมคติของทุกสังคม  ตอกย้ำความเชื่อและคติอเมริกันว่าคนรากหญ้าสามัญชนนั่นแหละคือผู้สร้างและรักษาระบบประชาธิปไตยในอเมริกาให้ยั่งยืนและวัฒนาต่อไป (อันตรงข้ามกับความเชื่อและประสบการณ์ทางการเมืองไทย) 
 ลิงคอล์นทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีสามารถผสานความเป็นสามัญเข้ากับความยิ่งใหญ่ในอำนาจ ระหว่างคุณธรรมสามัญชนเข้ากับคุณธรรมผู้นำการเมืองระดับโลกได้  เขาไม่ได้แปรเปลี่ยนคุณสมบัติของสามัญชนไปเป็นแบบชนชั้นนำทางอำนาจ หากแต่ยืนหยัดรักษาคุณสมบัติอันธรรมดาเหล่านั้นไว้ตลอดเวลา และยกมันขึ้นให้สูงเด่นอีกด้วย ลิงคอล์นจึงเป็นประธานาธิบดีคนแรกและอาจเป็นคนสุดท้าย ที่สร้างความตระหนักรู้ในคุณธรรมของสามัญชนตลอดเวลาที่อยู่ในอำนาจสูงสุด และแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในจริยธรรมที่เขาเชื่อและปฏิบัติอย่างสูง จึงกล่าวกันว่า ตำนานเสื่อผืนหมอนใบของประธานาธิบดีลิงคอล์นนั้น ไม่ได้ถูกสร้างและเขียนขึ้นมาโดยนักเขียนรุ่นหลังๆ หากแต่มันได้รับการจารึกและถ่ายทอดต่อมาอย่างมีพลังโดยตัวของลิงคอล์นเอง ด้วยการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างนับแต่วันแรกที่เขาย่างก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองประชาธิปไตยในอเมริกา
ครอบครัว[5]
ประวัติของบุคคลสำคัญจะต้องเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงครอบครัวและตระกูลของบุคคลนั้นๆ ตามประเพณีทั่วไป ยิ่งคนสำคัญระดับผู้นำประเทศ การรู้จักต้นตระกูลและครอบครัวอันมีชื่อเสียงเป็นเครื่องประกันในความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของบุคคลนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ แม้สหรัฐฯจะก่อตั้งขึ้นมาเป็นสาธารณรัฐ(แปลว่าไม่มีกษัตริย์เป็นประมุข) และจงใจไม่ยอมให้เกิดขนบธรรมเนียมและประเพณีทางสังคมและการเมืองที่เป็นการดำเนินรอยตามระบบกษัตริย์และขุนนางแบบฟิวดัลหรือศักดินาในยุโรปก็ตาม เช่นไม่เรียกประธานาธิบดีด้วยคำที่แสดงถึงฐานันดรและฐานะอันสูงเหนือกว่าประชาชนผู้เป็นพลเมือง คือไม่เรียกว่า ฯพณฯ (อ่านว่าพะณะหัวเจ้าท่านจอร์จ วอชิงตัน) หากแต่ให้เรียกเพียงว่า มิสเตอร์เพรสซิเดนท์ หรือนายประธานาธิบดีวอชิงตัน คือเป็นพลเมืองอเมริกันคนที่หนึ่ง เพราะตอนทำการปฏิวัติเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ผู้นำการปฏิวัติประกาศเอกราชด้วยถ้อยคำว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเป็นพันธกิจที่ผู้นำการเมืองอเมริกันจากนั้นมาที่ต้องยึดถือหลักความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนในประเทศ รวมทั้งผู้นำสูงสุดด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงประวัติครอบครัว ทุกคนก็ยังอยากรู้ว่าแล้วลิงคอล์นสืบทอดตระกูลมาจากไหนพ่อแม่ทำอะไรมีทรัพย์สมบัติมากไหม
พอถามถึงประวัติพ่อแม่ ลิงคอล์นก็อึดอัด เขาไม่ยอมตอบคำถามนี้ตรงๆและเล่าเรื่องให้ฟังเหมือนผู้นำคนอื่นๆ หากพอใจที่จะพูดถึงสั้นๆและไม่ให้รายละเอียดอะไรมากเลย  ในปีคศ. ๑๘๖๐ เมื่อลิงคอล์นได้รับเลือกจากพรรครีพับลิกันให้เป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับพรรคเดโมแครต ในเวลานั้นไม่มีใครรู้จักว่าลิงคอล์นคือใคร นักข่าวและนักเขียนหนังสือพิมพ์พากันวิ่งฝุ่นตลบเพื่อหาข้อมูลและรายละเอียดต่างๆของผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันคนนี้ให้ได้ อย่างมากที่พวกเขาพอรู้ๆกันคือ ลิงคอล์นมาจากรัฐอิลลินอยส์ เคยเป็นสมาชิกสภาคองเกรส(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) หนึ่งสมัย เคยเข้าแข่งรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของอิลลินอยส์กับสตีเฟน ดักลัสแห่งเดโมแครต แล้วก็แพ้ไป กระทั่งมาปรากฏชื่ออีกครั้งในการรณรงค์ตำแหน่งประธานาธิบดี กระทั่งหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกชื่อเขาก็ยังผิด โดยเรียกว่า เอแบรม(Abram)
เอบราแฮม ลิงคอล์นเกิดในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ คศ. ๑๘๐๙ ในรัฐเคนตักกี้ พ่อของลิงคอล์นชื่อธอมัส ลิงคอล์น เป็นชาวไร่และช่างไม้ที่มีฝีมือที่ชาวบ้านยอมรับ ตอนเป็นเด็ก ลิงคอล์นช่วยพ่อปลูกข้าวโพดและฟักทองในไร่ หากค้นหาประวัติกลับไปได้ความว่าตระกูลลิงคอล์นอพยพมาจากอังกฤษแล้วมาตั้งรกรากในอาณานิคมแมสซาชูเสตส์ในปี ๑๖๓๗ แรกเริ่มนั้นตระกูลลิงคอล์นเป็นพวกเควกเก้อร์ ต่อมาค่อยๆลดระดับลงจนไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มอีกต่อไป จากนั้นอพยพจากเพนซิลเวเนียไปยังเวอร์จิเนีย พอถึงรุ่นธอมัสเขาอพยพไปทำไร่ในเคนตักกี้ซึ่งเป็นรัฐใหม่  ที่นี่เขาพบกับหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง คาดว่าคงกำพร้าพ่อแม่เพราะอยู่กับผู้ปกครองดูแลแทน
แม่ของลิงคอล์นชื่อแนนซี่ แฮงคส์ (Nancy Hanks) มีคนอ้างว่าดาราฮอลลีวูดคนดัง ทอม แฮงคส์ก็เป็นญาติข้างแม่ของลิงคอล์นด้วยเหมือนกัน ประวัติแนนซี่เป็นเรื่องที่ลิงคอล์นไม่อยากพูดถึงมากที่สุด กล่าวกันว่าแนนซี่ไม่รู้หนังสือ เธอสอนลูกๆให้อ่านและเขียนไม่ได้ แต่สิ่งที่เธอทำในการสั่งสอนลูกๆก็คือการสอนจากข้อความที่จำมาจากคัมภีร์ไบเบิล เป็นไปได้ว่าข้อความจำนวนมากจากไบเบิล ลิงคอล์นคงจำมาจากการอบรมสั่งสอนอย่างเข้มงวดของแม่นั่นเอง ประวัติของแนนซี่จบลงเพียงแค่นี้ ไม่มีอะไรให้พูดถึงเกี่ยวกับพ่อแม่ของเธอ ข่าวลือของชาวบ้านพูดกันว่า แม่ของแนนซี่ชื่อลูซี่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าพ่อคือใคร เลยเดากันว่าแม่ของแนนซี่คงไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมคริสเตียน หากแต่มีลูกนอกสมรส เชื่อกันว่าลิงคอล์นก็รู้ว่าแม่เขานั้นเป็นลูกนอกสมรส จึงไม่อยากให้ใครพูดหรือถามถึงเรื่องแม่
เป็นอันว่าประวัติครอบครัวของลิงคอล์นนั้นเป็นประวัติของคนรากหญ้าสามัญจริงๆ ไม่ได้สวยหรูและร่ำรวย มีเชื้อผู้ดีแปดสาแหรกมาจากไหน เขามาจากครอบครัวที่ไม่มีประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนมีกำเนิดอันต่ำต้อยเช่นนี้อีก แม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน บารัค โอบามาก็มีพ่อเป็นแอฟริกัน และแม่คนผิวขาว โดยที่ทั้งสองคนเป็นปัญญาชนมีการศึกษาระดับสูง  แม้จะไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงก็ตาม แต่เอบราแฮม ลิงคอล์นไม่มีอะไรทั้งสิ้น เขาจึงเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนสุดท้ายที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนและวิทยาลัยในระบบการศึกษาทางการเลย ลิงคอล์นเล่าว่าเขาเคยเข้าโรงเรียนตอนเด็กๆราวปีหนึ่งได้ แต่ก็ไม่ได้เรียนเป็นล่ำเป็นสัน เพราะย้ายโรงเรียนบ่อยๆ และครูก็สอนอย่างท่องจำเหมือนโรงเรียนวัดลิงขบในสยามประเทศ ทุกอย่างที่เป็นความรู้นั้นเขาต้องเรียนและฝึกฝนด้วยตัวเองทั้งสิ้น 
ความที่ลิงคอล์นเป็นลูกชาวบ้านจริงๆ โตมากับการใช้แรงงาน สังคมแวดล้อมก็เป็นแบบคนจนหัวเมืองเล็กๆ เขาจึงไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือเล่มได้นานนัก เหมือนกับชาวบ้านในเมืองไทยที่ผมเคยเจอ ก็จะบอกว่าอ่านหนังสือเล่มหนาๆแล้วมันเวียนหัว มักให้ลูกหลานอ่านให้ฟัง ทว่าลิงคอล์นมีความพยายาม(บวกความทะเยอทะยาน จริงๆผมคิดว่าน่าเรียกว่าความใฝ่ดีจะเหมาะกว่า)ในการแสวงหาความรู้ เพราะเขารู้ดีว่าหากปราศจากความรู้แล้ว ความสำเร็จอะไรในชีวิตที่ขัดสนอย่างของเขานั้นก็จะยิ่งหนักหนาสาหัสอีกเป็นทวีคูณ ดังนั้นจึงพยายามอ่านหนังสือและข่าวสารต่างๆให้ได้ ข้อดีอันนี้ทำให้เขาเป็นนักอ่านหนังสือพิมพ์ตัวยง ขนาดที่เรียกว่าติดหนังสือพิมพ์เลย ทุกเช้าเมื่อมาถึงสำนักงานทนายความของเขากับสหายรุ่นน้องคือวิลเลียม เอช. เฮอร์นดัน(William H. Herndon) หรือบิลลี่ สิ่งแรกที่เขาทำก็คือเอนกายเหยียดยาวบนเก้าอี้สองสามตัวสำหรับรองขา แล้วอ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อย ๔ ฉบับ วิธีการอ่านของเขาก็คือต้องอ่านออกเสียง บิลลี่ต้องเดินหนีออกไปข้างนอกเมื่อเขาลงมืออ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อถามว่าทำไมถึงต้องอ่านออกเสียง ลิงคอล์นตอบว่าเพราะการอ่านด้วยประสาทสัมผัสสองอย่างคือการดู(ด้วยตา)และการฟัง(ด้วยหู) ทำให้เขาเข้าใจได้ดีขึ้นและจำได้ดีกว่าอ่านในใจด้วย
พูดถึงสหายร่วมงานและอาชีพของลิงคอล์นคือวิลเลี่ยม เฮอร์นดัน ทำให้ต้องวิเคราะห์บทบาทของบิลลี่ในประวัติของลิงคอล์นด้วย ผมคิดว่านายเฮอร์นดันมีส่วนอย่างมากในความสำเร็จทั้งชีวิตของนักกฎหมายและนักการเมืองกระทั่งเข้าไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดีของลิงคอล์น ไม่มีใครสามารถสร้างความสำเร็จในชีวิตการงานได้หากไม่มีการหนุนช่วยจากคนข้างเคียง เท่าที่ผมมองเห็น บิลลี่เข้ามาเติมเต็มในบุคลิกบางด้านที่ลิงคอล์นขาดหรือไม่สันทัด เช่นการอ่านหนังสือ การทำงานอย่างเป็นระบบในสำนักงาน เนื่องจากลิงคอล์นเป็นลูกคนจน ขาดการอบรมบ่มเพาะทั้งในครอบครัวและในสถาบันการศึกษาแบบชนชั้นกลางและผู้ดี เขาจึงทำงานอย่างไม่มีระเบียบนัก เมื่อได้บิลลี่มาเป็นคู่หูในการทำงาน สำนักงานและการว่าความต่างๆก็ดำเนินไปอย่างเป็นระบบมีระเบียบ ทำให้แต่ละปีทั้งสองคนสามารถทำคดีความต่างๆได้ถึงร้อยเรื่อง ในปีที่ลิงคอล์นไม่ได้เล่นการเมือง 
ที่สำคัญอีกอย่างคือเฮอร์นดันเป็นคนมีการศึกษา แม้เขาจะเข้าศึกษาในวิทยาลัยอิลลินอยส์เพียงปีเดียวแล้วออกไปแต่งงานก็ตาม บิลลี่เป็นนักอ่านและนักคิด เขาคิดทุกเรื่องเป็นปรัชญาหมด จากอภิปรัชญาถึงเรื่องเพศ จากวิทยาศาสตร์ถึง phrenology อันเป็นศาสตร์ที่อธิบายบุคลิกและความสามารถของคนโดยดูจากลักษณะรูปทรงของสมอง ตำราเรื่องนี้แพร่หลายมากในสหรัฐฯในกลางศตวรรษที่ ๑๙ ที่สำคัญคือการนำมาอธิบายความชอบธรรมและความเหมาะสมที่คนผิวดำแอฟริกันต้องมาเป็นทาสในสหรัฐฯ เฮอร์นดันทำตัวเหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ชอบอ่านความในใจของคนอื่นๆได้ คนอย่างนี้เหมาะที่จะเป็นที่ปรึกษานักการเมืองและผู้นำการเมือง เพราะจะช่วยในการเลือกและไล่คนที่ไม่ช่วยในการทำงานของลิงคอล์นได้ ฉะนั้นการจะเข้าใจความคิดการเมืองของใคร จึงต้องรู้จักด้วยว่าเขามีใครเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิด บิลลี่เป็นคนที่คาดคั้นให้ลิงคอล์นต้องอ่านหนังสือเล่มหนาๆที่เขาคิดว่าสำคัญและจำเป็นต่อการทำงาน ทุกครั้งลิงคอล์นก็อ่านไปสัก ๒ หรือ ๓ หน้า แล้วก็บอกให้บิลลี่ช่วยสรุปหนังสือนั้นให้เขาฟังที ที่น่าประทับใจคือบิลลี่มีห้องสมุดที่ปัญญาชนสยามทั้งโพสโมเดิร์นและไม่โพสโมเดิร์นต้องปรบมือให้ด้วยความยินดี นั่นคือเขามีหนังสือจำนวนมากของนักปรัชญาใหญ่ๆแห่งยุคสมัยรวมถึงงานของนักคิดดังๆเช่น เฮเกล ค้านท์ และฟรานซิส เบคอน
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ลิงคอล์นเองจะอ่านหนังสือเล่มหนาๆไม่ได้มากนัก แต่เขาก็สามารถพูดและแสดงทัศนะอันลุ่มลึกกว้างขวางได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เพราะว่าเขามีคนข้างเคียงคอยอ่านให้ฟังอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนยิ่งประทับใจและพิศวงในความสามารถอันพิศดารของลิงคอล์นได้  กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าตัวลิงคอล์นเองไม่มีความรู้ความคิดอันหลักแหลมของเขาเลยก็หาไม่ ในที่สุดแล้วไม่ว่าเขาจะมีที่ปรึกษาหรือคนสนิทที่ฉลาดปราดเปรื่องประการใดก็ตาม ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ความคิดความรู้เหล่านั้นปรากฏเป็นจริงออกมาก็อยู่ที่ตัวและสมองของลิงคอล์นเองนั่นแหละเป็นผู้ทำให้ประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชน
อีริค โฟนเนอร์ (Eric Foner) นักประวัติศาสตร์สหรัฐฯผู้มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวติดตลกว่า ความสำเร็จและความสามารถของประธานาธิบดีลิงคอล์น ในการพูดและเสนอความคิดทางการเมืองประชาธิปไตยได้อย่างลึกซึ้งนั้น อย่างที่คนได้รับการศึกษาสูงๆในสหรัฐฯไม่อาจพูดและคิดได้เท่า แสดงให้เห็นว่าการศึกษาในระบบที่ทำกันมานั้นไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เราเชื่อๆกันมา
ประเด็นสุดท้ายในเรื่องครอบครัวของลิงคอล์น ซึ่งมีคนอยากถามคือ บทบาทของภรรยาเขามีมากแค่ไหน ภรรยาของเขาชื่อแมรี่ แอนน์ ทอดด์ มาจากครอบครัวของนักการเมืองพรรควิก (Whig Party)ที่เขาสังกัดอยู่นั่นเอง พ่อของแมรี่ เป็นนายธนาคารมีชื่อและฐานะดี เขาเป็นผู้สนับสนุนพรรควิกและเป็นเพื่อนกับเฮ็นรี่ เคลย์ หัวหน้าพรรควิกและสมาชิกสภาสูงจากรัฐเคนตักกี้  ครอบครัวของแมรี่ ทอดด์เป็นผู้นำพรรควิกในรัฐอิลลินอยส์ แรกเมื่อลิงคอล์นตัดสินใจเข้าเล่นการเมือง เขาได้อาศัยบารมีและสร้างสัมพันธภาพเส้นสายทางการเมืองกับบรรดาแกนนำพรรควิกในเมือง คนหนึ่งเป็นพี่ของแมรี่ ทอดด์นั่นเอง ลิงคอล์นเองไม่ค่อยสบายใจนักในการสิงสู่กับคนเหล่านั้น ผู้เป็นกระฎุมพีชั้นสูง มีการศึกษาดี มีวัฒนธรรมผู้ดี จนผู้คนนินทาว่าผู้นำพรรควิกนั้นเป็นขุนนางมากกว่าคนธรรมดา กระทั่งเมื่อลิงคอล์นเข้าสู่การเลือกตั้ง ในการหาเสียงคู่ต่อสู้โจมตีลิงคอล์นว่าเป็นนักการเมืองชั้นสูง ทำให้ลิงคอล์นประท้วงเพราะว่าจริงๆแล้วเขาเป็นคนจนธรรมดาเหมือนชาวบ้านทั้งหลาย เขาไม่ใช่ผู้ดีเหมือนพวกนั้นสักนิด ตอนแรกพอบรรดาญาติพี่น้องรู้ว่าแมรี่ ทอดด์เกิดหลงรักในลิงคอล์นจริงๆขึ้นมา พวกนั้นพยายามให้เธอเลิกการติดต่อและตัดสัมพันธภาพโรแมนติคนั้นลงไปเสีย ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกนั้นรู้เสียยิ่งกว่ารู้ว่าลิงคอล์นนั้นไม่มีฐานะตระกูลอันน่าเคารพนับถืออะไรเลย เพียงแค่เป็นนักแสวงโชคทางการเมืองและเป็นลูกมือให้พวกเขาเท่านั้น แต่คราวนี้ฝ่ายสตรีเกิดมีความคิดอันเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมรับอำนาจกดขี่ของผู้ชายในบ้าน เดินหน้าในความเชื่อมั่นของตนเอง ในที่สุดทั้งสองคนก็ได้แต่งงานกัน 
หลังจากร่วมหอลงโรงกันแล้ว ลิงคอล์นอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับงานการเมือง ในบั้นปลายชีวิตครอบครัวโดยเฉพาะลิงคอล์นกับแมรี่ไม่ค่อยราบรื่นนัก เรื่องนี้กลายมาเป็นหนังสือขายดีในยุคหลังๆ แต่ที่รู้ๆกันมากก็คือทั้งแมรี่และบิลลี่ต่างไม่ชอบกัน ถึงขั้นเกลียดกันเลย แมรี่ไม่เชิญให้เฮอร์นดันมากินข้าวในบ้านสักครั้ง และหาทางเล่นงานโจมตีการทำงานของเขาตลอดเวลา ฝ่ายบิลลี่เองก็ไม่เบา เขาตอบโต้ด้วยการตอกกลับอย่างแรงเหมือนกัน ทั้งสองคนจึงทำสงครามแบบติดพัน โจมตีซึ่งกันและกันตลอดชีวิต ไม่เลิกรากันไปได้ ที่ตลกแบบเศร้าก็คือทั้งสองคนรักและอยากได้รางวัลแห่งชัยชนะนี้มาเป็นของตนเองแต่ฝ่ายเดียว คือตัวของลิงคอล์นนั่นเอง
ชีวิตการเมือง
คนที่รู้จักลิงคอล์นตั้งแต่สมัยที่เขายังไม่ได้ลงสนามการเมืองการเลือกตั้ง กล่าวว่าไม่มีอะไรในชีวิตที่มีความหมายและสำคัญแก่เขามากเท่าการเมือง เขาหายใจเข้าและออกเป็นการเมืองหมด พูดได้ว่าลิงคอล์นตกหลุมรักของการเมืองตั้งแต่เขาเริ่มแตกหนุ่มและฟังความในการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองได้รู้เรื่อง แต่ลิงคอล์นก็ไม่ใช่นักการเมืองมีอุดมการณ์แรงกล้าหรือมีความคิดการเมืองก้าวหน้า เหมือนอย่างชีวประวัติประธานเหมาเจ๋อตง ตรงกันข้าม ลิงคอล์นชอบและอยากเล่นการเมืองเหมือนคนหนุ่มๆในหัวเมืองทั้งหลาย กล่าวกันว่าคนหนุ่มที่ไม่มีการตระเตรียมในอาชีพทางธุรกิจมาก่อน เพราะยากจนหรือไม่มีเส้นนั้น หนทางแห่งอาชีพในหัวเมืองแถวนั้นได้แก่ หนึ่งทำงานในโบสถ์ สองในสำนักกฎหมาย และสุดท้ายในวงการเมือง   ลิงคอล์นเป็นพระและศาสนาจารย์ไม่ได้ เพราะเขาอ่านและชอบความคิดการเมืองของทอม เพนนักปฏิวัติและนักวิพากษ์ระบบกษัตริย์และศาสนา เป็นนักกฎหมายหรือนักธุรกิจก็ยาก เนื่องจากลิงคอล์นไม่ได้มีเส้นสายจากครอบครัวญาติพี่น้องอะไร เขาจึงตั้งความหวังไปที่การเมืองว่าจะเป็นคำตอบให้แก่อนาคตของคนสามัญที่ไม่มีอะไรเลย 
 ชีวิตการทำงานของเขาก็ไม่ต่างจากลูกชาวบ้านทั่วไปที่ทำงานรับจ้างแทบทุกอย่างที่หาเงินได้ เขาเป็นลูกเรือรับส่งสินค้า เป็นนักสำรวจที่ดิน นายไปรษณีย์ในเมืองนิวเซเลมที่เขาอยู่  เป็นลูกจ้างในร้านขายของชำในเมือง แล้วเริ่มรวบรวมเงินลงขันกับเพื่อนเปิดร้านของตนเองบ้าง ลงเอยด้วยการขาดทุน เขาต้องทำงานหาเงินมาชดใช้หนี้อยู่หลายปี เขาจ่ายคืนเจ้าหนี้ทุกดอลลาร์และเซนต์ แทนที่จะชักดาบเหมือนพ่อค้าทั่วๆไป เคยเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟ มีฝีมือในการผ่าหมอนรถไฟ ที่กลายมาเป็นตำนาน ในวันที่เขาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทีมหาเสียงอุตส่าห์จัดฉากและหาหมอนรถไฟและขวานมาประกอบการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติในความสามารถผ่าไม้หมอนนั้นอย่างงดงาม เล่ากันว่าลิงคอล์น ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อสัตย์ จึงเอ่ยปากว่า ไม่แน่ใจว่าไอ้ขวานและไม้หมอนที่เอาแสดงให้สื่อมวลชนดูนั้นจะเป็นอันจริงที่เขาเคยผ่าในอดีตหรือไม่ แต่ที่จริงๆก็คือเขาได้ผ่าขาดตรงกลางจริงๆ หลังจากทำงานในเมืองนิวเซเลม ซึ่งครอบครัวเขาได้อพยพมาอยู่ได้ ๗ เดือน ลิงคอล์นก็ตัดสินใจเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของรัฐอิลลินอยส์   การเข้าสู่เวทีการเมืองครั้งแรกนั้นเขาพ่ายแพ้ ตอนนั้นเขามีอายุเพียง ๒๓ ปี
อีก ๒ ปีต่อมาในปี ๑๘๓๔ ลิงคอล์นก็ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนแห่งรัฐอีก คราวนี้เขาได้รับเลือกตั้งสมความปรารถนา เขาบันทึกว่ามันเป็นชัยชนะอันงดงาม เพราะเขาได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในรัฐอิลลินอยส์  หลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนรัฐแล้ว ลิงคอล์นก็พยายามศึกษากฎระเบียบทั้งของพรรคของรัฐสภาไปถึงกฎหมายต่างๆ ไม่นานเขาก็ได้รับเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนของพรรควิกในการแข่งขันตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ แห่งรัฐ เขาทำงานให้กับพรรคตลอดเวลา เข้าประชุมพรรค ประชุมกลุ่มย่อย ไปหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคคนอื่นๆ เรียกว่าทำงานการเมืองให้กับพรรคอย่างไม่รู้เหน็ดไม่รู้เหนื่อย จนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว
จากนั้นเขาก็ได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาอีกสองสมัย(๑๘๓๘ และ ๑๘๔๐) อนาคตของการเป็นนักการเมืองอาชีพทำท่าจะเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ในปี ๑๘๔๖ เขาได้รับการสนับสนุนจากพรรควิกท้องถิ่นให้ลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาคองเกรส เขาได้รับชัยชนะอย่างไม่ยากนัก เพราะได้ทำงานการเมืองในรัฐมาอย่างหนักก่อนหน้าแล้ว กล่าวได้ว่าเขาพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาเป็นนักการเมืองคุณภาพแท้จริง ในรัฐสภาแห่งชาติเขาก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และอย่างขยันขันแข็ง ศึกษากฎหมายและคำอภิปรายในประเด็นและนโยบายสำคัญๆอย่างละเอียด สำหรับลิงคอล์นนอกจากการหาเสียงในเมืองที่เขาอยู่แล้ว ที่สำคัญคือในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี อันเป็นการเลือกตั้งใหญ่และสำคัญมาก อันเป็นการเมืองระดับชาติ ลิงคอล์นไม่ปล่อยให้โอกาสเหล่านี้ผ่านไป เขาเข้าไปอยู่ในทีมรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีทุกครั้ง ตั้งแต่ในปี ๑๘๔๔ เมื่อพรรควิกส่งวิลเลียม แฮริสันกับเฮนรี่ เคลย์เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ลิงคอล์นก็ทำงานในคณะรณรงค์เลือกตั้งนี้ จนเขาได้รับเสนอชื่อให้อยู่ในทีมของประธานาธิบดีด้วย ในปี ๑๘๔๘ พรรควิกส่งซักคารี เทย์เลอร์ (Zachary Taylor)ผู้ได้รับชัยชนะตำแหน่งประธานาธิบดีการทำงานรณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งของเขา มีส่วนช่วยทำให้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประสบความสำเร็จ ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในบรรดาผู้นำระดับชาติของพรรควิก 
ปี ค.ศ. ๑๘๔๘-๔๙ ลิงคอล์นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือคองเกรสในวอชิงตันของพรรควิก หลังจากช่วยรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี กระทั่งผู้สมัครของพรรควิกคือนายพลซาคารี เทย์เลอร์ได้รับชัยชนะ ในการเสนอชื่อผู้สมัครของพรรควิกนั้น ลิงคอล์นต้องตัดใจไม่สนับสนุนเฮ็นรี่ เคลย์ผู้นำพรรควิกผู้เป็นขวัญใจและเป็นแบบอย่างนักการเมืองที่เขาเคารพนับถือมานาน ด้วยการรณรงค์ให้เทย์เลอร์ ด้วยเหตุผลที่เหมือนๆกับทุกพรรคการเมือง นั่นคือจำต้องสนับสนุนนายพลเทย์เลอร์ เพราะเขาจะมีโอกาสได้ชัยชนะเหนือคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตมากกว่าเคลย์ วีรบุรุษสงครามที่ไหนๆก็คล้ายกัน หาเสียงจากประชาชนทั่วไปได้ง่ายกว่า ทว่าหลังจากเข้าสู่ทำเนียบขาวแล้ว ลิงคอล์นคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เขาและบรรดาสมาชิกพรรควิกในอิลลินอยส์ควรได้รับการตอบแทนจากประธานาธิบดีบ้าง สำหรับการรณรงค์และต่อสู้อื่นๆจนทำให้พรรควิกได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาจึงทำบัญชีรายชื่อสมาชิกพรรควิกจากอิลลินอยส์ผู้สมควรได้รับตำแหน่งทางการเมืองตอบแทนรวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีบ้างในรัฐบาลใหม่ ปรากฏว่าแกนนำพรรควิกในอิลลินอยส์คนอื่นๆอีก ๒ กลุ่มต่างก็ต้องการตำแหน่งตอบแทนให้แก่พรรคพวกของเขาเหมือนกัน กลุ่มของลิงคอล์นจึงเสนอให้ลิงคอล์นใส่ชื่อตัวเองลงไปเสียเลย แต่แรกเขาเสนอตำแหน่งให้แก่คนอื่น ไม่ได้ให้ตัวเอง เพื่อทำให้บัญชีของกลุ่มดูมีน้ำหนักควรใส่ชื่อเขาเสียเอง เพราะเชื่อว่าการทำงานและผลงานของลิงคอล์นในรัฐสภาคองเกรสและในพรรควิกมีความโดดเด่นพอที่จะทำให้ประธานาธิบดีเทย์เลอร์ตัดสินใจได้ไม่ยาก สุดท้ายเมื่อแฟ้มของลิงคอล์นกับแกนนำคนอื่นไปถึงทำเนียบขาว รัฐมนตรีมหาดไทยผู้ดูแลรายงานเรื่องนี้ จัดการแก้ไขข้อมูลในแฟ้มใหม่ ทำให้ชื่อของลิงคอล์นไม่เด่นเท่า เขาจึงไม่ได้รับตำแหน่งการเมืองที่ขอไปคือประธานคณะกรรมการว่าด้วยดินแดนใหม่ แต่แกนนำวิกจากชิคาโกคู่ปรับเก่าได้ไปอีกทั้งๆที่พวกนั้นไม่เคยได้ไปทำงานการเมืองให้แก่พรรควิกอย่างหนักเหมือนกับเขาเลย
ประสบการณ์ในการเลือกตัวผู้สมัครประธานาธิบดีครั้งนี้ยังสร้างความรู้สึกเสียใจให้แก่ลิงคอล์นอีกด้วย กล่าวคือเขาต้องการสนับสนุนให้ผู้นำพรรควิกผู้ที่เขาชื่นชมมาตั้งแต่เขาเริ่มสนใจการเมือง นั่นคือเฮ็นรี่ เคลย์ผู้มีชื่อเสียงและความสามารถในการประนีประนอมสูง เขามีโอกาสและคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยกลางศตวรรษที่ ๑๙ ได้อย่างไม่มีข้อกังกา แต่พระเจ้าไม่เข้าข้างเขา ทำให้พลาดการได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแทบทุกครั้ง แน่นอนหากตอบตามข้อเท็จจริงก็ต้องกล่าวว่า เพราะปัจจัยทางการเมืองแทรกซ้อน กระทั่งการแข่งขันภายในพรรควิกเองในปี ๑๘๔๘ เพื่อเลือกผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี แน่นอนเฮนรี่ เคลย์รออยู่ก่อนแล้ว แต่สงครามเม็กซิโกในปี ๑๘๔๖ สร้างวีรบุรุษสงครามคือนายพลซาคารี เทย์เลอร์ เขาเป็นคนภาคใต้และเป็นเจ้าของทาส ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทางใต้ ฝ่ายนำของพรรควิกจึงมีมติให้ส่งเทย์เลอร์เพราะต้องการได้คะแนนเสียงจากชาวบ้านจำนวนมากในการเลือกตั้ง แม้ว่าในทางหลักการความคิดและความสามารถเทย์เลอร์จะสู้เคลย์ไม่ได้ก็ตาม ลิงคอล์นเองก็ยอมรับมติพรรคอันนี้ด้วย ทั้งๆที่โดยส่วนตัวแล้วเขานับถือและลงคะแนนให้เคลย์มาตลอดก็ตาม ทำให้เคลย์พลาดขบวนรถไฟสายประธานาธิบดีอีกครั้ง กระทั่งเขาสิ้นชีวิตไปในตำแหน่งหัวหน้าวุฒิสมาชิกผู้อาวุโสของรัฐสภาอเมริกันก่อนเกิดสงครามกลางเมือง  
หลังจากปิดสมัยประชุมสภาคองเกรส ลิงคอล์นก็เดินทางกลับบ้านที่สปริงฟีสด์ อิลลินอยส์ และคิดว่าชีวิตอนาคตทางการเมืองของเขาก็คงปิดลงนับแต่นี้ไป เมื่อเวทีการเมืองระดับชาติไม่เปิดให้กับเขา นั่นคือช่วงปี ๑๘๔๘ ถึง ๑๘๕๔ เมื่อลิงคอล์นพยายามไต่เต้าขึ้นสู่แกนนำของพรรควิกระดับประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาต้องสละการเลือกตั้งสมัยต่อมาให้แก่สมาชิกพรรคคนอื่น อันเป็นธรรมเนียมของพรรค  เขาต้องกลับมาเป็นทนายความในเมืองสปริงฟิลด์ตามเดิม 
 ลิงคอล์นทุ่มเทเวลาและสติปัญญาให้กับการทำงานทนายความอย่างหนัก เดินทางไปว่าความตามเมืองต่างๆทั้งเล็กและใหญ่ด้วยรถม้ากับเพื่อนร่วมงานบิลลี่ สร้างชื่อเสียงในการว่าความอย่างมาก เขากลายเป็นนักกฎหมายผู้ต่อสู้เพื่อรถไฟ ซึ่งกำลังพัฒนาและมีบทบาทในเศรษฐกิจอเมริกาอย่างมากแข่งกับเรือกลไฟ จากปีค.ศ. ๑๘๕๐ ถึงปีค.ศ. ๑๘๕๔ ไม่มีใครได้ยินชื่อนักการเมืองที่ชื่อเอบราแฮม ลิงคอล์นอีกเลย ช่วงนี้เขาถึงกับเชื่อว่าอนาคตทางการเมืองระดับประเทศสำหรับเขาได้จบสิ้นแล้ว เป็นช่วงชีวิตที่เศร้าสุดๆสำหรับเขา มิหนำซ้ำในปี ๑๘๕๐ ลุกชายคนโต เอ็ดดี้ก็เสียชีวิตจากการป่วยไข้ด้วยอายุเพียง ๔ ปี เขากลายเป็นอดีตนักการเมืองหน้าใหม่อีกคนที่พยายามเข้ามาสู่เวทีการเมืองประชาธิปไตยที่ดูเหมือนคนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับเลือกตั้งเข้าไปในรัฐสภาและรัฐบาล แต่ลิงคอล์นก็ประสบชะตากรรมเฉกเช่นนักการเมืองจากสังคมชั้นล่าง ว่าข้างบนนั้นไม่ได้มีความเท่าเทียมกันและไม่ได้เล่นเกมส์อย่างซื่อสัตย์สุจริต  อำนาจก็คืออำนาจ และหากเหตุการณ์ต่างๆดำเนินไปอย่างที่มันได้เป็นมา ลิงคอล์นก็คงดำเนินชีวิตของนักกฎหมายและจะมีชีวิตที่เมืองสปริงฟีลด์ไปอีกหลายสิบปีก่อนจะถึงแก่กรรมตามธรรมชาติ
กล่าวโดยสรุป ประวัติชีวิตทางการเมืองของลิงคอล์นไม่มีอะไรพิศดารไปกว่านักการเมืองคนอื่นๆมากนัก นอกจากความตั้งใจและความเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังในการเป็นนักการเมืองอาชีพของเขา ที่ดูน่าทึ่งมาก  ถ้าเช่นนั้นปัจจัยอะไรที่ทำให้ลิงคอล์นประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นผู้นำทางการเมืองในสหรัฐฯ แน่นอนปัจจัยแรกก็คือคุณสมบัติส่วนตัวของเขาเองดังได้กล่าวแล้ว ประการที่สองคือสภาพแวดล้อมทางการเมือง อันได้แก่ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เหนืออื่นใดคือบรรยากาศและอารม์ความคิดที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน ถ้าสังคมอเมริกันมีพฤติกรรมและความเชื่อแบบฟิวดัลศักดินาที่อำนาจและอภิสิทธิ์ยังมีอิทธิพลอยู่ราวร้อยละ ๖๐ ผมเชื่อว่านักการเมืองอย่างลิงคอล์นจะไม่มีวันได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างแน่นอน ถึงขึ้นมาได้ด้วยเหตุผลจำเป็นอะไรก็ตาม เขาก็จะปกครองประเทศไม่ได้ ปัจจัยสุดท้ายคืออุบัติเหตุทางการเมืองในประวัติศาสตร์ นั่นคือการที่พรรคเดโมแครตผลักดันกระทั่งออกกฎหมายว่าด้วยดินแดนแคนซัส-เนบราสกาในปี ๑๘๕๔ กฎหมายฉบับนี้คือไฟป่าที่เมื่อติดแล้วมันจะเผาไหม้ทำลายประเทศทั้งประเทศ ลิงคอล์นกระโจนกลับเข้ามายังเวทีการเมืองอีกครั้ง ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ว่าจะสามารถดับไฟป่าครั้งนี้ได้ 
การเมืองระบบสองพรรค (The Two-Party System)
ดังได้กล่าวแล้วว่าปัจจัยของระบบพรรคการเมืองมีส่วนสำคัญด้วยในการทำให้ลิงคอล์นประสบความสำเร็จทางการเมือง อะไรคือปัจจัยเหล่านั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในความเป็นมาของพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอเมริกันเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเรามักจะเอาผลที่เราพอใจไปเป็นเหตุและคิดว่าพรรคการเมืองอเมริกันเป็นของวิเศษที่คนอเมริกันสร้างได้ แต่คนชาติอื่นๆโดยเฉพาะคนไทยสร้างไม่ได้
ทันทีที่การปฏิวัติอเมริกาได้รับชัยชนะเหนืออังกฤษ ผู้นำที่เรียกว่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯได้ประชุมและวางรูปแบบการปกครองของมหาชนรัฐใหม่แห่งนี้ขึ้น เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อมีการพูดถึงการตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำการต่อสู้ระหว่างกลุ่มและฝ่ายต่างๆที่มีความคิดและนโยบายการปกครองที่ต่างกัน อันเป็นเรื่องปกติที่ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ปฏิกิริยาแรกๆจากบรรดาบิดาผู้สร้างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำคนสำคัญคือประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน กลับไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการก่อตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการนำไปสู่การแตกแยกทางความคิดและในการปกครองประเทศต่อไป รัฐบาลใหม่สดๆต่างต้องการความสามัคคีและความสมานฉันท์มากกว่าการแบ่งแยกและแข่งขันกันระหว่างผู้นำการเมืองด้วยกันเอง ปฏิกิริยาทำนองนี้ก็เหมือนกับของคณะราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมือง คณะชาติ เสนอโดยหลวงวิจิตรวาทการขึ้นมาแข่งกับคณะราษฎรสมัยหลังการปฏิวัติ ๒๔ มิย ๒๔๗๕  
แต่ความจริงของการเมืองคือการที่อำนาจไม่อาจตอบสนองความต้องการของทุกคนและทุกกลุ่มได้ ทันทีที่มีการประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ก็นำไปสู่การเกิดกลุ่มแนวคิดการเมืองแบบเฟเดอรัลลิสต์ (Federalist) กับพวกต่อต้านเฟเดอรัลลิสต์ (Anti-Federalist) นี่คือต้นกำเนิดของการก่อรูปของพรรคการเมืองต่อมา ในระหว่างการเคลื่อนไหวให้สัตยาบันรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ว่าแต่ละรัฐจะผ่านหรือไม่ ฝ่ายเฟเดอรัลลิสต์หนุนรัฐธรรมนูญและแนวคิดในนั้น ที่สำคัญคือการให้อำนาจปกครองและบริหารแก่รัฐบาลเฟเดอรัล(กลาง)มากขึ้นกว่าก่อน ในขณะที่ฝ่ายค้านหรือต่อต้านเฟเดอรัลลิสต์ ไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจรัฐบาลกลางมากเกินไป เพราะจะลดและทำลายสิทธิของรัฐแต่ละรัฐลงไป ที่สำคัญจะไม่มีหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองผู้เป็นปัจเจกชน ทั้งสองพวกมีลักษณะร่วมอย่างสำคัญคือ เป็นคนที่มีศรัทธาน้อย(men of little faith)  เพียงแต่สิ่งที่พวกเขาศรัทธาน้อยนั้นตรงข้ามกัน ฝ่ายเฟดเดอรัลลิสต์นั้นมีศรัทธาในประชาชนน้อยกว่าในรัฐบาลกลาง ส่วนพวกแอนตี้เฟดเดอรัลลิสต์นั้นมีศรัทธาในประชาชนมากและศรัทธาในอำนาจรัฐ(บาลกลาง)น้อยกว่า 
ข้อที่น่าสนใจคือพรรคการเมืองอเมริกันเกิดและพัฒนาไปด้วยตัวของมันเอง ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก(พรบ.การเลือกตั้ง)หรือคณะกรรมการเลือกตั้งมาควบคุมหรือช่วยพัฒนาให้พรรคการเมืองเดินไปอย่างไรกำเนิดพรรคการเมืองแบบนี้เรียกว่าเป็นการเกิดภายในสถาบันรัฐสภา ส่วนแบบไทยเรียกว่าเกิดจากภายนอกรัฐสภาคือเป็นความต้องการหรือเป็นความฝันของคนนอกทั้งหลาย ที่ช่วยกันเขียนกฎระเบียบประเพณีวัฒนธรรมต่างๆให้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ ส่วนคนที่ต้องปฏิบัติคือนักการเมืองนั้น ไม่เคยได้มีโอกาสอย่างจริงๆ ทั้งภายในพรรคและในสถาบันการเมืองการปกครอง ที่จะสรุปประสบการณ์และความรู้จากการปฏิบัติขึ้นมาเป็นกฎกติกาที่พวกนักการ เมืองจะได้ใช้กำกับการทำงานของพวกเขากันเอง ดังที่นักการเมืองอเมริกันได้กระทำมานับศตวรรษ 
หลังจากหมดยุคของประธานาธิบดีวอชิงตันไป การต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองระดับชาติก็ก่อตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างฝ่ายจอห์น แอดัมส์กลุ่มเฟดเดอรัลลิสต์ กับกลุ่มแอนตี้เฟดเดอรัลลิสต์ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นกลุ่มรีพับลิกันนำโดยเจฟเฟอร์สัน ถึงตอนนี้ต้องเรียกว่าได้เกิดสภาพของสองพรรคการเมืองระดับชาติไปแล้ว โชคดีที่ไม่มีการรัฐประหารของกองทัพ  ผู้นำการเมืองอเมริกันจึงมีเวลาเรียนรู้การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรค ซึ่งก็ไม่ได้สดใสอะไรกว่าของไทย เจฟเฟอร์สันโดนสาดโคลนจากพรรคคู่ต่อสู้อย่างสกปรก ถูกกล่าวหาว่ามีเมียน้อยเป็นทาสนิโกรในบ้าน ต่อมากลายเป็นหนังสือและหนังฮอลลีวูดไปคือตำนานของแซลลี่ เฮมมิ่งส์ ฝ่ายรัฐบาลแอดัมส์ยังออกกฎหมายว่าด้วยการกบฏและเป็นคนต่างด้าวมาเล่นงานฝ่าย(เดโมแครต)รีพับลิกัน ทั้งจับเข้าคุก ปิดหนังสือพิมพ์พวกนั้นเป็นว่าเล่น อย่างไรก็ตามฝ่ายเจฟเฟอร์สันได้ชัยชนะในที่สุด ความรุนแรงของการต่อสู้ระหว่างสองกลุ่มที่กำลังจะเป็นพรรคการเมืองจริงๆ ทำให้เจฟเฟอร์สันถึงกับประกาศหลังวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า รัฐบาลใหม่ที่นำโดยเขาและพรรครีพับลิกันนั้นจะไม่เป็นตัวแทนของพรรคหรือกลุ่มการเมืองเดียว หากแต่จะเป็นผู้แทนของทุกพรรคทุกกลุ่มการเมือง ดังนั้นขอให้เราเลิกแบ่งออกเป็นกลุ่มก๊วนและพรรคต่างๆอีกเลย ขอให้ทุกคนเป็นพรรคเดียวกันเรียกว่าฝ่ายเดโมแครต-รีพับลิกัน(Democrat-Republican) นั่นเป็นเหตุการณ์ในปีคศ.๑๘๐๐ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พรรค(เดโมแครต)รีพับลิกันของเจฟเฟอร์สัน ค่อยๆกลายเป็นพรรคการเมืองสมัยใหม่ไป กล่าวคือเป็นพรรคที่ผู้คนจำนวนมากฝากความหวังในผลประโยชน์ของพวกเขากับนโยบายของพรรค อีกมิติตือการที่พรรคได้นำเอาสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากเข้ามาด้วย อุดมการณ์แรกคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัจเจกชน และขยายไปสู่เสรีภาพในการมีทาสของคนผิวขาวภาคใต้ไปด้วย  มิติที่สามคือการมีศรัทธาและเชื่อถือในตัวของผู้นำพรรคและสมาชิกพรรค ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นกลไกและกระบวนการดำเนินงานของพรรคการเมือง ที่เดินไปด้วยความสัมพันธ์ของทุกองค์ประกอบ ไม่ใช่ด้วยหัวหน้าเพียงคนหรือสองคน ลองสังเกตุดูหัวหน้าหรือประธานพรรคการเมืองในสหรัฐฯไม่มีความหมายและความสำคัญอะไรมากนัก  
กล่าวกันว่า พรรคการเมืองยุคแรกที่ก่อตัวขึ้นมานั้น มีฐานเสียงและพลังสนับสนุนเป็นปึกแผ่นมากก็ในภาคใต้ ซึ่งมีระบบทาสและการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างจากภาคเหนือและต่อมาตะวันตก การก่อตั้งพรรค(เดโมแครต)รีพับลิกัน ทำให้คนใต้ค้นพบเครื่องมือทางการเมืองที่ประกอบกันขึ้นจากจากการผสมกันอย่างดีระหว่างผลประโยชน์ของพวกเขากับอุดมการณ์ เป็นความกลมกลืนระหว่างการเมืองกับอุดมการณ์ ที่พรรคเฟเดอรัลลิสต์ไม่มีโอกาสทำได้  ถึงกระนั้นเมื่อการเมืองพัฒนามาถึงทศวรรษปี คศ. ๑๘๓๐ ก็ยังกล่าวได้ว่าระบบสองพรรคก็ยังไม่ได้เกิดอย่างเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาระบบการเมืองแบบสองพรรคใหญ่จะเกิดก็ในสมัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีแอนดรู แจ๊กสัน
แอนดรู แจ๊กสันเป็นวีรบุรุษในสงครามปี ๑๘๑๒ ที่สู้กับอังกฤษอีกยกหนึ่ง เขาเป็นแม่ทัพที่เอาชนะกองทหารอังกฤษได้ในยุทธภูมินิวออร์ลีน แน่นอนแจ๊กสันเองก็เป็นคนใต้และเป็นเจ้าของทาสด้วย ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ๑๘๒๔ เขามีเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านอย่างล้นหลาม แต่ก็ต้องแพ้การเลือกตั้งภายในพรรค(เดโมแครต)รีพับลิกัน เพราะบรรดาแกนนำรวมหัวกันไม่เลือกเขา และจากคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college)ที่เลือกจอห์น ควินซี่ แอดัมส์ โดยมีเฮ็นรี่ เคลย์สนับสนุนในรัฐสภาอีก สมัยนั้นการตัดสินให้ผู้สมัครคนใดได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดียังไม่ถือคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วไปที่เรียกว่า popular vote หากแต่ขึ้นอยู่กับคณะผู้เลือกตั้งและถ้าไม่มีเสียงข้างมาก ก็ให้สภาคองเกรสเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย แจ๊กสันชนะเสียงประชาชน แต่เขาไปพ่ายแพ้ในรัฐสภา ทำให้เกิดการแตกกันในพรรคเป็น ๒ ก๊ก คือก๊กเนชั่นแนล-รีพับลิกัน กับเดโมแครต-รีพับลิกัน กลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนแจ๊กสันประณามการสมรู้คอรัปชั่นในพรรครีพับลิกันครั้งนี้   จากนั้นแจ๊คสันร่วมมือกับวุฒิสมาชิกมาร์ติน แวนบูเรนแห่งนิวยอร์ก ก่อตั้งพรรคเดโมแครต (Democrat) หรือในชื่อแรกตั้งว่า National Republican ให้แตกต่างจากพรรคเดิมที่เจฟเฟอร์สันตั้งคือ Democratic-Republican   ต่อมาพรรคพวกของแจ๊กสันก็ไม่พอใจพวก National Republican จึงเริ่มเรียกตัวเองว่า พวกเดโมแครต พรรคเดโมแครตที่เป็นบรรพบุรุษของเดโมแครตซึ่งสืบทอดเชื้อสายมาถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากพรรคเดโมแครตภายใต้การนำของแจ๊กสันยุคนี้ ไม่ใช่จากพรรค(เดโมแครต)รีพับลิกันของเจฟเฟอร์สัน   ส่วนพรรคเฟเดอรัลลิสต์ค่อยๆหมดบทบาท เพราะไม่สามารถเสนอนโยบายระดับชาติอะไรที่หนักแน่นและเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ได้ พรรคนี้จึงค่อยๆหายสาปสูญไปเองในที่สุด โดยไม่ต้องถูกศาลพิพากษาให้ยุบพรรคแต่ประการใด หากแต่เป็นการพิพากษาโดยประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงกันเอง
หลังจากแจ๊กสันได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อมาในปี ๑๘๒๘ เขาก็สร้างระบบประชาธิปไตยอเมริกาที่เป็นแบบมวลชนมากขึ้น รัฐบาลแจ๊กสันมีฐานเสียงมั่นคงทั่วประเทศ แต่ก็นำไปสู่การใช้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้น จนเริ่มมีคนวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านรัฐบาลของเขา กล่าวหาว่าแจ๊กสันทำตัวเหมือนกับเป็นกษัตริย์หรือพระราชา ให้สมญานามเขาว่า King Andrew   กระทั่งนำไปสู่การรวมตัวกันของบรรดานักการเมืองบางส่วนจากพรรคเดโมแครตผู้ต่อต้านแจ๊กสัน ร่วมมือกับสมาชิกเก่าของพรรคเฟเดอรัลลิสต์ก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองระดับชาติเรียกว่า พรรควิก”(Whig Party) ในกลางทศวรรษ ๑๘๓๐ โดยเอามาจากชื่อของพรรคการเมืองในอังกฤษสมัยที่ต่อต้านการปกครองที่เผด็จอำนาจของกษัตริย์นั่นเอง   จากจุดนี้ไปเป็นการเริ่มระบบสองพรรคการเมือง มาจนถึงทศวรรษปี ๑๘๕๐    อันจะเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ในการเมืองอเมริกัน และเป็นช่วงที่ลิงคอล์นจะก้าวเข้ามาสู่เวทีระดับชาติในบทบาทใหม่  เป็นวิกฤตถึงขนาดนำไปสู่การสลายตัวของพรรควิก แล้วจึงเกิดพรรคใหม่ชื่อรีพับลิกันแข่งกับพรรคเดโมแครต จากวันนั้นมาถึงวันนี้
ลิงคอล์นกับพรรควิก
ลิงคอล์นเติบโตทางการเมืองพร้อมกับพรรควิก เขาเริ่มลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๓๑ เมื่อย้ายมาตั้งรกรากใหม่ด้วยตนเองในวัย ๒๒ ปี ในเมืองนิวเซเล็ม   เป็นการแยกออกมาจากพ่อโดยเด็ดขาด เขาจะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองในทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งการแต่งงานและในวันแต่งงานกับแมรี่ ท็อดด์ เขาก็ไม่ได้บอกให้พ่อและแม่เลี้ยงกับน้องๆทราบ ไม่มีใครจากครอบครัวเขามาร่วมในพิธีแต่งงานของเขา ในสมัยนั้นพรรคเฟเดอรัลลิสต์ของวอชิงตันและแฮมิลตันกำลังเสื่อมสลายไป เหลือแต่พรรครีพับลิกันของเจฟเฟอร์สันที่เป็นพรรคการเมืองระดับชาติอยู่ สภาพของพรรคที่ยังหลวมๆอยู่ ทำให้เกิดการแบ่งก๊กหรือมุ้งการเมืองออกไปตามบารมีของหัวหน้าก๊ก ก๊กแรกหนุนจอห์น ควินซี่ แอดัมส์ ลูกของอดีตประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์แห่งแมสซาชูเสตส์ ก๊กที่สองเป็นของเฮ็นรี่ เคลย์แห่งเค็นตักกี้ ก๊กที่สามหนุนแอนดรู แจ๊กสันแห่งเทนเนสซี่ ก๊กที่สี่หนุนจอห์น ซี. แคลฮูนแห่งเซาธ์แคโรไลน่า เป็นธรรมดาที่ลิงคอล์นและชาวรัฐอิลลินอยส์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับเค็นตักกี้ย่อมต้องสนับสนุนเฮ็นรี่ เคลย์ ผู้เป็นนักการเมืองตัวแทนของคนมิดเวสต์ เคลย์มีชื่อเสียงในฐานะของผู้นำการเมืองในสภาคองเกรสที่มีความสามารถในการประนีประนอมสูงมาก กรณีที่เป็นผลงานอันโด่งดังในฝึมือประสานสิบทิศได้แก่ความขัดแย้งระหว่างรัฐทางเหนือที่ไม่มีทาสกับรัฐทางใต้ที่มีทาส ในการพิจารณารับรัฐใหม่คือมิสซูรี่เข้ามาเป็นสมาชิกของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.๑๘๒๐ เคลย์เข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐเสรี (Free States)กับรัฐทาส (Slaves States) จนสำเร็จ มติที่ออกมามีชื่อว่า กรณีประนีประนอมรัฐมิสซูรี่(The Missouri Compromise 1820) มติสำคัญได้แก่การไม่อนุญาตให้มีทาสเหนือเส้นเขตแดนทางใต้ของรัฐมิสซูรี่ต่อไป หรือเส้นที่ 36˚ 30’ อันเป็นดินแดนกว้างใหญ่ในภาคตะวันตกตอนกลางและยังไม่มีการตั้งเป็นรัฐ  ประเด็นเรื่องการจำกัดการขยายตัวของทาสในดินแดนภาคตะวันตกจะเป็นกุญแจในการที่ลิงคอล์นยึดกุมได้ และนำมาเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้งระดับชาติ กระทั่งเขาได้เข้าไปนั่งในทำเนียบขาว และต้องตัดสินใจในการทำสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐเสรีทางเหนือกับรัฐทาสทางใต้
ในเวลานั้นเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองต่างๆยังไม่ชัดเจน สมาชิกและผู้สนับสนุนต่างมองไปที่ผู้นำการเมืองและนโยบายของแต่ละคน ลิงคอล์นสนับสนุนนโยบายชาตินิยมอเมริกันของเคลย์ อันได้แก่การตั้งกำแพงภาษีขาเข้าปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ การพัฒนาในประเทศด้านต่างๆ และการมีธนาคารชาติที่เข้มแข็ง ในประเด็นเรื่องทาส เคลย์เห็นว่าควรแก้ไขปัญหาระบบทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอย่างสงบสันติ ทางออกหนึ่งคือการเลิกทาสและส่งทาสแอฟริกันกลับไปยังแอฟริกา จุดยืนดังกล่าวในเรื่องทาสของลิงคอล์นก็ได้รับอิทธิพลมาจากเคลย์ด้วยเช่นกัน
เมื่อลิงคอล์นเข้าสู่วงการเมือง เขาก็เข้าอยู่ในสังกัดของสมาชิกกลุ่มที่หนุนพรรควิก เรียกว่าวิกฮุนโต Whig “Junto” หรือกลุ่มสนใจการเมืองเล็กๆอย่างไม่เป็นทางการ ตอนนี้ลิงคอล์นย้ายมาตั้งรกรากใหม่ในเมืองสปริงฟีลด์ อันเป็นเมืองหลวงของรัฐอิลลินอยส์ เพื่อทำงานการเมืองอย่างเต็มที่ต่อไป 
ช่วงต้นทศวรรษ ๑๘๔๐ การโต้แย้งในนโยบายที่พาดพิงถึงเรื่องทาสเงียบหายไป แทบไม่เป็นปัญหาระดับชาติหรือระหว่างภาค เรื่องที่ทุกคนและหนังสือพิมพ์อภิปรายกันมากกว่า คือปัญหาเศรษฐกิจ เช่นภาษีขาเข้าและธนาคารแห่งชาติกับนโยบายการปฏิรูปในรัฐต่างๆ พรรควิกมีอนาคตทางการเมืองมั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อได้เสียงสนับสนุนจากภาคใต้ สามารถแข่งขันกับพรรคเดโมแครตได้    นักการเมืองพรรควิกรวมทั้งลิงคอล์นเชื่อว่าการเลือกตั้งคราวหน้า เคลย์จะต้องได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแน่ๆ
แต่แล้วปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่หลวงก็เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลเจมส์ โพล์กประกาศสงครามกับเม็กซิโกในปี ๑๘๔๖ หลังจากรัฐสภารับเท๊กซัสเข้ามาเป็นรัฐทาสใหม่ สงครามเม็กซิโกเป็นการขยายและผนวกดินแดนของสหรัฐฯ ภายใต้คำขวัญที่เรียกว่า Manifest Destiny กล่าวคือสหรัฐฯมีจุดหมายอันแจ้งชัดที่จะต้องครอบคลุมไปทั่วทั้งทวีปอันเป็นดินแดนที่พระเจ้าได้มอบให้ จากเท๊กซัส ไปถึงแคลิฟอร์เนีย ตอนใต้ของดินแดนโอเรกอน รวมทั้งดินแดนระหว่างเทือกเขาร๊อกกี้และแคลิฟอร์เนีย รวมแล้วเกือบ ๑.๕ ล้านตารางไมล์ ลำพังการได้ดินแดนใหม่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้การเมืองอเมริกันวิกฤตได้ แต่ที่เป็นเชื้อเพลิงสุมให้ไฟขัดแย้งปะทุแล้วลามปามออกไปใหญ่โตได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้รัฐใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นเป็นรัฐทาสหรือไม่ นั่นคือจะปล่อยให้ทาสและระบบทาสขยายตัวเติบใหญ่ไปอย่างไม่สิ้นสุดหรือ ที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะในเวลานั้นได้เกิดขบวนการต่อต้านทาสหรือขบวนการเลิกทาส (Abolition Movement)ภายใต้การนำของนักเลิกทาสหนุ่มวิลเลียม ลอยด์ แกริสัน อารมณ์และสไตล์การปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นทำลายระบบปกครองที่สนับสนุนทาส อันเป็นระบบสามานย์นั้น ละม้ายและใกล้เคียงกับผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยิ่งนัก ที่สำคัญคือการหักไม่ยอมงอ ชูคำขวัญศีลธรรมและจริยธรรมมาสู้กับ ระบอบทาส(ระบอบทักษิณ) จัดตั้งกลุ่มม๊อบเข้าชนและไล่พวกนายทาสภาคใต้ที่เข้ามาในรัฐทางเหนือ เชื่อในการบรรลุจุดหมายด้วยทุกวิถีทาง รวมทั้งการใช้ความรุนแรง นั่นคือจุดหมายให้ความชอบธรรมแก่วิธีการ ราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน นักปรัชญาประกาศว่า การได้ชัยชนะเหนือเม็กซิโก จะเป็นยาพิษสำหรับเรา
เมื่อประเด็นเรื่องทาสถูกทำให้เป็นนโยบายระดับชาติ เป็นปัญหาที่รัฐสภาคองเกรสและรัฐบาลกลางต้องมีจุดยืนและนโยบายอันแน่ชัดว่าจะเอาอย่างไร พรรคการเมืองระดับชาติทั้งสองก็ต้องตอบคำถามดังกล่าวนี้ต่อประชาชนและสมาชิกพรรคของตนให้ได้ ปัญหานี้ค่อยๆนำไปสู่การแตกร้าวภายในพรรควิก ระหว่างสมาชิกพรรควิกทางเหนือที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามเม็กซิโกและการขยายทาสไปในดินแดนตะวันตก ส่วนสมาชิกพรรควิกทางใต้กลับเห็นตรงข้าม พวกเขาสนับสนุนสงครามเม็กซิโกและการขยายทาสไปในดินแดนใหม่ๆ ในที่สุดพรรควิกก็ไม่สามารถมีจุดยืนและนโยบายของตนเองในเรื่องทาสและดินแดนใหม่ พรรคแตกเป็นสองเสี่ยง ภาคเหนือไม่เอาทาส ภาคใต้เอาทาส ต่อปัญหาสงครามเม็กซิโก เฮ็นรี่ เคลย์ไม่เห็นด้วย เขาประณามการทำสงครามครั้งนี้ ว่าเป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นการรุกรานเพื่อนบ้านด้วย ลิงคอล์นก็เห็นด้วยกับเคลย์ในการคัดค้านการทำสงครามเม็กซิโก เขาถึงกับกล่าวประณามในสภาคองเกรส แต่เมื่อเขากลับบ้านมาถึงสปริงฟีลด์ อิลลินอยส์ เขาถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ในจุดยืนเรื่องนี้อย่างมากจากชาวบ้านและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนการทำสงครามเม็กซิโกอย่างเต็มที่  แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานสนิทอย่างบิลลี่ เฮอร์นดันก็ยังเชื่อว่าการทำสงครามเม็กซิโกเป็นสิ่งที่ถูก และการส่งกองทัพไปยังแม่น้ำ Rio Grande เพื่อป้องกันการรุกรานของฝ่ายเม็กซิโกก็ชอบธรรมด้วยเหมือนกัน
ประวัติศาสตร์สหรัฐฯและชีวิตของลิงคอล์นรวมทั้งของคนทั้งขาวและดำอีกไม่ต่ำกว่า ๕ แสนกว่าคนจะไม่ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หากรัฐสภาคองเกรสในเดือนพฤษภาคม ปี ๑๘๕๔ ไม่ผ่านกฎหมายฉบับที่เป็นปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิติบัญญัติอเมริกัน นั่นคือกฎหมายแคนซัส-เนบราสกา (Kansas-Nebraska Act 1854) อันมีสาระสำคัญที่การรับรองสิ่งที่พรรคเดโมแครตผู้เสนอกฎหมายนี้เรียกว่าหลักการ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน(Popular Sovereignty) กล่าวคือให้ดินแดนใหม่ทั้งหลายสามารถตัดสินด้วยการร่างธรรมนูญของตนเองว่าจะต้องการเป็นรัฐทาสหรือรัฐเสรี ฟังดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็ให้เสียงข้างมากตัดสินก็น่าจะชอบธรรมแล้วไม่ใช่หรือ แต่ที่ทำให้เป็นปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่มาก ถึงขั้นลุกลามกลายเป็นวิกฤตแห่งชาติไป ก็เมื่อกฎหมายนี้ไปยกเลิกกฎหมายเก่าว่าด้วยการประนีประนอมรัฐมิสซูรี่ ปี ๑๘๒๐ ลงไป ทำให้การขยายทาสและระบบทาสไปในดินแดนกว้างใหญ่ในตะวันตกกลายเป็นความชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายไป 
ทั้งหมดรวบยอดไปที่การโต้ถียงและต่อสู้กันระหว่างความเป็นทาสกับความเป็นไท ระหว่างความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับความเป็นทาสที่ไม่รับรองความเป็นมนุษย์ของคนอีกกลุ่มหนึ่งไป
ถึงจุดนี้ลิงคอล์นไม่อาจทนฟังข่าวและดูการโต้เถียงกันในสภาคองเกรสและในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างสงบได้อีกต่อไป นักการเมืองหัวเมืองผู้ไม่มีบารมีและอำนาจอิทธิพลใดๆในพรรควิกและในรัฐสภาคองเกรสหรือในทำเนียบขาว ข่าวการผ่านกฏหมายเนบราสกามาถึงขณะที่เขากำลังว่าความอยู่ในศาลที่เมืองเออร์บานา ข่าวนี้ทำให้เขาตัวแข็งเหมือนถูกฟ้าผ่า มึนงงไม่อาจพูดอะไรได้ ข่าวนี้ปลุกให้เขาตื่นจากภวังค์อย่างที่ไม่เคยถูกปลุกมาก่อน เบื้องหน้าเขา ภาพของสาธารณรัฐแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วยการให้ไฟเขียวแก่ระบบทาส.
 
ลิงคอล์นกับจุดยืนในปัญหาเรื่องทาส
หากจะกล่าวว่าปัญหาเรื่องทาสเป็นแรงบันดาลใจให้กับลิงคอล์นในการก้าวขึ้นไปสู่บันไดขั้นสุดท้ายแห่งความสำเร็จในอาชีพนักการเมืองคือการได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯก็คงได้ เหนือสิ่งอื่นใดความหนักหน่วงของปัญหาทาสบังคับเขาให้เข้าไปในห้องสมุดของเมืองแล้วลงมือทำการค้นคว้า ศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบทาสในสหรัฐฯตั้งแต่แรกถึงยุคปฏิวัติ อุดมการณ์มหาชนรัฐที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศได้วางไว้ให้แนวทางแก่เรื่องทาสอย่างไร รัฐธรรมนูญจัดการกับปัญหาทาสได้ไหม สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เมื่อมองกลับไปยังจุดเปลี่ยนในตัวลิงคอล์นและอนาคตของสหรัฐฯที่จะมากับการนำของเขา ทำให้ได้ข้อสรุปอันหนึ่งว่า ปัญหาทาสได้เปลี่ยนแปลงลิงคอล์นจากนักการเมืองท้องถิ่นผู้หยาบกระด้าง มาสู่การเป็นรัฐบุรุษ-นักปรัชญาและอัจฉริยะทางวรรณศิลป์ไปได้ 
นับจากวันแรกที่ลิงคอล์นเข้าสู่วงการเมืองและสภาคองเกรส เขาได้แสดงจุดยืนในการโหวตลงคะแนนเสียงในญัตติและกฎหมายหลายฉบับหลายเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทาสมาแล้ว กล่าวโดยรวม จุดยืนของเขาคือไม่ได้มองว่าทาสเป็นสิ่งเลวร้ายที่ต้องกำจัดหรือทำลายลงไป ดังที่ขบวนการเลิกทาสได้เคลื่อนไหวอยู่อย่างครึกโครมในภาคเหนือ โดยส่วนตัวเขาไม่สนับสนุนการเอาคนอื่นลงมาเป็นทาสและถูกกระทำทารุณกรรมต่างๆ แต่เท่าที่เป็นมาเขายังมองเหมือนกับคนจำนวนมากว่าระบบทาสในภาคใต้เป็นความจำเป็นและต่อเนื่องมาจากอดีต ที่สำคัญคืออย่าให้ระบบทาสเติบใหญ่ไปมากกว่านี้ เขาจึงเห็นด้วยกับเฮ็นรี่ เคลย์ว่าควรหาทางเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป และในที่สุดให้ส่งบรรดาคนผิวดำกลับไปแอฟริกาหรืออาณานิคมที่อื่น สองญัตติที่ลิงคอล์นแสดงจุดยืนของเขาต่อปัญหาเรื่องทาส คือการคัดค้านการทำสงครามเม็กซิโก และเห็นด้วยกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรสนายเดวิด วิลม๊อตเรียกว่า Wilmot Proviso ที่ห้ามไม่ให้มีทาสในดินแดนใหม่ที่ได้มาจากสงครามเม็กซิโก 
แต่หลังจากวันที่กฎหมายแคนซัสเนบราสกาออกมา ลิงคอล์นปรับจุดยืนต่อปัญหาทาสใหม่ เขาถือโอกาสวันที่นายสตีเฟน ดักลัส สมาชิกวุฒิสภาจากอิลลินอยส์ คู่แข่งคนสำคัญของเขา มาทำการปราศรัยในเรื่องกฎหมายใหม่นี้ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหมู่ประชาชนที่เมืองเพโอเรีย รัฐอิลลินอยส์ หลังจากฟังคำปราศรัยของดักลัสซึ่งกินเวลาหลายชั่วโมงจบลง ลิงคอล์นซึ่งได้ประกาศก่อนหน้าแล้วว่าเขาจะขึ้นปราศรัยตอบโต้ดักลัส ได้ลุกขึ้นประกาศต่อที่ประชุมในศาลากลางของเมืองว่า เขาขอเลื่อนการปราศรัยออกไปในเวลาเย็น เพื่อให้ดักลัสได้ฟังคำปราศรัยของเขา และจะให้ดักลัสกล่าวตอบด้วย เขาเสนอเช่นนี้โดยหวังว่าประชาชนผู้สนับสนุนดักลัสจะได้อยู่ฟังคำพูดและข้อหักล้างของเขาด้วย การปะทะโต้วาทีกันระหว่างลิงคอล์นกับดักลัสครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจะนำไปสู่การโต้วาทีระหว่างคนทั้งสองอีกหลายครั้งในปัญหาเรื่องทาสนี้
สุนทรพจน์ที่เพโอเรีย (Peoria Speech) ถือกันว่าเป็นสุนทรพจน์ที่สำคัญมากอันหนึ่งของลิงคอล์น เพราะมันเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญต่อภาพลักษณ์และนโยบายการเมืองของเขา ซึ่งจะให้คำตอบและให้ความหวังแก่ประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เขาใช้เวลาราว ๓ ชั่วโมงในการแสดงเหตุผลและข้อโต้แย้งที่มีต่อกฎหมายแคนซัสเนบราสกาและทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของปวงชนของดักลัสและพรรคเดโมแครต คำปราศรัยของเขาครอบคลุมทั้งทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และระบบทาส อุดมการณ์จากคำประกาศเอกราชที่ร่างโดยธอมัส เจฟเฟอร์สัน และรัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาทางจริยธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง 
ประการแรก เขากล่าวว่าทาสและระบบทาสเป็นสิ่งที่ผิดในทางศีลธรรม ดังที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศได้กล่าวไว้แล้วแต่สมัยการปฏิวัติอเมริกา เพราะว่าระบบทาสสร้างให้เกิดความอยุติธรรมอันมหันต์ขึ้น 
ประการที่สอง บิดาผู้ก่อตั้งประเทศยอมรับว่าทาสเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสหรัฐฯที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวขึ้นมา แต่ก็ได้วางหนทางให้แก่การยกเลิกระบบทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปในที่สุด เช่นการกำหนดให้ยุติการค้าทาสระหว่างประเทศหลังจากผ่านรัฐธรรมนูญไป ๒๐ ปี
ประการที่สาม รัฐสภาคองเกรสได้มีกฎหมายประนีประนอมมิสซูรี่ในปี ๑๘๒๐ เพื่อจำกัดการขยายตัวของระบบทาสไปในดินแดนตะวันตก ทำให้ระบบการเมืองเกิดดุลยภาพ ลดความขัดแย้งระหว่างภาคลงไปได้ แต่บัดนี้กฎหมายแคนซัสเนบราสกากลับทำลายหลักการนั้นลงไปเสีย   ด้วยการทำให้การขยายทาสไปยังดินแดนใหม่เป็นสิ่งชอบด้วยกฎหมายและเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนอีก แต่ในการใช้สิทธินี้ก็มีแต่คนผิวขาวเท่านั้นที่ใช้ได้ ไม่ใช่คนทุกคน
ประการที่สี่ กฎหมายแคนซัสเนบราสกาเป็นนโยบายที่หัวรุนแรงยิ่ง เพราะมันปฏิเสธหลักการและอุดมการณ์ที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศเอกราชของอเมริกา ลบล้างเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญมันทำให้ประเด็นเรื่องทาสกลายมาเป็นการโต้แย้งระดับชาติ ในขณะที่ลดประเด็นเรื่องเสรีภาพให้ลงมาเป็นเรื่องท้องถิ่น เป็นการกลับหัวกลับหางไปเสียสิ้นที่หนักหน่วงคือการที่ลิงคอล์นประณามดักลัสว่าเป็นพวกเหยียดผิว (racism) ด้วยการทำให้ทาสกลายเป็นทรัพย์สินของเจ้าของทาสผิวขาว ไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวทาสผิวดำเลย
ประเด็นนี้ฟังแล้วทำให้ดูเหมือนลิงคอล์นเป็นฝ่ายเห็นอกเห็นใจทาสผิวดำ แสดงว่าเขาก็ต้องเป็นพวกขบวนการต่อต้านทำลายทาสไปด้วยหรือเปล่า ในความเป็นจริงลิงคอล์นไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเห็นด้วยกับขบวนการทำลายทาสขณะนั้น เขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงและเกินเลยไป ความที่เขามาจากคนขาวที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทาส ทำให้เขาไม่มีผลประโยชน์อะไรใกล้เคียงกับนายทาส ทรรศนะต่อระบบทาสก่อรูปมาจากประสบการณ์ที่เขาเคยเห็นและรู้จักพวกทาสในเคนตักกี้และในกรุงวอชิงตันเมื่อเขาเป็นสมาชิกสภาคองเกรส กล่าวได้ว่าเขามีความรู้สึกสงสารและเห็นใจในความทุกข์ของพวกทาส แต่ในทางการเมืองเขาก็รู้เหมือนกันว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่นายทาสและคนใต้ผิวขาวส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้คนภาคอื่นมาแตะต้องยุ่งเกี่ยวตัดสินเรื่องทาสของพวกเขาไปได้ ดังนั้นที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลและคองเกรสของทั้งสองพรรค จึงพยายามทำให้ปัญหาขัดแย้งเรื่องทาสเป็นเรื่องภายในรัฐ อย่านำเข้ามาเป็นปัญหาในระดับชาติ
ประการสุดท้าย ว่าด้วยทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ลิงคอล์นวิพากษ์พรรคเดโมแตรตโดยเฉพาะสตีเฟน ดักลัสว่ากระทำการอันดูหมิ่นและทำลายเจตนารมณ์ของคำประกาศเอกราชลงไป ทฤษฎีใหม่ไม่อาจเอามาแทนหรือมาเคียงข้างคำประกาศเอกราชได้ คำประกาศเอกราชฯยืนยันว่าอำนาจอันชอบธรรมของรัฐบาลมาจากความเห็นชอบของประชาชน นำไปสู่หลักการปกครองตนเองของประชาชน ซึ่งให้ความเสมอภาคแก่ประชาชนทุกคนรวมทั้งคนผิวดำด้วย ในขณะที่หลักการอำนาจอธิปไตยของปวงชนของดักลัสนี้ ให้อำนาจปกครองแก่ประชาชนที่เป็นคนผิวขาวเท่านั้น ไม่มีการยอมรับโดยประชาชนทั้งหมด การเลือกตั้งในดินแดนใหม่กระทำไปโดยคนผิวขาวด้วยกันเองทั้งสิ้น อำนาจรัฐอย่างนี้จึงไม่ชอบธรรมไม่ยุติธรรม 
นั่นคือคำปราศรัยที่เพโอเรีย ๑๘๕๔ นับจากนั้นมาลิงคอล์นก็เปลี่ยนจากนักการเมืองรัฐหัวเมือง มาเป็นนักการเมืองระดับประเทศ เขาเริ่มแสดงสุนทรพจน์และคำปราศรัยในปัญหาเรื่องทาสที่กำลังลุกลามไหม้ไปมากขึ้นเรื่อยๆทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ณ เวลานั้นเขาตระหนักแล้วว่า เขาไม่ใช่คนของพรรควิกหรือพรรคหนึ่งพรรคใด เขามองเห็นบทบาทและภาระหน้าที่ของเขามากกว่านักการเมืองที่ดีของพรรค
พรรครีพับลิกันกับการเมืองของระบบทาส (Politics of slavery)
การกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งของลิงคอล์น ไม่ได้มาในสถานการณ์ปกติ หากแต่เป็นระยะของการก่อตัวของวิกฤตทางการเมืองแห่งชาติ ผลกระเทือนของกฎหมายแคนซัส-เนบราสกาและปฏิกิริยาของนักการเมืองและประชาชนที่มีต่อปัญหาเรื่องทาส นำไปสู่การขัดแย้งและแตกแยกภายในพรรคทั้งวิกและเดโมแครต   ในขณะที่เดโมแครตภายใต้การนำของดักลัส หาเสียงกับบรรดานายทุนภาคเหนือและพ่อค้าในภาคตะวันตกตอนกลาง ว่าการเปิดดินแดนใหม่ในตะวันตกจะเป็นการขยายฐานของระบบเศรษฐกิจทุนอย่างมหาศาล รวมถึงการจะสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากภาคตะวันออกไปจนถึงภาคตะวันตก นโยบายดังกล่าวสามารถขายได้ค่อนข้างดี แต่นโยบายว่าด้วยอธิปไตยในดินแดนแคนซัสของเขาที่ไม่ทำตามความต้องการของคนภาคใต้ที่คิดว่า เมื่อประชาชนลงคะแนนเสียงชนะแล้ว สหรัฐฯก็ต้องรับเข้ามาเป็นรัฐใหม่ที่มีทาสเลย และให้รับรัฐใหม่แบบนี้ในดินแดนใหม่อื่นๆเข้ามาด้วยเลย ไม่ใช่แค่สิทธิในการเสนอว่าจะมีทาสหรือไม่ในดินแดนใหม่ ประเด็นนี้ดักลัสและพรรคเดโมแครตภาคเหนือรับไม่ได้เพราะแรงเกินไป  ทำให้สมาชิกเดโมแครตภาคใต้ต่อต้านดักลัส เมื่อถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรคเดโมแครตก็แตกออกเป็นสองก๊กไประหว่างภาคเหนือกับภาคใต้
 ส่วนพรรควิกที่ไม่สามารถเสนอนโยบายอื่นที่ดีกว่าของเดโมแครต    แกนนำพรรคในภาคเหนือที่ต่อต้านระบบทาสก็ออกมาโจมตีทฤษฎีอธิปไตยของปวงชนนี้เช่นเดียวกับลิงคอล์น ส่วนแกนนำพรรคในภาคใต้ก็ออกมาปกป้องและสนับสนุนแนวคิดนี้ พรรควิกจึงแตกออกเป็นเสี่ยงๆไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป    ดังนั้นเมื่อลิงคอล์นปรากฏตัวออกมาพร้อมกับการนำเสนอความคิดต่อปัญหาเรื่องทาสอย่างเป็นระบบและมีพลัง พรรครีพับลิกันซึ่งเพิ่งก่อตั้งไม่นาน ก็รีบมาติดต่อให้เขาเข้าเป็นสมาชิดกพรรคโดยทันที แต่เขาปฏิเสธเพื่อรอดูเวลาอันเหมาะสม เนื่องจากพรรครีพับลิกันมีชื่อเสียในภาคใต้ เพราะถูกโจมตีว่าเป็นพรรคที่ต่อต้านระบบทาส
กำเนิดของพรรครีพับลิกันก็น่าสนใจ    เนื่องจากพรรคนี้เป็นพรรคคนภาคเหนือโดยสิ้นเชิง ไม่มีคนใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเลย บรรดานักการเมืองที่รวมตัวกันตั้งพรรครีพับลิกันมาจากพวกอดีตพรรควิก พรรคฟรีซอย (Freee-Soil)พรรคลิเบอร์ตี้ และเดโมแครต แกนนำสำคัญทางอุดมการณ์ของรีพับลิกันที่มีชื่อเสียงได้แก่ ฮอเรซ กรีลีย์ (Horace Greeley) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้ากระบอกเสียงของพรรครีพับลิกัน นิวยอร์กทรีบูน New York Tribune  โดยมีคอลัมนิสต์ประจำคนหนึ่งที่ส่งบทความมาจากอังกฤษ เขาคือคาร์ล มาร์กซ ปรมาจารย์ของพรรคคอมมิวนิสต์ การหาเสียงเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันจึงต่างจากพรรคการเมืองระดับชาติก่อนหน้านี้ เพราะคราวนี้พรรครีพับลิกันไม่มีการควบคุมจากคนในท้องถิ่นภาคใต้เลย ภาพลักษณ์ของพรรครีพับลิกันจึงเป็นภยันตรายต่อเสรีภาพภาคใต้อย่างเต็มที่ 
ในปี ๑๘๕๔ พรรครีพับลิกันเข้าทำการเลือกตั้งในรัฐอิลลินอยส์ สามารถเอาชนะได้รับเลือกเข้ามาในรัฐสภาจำนวนมาก จนสามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ ๑ คน สมัยนั้นการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกยังเลือกทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรงจากประชาชน เป็นการเลือกจากสมาชิกรัฐสภาแห่งรัฐ พรรครีพับลิกันเสนอตำแหน่งวุฒิสมาชิกนี้ให้แก่ลิงคอล์น แต่เขาปฏิเสธ ด้วยการเสนอให้แก่อดีตสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ซึ่งมาเข้าร่วมพรรครีพับลิกันแทน ในปี ๑๘๕๖ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรครีพับลิกันเสนอนายฟรีมองต์ ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักเดินทางค้นคว้า และพรรคฯเสนอชื่อลิงคอล์นให้เป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งเขารับข้อเสนอนี้ แต่เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าเขารับเพราะไม่คิดว่าเป็นตำแหน่งการเมือง ลึกๆเขากำลังคิดถึงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในอนาคตต่างหาก
ในปี ๑๘๕๘ ความฝันของเขาก็มาถึง พรรครีพับลิกันส่งเขาเข้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกอิลลินอยส์กับวุฒิสมาชิกสตีเฟน ดักลัสเจ้าของตำแหน่งเดิม ในวันรับการเสนอชื่อนี้ เขาได้แสดงสุนทรพจน์ต่อปัญหาเรื่องทาสและนโยบายของพรรครีพับลิกันว่าจะดำเนินไปอย่างไร ชื่งต่อมาได้กลายมาเป็นวรรคทองในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันไป นั่นคือประโยคที่เขาอ้างมาจากคัมภีร์ไบเบิลถึงสถานการณ์ของความแตกแยกภายในประเทศว่า บ้านที่แตกแยกกันเองไม่อาจตั้งอยู่ได้[6] ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐบาลไม่อาจทนอยู่ได้ตลอดไปในสภาวะกึ่งทาสกึ่งไท ข้าพเจ้าไม่คาดหวังว่าสหรัฐฯจะถูกทำลายไป ข้าพเจ้าไม่คาดคิดว่าบ้านหลังนี้จะต้องพังทะลายลงไป แต่ข้าพเจ้าคาดหวังว่ามันจะยุติความแตกแยกลงไป มันจะต้องกลายเป็นอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็อีกอย่างหนึ่ง
(In my opinion, it will not cease until a crisis shall have been reached and passed. "A house divided against itself cannot stand." I believe this government cannot endure permanently half slave and half free. I do not expect the Union to be dissolved; I do not expect the house to fall; but I do expect it will cease to be divided. It will become all one thing, or all the other.)
ก่อนหน้านี้ในปี ๑๘๕๗ ศาลสูงแห่งสหรัฐฯได้พิพากษาคดีที่มีชื่อว่า เดร็ด สก๊อต อันเป็นชื่อของทาสนิโกรที่ฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นไทแก่ตน จากการที่นายทาสได้พาเขาเดินทางเข้าไปในรัฐที่เสรีคือไม่มีกฎหมายรับรองการมีทาส  ศาลสูงภายใต้ประธานรอเจอร์ บี. เทย์นีย์ ซึ่งเป็นคนใต้ ได้ลงมติเสียงข้างมากว่า คนนิโกรทั้งที่เป็นทาสและไม่ก็ตาม ไม่เคยเป็นพลเมืองอเมริกัน เพราะในเอกสารคำประกาศเอกราชและรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่านิโกรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ตรงกันข้ามเอกสารดังกล่าวถือว่านิโกรเป็นคนที่อยู่ในลำดับต่ำ ไม่เหมาะสมที่จะเข้ามามีความสัมพันธ์กับคนเชื้อชาติขาว ดังนั้นจึงไม่อาจใช้สิทธิต่างๆได้เหมือนกับคนผิวขาว ประการต่อมาในเรื่องอธิปไตยในดินแดนใหม่ ศาลสูงตัดสินว่าคองเกรสไม่มีสิทธิอำนาจในการห้ามไม่ให้มีทาสในดินแดนใหม่ๆ คองเกรสไม่อาจห้ามไม่ให้มีทาสในดินแดนใหม่ และไม่อาจบังคับให้รัฐบาลในดินแดนใหม่ปฏิเสธการมีทาส เพราะการกระทำนั้นเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว ลิงคอล์นได้ใช้ประเด็นคำตัดสินคดีนี้ในการวิวาทะกับดักลัสอีกยกหนึ่ง คดีเดร็ด สก๊อตแสดงว่าบัดนี้สถาบันสูงสุดของประเทศคือศาลสูงก็ได้เข้ามาถือหางในการต่อสู้ระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ไปด้วย ทำให้ความขัดแย้งนี้ยิ่งรุนแรงขึ้น ต่อคำตัดสินคดีนี้ลิงคอล์นก็วิพากษ์ความเห็นของคำพิพากษา แต่ไม่ได้วิพากษ์ศาลและผู้พิพากษา เขาจำแนกระหว่างความเห็นของผู้พิพากษากับสถาบันตุลาการ อันแรกวิพากษ์วิจารณ์ได้ส่วนอันหลังเขาไม่ทำ
ในที่สุดรัฐสภาแห่งอิลลินอยส์ลงคะแนนเสียงข้างมากเลือกสตีเฟน ดักลัส เป็นสมาชิกสภาสูงอีกวาระหนึ่ง ลิงคอล์นต้องพ่ายแพ้คู่ปรับเก่าอีกคำรบหนึ่ง แต่คำปราศรัยของเขากลับยิ่งโด่งดังไปทั่วประเทศ เขากลายเป็นดาราการเมืองไป แม้จะแพ้ในเวทีของรัฐก็ตาม 
ในปี ๑๘๖๐ อันเป็นปีที่จะมีการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี ลิงคอล์นได้รับเชิญให้ไปปราศรัยในมหานครนิวยอร์กให้แก่บรรดาชนชั้นนำนายทุนและแกนนำของพรรครีพับลิกัน ที่ตลกคือลิงคอล์นปรากฏตัวในห้องประชุมนั้นในชุดเก่าซอมซ่อดูไม่มีราศีเลย จนกระทั่งเขาเปล่งเสียงและถ้อยคำพรั่งพรูออกมาจากปากเขา นั่นแหละกระฎุมพีนิวยอร์กถึงนั่งฟังอย่างสงบและก้มหัวให้กับความคิดอันแหลมคมของเขา จากการปราศรัยที่ Cooper Union เขากลับออกมาในฐานะของผู้นำปัญญาชนของพรรครีพับลิกันที่มีคารมคมคายที่สุด
ในเดือนพฤษภาคม ปี ๑๘๖๐ ที่ประชุมสมัชชาพรรครีพับลิกันแห่งชาติที่ชิคาโกได้ลงมติให้ลิงคอล์นเป็นผู้สมัครของพรรคเข้าแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี แกนนำสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้สมาชิกตัวแทนของพรรคส่วนใหญ่ในภาคเหนือลงคะแนนให้กับลิงคอล์นก็คือฮอเรซ กรีลีย์นั่นเอง
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๑๘๖๐ ลิงคอล์นได้รับชัยชนะในคะแนนเสียงจากประชาชน(แม้จะน้อยกว่าร้อยละ ๔๐) และจากคณะผู้เลือกตั้ง ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกา เขาสามารถเอาชนะคู่ปรับเก่าคือสตีเฟน ดักลัสได้ในที่สุด ด้วยตำแหน่งที่สำคัญและสูงที่สุด เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพรรครีพับลิกันที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากภาคเหนือ แต่ไม่ได้คะแนนจากภาคใต้เลย (ได้คะแนนนำใน ๒ เขตจาก ๙๙๖ เขตในภาคใต้เท่านั้น)
กล่าวได้ว่า ในวันสุกดิบของการตัดสินอนาคตทางการเมืองของประเทศ  การที่พรรคเดโมแครตก็มาแตกแยกกันภายในอย่างไม่อาจเยียวยาได้ ยิ่งทำให้เชือกสายสุดท้ายที่ร้อยรัดความร้าวฉานระหว่างสองภาคต่ออนาคตสหรัฐฯนั้นขาดลอยไป ระบบสองพรรคที่แม้พรรควิกจะพังไปก่อนหน้านี้เล็กน้อย และพรรครีพับลิกันกำลังก่อรูปขึ้นมาเป็นพรรคระดับชาติ แต่จริงๆแล้ว พรรคทั้งสองก็ไม่พร้อมที่จะดำเนินการเมืองในระบบสองพรรคแบบที่ได้ทำกันมาก่อนหน้านี้ได้ ทำให้สถานการณ์หลุดลอยไปอย่างรวดเร็ว
กล่าวคือการแตกของพรรคเดโมแครตเอง ยิ่งทำให้คนใต้มองพรรครีพับลิกันว่าไม่ใช่พรรคการเมืองในระบบชาติอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ความหวังและทางออก นั่นคือพวกภาคใต้ไม่ต้องการต่อสู้ในระบบกันอีกต่อไป แสดงว่าพรรคเดโมแครตหมดสภาพของการเป็นกลไกของระบบสองพรรค จึงพูดได้ว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งสุดท้ายก่อนสงครามกลางเมือง ระบบสองพรรคไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแท้จริงอีกต่อไปแล้ว มีแต่ระบบพรรคเดียว และพรรคเดียวที่กำลังมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นพรรคที่ต่อต้านและเป็นศัตรูกับภาคใต้เท่านั้นเอง
ประเด็นสำคัญในการล่มสลายของพรรคการเมืองในระบบสองพรรค มาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่มีรากฐานมาจากความแตกต่างระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ กับผลจากการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเมืองของระบบประชาธิปไตย ได้แก่การเกิดพลังมวลชนรากหญ้ารากแก้วหลากหลายต่างๆที่เป็นประชาธิปไตย  พวกเขาออกมาเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรมและผลประโยชน์ของฝ่ายตน กระทั่งพรรคการเมืองเองก็ไม่อาจดำรงบทบาทของการเป็นที่รวมของความแตกต่างในผลประโยชน์และความคิดอุดมการณ์ของคนทั้งประเทศเอาไว้ได้อีกต่อไป 
ทันทีที่ข่าวชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแพร่ไปทั่วภาคใต้ กระแสการต่อต้านอย่างมีจุดหมายแน่นอนก็ก่อตัวขึ้นในทุกรัฐ ไม่นานคำตัดสินใจก็มาถึง วันที่ ๒๐ ธันวาคมปีนั้นรัฐเซาท์แคโรไลนาประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยอีก ๖ รัฐในภาคใต้สุด วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๑๘๖๑ บรรดารัฐทางใต้จากเซาท์แคโรไลนาถึงเท๊กซัสประกาศตั้งสหพันธรัฐอเมริกา (the Confederate States of America) และเลือกเจฟเฟอร์สัน เดวิสเป็นประธานาธิบดีของสหพันธรัฐฯ
   ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเงื่อนไขการเกิดสงครามกลางเมืองมาจาก ประการแรก การล้มเหลวของการประนีประนอมทางการเมืองในปี  ๑๘๕๐ ต่อปัญหาเรื่องทาสระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ จนนำไปสู่การเกิดกรณีแคนซัส-เนบราสกาและการนองเลือดที่ตามมาในดินแดนนั้น   ประการที่สองเกิดจากการพังทลายของระบบสองพรรคที่กำกับและควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ยกระดับไปสู่ความรุนแรง รวมถึงการที่ศาลสูงเข้ามาเล่นการเมืองด้วย ทำให้กลุ่มและพรรคที่เหลืออยู่ต้องเลือกเอาว่าจะดำเนินนโยบายที่ไม่ตอบสนองความต้องการและอารมณ์ของประชาชน ซึ่งก็คือการสลายตัวของพรรค หรือจะเป็นผู้นำประชาชนเข้าสู่การตัดสินว่าจะจัดการความขัดแย้งทางอุดมการณ์นี้อย่างไรซึ่งก็คือการเร่งให้ความรุนแรงระเบิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ลิงคอล์นกับสงครามกลางเมืองและการเลิกทาส
ประวัติศาสตร์ระยะที่สำคัญที่สุดในชีวิตของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯของลิงคอล์นคือ ท่าทีและจุดยืนต่อปัญหาความแตกแยกระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ในปัญหาเรื่องระบบทาส คำถามคือประธานาธิบดีลิงคอล์นได้แก้ความแตกแยกนั้น หรือกลับทำให้ความแตกแยกหนักหน่วงขึ้นถึงขั้นนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ในความเห็นของผมจุดยืนของลิงคอล์นต่อปัญหาความแตกแยกระหว่างสองภาคนั้น มีลักษณะสมเหตุสมผลและเป็นกลางอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากสุนทรพจน์ที่เมืองเพโอเรียถึงวันรับตำแหน่งผู้สมัครแข่งขันประธานาธิบดีและในนิวยอร์ก เขายืนยันว่าสิ่งสูงสุดที่เขาจะต้องรักษาคือสหรัฐฯ ไม่ใช่ระบบทาสหรือไม่ใช่ทาส เขากล่าวว่าหากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการทาส เขาก็จะให้มีทาส หากคนส่วนใหญ่ตัดสินไม่เอาทาส เขาก็จะไม่ให้มีทาส สภาพที่เป็นปัญหาคือการยอมให้มีทั้งสองระบบในเวลาเดียวกัน กึ่งทาสกึ่งเสรี ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่อาจปฏิบัติได้ แต่ถ้าหากให้เขาเป็นคนเลือกทางออก เขาก็เสนอแนวทางประนีประนอม คือการให้ระบบทาสหมดไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ลิงคอล์นมีจุดยืนประเด็นนี้เหนียวแน่น เพราะเขากล่าวว่านี่คือจุดยืนทางการเมืองของบิดาผู้สร้างสหรัฐฯในคำประกาศเอกราชและในรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นนโยบายและเจตนารมณ์ของสหรัฐฯตั้งแต่แรก ที่ยอมรับฐานะการดำรงอยู่ของทาสในประเทศ เพราะว่าทาสเป็นทรัพย์สินของเจ้าของเหมือนการมีทรัพย์สินอื่นๆ รัฐบาลไม่อาจยกเลิกการถือครองในทรัพย์สินที่เจ้าของได้มาอย่างชอบธรรมตามกฎหมายได้ นี่คือที่มาของการที่เขาไม่โจมตีระบบทาสว่าเป็นระบบสามานย์อันเลวร้ายที่ทำลายความเป็นมนุษย์ดังที่ขบวนการทำลายทาสปลุกระดมอยู่ทุกวันตามสื่อต่างๆ กล่าวโดยสรุปหากไม่เกิดสงครามกลางเมือง มีความเป็นไปได้ที่ระบบทาสอเมริกันอาจถูกเลิกด้วยวิธีที่สันติและสงบโดยลิงคอล์น เหมือนดังการเลิกทาสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแห่งสยามประเทศได้เหมือนกัน
ต่อปัญหาการเลิกทาส มีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของลิงคอล์นที่ฉีกออกไปเป็น ๒ ขั้ว ฝ่ายหนึ่งวิจารณ์ว่านโยบายและการปฏิบัติต่างๆต่อเรื่องทาสของเขาเป็นแบบอนุรักษ์นิยม คือไม่ได้ทำลายระบบทาสอย่างจริงจัง ตั้งแต่ก่อนได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเลิกทาส ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไรก็ตาม ลิงคอล์นไม่เคยพูดถึงการเลิกทาสเลยไม่ว่าที่ไหนๆก็ตาม อย่างนี้จะแสดงว่าเขาไม่ได้สนับสนุนระบบทาสได้อย่างไร หลังจากสงครามกลางเมืองอุบัติขึ้น ลิงคอล์นก็ไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการปลุกระดมให้บรรดาทาสในไร่ภาคใต้หนีจากนายทาสมาเข้ากองทัพภาคเหนือเสีย เสียเวลาและเสียกำลังทหารไปจำนวนมาก กว่าลิงคอล์นจะยอมให้ใช้นโยบายรับเอาทาสที่หนีจากนายเข้ามาเป็นทหารในกองทัพฝ่ายสหรัฐฯ สุดท้ายแม้เมื่อเขาประกาศการเลิกทาส (Emancipation Proclamation 1863) แต่ในความเป็นจริง คำประกาศนั้นก็ไม่สามารถเลิกทาสได้สักคนเดียว เพราะกองทัพฝ่ายเหนือยังไม่อาจยึดรัฐทางใต้ได้ แล้วจะทำให้ทาสในภาคใต้เป็นไทได้อย่างไรเล่า รวมๆแล้วนักวิจารณ์ฝ่ายแรกนี้เห็นว่าแท้จริงแล้วลิงคอล์นไม่ได้ต้องการจะเลิกทาสอย่างจริงจัง หากทำไปตามสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลักเท่านั้นเอง
ตรงกันข้ามอีกฝ่ายหนึ่งกลับมองว่าลิงคอล์นมีจุดยืนและนโยบายที่ราดิคัล คือมีความรุนแรงและเด็ดเดี่ยวในการจัดการปัญหาเรื่องทาสให้ลุล่วงไปให้ได้ ฝ่ายหลังนี้มองว่าเมื่อภาคใต้ประกาศแยกตัวออกไปจากสหรัฐฯ นำไปสู่ภาวะของการเป็นสงครามกลางเมือง นั่นคือความขัดแย้งได้เปลี่ยนจากภายในประเทศ มาสู่การเป็นสงครามระหว่างรัฐ ท่าทีต่อผู้นำฝ่ายใต้ไม่ใช่เป็นพวกกบฏอีกต่อไป หากกลายเป็นผู้นำการปฏิวัติ การจัดการและตอบโต้เปลี่ยนมาเป็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเต็มที่ นี่เองเป็นเหตุที่ลิงคอล์นประกาศกฎอัยการศึก ระงับการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลกลางใช้เครื่องมือทุกรวมทั้งกฎหมายเพื่อปราบปรามฝ่ายปฏิวัติให้ได้ 
ส่วนการที่ลิงคอล์นไม่ใช้นโยบายเลิกทาสอย่างทันทีเมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ก็สืบเนื่องมาจากสภาวะของบรรดารัฐแดนต่อแดนหรือที่เรียกว่ารัฐชายแดน (border states) อันได้แก่มิสซูรี่ เคนตักกี้ แมรี่แลนด์ และเดลาแวร์ รัฐเหล่านี้ไม่ยอมตัดสินใจว่าจะเข้าข้างไหน ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ เพื่อดึงรัฐแดนต่อแดนให้เข้ามาเป็นพวก ลิงคอล์นจึงจำเป็นต้องเดินนโยบายเรื่องทาสอย่างกลางๆ เพราะรัฐเหล่านี้มีทาสและนายทาสหรือไม่ก็เห็นใจรัฐทางใต้ เขาจึงไม่อาจเสนอนโยบายเลิกทาสออกมาได้ก่อนเวลาอันควร จนกระทั่งในปี ๑๘๖๓ เมื่อสถานการณ์ทางทหารเรียกร้องให้รัฐบาลกลางดำเนินนโยบายที่ชัดเจน เพราะจะทำให้สามารถรุกฝ่ายใต้ได้ นั่นแหละคำประกาศเลิกทาสจึงเปล่งออกมา และนั่นหมายความว่าสงครามที่ทำกับภาคใต้ต่อนี่ไปไม่มีคำว่าหยุดหรือเจรจา นั่นคือที่มาของการทำลายล้างอย่างไร้ความปราณี ดังที่นายพลเชอร์แมนกรีธาทัพบุกและเผาเมืองทั้งหลายราบเป็นหน้ากลองจนถึงแอตแลนต้ารัฐจอร์เจีย กลายเป็นฉากอลังการในหนังฮิตทั้งศตวรรษเรื่อง วิมานลอย(Gone with the Wind)
บทเรียนจากลิงคอล์นและสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ
สำหรับเราการศึกษาประวัติของลิงคอล์นให้บทเรียนอะไรบ้าง ประการแรกคือความสำคัญของผู้นำสูงสุดในระบบการเมือง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บทบาทและความสามารถทุกอย่างของผู้นำการเมืองในท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงในรัฐเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้   ขณะนั้นมีพรรคการเมือง กลุ่มประชาชนทั้งซ้ายและขวา สื่อมวลชนที่แตกแยก แม้รัฐสภาคองเกรสและสภาสูงเซเนตก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ กระทั่งศาสนจักรก็แตกแยกกันระหว่างโบสถ์ฝ่ายเหนือกับโบสถ์ฝ่ายใต้ ต่างก็ตีความข้อความในคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องทาสที่ตรงข้ามกันเลย ไม่น่าเชื่อว่าสหรัฐฯจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วรรคทองของลิงคอล์นว่า บ้านที่แตกแยกกันเองไม่อาจตั้งอยู่ได้ ซึ่งมาจากพระคัมภีร์คริสตธรรมใหม่จึงกลายมาเป็นคำขวัญทางการเมืองของเขาไปได้อย่างงดงามที่สุด ข้อที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในภาวะการเป็นผู้นำของลิงคอล์น คือการที่เขาลงมือศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ที่สำคัญคือประวัติการเมืองของทาสในระบบประชาธิปไตยอเมริกัน  
ในแง่ของการเป็นผู้นำรัฐบาลและประเทศ ยังมีคำถามได้อีกว่า จริงๆแล้วลิงคอล์นแก้ปัญหาวิกฤตความแตกแยกภายในประเทศขณะนั้นลงไป หรือยิ่งช่วยเร่งวิกฤตนั้นให้แรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นระเบิดออกมาเป็นสงครามกลางเมืองเลย คำตอบต่อคำถามดังกล่าวนี้ จากวันโน้นถึงวันนี้ก็ยังมีคนตอบตรงกันข้าม ด้วยจุดยืนที่ตรงข้ามกัน นี่คือธรรมชาติของประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกที่สุดให้แก่คนทุกๆคนได้ในทุกเวลา สำหรับภาคเหนือ ลิงคอล์นเป็นวีรบุรุษ สำหรับภาคใต้เขาเป็นอาชญากรผู้ทำลายการปฏิวัติอเมริกา สำหรับนายทุนอุตสาหกรรมลิงคอล์นเป็นผู้นำผู้สร้างสหรัฐฯใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมเข้มแข็งขึ้น แต่สำหรับนายทาสเขาเป็นผู้ทำลายอารยธรรมภาคใต้และวัฒนธรรมของผู้ดีลงไป หากประเมินในผลทางการเมือง ลิงคอล์นประสบความสำเร็จในการปราบพวกกบฏภาคใต้  ในการสถาปนาอำนาจการปกครองของรัฐบาลกลางให้เข้มแข็งเหนือกว่าอำนาจรัฐต่างๆทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นเขากระทำลงไปอย่างไม่ลังเล เพราะจุดยืนทางชนชั้นของเขา ซึ่งคือคนผิวขาวชั้นล่างที่ยากจน สามารถเข้ากันได้กับผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมและชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อมวลชนหัวสมัยใหม่ ซึ่งมีความรู้สึกร่วมกันในการต่อต้านและทำลายระบบทาสในสหรัฐฯลงไป เหนือสิ่งอื่นใดอยู่ที่ประธานาธิบดีลิงคอล์นไม่ทรยศต่อจุดยืนของชนชั้นเขา --ชนชั้นผู้ใช้แรงงานผิวขาว นี่คือสาเหตุที่ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากในประเทศตลอดเวลาของการทำสงครามกลางเมือง กระทั่งทำให้เขาสามารถประกาศเป็นศัตรูกับชนชั้นนายทาสในภาคใต้อย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนก่อนหน้านั้นสามารถทำได้เลย ในทำนองเดียวกัน ผู้นำทางการเมืองในภาคใต้ก็ตัดสินใจถูกเหมือนกัน ที่ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯในทันที่ที่ลิงคอล์นได้รับชัยชนะในตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะพวกนั้นก็รู้เหมือนกันว่า ลิงคอล์นกับพรรครีพับลิกันในเวลานั้นไม่ใช่นักการเมืองและพรรคการเมืองแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว พวกเขารู้ดีว่าลิงคอล์นจะไม่รอมชอมอ่อนข้อให้กับภาคใต้ นับแต่นี้ไปจะไม่มีการประนีประนอม ไม่มีการเจรจา ไม่มีการทำความเข้าใจกันในหลักการสูงสุดในรัฐธรรมนูญกันอีกต่อไป เพราะมันถูกนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละภาคและใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามแล้ว ในที่สุดลิงคอล์นได้ผลักดันให้วิกฤตของความขัดแย้งดังกล่าวยกระดับขึ้นจากการปราบกบฏไปสู่การทำการปฏิวัติประเทศ ในมือของเขาสงครามกลางเมืองได้เป็นสงครามปฏิวัติ-- เป็นการปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ ๒
 การประเมินลิงคอล์นจึงไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่สงครามกลางเมือง หากที่สำคัญไม่น้อยกว่าและจริงๆแล้วอาจสำคัญอย่างมากกว่าชัยชนะของฝ่ายเหนือในสงครามกลางเมือง ก็คือผลรวมอันเกิดขึ้นหลังจากผ่านสงครามกลางเมืองไปแล้ว กล่าวได้ว่าสหรัฐฯที่ลุกขึ้นใหม่ภายหลังสงครามกลางเมือง ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศใหม่ในหลายๆด้าน นักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์บางท่านถึงกับกล่าวว่า สงครามกลางเมืองได้กระทำราวกับเป็นการปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ ๒ มันได้สร้างสหรัฐฯที่เป็นอีกประเทศขึ้นมา   สิ่งหนึ่งซึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนมาก แม้จะมีการเปลี่ยนพอสมควรหลังสงครามกลางเมืองคือบรรดาคนผิวดำที่ได้รับอิสรภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่ตามที่ได้คาดหวัง การเสียชีวิตของลิงคอล์นหลังจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ อย่างไม่คาดคิด มีส่วนทำให้แผนการเลิกทาสและให้ชีวิตใหม่แก่อดีตทาสต้องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 
การกลับขึ้นมามีบทบาทและช่วงชิงฐานะนำทางการเมืองของลิงคอล์นก็น่าสนใจ ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ นักปรัชญาประวัติศาสตร์อธิบายว่า การเกิดผู้นำวิเศษเหล่านั้นเฮเกลเรียกว่า "วีรบุรุษ" (Heroes) หรือมหาบุรุษ ผู้นำเหล่านั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่เข้าใจและยึดกุมสิ่งที่เป็นสากลและกฏเกณฑ์ใหญ่ได้ ทำให้สามารถเสนอออกมาเป็นจุดหมายและนโยบายของเขา และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริงสอดคล้องกับเจตจำนงของโลกและคนส่วนใหญ่ได้   มหาบุรุษเป็นเครื่องมือของประวัติศาสตร์  ในแง่นี้ลิงคอล์นอาจเปรียบได้กับหมอตำแย ที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดและสำเร็จลงไป  แต่ถ้าพิจารณาในบริบททางประวัติศาสตร์ ความสำเร็จของลิงคอล์นมาจากการที่เขาซื่อตรงต่อโลก(คือปัญหาระบบทาสและภาคใต้) และต่อตัวเขาเอง คือจุดยืนทางชนชั้นและทรรศนะคติความเชื่อที่มีต่อประวัติศาสตร์การเมืองของประชาธิปไตยในอเมริกา ที่สำคัญยิ่งลิงคอล์นยังมีสิ่งที่ผู้นำการเมืองส่วนมากไม่มี นั่นคือความเป็นมนุษย์ ที่มีความสังเวชสลดใจ คือความมีปรานีธรรม ความพยายามที่จะเข้าใจและเห็นใจในกันและกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขามี ความจริงใจทำให้เขาสามารถพูดและทำให้คนเห็นทางออกในตัวเขาขึ้นมาได้ ที่สำคัญลิงคอล์นพัฒนาปรับปรุงและยกระดับความคิดความเข้าใจต่อปัญหาภายนอกอยู่ตลอดเวลา อย่างเป็นกระบวนการ ทำให้เขาสามารถยืนฝ่าพายุใหญ่นี้ไปได้
ผมคิดว่าสำหรับประเทศที่ระบบและนักการเมืองอาชีพตกต่ำและไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงนั้น ควรอ่านและศึกษาประวัติการเล่นการเมืองของลิงคอล์น อาจช่วยให้มีความหวังในระบบการเมืองประชาธิปไตยต่อไป อันจะนำไปสู่การมีสติสัมปชัญญะและเกิดปัญญาในการช่วยสร้างและผลักดันระบบการเมืองประชาธิปไตยให้มีศักดิ์ศรีและประสิทธิภาพอย่างแท้จริงขึ้นมาได้บ้าง. 
 
ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี  ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๒๙๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หน้า 46-73.


[1]รองศาสตราจารย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2]โปรดดู เดล คาร์เนกี, ลิงคอล์น มหาบุรุษ, อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์โปร-เอสเอ็มอี, ๒๕๔๓, พิมพ์ครั้งที่ ๑ , ๒๔๙๔) ผู้แปลได้ชี้แจงจากการปรึกษาชาวอเมริกันว่าสำเนียงอ่านที่ถูกต้องคือลิงคอล์น และกระทรวงศึกษาธิการเวลานั้นก็เขียนเช่นนี้เหมือนกัน
[3]โปรดดูประวัติศาสตร์เรื่องชื่อของคนอเมริกันผิวดำใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ปอกเปลือกประชาธิปไตยในอเมริกา: ตำนานเรื่องคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๓๕), หน้า ๒๗๒-๒๗๘
[4] Richard Hofstadter, The American Political Tradition and the men Who Made it (New York: Vintage Books, 1973), 119.
[5]โปรดดู Stephen B. Oates, With Malice Toward None: The Life of Abraham Lincoln (New York: A Mentor Book, New American Library, 1977). หนังสือชีวประวัติลิงคอล์นเล่มนี้เป็นเล่มที่ดีมากเล่มหนึ่ง แนะนำให้ผู้สนใจอ่าน
[6] Mark 3:25 “And if a house is divided against itself, that house cannot stand.” ฉบับแปลภาษาไทย มาระโก 3:25  ถ้าครัวเรือนใดๆ เกิดแตกแยกกัน ครัวเรือนนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้ พระคริสตธรรมใหม่ ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (กรุงเทพฯ องค์การกีเดี้ยนส์อินเตอร์แนชันแนลแห่งประเทศไทย, ค.ศ. 1965, 1983)



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ