ReadyPlanet.com
dot dot
ข่าวซีไรต์รอบคัดเลือก ๖ เล่มสุดท้าย ๒๕๕๓

ผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประเภท กวีนิพนธ์ รอบคัดเลือก
๖ เล่มในรอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ของปี ๒๕๕๓
ประกาศผลรอบแรก ๑๓ ก.ค.๒๕๕๓


๑. ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์
๒.เดินตามรอย ของวันเนาว์ ยูเด็น
๓.ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา
๔.เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม
๕.ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา
๖.รูปฉายลายชีพ ของโชคชัย บัณทิต

 

กรรมการคัดเลือก

๑.อาจารย์ วรรณา  นาวิกมูล
ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๒.อาจารย์ พวงแก้ว  ลภิรัตนกุล
นักวิชาการวรรณกรรม

๓.ผศ.ดร. ญาดา  อารัมภีร
นักวิชาการวรรณกรรม กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

๔.นาย โกศล  อนุสิม
กวี นักเขียน

๕.นาย สุภาพ  พิมพ์ชน
นักวิจารณ์

๖.อาจารย์ ดร. อารียา หุตินทะ
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

๗.อาจารย์ ดร. ปรมินท์ จารุวร
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 ลิงก์รวมรายชื่อหนังสือส่งเข้ารางวัลซีไรท์ ๒๕๕๓
 

 

ข้อสังเกตจากคณะกรรมการคัดเลือกกวีนิพนธ์
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๕๓
 
          หนังสือส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นรอบของวรรณกรรมสร้างสรรค์ประเภทกวีนิพนธ์มีทั้งหมด ๗๔ เรื่อง คณะกรรมการคัดเลือกได้ตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ พบว่า มีหนังสือไม่เข้าหลักเกณฑ์จำนวน ๓ เรื่อง เป็นนวนิยาย ๑ เรื่อง หนังสือร้อยแก้วทั่วไป ๑ เรื่อง และหนังสือไม่มี เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) ๑ เรื่อง จึงมีกวีนิพนธ์ที่พิจารณาคัดเลือกจำนวน ๗๑ เรื่อง
 
ภาพรวมของกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือก
๑. รูปแบบคำประพันธ์ มี ๓ รูปแบบ คือ 
            ๑.๑กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ไทย ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย 
            ๑.๒ กวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) หรือกลอนเปล่า                               
            ๑.๓ กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ร้อยกรองพื้นบ้าน เช่น เพลงกล่อมเด็ก ผญา กลอนหัวเดียว เป็นต้น               
กวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือกนิยมใช้ฉันทลักษณ์ไทยมากที่สุด นอกจากนี้ พบว่า ยังนิยมใช้ฉันทลักษณ์ไทยและกลอนเปล่าในเล่มเดียวกัน ใช้กลอนเปล่าทั้งเล่ม และใช้ร้อยกรองพื้นบ้าน มากน้อยลงมาตามลำดับ
          กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ไทยมักใช้กลอนเป็นหลัก ส่วนคำประพันธ์ประเภทกาพย์ โคลง ฉันท์ และร่าย แม้จะพบอยู่ในกวีนิพนธ์หลายเรื่อง แต่ก็มีในสัดส่วนที่ไม่มากนัก
 
          ๒. เนื้อหา กวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือกมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมแนวคิดทั้งทางโลกและทางธรรมสะท้อนเหตุการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความคิดและการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคล ประเด็นสำคัญที่มักนำเสนอ ได้แก่
                   ๒.๑ การเมือง ผู้แต่งมักแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อันเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลให้สังคมไทยแบ่งกลุ่มทางการเมืองออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน รวมทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมืองโดยรวมของสังคมไทยจากมุมมองความคิดความเชื่อของผู้แต่งเอง
                    ๒.๒ สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ผู้แต่งเขียนถึงมากอย่างมีนัยสำคัญ พบว่า ผู้แต่งทั้งที่เป็นชาวใต้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และที่ไปอาศัยอยู่ในภูมิภาค อื่น ๆ ได้ร่วมกันถ่ายทอดภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านมุมมองของตน โดยสะท้อนภาพการดำรงชีวิตทั้งที่สุขและทุกข์ ทั้งที่สร้างสรรค์และทำลาย
                   ๒.๓ ศาสนา ผู้แต่งได้สะท้อนความเชื่อความศรัทธาในศาสดาและหลักศาสนาของศาสนิกชนไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนาเท่านั้น น่าสังเกตว่ามีผู้แต่งหลายท่านที่กล่าวถึงศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะศาสนาอิสลามอีกด้วย ประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนานี้มีทั้งที่เขียนถึงความดีงามความสูงส่งของศาสนา และที่ตั้งคำถามต่อศาสนาและหลักคำสอน 
                    ๒.๔ สังคม ผู้แต่งจำนวนมากได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าความก้าวหน้าดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลต่อความคิด การใช้ชีวิต และพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ทั้งยังตั้งคำถามถึงทางเลือกระหว่างวิถีชีวิตแบบเก่าที่ผู้คนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจนทำให้ผู้คนห่างเหินกัน นอกจากนี้ ผู้แต่งยังสะท้อนแนวคิดและการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่พยายามแสดงความเป็นอิสระและเสรีนิยมทางความคิดความเชื่อทางการเมืองและศาสนา รวมถึงการใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ผูกมัดกับกฎเกณฑ์ของสังคม
                   ๒.๕ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่กล่าวถึงพอสมควร ผู้แต่งกล่าวถึงความเสียหายของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยแสดงความวิตกกังวลถึงภัยต่าง ๆ จากธรรมชาติ และเรียกร้องให้มนุษย์ช่วยกันรักษาธรรมชาติ
 
          ๓. ผู้แต่งจากประวัติโดยย่อของผู้แต่งในหนังสือแต่ละเล่มพบว่า ผู้แต่งมีทั้งผู้ที่ทำงานวรรณกรรมคือเป็นนักเขียนส่วนหนึ่ง และผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นแล้วสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในกลุ่มหลังนี้ที่พบมาก ได้แก่ ข้าราชการครู ข้าราชการอื่น ๆ และสื่อมวลชน  การที่ผู้แต่งมาจากหลายสาขาอาชีพนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เนื้อหา ความคิด และมุมมองที่นำเสนอมีความหลากหลาย ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ มีพระสงฆ์ส่งกวีนิพนธ์เข้าพิจารณาในครั้งนี้ด้วย และนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตทางโลกได้อย่างน่าสนใจ
 
ข้อสังเกต
          คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๓ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ กวีนิพนธ์ทั้ง ๗๑ เรื่อง ดังนี้
          ๑. รูปแบบการประพันธ์ พบว่า กวีนิพนธ์ที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนและกาพย์มีการใช้สัมผัสซ้ำและสัมผัสเลือนเป็นจำนวนมาก ในกรณีสัมผัสซ้ำ มีทั้งสัมผัสซ้ำในบทและระหว่างบท และในกรณีของสัมผัสเลือนมักพบการใช้คำที่มีเสียงสระคล้ายกันเป็นคำรับส่งสัมผัส ส่วนคำประพันธ์ประเภทอื่น ๆ เช่น โคลง พบว่านอกจากจะมีข้อบกพร่องในเรื่องตำแหน่งคำเอก คำโท และคำสร้อยในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ แล้ว ยังมีที่แต่งโคลงดั้นโดยขาดโทคู่ในบาทสุดท้าย นอกจากนี้ การจัดรูปแบบของโคลงกระทู้ หรือแม้แต่โคลงสี่สุภาพ ยังพบว่าผิดไปจากขนบการประพันธ์ ส่วนคำประพันธ์ประเภทฉันท์ พบว่า มีการเลือกคำมาใช้ในตำแหน่งครุและลหุโดยเปลี่ยนแปลงรูปคำไปจนผิดหลักไวยากรณ์และไม่สื่อความ
          ๒. การใช้ถ้อยคำ พบว่ามีการใช้ถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับบริบทอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ถ้อยคำใหม่ ๆ และการประสมคำที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ทำให้เป็นคำที่เข้าใจเฉพาะผู้แต่ง ไม่สื่อความหมายแก่คนทั่วไป รวมทั้งการนำคำภาษาต่างประเทศที่เขียนด้วยอักษรโรมันมาใช้ บางกรณีก็เกินความจำเป็น บางกรณีก็สื่อความหมายคลาดเคลื่อนไปจากภาษาเดิม
          นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยออกเสียงตามความเข้าใจของ     ผู้แต่ง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการรับส่งสัมผัสอันเกิดจากการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย
          ๓. การบรรณาธิกรณ์ พบว่า กวีนิพนธ์หลายเล่มมีเนื้อหาโดยรวมน่าสนใจ แต่ขาดการบรรณาธิกรณ์ที่ดี ทำให้การจัดเรียงเนื้อหาไม่มีแนวคิดที่เป็นเอกภาพ รวมทั้งการพิสูจน์อักษรยังผิดพลาดเป็นจำนวนมาก และพบคำที่สะกดผิดในกวีนิพนธ์เกือบทุกเล่ม เป็นการลดทอนคุณค่าของหนังสือลงไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ยังพบว่า กวีนิพนธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์ในเล่มเดียวกัน เมื่อนำมาอยู่ร่วมกันทำให้ไม่มีเอกภาพ เพราะรูปแบบฉันทลักษณ์ทั้งสองแบบมีข้อเด่นคนละด้าน จึงทำให้หนังสือมีข้อด้อยกว่าเล่มที่ใช้คำประพันธ์รูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม ส่วนกวีนิพนธ์ที่ผู้แต่งพยายามใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบในเล่มเดียวกัน กลับสะท้อนให้เห็นระดับฝีมือการประพันธ์ฉันทลักษณ์แต่ละชนิดว่าไม่เสมอกัน ทำให้คุณภาพของงานโดยรวมลดลง
          อนึ่ง การเขียนคำนำหรือคำนิยมของบรรณาธิการหรือผู้อื่นนั้น ข้อมูลที่นำมากล่าวถึงและการใช้คำควรคำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการและความเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในกวีนิพนธ์และระดับฝีมือของผู้แต่งด้วย
 
ข้อเสนอแนะ
            ๑. การจัดพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ควรมีการบรรณาธิกรณ์ เพื่อให้หนังสือมีเนื้อหาที่เป็นเอกภาพ มีแนวคิดชัดเจน มีการตรวจแก้ไขคำผิดและปรับปรุงสำนวนให้ถูกต้อง
          ๒. การใช้คำภาษาต่างประเทศในกวีนิพนธ์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม หากนำมาใช้เพื่อเป็นคำรับส่งสัมผัสควรตรวจสอบเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้องว่าสามารถรับส่งสัมผัสได้หรือไม่
          ๓. การใช้ฉันทลักษณ์ หากต้องการยึดฉันทลักษณ์ตามขนบ ควรระมัดระวังเรื่องสัมผัสเนื่องจากเป็นหลักสำคัญที่ทำให้บทกวีมีฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องและไพเราะงดงาม อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ความรู้รอบทางภาษาของผู้แต่งได้อย่างแท้จริงควรเลี่ยงสัมผัสซ้ำและสัมผัสเลือน    ทั้งยังควรคำนึงถึงการวางรูปแบบฉันทลักษณ์ประเภทต่าง ๆ ให้ถูกต้องด้วย
          อย่างไรก็ดี ผู้แต่งมีสิทธิ์สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ขึ้นใหม่  และในการนำเสนอควรแสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์นั้นอย่างชัดเจน สามารถสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจฉันทลักษณ์ของตนได้ 
 
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓
 
 
ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง
ของ ศิริวร แก้วกาญจน์
 
          ท่ามกลางความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงจากสื่อมวลชนที่โหมรายงานข่าวรายวัน วันแล้ววันเล่าที่เรารับรู้ข่าวสารจนชาชิน หากแต่ข่าวที่รายงานข้อเท็จจริงไม่เคยสะท้อนเสียงจากความรู้สึกของผู้คน ผิดกับเสียงใน ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ที่ขับกังวานเสียงแห่งความหวาดกลัว ตื่นตระหนก สะทก และแม้แต่เยาะหยันต่อโชคชะตา
          ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง นำผู้อ่านไปสัมผัสชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางควันปืนและไฟสงคราม ความตายที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา สถานที่ และเวลา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั้น เป็นสิ่งที่ผู้แต่งกำลังตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่าง พระเจ้า โชคชะตา และมนุษย์  
          ผู้แต่งเล่าถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้คนโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยถ้อยคำที่กระชับ ชัดเจน แต่เปี่ยมด้วยพลังกระทบใจ นอกจากการเล่าเรื่องโดยเน้นรายละเอียดของชีวิตคนในพื้นที่จะเป็นกลวิธีสำคัญที่ดึงผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์แห่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว การขัดความและการตั้งคำถามยังช่วยให้สารเข้มข้นและแฝงนัยเย้ยหยันอย่างบาดลึกอีกด้วย
          แม้กวีนิพนธ์เล่มนี้จะชี้ให้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ แต่ถึงที่สุดแล้วชีวิตก็ยังมีความหวังอยู่เสมอ มนุษย์อาจเป็นต้นเหตุทำลายธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันให้แตกสลายก็จริงอยู่ แต่มนุษย์ก็สามารถเยียวยาประคับประคองสังคมให้ดีขึ้นได้ พลังสร้างสรรค์ของกวีนิพนธ์อาจขับกล่อมและบรรเทาทุกข์ในทุกหัวใจที่ผ่าวร้อนให้ผ่อนเย็นลง
เมื่ออ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้แล้ว ทำให้เราตระหนักว่าวันนี้สังคมไทยของเรากำลังต้องการเสียง “…ร้องเพลงสักเพลง กล่อมประเทศเราเอง ให้เธอฟัง” 
 
เดินตามรอย
ของวันเนาว์ ยูเด็น
 
          วันเนาว์ ยูเด็น ประพันธ์เรื่องเดินตามรอยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราช
จริยวัตรอันงดงาม และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่พสกนิกรในโอกาสต่างๆ ล้วนเปี่ยมด้วยคติธรรมซึ่งได้แนวทางมาจากโคลงโลกนิติ ผู้เขียนจึงเลือกโคลงโลกนิติ ๘๐ บทเพื่อให้เหมาะแก่วโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร ทรงนิพนธ์โคลงโลกนิติขึ้นเมื่อเกือบ ๑๘๐ ปีมาแล้ว หลายบทมีสำนวนภาษาเก่าเกินกว่าที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ วันเนาว์ ผู้เห็นว่าโคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมคำสอนที่ทรงคุณค่า จึงพยายามที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมาใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นโดยมีโคลงโลกนิติบทที่เป็นต้นแบบ จัดวางพิมพ์ไว้ในหน้าซ้าย แล้วแต่งกลอนสุภาพพิมพ์ไว้ในหน้าขวา โดยคุมความหมายโคลง ๑ บาท ให้เท่ากับกลอนสุภาพ ๑ บท ดังนั้น โคลง ๑ บทจึงประพันธ์เป็นกลอนได้ ๔ บท แต่ผู้ประพันธ์มิได้ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดความหมายออกมาในรูปบทกลอนเท่านั้น ยังได้ประพันธ์ต่อท้ายด้วยกลอนบทที่ ๕ ที่แสดงความรู้สึกนึกคิด ทัศนะ อีกทั้งวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นๆ โดยอาศัยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์อันยาวนานในชีวิต มองความเป็นไปในโลกนี้ด้วยความเชื่อมั่น
นอกจากความสามารถในการคุมคำ คุมความได้อย่างครบถ้วนแล้ว วันเนาว์ ยังได้แสดงฝีมือนักกลอนชั้นครู แหลมคมด้วยการเลือกใช้คำที่เข้าใจง่าย ถึงพร้อมด้วยวรรณศิลป์ ไพเราะสละสลวย น่าประทับใจและน่าจดจำ เช่น
                      เมื่อทำชอบชอบต้องสนองกลับ                ไม่เลือนลับความชอบตอบต่อผล
                    ยื่นความชอบมอบให้แก่ใจคน                    ความชอบดลสิ่งชอบมาตอบแทน
              เดินตามรอย จึงเป็นวรรณกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการเป็นสะพานแห่งยุคสมัยที่เชื่อมต่อระหว่างวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในอดีตกับปัจจุบันซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถใช้เป็นหลักคิดได้ และอาจย้อนกลับไปอ่านโคลงโลกนิติเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ดังที่ผู้เขียนกล่าวว่า
                 คำเตือนติงสิ่งสอนแต่ก่อนเก่า      ช่วยให้เรานั้นมีที่ปรึกษา
                 เดินตามทางอย่างดีที่มีมา             ย่อมดีกว่างวยงงเดินหลงทาง
             อาจนับว่า เดินตามรอย เป็นวรรณกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหมดจด งดงาม
 
 
ในความไหวนิ่งงัน
ของ นายทิวา
 
 
            ในความไหวนิ่งงัน เป็นกวีนิพนธ์การเมืองที่สะท้อนวิกฤติการณ์ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมไทย โดยชี้ให้เห็นว่า วิกฤติของสังคมไทยปัจจุบันมีมูลเหตุมาจากการที่นักการเมือง (โดยเฉพาะบางคน) มุ่งผลประโยชน์ตนมากกว่าผลประโยชน์ชาติ พาให้ผู้คนในสังคมไทยแตกแยกทางความคิดจนเกิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย วิกฤติการณ์เช่นนี้ฉายให้เห็นถึงความไม่เข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตยของคนไทย ทั้งยังฉายให้เห็นถึงการขาดจิตสำนึกของนักการเมืองที่ทำให้คนไทยตกเป็นเหยื่อของการเมือง เรื่องส่วนตน และทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง เข่นฆ่าทำร้ายกันเองโดยขาดสติ 
          แม้นายทิวาจะนำเสนอกวีนิพนธ์หลายบทด้วยน้ำเสียงที่ดุดัน ประชด เสียดสี เพื่อตั้งคำถามและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ร่วมคิดร่วมตระหนักถึงบาดแผลที่ร้าวลึกของสังคมไทย แต่ก็ยังได้ใช้บทกวีบางบทปลุกปลอบและเตือนสติผู้อ่านให้ยึดมั่นในสำนึกรักชาติ มองวิกฤติความเปลี่ยนแปลงด้วยสติ เมตตา ปล่อยวางแต่ใช่จะนิ่งดูดาย และเชื่อในกฎแห่งกรรม พร้อมเสนอว่าท้ายที่สุด การมองวิกฤตินี้ด้วยปัญญาจะทำให้เห็นว่าวิกฤติครั้งนี้ จะไม่มีชัยชนะ และไม่มีใครชนะ
          ในความไหวนิ่งงัน  แสดงให้เห็นชั้นเชิงการประพันธ์กลอน กาพย์ และโคลงของนายทิวา ที่สืบทอดฉันทลักษณ์ตามขนบโดยสร้างสรรค์ลีลา จังหวะ และท่วงทำนองที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีฝีมือโดดเด่นในเรื่องของการเล่นเสียง การเล่นคำซ้ำคำ และการใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้าม อันเป็นกลวิธีที่ผู้แต่งสามารถสร้างจินตภาพเชื่อมโยงกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองได้โดยไม่ต้องเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นบันทึกเหตุการณ์ แต่เป็นการใช้ภาษาวรรณศิลป์เพื่อเป็นกระบอกเสียง และเป็นเครื่องมือบันทึกความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คนผ่านสายตาของผู้แต่งที่ได้เฝ้ามองสังคมการเมืองไทยที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ด้วยความนิ่ง งัน
 
 
 
เมืองในแสงแดด
ของ โกสินทร์ ขาวงาม
 
            เมืองในแสงแดด สะท้อนภาพชีวิตประจำวันที่ประทับอยู่ในใจของผู้แต่งผ่านบทร้อยกรองที่ละเมียดละไมในอารมณ์ คล้ายผู้แต่งกำลังวาดภาพด้วยภาษา แตะแต้มรายละเอียดให้ผู้อ่านสัมผัสรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง ที่ผู้แต่งรู้สึก
ภาพที่ผู้แต่งวาดไว้สะท้อนถึงพื้นหลังของชีวิตและสังคมที่รองรับ แม้เป็นเพียงภาพของสบู่หอมนกแก้ว ตุ๊กตา รอยสัก แมวกับงู หรือดวงตาปลาช่อน เพียงภาพของคนเล็กๆ เช่น ช่างเขียนป้าย อดีตแชมป์มวย หญิงเลี้ยงวัว ช่างเครื่องเสียง พระชรา หรือพ่อค้าร้านของชำ เพียงภาพของสถานที่ธรรมดา เช่น บ้านในซอย อพาร์ตเมนต์ สวนสาธารณะ โรงหนัง หรือบนรถทัวร์ ล้วนบอกเล่าชีวิตร่วมสมัยของคนสามัญที่เป็นอยู่จริง แม้จะเป็นชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ ผู้แต่งก็ยังมองเห็นแง่มุมของความงาม และอารมณ์ละเมียดละไมที่กล่อมเกลาจิตใจให้มีแรงกำลังที่จะดำรงอยู่
          กวีนิพนธ์เล่มนี้เด่นที่การใช้กระบวนจินตภาพปะติดความ (collage) พรรณนาเร้าประสาทสัมผัสของผู้อ่านได้อย่างมีชีวิตชีวา สัมผัสสระและอักษรให้เสียงที่กลมกลืนคล้องจองกันอยู่ในท่วงทำนองหวานเศร้า จะเร่งจังหวะกระชั้นหรือทอดอารมณ์ตามเนื้อความก็อยู่ในอรรถรสเช่นนั้น  
เมืองในแสงแดด จึงเปรียบเหมือนแดดอ่อนที่อาบไล้ภาพที่กวีวาดไว้ทั้งหมด ทั้งสิ่งสามัญ สิ่งที่น่ายินดีและน่าเศร้า จนกลายเป็นความงามอันโดดเด่น
 
 
 
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี
ของ ซะการีย์ยา อมตยา
 
            ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse)  ที่มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ ๑๑ บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม ๓๖ บท หากนับรวมบทเกริ่นด้วยก็จะเป็น ๓๗ บท บทเกริ่นที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยข้อความเพียง ๓ บรรทัดที่บอกเจตนารมณ์ของผู้แต่งไว้อย่างคมคาย ดังนี้
ฉันกำลังเดินทางในบทกวี
บทกวีกำลังเดินทางในฉัน                 
เราต่างมุ่งหน้าสู่ปลายทางเดียวกัน
 
          ไม่มีหญิงสาวในบทกวี  สื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์  ไปจนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับมนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่งหรือคำตอบเดียวกัน  
          ซะการีย์ยา ไม่ได้เลือกที่จะนำเสนอประสบการณ์และทัศนะที่น่ารื่นรมย์ ตรงกันข้ามเขาได้นำเสนอเรื่องที่น่าเศร้าโศกไว้เป็นอันมาก  แต่ก็มิได้พยายามบีบคั้นความรู้สึกผู้อ่านด้วยการแสดงออกอย่างขมขื่น เกรี้ยวกราด กลับปล่อยให้ความเข้มข้นของ”สาร”ที่ผู้อ่านรับได้ขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสในการอ่าน เช่น เขาใช้ถ้อยคำน้ำเสียงซึ่งโดยผิวเผินดูชวนขันในบท “หากฉันตาย” “กรณีวิวาทกับความเงียบ” และ “สระใอใม้มลายเสีย” แต่เมื่ออ่านซ้ำแล้วฉุกคิดก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ขมและการประชดเหน็บแนมที่แฝงอยู่ หรือแม้แต่ในบทที่ชวนให้หม่นหมองมากอย่าง “จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจะกลับมา” เขาก็ “เล่น” กับอารมณ์เศร้าด้วยการนำรูปแบบที่ดูผ่อนคลายของรางรถไฟ อาการเคลื่อนอย่างโขยกเขยกของรถไฟ มาแทรกไว้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสามารถเชิงสร้างสรรค์ที่น่ายกย่อง
ความเด่นของไม่มีหญิงสาวในบทกวี อีกประการหนึ่งอยู่ที่การอ้างถึง (allusion) บุคคล ผลงานและสถานที่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะสะท้อนความเป็นนักอ่านของผู้แต่งเองเท่านั้นแต่ยังเป็นการจุดประกายความคิด เชิญชวนให้พอใจที่จะเปิดหน้าต่างการอ่านออกไปสู่บรรณพิภพอันกว้างไกลเพื่อขยายโลกทัศน์และภูมิรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย
 
 
 
รูปฉายลายชีพ
ของโชคชัย บัณทิต
 
 
รูปฉายลายชีพ เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ๕๖ บท ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ กวีนิพนธ์แต่ละบทแม้จะแต่งขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่ได้ผ่านการคัดสรรและจัดลำดับภายในกรอบของโครงเรื่อง “รูปเล่าเรื่อง”
 “รูป” ในที่นี้มีทั้งภาพวาด ภาพถ่าย ภาพในจินตนาการ ภาพที่ได้พบเห็น ภาพในความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนถึง “เรื่อง” อันได้แก่ชีวิตหลากหลายแง่มุมที่หลายคนอาจจะมองข้ามออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหญิงบ้า หมอดู คนใบ้หวย เด็กขายของ ขโมยหรือพระ “ชีวิต” เหล่านี้มีทั้งที่เจาะจงเฉพาะชีวิตใครคนใดคนหนึ่งและชีวิตของผู้คนที่มารวมกันในที่นั้นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันในกวีนิพนธ์แต่ละบท  กวีนิพนธ์บทแรกคือ “รูปฉายลายชีพ” เป็นเสมือนบทนำ กวีนิพนธ์บทที่ ๒๙ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอ็คชั่น” เป็นบทเชื่อมระหว่างบทนำกับบทลงท้ายให้มีความต่อเนื่องกัน โดยมีกวีนิพนธ์บทที่ ๕๖ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอนิเมชั่น” เป็นเสมือนบทลงท้ายที่ฉายให้เห็นจุดเริ่มต้นจากวัยเด็กที่ดำเนินมาสู่จุดสุดท้ายคือวัยชรา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กวีนิพนธ์เล่มนี้มีทั้งเอกภาพด้านโครงเรื่อง และเป็นเอกเทศในแต่ละบทที่นำมาร้อยรวมเข้าด้วยกัน สะท้อนถึงความเป็นมาและเป็นไปของชีวิตผ่านสายตากวี
รูปฉายลายชีพ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเป็นกาพย์ยานี ๑๑ จังหวะกลอนและกาพย์รื่นไหล ใช้ภาษาที่เรียบง่าย งดงาม มีความหมายกระทบใจ กวีนิพนธ์หลายบทเขียนให้คิดไปได้ไกลกว่าถ้อยคำที่ปรากฏ โดยเฉพาะการตั้งชื่อกวีนิพนธ์แต่ละบทมีทั้งตรงไปตรงมา เสียดสี และชวนให้คิด เช่น “ภาพในเพลง” “คนขายอนาคต” “นิทรรศกาม” 
กลวิธีการนำเสนอเป็นไปในลักษณะเล่าเรื่อง บางครั้งทิ้งคำถามไว้ในบทกวีเพื่อให้ผู้อ่านหาคำตอบด้วยตัวเอง ที่น่าสนใจคือผู้แต่งใช้กวีนิพนธ์ทำหน้าที่เสมือนกล้องบันทึกความสัมพันธ์ระหว่าง “รูป” และ “ชีวิต” รูปฉายลายชีพ จึงเป็นชื่อที่ครอบคลุมเนื้อเรื่องทั้งหมด เพราะเป็นการฉายรูปให้เห็นว่า “ชีวิต” เป็นอย่างไร “รูป” ก็เป็นอย่างนั้นไม่ต่างกัน เพราะ “รูป” ก็คือชีวิต “ชีวิต” ก็คือ “รูป” นั่นเอง



ข่าวสารประชาสัมพัธ์

เชิญส่งผลงานประกวด “อมตะ อาร์ต อวอร์ด” ครั้งที่6
เชิญส่งผลงานประกวดชิงรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2558
กิจกรรม จากมองโกเลียอัลไต สู่ไทยเจ้าพระยา
อสรพิษ – แดนอรัญ แสงทอง – รางวัลซีไรต์ 2557
ผลการประกวดข้อเขียนแรงบันดาลใจจากหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
เวทีกลอนเดือนสิบ ๒๕๕๗
ชวนประกวดเรื่องสั้นกับ สสส.
ผลรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11, 2557
ประกาศรางวัล รพีพร 13 ก.ค. 2557
เชิญร่วมสงกรานต์นักกลอน และ ๗๕ ปี นิภา ท่าพระจันทร์
จัดงาน "๗๕ ปี นิภา ท่าพระจันทร์"
ขอเชิญร่วมการบำเพ็ญกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ผลการตัดสิน รางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ประจำปี ๒๕๕๖
ขอเชิญส่งบทกลอนไปร่วมสนุกในรายการ "ประกายดาว"
คอนเสิร์ตเพลงดังหนังไทย ครูสุรินทร์ ภาคศิริ
"หัวใจห้องที่ห้า" รางวัลซีไรต์ 2556
ร่วมแสดงมุทิตาจิต สู่ 80 ปี สุเทพ วงศ์กำแหง
ประชันกลอนสดกลอนกระดาษ “การเมืองและการเลือกตั้ง” ครั้งที่ ๒
ประชันกลอนสดกลอนกระดาษ “การเมืองและการเลือกตั้ง” ครั้งที่ ๒
7 เล่มสุดท้าย ซีไรต์ 2556
เยาวชนอายุระหว่าง 8-18 ปี เชิญส่งภาพประกวดวันแม่
Young Thai Artist Award 2013
ประกวดรางวัลวรรณกรรมรามคำแหงครั้งที่ 3
งานประชันกลอนสด ชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ข้าวไทย เด็กไทย เรียงความชิงแชมป์ประเทศไทย”
เชิญร่วมกิจกรรม “ค่ายกวีน้อยเมืองนคร” 20-21 ก.ค. 56
พิธีมอบรางวัลสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๖
เรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้าย รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ปี 2556
โครงการอบรมยุวกวีศรีศิลป์ รุ่น ๒๒ (นิราศภูเขาทอง)
รางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 25 (2556) ธีรภาพ โลหิตกุล
ประสพโชค เย็นแข นักกลอนอาวุโส นักเขียนรางวัลนราธิป เสียชีวิต
ประกวดพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยประจำปี ๒๕๕๖
5 พฤษภาคม วันนักเขียน
วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 7
ร่องรอยกาลเวลา : ลาว เพื่อนบ้านอาเซียน วัฒนธรรมร่วมสองฝั่งโขง
รายชื่อกวีนิพนธ์และรายชื่อกรรมการซีไรต์ 2556
เปิดตัวหนังสือตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง (30 มีนาคม 56)
รางวัลศรีบูรพา ปี 2556
นำชมศิลปะเขมร 7 วัน 12-18 เมษายน 2556
รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2556 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ล่องเรือเพลง และสังสรรค์รวมพลคนมีนา ประจำปี 2556
ลาว คำหอม และ พนมเทียน รับรางวัลอมตะครั้งที่ 6
สัมมนา ปันหยีอิเหนา ๒-๖ มีนาคม ๒๕๕๖
พิธีมอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ ๖
งานมอบรางวัลนักเขียนบทความดีเด่นและฟังสักวา
“ราชมงคล รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน” ครั้งที่ 12
เชิญประกวด “กวีนิพนธ์” และ “นักเขียนรุ่นเยาว์ กวีพนธ์” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด
รางวัลนักเขียนอมตะประจำปี 2555
ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2555
เชิญร่วมประกวด “กวีนิพนธ์” รางวัลซีไรต์ 2556
การประกวดรางวัลพระยาอนุมานราชธน
ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555
ผลการตัดสินรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ประจำปี 2555
ประกวดรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๕
ประชุมวิชาการ 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8
สมาคมนักกลอนเชิญชวนแข่งขันกลอนสดประจำปี ๒๕๕๕
นายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
ผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2555
นวนิยาย "คนแคระ" ของ วิภาส ศรีทอง คว้าซีไรต์ปี 2555
สัมมนาวิชาการ “ท้องถิ่นอีสานกับการปรับตัวยุคโลกาภิวัฒน์”
ภาพงานรับรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2555
การคัดเลือกกวีรางวัลสุนทรภู่ ประจำปี ๒๕๕๕
ร่องรอยกาลเวลา: ลุ่มน้ำน่าน
รายการศิลป์สโมสร - รางวัลสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2555
จัดงานเปิดตัวหนังสือชุดบทกวีคำเมือง
โครงการเที่ยวเชียงใหม่ ไหว้พระ(เกิน)เก้าวัด กับนายกสมาคมนักกลอน
โครงการแทนคุณแผ่นดิน ปี ๒๕๕๕
ร่องรอยกาลเวลา : สุรินทร์
ร่อยรอยกาลเวลา : ตรัง
งานมหกรรมทุเรียนโลก จังหวัดจันทบุรี
สงกรานต์นักกลอน" วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๕
สัมมนา "จ้วง-ไท ศึกษา การค้นพบอักษรภาพของชนเผ่าไท"
เชิญชมหนังสือตัวอย่าง "ทางอีศาน" งานสัปดาห์หนังสือ
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40, 2555
รางวัล "ศรีบูรพา" ประจำปี 2555
ชิงรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ ๑๑ ประจำปี ๒๕๕๕
รวมพล คนมีนา" โดยพร้อมเพรียงกัน
กำหนดการชุมนุมเสวนา 72 ปี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ประชุมใหญ่สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
เสวนากวี ม.แม่โจ้ ๔ ธ.ค
โครงการ สานสายสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 2
เชิดชูปูชนียบุคคลและผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กระทรวงวัฒนธรรม
“รักสร้างสรรค์สยาม” โดยกลุ่มสห+ภาพ
ขอเชิญร่วมเปิดตัวนิตยสาร "อีศาน" และหนังสือ "บทนำชีวิต"
ประกาศผลรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี ๒๕๕๔
ประกวดเรียงความ เรื่องสั้น บทกวี รางวัลธรรมวรรณศิลป์
ประกาศผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ ๘ (ประจำปี ๒๕๕๔)
ขอเชิญร่วมแข่งสักวากลอนสด
โครงการกล้าวรรณกรรม ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน
เสวนา ๒๕ ปีสำนักพิมพ์แม่คำผาง
เปิดรับ “ศิษย์เก่า” รางวัลพานแว่นฟ้า
กาดผญาครั้งที่ ๕ ทัวร์วัฒนธรรมรถรางไหว้พระ ๙ วัด
Young Thai Artist Award 2011
นิทรรศการจัดแสดงผลงานของท่านสุนทรภู่ แนวร่วมสมัย
โครงการกล้าวรรณกรรม รุ่นที่ 8 เข้าอบรมฟรี
กิจกรรม คุณ...จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน?
โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จุดประกายความคิด
งานประกาศผลรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ ๑๒
วิจารณ์วรรณกรรม ชั่วฟ้าดินสลาย



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ