"ตามล่าหารัก"
บททางแยกของ พุทธศาสนาแบบไทย ทุนนิยม และภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย

เปรม สวนสมุทร
งานวิจัยนี้สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ความรักในสังคมไทย เพื่อศึกษามุมมองความรักที่พัฒนาไปตามสภาพของสังคม โดยมีกรอบความคิดพื้นฐานว่า สังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนาความรักในพุทธศาสนาคือ "ความทุกข์" ในที่นี้หมายความถึงความรักที่ยึดติดกับคนที่รักหรือสิ่งของที่รัก เมื่อจะต้องพรากจากสิ่งที่รักก็จะทำให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นความรักที่แท้จริงในพุทธศาสนาคือความเข้าใจใน "ความรัก" เพื่อให้ไม่ยึดติดในสิ่งของที่รัก นั่นคือรักแบบ "เมตตา" แต่เมื่อสภาพสังคมไทยเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อวิธีชีวิตแบบทุนนิยมเข้ามาแทนที่อุดมการณ์พุทธศาสนา ความรักได้ถูกทำให้กลายเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต ชีวิตจะไม่มีค่าเมื่อขาดความรัก ในแง่นี้ความรักซึ่งแต่เดิมเป็นเพียง "ความต้องการ" ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็น "ปัจจัยสำคัญ" ในการดำรงชีวิตของคน โดยเฉพาะวัยรุ่นปัจจุบัน
งานวิจัยได้เลือกศึกษานวนิยายโศกของไทยในรูปแบบของภาพยนตร์ ด้วยเหตุว่านวนิยายโศกที่นำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์นั้นสามารถเทียบเคียงได้กับ "การแสดงละคร" ซึ่งเป็นรูปแบบความบันเทิงที่นิยมในอดีต จะเห็นได้ว่าวรรณคดีไทยโบราณนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวรรณคดีเพื่อการแสดง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ แม้ว่าจะมีคนอ่านออกเขียนได้แต่คนไทยก็นิยมเสพศิลปะด้วยการชมและฟังมากกว่าการอ่าน นอกจากนี้ภาพยนตร์ในฐานะของการแสดงประเภทหนึ่งนั้นยังมีองค์ประกอบของการเร้าอารมณ์ของผู้เสพอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตัวแสดง ฉาก เสียงเพลงและองค์ประกอบศิลป์อื่นๆ อันจะทำให้ผู้เสพจะได้ซึมซับรับสารของผู้สร้างได้สะดวกและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกว่าการใช้จินตนาการรายบุคคล
ในการศึกษาทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับ "โศกนาฏกรรม" และ "อารมณ์" พบว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งของความบันเทิงประเภทเรื่องเล่าโศกคือการให้ "การศึกษาในเชิงจริยธรรม" แก่ผู้เสพ ด้วยเหตุว่าเรื่องเล่าโศกมักจะสร้างโครงเรื่องเพื่อตั้งคำถามกับความความยุติธรรมและปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับศีลธรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้เสพ และไม่ว่าผลของการกระทำนั้นๆ จะถูกสรุปอย่างไรในเรื่องเล่าโศก สิ่งที่เป็นบทสรุปของเรื่องเล่าโศกแต่ละเรื่องนั้นจะทำให้ผู้เสพได้คิดทบทวนถึงระบบจริยธรรมของตนเองและสังคมรอบข้างอย่างจริงจังมากขึ้น อนึ่งอารมณ์โศกหรืออารมณ์ในแง่ลบนั้น นึกวิจัยเชิงพฤติกรรมสังคมพบว่าเป็นอารมณ์มีผลต่อการจดจำของมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์จะสามารถจดจำรายละเอียดเหตุการณ์ความรู้สึก ณ ขณะเกิดอารมณ์ในด้านลบร่วมด้วย มากกว่าในขณะที่มีอารมณ์ด้านบวก ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าโศกมีอิทธิพลส่วนในการสร้างเสริม ปรับแปลง และปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างแก่ผู้เสพ
ผลการศึกษาพบว่าภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยที่จัดให้เป็นเรื่องเล่าโศกนั้น แสดงให้เห็นการปะทะสังสรรค์กันระหว่างอุดมการณ์ความรักในพุทธศาสนาและทุนนิยม กล่าวคืออุดมการณ์ความรักที่ปรากฏในภาพยนตร์ไทยปัจจุบันไม่ได้เน้นนำเสนอว่าความรักนั้นเป็นทุกข์ แม้ความทุกข์ของตัวละครจะเกิดขึ้นเพราะความรัก แต่ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอให้ตัวละครยอมแพ้และทำความเข้าใจกับ "ความจริง" ของความรัก หากแต่มุ่งส่งเสริมให้ตามล่าหาความรักต่อๆ ไป เพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายและจืดจางไป ความรักได้ถูกให้ความสำคัญว่าเป็นเป้าหมายของชีวิต ชีวิตของคนจะไร้ค่าเมื่อขาดความรัก ทำให้ตัวละครต้องติดตามค้นหาเพื่อจะครอบครองความรักให้ได้ในที่สุด นอกจากนั้นหากมองผลของทุนนิยมในแง่ลบก็จะพบว่าความรักในเรื่องเล่าโศกนั้น "ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า" และถูกโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้ความรักกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการสร้างความยอมรับนับถือในตัวเอง
อนึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเรื่องเล่าโศกร่วมสมัยนั้นยังคงให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องบุพเพสันนิวาส หรือพรหมลิขิต แต่ก็พบว่าแนวคิดเรื่องบุพกรรม หรือการทำกรรมร่วมกันมาในชาติก่อนนั้นเริ่มถูกตั้งคำถามและเกิดความไม่แน่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องของภพชาติการเกิดใหม่และการพบกันในชาติต่อๆ ไป
จะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์ไทยช่วงปี ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๕๐ โดยเฉพาะภาพยนตร์รักโศกนั้นได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ความรักแบบทุนนิยมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อตัวเรื่องและตัวละคร หากเชื่อว่าการแสดงมีผลต่อการรับรู้ของผู้เสพในทางใดทางหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ความบันเทิงอย่างภาพยนตร์นั้นมีส่วนช่วยให้อุดมการณ์ความรักแบบทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย
ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้มองว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม อุดมการณ์ในการใช้ชีวิตต่างๆ ของคนในสังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงเป็นความท้าทายของพุทธศาสนา ทั้งนักวิชาการและผู้เผยแพร่ที่จะต้องปรับกระบวนการสั่งสอนและสั่งสมศีลธรรมให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังปรัชญาความคิดและจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของหลักธรรมนั้นๆ ไว้